Monday, 29 April 2024
กระทรวงพาณิชย์

‘สนค.’ เล็งเจาะตลาดอ่าวอาหรับ หวังเพิ่มโอกาสให้การค้าไทย หลัง ‘รถ-ยาง-เครื่องประดับแท้-ไก่-ข้าว’ นำกลุ่มส่งออกโตต่อเนื่อง

เมื่อวันที่ 18 ต.ค. 66 นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า สนค. ได้วิเคราะห์ตลาดกลุ่มประเทศความร่วมมืออ่าวอาหรับ 6 ประเทศ (Gulf Cooperation Council : GCC) ได้แก่ ซาอุดีอาระเบีย, คูเวต, โอมาน, สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์, กาตาร์ และบาห์เรน เพื่อหาโอกาสสำหรับการเปิดตลาดใหม่เพิ่มเติมตามนโยบายของกระทรวงพาณิชย์ โดยเน้นตลาดใหม่ ที่มีกำลังซื้อสูง แต่ยังมีมูลค่าการค้ากับไทยไม่มากนัก จึงเป็นโอกาสสำหรับผู้ส่งออกไทยที่จะหาโอกาสขยายการค้าในตลาดใหม่

สนค. พบว่า กลุ่ม GCC ถือเป็นกลุ่มที่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจของภูมิภาคตะวันออกกลาง มูลค่าจีดีพีของกลุ่มประเทศ GCC คิดเป็นสัดส่วน 46.7% ของจีดีพี รวมของภูมิภาคตะวันออกกลาง รวมถึงทุกประเทศมีรายได้ต่อหัวเฉลี่ยสูงกว่าไทย โดยในปี 2565 กาตาร์ เป็นประเทศที่มีรายได้ต่อหัวสูงที่สุดในกลุ่มประเทศ GCC อยู่ที่ 88,046 เหรียญสหรัฐฯ สูงกว่าไทยถึง 12.7 เท่า และมีจำนวนประชากรรวม 58.9 ล้านคน ใกล้เคียงจำนวนประชากรของไทย โดยซาอุดีอาระเบียเป็นประเทศมีประชากรมากที่สุดในกลุ่มประเทศ GCC คิดเป็น 61% ของประชากรทั้งหมดในกลุ่มประเทศ GCC สำหรับการค้าระหว่างประเทศ แหล่งนำเข้าสำคัญของกลุ่มประเทศ GCC 3 ลำดับแรก คือ จีน, อินเดีย และสหรัฐฯ โดยไทยเป็นแหล่งนำเข้าลำดับที่ 19 คิดเป็น 1.4% ของมูลค่าการนำเข้าทั้งหมด

แม้ว่าปัจจุบันไทยส่งออกไปยังตลาดกลุ่มประเทศความร่วมมืออ่าวอาหรับได้ไม่มาก แต่สินค้าไทยยังมีโอกาสเข้าถึงตลาดกลุ่มประเทศความร่วมมืออ่าวอาหรับได้อีก จากข้อมูลการส่งออกของไทย 8 เดือนแรกของปี 2566 ไปยังกลุ่มประเทศ GCC มีมูลค่ารวม 4,588 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัว 4.2% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า ซึ่งคิดเป็น 2.4% ของมูลค่าส่งออกทั้งหมดจากไทยไปโลก โดยตลาดส่งออกหลัก ได้แก่ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และซาอุดีอาระเบีย ซึ่งมีสัดส่วนการส่งออกของไทยไปยังกลุ่มประเทศ GCC 44.6% และ 37.3% ตามลำดับ ซึ่งตลาดส่งออกรองลงมา คือ คูเวต, โอมาน, กาตาร์ และบาห์เรน ตามลำดับ

โดยมีสินค้าส่งออกหลัก เช่น รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ไฟเบอร์บอร์ด เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ เป็นต้น สำหรับในระยะต่อไป สนค. มองว่าไทยมีสินค้าศักยภาพหลายรายการที่มีโอกาสเจาะตลาดในกลุ่มประเทศความร่วมมืออ่าวอาหรับได้เพิ่มเติม โดยสินค้าที่มีศักยภาพในการส่งออกเพิ่มเติม แบ่งเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ สินค้าดาวเด่น, สินค้าศักยภาพ และสินค้าแนะส่งเสริม โดยมีรายละเอียด ดังนี้

สินค้าดาวเด่น เป็นสินค้าส่งออกหลักของไทยในกลุ่มประเทศ GCC ที่มีแนวโน้มเติบโตดี สะท้อนว่าตลาดยังมีความต้องการ โดยใน 8 เดือนแรกของปี 2566 ประเทศไทยส่งออก ‘รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ’ สัดส่วน 37% ของสินค้าส่งออกไทยไปกลุ่มประเทศ GCC ทั้งหมด ขยายตัวสูงถึง 17.1% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า และส่งออก ‘ยางยานพาหนะ’ สัดส่วน 4.1% ขยายตัว 19.8% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า โดยในปี 2565 ไทยครองส่วนแบ่งตลาด รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ในตลาดกลุ่มประเทศ GCC อยู่ที่ 5.6% และ ยางยานพาหนะที่ 7.4% ซึ่ง สนค. มองว่าสินค้าดังกล่าวยังมีโอกาสขยายการส่งออกและขยายส่วนแบ่งตลาดได้อีก

สินค้าศักยภาพ เป็นสินค้าที่ไทยมีศักยภาพ แต่มีส่วนแบ่งของไทยในตลาดกลุ่มประเทศ GCC ต่ำกว่าส่วนแบ่งของไทยในตลาดโลก ได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ซึ่งปี 2565 ไทยครองส่วนแบ่งในตลาดกลุ่มประเทศ GCC อยู่ที่ 1.1% เปรียบเทียบกับส่วนแบ่งของไทยในตลาดโลกที่ 4.3% ขณะที่การส่งออกใน ช่วง 8 เดือนแรกปี 2566 ขยายตัวที่ 1.4% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า และ เครื่องประดับแท้ ซึ่งไทยครองส่วนแบ่งในตลาดกลุ่มประเทศ GCC อยู่ที่ 1.9% เปรียบเทียบกับส่วนแบ่งของไทยในตลาดโลกที่ 5% ขณะที่การส่งออกในช่วง 8 เดือนแรกปี 2566 เพิ่มขึ้น 14.5% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า

สินค้าแนะส่งเสริม เป็นสินค้าที่ตลาดมีความต้องการ แต่กลุ่มประเทศ GCC ยังนำเข้าจากไทย ค่อนข้างน้อย หรือมูลค่าการนำเข้าจากไทยมีไม่ต่อเนื่อง จึงเป็นสินค้าไทยที่แนะนำให้เข้าไปเปิดตลาดใหม่ ได้แก่ ‘ไก่’ และ ‘ข้าว’ อย่างไรก็ดี การเข้าสู่ตลาดใหม่ในสินค้าดังกล่าวเป็นเรื่องที่ท้าทายทั้งจากคู่แข่งทางการค้าเดิม ที่มีส่วนแบ่งตลาดค่อนข้างสูง และมาตรฐานสินค้าและกฎระเบียบในกลุ่มประเทศที่ค่อนข้างสูงกว่ากลุ่มประเทศอื่น

