Sunday, 19 May 2024
ก้าวไกล

‘พิธา’ ย้ำจุดยืน เพิ่มค่าแรงเป็น 450 ในปี 66 ชี้!! ถือเป็นเรื่องดีที่มีพรรคการเมืองเห็นตรงกัน

‘พิธา’ พบเครือข่ายแรงงาน ชี้โจทย์ยุคเปลี่ยนผ่านอุตสาหกรรมไม่ง่าย ย้ำก้าวไกลให้ความสำคัญแรงงาน ดันขึ้นค่าแรงทันทีปี 66 - เพิ่มสิทธิ - หนุนเรียนรู้ทักษะใหม่ ระบุเป็นนิมิตรหมายที่ดี พรรคการเมืองเห็นตรงกันต้องเพิ่มค่าแรง

วันที่ 11 ธันวาคม 2565 ที่ศูนย์การเรียนรู้สหภาพโตโยต้าประเทศไทย พรรคก้าวไกลจัดการประชุมใหญ่เครือข่ายผู้ใช้แรงงานทั่วประเทศ โดยมีพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล สุเทพ อู่อ้น ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล และ วรรณวิภา ไม้สน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล พร้อมด้วยตัวแทนเครือข่ายแรงงาน นำโดย สุนทร บุญยอด อดีตกรรมการบริหารพรรคอนาคตใหม่ เซีย จำปาทอง และ ธนพร วิจันทร์ ขึ้นเวทีประกาศนโยบายก้าวไกลเพื่อชีวิตที่ดีขึ้นของผู้ใช้แรงงาน

พิธา กล่าวว่า ปัจจุบันเศรษฐกิจไทยกำลังเจอความท้าทายใน 2 อุตสาหกรรมที่สำคัญของประเทศ คืออุตสาหกรรมยานยนต์และอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งเผชิญการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี ดังนั้น คนที่เป็นผู้นำแรงงานต้องมาพูดคุยกันว่าจะรับมือความเปลี่ยนแปลงนี้อย่างไร ในส่วนพรรคก้าวไกล เราให้ความสำคัญกับพี่น้องแรงงานอย่างมาก และได้ออกแบบนโยบายเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตคนทำงานทุกคนอย่างยั่งยืน เช่น ถ้าก้าวไกลเป็นรัฐบาล ค่าแรงขั้นต่ำต้องขึ้นทันที 450 บาท โดยคำนวณให้สอดคล้องกับอัตราเงินเฟ้อและดัชนีค่าครองชีพที่เพิ่มขึ้นทุกปี ตั้งต้นจากปี 2554 ที่ค่าแรงขั้นต่ำปรับขึ้นเป็น 300 บาทต่อวัน

“พรรคก้าวไกลเสนอว่าค่าแรงขั้นต่ำเพิ่มขึ้นทันที 450 บาทในปี 2566 ส่วนพรรคการเมืองอื่นก็ได้เสนอตัวเลขและระยะเวลาเป้าหมายที่ต่างออกไป ผมคิดว่าเป็นนิมิตรหมายที่ดี ที่พรรคการเมืองเห็นตรงกันว่าต้องเพิ่มรายได้ของผู้ใช้แรงงานให้สูงขึ้น ให้ทุกคนมีคุณภาพชีวิตที่ดีกว่าปัจจุบัน” พิธากล่าว

หัวหน้าพรรคก้าวไกลกล่าวต่อว่า การแก้ปัญหาของผู้ใช้แรงงานนั้น ทำแค่เรื่องค่าแรงอย่างเดียวไม่เพียงพอ ต้องเพิ่มการคุ้มครองสิทธิแรงงานด้วย ไม่ว่าจะเป็น ชั่วโมงการทำงานไม่เกิน 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ สิทธิวันหยุด สิทธิลาคลอดที่เพิ่มขึ้น สิทธิการรวมตัวกันของแรงงานตามอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ผลกระทบจากโควิด-19 ที่ผ่านมา ทำให้เราเห็นความสำคัญของการที่แรงงานทุกคนต้องมีสิทธิประกันสังคม นอกจากนี้ รัฐต้องสนับสนุนการพัฒนาทักษะของแรงงานเพื่อเพิ่มเติมประสิทธิภาพการทำงานในโลกปัจจุบัน เช่น นโยบายคูปองคนวัยทำงานเพื่อเรียนรู้ทักษะใหม่ รัฐร่วมจ่าย 80% จากราคาหลักสูตร แต่ไม่เกิน 5,000 บาทต่อคนต่อปี

'ก้าวไกล' เผย ตำรวจทุจริต-รับสินบนจนเป็นปกติ เสนอ ปฏิรูปวงการตำรวจ-สร้างรัฐเปิดเผย-ตรวจสอบได้

