‘สนค.’ เล็งเจาะตลาดอ่าวอาหรับ หวังเพิ่มโอกาสให้การค้าไทย หลัง ‘รถ-ยาง-เครื่องประดับแท้-ไก่-ข้าว’ นำกลุ่มส่งออกโตต่อเนื่อง

เมื่อวันที่ 18 ต.ค. 66 นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า สนค. ได้วิเคราะห์ตลาดกลุ่มประเทศความร่วมมืออ่าวอาหรับ 6 ประเทศ (Gulf Cooperation Council : GCC) ได้แก่ ซาอุดีอาระเบีย, คูเวต, โอมาน, สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์, กาตาร์ และบาห์เรน เพื่อหาโอกาสสำหรับการเปิดตลาดใหม่เพิ่มเติมตามนโยบายของกระทรวงพาณิชย์ โดยเน้นตลาดใหม่ ที่มีกำลังซื้อสูง แต่ยังมีมูลค่าการค้ากับไทยไม่มากนัก จึงเป็นโอกาสสำหรับผู้ส่งออกไทยที่จะหาโอกาสขยายการค้าในตลาดใหม่

สนค. พบว่า กลุ่ม GCC ถือเป็นกลุ่มที่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจของภูมิภาคตะวันออกกลาง มูลค่าจีดีพีของกลุ่มประเทศ GCC คิดเป็นสัดส่วน 46.7% ของจีดีพี รวมของภูมิภาคตะวันออกกลาง รวมถึงทุกประเทศมีรายได้ต่อหัวเฉลี่ยสูงกว่าไทย โดยในปี 2565 กาตาร์ เป็นประเทศที่มีรายได้ต่อหัวสูงที่สุดในกลุ่มประเทศ GCC อยู่ที่ 88,046 เหรียญสหรัฐฯ สูงกว่าไทยถึง 12.7 เท่า และมีจำนวนประชากรรวม 58.9 ล้านคน ใกล้เคียงจำนวนประชากรของไทย โดยซาอุดีอาระเบียเป็นประเทศมีประชากรมากที่สุดในกลุ่มประเทศ GCC คิดเป็น 61% ของประชากรทั้งหมดในกลุ่มประเทศ GCC สำหรับการค้าระหว่างประเทศ แหล่งนำเข้าสำคัญของกลุ่มประเทศ GCC 3 ลำดับแรก คือ จีน, อินเดีย และสหรัฐฯ โดยไทยเป็นแหล่งนำเข้าลำดับที่ 19 คิดเป็น 1.4% ของมูลค่าการนำเข้าทั้งหมด

แม้ว่าปัจจุบันไทยส่งออกไปยังตลาดกลุ่มประเทศความร่วมมืออ่าวอาหรับได้ไม่มาก แต่สินค้าไทยยังมีโอกาสเข้าถึงตลาดกลุ่มประเทศความร่วมมืออ่าวอาหรับได้อีก จากข้อมูลการส่งออกของไทย 8 เดือนแรกของปี 2566 ไปยังกลุ่มประเทศ GCC มีมูลค่ารวม 4,588 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัว 4.2% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า ซึ่งคิดเป็น 2.4% ของมูลค่าส่งออกทั้งหมดจากไทยไปโลก โดยตลาดส่งออกหลัก ได้แก่ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และซาอุดีอาระเบีย ซึ่งมีสัดส่วนการส่งออกของไทยไปยังกลุ่มประเทศ GCC 44.6% และ 37.3% ตามลำดับ ซึ่งตลาดส่งออกรองลงมา คือ คูเวต, โอมาน, กาตาร์ และบาห์เรน ตามลำดับ

โดยมีสินค้าส่งออกหลัก เช่น รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ไฟเบอร์บอร์ด เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ เป็นต้น สำหรับในระยะต่อไป สนค. มองว่าไทยมีสินค้าศักยภาพหลายรายการที่มีโอกาสเจาะตลาดในกลุ่มประเทศความร่วมมืออ่าวอาหรับได้เพิ่มเติม โดยสินค้าที่มีศักยภาพในการส่งออกเพิ่มเติม แบ่งเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ สินค้าดาวเด่น, สินค้าศักยภาพ และสินค้าแนะส่งเสริม โดยมีรายละเอียด ดังนี้