“ตลาดกลุ่มประเทศ GCC เป็นตลาดที่น่าจับตามอง แต่ไทยยังมีการค้ากับประเทศเหล่านี้ค่อนข้างน้อย มีโอกาสเข้าสู่ตลาดนี้ได้อีกมาก นอกจากนี้ ไทยมีสินค้าที่มีศักยภาพหลายรายการที่สามารถเข้าไปเจาะตลาดกลุ่มนี้เพิ่มเติม จากการวิเคราะห์ด้วย ‘Data Analytics Dashboard’ แม้ปัจจุบัน ไทยจะส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมไปยังกลุ่มประเทศ GCC เป็นหลัก หรือมากกว่า 88% ของมูลค่าการส่งออกจากไทย แต่จะเห็นได้ว่าไทยมีศักยภาพเจาะตลาดสินค้าเกษตรและอาหารด้วย โดยเฉพาะสินค้าไก่และข้าว

ซึ่งปัจจุบันกระทรวงพาณิชย์ อยู่ระหว่างการเจรจาจัดทำความตกลงการค้าเสรี (FTA) ไทยกับสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ คาดว่าจะสรุปผลการเจรจาได้ในปี 2566 นอกจากนี้ ความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างไทยกับซาอุดีอาระเบีย ดีขึ้นอย่างมากหลังการฟื้นฟูความสัมพันธ์ระหว่างกัน อีกครั้ง กระทรวงพาณิชย์มีแผนเจรจา FTA ระหว่างไทยกับกลุ่มประเทศ GCC ในอนาคตอีกด้วย” นายพูนพงษ์ กล่าว

‘พาณิชย์ฯ’ เผยตัวเลขส่งออกไทย ก.ย.66 พลิกบวกต่อเนื่องเป็นเดือนที่สอง

(24 ต.ค.66) นายกีรติ รัชโน ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยภาวะการค้าระหว่างประเทศของไทย เดือนกันยายน 2566 ว่า การส่งออก มีมูลค่า 25,476 ล้านดอลลาร์ ขยายตัวร้อยละ 2.1 ซึ่งเป็นการขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 จากตลาดคาดว่า หดตัวร้อยละ 1.75-2.00

ส่วนการนำเข้า มีมูลค่า 23,383 ล้านดอลลาร์ ลดลงร้อยละ 8.3 ส่งผลให้เดือนกันยายน ไทยเกินดุลการค้า 2,093 ล้านดอลลาร์

ขณะที่ในช่วง 9 เดือนแรกปีนี้ (ม.ค.-ก.ย.66) การส่งออก มีมูลค่ารวม 213,069 ล้านดอลลาร์ ลดลงร้อยละ 3.8 การนำเข้า มีมูลค่ารวม 218,902 ล้านดอลลาร์ ส่งผลให้ 9 เดือนแรกปีนี้ ไทยขาดดุลการค้า 5,833 ล้านดอลลาร์

ปลัดกระทรวงพาณิชย์ ระบุว่า การส่งออกของไทย ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 โดยได้รับแรงหนุนจากการส่งออกสินค้าเกษตร และอุตสาหกรรมเกษตร โดยเฉพาะการส่งออกผลไม้ไปจีน อาทิ ทุเรียน และมังคุด รวมทั้งการส่งออกข้าวที่ขยายตัวได้ดีในตลาดแอฟริกาใต้และอินโดนีเซีย ส่วนสินค้าอุตสาหกรรมดาวรุ่งที่ขยายตัวต่อเนื่อง ยังคงเป็นสินค้าที่เติบโตตามเมกะเทรนด์ เช่น โซลาร์เซลล์ และโทรศัพท์มือถือ

‘ภูมิธรรม-นลินี’ เยือนนครเซี่ยงไฮ้ เดินหน้าหนุนเจาะการค้าจีนระดับท้องถิ่น จ่อคว้าโอกาสประชุม JC ‘ไทย-จีน’ ขยายตลาดใหม่-ส่งออกสินค้าไทยเพิ่ม

(8 พ.ย. 66) นางนลินี ทวีสิน ผู้แทนการค้าไทย กล่าวถึงการเดินทางไปเยือนนครเซี่ยงไฮ้ สาธารณรัฐประชาชนจีน ร่วมกับนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และผู้บริหารกระทรวงพาณิชย์ ระหว่างวันที่ 4 - 6 พ.ย. 66 ว่า การได้พบกับนายหวัง เหวินเต้า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ของจีน เป็นโอกาสอันดีที่ได้กระชับความสัมพันธ์ทางด้านการค้าของทั้งสองประเทศ โดยในปีนี้จีนได้จัดงาน ‘China International Import Expo’ (CIIE) ครั้งที่ 6 ขึ้น ตามนโยบายการเปิดกว้างทางเศรษฐกิจของจีนที่ให้ประเทศต่าง ๆ มีส่วนร่วม ซึ่งประเทศไทยได้เข้าร่วมงานใน 2 ส่วน คือ การจัดนิทรรศการ ‘Country Exhibition Thailand Pavilion’ ประชาสัมพันธ์ภาพลักษณ์ประเทศไทย และการจัดแสดงสินค้า ‘Enterprise and Business Exhibition’ เน้นนำเสนอผลิตภัณฑ์อาหารและการเกษตรของไทย ซึ่งมีผู้เข้าชมเป็นจำนวนมาก

ผู้แทนการค้าไทย กล่าวว่า ปัจจุบันสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลายลง และทั้งสองฝ่ายจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่เสร็จสิ้นแล้วจึงเป็นโอกาสอันดี ที่จะมีการประชุมคณะกรรมการร่วมว่าด้วยการค้าการลงทุนและความร่วมมือทางเศรษฐกิจ (JC) ไทย - จีน ครั้งที่ 7 ในระยะอันใกล้นี้ เพื่อสานต่อเป้าหมายทางการค้าและจัดทำแผนปฏิบัติการร่วมฉบับใหม่ การเปิดตลาดสินค้าเกษตร การอำนวยความสะดวกในการขนส่งสินค้าระหว่างไทยและจีน เพื่อส่งเสริมการขยายมูลค่าการค้ากันระหว่างกัน

“ที่ผ่านมาไทยและจีนมีความร่วมมือทางการค้าลงไปถึงในระดับมณฑล/ท้องถิ่น โดยกระทรวงพาณิชย์ของไทยได้จัดทำบันทึกความเข้าใจกับเมืองหรือมณฑลของจีนแล้ว 4 ฉบับ คือ ไห่หนาน กานซู่ เซินเจิ้น และยูนนาน โดยในอนาคตจะทำบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือทางการค้ากับเมืองหรือมณฑลอื่นเพิ่มเติม เช่น เซี่ยเหมิน ซานซี เฮร์หลงเจียง และเหอเป่ย

