Tuesday, 21 May 2024
FTA

‘อลงกรณ์’ เร่งเจรจาเขตการค้าเสรี กับ อียู - อังกฤษ ดันไทยขึ้นแท่น Top 10 มหาอำนาจด้านอาหารของโลก

(28 ก.พ. 66) นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์กล่าวปาฐกถาเปิดงานเสวนาบนเวทีของงานแถลงข่าวประจำปี NRF 2023 Annual Press conference ‘Big Move’ ภายใต้ประเด็นเสวนา ‘ปัญหาและโอกาสสู่ทางออก ของการส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารไทย ในตลาดยุโรปและอังกฤษ’ โดยมี คุณแดน ปฐมวาณิชย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร NRF คุณอิทธิพล เลิศศักดิ์ธนกุล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ Exim Bank และคุณณัฐศักดิ์ มนัสรังษี K Fresh เข้าร่วม ณ ลิโด้ คอนเนคท์ (ห้องลิโด้ 1) สยามสแควร์ซอย 3

โดยการจัดงานดังกล่าวมีวัตถุประสงค์ เพื่อให้วิทยากรผู้เชี่ยวชาญภาครัฐได้แสดงความคิดเห็น และแชร์ประสบการณ์ให้แก่ผู้ประกอบการรายใหญ่ และรายย่อยในอุตสาหกรรมเกษตรและอาหารของไทย เพื่อร่วมต่อยอดความคิดและร่วมหาทางแก้ปัญหา อีกทั้งยังเป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการผลักดัน สินค้าเกษตรและอาหารไทยไปสู่ตลาดยุโรปและอังกฤษโดยเฉพาะบริษัทชั้นแนวหน้าของไทย เช่น เอ็นอาร์เอฟ (NRF) ที่มีเป้าหมายขยายเครือข่ายซูเปอร์มาร์เก็ตสินค้าอาหารไทยและเอเซีย ในอังกฤษและยุโรป ซึ่งมีมูลค่าตลาดนี้ 10 พันล้านดอลลาร์ หรือกว่า 3 แสนล้านบาท

นายอลงกรณ์ กล่าวปาฐกถาว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ร่วมมือกับกระทรวงพาณิชย์ และผู้ประกอบการเอกชน ในการส่งเสริมการส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารของไทยไปสหภาพยุโรปและอังกฤษ ซึ่งเป็นตลาดคู่ค้าอันดับ 4 ของไทย จึงให้ความสำคัญเป็นลำดับต้น ๆ รัฐบาลโดยกระทรวงเกษตรฯ ร่วมกับกระทรวงพาณิชย์ เร่งเปิดทางสร้างโอกาสให้กับเกษตรกรและผู้ประกอบการส่งออกสินค้าไปอียูและอังกฤษ

โดยกระทรวงเกษตรฯ ได้ลงนามเอ็มโอยู กับกระทรวงสิ่งแวดล้อมอาหารและกิจการชนบทของอังกฤษ เพื่อขยายความร่วมมือทางการเกษตรทุกมิติรวมทั้งการขจัดอุปสรรคทางการค้าสินค้าเกษตรและอาหารเมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ปีนี้ ขณะที่กระทรวงพาณิชย์ เร่งเจรจาความตกลงเขตการค้าเสรี (FTA) 3 กรอบสำคัญ คือ

เอฟทีเอไทย-อียู
เอฟทีเอไทย-อังกฤษ
เอฟทีเอไทย-สมาคมการค้าเสรีแห่งยุโรป (EFTA)

ซึ่งมีสมาชิก 5 ประเทศ คือ รัสเซีย, คาซัคสถาน, เบลารุส, อาร์เมเนีย และคีร์กีซสถาน เป็นก้าวใหม่ก้าวใหญ่ของภาครัฐ ผสมผสานกับบิ๊กมูฟของภาคเอกชนในวันนี้ จึงมั่นใจว่าประเทศไทยจะบรรลุความสำเร็จที่ตั้งเป้าหมาย เป็นมหาอำนาจทางอาหารท็อปเทนของโลกภายในปี 2030 เป็นอาหารปลอดภัย (Food Safety) ที่มีการรับรองมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารของสำนักงาน มกอช.ตั้งแต่ฟาร์มถึงโต๊ะอาหาร (Farm 2 Tables) ภายใต้การพัฒนาเกษตรกรรมอย่างยั่งยืน รับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม ลดปัญหาภาวะโลกร้อน สร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศ รวมทั้งสหภาพยุโรปและอังกฤษ ตลอดจนการพัฒนาระบบโลจิสติกส์ทางเรือ ทางอากาศและทางบก โดยเฉพาะการขนส่งทางรางบนเส้นทางรถไฟสายไทย-จีน-ลาว-ยุโรป

สำหรับโอกาสในการส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารของไทย ทั้งในเรื่องการรักษาและขยายส่วนแบ่งการตลาดในสินค้าหลักที่มีฐานการตลาดอยู่เดิม ได้แก่