วันที่ 13 ธันวาคม 2565 สุพิศาล ภักดีนฤนาท ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในฐานะอดีตผู้บังคับการกองปราบปราม กล่าวถึงกรณีการทุจริตการสอบนายสิบของตำรวจภูธรภาค 5 และตำรวจภูธรภาค 9 ซึ่งมีการเรียกรับเงินเพื่อให้ช่วยสอบเข้าตำรวจ จนนำไปสู่การตั้งกรรมการสอบสวนและให้นักเรียนนายสิบที่ทุจริต พ้นสภาพหลายร้อยคนว่า กระบวนการทุจริตในการสอบของตำรวจมีมานานแล้ว และทำกันจนเป็นเรื่องปกติ ในอดีตที่ตนอยู่ในวงการตำรวจ ก็รับทราบถึงวิธีการทุจริตมากมาย เช่น การให้เข้าสอบแทนกัน โดยมีบุคคลที่เป็นหัวกะทิ ทำหน้าที่เป็น 'มือสอบ' ใช้วิธีการหลายรูปแบบ ตั้งแต่เข้าห้องสอบเพื่อจำข้อสอบแล้วกดรหัสมอร์สส่งเข้าไปให้ผู้เข้าสอบผ่านนาฬิกาหรือโทรศัพท์ หรืออาจจะนั่งสอบอยู่ด้วยกันแล้วใช้รหัสมือในการส่งสัญญาณมาทีละคำตอบ หรือการรับจ้างเข้าไปสอบโดยทั้งผู้จ้างและผู้รับจ้าง จะเขียนชื่อและรหัสผู้สอบลงบนข้อสอบสลับกัน เป็นต้น

นอกจากนี้ ยังมีการทุจริตที่เป็นแพ็คเกจใหญ่ ที่มีการนัดแนะลูกค้าอย่างเป็นระบบ ทั้งขั้นตอนการส่งรหัสสัญญาณ การใช้อุปกรณ์ ไปจนถึงการขโมยข้อสอบออกมาผ่านการซื้อตัวผู้ออกข้อสอบ ซึ่งโดยปกติจะถูกนำตัวไปกักบริเวณแล้วให้ออกข้อสอบแยกกัน

สุพิศาลกล่าวว่า แม้ปัจจุบันจะมีการตรวจสอบป้องกันการทุจริตการสอบที่เข้มงวดรัดกุมขึ้นแล้ว เช่น การให้ใส่แต่กางเกงวอร์มที่ไม่มีกระเป๋าเข้าห้องสอบ การมีอุปกรณ์ตรวจจับเครื่องมือทุจริต หรือการยึดเอาโทรศัพท์และนาฬิกาไว้ แต่การทุจริตก็ยังเกิดขึ้นได้จากวิธีการใหม่ ๆ ของขบวนการทุจริต และโดยเฉพาะเมื่อผู้คุมสอบเป็นพวกเดียวกัน ก็จะเกิดการปล่อยปละละเลยให้มีการทุจริตเกิดขึ้น

'พิธา' ยัน!! ความสัมพันธ์ 'เพื่อไทย' แน่นแฟ้น ชี้!! ค่าแรงต้องขึ้นต่อเนื่องไม่ใช่แค่ช่วงเลือกตั้ง

(14 ธ.ค. 65) นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคก้าวไกล กล่าวถึงกรณีที่พรรคเพื่อไทยประกาศนโยบายค่าแรงวันละ 600 บาท ว่า ตนคิดว่า นโยบายค่าแรงเป็นสิ่งที่พรรคก้าวไกลและพรรคเพื่อไทยมีความคิดเห็นตรงกัน เป็นสิ่งที่ตนอยากจะชวนพรรคเพื่อไทยมาทำร่วมกันในระบบประชาธิปไตย ที่มีระบบรัฐสภาซึ่งสามารถเสนอนโยบายของแต่ละพรรคได้ เพื่อให้เกิดผลดีที่สุดกับประชาชน ถือว่าเป็นนิมิตหมายที่ดีที่ทั้งสองพรรคเห็นผู้ใช้แรงงานเป็นจุดศูนย์กลาง เพราะฉะนั้นในภาพใหญ่เรายืนยันว่าเรามีความสัมพันธ์ที่ดีกับพรรคเพื่อไทยมาโดยตลอด รวมถึงในอนาคตอาจจะมีบางอย่างที่เห็นไม่ตรงกันบ้างในเรื่องของการทำงาน แต่ตนคิดว่าน่าจะหาจุดร่วมกันได้ ที่เห็นตรงกันชัดเจนที่สุดคือสวัสดิการความเป็นอยู่ของประชาชนผู้ใช้แรงงาน

“ผมขอยืนยันว่า เรามีความสัมพันธ์ที่ดีกับพรรคเพื่อไทยมาตลอด ตั้งแต่ในอดีต ปัจจุบัน และหวังว่าในอนาคต เมื่อเราเริ่มแถลงนโบายก็มีหลายเรื่องที่เห็นตรงกัน ถ้าเราเป็นรัฐบาลร่วมกันก็สามารถที่จะแบ่งงานกันทำได้ และทำงานไปในทิศทางเดียวกัน” นายพิธากล่าว

‘ก้าวไกล’ สวน!! 'โสภณ' ปั้นภาพสวยให้สายสีส้ม เอาความเห็นส่วนตัวมาพูดโดยไม่ยึดมติที่ประชุม

