Saturday, 18 May 2024
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

จุฬาฯ สานพลัง กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ สธ. ผลิตหลักสูตรระยะสั้นด้านสุขภาพและการแพทย์ สำหรับผู้บริหารระดับสูงและผู้ประกอบการด้านสุขภาพ ผลักดันอุตสาหกรรมการแพทย์ไทยสู่นานาชาติ

วันพุธที่ 3 พฤษภาคม 2566 ณ ห้องประชุม 801 ชั้น 8 อาคารเฉลิมราชกุมารี 60 พรรษา (จามจุรี 10) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับ กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการ พัฒนาหลักสูตร Lifelong Learning ด้านสุขภาพและการแพทย์ สำหรับบุคลากรสาธารณสุขและภาคธุรกิจที่เกี่ยวกับสุขภาพและการแพทย์ทุกระดับ เพื่อยกระดับมาตรฐานวิชาชีพบุคลากรในอุตสาหกรรมการแพทย์ของไทยให้เป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติ และมีความพร้อมต่อการเปลี่ยนแปลงของวิทยาศาสตร์และความก้าวหน้าของเทคโนโลยีสมัยใหม่ สอดรับกับกระแสโลก ตลอดจนร่วมกันจัดทำโครงการจัดการความรู้ การพัฒนางานวิจัย รวมทั้งพัฒนานวัตกรรมที่เป็นผลิตภัณฑ์ และ/หรือ นวัตกรรมการบริการทางการแพทย์และสาธารณสุขต่อไปในอนาคต โดยมี ศาสตราจารย์ ดร.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ อธิการบดี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และนายแพทย์สุระ วิเศษศักดิ์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข ร่วมลงนามความร่วมมือในครั้งนี้


การลงนามความร่วมมือระหว่าง 2 องค์กรในครั้งนี้เกิดจากวิสัยทัศน์ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและกรมสนับสนุนบริการสุขภาพที่สอดคล้องกันที่ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของวิทยาการความก้าวหน้าทางด้านการแพทย์และสาธารณสุขที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างก้าวกระโดดในระดับโลกถือเป็นโอกาสของประเทศไทยในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของไทยด้วยอุตสาหกรรมการแพทย์ จึงจำเป็นต้องพัฒนาบุคลากรในด้านการธุรกิจและบริการด้านสุขภาพรองรับการเติบโต โดยเน้นรูปแบบการเรียนรู้ที่ครอบคุลมทุกช่วงวัย มีความยืดหยุ่น ปรับเปลี่ยนได้ตามสถานการณ์ ได้แก่ การเรียนรู้ตลอดชีวิต (Lifelong Learning) จึงเป็นที่มาของผนึกกำลังระหว่างองค์กร เพื่อร่วมพัฒนาหลักสูตรประกาศนียบัตรระยะสั้นภายใต้ของตกลงความร่วมมือทางวิชาการในครั้งนี้


ศาสตราจารย์ ดร.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ อธิการบดี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมุ่งหวังที่จะนำความรู้วิชาการทางด้านสุขภาพและการแพทย์ใหม่ ๆ ที่มีหลักฐานเชิงประจักษ์ และเป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติมาถ่ายทอดสู่ผู้นำของประเทศที่มีสมรรถนะในการสร้างสรรค์องค์กรทั้งภาครัฐและเอกชน มุ่งสู่ “การพัฒนาอย่างยั่งยืน” ตามเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนแห่งสหประชาชาติ หรือ Sustainable Development Goals (SDGs) 17 เป้าหมาย การที่จุฬาฯ ได้ผนึกกำลังร่วมกับกรมสนับสนุนบริการสุขภาพในครั้งนี้ จึงเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการยกระดับมาตรฐานวิชาชีพบุคลากรในอุตสาหกรรมการแพทย์ของไทยให้เป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติ และเพื่อร่วมกันขับเคลื่อนในการพัฒนากำลังคนของประเทศที่มีประสิทธิภาพสูงของประเทศต่อไป


นายแพทย์สุระ วิเศษศักดิ์ อธิบดี กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กล่าวว่า กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข มีพันธกิจที่มุ่งพัฒนากำลังคนคุณภาพในระบบเศรษฐกิจสุขภาพ หลักสำคัญคือการผลักดันและส่งเสริมให้บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขของประเทศได้เพิ่มพูนทักษะ ประสบการณ์ และเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ ซึ่งจะช่วยในการขับเคลื่อนในการพัฒนากำลังคนของประเทศที่มีประสิทธิภาพสูง ได้เล็งเห็นความสำคัญของการพัฒนาองค์ความรู้ในรูปแบบหลักสูตรการศึกษาตลอดชีวิต จึงเกิดความร่วมมือทางวิชาการระหว่างกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กับ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยจะมีความร่วมมือกันในการพัฒนาหลักสูตร 
การจัดการความรู้ พัฒนางานวิจัยและนวัตกรรมการบริการทางการแพทย์และสาธารณสุข ตลอดจนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างบุคลากร เพื่อตอกย้ำเจตนารมย์ของความร่วมมือดังกล่าว จึงได้เปิดตัวแนะนำหลักสูตรระยะสั้นสำหรับผู้บริหารระดับสูงด้านการแพทย์และธุรกิจสุขภาพ หลักสูตรแรกของประเทศไทย หลักสูตร “เวฬา” หรือ “Vitality Enhancement & Longevity Academy (VELA)” ซึ่งเป็นหลักสูตรภายใต้ความร่วมมือระหว่างระหว่างจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ โดยรวมองค์ความรู้ล้ำสมัย เช่น การแพทย์แม่นยำ (Precision Medicine) เวชศาสตร์ฟื้นฟูสภาวะเสื่อม (Reverse Aging) สุขภาพเพศกับการมีอายุยืน (Sexual Health & Longevity) เวชศาสตร์วิถีชีวิต (Lifestyle Medicine) การนอนหลับ และสุขภาพจิต (Sleep and Mental Health) เป็นต้น

4 มิถุนายน พ.ศ. 2490  วันสถาปนา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นับเป็นคณะแพทยศาสตร์แห่งที่ 2 ของประเทศไทย

คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นหน่วยงานระดับคณะวิชาของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีพระราชกฤษฎีกาประกาศตั้งเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2490 มีผลบังคับใช้ในวันที่ 4 มิถุนายน พ.ศ. 2490 โดยสังกัดอยู่ภายใต้มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ จนกระทั่งถูกโอนมาสังกัดจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในปี พ.ศ. 2510 เป็นคณะแพทยศาสตร์แห่งที่ 2 ของประเทศไทย ถือกำเนิดจากพระราชปรารภในพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร รัชกาลที่ 8 

การดำเนินการจัดตั้งคณะแพทยศาสตร์แห่งนี้เริ่มขึ้นภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ยุติลงเพียงแปดเดือนเท่านั้น ถือเป็นช่วงเวลาที่ประเทศไทย ประสบความยากลำบากทางการเมืองและเศรษฐกิจ อีกทั้งจำเป็นต้องมีการบูรณะบ้านเมืองที่เสียหายจากการทิ้งระเบิด คณะแพทยศาสตร์แห่งนี้จึงเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาวงการสาธารณสุขของประเทศ ในช่วงเวลาที่ประเทศกำลังอยู่ในภาวะวิกฤต ควบคู่ไปกับการพัฒนามาตรฐานแพทยศาสตรศึกษา 

ปัจจุบันคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นศูนย์ความร่วมมือขององค์การอนามัยโลก 3 สาขา ได้แก่ ศูนย์ความร่วมมือด้านแพทยศาสตรศึกษา ศูนย์ความร่วมมือด้านการวิจัยการสืบพันธุ์ของมนุษย์ ศูนย์ความร่วมมือด้านการวิจัยและฝึกอบรมด้านไวรัสและโรคติดต่อจากสัตว์สู่คน

แพทย์ไทย ใช้ ‘โมเลกุลมณีแดง’ รักษาผู้ป่วยสมองตาย ให้รับรู้และตอบสนองได้ พ้นจากสภาวะสมองเสียหาย 

คนไทยจำนวนมากคงได้รู้จัก ‘โมเลกุลมณีแดง’ ซึ่งเป็นโมเลกุลที่มีชื่อภาษาอังกฤษว่า ‘REDGEM’ อันย่อมาจาก REjuvenating DNA by GEnomic Stability Molecule ซึ่ง ศาสตราจารย์ ดร.นายแพทย์อภิวัฒน์ มุทิรางกูร ภาควิชากายวิภาคศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และคณะ เป็นผู้คิดค้นและพัฒนา โดย ‘โมเลกุลมณีแดง’ มีคุณสมบัติในการย้อนวัยที่ DNA เป็นกลไกสำคัญที่จะใช้แก้ปัญหาสุขภาพในสังคมสูงวัยได้ และยังมีศักยภาพในการเพิ่มรายได้ให้กับประเทศไทยด้วย”

ศ.ดร.นพ.อภิวัฒน์ ผู้เชี่ยวชาญด้านอณูพันธุศาสตร์และสภาวะเหนือพันธุกรรม ได้ค้นพบกลไกต้นน้ำของความชรา โดยพบว่า DNA ของคนหนุ่มสาวจะได้รับการป้องกันจากการมี DNA gap ซึ่งมีลักษณะเหมือนกับรอยแยกบนรางรถไฟที่ทำหน้าที่ป้องกันไม่ให้รางรถไฟบิดเบี้ยวจากความร้อน ในขณะที่คนชราหรือเซลล์ชราจะมี DNA gap ลดลง DNA gap จึงเป็นที่มาของการพัฒนา ‘โมเลกุลมณีแดง’ หรือ REDGEM ซึ่งมีบทบาทในการสร้าง DNA gap เพื่อช่วยในการปกป้อง DNA และทำหน้าที่ป้องกันความแก่ชราใน DNA

หลังจากที่ได้มีการทดลองใช้มณีแดงศึกษาในสัตว์ทดลอง หนู หมู ลิงแสม และกระต่าย รวมแล้วหลายร้อยตัว คณะวิจัยก็พบว่า ‘โมเลกุลมณีแดง’ มีความปลอดภัยสูงจึงน่าที่จะเป็นความหวังในการรักษาคนไข้สมองตาย ในการทดลองครั้งหนึ่งมีการทำให้สมองส่วนทำการเคลื่อนไหวในหนูตาย และพบว่า หนูไม่สามารถขยับตัวได้ แต่เมื่อให้ ‘โมเลกุลมณีแดง’ ปรากฏว่า หนูมีอาการดีขึ้นเรื่อย ๆ จนหายเป็นปกติในเวลา 14 วัน จากการศึกษา ‘โมเลกุลมณีแดง’ ทำให้ทราบเป็นความรู้ใหม่ว่า ‘โมเลกุลมณีแดง’ สามารถเพิ่มจำนวนเซลล์สมอง (ในสมองที่ถูกทำลาย) และยังทำให้เซลล์สมองที่เสียการทำงานสามารถฟื้นกลับคืนมาจนทำงานได้เป็นปกติ

และนับเป็นข่าวที่ดียิ่งของมวลมนุษยชาติ เพราะในขณะนี้ได้มีการทดลองใช้ ‘โมเลกุลมณีแดง’ ในมนุษย์แล้ว หลังจากผ่านการทดลองใช้ ‘โมเลกุลมณีแดง’ ในสัตว์ทดลองแล้วหลายร้อยตัวอย่างปลอดภัย โดยได้ใช้ ‘โมเลกุลมณีแดง’ ในการทดลองรักษา ‘น้องการ์ตูน’ นส.ดวงกมล ไชยสายัณห์ ผู้ป่วยหญิง อายุ 28 ปี 11 เดือน ซึ่งเมื่อวันที่ 18 กันยายน พ.ศ. 2565 ‘น้องการ์ตูน’ มีอาการหัวใจหยุดเต้น หรือสภาวะที่หัวใจทำงานผิดปกติ จนไม่มีการบีบตัวหรือหยุดเต้นทันที โดยไม่มีอาการเตือนล่วงหน้า (Sudden cardiac arrest) จนทำให้เกิดอาการสมองตาย หรืออาการบาดเจ็บของสมองอันเป็นพิษจากการขาดออกซิเจนในสมองอย่างสมบูรณ์ (Anoxic brain damages are caused by a complete lack of oxygen to the brain)

‘น้องการ์ตูน’ จึงกลายเป็นผู้ป่วยสมองตาย ซึ่งในช่วงแรก ๆ อยู่ได้ด้วยเครื่องช่วยหายใจ และรับอาหารทางสายยาง โดยรักษาตัวอยู่ในห้อง ICU ในโรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่งนับแต่บัดนั้นเป็นต้นมา กระทั่งโรงพยาบาลที่ ‘น้องการ์ตูน’ พักรักษาตัวอยู่พิจารณาแล้วเห็นว่า ‘น้องการ์ตูน’ คงไม่สามารถรักษาให้ดีขึ้นหรือเป็นปกติได้แล้ว จึงเสนอให้ครอบครัวพา ‘น้องการ์ตูน’ กลับไปรักษาตัวที่บ้านจังหวัดขอนแก่น แต่ครอบครัวของ ‘น้องการ์ตูน’ ไม่ยอมละทิ้งความหวังใด ๆ โดยเฉพาะคุณแม่ของ ‘น้องการ์ตูน’ ผู้เป็นข้าราชการเกษียณของกรมอนามัย เคยเป็นพยาบาลมาก่อน และจบปริญญาโทด้านเวชศาสตร์การกีฬาจากคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แม้จะเข้าใจสถานการณ์ของ ‘น้องการ์ตูน’ เป็นอย่างดี แต่ก็ไม่ได้รู้สึกสิ้นหวังอย่างใด คงพยายามค้นหาวิธีการรักษาที่จะช่วยให้บุตรสาวอาการดีขึ้นกว่าสภาพที่เป็นอยู่