ทั้งนี้ จีนเป็นคู่ค้าอันดับ 1 ที่มีมูลค่าการค้าระหว่างกันกับไทยสูงที่สุดติดต่อกันถึง 11 ปี ตั้งแต่ปี 2556 โดยปีที่แล้วมีมูลค่าการค้ารวม 105,196.80 ล้านเหรียญสหรัฐฯ สินค้าส่งออกหลักของไทยไปจีน ได้แก่ ผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็ง และแห้ง ผลิตภัณฑ์ยาง เม็ดพลาสติก มันสำปะหลัง เครื่องคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ส่วนประกอบ เป็นต้น” นางนลินี กล่าว

‘ครม.’ เคาะ!! หนุนเงินช่วยชาวนา ไร่ละ 1 พันบาท ไม่เกิน 20 ไร่ พร้อมไฟเขียวขึ้นราคา ‘น้ำตาล’ 2 บาท/กก. หลังต้นทุนชาวไร่อ้อยพุ่ง

(14 พ.ย. 66) ที่ทำเนียบรัฐบาล นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในฐานะปฏิบัติหน้าที่ประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า สำหรับส่วนที่ตนดูและรับผิดชอบก็คือเรื่องข้าวและน้ำตาล ในเรื่องราคาข้าวนั้น เป็นเรื่องที่คณะกรรมการนโยบายข้าว ได้มีการประชุมกันและได้ให้ส่วนที่เกี่ยวข้องทำการหารือกัน ซึ่งได้แก่ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงการคลัง กระทรวงพาณิชย์ และ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ได้หารือและนำสรุปเข้า ครม.วันนี้ ได้ข้อสรุปว่า เงินค่าช่วยบริหารจัดการ ที่จะให้เกษตรกรไร่ละ 1,000 บาท ทั้งหมดจำนวนไม่เกิน 20 ไร่ เกษตรกรแต่ละครัวเรือนก็จะได้ครั้งละไม่เกิน 20,000 บาท ตรงนี้ก็ได้ประชุมเรียบร้อยแล้ว ให้ดำเนินการตั้งแต่มติ ครม.ออก ซึ่งจะรอให้ ธ.ก.ส.เคลียร์รายละเอียดประชุมเสนออีกครั้งหนึ่ง เข้าใจว่าอย่างเร็วก็จะเป็นวันศุกร์ที่ 17 พฤศจิกายน หรือวันจันทร์ที่ 20 พฤศจิกายนนี้ แต่อยู่ภายในกรอบหนึ่งเดือน ซึ่งเกษตรกรจะได้รับเงินตรงนี้ต่อเนื่องไป

นายภูมิธรรมกล่าวว่า ส่วนเรื่องน้ำตาล ตนก็ได้รับฟังจากที่ประชุม ซึ่งตนได้มีการประชุมกับคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (กอน.) และได้พูดคุยกับเกษตรกร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงพาณิชย์ อธิบดีกรมการค้าภายใน อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ และอธิบดีกรมเจรจาการค้าต่างประเทศ ก็ได้ประชุมหารือร่วมกันไปถึง 2 ครั้ง และได้ข้อสรุปว่าเราจะดำเนินการ ในการที่จะพิจารณาอย่างเหมาะสม ตามความเป็นจริง ประเด็นแรก คือ ดูต้นทุนของเกษตรกรชาวไร่อ้อย แล้วเห็นว่าก็สมควรให้เกษตรกรชาวไร่อ้อยขึ้นราคา 2 บาท ตามที่ต้นทุนมีอยู่

นายภูมิธรรมกล่าวว่า ส่วนกรณีของเรื่องอีก 2 บาท ที่ขอขึ้นเพื่อจะใช้ในกองทุนเพื่อดูแลสิ่งแวดล้อม อันนี้เรายังไม่ให้ขึ้น ซึ่งกระทรวงอุตสาหกรรม และกรรมการที่เกี่ยวข้องไปหารือกันว่า เรื่องนี้ไม่ควรจะให้ผู้บริโภครับผิดชอบคนเดียว ให้ไปดูว่าเรื่องนี้เกี่ยวพันกับใครอย่างไร มีช่องทางในการดำเนินการจัดการอย่างไร ซึ่งตรงนี้เป็นประเด็นที่ยังไม่อนุมัติ และขอให้ดำเนินการตามนี้

เมื่อถามถึง ปัญหาเรื่องน้ำตาลขาด นายภูมิธรรมกล่าวว่า ก็ได้คุยกับที่ประชุมที่เกี่ยวข้องทุกส่วนแล้ว ยืนยันว่า น้ำตาลจะไม่ขาด

เมื่อถามว่า การประชุมมีเรื่องอื่นด้วยหรือไม่ นายภูมิธรรมกล่าวว่า คิดว่าเอาเรื่องเฉพาะหน้า ที่เกษตรกรกำลังเดือดร้อน และก็จะได้คุมราคาน้ำตาลขึ้นสองบาท แล้วก็สามารถดำเนินการได้ ให้ส่วนที่เกี่ยวข้องไปดำเนินการจัดการแก้ไขปัญหาเรื่องนี้ได้ก่อน ส่วนเรื่องอื่นๆ สำหรับอนาคตที่จะต้องมีการปรับอะไรต่างๆ ก็ค่อยว่ากัน เพื่อแก้ปัญหาเรื่องฉุกเฉิน ที่มีปัญหาอยู่ และเพื่อช่วยบรรเทาปัญหาที่ประชาชนกำลังรับผิดชอบ

เมื่อถามว่า จะมีผลตั้งแต่วันนี้หรือไม่ นายภูมิธรรมกล่าวว่า ครม.ได้กำหนดเรียบร้อยแล้ว ส่วนที่เกี่ยวข้องก็ไปดำเนินการต่อ จะมีผลตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป

‘กระทรวงพาณิชย์’ ประกาศหมัดเด็ด ‘5 ด้าน’ ดันยอดส่งออกไทยปี 67 ทะลุ 10 ล้านล้าน

(16 พ.ย.66) ที่กระทรวงพาณิชย์ นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ แถลงผลการประชุมร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อทำแผนการผลักดันการส่งออกของไทยในปี 2567 โดยภายหลังการหารือ ที่ประชุมได้รับทราบการตั้งเป้าหมายการส่งออกของไทยปีหน้า

เบื้องต้น ประเมินว่า จะขยายตัว 1.99% หรือประมาณ 2% โดยมีมูลค่าการส่งออกอยู่ที่ 287,754 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 10 ล้านล้านบาท

