Sunday, 19 May 2024
ก้าวไกล

‘ก้าวไกล-ก้าวหน้า’ ชูนโยบาย ‘ทุกจังหวัดไทยก้าวหน้า’ เน้นกระจายอำนาจ - งบประมาณสู่ท้องถิ่น

ก้าวไกล จัดหนักต่อเนื่อง เปิดนโยบายทุกจังหวัดไทยก้าวหน้า กางโรดแมปกระจายอำนาจเต็มสูบ เพิ่มงบท้องถิ่นสองแสนล้านบาทต่อปีภายใน 4 ปี จัดประชามติยกเลิกส่วนภูมิภาค-เลือกนายกจังหวัดทั่วประเทศ พร้อมยืนยันข้าราชการไม่ตกงาน-ไม่เสียสิทธิประโยชน์

วันที่ 26 พฤศจิกายน ที่อาคารอนาคตใหม่ ชั้น 7 พรรคก้าวไกลแถลงนโยบาย ‘ทุกจังหวัดไทยก้าวหน้า’ ซึ่งเป็นชุดนโยบายที่ 3 ต่อจาก ‘การเมืองไทยก้าวหน้า’ และ ‘สวัสดิการไทยก้าวหน้า’ โดยเป็นการแถลงร่วมกับคณะก้าวหน้า ที่นำเสนอผลงานการทำงานในระดับท้องถิ่นในรอบปีที่ผ่านมา

‘ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ’ ประธานคณะก้าวหน้า กล่าวว่า การกระจายอำนาจเป็นนโยบายหลักตั้งแต่ครั้งพรรคอนาคตใหม่ โดยคณะก้าวหน้าก็สานต่อภารกิจด้วยการส่งผู้สมัครลงเลือกตั้งท้องถิ่น เหตุผลที่เราผลักดันเรื่องนี้ เพราะต้องการให้ประเทศเกิดการขับเคลื่อน 2 ทางควบคู่กัน คือการขับเคลื่อนจาก “ล่างขึ้นบน” ผ่านการสร้างผู้บริหารท้องถิ่นที่มีศักยภาพ พิสูจน์ว่าท้องถิ่นพร้อมบริหาร พร้อมพัฒนาเมืองของตัวเอง โดยจากการทำงานของ อปท. คณะก้าวหน้าภายใต้ข้อจำกัดต่างๆ เราสามารถแก้ปัญหาปากท้องและคุณภาพชีวิตของคนในพื้นที่ได้หลายเรื่อง เช่น น้ำประปาดื่มได้ กล่อง baby box ให้เด็กแรกเกิด ระบบจัดการขยะที่มีมาตรฐานเทียบเท่าประเทศญี่ปุ่น การสร้างงานและรายได้ผ่านการท่องเที่ยวชุมชน

ธนาธรกล่าวต่อว่า อีกทางหนึ่งคือการขับเคลื่อนจาก ‘บนลงล่าง’ ผ่านการแก้ไขรัฐธรรมนูญและแก้ไขกฎหมายเพื่อปลดล็อกข้อจำกัดในการทำงานของท้องถิ่น ซึ่งเป็นที่มาของการเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ‘ปลดล็อกท้องถิ่น’ ที่มีประชาชนทั่วประเทศร่วมลงชื่อกว่า 76,591 คน และจะเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภาในวันที่ 29-30 พฤศจิกายนนี้ โดยเราหวังว่าวันหนึ่งการขับเคลื่อนทั้ง 2 ทางจะมาบรรจบกันที่เส้นชัย คือการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประเทศที่ก้าวหน้า หลุดพ้นจากประเทศกำลังพัฒนา

พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล กล่าวว่า ที่ผ่านมาความเจริญและอำนาจในการตัดสินใจส่วนใหญ่ของประเทศไทยรวมศูนย์อยู่ที่กรุงเทพฯ และรัฐส่วนกลาง ขนาดเศรษฐกิจของกรุงเทพฯ ใหญ่กว่าจังหวัดอันดับ 2 อย่างชลบุรีถึง 5 เท่า ในขณะที่ส่วนกลางมีอำนาจในการตัดสินใจเรื่องการใช้งบสูงถึง 80% ของงบประมาณทั้งหมด พรรคก้าวไกลจึงมีเป้าหมายที่จะปลดล็อกความกระจุกตัวของอำนาจและความเจริญ ด้วยการทำให้ประชาชนทุกจังหวัดมีอำนาจและทรัพยากรเพียงพอในการกำหนดอนาคตของตัวเอง

“หลายคนอาจสงสัยว่าทำไมพรรคก้าวไกลพูดแต่เรื่องกระจายอำนาจ ทำไมไม่พูดเรื่องปากท้องเฉพาะหน้าของประชาชน แต่ผมต้องบอกว่านโยบายกระจายอำนาจคือนโยบายเศรษฐกิจ คือเรื่องปากท้อง เพราะการกระจายอำนาจจะนำไปสู่การระเบิดพลังทางเศรษฐกิจครั้งใหญ่ ทำให้งบประมาณถูกใช้อย่างถูกจุดโดยคนที่ใกล้ชิดกับปัญหาและรู้ปัญหาจริง เพื่อยกระดับบริการสาธารณะ และสร้างงานใหม่ๆ ในทุกพื้นที่ทั่วประเทศ” พิธาระบุ