เมื่อคุณแม่ของ ‘น้องการ์ตูน’ ทราบถึงเรื่องราวเกี่ยวกับ ‘โมเลกุลมณีแดง’ ซึ่งน่าจะเป็นความหวังเดียวในการรักษาฟื้นฟู ‘น้องการ์ตูน’ ให้ดีขึ้นจากสภาพที่เป็นอยู่ จึงได้ติดต่อ ศ.พญ.อารีรัตน์ สุพุทธิธาดา ภาควิชาเวชศาสตร์ฟื้นฟู ซึ่งท่านเคยเป็นอาจารย์ที่ปรึกษาของคุณแม่ของ ‘น้องการ์ตูน’ ในขณะที่เป็นนิสิตปริญญาโท และท่านได้กรุณาประสานติดต่อ ศ.ดร.นพ.อภิวัฒน์ หัวหน้าคณะผู้วิจัยฯ ‘โมเลกุลมณีแดง’ จึงมีการพูดคุยหารือกัน และครอบครัวของ ‘น้องการ์ตูน’ โดยคุณพ่อและคุณแม่ได้ร้องขอ และแสดงความสมัครใจที่จะให้ ‘น้องการ์ตูน’ ได้รับการทดลองรักษาด้วย ‘โมเลกุลมณีแดง’ ซึ่งในปัจจุบัน คณะผู้วิจัยฯ ศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทาง อณูพันธุศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และสภากาชาดไทยได้ทดลองทำการผลิตร่วมกัน โดยการทดลองรักษาด้วย ‘โมเลกุลมณีแดง’ ครั้งนี้ถือเป็นกระบวนการทางการแพทย์เพื่อรักษาผู้ป่วยสิ้นหวังด้วยหลักเมตตาธรรม หรือการรักษาด้วยหลักเมตตาธรรม (Compassionate treatment) ตามปฏิญญาเฮลซิงกิ ค.ศ. 2013 ของแพทยสมาคมโลก (WMA Declaration of Helsinki 2013) เป็นครั้งแรกของประเทศไทย

หลังจากที่ ‘น้องการ์ตูน’ นอนพักรักษาตัวในห้อง ICU ซึ่งแพทย์ได้ทำการรักษาตามอาการนาน 8 เดือนแล้ว แต่น้องก็ไม่มีอาการรับรู้ใด ๆ ทั้งสิ้น ซึ่งทางการแพทย์จัดว่า น้องอยู่ในสภาวะสมองเสียหายจนอยู่ใน ‘สภาพผัก’ (Anoxic brain injury vegetative state) และทำได้เพียงลืมตาเมื่อตอบสนองต่อการจับตัวแรง ๆ ของคุณพ่อและคุณแม่เท่านั้น อาการของน้องก่อนได้รับ‘โมเลกุลมณีแดง’ คือ
1. น้องต้องใช้เครื่องช่วยหายใจหลังจากมีอาการ ประมาณ 4 สัปดาห์จึงสามารถหายใจเองได้ และได้ถอดเครื่องช่วยหายใจออก ต่อมาอีกสัปดาห์น้องมีอาการไม่หายใจ แต่หัวใจยังทำงานจึงใช้เครื่องช่วยหายใจอีกครั้งเป็นเวลา 2 สัปดาห์ แล้วน้องก็สามารถหายใจเองได้อีก แล้วจึงไม่ได้ใช้เครื่องช่วยหายใจตั้งแต่นั้นอีก
2. น้องไม่รู้สึกตัว ไม่มีการตอบสนองต่อเสียงเรียก
3. สีหน้าและใบหน้าของน้องเรียบเฉย ไม่มีการแสดงอารมณ์และความรู้สึกใด ๆ
4. น้องสามารถลืมตาขวาได้ดี เมื่อถูกกระตุ้นด้วยความรู้สึกเจ็บ (Pain) ตาซ้ายลืมได้น้อยมาก บางครั้งหลับตาซ้าย บางวันตาซ้ายแดงและมีอาการบวมบ้างเล็กน้อย ตาของน้องจะมองตรงและนิ่ง ไม่มองตามเสียง ดวงตาไม่มีแววตา ไม่สามารถมองตามเสียงพูด
5. น้องไม่สามารถเอียงคอไปซ้าย-ขวาได้ นาน ๆ ครั้งจะพยายามยกคอ มีอาการตัวเกร็งและงอ ขางอเมื่อถูกกระตุ้น เช่นขณะดูดเสมหะ (Suction) หรือไอ
6. ปลายมือของน้องมีสีม่วงคล้ำ (Cyanosis) มือแบออก ไม่มีการกำมือ มือมักจะมีอาการเย็นข้างใดข้างหนึ่ง ขวาบ้าง ซ้ายบ้าง จับเท้าดูบางครั้งเย็นทั้ง 2 ข้าง และเท้าไม่สามารถขยับได้เลย

การตรวจร่างกายก่อนให้ ‘โมเลกุลมณีแดง’ เมื่อวันที่ 15/5/2566 อาการของ ‘น้องการ์ตูน’ คือ แขนและขาเกร็ง มือและเท้าเขียว หนังตาซ้ายตก (Ptosis) ลืมตาขวาเมื่อถูกกระตุ้นด้วยความรู้สึกเจ็บ (Pain) แต่ไม่สบตา น้องสามารถขยับตัวได้อย่างช้า ๆ เกร็งงอตัว หันซ้ายได้ช้ามาก

