Friday, 24 May 2024
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

'โบว์ ณัฏฐา' มองงานบอล 'จุฬาฯ-ธรรมศาสตร์' มาตรฐานหดหาย ผลจากโควิดตัดขาดการส่งต่อ 'ความรู้-ความเป็นทีม' แบบรุ่นสู่รุ่น

(1 เม.ย.67) น.ส.ณัฏฐา มหัทธนา หรือ โบว์ พิธีกรรายการวิเคราะห์ข่าว และนักกิจกรรมเพื่อสิทธิมนุษยชน โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กถึงงานเทศกาลงานกีฬาฟุตบอลสานสัมพันธ์ 'จุฬาฯ-ธรรมศาสตร์' CU-TU Unity Football Match 2024 ที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ 31 มี.ค.67 ณ สนามศุภชลาศัย ว่า...

ที่คุณภาพของงานบอลออกมาแย่ขนาดนั้น ส่วนหนึ่งเพราะช่วงล็อกดาวน์โควิดสองสามปีมันไม่มีการส่งต่อความรู้ ความเป็นทีม และวิธีทำงานจากรุ่นสู่รุ่นด้วย การไม่ได้เจอใครเลยตลอดปีการศึกษา ทำให้ Team Spirit มันหายไป และไม่ได้ฟื้นขึ้นมาได้แบบจตุรมิตรที่เขามีเวลาใช้ชีวิตอยู่ในสถาบันยาวนานกว่าแค่สี่ปี 

คิดว่าฟื้นไม่ได้แล้ว เพราะพอมาตรฐานหายไปก็ไม่มีอะไรไว้ส่งต่อ และด้วยวัฒนธรรมปัจจุบันที่ต่างคนต่างอยู่กับตัวเองเป็นหลัก งานแบบนี้ยังไงก็จะค่อย ๆ ย่อส่วนลง โควิดเป็นแค่ตัวมาเหยียบคันเร่ง ให้ผู้คนเห็นความแตกต่างชัดจนคนตกใจในความหยาบของผลงาน

งานฟุตบอลประเพณี ‘จุฬาฯ-ธรรมศาสตร์’ 2567 สัญลักษณ์แห่งความเสื่อมถอยของเด็กกิจกรรม

เมื่อภาพการแห่ ‘พระเกี้ยว’ ในงานฟุตบอลประเพณี ‘จุฬาฯ-ธรรมศาสตร์’ เมื่อวันที่ 31 มี.ค.67 ปรากฏขึ้นตามสื่อต่าง ๆ ก็สะท้อนให้เห็นถึงความไม่เข้าใจถึง ‘รากเหง้า’ และคำว่า ‘เกียรติภูมิจุฬาฯ’ จากเหล่าบรรดาเด็ก ๆ นิสิตที่เป็นผู้จัดกิจกรรมในงานฟุตบอลประเพณีนี้ในทันที ทั้งยังเป็นการแสดงให้เห็นถึงความเสื่อมถอยของกิจกรรมที่เด็ก ๆ กลุ่มนี้ได้จัดขึ้นอีกด้วย 

>> ‘พระเกี้ยว’ สัญลักษณ์ที่ชาวจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยภูมิใจ...

สืบเนื่องจากชื่อของมหาวิทยาลัยแห่งนี้ ที่ได้รับพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เพื่อเป็นพระบรมราชานุสาวรีย์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ผู้พระราชทานกำเนิดมหาวิทยาลัยนี้นั้น มีประวัติโดยย่อที่น่าสนใจ ดังนี้... 

ด้วย ล้นเกล้าฯ ในหลวงรัชกาลที่ 5 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ กำหนดให้พระเกี้ยวเป็นพิจิตรเรขาประจำรัชกาลของพระองค์ เมื่อตั้งโรงเรียนฝึกหัดข้าราชการพลเรือนหรือโรงเรียนมหาดเล็ก จึงโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้อัญเชิญพระเกี้ยว เป็นเครื่องหมายหน้าหมวกของนักเรียนมหาดเล็ก และได้พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ใช้พระเกี้ยวเป็นเครื่องหมายของโรงเรียน เมื่อโรงเรียนมหาดเล็กได้วิวัฒน์ขึ้นเป็นโรงเรียนข้าราชการพลเรือนฯ และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในเวลาต่อมา 

จากนั้นการอัญเชิญ ‘พระเกี้ยว’ ในงานฟุตบอลประเพณี ‘จุฬาฯ-ธรรมศาสตร์’ จึงปรากฏเป็นประจักษ์หลักฐานครั้งแรกในหนังสือพิมพ์สยามนิกร (พิเศษ) ฉบับวันจันทร์ที่ 28 ธันวาคม พ.ศ. 2507 มีนิสิตหญิง 1 คน เป็นผู้อัญเชิญ โดยการอัญเชิญพระเกี้ยวเข้ามาสู่สนามการแข่งขัน เพื่อเป็นขวัญกำลังใจแก่นักกีฬาและกองเชียร์ ซึ่งจะคัดเลือกผู้ที่มีคุณสมบัติเหมาะสมเป็นนิสิตชาย 1 คน และ นิสิตหญิง 1 คน เป็นตัวแทนบรรดานิสิตอัญเชิญพระเกี้ยวเข้าสู่สนามแข่งขัน และเป็นเช่นนี้มาโดยตลอดมาจนเกือบ 60 ปี

