‘ณัฐชา’ ถามหาคนรับผิด ปมเรือหลวงอับปาง ชี้!! ถึงเวลาปฏิรูปกองทัพ - เลิกให้ตรวจสอบกันเอง

‘ณัฐชา’ ซักยิบกรณีเรือหลวงอับปาง ‘ประยุทธ์’ ส่ง ‘ชัยชาญ’ รับหน้าตอบ จี้ถามใครต้องรับผิดชอบความสูญเสีย ลั่นถึงเวลาปฏิรูปกองทัพ มีตัวแทนประชาชน ‘ผู้ตรวจการกองทัพ’ ร่วมตรวจสอบ - เลิกตรวจสอบกันเอง 

(22 ธ.ค. 65) ที่รัฐสภา ณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์ ส.ส.กรุงเทพฯ เขตบางขุนเทียน พรรคก้าวไกล ตั้งกระทู้ถามสด พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กรณีเรือหลวงสุโขทัยอับปางเมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2565 โดย พล.อ.ประยุทธ์ มอบหมายให้ พล.อ.ชัยชาญ ช้างมงคล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นตัวแทนตอบคำถาม 

ณัฐชากล่าวว่า ข่าวเรือหลวงสุโขทัย เป็นข่าวที่ทำให้คนไทยทั้งประเทศเสียใจ ตนขอให้กำลังใจเจ้าหน้าที่และครอบครัวของกำลังพลทุกคน ครั้งนี้อาจเป็นครั้งแรกที่เรือรบอับปางเพราะคลื่นลมแรง ที่ผ่านมา ตนได้อภิปรายความผิดพลาดของกองทัพหลายครั้ง ครั้งนี้ผู้รับผลกระทบจากความผิดพลาดคือกำลังพลของกองทัพเอง ก่อนหน้านี้ ฟังแถลงข่าวของผู้บัญชาการทหารเรือ (ผบ.ทร.) พบว่าไม่ได้ช่วยอะไรเลย ยิ่งซ้ำเติมความรู้สึกของประชาชนที่ติดตามเหตุการณ์ จึงขอให้รัฐมนตรีฯ ช่วยอธิบายลำดับเหตุการณ์ตั้งแต่ต้น ตั้งแต่เวลาที่น้ำเริ่มเข้าเรือและเรือเกิดเหตุ ว่าได้รับการแจ้งเหตุเวลาใด เรือที่เข้าไปช่วยลำแรกคือเรือหลวงกระบุรีไปถึงช่วงใด ได้เห็นกำลังพลเท่าไหร่ เรือยังไม่จมสู่ใต้ทะเลใช่หรือไม่ อุปกรณ์ในการช่วยเหลือมีอะไรบ้าง จำนวนเสื้อชูชีพและเรือยางมีเท่าไร รวมถึงอุปกรณ์อื่น ๆ ที่จะช่วยกำลังพลให้รอดชีวิต ได้ขอความช่วยเหลือจากหน่วยงานใดบ้าง ได้รับตอบรับจากหน่วยใดบ้าง และเรือหลวงสุโขทัยอยู่ในสภาพพร้อมใช้งานหรือไม่ มีประวัติการซ่อมบำรุงมากน้อยเพียงใด และซ่อมบำรุงเมื่อไร

ด้านชัยชาญได้ชี้แจงลำดับเหตุการณ์และสภาพอากาศในวันเกิดเหตุว่ามีคลื่นลมแรง เรือฝ่ามรสุม ทำให้น้ำเข้าตัวเรือบางส่วน เครื่องจักรของเรือหยุดทำงาน ส่วนจำนวนชูชีพ เรือแต่ละลำจะมีอัตราประจำเรือ และมีส่วนหนึ่งเป็นอุปกรณ์ช่วยเหลือผู้ประสบภัยทางทะเล มีทั้งชูชีพส่วนบุคคล ชูชีพพวง และแพชูชีพ แต่วันเกิดเหตุเนื่องจากสภาพเรือเอียง ทำให้ไม่สามารถปล่อยแพได้ ส่วนปฏิบัติการช่วยเหลือในวันนั้น ทุกอย่างเป็นการควบคุมสั่งการจากศูนย์อำนวยการกองทัพเรือผ่านไปยังกองทัพเรือภาคที่ 1 และเรือกระบุรี ในส่วนงบซ่อมบำรุง เนื่องจากอายุการใช้งานของเรือรบอยู่ที่ประมาณ 40 ปี การซ่อมบำรุงจึงมีทั้งซ่อมตามวงรอบปกติและการซ่อมใหญ่ โดยเรือหลวงสุโขทัยมีการบำรุงใหญ่เมื่อปี 2561 และ 2563 เสร็จสิ้นตรวจรับเมื่อปี 2564 งบที่ได้รับเฉลี่ยปีละ 1,300 ล้านบาท และในปี 2566 ได้รับงบประมาณ 1,800 ล้านบาท