นายภูมิธรรม ระบุว่า ในปี 2567 กระทรวงพาณิชย์จะรักษารับการเติบโตในปีที่ผ่านมาให้เป็นบวกต่อไป หลังจากเห็นสัญญาณการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยมีปัจจัยหนุนน่าจะมาจากกรณีเหตุการณ์ความไม่สงบในอิสราเอล น่าจะจบลงในระยะเวลาอันใกล้ เพื่อให้การค้าระหว่างประเทศกลับมาอยู่ในสถานการณ์ปกติมีความเสี่ยงเกิดขึ้น

พร้อมกันนี้ยังได้ประกาศแผนการเร่งรัดการส่งออกของไทย โดยได้กำหนดแนวทางการดำเนินงาน 5 ด้าน ดังนี้ 

1.เปิดประตูโอกาสทางการค้าสู่ตลาดใหม่ ควบคู่การรักษาตลาดเดิม 

โดยเดินสายสร้างสัมพันธ์ทั่วโลก เร่งผลักดันการเจรจา FTA ขยายการค้าไปยังเมืองรอง แผน 100 วัน ได้สร้างมูลค่าการสั่งซื้อรวมกันแล้วกว่า 490 ล้านบาท จากการผลักดันสินค้าไทยไปจัดแสดง ณ งาน CAEXPO ในหนานหนิงและงาน CIIE ในเซี่ยงไฮ้ ประเทศจีน และประเทศไทยได้ถูกเพิ่มในระบบ E-visa ของประเทศซาอุดิอาราเบียเป็นที่เรียบร้อยแล้ว 

โดยแผน 1 ปี จะมีกิจกรรม Goodwill จำนวน 24 กิจกรรม กิจกรรมเปิดตลาดเชิงรุก มี Trade Mission 17 กิจกรรม ในประเทศมัลดีฟส์ อาเซียน ยุโรป UK รัสเซีย งานแสดงสินค้าไทย 12 กิจกรรม ในจีน อินเดีย ศรีลังกา ปากีสถาน บังกลาเทศ ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย เวียดนาม กัมพูชา รวมถึงการขยายการค้าไปยังเมืองรอง 6 กิจกรรม 

พร้อมทั้งจัดทำ MOU กับเมืองรองเพิ่ม เช่น แอฟริกา (โจฮันเนสเบิร์ก โมซัมบิก) จีน (กว่างซีจ้วง เจ้อเจียง ซานซี เฮยหลงเจียง ฝูเจี้ยน) ภายใต้ยุทธศาสตร์ ‘การค้าเชิงรุกรายมณฑลจีน’ และต่อยอด MOU ที่ลงนามแล้ว รวมไปถึงการขยายช่องทางการค้าใหม่ๆ เช่น การเจาะธุรกิจ Horeca ในยุโรปและเร่งสรุปผลการเจรจา FTA กับคู่เจรจาต่าง ๆ 

2.ทูตพาณิชย์ ทำงานเชิงรุก

โดยร่วมทำงานกับพาณิชย์จังหวัดให้ใกล้ชิดยิ่งขึ้น เชื่อมโยงสินค้าท้องถิ่นสู่ตลาดโลก โดยได้มอบนโยบายต่อทูตพาณิชย์ในการเร่งหาช่องทางการค้าใหม่ๆ เช่น การค้นหา Influencer ทั้งในไทยและต่างประเทศที่มีผู้ติดตามมากเพื่อเพิ่มการรับรู้สินค้าไทย และใช้ร้านอาหาร Thai Select เป็นเสมือนที่จัดแสดงสินค้าภูมิปัญญาไทยและช่องทางส่งออกวัตถุดิบอาหารและเครื่องปรุงรสของไทย 

รวมทั้งบูรณาการทำงานเชิงรุกร่วมกันระหว่างทูตพาณิชย์ พาณิชย์จังหวัด และทัพหน้าของไทยในต่างแดน อาทิ กระทรวงการต่างประเทศ BOI เพื่อช่วยขับเคลื่อนการส่งออกของไทย โดยในวันที่ 23 พฤศจิกายน 2566 นี้ นายกรัฐมนตรีจะมอบนโยบายการทำงานให้กับทูตทั่วโลก โดยกระทรวงพาณิชย์จะนำเสนอการขับเคลื่อนนโยบายการทูตเศรษฐกิจเชิงรุกต่อนายกรัฐมนตรี สำหรับแผน 1 ปีจะดำเนินการหาช่องทางการจัดจำหน่ายใหม่ๆ ทั้งออนไลน์ และออฟไลน์ให้มากขึ้น เพื่อขยายส่วนแบ่งตลาดสินค้าไทย ในประเทศประจำการเขตอาณาและเพิ่มบทบาททูตพาณิชย์ ให้เป็นคู่คิดของผู้ประกอบการ SMEs ‘พาณิชย์คู่คิด SMEs’ เพื่อให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs โดยเฉพาะรายเล็กให้สามารถส่งออกได้เพิ่มมากขึ้น

3. ส่งเสริม SOFT POWER เป้าหมายรุกสู่เวทีโลก 

ด้วยการเพิ่มมูลค่าสินค้า/บริการไทยด้วยแบรนด์ นวัตกรรม และการออกแบบ และส่งเสริมสู่ตลาดโลก โดยมีเป้าหมายในกลุ่มสินค้าสำคัญ ได้แก่ อาหาร ดิจิทัล คอนเทนต์ มวลไทย ท่องเที่ยว หนังสือ และเกม ล่าสุดจากการนำผู้ประกอบการเข้าร่วมงานแสดงสินค้าอาหาร Anuga ที่เยอรมนี สร้างมูลค่า 5,318.05 ล้านบาท และกลุ่มดิจิทัลคอนเทนต์ สร้างรายได้กว่า 2,620.13 ล้านบาท 

ทั้งนี้ในระหว่างเดือนพฤศจิกายน - ธันวาคม 2566 นี้ จะจัดงาน Muay Thai Global Power ณ ไอคอนสยาม การร่วมงาน Asia TV Forum and Market ที่สิงคโปร์ รวมทั้งในวันนี้ได้มีพิธีลงนามความร่วมมือ 3 ฝ่าย ระหว่างกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) และบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เพื่อการส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์พาวเวอร์ เชื่อมโยงการค้าและการท่องเที่ยวไว้ด้วยกัน 

สำหรับแผน 1 ปี จะมีการเปิดตัว SOFT POWER Global Brand จำนวน 9 กิจกรรม ทั้งในส่วนของการ re-branding Thai select, เครื่องหมาย Thailand Trust mark, Demark เป็นต้น การส่งเสริมดิจิทัลคอนเทนต์ 19 กิจกรรม กลุ่มสินค้าอาหาร 76 กิจกรรม หนังสือ 2 กิจกรรม และสนับสนุนนักออกแบบไทยผ่านโครงการต่างๆ 