‘น้องการ์ตูน’ ได้รับ ‘โมเลกุลมณีแดง’ โดสแรกเมื่อ 15 พ.ค. 2566 โดสที่ 2 เมื่อ 23 พ.ค. โดสที่ 3 เมื่อ 30 พ.ค. และโดสที่ 4 เมื่อ 7 มิ.ย. 2566 ต่อไปนี้เป็นการสรุปอาการของ ‘น้องการ์ตูน’ หลังจากที่ได้รับ ‘โมเลกุลมณีแดง’ 4 โดสแรกของน้องในเวลา 30 วัน โดยคุณแม่ของน้องดังนี้ :
1. ดวงตา น้องสามารถลืมตาเปิดได้มากขึ้นจนตาข้างขวาสามารถลืมตาได้โตเป็นปกติ ส่วนตาข้างซ้ายซึ่งเคยลืมตาเปิดแทบไม่ได้เลยก็สามารถลืมตาได้มากกว่าครึ่งของการลืมตาปกติ และอาการแดงของตาที่น้องเคยมีก็หายแล้ว และจากที่ดวงตาเคยไร้แววตาก็สามารถมองเห็นแววตาได้
2. น้ำตา เดิมช่วง 8 เดือนน้องไม่มีน้ำตาไหลออกมาเลย หลังจากได้รับยาแล้ว เมื่อแฟน เพื่อน มาเยี่ยม หรือเมื่อคุณแม่บอกให้หายเร็ว ๆ มีน้ำตาไหลออกมา 1 ถึง 2 หยด และช่วงสัปดาห์ที่ 4 ขณะคุณแม่พูดคุยเรื่องในอดีต น้องก็มีน้ำตาไหลออกมาต่อเนื่อง นานประมาน 15 ถึง 20 นาที พร้อมทั้งบีบมือแรงมากขึ้น
3. การตื่น น้องตื่นได้เร็วขึ้น เมื่อคุณแม่เรียกในขณะที่หลับอยู่ น้องสามารถตอบสนองต่อเสียงเรียก หรือพอคุณแม่แตะตัวเบาๆ ก็ลืมตาและขยับปากแสดงถึงอาการรับรู้ของน้อง
4. การรับรู้ จากการที่น้องพยายามมองตามเสียงพูดของบรรดาผู้ที่มาเยี่ยม และมีการเอียงคอหันตามเสียงพูด แสดงว่า น้องสามารถรับรู้เสียงและภาพได้
5. สีผิว สีผิวของน้องทั้งใบหน้าและแขน เปลี่ยนจากช่วง 8 เดือนที่ผ่านมา จากที่ผิวเคยมีสีคล้ำเป็นขาวใสขึ้น เป็นสัญญาณที่ดีที่แสดงถึงระบบไหลเวียนของเลือดดีขึ้น (เกิดขึ้นตั้งแต่วันแรกที่น้องได้รับยา)
6. การเอียงคอ น้องสามารถเอียงคอได้ตามเสียงของเพื่ิอน ๆ ที่มาเยี่ยมเรียก โดยที่เพื่อน ๆ ยืนอยู่ทั้งด้านซ้ายและขวา น้องพยายามหันตามเสียงเพื่อนทางด้านซ้ายพร้อมกับมองตา เมื่อเพื่อนที่อยู่ทางด้านขวาพูดก็จะหันมาทางด้านขวาและมองตาแต่น้องยังทำได้ไม่ทุกครั้ง
7. มือ ปลายมือทั้ง 2 ข้างของน้องจากที่คุณแม่จับแล้วรู้สึกเย็น (ช่วง 8 เดือนที่ผ่านมา) กลายเป็นอุ่นขึ้นเช่นเดียวกับเท้าทั้ง 2 ข้าง ปลายมือและเล็บมือที่เคยมีสีม่วงคล้ำเปลี่ยนเป็นสีขมพู แสดงให้เห็นว่า ระบบไหลเวียนของหลอดเลือดส่วนปลายดีขึ้น(เปลี่ยนเป็นสีชมพูและอุ่นขึ้นตั้งแต่วันแรกที่น้องได้รับยา)
8. การบีบมือและกำมือ ในช่วง 8 เดือนที่ผ่านมา มือของน้องขยับไม่ได้เลยโดยมือแบออกตลอด จากที่ไม่สามารถกำมือได้หลังจากรับยาแล้ว น้องก็สามารถกำมือและแบมือได้ และสามารถบีบมือแรงจนคุณแม่รู้สึกได้อย่างชัดเจน
9. การเหยียดขาและขยับเท้า ในช่วง 8 เดือนก่อนรับยา น้องไม่สามารถเหยียดขาและขยับเท้าได้เลย หลังจากรับยาแล้ว น้องสามารถเหยียดขาและขยับเท้าได้บ้าง
10. การยกศีรษะ ยกตัว และยกแขน ในช่วง 8 เดือนที่น้องยังไม่ได้รับยา ยังไม่สามารถทำอาการเหล่านี้ได้เลย แต่หลังจากได้รับยาแล้ว ตั้งแต่สัปดาห์ที่ 2 ถึง 3 เมื่อคุณแม่กระตุ้นโดยการทำกายภาพบริหารแขนให้ น้องสามารถยกศีรษะ ยกตัว และยกศีรษะและเอียงศีรษะด้วยตัวเองได้มากขึ้น

ความสำเร็จของ “โมเลกุลมณีแดง” ในการรักษา‘น้องการ์ตูน’ ผู้ป่วยสมองเสียหายถาวร จนถือได้ว่า พ้นจากสภาวะสมองเสียหายจนอยู่ใน ‘สภาพผัก’ (Anoxic brain injury vegetative state) แล้ว นับเป็นความก้าวหน้าที่ยิ่งใหญ่ของมนุษยชาติ หรือความสำเร็จแห่งมนุษยชาติ ด้วยเป็นการรักษาอาการของโรคในลักษณะได้ผลเป็นครั้งแรกของโลกเลยก็ว่าได้ นับเป็นความภาคภูมิใจอย่างยิ่งที่นวัตกรรมที่มีคุณค่ายิ่งเกิดจากฝีมือของคณะนักวิจัยและนักวิทยาศาสตร์ของไทย และ ‘โมเลกุลมณีแดง’ จะเป็นกลไกสำคัญในอันที่จะใช้ในการแก้ปัญหาสุขภาพในสังคมสูงวัย ตลอดจนศักยภาพเชิงวิทยาศาสตร์การแพทย์ของ ‘โมเลกุลมณีแดง’ จะสามารถสร้างความมั่นคงด้านสุขภาพให้สังคมไทย และเพิ่มรายได้จากการให้บริการทางการแพทย์และสุขภาพกับประเทศไทยอีกด้วย

‘แม่น้องการ์ตูน’ โพสต์จากใจ ขอบคุณ ‘แพทย์จุฬาฯ’ ที่รักษาลูกสาว ผู้ป่วย ‘เจ้าหญิงนิทรา’ ให้กลับมารับรู้และตอบสนองได้

นางเพ็ญนิดา ไชยสายัณห์ คุณแม่ของน้องการ์ตูน ผู้ป่วยสภาวะสมองตายหรือสภาวะเจ้าหญิงนิทรา ได้โพสต์เฟซบุ๊ก เพื่อขอบคุณทีมแพทย์ จากโรงพยาบาลจุฬาฯ ที่ได้ช่วยรักษาลูกสาว จนทำให้อาการดีขึ้นมาตามลำดับ โดยระบุว่า ...

จากใจแม่ ❤️❤️❤️ วันนี้ ครบ9 เดือนแล้ว ที่น้องการ์ตูนลูกแม่ นอนพักรักษาตัว ที่ รพ.  ก่อนรับยา มณีแดง น้องนอนไม่รู้สติมานานถึง 7 เดือน  มาเดือนที่ 8  น้องได้มีโอกาสพิเศษมาก ๆได้รับการรักษาด้วยโปรแกรมหลักเมตตาธรรม ตามปฎิญญา เฮลซิงกิ ค.ศ. 2013  การใช้ยามณีแดง ในผู้ป่วยสมองเสียหายจากขาดออกซิเจน... เป็นความโชคดี ที่ทำให้แม่ได้รู้จัก ศ.ดร. นพ.อภิวัฒน์ มุทิรางกูล ผู้ค้นพบ REDGEMs  ที่ให้โอกาสน้องรับยามณีแดง หรือ REDGEMs ตั้งแต่เดือนที่8 ถึงวันนี้ 9 เดือนแล้ว น้องรับยา 5 โดสแล้ว  

แม่อยากบอกความรู้สึกถึงความมหัศจรรย์  2 เรื่อง คือ 1. น้องได้โอกาสรับยา มณีแดง เป็นคนแรก ของประเทศไทย จาก ศ.ดร.นพ. อภิวัฒน์ มุทิรางกูร ผู้ค้นพบ REDGEMs หรือ มณีแดง 2.มหัศจรรย์ของยา  น้องมีการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ที่ชัดเจนคือ  เพียง1วัน ผิวสดใสมาก จากผิวที่หมองคล้ำ  มือเท้าเย็นเป็นอุ่น เล็บเปลี่ยนจากสีม่วงคล้ำเป็นสีชมพู ทั้ง 2 ข้าง  แม่สังเกตทุกวัน น้องแสดงถึงการรับรู้ให้เห็น จากภาวะผัก หรือเจ้าหญิงนิทรา หลังให้ยาใน1 สัปดาห์ เป็นต้นไปการตื่นตัว เร็วขึ้น มีเสียง-แตะตัวเบาๆน้องก็ลืมตา น้องลืมตาโต-กะพริบตาเหมือนคนปกติได้ดีขึ้น จากเดิมที่เรียกแล้วจะตื่นช้ามากและลืมตาซ้ายแทบไม่ได้ เพราะมีอาการ หนังตาตก-ตามองไม่ตรง ตอนนี้ลืมตาได้เกือบเท่ากัน ทั้ง2 ข้างตาไม่เหล่ มองได้ตรงสมดุลย์ ตามีแววไม่เลื่อนลอย  น้องพยายามมองตามเสียงพูด  สีหน้าแสดงอารมณ์ มีขมวดคิ้ว มีน้ำตาไหล บางครั้งขยับปากอยากพูด ทำตามสั่งได้ เอียงคอไปซ้าย-ขวาได้  ทำตามสั่งได้ กำมือ-แบมือได้  แต่ต้องให้เวลาน้องสัก 2-3นาที