(16 ธ.ค. 65) ที่รัฐสภา สุรเชษฐ์ ประวีณวงศ์วุฒิ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และรองเลขาธิการพรรคก้าวไกล ในฐานะรองประธานคณะกรรมาธิการการคมนาคม พร้อมด้วย ทวี สอดส่อง ส.ส.บัญชีรายชื่อ และเลขาธิการพรรคประชาชาติ ในฐานะ กมธ.การคมนาคม แถลงข่าวตอบโต้กรณี โสภณ ซารัมย์ ส.ส.บุรีรัมย์ พรรคภูมิใจไทย ประธาน กมธ.การคมนาคม และ นิกร จำนง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคชาติไทยพัฒนา รองประธาน กมธ.การคมนาคม ออกมาแถลงข่าวเชิงฟอกขาวให้โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ซึ่งไม่เป็นไปตามมติที่ประชุม กมธ.การคมนาคม ว่า การกระทำดังกล่าวเป็นเรื่องไม่ถูกต้อง เนื้อหาที่แถลงเป็นความเห็นส่วนตัวของประธาน กมธ. ซึ่งมาจากพรรคภูมิใจไทยที่กำกับดูแลรถไฟฟ้าสายสีส้ม ไม่ได้เป็นมติที่ประชุม จึงไม่สามารถแถลงในนาม กมธ. ได้ ตนและทวีจึงต้องออกมาแถลงในนามพรรคร่วมฝ่ายค้าน

สุรเชษฐ์ กล่าวว่า ตนเป็นผู้นำเรื่องรถไฟฟ้าสายสีส้มเข้าที่ประชุม โดยสัปดาห์ที่ผ่านมา การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ไม่เข้ามาชี้แจงตามนัด ตนจึงกดดันประธาน กมธ. ว่าฝ่ายนิติบัญญัติต้องใช้อำนาจตรวจสอบทางการเมือง ไม่ใช่บอกว่าเมื่อโครงการอยู่กับฝ่ายตุลาการแล้ว จะแตะต้องไม่ได้เลย ในกรณีนี้ ทั้งสองอำนาจสามารถเดินหน้าไปพร้อมกันได้ ตนยืนยันว่า กมธ.ของสภาผู้แทนฯ สามารถตรวจสอบได้ โดยเฉพาะโครงการใหญ่ที่ต้องมีความโปร่งใส

“มติจริง ๆ ของ กมธ.การคมนาคม เมื่อวานนี้ (15 ธันวาคม 2565) คือ ขอเอกสารประกอบและให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องตอบคำถาม ไม่ได้ฟอกใสตามที่ประธาน กมธ.การคมนาคมแถลง ทั้งประเด็นส่วนต่างราคาและการกีดกันการเสนอราคา นอกจากนี้ จากการตรวจสอบกับคนอื่นๆ รวมทั้งนิกร พบว่าไม่มีใครใน กมธ.การคมนาคมบอกว่าเป็นมติที่ประชุมอย่างที่ประธาน กมธ.การคมนาคมแถลงข่าวไป เพราะเรื่องนี้ต้องมีการประชุมกันอีก” สุรเชษฐ์กล่าว

‘วรภพ’ จี้!! 3 ประเด็น รัฐเข็นค่าไฟแพงรับปีใหม่ แม้ความผิดพลาดจะมาจากการบริหารของรัฐล้วน ๆ

วันที่ (16 ธ.ค. 65) ที่รัฐสภา วรภพ วิริยะโรจน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล แถลงข่าวกรณีค่าไฟแพง หลังจากรัฐบาลมีมติขึ้นค่าไฟ โดยให้คงค่าไฟเฉพาะครัวเรือนที่ใช้ไฟไม่เกิน 500 หน่วย/เดือน ส่วนผู้ใช้ไฟกลุ่มอื่นรวมถึงประชาชนที่ใช้ไฟเกิน 500 หน่วย/เดือน จะต้องเจอค่าไฟที่แพงขึ้น 1 บาท/หน่วย จากเดิม 4.72 บาท/หน่วย เพิ่มเป็น 5.7 บาท/หน่วย เริ่มต้นเดือนมกราคม 2566 เป็นต้นไป

วรภพ กล่าวว่า ของขวัญปีใหม่ของคนไทยไม่ควรเป็นค่าไฟที่แพงขึ้น ตนเคยท้วงติงรัฐบาลหลายครั้ง ว่าต้นตอเรื่องนี้ยังไม่ได้รับการแก้ไข โดยมี 3 ประเด็นหลัก ได้แก่ ประเด็นที่หนึ่ง มีโรงไฟฟ้ามากเกินความจำเป็น เพราะรัฐบาลอนุญาตให้เอกชนสร้างโรงไฟฟ้ามากเกินไป ประชาชนต้องจ่ายค่าไฟให้กลุ่มทุนเหล่านี้ผ่านการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) 2,400 ล้านบาท/เดือน ดังนั้น รัฐบาลควรเร่งเจรจากับเอกชน ให้ลดค่าความพร้อมจ่าย (Availability Payment) โดยอาจแลกกับการขยายสัญญาออกไป ทำให้ในอนาคตไม่จำเป็นต้องสร้างโรงไฟฟ้าใหม่ ถือเป็นหน้าที่ของรัฐบาลโดยตรงในการเจรจาเพื่อลดค่าครองชีพของประชาชน

‘พิธา’ ปลุก 'ยะลา' เปลี่ยนพื้นที่ความกลัวเป็นพื้นที่ความหวัง ชู นโยบายเอาทหารออกจากการเมือง-ยกเลิก กอ.รมน.