ทว่า ในปี พ.ศ. 2564 องค์การบริหารสโมสรนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (อบจ.) มีมติในการประชุมสามัญ 29 : 0 เสียง เห็นควรให้มีการ ‘ยกเลิก’ กิจกรรมการคัดเลือกผู้อัญเชิญพระเกี้ยวในงานฟุตบอลประเพณีฯ โดยอ้างว่า เป็นธรรมเนียมที่สะท้อนถึงความไม่เท่าเทียมและมีการบังคับให้นิสิตให้มาแบกเสลี่ยง ทั้ง ๆ ที่เป็นประเพณีปฏิบัติที่สืบทอดมากว่า 50 ปีแล้ว และไม่เคยมีข่าวปรากฏว่า นิสิตผู้ปฏิบัติหน้าที่แบกเสลี่ยง ‘ร้องเรียน’ หรือ ‘ประท้วง’ ต่อประเพณีอันดีงามนี้มาก่อน 

ดังนั้น สิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 31 มี.ค.67 ผู้เขียนจึงขออนุญาตไม่ขอเรียกพิธีการนี้ว่า เป็นการอัญเชิญ ‘พระเกี้ยว’ เพราะการนำพาน ‘พระเกี้ยว’ วางไว้บนหลังคารถกอล์ฟไฟฟ้าเข้าสู่สนามเป็นเพียง ‘การแห่’ เนื่องด้วยวิธีและวิถีการปฏิบัติเช่นนี้ บรรดานิสิตเก่าแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยส่วนใหญ่มาก ๆ ไม่น่าจะเห็นด้วย 

ยิ่งไปกว่านั้น ยังเป็นแสดงให้เห็นถึงความเสื่อมถอยของเด็กกิจกรรมภายใต้การชี้นำและครอบงำของกลุ่มต่อต้านสถาบันหลักของชาติที่ทำสำเร็จทั้งในระดับอุดมศึกษา มัธยมศึกษา และกำลังก้าวเข้าสู่ประถมศึกษา 

เรื่องราวอันเป็นประวัติศาสตร์จารีต ขนบธรรมเนียมประเพณี อันเป็นวัฒนธรรมนั้น ไม่ใช่การแบ่งแยกชนชั้นหรือกดขี่ข่มเหงแต่อย่างใด หากแต่เป็นสิ่งที่สะท้อนถึงการแสดงออกร่วมกันในพิธีการที่บ่งบอกถึงความเป็นตัวตนและที่มาแห่งองค์กรของสถาบันที่ผู้เข้าร่วมสังกัด ได้สะท้อนถึงความงดงามแห่งวิถี อีกทั้งยังเป็นการแสดงให้เห็นถึงเกียรติของตนที่ได้รับพระมหากรุณาธิคุณ และความไว้วางพระราชหฤทัยขององค์ผู้พระราชทาน

แน่นอนว่า สังคมไทยในขณะนี้ กำลังอยู่ในช่วงตอบรับกับกระแสธารที่ผิดแผก ซึ่งผู้คนในสังคมที่เชื่อตาม ยอมตาม อาจได้รับบทเรียนจากการกระทำ ที่มีตัวอย่างให้เห็นมากมาย ไม่ว่าจะเป็นชาวยูเครน ที่เลือก Volodymyr Zelenskyy ผู้เป็นหุ่นเชิดและเครื่องมือของชาติตะวันตกมาเป็นประธานาธิบดี เปิดฉากท้าทายเดินหน้ารบกับรัสเซียจนประเทศชาติบ้านเมืองพินาศย่อยยับ เป็นหนี้สินต่างประเทศมากมายชนิดที่ไม่สามารถใช้คืนได้ใน 20-30 ปีข้างหน้า ทั้งไม่อาจที่จะฟื้นคืนสภาพของบ้านเมืองที่เสียหายอย่างหนักภายใน 10 ปีข้างหน้าได้ 

คงหวังได้เพียงแค่สวดภาวนาอ้อนวอนให้สรรพสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายที่ปกปักรักษา คุ้มครองบ้านเมือง ได้ช่วยป้องกันไม่ให้เกิดเรื่องเลวร้ายต่าง ๆ ต่อชาติบ้านเมือง หากเลี่ยงไม่ได้ หนีไม่พ้น ก็ขอให้เกิดความเสียหายน้อยที่สุด และที่สำคัญที่สุดคือ ขอให้บรรดาเหล่าผู้ที่เห็นผิดเป็นถูกจนหลงทางเหล่านี้ ได้ ‘ตาสว่าง’ และ ‘คิดเป็น’ กลับตัวเปลี่ยนใจมาช่วยกันพัฒนาประเทศชาติบ้านเมืองอันเป็นที่รักของเราคนไทยทุกคนในทางที่ ‘ใช่’ ที่ ‘ถูก’ ที่ ‘ควร’ เพื่ออนาคตที่ดีตลอดไปด้วย...เทอญ 