หัวหน้าพรรคก้าวไกลได้หยิบยกการศึกษาขององค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (OECD) เพื่อยืนยันถึงประโยชน์ของการกระจายอำนาจที่ถูกพิสูจน์ให้เห็นในหลายประเทศทั่วโลก การกระจายอำนาจจะทำให้เศรษฐกิจเติบโตและลดความเหลื่อมล้ำของรายได้ต่อหัวในแต่ละภูมิภาค ส่วนที่บางคนเชื่อว่ายิ่งกระจายอำนาจก็ยิ่งกระจายคอร์รัปชัน ผลการศึกษาในต่างประเทศกลับพบว่าหากทำควบคู่กับการเพิ่มเสรีภาพในการแสดงออกและการมีส่วนร่วมของประชาชนในการตรวจสอบรัฐบาล การกระจายอำนาจกลับทำให้คอร์รัปชันลดลง

พิธากล่าวว่า นโยบาย ‘ทุกจังหวัดไทยก้าวหน้า’ จะพลิกประเทศทั้งในระยะสั้น-กลาง-ยาว โดยหากเป็นรัฐบาล สิ่งที่จะทำใน 100 วันแรกคือการยกเลิกกฎระเบียบและคำสั่ง คสช. ทั้งหมดที่ล็อกคอ-ล้วงลูกท้องถิ่น ถัดมาภายใน 1 ปี คือการทำประชามติว่าประชาชนเห็นด้วยหรือไม่กับการเลือกตั้ง ‘นายกจังหวัด’ ทุกจังหวัด และยกเลิกราชการส่วนภูมิภาค โดยที่รับประกันว่าไม่มีใครตกงานหรือเสียประโยชน์ และในทุกๆปี รัฐบาลก้าวไกลจะค่อยๆ กระจายงบประมาณให้ท้องถิ่นในการจัดทำบริการสาธารณะและพัฒนาพื้นที่ โดยภายใน 4 ปี ท้องถิ่นทั่วประเทศจะได้งบเพิ่มขึ้น 200,000 ล้านบาทต่อปี คิดเป็นการเพิ่มงบ อบจ. ละ 250 ล้าน เมืองละ 100 ล้าน ตำบลละ 50 ล้านบาท ต่อปี โดยเฉลี่ย

วรภพ วิริยะโรจน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล กล่าวว่า นโยบายทุกจังหวัดไทยก้าวหน้าประกอบด้วย 4 ข้อสำคัญ ได้แก่ 

(1) การวางโรดแมปไปสู่การเลือกตั้ง ‘นายกจังหวัด’ ที่จะทำหน้าที่เป็นผู้บริหารสูงสุดในจังหวัดแทนผู้ว่าราชการที่มาจากการแต่งตั้ง 
(2) การเพิ่มงบจังหวัดจัดการตนเอง 
(3) การปลดล็อกกฎระเบียบให้ท้องถิ่นจัดทำบริการสาธารณะและแก้ปัญหาให้ประชาชนในพื้นที่ได้ทั้งหมด 
และ (4) การเพิ่มอำนาจประชาชนในการตรวจสอบการทำงานของท้องถิ่น เพื่อแก้ไขปัญหาทุจริตคอร์รัปชัน

นอกจากประโยชน์ที่ประชาชนจะได้รับ วรภพกล่าวว่าพรรคก้าวไกลขอยืนยันกับข้าราชการทุกคนที่สังกัดส่วนภูมิภาคและสังกัดส่วนท้องที่ เช่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ว่า ‘ทุกตำแหน่งแห่งหนจะยังคงอยู่ ทุกสิทธิประโยชน์จะยังคงเดิม และทุกความก้าวหน้าจะยังคงมี’ โดยการปฏิรูประบบราชการครั้งนี้ เป็นเพียงการเปลี่ยนการทำงานของข้าราชการบางส่วนในแต่ละพื้นที่ จากเดิมที่ทำงานแยกกันภายใต้อธิบดีกรมหรือปลัดกระทรวงที่อยู่ที่กรุงเทพฯ เปลี่ยนเป็นทำงานร่วมกันภายใต้ผู้บริหารท้องถิ่นที่ประชาชนเลือกในพื้นที่โดยตรง โดยจะเป็นการออกแบบระบบราชการที่ทำให้ศักดิ์และสิทธิของข้าราชการทุกสังกัดเท่าเทียมกัน มีกลไกรองรับการถ่ายโอนโยกย้ายระหว่างส่วนกลางกับส่วนท้องถิ่น

“ผมเชื่ออย่างสุดใจ ว่าภารกิจนี้เป็นโอกาสสำคัญที่จะทำให้ทุกจังหวัดในประเทศไทยก้าวหน้า ถ้าประชาชนเป็นคนเลือกนายกจังหวัดแล้ว จะไม่มีรัฐบาลไหนเปลี่ยนกลับมาให้มีผู้บริหารจังหวัดที่มาจากการแต่งตั้งได้อีก นี่จึงเป็นการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้าง ที่ไม่มีวันย้อนกลับได้” วรภพกล่าว

ปดิพัทธ์ สันติภาดา ส.ส.พิษณุโลก พรรคก้าวไกล กล่าวว่า การกระจายอำนาจจะทำให้คุณภาพชีวิตของประชาชนดีขึ้น ตั้งแต่ตื่นเช้าจนเข้านอน เช่น ในช่วงเช้า คนภาคเหนือจะไม่ต้องตื่นมาสูดอากาศที่เป็นมลพิษ เพราะปัญหาไฟป่าจะได้รับการจัดการที่ดีขึ้น อาสาสมัครป้องกันไฟป่าจะได้รับการฝึกอบรม มีอุปกรณ์และเครื่องมือที่เพียงพอ ลดความเสี่ยงในการสูญเสียชีวิต 

