'ศิษย์เก่าจุฬาฯ' ถามหามาตรฐานจุฬาฯ ปม 'ณัฐพล ใจจริง' ยังเชื่อ 'จุฬาฯ' เป็นเลิศด้านวิชาการ เคียงคู่คุณธรรม-จริยธรรม

(8 มี.ค. 67) ผู้ใช้เฟซบุ๊ก ‘Sompob Pordi’ หรือ ‘สมภพ พอดี’ ได้โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กถึงจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุว่า…

“ผมเป็นนิสิตเก่าธรรมดา ๆ คนหนึ่ง ไม่ได้เป็นครูอาจารย์ ไม่ได้เป็นนักวิชาการ ไม่ได้เป็นผู้บริหารสถาบันการศึกษา และไม่มีคุณสมบัติใด ๆ ที่จะเป็นครูอาจารย์ นักวิชาการ หรือผู้บริหารสถาบันการศึกษาได้แน่นอน

แต่ผมรู้ว่า หน้าที่และความรับผิดชอบคืออะไร ผมสามารถแยกแยะผิดชอบชั่วดีได้ เช่นเดียวกับมนุษย์ปกติทั่วไป

แล้วผมก็รู้ด้วยว่า จุฬาฯ ไม่ได้มีนโยบายผลิตบัณฑิตที่มีคุณภาพในด้านวิชาการเท่านั้น หากจุฬาฯ ยังได้ให้ความสําคัญในด้านคุณธรรม จริยธรรมของบัณฑิตที่จบจากจุฬาฯ

จุฬาฯ โดยสํานักบริหารกิจการนิสิตจึงได้ดําเนินโครงการต่าง ๆ เพื่อปลูกฝังคุณธรรมจริยธรรม ด้านต่าง ๆ ให้แก่นิสิต เพื่อที่นิสิตจะได้ฝึกการใช้ชีวิตร่วมกับส่วนรวมและสําเร็จการศึกษาออกไปเป็นบัณฑิตที่เปี่ยมคุณภาพทั้งความรู้และคุณธรรม 

ที่ผมรู้เพราะผมคัดลอกข้อความนี้มาจากหน้าแรกของคู่มือนิสิตจุฬาฯ พ.ศ.2564 

ถึงตรงนี้ จุฬาฯ ช่วยตอบนิสิตเก่าอย่างผม ตอบนิสิตเก่าคนอื่น ๆ ตอบสังคมไทยที่อุดหนุนกิจการของจุฬาฯ ผ่านภาษีของชาติด้วยว่า 

นิสิตจุฬาฯ ในระดับปริญญาเอกที่ใช้การโกหก ใช้ข้อมูลเท็จ ใช้การแต่งเรื่องที่ไม่เป็นความจริง ทำวิทยานิพนธ์เพื่อสำเร็จการศึกษา มีคุณธรรม มีจริยธรรม ตามเจตนารมณ์ของจุฬาฯ หรือไม่? วิทยานิพนธ์ดังกล่าวมีคุณภาพทางวิชาการตามมาตรฐานของจุฬาฯ หรือไม่?

และหากพฤติกรรมดังกล่าวไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ วิทยานิพนธ์ไม่เป็นไปตามมาตรฐานของจุฬาฯ จุฬาฯ จะปล่อยผ่าน จะวางเฉย จะไม่เพิกถอนปริญญาเอกที่ว่า หรือไม่? เพราะอะไร?

หากจุฬาฯ ตอบว่าไม่สามารถเพิกถอนปริญญาเอกนั้นได้ ไม่ว่าจะเพราะอะไรก็ตาม ผมขอให้จุฬาฯ เปิดคู่มือนิสิตจุฬาฯ พ.ศ. 2564 อ่านให้ดี ๆ ดูที่ข้อ 2) การสอบของนิสิต จะพบข้อความต่อไปนี้

2.2) แนวทางในการพิจารณาการกระทำผิดเกี่ยวกับการศึกษา
1. ทุจริต และส่อทุจริตในการสอบ
 2. การคัดลอกผลงานทางวิชาการโดยไม่อ้างอิงแหล่งที่มา
 3. การให้ข้อมูลเท็จ การปลอมแปลงเอกสาร
 4. การแสวงหาผลประโยชน์โดยมิชอบ

การโกหก การใช้ข้อมูลเท็จ การแต่งเรื่องที่ไม่เป็นความจริง ในการทำวิทยานิพนธ์ในระดับปริญญาเอกที่เป็นคดีความเป็นข่าวนั้น เป็นการกระทำผิดเกี่ยวกับการศึกษาตามข้อ 3 อย่างชัดเจนโดยปราศจากข้อสงสัย

ถึงตรงนี้ จุฬาฯ ช่วยตอบนิสิตเก่ารวมทั้งผมด้วย นิสิตปัจจุบัน และสังคมไทยด้วยว่า 

จะเพิกถอนปริญญาเอกของผู้ที่กระความผิดทางการศึกษา ตามกฎ กติกา ของจุฬาฯ เอง หรือไม่? เมื่อไหร่? และหากไม่เพิกถอนปริญญาเอกดังกล่าว ทำไมถึงไม่เพิกถอน? ทำไมถึงไม่ปฏิบัติไม่บังคับใช้กฎกติกาที่จุฬาฯ กำหนดขึ้นมาเอง? และจะรับผิดชอบต่อความเสียหายของเกียรติภูมิ ชื่อเสียง และความน่าเชื่อถือของจุฬาฯ อย่างไร?

ผมแน่ใจและมั่นใจว่า คำถามของผมไม่ยากเกินความรู้ ความสามารถ และสติปัญญาของครูอาจารย์ ของนักวิชาการ ของผู้บริหารจุฬาฯ ที่มีหน้าที่ มีความรับผิดชอบต่อจุฬาฯ อย่างแน่นอน