'อ.เข็มทอง' แซะแรง!! ปมเชิญ 'พระเกี้ยว' ไว้บนรถกอล์ฟ ลั่น!! ถ้าอยากแบก น่าจะให้ 'ศิษย์เก่า-ผู้หลักผู้ใหญ่' ไปแบกเอง

เมื่อวานนี้ (1 เม.ย. 67) จบลงไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว สำหรับงานกีฬาฟุตบอลสานสัมพันธ์ ‘จุฬาฯ-ธรรมศาสตร์’ เมื่อวันที่ 31 มี.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งนอกจากผลการแข่งขันแล้ว อีกหนึ่งไฮไลต์ของงานที่มักได้รับความสนใจคือ การแปรอักษร การเดินขบวนพาเหรดล้อการเมืองไทยของทั้งสองสถาบัน แต่ปรากฏว่าในการเดินขบวนดังกล่าว กลับเกิดดรามาอย่างร้อนแรง เมื่อพาเหรดของฝั่งจุฬาฯ ได้มีการอัญเชิญ ‘พระเกี้ยว’ ขึ้นตั้งไว้บนหลังคารถกอล์ฟพร้อมแห่ไปในขบวน

โดยหนึ่งในผู้ที่ออกมาแสดงความเห็น ล่าสุดเมื่อวันที่ 1 เม.ย.67 ซึ่งก็คือ ผศ.ดร.เข็มทอง ต้นสกุลรุ่งเรือง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ออกมาโพสต์เฟซบุ๊ก ระบุว่า “ถ้าเราให้นิสิตแบกพระเกี้ยว เราก็จะต้องเกณฑ์แรงงานกันทุกปี ถ้าเราเอาศิษย์เก่าและผู้หลักผู้ใหญ่ที่รับไม่ได้มาแบกพระเกี้ยว เราจะมีแรงงานพอแบกจากเบตงไปแม่สอดกลับมาสักห้ารอบก็คงจะได้”

'ต่อตระกูล' สลดใจ!! นิสิตจุฬาฯ ด้อยค่าตัวเอง ลบหลู่ 'พระเกี้ยว' สวนทางเจตจำนงอดีตนิสิตจุฬาฯ ที่ขอไว้เพื่อสร้างขวัญกำลังใจ

(2 เม.ย. 67) นายต่อตระกูล ยมนาค อดีตนายกสมาคมวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ระบุว่า…

นิสิตจุฬาฯ ด้อยค่าตัวเอง พระเกี้ยว ถูกนำออกมาลบหลู่ ครั้งนี้ไม่ใช่ครั้งแรก

หากไม่ใช้ ก็ขอพระเกี้ยว จำลองชิ้นนี้ กลับคืนมาให้นิสิตเก่าจำนวนเป็นหลายแสนคนที่เขาเห็นคุณค่าเอามาเก็บรักษาไว้ในที่เหมาะสมเถิด

หมายเหตุ : เมื่อประมาณปี 2512 นายธีรชัย เชมนะสิริ นายก สโมสรนิสิตจุฬาฯ ( สจม.) ได้ทูลขอพระราชทานพระเกี้ยวจำลอง และได้รับพระราชทานมาจากในหลวง ร.9 นิสิตได้นำมาเก็บรักษาไว้เองที่ตึกจักรพงษ์ เพื่ออัญเชิญไปใช้ในกิจกรรมต่างๆ ของนิสิต รวมทั้งนำออกมาเพื่อเป็นขวัญกำลังใจของนิสิตจุฬาฯ ในงานฟุตบอลประเพณีเป็นประจำ โดยเป็นความปรารถนาของนิสิตในยุคนั้นเองทั้งสิ้น

‘อ.ไชยยันต์’ เทียบ ‘ขบวนพระเกี้ยว-ขบวนธรรมจักร’  ชี้!! แตกต่างกันชัดเจน สะท้อนความตั้งใจของคนทำ 

จากกรณี ‘นิสิตจุฬาฯ’ ใช้รถกอล์ฟอัญเชิญ ‘พระเกี้ยว’ ในงานฟุตบอลสานสัมพันธ์ประเพณี จุฬา-ธรรมศาสตร์ CU-TU Unity Football Match 2024 ซึ่งขบวนอัญเชิญ ‘พระเกี้ยว’ ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ใช้รถกอล์ฟ EV อัญเชิญพระเกี้ยว ทำให้เป็นประเด็นร้อน สร้างเสียงวิพากษ์วิจารณ์ในขณะนี้

ล่าสุด (3 เม.ย. 67) ศ.ดร.ไชยันต์ ไชยพร อาจารย์ประจำภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ภาพและข้อความผ่านเฟซบุ๊ก เปรียบเทียบขบวนอัญเชิญพระเกี้ยวกับขบวนธรรมจักรของธรรมศาสตร์ ในงานฟุตบอลสานสัมพันธ์จุฬาฯ-ธรรมศาสตร์ที่ผ่านมา พร้อมระบุข้อความว่า.. 