ก้าวไกลไปยะลา เปิดเวทีคุยนโยบายสันติภาพก้าวหน้า อัดเป็น 19 ปีแห่งความล้มเหลว เจรจาสันติภาพถึงทางตัน ชู นโยบายเอาทหารออกจากการเมือง-ยกเลิก กอ.รมน.-เปลี่ยน พ.ร.ก.ฉุกเฉินเป็น พ.ร.บ.ฉุกเฉินฯ ประกาศใช้คราวละ 30 วัน ต้องขออนุมัติสภา ‘พิธา’ ปลุก เปลี่ยนพื้นที่ความกลัวเป็นพื้นที่ความหวัง โยนโจทย์พัฒนาสามจังหวัดชายแดนใต้ แคนดิเดตนายกฯต้องตอบให้ได้ ลั่นปฏิรูปการเมือง-เขียนรัฐธรรมนูญใหม่-ให้ประชาชนเลือกนายกจังหวัด ปลดปล่อยศักยภาพชายแดนใต้ทั้งการท่องเที่ยว-เศรษฐกิจสร้างสรรค์-อุตสาหกรรมแพะ 

วันที่ 18 ธันวาคม 2565 ที่ จ.ยะลา พรรคก้าวไกลจัดเวทีพูดคุยแลกเปลี่ยนนโยบาย 'สันติภาพก้าวหน้า' นำโดย พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรคก้าวไกล อมรัตน์ โชคปมิตต์กุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกลพร้อมด้วย อันวาร์ อุเซ็ง ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.ยะลา เขต 1 ณรงค์ อาแว ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.ยะลา เขต 3 และรอมฎอน ปันจอร์ คณะทำงานนโยบายชายแดนใต้-ปาตานี

รอมฎอน กล่าวว่า กระบวนการเจรจาสันติภาพในปัจจุบัน อยู่ในช่วงยากลำบากและเป็นหัวเลี้ยวหัวต่อสำคัญที่ต้องการความมุ่งมั่นทางการเมืองของทุกฝ่าย ที่ผ่านมารัฐบาลทหารและกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.)  ทำให้กระบวนการแก้ไขปัญหาทางการเมืองถึงทางตัน วันนี้จึงต้องการการแก้ไขปรับปรุงเพื่อเดินหน้าหาข้อยุติในการอยู่ร่วมกัน เราเชื่อว่าถ้าประเทศไทยเปลี่ยน กระบวนการสันติภาพก็ต้องเปลี่ยน และพรรคก้าวไกลเป็นเครื่องมือหนึ่งที่จะทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลง โดยหลักการพื้นฐานที่ได้วางหมุดหมายไว้ตั้งแต่ครั้งพรรคอนาคตใหม่ คือการมองคุณค่าคนทุกคนเท่ากัน แต่ละคนมีพลังอำนาจในการกำหนดอนาคต ไม่จำเป็นต้องมีการเมืองที่อิงระบบอุปถัมภ์ สิ่งนี้สำคัญมากที่จะทำให้ชายแดนใต้และประเทศไทยไปสู่อนาคต นำมาสู่การพัฒนานโยบายสันติภาพก้าวหน้าซึ่งเป็นส่วนผสมระหว่างนโยบาย 9 เสาหลักของพรรคก้าวไกลและข้อเสนอของคนในพื้นที่ โดยหัวใจของนโยบายนี้ จะล้อไปกับสโลแกนสวยหรูของ กอ.รมน. อย่าง ‘มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน’ โดยเปลี่ยนเป็น ‘ลดความมั่งคั่งทางทหาร เพิ่มความมั่นคงทางอาหาร และสร้างสันติภาพที่ยั่งยืน’

อมรัตน์ กล่าวว่า กอ.รมน. ก่อตั้งขึ้นในปี 2508 จากหน่วยงานที่ชื่อว่า 'กองบัญชาการป้องกันและปราบปรามคอมมิวนิสต์' ทั้งที่ภัยคุกคามคอมมิวนิสต์จากนอกประเทศหมดไปแล้ว แต่ กอ.รมน. ยังคงอยู่ในฐานะที่เป็น 'หน่วยงานพิเศษ' ที่ขึ้นตรงกับนายกรัฐมนตรี เป็นหน่วยงานที่มีที่มาจากทหาร ตรวจสอบไม่ได้ ไม่โปร่งใส ไม่ทันสมัย ที่สำคัญที่สุดคือไม่เข้าใจประชาธิปไตย สิ่งที่พรรคก้าวไกลเสนอ วาระเร่งด่วนคือแก้ไขโครงสร้างของกลาโหมให้มีพลเรือนเข้าไปร่วมตัดสินใจด้วย และในระยะยาว เราเสนอให้ยกเลิก กอ.รมน. ซึ่งจะทำให้เรามีงบประมาณเพิ่มขึ้นอีกปีละ 10,000 ล้านบาท เพื่อนำงบมาเป็นส่วนหนึ่งในการจัดสวัสดิการถ้วนหน้าทุกช่วงวัย เพื่ออนาคตที่ดีของคนไทยทุกคน