ในช่วงกลางวัน คนภูเก็ตหรือคนขอนแก่น อาจได้ใช้ระบบขนส่งสาธารณะที่ผลักดันมายาวนาน เช่น รถราง รถไฟฟ้า ซึ่งที่ผ่านมาทำไม่ได้เพราะเงินไม่พอและไม่มีอำนาจตัดสินใจ 

ในช่วงเย็น ประชาชนจะมีสวนสาธารณะใกล้บ้านสำหรับพักผ่อนและเป็นพื้นที่ทำกิจกรรมร่วมกันของคนทุกกลุ่ม แต่ที่ผ่านมาเทศบาลไม่สามารถใช้งบประมาณด้านวัฒนธรรมเพื่อจัดงานคริสต์มาสได้ เพราะส่วนกลางกำหนดให้จัดได้แค่งานวัฒนธรรมไทย 

และช่วงค่ำ ประชาชนจะออกไปสังสรรค์ใกล้บ้านได้สะดวก หากกระจายอำนาจให้นายกจังหวัดจัดการผังเมืองได้ ไม่ถูกจำกัดโดยการจัดโซนนิ่งของรัฐส่วนกลาง ที่บางครั้งทำให้สถานที่สังสรรค์มีที่ตั้งอยู่ห่างไกล ดังนั้น จากตัวอย่างทั้งหมดนี้ เชื่อว่าการกระจายอำนาจจะทำให้ชีวิตของคนไทยดีขึ้น รัฐบาลท้องถิ่นใกล้ชิดประชาชน และนโยบายยึดโยงพื้นที่

'อั้ม เนโกะ' ซัดพรรคอ้างว่า ‘ก้าวหน้า-ก้าวไกล’ แต่ทำตัวล้าหลัง เป็นของปลอมที่ชอบออกตัว

(30 พ.ย. 65) นายศรัณย์ ฉุยฉาย หรืออั้ม เนโกะ ผู้ต้องหาคดีความมั่นคง ซึ่งลี้ภัยอยู่ที่ประเทศฝรั่งเศส โพสต์เฟซบุ๊กพร้อมแคปรูปทวิตเตอร์ของนางอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกลระบุว่า…

ความทุเรศของนักการเมืองไทยที่สังกัดอยู่กับพรรค กับกลุ่มที่ชอบอ้างว่าตัวเองก้าวหน้า ก้าวไกล แต่กลับทำตัวล้าหลังไปร่วมกิจกรรมกับพรรคการเมืองฝ่ายขวาอนุรักษ์นิยมของเยอรมนี

'สุรเชษฐ์' โอด!! 'สภาปัดถก-ปิดประตูคำตอบ' กรณีส่วนต่างรถไฟฟ้าสายสีส้ม 68,613 ล้านบาท

‘สุรเชษฐ์’ ผิดหวัง ไม่ได้คำตอบกรณีส่วนต่างรถไฟฟ้าสายสีส้ม 68,613 ล้านบาท เตรียมส่งจดหมายถามครม.

(1 ธ.ค. 65) สุรเชษฐ์ ประวีณวงศ์วุฒิ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ระบุว่าตนได้ติดตามกรณี แถลงข่าวความคืบหน้ารถไฟฟ้าสายสีส้มมาโดยตลอด หลังพบความผิดปกติทั้งการฮั้วประมูล เปลี่ยนเกณฑ์การประมูลอย่างมีผลต่อการแพ้ชนะ ซึ่งความผิดปกตินี้จะทำให้รัฐเสียหายสูงถึง 68,613 ล้านบาท และเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา สุรเชษฐ์ได้ยื่นญัตติด่วนด้วยวาจา เพื่อขอตรวจสอบความผิดปกติดังกล่าว แต่ก็ล่มไปด้วยการโหวตของคว่ำของส.ส.ฝั่งรัฐบาล

สุรเชษฐ์ ยอมรับว่า ตนผิดหวังที่สภาปัดตกไม่ให้มีการพูดคุยถึงกรณีส่วนต่างดังกล่าว สุรเชษฐ์ ยังย้ำอีกว่า พรรคก้าวไกลและตนได้ยื่นหนังสือไปยังคณะรัฐมนตรีเพื่อรับทราบข้อเท็จจริง กรณีรถไฟฟ้าสายสีส้ม ว่าจะมีความเสียหาย 68,000 ล้านบาท 

สุรเชษฐ์ ยังกล่าวย้ำว่า ตนจะส่งหนังสือไปยังรัฐมนตรีรายบุคคลว่า ควรอ่านรายละเอียดของกรณีรถไฟฟ้าสายสีส้ม หรือต่อให้ไม่ว่างจริงๆ ก็ควรที่จะให้ทีมงานช่วยอ่านให้ฟัง เพราะกรณีนี้สร้างความเสียหายต่อรัฐอย่างมาก และก็ได้มาแถลงต่อหน้าสื่อมวลชน ว่าจะมอบหนังสือเพื่อตรวจสอบกรณีรถไฟฟ้าสายสีส้ม โดยมีเนื้อหา ทั้งหมด 7 ประเด็น ที่ทำให้คณะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมต้องออกมาชี้แจงด้วยตนเอง ดังนี้...