4.ปรับปรุงการทำงานของภาครัฐให้เป็นรัฐบาลดิจิทัล 

โดยปรับปรุงกฎหมายที่เป็นอุปสรรค ปรับบทบาทเป็นรัฐสนับสนุน โดยแผน quick win 100 วันที่ได้ดำเนินการไปแล้ว อาทิ การปรับปรุง พ.ร.บ. สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือฯ พ.ศ.2537 การปรับปรุงเว็บไซต์กรมเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการ การหารือกับภาคเอกชนร่วม ยกร่างแผนเร่งรัดการส่งออกและการค้าชายแดน quick win 100 วัน 

ส่วนแผน 1 ปี จะเดินหน้าทำงานร่วมกันทั้งภาครัฐและเอกชน ในการแก้ไขปัญหา/อุปสรรคทางการค้า โดยต่อยอดคณะทำงานร่วมกระทรวงพาณิชย์

5. ส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจใหม่ 

เริ่มตั้งแต่การพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล การค้าพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ การส่งเสริมอุตสาหกรรมสีเขียว โดยแผน quick win 100 วันที่จะดำเนินการ เช่น การจัดทำแผนปฏิบัติการด้านการพัฒนาพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ ระยะที่ 2 (ปี 2566 - 2570) การจัดเจรจาการค้าธุรกิจออนไลน์ และการส่งเสริมการขายสินค้า TOP Thai บนแพลตฟอร์มออนไลน์พันธมิตร อาทิ Shopee ในมาเลเซีย และ Rakuten ในญี่ปุ่น 

การพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการ อาทิ การสัมมนาเสริมสร้างทรัพย์สินทางปัญญาผู้ส่งออกไทย และการเสวนา export 5 F รวมทั้งการยกระดับศักยภาพการแข่งขันของประเทศ อาทิ นำผู้ประกอบการร่วมงานแสดงสินค้าในต่างประเทศ Automechanika ที่ยูเออี งาน APPEX ที่สหรัฐฯ และงาน Medica ที่เยอรมนี 

ส่วนกิจกรรมที่ได้ดำเนินการแล้ว ทั้ง การจัด Virtual Showroom และ Online Business Matching  ในสินค้าเกษตรแปรรูปและอาหารกลุ่ม BCG สร้างมูลค่า 5.30 ล้านบาท และงานแสดงสินค้า AUTOMECHANIKA DUBAI 2023 มีผู้ประกอบการไทยเข้าร่วมกว่า 30 ราย มูลค่าการสั่งซื้อ 2,991.27 ล้านบาท

ขณะเดียวกันในปีนี้ได้เตรียมแผนงานรองรับไว้กว่า 300 กิจกรรม อาทิ การพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล 8 กิจกรรม เช่น การตั้งร้าน Top Thai บน Amazon ของอังกฤษ การขยายความร่วมมือกับ LetsTango.com ในยูเออี การส่งเสริมการขายกับแพลตฟอร์มพันธมิตร การส่งเสริมอุตสาหกรรมสีเขียว 14 กิจกรรม 

โดยจะนำผู้ประกอบการเข้าร่วมงานแสดงสินค้าอุตสาหกรรมสีเขียวในยุโรป ออสเตรเลีย และสหรัฐอเมริกา การยกระดับศักยภาพการแข่งขันของประเทศ 108 กิจกรรม โดยการจัดงานแสดงสินค้านานาชาติในไทยและการนำผู้ประกอบการเข้าร่วมงานแสดงสินค้าในต่างประเทศ พร้อมกับการพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการ 177 กิจกรรม เพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันให้กับผู้ประกอบการในด้านการค้าระหว่างประเทศ

‘ก.พลังงาน’ เอาจริง!! ขู่ ‘ผู้ค้าน้ำมัน’ คุมค่าการตลาด ‘เบนซิน’ หากไม่ให้ความร่วมมือ พร้อมผนึก ‘ก.พาณิชย์’ ใช้กฎหมายบังคับ

(22 พ.ย. 66) นายวัฒนพงษ์ คุโรวาท ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กล่าวว่า หลังจากที่มีการร้องเรียนเกี่ยวกับค่าการตลาดน้ำมันเบนซินของผู้ค้า ที่สูงกว่าที่กระทรวงพลังงานขอความร่วมมือผู้ค้าน้ำมันรายใหญ่ ให้ปรับลดราคาขายปลีกให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม ซึ่งกระทรวงพลังงานได้ขอความร่วมมือมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายให้แก่ประชาชน และได้มีการศึกษามาแล้วว่า ถึงแม้ต้นทุนค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้นจาก ค่าแรง ค่าเช่า อัตราภาษีที่ดิน ตลอดจนค่าสาธารณูปโภคที่เพิ่มขึ้น ผู้ค้ายังควรต้องรักษาระดับค่าการตลาดให้อยู่ในระดับที่มีความเหมาะสม และเป็นธรรมกับผู้บริโภค

ทั้งนี้ กระทรวงพลังงานได้ติดตามสถานการณ์การปรับขึ้น-ลงค่าการตลาดมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งบางช่วงก็อยู่ในระดับที่ต่ำกว่า 2 บาท แต่ในบางช่วงก็อยู่ในระดับที่สูงกว่า 2 บาท พบว่า ค่าการตลาดน้ำมันเบนซิน มีค่าสูงเกินค่าที่เหมาะมาอย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุด 4.8 บาทต่อลิตร และกระทรวงพลังงานได้ขอให้ผู้ค้าให้ความร่วมมือ ไม่ให้ค่าการตลาดน้ำมันกลุ่มเบนซินในภาพรวมสูงเกินกว่า 2 บาทเพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายด้านราคาน้ำมันให้แก่ประชาชน ซึ่งหากมีความจำเป็น กระทรวงพลังงานจะร่วมกับกระทรวงพาณิชย์ ใช้มาตรการด้านกฎหมายในการเข้ากำกับดูแล

ทั้งนี้ ค่าการตลาด คือ ส่วนที่เป็นต้นทุน ค่าใช้จ่าย และกำไรของธุรกิจค้าปลีกน้ำมันทั้งระบบ ตั้งแต่การจัดการคลังน้ำมัน การขนส่งน้ำมันมายังสถานีบริการ รวมถึงการให้บริการของสถานีบริการที่เติมน้ำมันแต่ละลิตรให้กับประชาชน

“ผมได้ขอให้ผู้ค้าน้ำมันทุกราย ควบคุมค่าการตลาดน้ำมันเบนซินให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม เป็นธรรมกับทั้งผู้ค้าน้ำมันและประชาชนผู้บริโภค ซึ่งที่ผ่านมา ผู้ค้าน้ำมันจะมีการปรับขึ้น-ลงค่าการตลาดน้ำมันเฉลี่ยทุกชนิด ซึ่งบางช่วงก็ต่ำกว่า 2 บาท และบางช่วงก็สูงกว่า 2 บาท แต่ในช่วงนี้ ค่าการตลาดสูงเกินไป ถึงแม้ว่า ราคาน้ำมันในตลาดโลกมีความผันผวน แต่อยากให้ผู้ค้าน้ำมันคำนึงถึงประชาชน ที่กำลังได้รับความเดือดร้อนจากราคาน้ำมันในช่วงนี้”