ชัยธวัช กล่าวว่า นับตั้งแต่เหตุการณ์ปล้นปืนที่จังหวัดนราธิวาสเมื่อ 2547 ภาครัฐใช้งบประมาณไม่ต่ำกว่า 300,000 ล้านบาท เพื่อแก้ไขความขัดแย้งในพื้นที่ชายแดนใต้ มีผู้เสียชีวิตไม่น้อยกว่า 7,000 คน อีกจำนวนมากบาดเจ็บและสูญหาย เป็นข้อพิสูจน์ว่าวิธีการที่ผ่านมาซึ่งถูกกำกับโดยวิธีคิดแบบทหารนั้นล้มเหลว ดังนั้น ข้อเสนอเพื่อสร้างสันติสุขก้าวหน้าของพรรคก้าวไกล จะยืนบน 3 หลักการ เรียกว่า ‘3D’ ประกอบด้วย Democratization การสร้างประชาธิปไตยต้องเริ่มต้นจากคนทุกคนเท่ากัน อำนาจสูงสุดต้องเป็นของประชาชน Demilitarization เอาทหารออกจากการเมือง การแก้ปัญหาในสามจังหวัดภาคใต้ต้องนำโดยพลเรือน เลิกใช้กฎหมายที่เป็นวิธีคิดแบบทหาร เปลี่ยนเป็นมองความมั่นคงของประชาชนเท่ากับความมั่นคงของชาติ และ Decentralization คือกระจายอำนาจ ยกเลิกโครงสร้างรัฐรวมศูนย์ เอาอำนาจและงบประมาณมาอยู่ที่ท้องถิ่น มีอำนาจตัดสินใจออกแบบสังคมที่รองรับความหลากหลายทางวัฒนธรรม

‘พิธา’ ติง!! น้ำท่วมใต้ฉับพลัน สะท้อนระบบแจ้งเตือนมีปัญหา ฝาก 'รัฐบาล' ช่วยใส่ใจดูแลความเป็นอยู่ประชาชน

(19 ธ.ค. 65) ที่จังหวัดยะลา พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล กล่าวถึงสถานการณ์น้ำท่วมที่เกิดขึ้นในหลายจังหวัดทางภาคใต้ เช่น สงขลา นราธิวาส ยะลาว่า...

'ก้าวไกล' ปลื้ม!! สหรัฐฯ ผ่าน กม.รับรองสมรสคู่รักทุกเพศ ลุ้น!! สภาไทยใกล้โหวต วอน ปชช.ส่งเสียงให้รับร่าง

‘พิธา’ ยินดี สหรัฐฯ ผ่านกฎหมายรับรองการสมรสของคู่รักทุกเพศ เผยสภาไทยใกล้โหวต ‘สมรสเท่าเทียม’ ด้าน ‘ธัญวัจน์’ ขอประชาชนติดตามใกล้ชิด ส่งเสียงบอกผู้แทนให้รับร่าง

(20 ธ.ค. 65) พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ให้สัมภาษณ์ถึงการผลักดันร่างกฎหมายของพรรคก้าวไกลในช่วงปลายของสภาชุดปัจจุบันว่า ตอนนี้ร่างกฎหมายสำคัญของพรรคก้าวไกลที่อยู่ระหว่างการพิจารณาวาระ 2 คือ ร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม ซึ่งเป็นกฎหมายที่จะทำให้คู่รักทุกคู่ได้รับสิทธิของการเป็นคู่สมรส อย่างเท่าเทียมกัน สามารถสร้างครอบครัวร่วมกันโดยไม่มีอุปสรรคหรือข้อจำกัดเรื่องเพศเช่นในอดีต เช่น สิทธิรับมรดก สิทธิรักษาพยาบาล หรือการทำธุรกิจร่วมกัน

‘ณัฐชา’ ถามหาคนรับผิด ปมเรือหลวงอับปาง ชี้!! ถึงเวลาปฏิรูปกองทัพ - เลิกให้ตรวจสอบกันเอง

‘ณัฐชา’ ซักยิบกรณีเรือหลวงอับปาง ‘ประยุทธ์’ ส่ง ‘ชัยชาญ’ รับหน้าตอบ จี้ถามใครต้องรับผิดชอบความสูญเสีย ลั่นถึงเวลาปฏิรูปกองทัพ มีตัวแทนประชาชน ‘ผู้ตรวจการกองทัพ’ ร่วมตรวจสอบ - เลิกตรวจสอบกันเอง 

(22 ธ.ค. 65) ที่รัฐสภา ณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์ ส.ส.กรุงเทพฯ เขตบางขุนเทียน พรรคก้าวไกล ตั้งกระทู้ถามสด พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กรณีเรือหลวงสุโขทัยอับปางเมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2565 โดย พล.อ.ประยุทธ์ มอบหมายให้ พล.อ.ชัยชาญ ช้างมงคล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นตัวแทนตอบคำถาม 