ประเด็นที่ 1 การเปลี่ยนเกณฑ์ประมูลกลางอากาศที่มีนัยสำคัญต่อการแพ้ชนะต่อการประมูล 

ประเด็นที่ 2 การยกเลิกการประมูลครั้งก่อนเมื่อ 2563 ที่ศาลปกครองระบุแล้วว่า เป็นการยกเลิกมิชอบด้วยกฎหมาย

'ธนาธร' ชี้!! กลุ่มทุนใหญ่น่ารังเกียจ เกาะอำนาจรัฐเอื้อตัวเอง  โว!! นั่นจึงเป็นเหตุที่ต้องมี 'ก้าวไกล' ไปอยู่ในสภาฯ

'ธนาธร' ร่วมวงสมาชิกสัมพันธ์ก้าวไกลขอนแก่น ชี้กลุ่มทุนไม่ได้น่ารังเกียจถ้าสร้างนวัตกรรม แต่น่ารังเกียจที่ยึดเกาะอำนาจรัฐเอื้อประโยชน์ตัวเอง 

(3 ธ.ค.65) ที่ Jump Space จ.ขอนแก่น ศรายุทธ ใจหลัก ผู้อำนวยการพรรคก้าวไกล และ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า ร่วมงานประชุมสมาชิกพรรคก้าวไกล เพื่อพบปะสมาชิกพรรคและรณรงค์การขยายฐานสมาชิกให้เติบโตอย่างเข้มแข็ง

ศรายุทธ กล่าวว่า พรรคก้าวไกลวันนี้มีสมาชิกพรรคทั่วประเทศ 57,544 คน เฉพาะที่ขอนแก่นมีสมาชิกพรรค 2,250 คน ในวันต่อ ๆ ไป เราจะเพิ่มจำนวนสมาชิกพรรคในขอนแก่นให้มากขึ้น เป็น 5,000 คน 10,000 คน และไปให้ถึง 1,000,000 คน เช่นเดียวกับทุก ๆ จังหวัด เพื่อทำให้พรรคก้าวไกลเป็นพรรคการเมืองที่เข้มแข็งจากฐานสมาชิก เป็นหัวหอกนำการเปลี่ยนแปลงมาสู่โครงสร้างสังคม การเมือง และเศรษฐกิจไทย ตนจึงขอเชิญชวนประชาชนที่ต้องการเห็นการเปลี่ยนแปลง ให้มาร่วมสร้างฐานสมาชิก ร่วมสร้างพรรคไปด้วยกัน

ด้านธนาธร กล่าวว่า พรรคการเมืองหนึ่ง ๆ จะเกิดขึ้นได้ ต้องเริ่มจากแนวอุดมการณ์และแนวนโยบายที่แต่ละคนเห็นตรงกันว่าอยากให้ประเทศไทยไปทางไหน ปัจจุบันปัญหาสำคัญของประเทศไทย คือเรื่องความเหลื่อมล้ำ เวลาเราบอกว่าเศรษฐกิจโตเท่าไหร่ จีดีพีโตกี่เปอร์เซ็นต์ มันไม่เคยบอกว่าที่โตนั้น ไปโตที่ใคร นี่คือเหตุผลที่เราไม่พอใจว่าการเติบโตของเศรษฐกิจมันช้าเกินไป และที่ออกดอกออกผลเติบโต ก็ไปโตที่บางคนเท่านั้น ทำให้ไทยเป็นประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำมากที่สุดเป็นอันดับ 4 ของโลก และเรื่องนี้แยกไม่ออกกับโครงสร้างการพัฒนาการเมืองและเศรษฐกิจของประเทศตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมา ดังนั้น ถ้าใครพูดเรื่องความเหลื่อมล้ำ แต่ไม่พูดเรื่องโครงสร้างเศรษฐกิจและการเมืองที่ผิดเพี้ยน คนนั้นก็กำลังหลอกตัวเองอยู่

‘ก้าวไกล’ ลุยขอนแก่น เปิดตัวว่าที่ผู้สมัครส.ส. เขต 1 ตั้งเป้าปักธงส้มครบ 11 เขต - พร้อมล้างบางงูเห่า

เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2565 ที่ลานสนามฟุตซอลบ้านเป็ด อ.เมือง จ.ขอนแก่น พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล, รังสิมันต์ โรม โฆษกพรรคก้าวไกล พร้อมทั้งอภิชาติ ศิริสุนทร กรรมการบริหารพรรคก้าวไกลสัดส่วนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ร่วมเวทีแนะนำตัวว่าที่ผู้สมัคร ส.ส. ขอนแก่น เขต 1 โดยบรรยากาศเป็นไปอย่างคึกคัก มีประชาชนเข้าร่วมรับฟังจำนวนมาก

หัวหน้าพรรคก้าวไกลเริ่มต้นด้วยการเกริ่นถึงชุดนโยบาย ‘สวัสดิการไทยก้าวหน้า’ ที่พรรคก้าวไกลเสนอเพิ่มเงินผู้สูงวัยเป็น 3,000 บาทต่อเดือน เป็นอัตราเดียวแบบถ้วนหน้า ซึ่งไม่เพียงช่วยให้ผู้สูงอายุมีรายได้เพียงพอต่อการดำรงชีพ แต่ยังช่วยประชากรวัยทำงานด้วย ตนเองเข้าใจเรื่องนี้ดี เพราะเป็นคนหนึ่งในวัยทำงานที่มีทั้งลูกที่ต้องดูแล มีพ่อแม่ที่ต้องเป็นห่วง มั่นใจว่าการเพิ่มเงินผู้สูงวัยจะช่วยแบ่งเบาภาระของประชากรวัยทำงาน ให้ไม่ต้องห่วงหน้าพะวงหลัง