สินค้าดาวเด่น เป็นสินค้าส่งออกหลักของไทยในกลุ่มประเทศ GCC ที่มีแนวโน้มเติบโตดี สะท้อนว่าตลาดยังมีความต้องการ โดยใน 8 เดือนแรกของปี 2566 ประเทศไทยส่งออก ‘รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ’ สัดส่วน 37% ของสินค้าส่งออกไทยไปกลุ่มประเทศ GCC ทั้งหมด ขยายตัวสูงถึง 17.1% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า และส่งออก ‘ยางยานพาหนะ’ สัดส่วน 4.1% ขยายตัว 19.8% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า โดยในปี 2565 ไทยครองส่วนแบ่งตลาด รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ในตลาดกลุ่มประเทศ GCC อยู่ที่ 5.6% และ ยางยานพาหนะที่ 7.4% ซึ่ง สนค. มองว่าสินค้าดังกล่าวยังมีโอกาสขยายการส่งออกและขยายส่วนแบ่งตลาดได้อีก

สินค้าศักยภาพ เป็นสินค้าที่ไทยมีศักยภาพ แต่มีส่วนแบ่งของไทยในตลาดกลุ่มประเทศ GCC ต่ำกว่าส่วนแบ่งของไทยในตลาดโลก ได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ซึ่งปี 2565 ไทยครองส่วนแบ่งในตลาดกลุ่มประเทศ GCC อยู่ที่ 1.1% เปรียบเทียบกับส่วนแบ่งของไทยในตลาดโลกที่ 4.3% ขณะที่การส่งออกใน ช่วง 8 เดือนแรกปี 2566 ขยายตัวที่ 1.4% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า และ เครื่องประดับแท้ ซึ่งไทยครองส่วนแบ่งในตลาดกลุ่มประเทศ GCC อยู่ที่ 1.9% เปรียบเทียบกับส่วนแบ่งของไทยในตลาดโลกที่ 5% ขณะที่การส่งออกในช่วง 8 เดือนแรกปี 2566 เพิ่มขึ้น 14.5% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า

สินค้าแนะส่งเสริม เป็นสินค้าที่ตลาดมีความต้องการ แต่กลุ่มประเทศ GCC ยังนำเข้าจากไทย ค่อนข้างน้อย หรือมูลค่าการนำเข้าจากไทยมีไม่ต่อเนื่อง จึงเป็นสินค้าไทยที่แนะนำให้เข้าไปเปิดตลาดใหม่ ได้แก่ ‘ไก่’ และ ‘ข้าว’ อย่างไรก็ดี การเข้าสู่ตลาดใหม่ในสินค้าดังกล่าวเป็นเรื่องที่ท้าทายทั้งจากคู่แข่งทางการค้าเดิม ที่มีส่วนแบ่งตลาดค่อนข้างสูง และมาตรฐานสินค้าและกฎระเบียบในกลุ่มประเทศที่ค่อนข้างสูงกว่ากลุ่มประเทศอื่น

“ตลาดกลุ่มประเทศ GCC เป็นตลาดที่น่าจับตามอง แต่ไทยยังมีการค้ากับประเทศเหล่านี้ค่อนข้างน้อย มีโอกาสเข้าสู่ตลาดนี้ได้อีกมาก นอกจากนี้ ไทยมีสินค้าที่มีศักยภาพหลายรายการที่สามารถเข้าไปเจาะตลาดกลุ่มนี้เพิ่มเติม จากการวิเคราะห์ด้วย ‘Data Analytics Dashboard’ แม้ปัจจุบัน ไทยจะส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมไปยังกลุ่มประเทศ GCC เป็นหลัก หรือมากกว่า 88% ของมูลค่าการส่งออกจากไทย แต่จะเห็นได้ว่าไทยมีศักยภาพเจาะตลาดสินค้าเกษตรและอาหารด้วย โดยเฉพาะสินค้าไก่และข้าว

ซึ่งปัจจุบันกระทรวงพาณิชย์ อยู่ระหว่างการเจรจาจัดทำความตกลงการค้าเสรี (FTA) ไทยกับสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ คาดว่าจะสรุปผลการเจรจาได้ในปี 2566 นอกจากนี้ ความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างไทยกับซาอุดีอาระเบีย ดีขึ้นอย่างมากหลังการฟื้นฟูความสัมพันธ์ระหว่างกัน อีกครั้ง กระทรวงพาณิชย์มีแผนเจรจา FTA ระหว่างไทยกับกลุ่มประเทศ GCC ในอนาคตอีกด้วย” นายพูนพงษ์ กล่าว