ณัฐชากล่าวว่า ข่าวเรือหลวงสุโขทัย เป็นข่าวที่ทำให้คนไทยทั้งประเทศเสียใจ ตนขอให้กำลังใจเจ้าหน้าที่และครอบครัวของกำลังพลทุกคน ครั้งนี้อาจเป็นครั้งแรกที่เรือรบอับปางเพราะคลื่นลมแรง ที่ผ่านมา ตนได้อภิปรายความผิดพลาดของกองทัพหลายครั้ง ครั้งนี้ผู้รับผลกระทบจากความผิดพลาดคือกำลังพลของกองทัพเอง ก่อนหน้านี้ ฟังแถลงข่าวของผู้บัญชาการทหารเรือ (ผบ.ทร.) พบว่าไม่ได้ช่วยอะไรเลย ยิ่งซ้ำเติมความรู้สึกของประชาชนที่ติดตามเหตุการณ์ จึงขอให้รัฐมนตรีฯ ช่วยอธิบายลำดับเหตุการณ์ตั้งแต่ต้น ตั้งแต่เวลาที่น้ำเริ่มเข้าเรือและเรือเกิดเหตุ ว่าได้รับการแจ้งเหตุเวลาใด เรือที่เข้าไปช่วยลำแรกคือเรือหลวงกระบุรีไปถึงช่วงใด ได้เห็นกำลังพลเท่าไหร่ เรือยังไม่จมสู่ใต้ทะเลใช่หรือไม่ อุปกรณ์ในการช่วยเหลือมีอะไรบ้าง จำนวนเสื้อชูชีพและเรือยางมีเท่าไร รวมถึงอุปกรณ์อื่น ๆ ที่จะช่วยกำลังพลให้รอดชีวิต ได้ขอความช่วยเหลือจากหน่วยงานใดบ้าง ได้รับตอบรับจากหน่วยใดบ้าง และเรือหลวงสุโขทัยอยู่ในสภาพพร้อมใช้งานหรือไม่ มีประวัติการซ่อมบำรุงมากน้อยเพียงใด และซ่อมบำรุงเมื่อไร

ด้านชัยชาญได้ชี้แจงลำดับเหตุการณ์และสภาพอากาศในวันเกิดเหตุว่ามีคลื่นลมแรง เรือฝ่ามรสุม ทำให้น้ำเข้าตัวเรือบางส่วน เครื่องจักรของเรือหยุดทำงาน ส่วนจำนวนชูชีพ เรือแต่ละลำจะมีอัตราประจำเรือ และมีส่วนหนึ่งเป็นอุปกรณ์ช่วยเหลือผู้ประสบภัยทางทะเล มีทั้งชูชีพส่วนบุคคล ชูชีพพวง และแพชูชีพ แต่วันเกิดเหตุเนื่องจากสภาพเรือเอียง ทำให้ไม่สามารถปล่อยแพได้ ส่วนปฏิบัติการช่วยเหลือในวันนั้น ทุกอย่างเป็นการควบคุมสั่งการจากศูนย์อำนวยการกองทัพเรือผ่านไปยังกองทัพเรือภาคที่ 1 และเรือกระบุรี ในส่วนงบซ่อมบำรุง เนื่องจากอายุการใช้งานของเรือรบอยู่ที่ประมาณ 40 ปี การซ่อมบำรุงจึงมีทั้งซ่อมตามวงรอบปกติและการซ่อมใหญ่ โดยเรือหลวงสุโขทัยมีการบำรุงใหญ่เมื่อปี 2561 และ 2563 เสร็จสิ้นตรวจรับเมื่อปี 2564 งบที่ได้รับเฉลี่ยปีละ 1,300 ล้านบาท และในปี 2566 ได้รับงบประมาณ 1,800 ล้านบาท

“สำหรับเหตุการณ์ที่แท้จริง ได้สั่งให้กองทัพเรือสอบสวนทุกเรื่อง ว่าสาเหตุเกิดจากอะไร รวมถึงจำนวนเสื้อชูชีพที่สังคมสงสัย ให้ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงโดยเร็วที่สุด เพื่อชี้แจงให้ทุกคนทราบโดยไม่มีการปกปิด” ชัยชาญกล่าว

‘วิโรจน์’ ห่วง ข้าราชการน้ำดีถูกเล่นงาน ปมทุจริตไฟ 39.5 ล้าน จี้ กทม.ให้ความเป็นธรรม

ต่อกรณีโครงการไฟประดับลานคนเมือง 39.5 ล้านบาท ของ กทม. ที่จัดแสดงในช่วงวันที่ 30 ธ.ค. 58 ถึง 31 ม.ค. 59 ที่ ป.ป.ช. มีมติชี้มูลความผิด และกล่าวหาข้าราชการ รวมข้าราชการระดับสูงของ กทม. มากถึง 10 คน อาทิ ผอ.สำนักวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว ผอ.กองการท่องเที่ยว และคณะกรรมการ TOR ฯลฯ ฐานมีพฤติการณ์เข้าข่ายเอื้อเอกชนให้ได้รับงานโครงการประดับไฟลานคนเมือง กทม. หรือเรียกสั้น ๆ ว่า ฮั้วประมูลนั่นเอง 