ดังนั้น หากยังไม่ได้รับความร่วมมือจากผู้ค้าน้ำมัน อาจจำเป็นต้องประสานกับกระทรวงพาณิชย์ในการใช้มาตรการด้านกฎหมายเข้ากำกับดูแล

ทั้งนี้ กระทรวงพลังงานจะสร้างสมดุลด้านราคา โดยเฉพาะค่าการตลาด ระหว่างผู้ค้าน้ำมันกับผู้บริโภคให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมและเป็นไปตามข้อกฎหมาย แต่จะคำนึงถึงผลประโยชน์ที่ประชาชนจะได้รับเป็นสำคัญ

‘ภูมิธรรม’ หารือ ‘ผู้ว่าฯ เกียวโต’ ร่วมมือพัฒนาผู้ประกอบการ-ศก. ยกระดับการเกษตร-สินค้า-ท่องเที่ยว ดัน Soft Power ระหว่างประเทศ

(26 พ.ย. 66) นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยถึงผลการหารือกับ ‘นายนิชิวากิ ทากาโตชิ’ (NISHIWAKI Takatoshi) ผู้ว่าราชการจังหวัดเกียวโต ประเทศญี่ปุ่น ที่ห้องรับรองชั้น 11 กระทรวงพาณิชย์ ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาว่า ได้มีการหารือถึงแนวทางการผลักดันและส่งเสริมความร่วมมือกับญี่ปุ่นในระดับท้องถิ่น แนวทางส่งเสริมการท่องเที่ยวในภูมิภาคคันไซ และแลกเปลี่ยนมุมมองสินค้าและบริการที่มีศักยภาพเพื่อสร้างความร่วมมือระหว่างกัน และได้รับทราบรายละเอียดเกี่ยวกับการจัดงาน ‘Expo 2025 Osaka Kansai’ เนื่องในโอกาสที่ญี่ปุ่นเป็นเจ้าภาพการจัดงาน

โดยในด้านความร่วมมือทางเศรษฐกิจ ได้หารือกันถึงการแลกเปลี่ยนการเรียนรู้กับหน่วยงานที่ส่งเสริมนวัตกรรมและเทคโนโลยี เพื่อปรับใช้กับการส่งเสริมผู้ประกอบการไทย และสตาร์ตอัปของไทย ด้านการเกษตร ได้มีการแลกเปลี่ยนการเรียนรู้เกี่ยวกับการนำนวัตกรรมมาใช้พัฒนาผลผลิตทางการเกษตรของไทย และอาจมีการแลกเปลี่ยนผู้เชี่ยวชาญมาพัฒนาสินค้า อาทิ งานหัตถกรรมพื้นบ้าน เพื่อพัฒนาสินค้าให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภคในตลาด และด้านอุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ ได้หารือเรื่องความเป็นไปได้ที่จะให้ผู้ประกอบการไทย และผู้ประกอบการจังหวัดเกียวโต มีโอกาสเชื่อมโยงและพัฒนาสินค้า ดีไซน์ร่วมกันให้สอดรับกับความต้องการของตลาดญี่ปุ่น

ส่วนในด้านการท่องเที่ยว เห็นพ้องกันว่าความสัมพันธ์ระดับท้องถิ่น มีส่วนสำคัญในการส่งเสริมความสัมพันธ์ไทย ญี่ปุ่นในภาพรวม และยินดีที่มีการฟื้นฟูการเดินทางระหว่างประเทศ โดยเฉพาะเกียวโต เป็นจังหวัดที่คนไทยนิยมเดินทางไปท่องเที่ยวเป็นอย่างมาก และเห็นตรงกันว่า ไทยและเกียวโตมีโอกาสเพิ่มความร่วมมือด้านการท่องเที่ยวสองทาง และส่งเสริมความร่วมมือด้านอุตสาหกรรม Soft Power ซึ่งทั้งสองฝ่ายมีศักยภาพ

ทางด้านญี่ปุ่น ได้แจ้งความคืบหน้าการจัดงาน World Expo ที่เป็นงานแสดงนิทรรศการระดับโลกที่จัดขึ้นทุก 5 ปี ภายใต้การกำกับดูแลขององค์การนิทรรศการนานาชาติ (The Bureau International des Exposition : BIE) โดยไทยในฐานะประเทศสมาชิกได้เข้าร่วมงานดังกล่าวมาอย่างต่อเนื่อง โดยครั้งต่อไปกำหนดจัด ‘Expo 2025 Osaka Kansai’ ระหว่างวันที่ 13 เมษายน-13 ตุลาคม 2568 รวมระยะเวลา 184 วัน ณ นครโอซากา ประเทศญี่ปุ่น มีหัวข้อหลักในการจัดงาน คือ ‘Designing Future Society for Our Lives’ ภายใต้แนวคิดการส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อสุขภาพและการแพทย์ ซึ่งในส่วนของกระทรวงพาณิชย์ จะร่วมแสดงนิทรรศการและนำผู้ประกอบการสินค้าและบริการในสาขา HEALTH & WELNESS เข้าร่วม

‘ภูมิธรรม’ หนุน ‘คนรุ่นใหม่’ สานต่อการเกษตรกรในอนาคต เชื่อ!! พลังของคนตัวเล็กเกิดได้ แค่มีใจรัก-กล้าคิด-กล้าฝัน

(27 พ.ย.66) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ โพสต์ข้อความและภาพผ่านเพจ ‘Phumtham Wechayachai’ ระบุว่า

“ศักยภาพของเกษตรกรรุ่นใหม่

ผมเพิ่งกลับมาจากการตรวจราชการที่ อ.พาน จ.เชียงราย

มีเรื่องของเกษตรกรรุ่นใหม่ 2 ท่าน ที่ได้พูดคุย ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงพลังของคนตัวเล็กเกิดขึ้นและเป็นจริงได้หากมีใจรัก กล้าคิด กล้าฝัน พร้อมองค์ความรู้ที่ได้จากประสบการณ์ และการเรียนรู้จากผู้อื่นทั้งเครือข่ายภายใน และภายนอกชุมชนของตน สุดท้ายคือความเชื่อมั่นและการกล้าที่จะทำในสิ่งใหม่ๆ