'ก้าวไกล' ขอโทษ 'เพื่อไทย' หลังว่าที่ผู้สมัครมือลั่น วิจารณ์ค่าแรง 600 ไม่รอดแน่ SME ตายเป็นเบือ

ผู้สมัคร ส.ส.ลำปาง พรรคก้าวไกล วิจารณ์นโยบายอุ๊งอิ๊ง ค่าแรง 600 ไม่รอดแน่ ขนาดปี 54 วันละ 300 SME ตายเป็นเบือ เจอทัวร์ลงจนต้องลบทิ้ง กระทั่งออฟฟิเชียลก้าวไกลขอโทษ ด่วนวิจารณ์ขาดไตร่ตรองรอบคอบ 

วันนี้ (7 ธ.ค. 65) จากกรณีที่ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร ประธานคณะที่ปรึกษาด้านการมีส่วนร่วมและนวัตกรรม พรรคเพื่อไทย และหัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย แสดงวิสัยทัศน์ในการประชุมใหญ่วิสามัญประจำปี 2565 ของพรรคเพื่อไทย หนึ่งในนั้นคือค่าแรงขั้นต่ำ 600 บาทต่อวัน และเงินเดือนของผู้ที่จบปริญญาตรี 25,000 บาทขึ้นไป กำลังเป็นที่วิจารณ์ว่าทำได้จริงหรือไม่?

ปรากฏว่าเฟซบุ๊ก 'Tipa Paweenasatien - ทิพา ปวีณาเสถียร' ของ น.ส.ทิพา ปวีณาเสถียร ผู้สมัคร ส.ส.ลำปาง เขต 1 พรรคก้าวไกล นักธุรกิจโรงน้ำแข็งและน้ำดื่มในจังหวัดลำปาง ก็ได้โพสต์ข้อความระบุ ดังนี้...

"ค่าแรงในลำปาง ปี 54 จาก 156-กระโดดเป็น 300, 310, 315- SME ตายเป็นเบือ! ถ้าจาก 315-ขยับเป็น 600-ฉันก็คงไม่รอด!!" เรียกเสียงฮือฮาให้แก่ชาวเน็ต

ต่อมาทวิตเตอร์ @MFPThailand ของพรรคก้าวไกล ก็รีบโพสต์ข้อความขอโทษ พรรคเพื่อไทย โดยระบุว่า...

"สืบเนื่องจากกรณีการแสดงความเห็นของว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.พรรคก้าวไกล ไม่เห็นด้วยต่อนโยบายขึ้นค่าแรงของพรรคเพื่อไทย พรรคก้าวไกลเสียใจอย่างมากที่ว่าที่ผู้สมัครของพรรค ได้ด่วนวิพากษ์วิจารณ์นโยบายดังกล่าวโดยขาดการไตร่ตรองอย่างรอบคอบ พรรคขอน้อมรับคำวิจารณ์ทั้งหมด และขออภัยพรรคเพื่อไทย และพี่น้องประชาชนทั่วประเทศอย่างสูง พรรคก้าวไกลตระหนักดีว่าการขึ้นค่าแรงอย่างเป็นธรรม สอดคล้องกับค่าครองชีพ จะทำให้พี่น้องชาวไทยได้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และเป็นส่วนสำคัญในการลดความเหลื่อมล้ำในประเทศไทย ซึ่งก็ถือเป็นแนวนโยบายและคุณค่าหลักที่พรรคก้าวไกลยึดถือเช่นกัน

'ก้าวไกล' ชู แคมเปญ 'ขอคนละชื่อ ปลดล็อกท้องถิ่น' ยัน!! ไม่นำไปสู่การยกเลิก 'กำนัน-ผู้ใหญ่บ้าน'

(7 ธ.ค. 65) แถลงการณ์พรรคก้าวไกล ต่อกรณีที่มีการพยายามโจมตีว่าการเสนอร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม หมวด 14 การปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อนำไปสู่การยกเลิกกำนัน-ผู้ใหญ่บ้าน ยืนยันไม่เป็นความจริงที่ผ่านมา คณะก้าวหน้า และพรรคก้าวไกล ได้เป็นส่วนหนึ่งในการร่วมรณรงค์และนำเสนอร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม หมวด 14 การปกครองส่วนท้องถิ่น ร่วมกับประชาชนที่เข้าชื่อจำนวน 80,772 คน ภายใต้ชื่อแคมเปญ 'ขอคนละชื่อ ปลดล็อกท้องถิ่น'

หัวใจสำคัญของข้อเสนอคือการกระจายอำนาจให้กับประชาชน ให้ทุกจังหวัดทุกพื้นที่มีอำนาจและทรัพยากรเพียงพอในการกำหนดอนาคตของตนเองและยกระดับการพัฒนาของพื้นที่ ผ่านองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน

ในที่ประชุมรัฐสภาเมื่อวันที่ 30 พ.ย. ตัวแทนของประชาชนผู้เสนอร่าง ได้ชี้แจงหลักการและเหตุผลของร่างฯ โดยสมาชิกรัฐสภาจากหลายฝ่ายได้แสดงความเห็นในเชิงสนับสนันกับหลักการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น ในฐานะกลไกในการกระตุ้นเศรษฐกิจ ยกระดับบริการสาธารณะ และลดความเหลื่อมล้ำระหว่างพื้นที่ แม้อาจมีข้อถกเถียงที่แตกต่างกันในเชิงรายละเอียด