“ตั้งใจทำให้ดูเป็นแบบนี้ ก็มีความหมายแบบหนึ่ง ไม่ได้ตั้งใจทำให้ดูแบบนี้ แต่มันพลาด ก็จะมีความหมายอีกแบบหนึ่ง ยิ่งถ้าตั้งใจทำให้ขบวนพระเกี้ยวจุฬาฯ แตกต่างอย่างชัดเจนจากขบวนธรรมจักรของธรรมศาสตร์ โดยรู้ล่วงหน้าด้วยแล้ว ก็ยิ่งจะมีความหมายอีกแบบหนึ่ง”

ชมรมเชียร์และแปรอักษรจุฬาฯ ออกประกาศ!! "ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องใดๆ งานบอลสานสัมพันธ์จุฬาฯ-ธรรมศาสตร์"

(3 เม.ย.67) เฟซบุ๊ก CU Cheer Club ของชมรมเชียร์และแปรอักษร จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ออกประกาศว่า งานบอลสานสัมพันธ์จุฬาฯ-ธรรมศาสตร์ 2024 ชมรมฯ ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องใดๆ แม้กระทั่งการแปรอักษรในงาน แถลงการณ์ไปแล้วเมื่อวันที่ 28 มี.ค. 2567 (ก่อนวันงาน) เพราะฉะนั้น สามารถฝากคำติชมได้ที่เพจ องค์การบริหารสโมสรนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (ผู้จัดงานนี้) 

อนึ่ง ก่อนหน้านี้การจัดงานฟุตบอลสานสัมพันธ์จุฬาฯ-ธรรมศาสตร์ 2024 ซึ่งจัดขึ้นเฉพาะองค์การบริหารสโมสรนิสิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (อบจ.) และองค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (อมธ.) ถูกวิจารณ์หลายเรื่อง ทั้งการนำรถกอล์ฟอัญเชิญพระเกี้ยว และการแปรอักษรโดยใช้จอ LED ระบุข้อความว่า "สวัสดี, ฉันคือจอ LED มีหน้าที่แปรอักษร รับ UV แทนเพื่อนมนุษย์ทุกคน #ไม่ได้บังคับใครขึ้นแปรแกอย่าพึ่งร้อนตัว" ซึ่งมีโลโก้กลุ่มอิสระล้อการเมืองแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อยู่ด้านมุมขวาบนของจอ

‘ดร.อานนท์’ โต้ ‘รศ.วิทยากร’ ปม รัชกาลที่ 5 ไม่ได้สร้าง ‘จุฬาฯ’ เผย!! ทรงสร้างโรงเรียนข้าราชการพลเรือน ที่ต่อมาคือ ‘จุฬาฯ’

(3 เม.ย. 67) จากเฟซบุ๊ก ‘Witayakorn Chiengkul’ โดย รองศาสตราจารย์ วิทยากร เชียงกูล ได้โพสต์ข้อความระบุว่า...

“ประวัติการสร้างจุฬาฯ มหาวิทยาลัยแห่งแรก ที่ผมเคยอ่านพบคือ ร.๕ ไม่ได้สร้าง มีฝรั่งที่ปรึกษาและปัญญาชน อย่าง ‘ครูเทพ’ เคยเสนอแนะให้สร้างตั้งแต่ยุคนั้น แต่ไม่เกิดผล หลัง ร.๕ สวรรคต รัฐบาลยุค ร.๖ เรี่ยไรเงินจากประชาชนก่อสร้างอนุสาวรีย์ ร.๕ ทรงม้าที่ลานพระรูป แล้วยังมีเงินเหลือ รัฐบาลจึงได้นำไปสร้างจุฬาฯ คงต้องใช้เงินรัฐบาลสมทบด้วย แต่งบรัฐบาลก็มาจากภาษีประชาชนอยู่นั่นเอง”

หลังจากข้อความดังกล่าวปรากฏ ผศ.ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์ อาจารย์ประจำคณะสถิติประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ก็ได้อธิบายความเพื่อตอบโต้โพสต์ดังกล่าว ไว้ว่า…

“กราบเรียนว่า ข้อมูลอาจารย์ไม่ถูกต้องทั้งหมดครับ...

1. รัชกาลที่ 5 ทรงสร้างโรงเรียนข้าราชการพลเรือน ซึ่งต่อมาคือ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยครับ ดังนั้นจึงมีความต่อเนื่อง 

2. พระบรมรูปทรงม้า สร้างในสมัยรัชกาลที่ 5 ครับ ไม่ได้สร้างหลัง ร.5 เสด็จสวรรคตครับ แต่สร้างคราวเสด็จนิวัติพระนครหลังจากเสด็จไกลบ้านครั้งที่ 2 ครับ รัฐบาลไม่ได้เรี่ยไรครับ ประชาชนรวมเงินกันถวายสร้างพระบรมรูปทรงม้า ได้เงินมามากเกินกว่าที่จะสร้างพระบรมรูปทรงม้า 6-7 เท่า แต่ก็เก็บเงินไว้เฉย ๆ 