“สำหรับเหตุการณ์ที่แท้จริง ได้สั่งให้กองทัพเรือสอบสวนทุกเรื่อง ว่าสาเหตุเกิดจากอะไร รวมถึงจำนวนเสื้อชูชีพที่สังคมสงสัย ให้ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงโดยเร็วที่สุด เพื่อชี้แจงให้ทุกคนทราบโดยไม่มีการปกปิด” ชัยชาญกล่าว

ณัฐชา กล่าวต่อว่า สาเหตุที่ต้องสอบถามว่าเรือลำที่เข้าไปช่วยกำลังพลมีอุปกรณ์อะไรบ้าง เพราะสิ่งที่ตนต้องการทราบคือทางกองทัพมีความมุ่งมั่นตั้งใจจะไปช่วยกำลังพลอย่างไรบ้าง ส่วนกรณีเสื้อชูชีพมีไม่เพียงพอ กองทัพเรือก็จำนนต่อหลักฐานที่สังคมมีแล้ว นอกจากนี้ ขอตั้งคำถามว่า ภารกิจที่ทำให้จำเป็นต้องออกเรือในช่วงมรสุมที่มีลมแรง คือภารกิจอะไร มีความจำเป็นแค่ไหน ใครเป็นผู้ออกหนังสือสั่งการออกไปทำภารกิจ และได้รับข้อมูลสภาพอากาศจากกรมอุตุนิยมวิทยาหรือกรมอุทกศาสตร์ทหารเรือหรือไม่ หากได้รับการแจ้งเตือน เหตุใดยังคงส่งกำลังพลที่เป็นลูกหลานของพี่น้องคนไทยไปฝ่าคลื่นลมแรงในภารกิจนี้ และกำลังคนที่ออกไปทำภารกิจนี้เป็นทหารเกณฑ์ด้วยใช่หรือไม่ มีกำลังพลที่ว่ายน้ำไม่เป็นแต่ต้องไปปฏิบัติภารกิจด้วยใช่หรือไม่ กระบวนการขนส่งทหารเรือไปทำภารกิจช่วงมรสุม ต้องขนส่งโดยเรือหลวงใช่หรือไม่ หรือพอเรือหลวงกำลังจะออกไป จึงอัดกำลังพลไปให้เต็ม โดยไม่ได้ดูว่ามีอุปกรณ์เพียงพอหรือไม่ นอกจากนี้ มีงบประมาณในการจัดเตรียมอุปกรณ์สำหรับรับมือเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดเพียงพอสำหรับเรือแต่ละลำหรือไม่ และ กำลังพลทั้ง 105 นาย เคยอบรมการเผชิญเหตุภัยพิบัติหรือไม่

ณัฐชากล่าวว่า ภารกิจดังกล่าวไปลาดตระเวนสิ่งใด เพราะขณะที่เรือออกไปลาดตระเวน กลับไม่มีเสื้อชูชีพเลย เรือก็ช่วยใครไม่ได้ เหตุเรืออับปางนี้ทำให้สูญเสียชีวิตกำลังพล สูญเสียขวัญกำลังใจของครอบครัว สูญเสียภาษีของพี่น้องประชาชน และสุดท้ายภารกิจที่อนุมัติให้เกิดความสูญเสียนี้ ผู้ใดต้องเป็นคนรับผิดชอบ เป็น รมว.กลาโหม หรือ ผบ.ทร. 

“ถึงเวลาหรือยังที่ต้องปฏิรูปกองทัพ เพราะที่ผ่านมา มีแต่การตรวจสอบกันเอง นายกฯ มีอำนาจล้นฟ้ามา 8 ปีเต็ม แต่ในฐานะรัฐมนตรีกลาโหม ขอถามว่าแม้แต่หน่วยงานที่ท่านเติบโต ยังบริหารให้ดีขึ้นไม่ได้เลย แล้วจะใช้เวลาอีก 2 ปีที่เหลืออยู่ บริหารประเทศให้ดีขึ้นได้อย่างไร ถึงเวลาหรือยังที่ต้องปฏิรูปกองทัพ ทุกคนในที่นี้ก็รักกองทัพและอยากให้ดีขึ้น เราจึงต้องทำให้กองทัพมีกระบวนการที่โปร่งใส ที่ผ่านมาตรวจสอบกันเองครั้งแล้วครั้งเล่า สุดท้ายก็มาเสนอประชาชนแบบข้างๆคูๆ หากมีผู้ตรวจการกองทัพตัวแทนจากประชาชนเข้าไปด้วยจะดีหรือไม่ รวมถึงต้องพิจารณาเรื่องการยกเลิกบังคับคนมาเป็นทหาร ยิ่งตอนนี้กองทัพยังไม่ตอบว่ากำลังพลบนเรือหลวงสุโขทัยเป็นทหารเกณฑ์กี่นาย ว่ายน้ำไม่เป็นกี่นาย ครอบครัวเขารอคำตอบอยู่” ณัฐชากล่าว