ทางเราได้พยายามชี้แจงและตอบทุกข้อสงสัยของสมาชิกรัฐสภาและประชาชนทั่วไป แต่เราเข้าใจเป็นอย่างดีว่าบางท่านอาจยังมีข้อกังวลเกี่ยวกับผลกระทบของร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ต่อสถานะและบทบาทของข้าราชการส่วนภูมิภาค และ เจ้าหน้าที่รัฐส่วนท้องที่ (เช่น กำนัน, ผู้ใหญ่บ้าน) หากร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภา โดยเฉพาะความกังวลที่ถูกสะท้อนในแถลงการณ์ของ ชมรมกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน แพทย์ประจำตำบล สารวัตรกำนัน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน แห่งประเทศไทย ฉบับที่ 2/2565 (6 ธันวาคม 2565) ทางเราจึงขอชี้แจงเพื่อความชัดเจนดังกล่าว...

1. ส่วนภูมิภาค และ ส่วนท้องที่ มีลักษณะที่แตกต่างกัน - ส่วนภูมิภาคประกอบไปด้วยจังหวัดและอำเภอ (อ้างอิง พ.ร.บ.บริหารราชการแผ่นดิน พุทธศักราช 2534 มาตรา 51) ซึ่งข้าราชการมาจากการแต่งตั้ง ในขณะที่ส่วนท้องถิ่นประกอบไปด้วยกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ที่มาจากการเลือก และถูกคาดหวังให้ประสานงานระหว่างราชการส่วนภูมิภาคกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อ้างอิง พ.ร.บ. ลักษณะปกครองท้องที่ พุทธศักราช 2457 และที่แก้ไขเพิ่มเติม) ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่ได้มีข้อเสนอใด ๆ เกี่ยวกับราชการส่วนท้องที่ ดังนั้น จึงไม่นำไปสู่การยกเลิกกำนัน-ผู้ใหญ่บ้านแต่อย่างใด

'ก้าวหน้า-ก้าวไกล' เสียดายอนาคตประเทศ หลังสภาคว่ำร่าง 'ปลดล็อกท้องถิ่น'

‘ก้าวหน้า-ก้าวไกล’ แถลงเสียดายอนาคตประเทศ หลังสภาคว่ำร่างปลดล็อกท้องถิ่น ‘ธนาธร’ ยัน ไม่ได้เสนอยกเลิกกำนัน-ผู้ใหญ่บ้าน ด้าน ‘พิธา’ รับไม้ต่อ ชูนโยบายกระจายอำนาจปราศรัยทั่วประเทศ ชี้ ส.ส. มีหน้าที่ผ่านกฎหมายก้าวหน้า ไม่ใช่ดึงงบลงบ้านใหญ่

(7 ธ.ค. 65) ที่รัฐสภา คณะก้าวหน้าและพรรคก้าวไกล ร่วมแถลงข่าวภายหลังรัฐสภามีมติไม่รับหลักการร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ‘ปลดล็อกท้องถิ่น’ จากการเข้าชื่อของประชาชน ด้วยคะแนนรับหลักการ 254 คน ไม่รับหลักการ 245 คน และ งดออกเสียง 129 คน นำโดย ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า, พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล, พริษฐ์ วัชรสินธุ ผู้จัดการการสื่อสารและการรณรงค์นโยบาย พรรคก้าวไกล และวีระศักดิ์ เครือเทพ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ คณะกรรมการการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หนึ่งในผู้ชี้แจงร่างปลดล็อกท้องถิ่น

ธนาธร กล่าวว่า เราอยู่ในความขัดแย้งทางการเมืองมานาน แต่ร่างฉบับนี้เป็นร่างที่ตั้งใจปฏิรูป เพื่อทำให้ระบบราชการมีประสิทธิภาพมากขึ้น ตอบสนองต่อความเดือดร้อนของประชาชน ทันต่อสถานการณ์โลก แบ่งเบาภาระราชการส่วนกลาง ให้ท้องถิ่นดูแลบริการสาธารณะทุกอย่างในพื้นที่และมีงบประมาณเพียงพอ ขณะที่ส่วนกลาง ดูแลมาตรฐานการบริการสาธารณะให้ทุกพื้นที่มีคุณภาพเหมือนกันและพาประเทศไทยไปเวทีโลก

ธนาธร กล่าวต่อว่า บางฝ่ายให้ความเห็นว่าแนวคิดของพวกเราสุดโต่งเกินไป แต่การปล่อยให้ปัญหาของประชาชนอยู่มานานโดยไม่ได้รับการแก้ไขอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน คนที่กักขังประเทศไว้แบบนี้ต่างหากที่สุดโต่ง นอกจากนี้ ร่างฉบับนี้ไม่เกี่ยวข้องกับการยกเลิกกำนันผู้ใหญ่บ้าน แต่ให้จัดทำแผนยกเลิกส่วนภูมิภาค และทำประชามติถามประชาชนว่าจะยกเลิกหรือไม่ภายใน 5 ปี มาถกเถียงกันว่าเมื่อกระจายอำนาจและงบประมาณไปให้ท้องถิ่นเต็มที่แล้ว ราชการส่วนภูมิภาคควรมีบทบาทอย่างไร และสุดท้ายคือเรื่องการทุจริต ตนคิดว่าทุกรายงานยืนยันตรงกัน ว่าส่วนกลางและส่วนภูมิภาค มีมูลค่าการทุจริตมากกว่าท้องถิ่น