3. ครูเทพ ท่านกราบบังคมทูลให้สร้างมหาวิทยาลัยจริงครับ แต่เป็นในสมัย รัชกาลที่ 6 

4.ในหลวงรัชกาลที่ 6 ทรงดำริตั้งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย”

'อ.เจษฎา' แจง!! งานนี้ไม่ใช่บอลประเพณี แต่ผู้ใหญ่ 2 มหาลัยเห็นชอบรูปแบบ แนะ!! หากใครอาสาแบกเสลี่ยง 'อัญเชิญพระเกี้ยว' รีบสมัครล่วงหน้าได้เลย

(4 เม.ย.67) จากกรณีดรามา ‘นิสิตจุฬาฯ’ ใช้รถกอล์ฟอัญเชิญ ‘พระเกี้ยว’ ในงานฟุตบอลสานสัมพันธ์ ‘จุฬาฯ-ธรรมศาสตร์’ ปีนี้ สร้างเสียงวิจารณ์กระหน่ำ มีทั้งผู้เห็นด้วยและคิดต่าง กระทั่งคณะผู้จัดงาน ฟุตบอลสานสัมพันธ์จุฬาฯ-ธรรมศาสตร์ CU-TU Unity Football Match 2024 ออกมาชี้แจงความหมายของขบวนอัญเชิญพระเกี้ยว ที่ตั้งใจคัดสรรสัญลักษณ์ ตัวแทนองค์ความรู้แขนงต่าง ๆ มา

นอกจากนี้ กรณี พ.อ.รศ.นพ.วิภู กำเหนิดดี แพทย์เฉพาะทางด้านเวชศาสตร์ฟื้นฟู เชี่ยวชาญในการรักษาโรคปวดเรื้อรัง ระบุทางเฟซบุ๊กส่วนตัว ไม่ต้อนรับแพทย์ใช้ทุนที่จบจากที่นี่ เนื่องจากไม่ชอบ ทำให้ต้นสังกัดอย่าง โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า ร่อนคำชี้แจง พร้อมขออภัยบุคคลที่เกี่ยวข้องที่ได้รับผลกระทบจากการแสดงความคิดเห็นดังกล่าว ตลอดจนให้แพทย์รายดังกล่าวลบโพสต์ไปจากโซเชียลแล้วนั้น

เรื่องราวทั้งหมดนี้ รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ และนักสื่อสารวิทยาศาสตร์ ออกมากล่าวทางเฟซบุ๊กในมุมที่อาจมีผู้เข้าใจผิดว่า งานบอลที่เพิ่งจัดไปไม่ใช่งานฟุตบอลประเพณีจุฬาฯ-ธรรมศาสตร์

รศ.ดร.เจษฎาระบุว่า ทราบกันหรือไม่ว่า “งานบอลที่เพิ่งจัดไป..ไม่ใช่งานฟุตบอลประเพณีจุฬาฯ-ธรรมศาสตร์ครับ” เห็นเป็นประเด็นดรามากันมาหลายวันแล้ว เกี่ยวกับงานฟุตบอล ที่จัดแข่งกันไประหว่างนิสิตจุฬาฯ และศึกษาธรรมศาสตร์…แต่ถ้าผมจะอธิบายให้เข้าใจชัดว่า “มันเป็นคนละงานกัน” กับการฟุตบอลประเพณีจุฬาฯ-ธรรมศาสตร์ ที่ผ่าน ๆ มา ไม่รู้ว่าจะช่วยลดดรามาให้น้อยลงได้หรือเปล่านะครับ 

[ #สรุป (เผื่อใครขี้เกียจอ่านยาว) พูดง่าย ๆ คือสมาคมศิษย์เก่าของทั้ง 2 สถาบัน ไม่จัดงานบอลประเพณีจุฬาฯ ธรรมศาสตร์ซักที…เด็ก ๆ นิสิตนักศึกษา ก็เลยจัดงานเตะบอลสานสัมพันธ์กันเอง..งานมันก็เลยออกมาสเกลเล็ก ๆ แค่นี้แหละครับ ]

คือจริง ๆ แล้ว มันไม่ใช่งานฟุตบอลประเพณี ที่จัดกันมากว่า 90 ปีแล้ว (ซึ่งครั้งล่าสุด คือครั้งที่ 74 เมื่อปี พ.ศ.2563)…แต่มันมีชื่อว่า “งานฟุตบอลสานสัมพันธ์จุฬาฯ ธรรมศาสตร์ ครั้งที่ 1” ต่างหากครับ

งานฟุตบอลประเพณีที่ผ่านมา ดำเนินการจัดโดย ‘สมาคมศิษย์เก่า’ ของทั้งจุฬาฯ และธรรมศาสตร์ ผลัดกันเป็นเจ้าภาพมาตลอด…ขณะที่งานฟุตบอลสานสัมพันธ์ ที่พึ่งริเริ่มจัดในปีนี้นั้น จัดโดยองค์การบริหารสโมสรของนิสิตจุฬาฯ และของนักศึกษาธรรมศาสตร์