ท่านแรก คือ คุณอานู มัสจิต เจ้าของร้านดงดิบคาเฟ่ ซึ่งเคยเป็นพนักงานออฟฟิศในกรุงเทพฯ กลับมาทำเกษตรอินทรีย์ บุกเบิกที่ดินของตัวเองเป็นนาข้าว พืชผักอินทรีย์ และคาเฟ่ ตั้งใจทำให้เป็นร้านกาแฟและร้านอาหารสายสุขภาพ โดยมีลูกชายที่เรียนจบเชฟจากเลอกอร์ดองเบลอช่วยเป็นที่ปรึกษา และที่นี่ยังเป็นแหล่งเรียนรู้การทำปุ๋ย การทำน้ำหมัก คุณอานูบอกว่าอยากทำร้านนี้เป็นธุรกิจแบบ Social Enterprise

อีกท่าน คือ คุณนพดล ธัญวรรธนา ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนผู้เลี้ยงแพะแกะส่งออก ซึ่งเคยเป็นอดีตนายกองค์การศึกษา มช. และเคยเข้าร่วมกิจกรรม Young Leader พรรคไทยรักไทย วันนี้ได้นำความรู้และประสบการณ์จากการทำงานในบริษัทเอกชน กลับมาพัฒนางานเกษตรด้านปศุสัตว์ที่บ้านเกิด โดยวางแผนการทำโรงเชือดแพะแกะที่ได้มาตรฐานการส่งออก

ซึ่งทั้งสองท่านได้แสดงให้เห็นถึงการทำงานที่มีองค์ประกอบของ 3C ซึ่งท่านนายกรัฐมนตรีเคยพูดถึง นั่นคือ C-Common หมายถึงประชาชน กลุ่มเป้าหมาย ทั้งสองท่านเริ่มต้นทำงานด้วยการทำความเข้าใจกลุ่มเป้าหมาย รู้จักตลาด C-Connection การทำงานร่วมกับเครือข่าย ไม่ทำตัวคนเดียว เพราะเครือข่ายจะสร้างพลังในการขับเคลื่อนงานได้ในทุกมิติ และ C-Can Do ความเชื่อมั่นว่าทำได้ มีใจรักในงานที่ทำ รวมถึงการทำงานด้วยพื้นฐานของความรู้ทั้งที่มาจากประสบการณ์ จากผู้รู้ หรือจากข้อมูลตามหลักวิชาการ

ผมคิดว่าวันนี้ในสังคมต่างจังหวัด มีเกษตรกรรุ่นใหม่จำนวนไม่น้อยที่นำความรู้และประสบการณ์ที่เคยได้รับจากการทำงานในเมืองใหญ่ กลับไปพัฒนาต่อยอดงานด้านการเกษตรของรุ่นพ่อรุ่นแม่ ตามแนวทาง ‘ตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้’

เกษตรกรรุ่นใหม่เหล่านี้จะเป็นพลังขับเคลื่อน เพื่อนำไปสู่การปรับเปลี่ยนคุณภาพชีวิตของเกษตรกรไทยในอนาคต

“พลังของคนตัวเล็ก

ยิ่งใหญ่และมหัศจรรย์เสมอ”

‘สนค.’ เผย ภาคเหนือครองใจประชาชน อันดับ 1 หลังคนไทยแห่เที่ยวในประเทศเพิ่มขึ้น 30.28%

(13 ธ.ค. 66) นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า ผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชนเดือนพฤศจิกายน 2566 ทุกอำเภอทั่วประเทศ เกี่ยวกับแผนการท่องเที่ยวในประเทศช่วงเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม 2566 ซึ่งเป็นฤดูกาลท่องเที่ยวและเทศกาลเฉลิมฉลอง และเป็นการสำรวจต่อเนื่องจากเดือนพฤศจิกายน 2565 โดยพบว่า ประชาชนมีแผนท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นเล็กน้อยเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

ทั้งนี้ ภาคเหนือยังเป็นจุดหมายที่ครองใจประชาชนอันดับหนึ่ง รองลงมาคือ ภาคกลาง และภาคใต้ และคาดว่าจะใช้จ่าย 5,001-10,000 บาท/คน/ทริป เพื่อเป็นค่าเดินทาง อาหาร และที่พัก

อย่างไรก็ตาม ความกังวลด้านภาระทางการเงิน ระดับราคาสินค้าและบริการ ทำให้ประชาชนส่วนใหญ่ระมัดระวังการใช้จ่ายและยังไม่มีแผนการท่องเที่ยว

โดยแผนการท่องเที่ยวในภาพรวม พบว่ามีผู้ตอบ 32.19% ที่มีแผนการท่องเที่ยวในช่วงเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม 2566 เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากการสำรวจในปี 2565 (30.28%) ซึ่งผู้ที่มีแนวโน้มว่าจะท่องเที่ยวส่วนใหญ่ เป็นพนักงานของรัฐ 43.10% พนักงานบริษัท 41.85% นักศึกษา 40.25% โดยมีรายได้ 30,000 บาท/เดือนขึ้นไป

นอกจากนี้ พบว่า กลุ่มผู้อาศัยในกรุงเทพฯ และปริมณฑล มีแผนท่องเที่ยวในสัดส่วนที่มากกว่าครึ่ง คือ 52.91% ส่วนหนึ่งคาดว่าอาจเป็นเพราะกำลังซื้อที่สูงตามระดับรายได้ของครัวเรือนที่สูงกว่าภาคอื่นๆ แต่เป็นที่น่าสังเกตว่า ผู้ที่ไม่มีแผนท่องเที่ยวยังคงมีความกังวลใน 3 เรื่องหลักเช่นเดียวกับปี 2565 คือ ภาระทางการเงิน ระดับราคาสินค้าและบริการ และไม่ชอบการเดินทาง อย่างไรก็ดี มีผู้ตอบบางส่วน ซึ่งเป็นผู้ประกอบการ พนักงานของรัฐฯ และมีรายได้ตั้งแต่ 30,000 บาท/เดือนขึ้นไป ให้เหตุผลว่าจะมีแผนท่องเที่ยวหลังจากนี้ ซึ่งเป็นสัญญาณที่ดีต่อภาคการท่องเที่ยวไทยในปี 2567

“การท่องเที่ยวในประเทศช่วง 2 เดือนสุดท้ายปี 2566 มีแนวโน้มคึกคัก โดยเฉพาะในภาคเหนือ และการท่องเที่ยวภายในภูมิลำเนา ประกอบกับภาครัฐมีมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวอย่างเข้มข้น โดยเฉพาะการท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวต่างชาติ ดังนั้น หน่วยงานและสถานประกอบการที่เกี่ยวข้องควรเตรียมความพร้อมในทุกด้าน เพื่อให้สามารถรองรับจำนวนประชาชนไทยและนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เพิ่มขึ้นกว่าปีก่อน” นายพูนพงษ์ กล่าว

‘พาณิชย์-ททท.’ ชูแคมเปญ ‘เที่ยว ฟิน กิน Thai SELECT’ เดินหน้าหนุนอาหารไทยสู่ ‘ซอฟต์พาวเวอร์’ ทั้งใน-นอกประเทศ