“ขอยืนยันความตั้งใจของเรา ไม่ใช่การเปลี่ยนแปลงการปกครอง แต่เป็นการทำให้การบริการของภาครัฐมีประสิทธิภาพมากขึ้น หลายข้อกล่าวหาที่เราได้รับจึงไม่ได้ตั้งอยู่บนความจริง แต่ตั้งอยู่บนอคติที่ผิด เสียดายเวลาและโอกาสของประเทศ ทั้งที่หากเราเห็นไม่ตรงกัน รัฐสภาควรรับหลักการในวาระ 1 เพื่อไปถกเถียงแลกเปลี่ยนในวาระ 2 ต่อ เพราะเรายืนยันชัดเจนว่าพร้อมประนีประนอม แต่แม้วันนี้ทำไม่สำเร็จ คณะก้าวหน้าจะเดินหน้ารณรงค์เรื่องการกระจายอำนาจต่อไป และเชื่อว่าเพื่อนร่วมงานของเราในพรรคก้าวไกล จะสานต่อภารกิจนี้” ธนาธรกล่าว

ขณะที่ พิธา กล่าวว่า การกระจายอำนาจอย่างแท้จริงเป็นหนทางเดียวของประเทศไทย เป็นนโยบายที่จะปราศรัยทุกเขต เช่นนโยบายยกเลิกคำสั่ง คสช. ที่ล้วงลูกการทำงานของท้องถิ่น หรือการเพิ่มงบของท้องถิ่นทั่วประเทศ 200,000 ล้านบาท ภายใน 4 ปี โดยที่ผ่านมาเห็นว่าเป็นนโยบายที่ได้รับการตอบรับจากประชาชนเป็นอย่างดี จากการลงพื้นที่ ตนได้เห็นท้องถิ่นที่มีศักยภาพ แต่หากไม่มีการแก้ไขกฎหมายให้กระจายอำนาจมากขึ้น ประเทศไทยก็จะกระจุกตัวต่อไป

‘ก้าวไกล’ รับฟังปัญหาชุมชนแออัดในเชียงใหม่ พร้อมชงปลดล็อกท้องถิ่น กระจายที่ดินสู่ปชช.

‘พิธา’ พร้อมว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.ก้าวไกล สำรวจชุมชนแออัดเชียงใหม่ ชี้ปัญหาประชาชนไม่มีที่อยู่มั่นคง ที่ดินถูกทิ้งร้าง-กระจุกในมือเอกชนรายใหญ่ ชงแก้ปัญหาระยะยาว สร้างรัฐสวัสดิการ-ปลดล็อกท้องถิ่น-กระจายที่ดินให้ประชาชน

วันที่ 10 ธันวาคม 2565 ที่จังหวัดเชียงใหม่ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล พร้อมด้วยว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.เชียงใหม่ ของพรรคก้าวไกล ประกอบด้วย เขต 1 เพชรรัตน์ ใหม่ชมภู, เขต 3 ณัฐพล โตวิจักษณ์ชัยกุล และ เขต 4 พุธิตา ชัยอนันต์ ร่วมสำรวจและรับฟังปัญหาชาวชุมชนริมคลองแม่ข่า หลังวัดโลกโมฬี อ.เมือง จ.เชียงใหม่ ซึ่งเป็นหนึ่งในชุมชนแออัดที่อยู่ในพื้นที่ของเทศบาลนครเชียงใหม่ และกำลังได้รับผลกระทบจากแผนพัฒนาแม่บทคลองแม่ข่า รวมถึงการไล่รื้อชุมชนออกจากพื้นที่ด้วย

.จากการรับฟังปัญหา พบว่าชุมชนแออัดในเขตเทศบาลนครเชียงใหม่ มีจำนวนกว่า 21 ชุมชน รวม 2,169 หลังคาเรือน คิดเป็น 3% ของประชากรในเขตเทศบาล โดยที่ดินที่อาศัยอยู่ทั้งหมดเป็นที่ดินของรัฐ ส่วนใหญ่เป็นที่ดินราชพัสดุและเทศบาลนครเชียงใหม่ และหน่วยงานอื่น ๆ รวมกันกว่า 9 หน่วยงาน ชาวชุมชนมีทั้งที่อยู่อาศัยโดยมีสัญญาเช่าและไม่มีสัญญาเช่า ซึ่งตามแผนพัฒนาแม่บทคลองแม่ข่าไม่ได้มีแผนในการจัดการที่อยู่อาศัยหรือการชดเชยที่ชัดเจนหากการไล่รื้อเกิดขึ้น

.เพชรรัตน์ กล่าวว่า ที่ผ่านมาตัวแทนชุมชนมีข้อเสนอในการจัดการ โดยขอให้ทางจังหวัดหยุดการไล่รื้อหรือย้ายประชาชนออกจากชุมชนจนกว่าจะมีแผนแม่บทการจัดการที่อยู่อาศัยที่ชัดเจน โดยชุมชนพร้อมจะปรับปรุงในที่ดินเดิมผ่านคณะทํางานที่อยู่อาศัยระดับชุมชน ในการร่วมกำหนดระยะร่นของอาคารและการปรับปรุงที่เหมาะสม ส่วนประชาชนที่ไม่สามารถอยู่ที่เดิมได้ จะขอเช่าอยู่ในพื้นที่ของรัฐใกล้เคียงที่เดิมและขอมีส่วนร่วมในการกําหนดเกณฑ์การพิจารณาสิทธิในการอยู่อาศัยร่วมกับคณะทํางาน