คดีนี้เป็นคดีที่ ป.ป.ช. มีมติยื่นฟ้องศาลเอง หลังจากที่อัยการสูงสุดสั่งไม่ฟ้อง หลังจากที่ ป.ป.ช. มีมติชี้มูลความผิด กทม. ก็มีมติเบื้องต้นให้ไล่ออกข้าราชการถึง 4 ราย โดยปัจจุบันคดียังอยู่ในชั้นศาล

วิโรจน์ ลักขณาอดิศร หัวหน้าคณะทำงานยุทธศาสตร์กรุงเทพมหานคร พรรคก้าวไกล ได้ติดตามความคืบหน้าของคดีดังกล่าว และแสดงความกังวลว่า ในท้ายที่สุดแล้ว ข้าราชการ ที่เป็นคณะกรรมการตรวจรับพัสดุ ที่ทำหน้าที่ในการปกป้องภาษีของประชาชน อย่างตรงไปตรงมา กำลังจะถูกตั้งคณะกรรมการสอบ หลังจากที่ศาลปกครองสูงสุด มีคำพิพากษาสั่งให้ กทม. จ่ายเงินค่าจ้าง พร้อมดอกเบี้ย ให้แก่ผู้รับเหมา

วิโรจน์ ได้ไล่เรียงว่า จุดเริ่มต้นของกรณีนี้ เริ่มจาก คณะกรรมการตรวจรับฯ สงสัยว่าการส่งมอบงานอาจมีความล่าช้า และไม่เป็นไปตามสัญญา และได้มีการติดตามทวงถามผู้รับเหมาเรื่อยมา ในขณะที่นิติกรก็ได้แจ้งกับคณะกรรมการตรวจรับฯ เอาไว้ด้วยว่า จะต้องดำเนินการตรวจรับงาน งวดที่ 1 ให้แล้วเสร็จก่อนดำเนินการเปิดไฟวันแรก คือ วันที่ 30 ธ.ค. 58 แต่ปรากฏว่าการส่งมอบงานจริงเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 7 ม.ค. 59 ซึ่งเป็นการส่งมอบงานที่ล่าช้า 

นอกจากนี้เอกสารประกอบการส่งมอบงาน ก็ยังขาดความครบถ้วน คณะกรรมการตรวจรับฯ จึงได้ทวงถามให้ผู้รับเหมาส่งมอบเอกสารเพิ่มเติม ซึ่งกว่าจะได้รับเอกสารเพิ่มเติม ก็ต้องรอจนถึงวันที่ 20 ม.ค. 59 และเมื่อคณะกรรมการตรวจรับฯ ได้พิจารณาเอกสารการส่งมอบงานทั้งหมดแล้ว ก็มีความเห็นว่า เอกสารการส่งมอบงานยังขาดรายละเอียดของเนื้องานที่ครบถ้วน จึงได้ทำหนังสือถึง ผอ.สำนักวัฒนธรรมฯ ในฐานะผู้สั่งจ้าง ผ่าน ผอ.กองการท่องเที่ยว ในฐานะหัวหน้าเหน้าที่พัสดุ เพื่อสั่งการ ซึ่งกระบวนการทั้งหมดนี้เป็นตามข้อบัญญัติ เรื่องการพัสดุ พ.ศ.2538 ข้อ 66 (4) วรรคสอง

ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา คณะกรรมการตรวจรับฯ ได้ทำหนังสือรายงานให้ ผอ.สำนักวัฒนธรรมฯ และ ผอ.กองการท่องเที่ยว ให้รับทราบมาโดยตลอด จนในวันที่ 18 ม.ค. 60 คณะกรรมการตรวจรับฯ ก็ได้ทำรายงานผลการตรวจรับขึ้นอีกฉบับหนึ่ง โดยระบุชัดเจนว่า รายละเอียดการส่งมอบงานไม่ตรงตามสัญญา และไม่สามารถตรวจรับงานได้ แต่ก็ยังไม่มีการสั่งการใด ๆ ตามข้อบัญญัติ เรื่องการพัสดุ ข้อ 128 หรือ ข้อ 132 ไม่ว่าจะเป็นการเรียกค่าปรับ สงวนสิทธิการเรียกค่าปรับ หรือการบอกเลิกสัญญา

คณะกรรมการตรวจรับฯ ก็ยังไม่นิ่งนอนใจ หลังจากนั้นในวันที่ 5 เม.ย. 60 ก็ได้ทำหนังสือขอหารือไปยังสำนักงานกฎหมายและคดี และได้รับคำแนะนำกลับมาในวันที่ 17 พ.ค. 60 ว่า ในเมื่อคณะกรรมการตรวจรับฯ ได้ดำเนินการตรวจรับงานแล้ว และมีความเห็นว่ารายละเอียดการส่งมอบงานของผู้รับจ้างไม่ตรงตามสัญญาจ้าง จึงเป็นหน้าที่ของผู้สั่งจ้างที่ต้องพิจารณาสั่งการตามข้อบัญญัติ เรื่องการพัสดุ ต่อไป 