สาเหตุที่เกิดงานนี้ก็คือ การที่งานฟุตบอลประเพณีจุฬาธรรมศาสตร์ครั้งที่ 75 (ซึ่งควรจะได้จัดไปเมื่อปี 2564) ทางด้านของสมาคมศิษย์เก่าธรรมศาสตร์ที่เป็นเจ้าภาพนั้นได้เลื่อนจัดมาหลายครั้งแล้ว ตั้งแต่ช่วงที่เกิดวิกฤตโควิดขึ้น จนมาถึงปีนี้ ก็ยังหากำหนดวันที่เหมาะสมร่วมกันกับทางสมาคมศิษย์เก่าจุฬาฯไม่ได้ แล้วต้องทำให้เลื่อนไปอีกปีนึง

ด้วยเหตุนี้ ทำให้ทางองค์การบริหารสโมสรของทั้ง 2 สถาบัน จึงได้ขอจัดงานฟุตบอลสานสัมพันธ์ขึ้นเอง แม้ว่าเวลาจะกระชั้นชิดมาก และมีงบประมาณน้อยมากก็ตาม โดยจัดในแบบที่กระชับขึ้น เรียบง่ายขึ้น งบน้อยลง ใช้กำลังคนให้น้อยลง..และที่สำคัญคือมีรูปแบบงานในแบบที่นิสิตนักศึกษาอยากจัดกัน (ไม่ได้จำเป็นอยู่ในกรอบแนวทาง ของที่สมาคมศิษย์เก่าของทั้งสองสถาบัน เคยวางแนวไว้)

ตัวอย่างเช่น การแปรอักษรด้วยป้าย LED ก็เป็นการแก้ปัญหาเรื่องการระดมหาคนขึ้นสแตนด์ ในช่วงเวลาที่กระชั้นชิดเช่นนี้..หรือแม้แต่การอัญเชิญธรรมจักรและพระเกี้ยวที่เรียบง่ายขึ้น ใช้กำลังคนน้อยลงเช่นนี้ก็เป็นการแก้ปัญหาได้ดีเช่นเดียวกัน..ซึ่งถ้ามองถึงผลลัพธ์ที่ออกมา ก็ถือว่าเป็นไปได้ด้วยดี บรรลุวัตถุประสงค์ที่ตั้งใจกันไว้ (แม้ว่าจะไม่อลังการเท่าเดิม ทั้ง stand แปรอักษรและขบวนอัญเชิญ)

ยังไงก็ตาม การจัดงานบอลสานสัมพันธ์ครั้งนี้ไม่ได้มีแต่นิสิตนักศึกษาที่จัดกันเอง แต่ผู้บริหารของทั้งสองมหาวิทยาลัยก็เข้ามาช่วยสนับสนุนเช่นกัน..ดังนั้น รูปแบบวิธีการที่เปลี่ยนไปนี้ จึงถือว่าผ่านความเห็นชอบจากผู้หลักผู้ใหญ่ของมหาวิทยาลัยทั้งสองแล้วนะครับ

ดังนั้น ผู้ที่กังวลว่างานฟุตบอลประเพณีจุฬาฯ-ธรรมศาสตร์ จะดูด้อยลง ลดความสวยงามอลังการลงจากเดิม ก็คงจะต้องรอดูในปีหน้า ๆ ถัดไป ว่างานฟุตบอลประเพณีครั้งที่ 75 นั้น จะจัดออกมาในรูปแบบไหน? จะสวยงามยิ่งใหญ่เท่าสมัยปี 2563 หรือเปล่า?

หรือจะเริ่มปรับเปลี่ยนรูปแบบใหม่ ไปตามสมัยนิยม ที่ลดเรื่องพิธีรีตอง และเน้นคุณค่าของตัวงาน ตามวัตถุประสงค์มากขึ้น..ซึ่งก็ต้องรอฟังทางสมาคมศิษย์เก่าของสองสถาบันนำเสนอชี้แจงกันต่อไป

แต่ไม่ใช่ มาดู ‘งานบอลสานสัมพันธ์ของนิสิตนักศึกษา’ ปีนี้ แล้วจะมารีบด่วนตัดสินว่า หลาย ๆ อย่าง (เช่น เสลี่ยงอัญเชิญพระเกี้ยว) ถูกยกเลิกไปแล้วอย่างที่ข่าวไปกระพือกันนะครับ…เน้นย้ำ ให้มองว่า มันเป็นคนละงานกันครับ!

ป.ล.ส่วนใครปวารณาตัว อยากจะมาช่วยยกเสลี่ยงอัญเชิญพระเกี้ยวให้ ในปีหน้า ๆ ต่อไป ก็เป็นเรื่องน่ายินดีนะครับ รีบมาสมัครล่วงหน้าได้เลย 

'เช็ค สุทธิพงษ์' เดือด!! 'จุฬาฯ' ปล่อยพระเกี้ยวถูกดึงต่ำ เผยความต่ำของใจคน ที่กล้านำเอาของสูงมาลบหลู่

(4 เม.ย.67) 'เช็ค สุทธิพงษ์ ธรรมวุฒิ' พิธีกร และผู้ผลิตสื่อชื่อดัง แห่งทีวีบูรพา โพสต์ข้อความและภาพผ่านเฟซบุ๊ก ระบุว่า...