‘พิธา’ ชี้!! กอ.รมน. เบิกงบซ้ำซ้อนหน่วยงานอื่น กร้าว!! หากเป็น รบ. จะโยกงบหนุน ศก. - ศิลปะ

‘พิธา’ ประกาศ ถ้าก้าวไกลเป็นรัฐบาล พร้อมตัดงบ กอ.รมน. โยกไปทำเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ชี้ซอฟต์พาวเวอร์ไทยจะรุ่ง ต้องมีรัฐสวัสดิการให้คนทำงานกล้าลอง-บ้านเมืองมีเสรีภาพ-เป็นประชาธิปไตย

เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2565 ที่จังหวัดเชียงใหม่ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ร่วมเวทีและนิทรรศการ ‘เทศกาลงานออกแบบเชียงใหม่ 2022 - Chiang Mai Design Week 2022’ โดยได้ร่วมเสวนาพูดคุยกับศิลปินอิสระ พร้อมชูนโยบายพรรคก้าวไกลในการส่งเสริมวงการศิลปะสร้างสรรค์และซอฟต์พาวเวอร์ในประเทศไทย

พิธากล่าวในการเสวนาช่วงหนึ่งว่า แม้ที่ผ่านมาหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องจะพยายามยกคำว่า ‘ซอฟต์พาวเวอร์’ และคำว่าเศรษฐกิจสร้างสรรค์มาใช้มากมาย แต่ในความเป็นจริง วงการศิลปวัฒนธรรมในประเทศไทยกลับเป็นวงการหนึ่งที่ได้รับการส่งเสริมน้อยที่สุด เห็นได้จากงบประมาณที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ที่อยู่กับหน่วยงานอย่างสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) หรือ สศส. กลับได้รับงบประมาณต่อปีเพียง 300 ล้านบาทเท่านั้น หรือกระทรวงวัฒนธรรมเอง งบประมาณกว่า 4 พันล้านบาทจากกว่า 6.7 พันล้านบาท ได้ถูกใช้ไปกับการส่งเสริมวัฒนธรรมแบบแช่แข็ง ตายตัว และรับใช้การเมืองของฝ่ายอนุรักษ์นิยม เช่น เรื่องค่านิยม 12 ประการ ขณะที่งบประมาณเกี่ยวกับซอฟต์พาวเวอร์มีเพียง 60 ล้านบาท และงบเกี่ยวกับการส่งเสริมวัฒนธรรมร่วมสมัยมีเพียง 180 ล้านบาท

พิธากล่าวว่า ที่ผ่านมาวัฒนธรรมที่ได้รับการส่งเสริมจากรัฐ มักเป็นวัฒนธรรมเพื่อการควบคุมประชาชน มีมุมมองต่อวัฒนธรรมไทยว่าเป็นสิ่งตายตัว เปลี่ยนแปลงไม่ได้ และยังใช้โครงสร้างทางสังคมการเมืองมาปิดกั้นความคิดสร้างสรรค์ของประชาชน ไม่ว่าจะเป็นกฎหมายอย่าง พ.ร.บ.ภาพยนตร์, พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์, พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ รวมถึงกฎหมายที่ถูกใช้เล่นงานคนเห็นต่างทางการเมือง เช่น ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ในทางกลับกัน หน่วยงานที่อยู่ภายใต้สำนักนายกรัฐมนตรีอย่างกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) กลับได้รับงบประมาณปีหนึ่งๆ ถึง 8 พันล้านบาท หรือศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล (ศรชล.) ที่มีภารกิจและงบประมาณส่วนใหญ่ซ้ำซ้อนกับหน่วยงานอื่น ๆ ได้รับงบประมาณถึง 1,400 ล้านบาท สะท้อนการไม่ให้ความสำคัญกับซอฟต์พาวเวอร์และเศรษฐกิจสร้างสรรค์อย่างจริงจังของผู้มีอำนาจในปัจจุบัน เมื่อเทียบกับต่างประเทศ เช่น เกาหลีใต้ที่ทุ่มงบประมาณมากกว่าไทยอย่างมหาศาล หน่วยงาน KOCCA (Korean Creative Content Agency) ได้รับงบประมาณปีละ 1.5 หมื่นล้านบาท กระทรวงวัฒนธรรมของเกาหลีใต้ได้งบประมาณปีละ 2 แสนล้านบาท ครั้งหนึ่งเกาหลีใต้เคยมาดูงานที่บริษัทชั้นนำของวงการเพลงไทย แต่วันนี้วงการเพลงป็อปของเกาหลีใต้ไปไกลกว่าไทยมากแล้ว

พิธายังระบุต่อไปว่า การผลักดันซอฟต์พาวเวอร์และเศรษฐกิจสร้างสรรค์ในประเทศไทย ต้องเริ่มต้นที่วิธีคิดของผู้มีอำนาจ ที่ต้องไม่ใช่แค่การอนุรักษ์ของเดิม แต่เป็นการปรับตัวตามยุคสมัย สร้างรัฐสวัสดิการเพื่อให้คนทำงานสร้างสรรค์กล้าลองผิดลองถูก และทำให้บ้านเมืองเป็นประชาธิปไตย ที่ทุกคนมีสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top