สิ่งที่น้องทำได้  แม่รู้สึกเหมือน ปาฏิหาริย์ ได้เกิดกับลูกแม่แล้ว  ❤️❤️❤️🙏🙏🙏 อาจารย์หมออภิวัฒน์ บอกว่าต้องให้เวลาสมองในการเจริญเติบโต ทำหน้าที่ และพัฒนาเรียนรู้ อีกเป็นเดือน .... ปี...  อาจารย์หมอ และพ่อ-แม่ บอกได้ว่า .....  ณ วันนี้  น้องกลับมาแล้ว ❤️❤️❤️ น้องมีการรับรู้แล้ว เพียงแต่ยังสื่อสารยังไม่ได้  💓💓💓 ยังพูดไม่ได้  น้องเจาะคอ รอเพียงให้น้องแข็งแรงขึ้นเท่านั้น  แม่จะเฝ้าดูแล ฝึกพัฒนาการ-การเรียนรู้ให้น้องอย่างใกล้ชิดทุกวัน ด้วยแม่มีความรู้ทางการพยาบาลและเวชศาสตร์การกีฬาที่เรียนมา ....  จะกี่วัน กี่เดือน  แม่ก็จะรอให้น้องกลับมาเป็นปกติเหมือนเดิม แม่จะรอด้วยความหวัง ซึ่งแม่เชื่อว่า  ผลของยามณีแดง ที่อาจารย์ให้เป็นโดส ทุกสัปดาห์  อย่างต่อเนื่อง น้องจะดีขึ้นทุกวันๆ   ❤️❤️❤️

ด้วยอานิสงค์  จากผลการใช้ยาที่เกิดความสำเร็จนี้  🙏🙏🙏ขอให้ ผู้ป่วยภาวะสมองเสียหายที่ญาติรอคอยด้วยความหวัง ได้มีโอกาสรับยามณีแดง เพราะยิ่งได้รับเร็ว ยิ่งจะช่วยให้เซลสร้างตัวขยายตัวเร็ว  และเซลกลับมาทำงานเป็นปกติได้เร็ว ผู้เป็นพ่อแม่รอคอยลูกกลับมาทุกลมหายใจ
       

👍👍👍ศ.ดร.นพ. อภิวัฒน์  มุทิรางกูร  แพทย์จุฬาฯ ผู้ค้นพบ โมเลกุล REDGEMs หรือ มณีแดง ยาอายุวัฒนะ วิทยาการสมัยใหม่ องค์ความรู้ใหม่ทางการแพทย์  มณีแดง  ช่วยสร้างเซลสมองใหม่ ระดับ DNA ช่วยต้านเซลล์ชราให้เซลล์ย้อนวัย ดิฉันขอกราบขอบพระคุณ ท่านผู้ให้โอกาสน้องได้รับยา มณีแดง  เป็นคนแรก ของประเทศไทย นี่คือ สิ่งมหัศจรรย์ ที่เกิดกับลูก ความสำเร็จนี้ คือดีใจมาก เป็นความหวังสูงสุดในชีวิตของพ่อ-แม่  ที่สุดคือเป็นความภาคภูมิใจแห่งวงการแพทย์ไทย ชาติไทย และเป็นประโยชน์ต่อมวลมนุษยชาติ   ❤️❤️❤️🙏🙏🙏❤️❤️❤️  และขอบคุณทุกท่านที่ให้กำลังใจค่ะ

กรมสมเด็จพระเทพฯ พระราชทานพระราโชวาท ในการพระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษา จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ประจำปีการศึกษา 2565

เมื่อไม่นานมานี้ ผู้ใช้เฟซบุ๊ก 'ศุกลภัทร์ มะรินทร์' ได้โพสต์ข้อความ ระบุว่า ... เมื่อวันนี้ของวันศุกร์ที่ ๖ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๖๖ เวลา ๐๙.๐๐ น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ ไปยังหอประชุมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร ในการพระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษา จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ประจำปีการศึกษา ๒๕๖๕ เป็นวันที่ ๒

โดยวันนี้ มีผู้สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอก ปริญญาโท และปริญญาตรี เข้ารับพระราชทานปริญญาบัตร ทั้งภาคเช้าและภาคบ่าย รวม ๓,๖๔๔ คน ประกอบด้วย คณะวิทยาศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ คณะนิเทศศาสตร์ คณะสหเวชศาสตร์ คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี คณะศิลปกรรมศาสตร์ คณะเศรษฐศาสตร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ และสถาบันนวัตกรรมบูรณาการแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

สำหรับปี ๒๕๖๖ นี้ พระราชทานพระราโชวาท ความตอนหนึ่งว่า 

คำว่าอิสระทางความคิด ต้องมีอิสระทางความคิด เป็นที่นิยมใช้กันหลายวงการ จนเข้าใจกันไปว่า ไม่ต้องฟังความคิดผู้อื่น ถือความคิดของตนเป็นใหญ่ จริงอยู่ คำว่าอิสระ แปลว่า เป็นใหญ่ เป็นไทแก่ตัว ไม่ขึ้นแก่ใครๆ แต่ความเป็นใหญ่ทางความคิด ไม่สามารถเกิดขึ้นลอยๆ ได้ ความคิดอ่าน ต้องมีพื้นฐานของความรู้ความคิดรอบด้าน จะเป็นใหญ่ทางความคิดได้ ต้องอาศัยการสะสมความรู้ กลั่นกรอง ไตร่ตรองให้ถูกต้องแจ่มชัด จึงจะสามารถเป็นใหญ่ทางความคิด นำไปใช้ให้เป็นประโยชน์ แก่ตนเอง และส่วนรวมได้ เช่นนี้ จึงนับว่า เป็นใหญ่เหนือความคิด บังคับบัญชาความคิดได้ การดื้อดึงถือความคิดของตนเองเป็นใหญ่ ที่ไม่มีรากฐาน ไม่ฟังความคิดผู้อื่น ไม่หาความรู้เพื่อตรวจสอบว่า คิดถูกต้อง สมควรเป็นประโยชน์หรือไม่ เรียกได้ว่า เป็นทาสของความคิด ถูกความคิดอันไม่ได้ไตร่ตรอง ให้ถูกต้องครอบงำ เมื่อนำไปใช้ จึงเกิดความเสียหายเดือดร้อน อาจจะรุนแรงถึงเป็นภัยฆ่าฟันกัน บัณฑิตทั้งหลาย เป็นผู้เล่าเรียนมาก จึงเป็นความหวังของบ้านเมืองว่า จะได้รู้จักใช้ความคิด รู้จักไตร่ตรอง ฟังความคิดเห็นของผู้อื่น รู้จักเสาะแสวงหาความรู้ มาพิจารณา ให้ทราบตระหนักว่า ความคิดอ่านของตนถูกต้อง เป็นประโยชน์รอบด้าน เป็นคุณต่อบ้านเมือง