วันนี้เด็ก มอ.ขออนุญาตเสือกเรื่องจุฬาหน่อยนะครับ เพราะว่าเรื่องของจุฬา เสือกลามถึงสถาบันและบ้านเมืองของปักเป้าอย่างผม

เช้านี้ในไลน์กลุ่มพี่น้อง มอ.ปัตตานีของผม มีความเคลื่อนไหวทางอารมณ์ต่อภาพชุดนี้แต่เช้า ความรู้สึกส่วนใหญ่ที่สะท้อนออกมา ไปทางหม่นหมอง หดหู่ สะเทือนใจ คล้าย ๆ กัน

ผมได้เห็นรูปเหล่านี้ครั้งแรก ก็จากในไลน์กลุ่ม 

เห็นแว่บแรก อยากรู้ว่าคนทำต้องการสื่อความหมายอะไร แว่บสองอยากคุยกับลูกสาวซึ่งเป็นเด็กนิเทศฯจุฬา

ถ้าพระเกี้ยวนี้ เป็นพระเกี้ยวที่ประดิษฐานอยู่ที่หอประวัติจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตึกจักรพงษ์***

ไม่ใช่พระเกี้ยวไก่กาจากไหน

(ซึ่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้รับพระบรมราชานุญาต จากพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เพื่อสร้างจำลองจากพระเกี้ยวจริง ที่ประดิษฐานอยู่ในพระคลังมหาสมบัติในพระบรมมหาราชวัง 

และได้พระราชทานแก่มหาวิทยาลัยต่อหน้าประชาคมจุฬาฯ ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตร ประจำปีการศึกษา 2531 เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2532)

คนที่ทำจะรู้หรือไม่ ไม่ทราบได้ เอาเป็นว่าน่าจะต้องรู้

ภาพนี้ เอาสิ่งที่สื่อถึงพระเกี้ยว ซึ่งอยู่บนพาน แต่ใต้หมอนรองมีเอกสารซึ่งผมไม่รู้เนื้อหา วางปูทอดขึ้นไปให้หมอนกดทับอยู่ 

ผมพยายามส่อง ก็อ่านออกแต่ตัวหนังสือที่หัวกระดาษว่า สมัชชานิสิตคณะรัฐศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

พานพระเกี้ยว บนหมอนสีชมพูซึ่งเป็นสีของจุฬา วางอยู่บนบันไดขั้นที่หก มีอาหารหมาโรยอยู่บนบันไดขึ้นไปจนถึงพาน ถุงอาหารหมาที่ถูกเปิด วางอยู่ขั้นที่เจ็ดเหนือพานพระเกี้ยว

ด้วยสติปัญญาของคนที่ไม่มีปัญญาเรียนจุฬา ผมดูแล้วดูอีก คิดแล้วคิดอีก ว่ามีความคิดสร้างสรรค์อะไรที่สื่อผ่านชิ้นงานนี้บ้าง

ประการแรกก็คือ ผมมองไม่เห็นอะไรที่มีความหมาย คุณค่า ในเชิงสร้างสรรค์ จากความพยายามที่จะกระทำนี้

ประการต่อมาก็คือ ไม่เห็นเจตนาดี ไม่ว่าต่อใครหรือต่ออะไร นอกจากความพยายามที่จะลบหลู่ รื้อทำลาย ทำให้ตกต่ำ หยามหมิ่น 

ซึ่งเป็นคำตอบของคำถามว่า ถ้างั้นทำเพื่ออะไร 

ส่วนจิตใจแบบไหนถึงสามารถทำแบบนี้ ท่านฉลาดกว่าผม คิดกันเอาเอง

พระเกี้ยวคืออะไร หมายถึงอะไรไปค้นกันเอาเอง

สำหรับจุฬา พระเกี้ยวคือตราสัญลักษณ์แห่งความภาคภูมิใจของชาวจุฬา เปิดอากู๋ก็จะเจอข้อมูลที่ชวนให้สงสัยว่า เชื่อได้ (ตอแหล)หรือเปล่าวะ

เพราะสัญลักษณ์พระเกี้ยว ที่พระราชทานจากพระหัตถ์ของพระเจ้าแผ่นดิน ให้กับประชาคมจุฬา อันเป็นเกียรติภูมิของจุฬา เมื่อ 30 กว่าปีที่แล้ว 

วันนี้ ถูกสมาชิกของจุฬากี่คนไม่รู้ เอามาวางบนบันได ที่ตีนใครต่อใครไม่รู้ เหยียบ ย่ำ ข้ามผ่าน

เอาเอกสาร ซึ่งผมคิดว่าคนทำคงคิดว่า ก้าวหน้า เนื้อหามีปัญญา สูงล้ำ มาวาง เอาอาหารหมามาโรย ถ่ายภาพเหล่านี้เผยแพร่ทางโซเชียลมีเดีย