(7 ม.ค. 67) นโยบายผลักดัน Soft Power ของไทยสู่ตลาดโลกเพิ่มมากขึ้น ถือเป็นนโยบายหลักของรัฐบาล นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี โดยใช้ ‘อาหาร’ เป็นสินค้า ‘Soft Power’ ของไทยที่สำคัญ เพราะอาหารไทยถือเป็นหนึ่งในอาหารยอดนิยมของคนทั่วโลก ซึ่งเห็นได้ชัดจากการจัดอันดับของเว็บไซต์ที่มีชื่อเสียงเกี่ยวกับอาหารต่างๆ อาทิ CNN Travel ที่ได้จัดอาหารไทยเป็นอาหารที่ดีที่สุด อันดับที่ 8 ของโลก และ Taste Atlas Awards 2023/2024 ที่ได้ยกย่องให้ 5 เมนูอาหารไทย ได้แก่ ผัดกะเพรา, ข้าวซอย, แกงพะแนง, ต้มข่าไก่ และแกงมัสมั่น เป็นเมนูที่ดีที่สุดของโลกที่ติดอันดับ 100 เมนูแรก จากรายการอาหารทั้งหมด 10,927 เมนู

นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (ผอ.สนค.) กระทรวงพาณิชย์ ให้ข้อมูลว่า ปัจจัยสำคัญที่ช่วยส่งเสริมให้ความนิยมอาหารไทยเติบโตอย่างก้าวกระโดดในต่างแดน มาจากการสนับสนุนของภาครัฐ ซึ่งตั้งแต่ปี 2002 รัฐบาลได้ยกระดับ ‘การทูตผ่านอาหาร’ หรือ ‘Gastrodiplomacy’ ผ่านโครงการ ‘Global Thai Restaurant Company’ ส่งผลให้จำนวนร้านอาหารไทยในต่างประเทศเพิ่มขึ้นประมาณ 3 เท่า จาก 5,500 ร้าน เป็น 15,000 ร้าน รวมทั้ง กระทรวงพาณิชย์ ยังมีส่วนช่วยสนับสนุนความน่าเชื่อถือด้วยการมอบตราสัญลักษณ์ Thai SELECT เพื่อรับรองมาตรฐานร้านอาหารไทยทั้งในและต่างประเทศ 

ปัจจุบันแนวโน้มการเติบโตของธุรกิจร้านอาหารไทยในต่างประเทศเติบโตขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งถือเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญที่จะช่วยเผยแพร่และขับเคลื่อน Soft Power ไทยสู่สากล และเป็นช่องทางการสร้างโอกาสทางธุรกิจ และเสริมรายได้ให้กับผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องอื่นๆ ของไทย ซึ่งการเติบโตของร้านอาหารไทยในต่างประเทศ จะส่งผลให้อุตสาหกรรมอื่นๆ ได้รับอานิสงส์ทั้งทางตรงและทางอ้อมตามไปด้วย

ในส่วนของการส่งเสริมอาหารไทยเป็น ‘ซอฟต์พาวเวอร์’ (Soft Power) ประเทศ จำเป็นต้องอาศัยร้านอาหารไทยเป็นช่องทางหลักในการรับรู้ กระทรวงพาณิชย์ ได้มีนโยบายและแผนงานในการผลักดันให้ร้านอาหารไทยในต่างประเทศได้รับตราสัญลักษณ์ ‘Thai SELECT’ จะเป็นเครื่องมือช่วยการันตีคุณภาพความเป็นไทย ให้แก่ร้านอาหารไทยที่เปิดขายในต่างแดน และรวมถึงร้านอาหารไทยในประเทศด้วย ซึ่งจะเป็นจุดขายให้ต่างชาติได้ทำความรู้จักคุ้นชิน รวมทั้งจัดให้ร้านอาหารไทยเป็นเหมือนศูนย์จัดแสดงสินค้า (Showroom) และถ่ายทอดผลงานสะท้อนภูมิปัญญาของไทย อีกทั้งสนับสนุนการตกแต่งร้านอาหารที่แสดงถึงเอกลักษณ์ความเป็นไทย เพื่อส่งเสริม Soft Power ในทุกมิติ

สำหรับ ‘Thai SELECT’ เป็นตราสัญลักษณ์ที่กระทรวงพาณิชย์ มอบให้กับร้านอาหารไทย และผลิตภัณฑ์อาหารไทยสำเร็จรูป ที่ให้บริการและจำหน่ายอาหารไทยรสชาติไทยแท้ ผ่านกระบวนการและขั้นตอนของการปรุงอาหารด้วยส่วนผสมตามตำรับอาหารไทย จากข้อมูลของกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศพบว่า ปัจจุบันมีจำนวนร้านอาหารไทยในต่างประเทศรวม 17,478 ร้าน ทั่วโลก โดยสหรัฐอเมริกามีจำนวนร้านอาหารไทยมากที่สุดในโลก รวมทั้งสิ้นราว 6,850  กระจายตัวอยู่ทั่วสหรัฐฯ คิดเป็น 39% ของจำนวนร้านอาหารไทยในต่างแดนทั้งหมด ส่วนร้านอาหารไทย Thai Select ทั่วโลกมีจำนวน 1,546 ร้าน

ขณะที่ในประเทศ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า จับมือกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และการท่องเที่ยวแห่งประแทศไทย (ททท.) จัดโครงการ ดัน ‘อาหารไทย Thai SELECT’ เป็น Soft Power ประเทศ ด้วยแคมเปญส่งเสริมการตลาดร่วมกัน ทั้งการส่งเสริมร้านอาหาร Thai SELECT ผ่านแคมเปญ ‘เที่ยว ฟิน กิน Thai SELECT’ กิจกรรมร่วมกับกลุ่มวิสาหกิจชุมชน และศูนย์การเรียนรู้ชุมชนในแต่ละท้องถิ่น เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวเข้าไป ณ ชุมชนมากขึ้น

และเชื่อมเส้นทางท่องเที่ยวเพื่อเปิดประสบการณ์ใหม่ๆ ในทุกๆ วัน ที่จะช่วยส่งเสริมการขายผลิตภัณฑ์ชุมชน ร้านอาหารไทย Thai SELECT ในพื้นที่ ผ่านกิจกรรม ‘ของเด่นพื้นที่ ของดีพื้นถิ่น’ เพื่อสร้างจุดเด่นและความแตกต่างรวมทั้ง จัดทำเส้นทางท่องเที่ยวเมืองหลักและเมืองรองร้านอาหาร Thai SELECT ในทุกภูมิภาค

การชู ‘อาหารไทย’ เป็น Soft Power ทั้งในประเทศและต่างประเทศ จะเป็นจุดขายสำคัญให้กับประเทศ และสร้างโอกาสในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยได้ตามนโยบายของรัฐบาล


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top