และในวันที่ 29 พ.ค. 60 ก็ยังได้ทำหนังสือขอหารือไปยังสำนักการคลัง ขึ้นอีกฉบับหนึ่ง และได้รับคำแนะนำกลับมาในวันที่ 16 มิ.ย. 60 ว่า โครงการไฟประดับ นั้นเป็นการจ้างที่ต้องการผลสำเร็จของงานทั้งหมดพร้อมกัน ไม่อาจตรวจรับไว้เฉพาะส่วนที่ถูกต้อง ตามข้อบัญญัติ เรื่องการพัสดุ ข้อ 66 (5) ได้ และในเมื่อคณะกรรมการตรวจรับฯ ได้รายงานการตรวจรับมายังผู้สั่งจ้างแล้ว ก็ต้องเป็นหน้าที่ของผู้สั่งจ้าง ที่จะพิจารณาสั่งการต่อไป

เรียกได้ว่า คณะกรรมการตรวจรรับฯ ชุดนี้ ทำงานแบบรอบคอบ ตรงไปตรงมา กัดไม่ปล่อย และทำจนสุดหน้าที่แล้วจริง ๆ เป็นตัวอย่างที่ดีมาก ๆ ของข้าราชการน้ำดี ที่ยืนหยัดในความถูกต้อง และปกป้องผลประโยชน์ของประชาชนอย่างถึงที่สุด

การทำงานของคณะกรรมการตรวจรับฯ ชุดนี้ ไม่ได้ราบรื่นเลย นอกจากจะถูกเตะถ่วง โยนเรื่องไปมาแล้ว ยังถูกกดดันจากทุกช่องทาง ถูกผู้รับเหมาฟ้องฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ต้องเสียเวลาทำเอกสารชี้แจง ขึ้นโรงขึ้นศาล แต่ด้วยความสุจริตในการปฏิบัติหน้าที่ ก็ชนะคดีมาได้ทั้งศาลชั้นต้น และศาลอุทธรณ์

จุดพลิกผันของเรื่องนี้เกิดขึ้น เมื่อศาลปกครองสูงสุด มีคำพิพากษาให้ กทม. จ่ายค่าจ้าง พร้อมดอกเบี้ยให้แก่ผู้รับเหมา เนื่องจากสิ่งที่คณะกรรมการตรวจรับฯ เห็นว่าไม่ถูกต้อง นั้นเป็นเรื่องของเอกสาร ไม่ใช่เนื้องานตามสัญญาจ้าง และ กทม. ก็ได้ใช้ประโยชน์จากไฟประดับของผู้รับเหมาไปแล้ว ทีนี้ล่ะครับ กระบวนการหาคนผิด ก็เลยเกิดขึ้น

วิโรจน์สงสัยว่า แทนที่รองปลัด กทม. นายเฉลิมพล โชตินุชิต จะสอบสวนว่า ผอ.สำนักวัฒนธรรมฯ ผู้สั่งจ้าง ณ ขณะนั้น อนุญาตให้เปิดไฟประดับได้อย่างไร ทั้ง ๆ ที่ยังตรวจรับงานไม่ผ่าน และอนุญาตให้ผู้รับเหมารื้อถอนในวันที่ 1 ก.พ. 59 ได้อย่างไร ทั้ง ๆ ที่การตรวจรับงานยังไม่เสร็จสิ้น และที่ผ่านมา ทำไม ผอ.สำนักวัฒนธรรมฯ ที่มารับตำแหน่งต่อ ถึงไม่สั่งให้บอกเลิกสัญญากับผู้รับเหมา ทั้ง ๆ ที่ คณะกรรมการตรวจรับฯ ก็ทำหน้าที่จนสุดทางแล้ว และได้ยืนยันว่า โครงการไฟประดับดังกล่าว ไม่เป็นไปตามสัญญา และไม่สามารถตรวจรับงานได้ รวมทั้งควรต้องสอบนิติกรฝ่ายการเจ้าหน้าที่ ประจำสำนักงานเลขานุการ สำนักวัฒนธรรมฯ เพิ่มเติมด้วยว่า เหตุใดจึงแนะนำให้ ผอ.สำนักวัฒนธรรมฯ ในฐานะผู้สั่งจ้าง ณ ขณะนั้น สั่งการให้คณะกรรมการตรวจรับฯ ดำเนินการตรวจรับให้ได้ ทั้ง ๆ ที่การส่งมอบงานไม่เป็นไปตามสัญญา

แต่รองปลัด กทม. กลับสั่งให้มีการสอบคณะกรรมการตรวจรับฯ ซึ่งประเด็นนี้ วิโรจน์ตั้งประเด็น และไม่เข้าใจว่า จะสอบคณะกรรมการตรวจรับฯ ทำไม เพราะที่ผ่านมาคณะกรรมการตรวจรับฯ ก็ทำหน้าที่อย่างถึงที่สุดแล้ว และคำพิพากษาของศาลชั้นต้น และศาลอุทธรณ์ ก็ยืนยันชัดเจนว่า คณะกรรมการตรวจรับฯ ปฏิบัติหน้าที่โดยสุจริต


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top