'กรมสมเด็จพระเทพฯ' ทรงถือไฟฉายขณะพระราชทานโอวาทบัณฑิตจุฬาฯ แก้ไขเหตุเฉพาะหน้า สร้างความตื้นตันใจข้าเฝ้าเหล่าทูลละออง

ภายหลังจากเมื่อวันที่ 6 ต.ค.ที่ผ่านมา สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ แทนพระองค์ ไปยังหอประชุม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในการพระราชทานปริญญาบัตร แก่ผู้สำเร็จการศึกษาจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ประจำปีการศึกษา 2565

ทว่าได้เกิดไฟฟ้าดับระหว่างพิธีพระราชทานปริญญาบัตรที่จุฬาฯ

อย่างไรก็ตามพระองค์ฯ ทรงแก้ไขสถานการณ์เฉพาะหน้าได้ง่ายดาย โดย ศ.พิเศษ ธงทอง จันทรางศุ ศาสตราภิชานประจำคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว 'Tongthong Chandransu' เกี่ยวกับเรื่องนี้ ระบุว่า...

"เมื่อกระแสไฟฟ้าเกิดขัดข้อง
จึงต้องทรงแก้ไขเฉพาะหน้า
เดชะพระเชาวน์ปัญญา
และพระมหากรุณาเป็นเทียนทอง
ทรงไฟฉายไว้ในพระหัตถ์มั่น
พระราโชวาทประสาทสรรมิบกพร่อง
ตื้นตันใจข้าเฝ้าเหล่าทูลละออง
เสมือนต้องมนตราสวามิภักดิ์
เพราะทรงปฏิบัติให้เห็นเป็นตัวอย่าง
หน้าที่ไม่ทรงวางแม้เหนื่อยหนัก
เรื่องจริงของแท้แน่ใจนัก
กราบพระบาทพึ่งพำนักเป็นหลักเอย"

ขณะที่ รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก 'Jessada Denduangboripant' ระบุว่า...

เป็นเหตุการณ์ที่น่าประทับใจมากแต่ไม่อยากให้เกิดขึ้นเลยครับ เกิดไฟฟ้าดับระหว่างพิธีพระราชทานปริญญาบัตรที่จุฬาฯ เมื่อวันพฤหัสครับ

ผมก็ไปรับเสด็จอยู่ในห้องรับรองของหอประชุมจุฬาฯ ด้วย ในฐานะกรรมการสภามหาวิทยาลัยจุฬาฯ พอหอประชุมไฟฟ้าดับไฟตกขึ้นมา เราก็ตกใจกันมากเลย ว่าพิธีจะเป็นปัญหายังไงบ้าง

ยังดีว่าไฟฟ้ากลับมาปรกติในเวลาไม่นาน พอเสร็จในส่วนของการพระราชทานปริญญาบัตรแล้ว ท่านก็ทรงออกมาเล่าให้ฟังว่าทรงต้องแก้สถานการณ์อย่างไรบ้าง เพื่อให้พิธีดำเนินต่อไปได้โดยไม่สะดุด .. เป็นพระมหากรุณาธิคุณอย่างสูงครับ

ป.ล. มีข้อมูลเพิ่ม (จากคอมเมนต์ด้านล่าง) ดังนี้ครับ "เหตุสุดวิสัยครับ มีนกบินชนตู้ไฟฟ้า แล้วมันมีห้วงที่รอไฟสำรองเซ็ทระบบ ประมาณ 1-2 นาทีครับ แต่บังเอิญมันเกิดช่วงที่พระราชทานพระโอวาทพอดี"

‘ชัยวุฒิ’ ดาวเด่นเวที ‘IYA Forum 2023’ ถอดรหัสประเทศไทย ‘อดีต-ปัจจุบัน-อนาคต’

เป็นอีกหนึ่งเวทีที่น่าจับตามอง กับการคืนถิ่นลานเกียร์ของเหล่าพี่น้องชาววิศวะ จุฬาฯ ที่ผนึกกำลังรวมตัวถ่ายทอดประสบการณ์ชีวิต ธุรกิจ และการเมือง ส่งต่อแรงบันดาลใจและเคล็ดลับความสำเร็จแก่ศิษย์เก่ารุ่นเยาว์ในงาน ‘IYA Forum 2023’ ซึ่งจัดขึ้นเป็นครั้งที่ 4 นับตั้งแต่ปี 2017 ที่ได้ศิษย์เก่าผู้มีชื่อเสียงในแวดวงต่างๆ มาร่วมวงเสวนาเพื่อต่อยอดและแลกเปลี่ยนความรู้ สู่การพัฒนาประเทศ พร้อมสร้างเครือข่ายสไตล์ IYA

นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ อีกหนึ่ง Speaker อดีตรุ่นพี่วิศวะจุฬาฯ (วศ 2533) มาร่วมวงเสวนา ‘ถอดรหัสประเทศไทย อดีต ปัจจุบัน และ อนาคต’ ร่วมกับ อีกสามดาวเด่นแวดวงการเมืองยุคใหม่ อย่าง ชัยธวัช ตุลาธน หัวหน้าพรรคก้าวไกล, วทันยา บุนนาค จากพรรคประชาธิปัตย์ และ รัฐ คลังแสง สส.จากพรรคเพื่อไทย โดยนายชัยวุฒิได้ถอดรหัสในประเด็นการเมืองไว้อย่างน่าสนใจ ซึ่งในช่วงแรกได้พาทุกคนย้อนกลับไปสมัยเป็นนิสิตวิศวะ จุฬาฯ ปี พ.ศ. 2533 ซึ่งมีความสนใจการเมืองอย่างมาก พร้อมลิ้มรสบทบาทการเมืองครั้งแรกหลังได้รับตำแหน่ง ‘หัวหน้านิสิต’ ณ ขณะนั้น พร้อมเป็น 1 ในนิสิต นักศึกษาที่ร่วมลงถนน ประท้วงรัฐบาลครั้งสำคัญครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์การเมืองที่มี พล.อ.สุจินดา คราประยูร เป็นนายกรัฐมนตรี และต่อต้านการสืบทอดอำนาจของ คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ  (รสช.) ระหว่างวันที่ 17-24 พฤษภาคม พ.ศ. 2535 ซึ่งเป็นการรัฐประหาร รัฐบาล พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ ซึ่งนายชัยวุฒิมองว่า เป็นเหตุการณ์สำคัญที่นำไปสู่การใช้รัฐธรรมนูญ 2540 ที่เป็นต้นเหตุของปัญหาเรื้อรัง ณ ปัจจุบัน

อีกหนึ่งประเด็นร้อนแรงอย่างการทำรัฐประหาร ในทัศนะการเปลี่ยนขั้วอำนาจ นายชัยวุฒิกล่าวว่า “ยอมรับว่าหลังจากการเปลี่ยนการปกครองมีการรวมศูนย์อำนาจไว้ที่คณะการเปลี่ยนแปลงการปกครอง มีการช่วงชิงอำนาจมาโดยตลอด พูดง่ายๆ คือ ประชาธิปไตยไม่เต็มใบตั้งแต่แรก  ก่อนที่ในช่วงหลังๆ รัฐบาลไม่ตอบโจทย์ความต้องการของประชาชน จากการทุจริตคอร์รัปชัน ความยากจนของประชาชน และสร้างความไม่พอใจแก่ประชาชน เกิดกลุ่มคนที่ออกมาต่อต้านที่นำไปสู่ความรุนแรง ตนมองว่าการรัฐประหารเป็นเหมือนการ Set Zero เพื่อยุติปัญหาดังกล่าว”