จะเจตนาอะไร ถ้าไม่ใช่ด้อยค่าพระเกี้ยว สิ่งสมมติเกี่ยวกับพระเกี้ยว และต้องการเสียดเย้ยว่า คนที่เคารพ ให้ความหมายกับพระเกี้ยวนั้น ไม่ต่างจากหมาที่ถูกจูงล่อด้วยอาหาร เชื่องเชื่อ ไร้มันสมอง 

ส่วนคนที่ทำนั้นคงเข้าใจว่าตัวเองเป็นพวกก้าวหน้า ไม่ดักดาน และคงยืนดูด้วยความกระหยิ่ม ภาคภูมิใจ สะใจในผลงาน ความคิดและสติปัญญา

ผมคิดว่า จุฬาคงไม่เคยสอน ว่าของสูงมาวางในที่ต่ำนั้น ไม่ได้ทำให้ของสูงนั้นถูกลดค่ากลายเป็นของต่ำ เหมือนพระพุทธรูปทองคำ ที่เอาโยนลงบ่อขี้ก็ยังเป็นพระพุทธรูปทอง 

ที่ต่ำคือ ใจคนที่เอาของสูงมาทำอย่างต่ำ ๆ ด้วยเจตนา

เช็ค สุทธิพงษ์ โพสต์ต่ออีกว่า ผมเคยเป็นเด็ก ทำผิดพลาด เพราะขาดประสบการณ์ ขาดข้อมูล มองแคบ อคตินำใจ คิดอ่านไม่รอบคอบ 

ส่วนเรื่องความไม่เหมาะสมและไม่สร้างสรรค์ คิดเหมือนเดิมครับ

เมื่อคนจุฬาฯ (ส่วนหนึ่ง) เลือกเนรคุณสถาบันฯ ก็ควรกล้าหาญลงชื่อคืนของสูงกลับสู่แผ่นดิน

ผมอยากให้ครูอาจารย์สามนิ้ว และนักศึกษาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยที่แอบสนับสนุนการล้ม 112 หรือสมคบคิดกับพรรคการเมืองล้มล้างสถาบันกษัตริย์ ถ้าอยากอยู่อย่างคนที่มีศักดิ์ศรี งามสง่าในความเป็นมนุษย์ ก็โปรดลงชื่อคืนแผ่นดินให้กับสถาบันเถิด หรือไม่ก็ควรลาออกจากมหาวิทยาลัยนี้ก็ได้ 

เพราะในเมื่อเกลียดเจ้าของที่ ก็อย่าเอาเท้าที่คิดว่าสะอาดของตัวเอง ไปเหยียบ ไปเดิน บนแผ่นดินของเขา หรือใช้ชื่อตราของเขาฉายโชว์เพื่อเฉิดฉายตัวตนอวดสังคม 

มันจะเข้าทำนองเกลียดตัวแต่กินไข่ หรือไม่ก็กินบนเรือนขี้รดบนหลังคา มีคนดี ๆ ที่ไหนเขาทำกัน? เพราะมันดูย้อนแย้งสิ้นดี!

เจ้าของแผ่นดินชาติตัวจริง เขาจะได้นำผืนดินผืนนี้ไปสร้างประโยชน์ให้กับกลุ่มคนที่เขารักชาติ-สถาบัน ซึ่งเชื่อว่าจะเกิดประโยชน์ เกิดความรัก เกิดความสามัคคีในคนหมู่มากที่ 'คิดเป็น' มากกว่า

การทำตัวเป็นคนเนรคุณสถาบัน แอบเซาะกร่อน จาบจ้วง ผ่านพฤติกรรมอันหยาบช้าอยู่บ่อยครั้ง ทั้ง ๆ ที่จุดกำเนิดของการสร้างมหาวิทยาลัยก็มาจากน้ำใจของพระมหากษัตริย์ไทยโดยแท้ ยังกล้าเนรคุณนั้น ผมกล้าพูดเลยว่าเจ้าตูบที่บ้านของผมยังมีหัวใจกตัญญูรู้คุณคนมากกว่าเลย 

แต่นี่ใช้ชื่อความเป็นจุฬาฯ มาทำมาหากิน แสวงหาความอยู่รอดในสังคม แต่กลับทำตัวต่ำช้า คอยเหยียบย่ำสายเลือดของผู้ให้กำเนิดมหาวิทยาลัยของตัวเอง

น่าละอาย น่ารังเกียจ และน่าทุเรศที่สุด!!

แนะนำว่า คืนแผ่นดินให้กับสถาบันแล้วก็ให้ไปลงชื่อขอที่ดินจาก 'ศาสดาส้ม' ที่พวกคุณยกย่อง ไปสร้าง 'มหาวิทยาลัยสามนิ้วใหม่' ได้เลย แล้วเอา 'ตราพระเกี้ยว' อันสูงส่งออก ใส่ตราสามเหลี่ยมหัวแหลมคล้ายตูดลิงเข้าไปแทน

ถ้าไม่กล้าคืน ก็อย่าริเรียกตนว่าเป็น 'คนจุฬาฯ' อย่าบังอาจเอาชื่อที่งามสง่ามาใช้ป้องปิดหัวใจบาปของตัวเอง


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top