พรรคพลังประชารัฐและพลเอกประวิตร น่าจะเป็นของคู่กันที่ทำให้หลายๆ คนสงสัยว่าหาก พล.อ.ประวิตรวางมือทางการเมืองจริง แนวทางพรรคจะเป็นอย่างไร นายชัยวุฒิกล่าวยืนยันประเด็นนี้ว่า พลเอกประวิตรยังคงเป็นแกนนำของพรรค แต่ถ้าวันหนึ่งมีการเปลี่ยนแปลง ก็คงเป็นเรื่องที่สมาชิกจะต้องมาหาแนวทางใหม่ร่วมกันในอนาคต

นายชัยวุฒิกล่าวทิ้งท้ายถึงอนาคตของประเทศไทยว่า “เรื่องของประชาธิปไตย ที่ผ่านมาจะเป็นเรื่องของสิทธิ เสรีภาพ การเรียกร้องให้ได้มีการเลือกตั้ง มาจนถึงวันนี้ได้มีการเลือกตั้งเกิดขึ้นแล้ว สิ่งสำคัญที่สุดคือ ประชาธิปไตยต้องเต็มใบ มีการถ่วงดุลอำนาจ ตรวจสอบการทำงานระหว่างระบบราชการ นักการเมือง องค์กรอิสระต่างๆ โดยบูรณาการในการทำงานร่วมกันอย่างบริสุทธิ์ ยุติธรรม ประเทศไทยก้าวหน้าประชาชนอยู่ดีกินดี”

‘งานบอลธรรมศาสตร์-จุฬาฯ’ ครั้งที่ 75 เลื่อนอย่างไม่มีกำหนด หลังฝั่งพระเกี้ยว แจง ‘ไม่พร้อม’ เหตุกระชั้นชิดกับวันสถาปนาจุฬาฯ

(5 ธ.ค. 66) เฟซบุ๊ก ‘งานฟุตบอลประเพณีจุฬาฯ-ธรรมศาสตร์’ เพจทางการที่ตั้งไว้เพื่อสื่อสาร และประชาสัมพันธ์ข้อมูลเกี่ยวกับงานฟุตบอลประเพณีฯ ครั้งที่ 75 ที่มีฝั่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เป็นเจ้าภาพ ได้ออกประกาศ ‘เลื่อน’ การจัดงานออกไป

โดยระบุว่า ตามที่ชุมนุมเชียร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และองค์การบริหารสโมสรนิสิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้มีการประชาสัมพันธ์เรื่องการกลับมาจัดการแข่งขันงานฟุตบอลประเพณีธรรมศาสตร์-จุฬาฯ ครั้งที่ 75 ในช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ในวันศุกร์ที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2566 ที่ผ่านมานั้น

เนื่องจาก สมาคมนิสิตเก่าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยฯ ได้มีหนังสือแจ้งขอให้ทางสมาคมธรรมศาสตร์ฯ ซึ่งเป็นเจ้าภาพในการจัดการแข่งขันงานฟุตบอลประเพณีฯ ครั้งที่ 75 พิจารณาเลื่อนการแข่งขันงานฟุตบอลประเพณีฯ ครั้งที่ 75 ออกไปก่อน โดยให้มีการหารือร่วมกันเพื่อกำหนดวันที่เหมาะสมในการจัดการแข่งขันงานฟุตบอลประเพณีฯ ครั้งที่ 75 อีกครั้งหนึ่ง ทำให้ได้ข้อสรุปว่างานฟุตบอลประเพณีธรรมศาสตร์-จุฬาฯ ครั้งที่ 75 คาดว่าจะไม่ถูกจัดภายในปีการศึกษา 2566

ชุมนุมเชียร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และองค์การบริหารสโมสรนิสิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานะนิสิตนักศึกษาผู้ได้รับมอบหมายให้จัดงานฟุตบอลประเพณีฯ ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา เข้าใจดีว่า งานฟุตบอลประเพณีฯ เป็นกิจกรรมที่ได้รับความสนใจและติดตามจากประชาคมชาวธรรมศาสตร์ ประชาคมชาวจุฬาฯ และผู้เกี่ยวข้องทุกท่าน แต่เมื่อมีเหตุดังกล่าวขึ้น ชุมนุมเชียร์ฯ และองค์การบริหารสโมสรนิสิตฯ จึงมีความจำเป็นต้องเรียนแจ้งให้ทุกท่านทราบว่า การแข่งขันงานฟุตบอลประเพณีธรรมศาสตร์-จุฬาฯ ครั้งที่ 75 จะไม่ถูกจัดขึ้นภายในปีการศึกษา 2566

ทั้งนี้ ชุมนุมเชียร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และองค์การบริหารสโมสรนิสิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ต้องขออภัยผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกท่านในความไม่สะดวกนี้ และหวังว่าในอนาคต กิจกรรมงานฟุตบอลประเพณีฯ จะได้รับการสนับสนุนจากทุกท่านดังเช่นที่ผ่านมา
จึงประกาศมาเพื่อทราบโดยทั่วกัน

ส่วนสาเหตุการเลื่อนนั้น อ้างอิงจากจากที่สมาคมนิสิตเก่าจุฬาฯ ได้ออกแถลงการณ์ ระบุตอนหนึ่งว่า ตามที่สมาคมธรรมศาสตร์ฯ ซึ่งเป็นเจ้าภาพจัดงานในครั้งนี้ ได้กำหนดวันแข่งขันฟุตบอลประเพณีธรรมศาสตร์-จุฬาฯ ครั้งที่ 75 ในวันเสาร์ที่ 30 มีนาคม 2567 เป็นช่วงที่กระชั้นชิดกับวันจัดงานในโอกาสครบรอบการสถาปนาจุฬาลงกรณ์ฯ ซึ่งตรงกับวันที่ 26 มีนาคมของทุกปี ทำให้ไม่พร้อมจัดงานในวันดังกล่าว

นายกสมาคมนิสิตเก่าจุฬาฯ ออกโรงโต้ ม.ธรรมศาสตร์ หลังโดนกล่าวหา ‘ต้นเหตุ’ ทำบอลประเพณี เลื่อน!!

(6 ธ.ค. 66) กลายเป็นดรามาหนักมากในโลกออนไลน์ เมื่อเพจเฟซบุ๊ก ‘ชุมนุมเชียร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์’ โพสต์ภาพพร้อมข้อความระบุว่า... 

‘งานบอล 75 ถูกเลื่อนไม่มีกำหนด เหตุสมาคมศิษย์เก่าจุฬาฯ ไม่พร้อมจัดงาน’

ตามที่ชุมนุมเชียร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และองค์การบริหารสโมสรนิสิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้มีการประชาสัมพันธ์เรื่องการกลับมาจัดการแข่งขันงานฟุตบอลประเพณีธรรมศาสตร์-จุฬาฯ ครั้งที่ 75 ในช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ในวันศุกร์ที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2566 ที่ผ่านมานั้น

เนื่องจากสมาคมนิสิตเก่าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยฯ ได้มีหนังสือแจ้งขอให้ทางสมาคมธรรมศาสตร์ฯ ซึ่งเป็นเจ้าภาพในการจัดการแข่งขันงานฟุตบอลประเพณีฯ ครั้งที่ 75 พิจารณาเลื่อนการแข่งขันงานฟุตบอลประเพณีฯ ครั้งที่ 75 ออกไปก่อน โดยให้มีการหารือร่วมกันเพื่อกำหนดวันที่เหมาะสมในการจัดการแข่งขันงานฟุตบอลประเพณีฯ ครั้งที่ 75 อีกครั้งหนึ่ง ทำให้ได้ข้อสรุปว่างานฟุตบอลประเพณีธรรมศาสตร์-จุฬาฯ ครั้งที่ 75 คาดว่าจะไม่ถูกจัดภายในปีการศึกษา 2566

ชุมนุมเชียร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และองค์การบริหารสโมสรนิสิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานะนิสิตนักศึกษาผู้ได้รับมอบหมายให้จัดงานฟุตบอลประเพณีฯ ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา เข้าใจดีว่า งานฟุตบอลประเพณีฯ เป็นกิจกรรมที่ได้รับความสนใจและติดตามจากประชาคมชาวธรรมศาสตร์ ประชาคมชาวจุฬาฯ และผู้เกี่ยวข้องทุกท่าน แต่เมื่อมีเหตุดังกล่าวขึ้น ชุมนุมเชียร์ฯ และองค์การบริหารสโมสรนิสิตฯ จึงมีความจำเป็นต้องเรียนแจ้งให้ทุกท่านทราบว่า การแข่งขันงานฟุตบอลประเพณีธรรมศาสตร์-จุฬาฯ ครั้งที่ 75 จะไม่ถูกจัดขึ้นภายในปีการศึกษา 2566

ทั้งนี้ ชุมนุมเชียร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และองค์การบริหารสโมสรนิสิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ต้องขออภัยผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกท่านในความไม่สะดวกนี้ และหวังว่าในอนาคต กิจกรรมงานฟุตบอลประเพณีฯ จะได้รับการสนับสนุนจากทุกท่านดังเช่นที่ผ่านมา จึงประกาศมาเพื่อทราบโดยทั่วกัน

ล่าสุด น.ส.อัจฉรินทร์ พัฒนพันธ์ชัย นายกสมาคมนิสิตเก่าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กระบุว่า…

เห็นมีข่าว ประกาศที่ออกโดยชุมนุมเชียร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ว่างานบอลประเพณี ธรรมศาสตร์-จุฬาฯ ครั้งที่ 75 ถูกเลื่อนออกไป เพราะสมาคมนิสิตเก่าจุฬาฯ ขอเลื่อน

ขอให้ข้อมูลที่ถูกต้องกับสังคม งานบอลประเพณี จุฬาฯ-ธรรมศาสตร์ เป็นงานที่จัดโดยสมาคมนิสิตเก่าจุฬาฯ (สนจ.) และ สมาคมธรรมศาตร์ฯ (สมธ.) โดยปกติจะจัดปลายเดือน ม.ค.- ต้น ก.พ.

การแข่งขันครั้งที่ 75 นี้ ทาง สมธ.เป็นเจ้าภาพจัดงาน ซึ่ง สมธ. แจ้งเลื่อนการจัดงานมาตั้งแต่ปี 2564 – 2566 และเมื่อเดือนตุลาคมนี้ ก็ยังแจ้งโดยวาจาว่าจะไม่จัดงานในต้นปี 2567

แต่ทาง สมธ. มีจดหมายลงวันที่ 15 พ.ย. แจ้ง สนจ. ว่าจะจัดงานในวันที่ 30 มี.ค.67 และขอให้ สนจ. ไปร่วมประชุมและแถลงข่าวการจัดงานในวันที่ 28 พ.ย. คือ บอกล่วงหน้าแค่ 10 วัน ไม่มีการหารืออะไรกันก่อนเลย

ทาง สนจ. จึงได้ประชุมและสรุปว่าหากจัดงานบอลประเพณี วันที่ 30 มี.ค. 67 จะชนกับงานประจำปีของ สนจ. คืองานวันสถาปนาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วันที่ 26 มี.ค. จึงตอบว่าไม่พร้อมร่วมจัดงาน

แต่คนที่ออกมาออกประกาศในสื่อ Social Media กลับกลายเป็น ชุมนุมเชียร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งไม่ใช่ผู้รับผิดชอบในการจัดงานบอลประเพณี และเขียนเหมือนกับ สนจ. เป็นต้นเหตุที่ทำให้งานเลื่อนออกไป อยากให้ สมธ. ออกมาชี้แจงให้ชัดเจน ทำไม พูดกลับไปกลับมา ทำไมแจ้ง สนจ. กะทันหัน อย่าให้น้อง ๆ ออกมาวุ่นวายเลย

หากนิสิต นักศึกษาทั้งสองสถาบัน อยากจะจัดเตะบอลเชื่อมความสัมพันธ์กัน ก็ทำได้ ไม่ต้องใช้ชื่อ งานบอลประเพณี ธรรมศาสตร์-จุฬาฯ ครั้งที่ 75 หรอก (แต่อาจหาสปอนเซอร์ได้ไม่มาก)

น้อมสำนึกพระเมตตาธิคุณ ‘ในหลวงรัชกาลที่ 8’ ผู้พระราชทานกำเนิดคณะแพทยศาสตร์

เมื่อวานนี้ (2 ก.พ. 67) ผู้ใช้เฟซบุ๊ก Anucha Thaewanarumitkul หรือ อนุชา เทวานฤมิตรกุล ได้โพสต์ภาพอาคาอานันทมหิดล คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่มีข้อความระบุว่า “ให้มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ ผลิตแพทย์เพิ่ม มากขึ้นให้เพียงพอ ที่จะช่วยเหลือประชาชน” ซึ่งเป็นพระราชดำรัสในพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล

สำหรับพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร พระองค์ท่านทรงสร้างคุณูปการต่อวงการแพทย์และการศึกษาเป็นอย่างมาก

ทรงเป็นผู้พระราชทานกำเนิดคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งในขณะนั้นประเทศไทยยังมีการศึกษาด้านการแพทย์อยู่เพียงแห่งเดียว พระองค์จึงให้จัดตั้งคณะแพทยศาสตร์แห่งที่ 2 ขึ้น ณ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย จากพระราชปรารภของพระองค์ ซึ่งมีใจความตอนหนึ่งว่า "ทรงต้องการให้มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ผลิตแพทย์เพิ่มมากขึ้นให้เพียงพอที่จะช่วยเหลือประชาชน" นั้น ได้ก่อให้เกิดความตื่นตัวแก่วงการแพทย์ในประเทศไทยเป็นอย่างมาก ด้วยทรงต้องการอำนวยประโยชน์สุขให้แก่ประชาชน ช่วยเหลือ ป้องกันรักษาให้ห่างหายจากโรคภัยไข้เจ็บทั้งปวงฃ

น้อมสำนึกในพระเมตตาธิคุณ และพระมหากรุณาธิคุณอันมีเป็นอเนกประการต่อปวงชนชาวไทย


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top