1.) สินค้าปศุสัตว์ - ไก่แปรรูปและไก่หมักเกลือ (สหราชอาณาจักร และเนเธอร์แลนด์) โดยในปี 2565 ประเทศไทยส่งออกไก่แปรรูปไปยังสหภาพยุโรปและสหราชอาณาจักร มูลค่า 38,000 ล้านบาท ซึ่งขยายตัวจากปี 2564 ถึงร้อยละ 69

2.) สินค้าพืชผักผลไม้สดผลไม้แปรรูป และข้าว (สหราชอาณาจักร อิตาลี เนเธอร์แลนด์) สับปะรดกระป๋อง และน้ำสับปะรดกระป๋อง และผลไม้กระป๋อง (เนเธอร์แลนด์และเยอรมนี)

3.) สินค้าประมงและสัตว์น้ำ (แช่แข็งและแปรรูป) ปลาหมึกแช่แข็ง (อิตาลี) ปลาทูน่ากระป๋อง (เนเธอร์แลนด์)

4.) ยางพาราและผลิตภัณฑ์ (เยอรมนี เนเธอร์แลนก์ สเปน เบลเยียม อิตาลี)

'ไทย' หวัง!! รัฐบาลใหม่ ฟื้น FTA 'ไทย-อียู' อีกฟันเฟืองกอบกู้เศรษฐกิจไทยอย่างยั่งยืน

ทีมข่าว THE STATES TIMES ได้พูดคุยกับ อ.พงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ อดีตปลัดกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา อดีตรองปลัดกระทรวงการคลัง และผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ระดับประเทศ ที่พูดคุยในรายการ Easy Econ ซึ่งออกอากาศทางสถานีวิทยุ ส.ทร. FM93.0 MHz และสื่อออนไลน์ ในเครือ THE STATES TIMES ในประเด็น รัฐบาลใหม่ กับการฟื้นสัมพันธ์ FTA ไทย-อียู เมื่อวันที่ 17 ก.ย.66 โดย อ.พงษ์ภาณุ กล่าวว่า...

สหภาพยุโรป (European Community) เป็นการรวมตัวทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาคที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์โลก ทั้งในด้านความกว้างและความลึก กล่าวคือ มีประเทศสมาชิก 27 ประเทศ GDP รวมกันเป็นประมาณ 15 % และคิดเป็นอันดับ 3 ของโลก ในเชิงลึก ประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปยอมสูญเสียอธิปไตยทางการเงิน โดยใช้เงินสกุลเดียว คือ ยูโร และมี European Central Bank เป็นธนาคารกลาง

แม้ว่าจะเป็นการรวมตัวทางเศรษฐกิจที่ลึกซึ้งและยิ่งใหญ่ที่สุด แต่ในทางปฏิบัติได้ก่อเกิดวิกฤตและผลกระทบทางเศรษฐกิจมากมาย...วิกฤตหนี้ยูโร เช่นปี 2015 และ Brexit ในปี 2016 ยังอยู่ในความทรงจำของผู้ติดตามเศรษฐกิจ ภาคธุรกิจอุตสาหกรรมของยุโรปอ่อนแอลงกว่าที่คาดการณ์ โดยเฉพาะหลังปี 2000 เป็นต้นมา เมื่อจีนเปิดเสรีและประสบความสำเร็จในการพัฒนาประเทศ ขณะที่สหรัฐอเมริกาก็ประสบความสำเร็จในอุตสาหกรรมเทคโนโลยี ทำให้ภาคธุรกิจของยุโรปกลับถูกทิ้งห่างในอุตสาหกรรมใหม่ แม้จะยังคงเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมเก่าบางสาขา

เดิมทีไทยกับยุโรปมีความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจมายาวนาน ยุโรปเป็นคู่ค้าอันดับ 3 ของไทย (รองจากจีนและสหรัฐฯ) ยุโรปเป็นนักลงทุนอันดับ 3 ในไทย (รองจากญี่ปุ่นและจีน) แต่ไทยยังไม่สามารถทำความตกลงเขตการค้าเสรี (FTA) กับสหภาพยุโรปได้สำเร็จ โดยการเจรจา EU-Thailand FTA ซึ่งเริ่มต้นกว่า 10 ปีมาแล้ว ถูก EU สั่งระงับไปเนื่องจากมีการปฏิวัติรัฐประหารในประเทศไทย ขณะที่ เวียดนามได้บรรลุความตกลง FTA กับ EU สำเร็จแล้ว เมื่อ 2020  ทำให้อุตสาหกรรมเวียดนามสามารถส่งออกไปยัง EU แบบปลอดภาษี และได้เปรียบในเชิงการแข่งขันเหนืออุตสาหกรรมไทย

ถึงกระนั้น ก็เป็นเรื่องน่ายินดีที่ไทยและ EU กำลังเริ่มกลับมานั่งโต๊ะเจรจา FTA ใหม่ น่าจะถือเป็นผลงานสำคัญชิ้นแรกของรัฐบาลใหม่ที่จะผลักดันให้ FTA กับ EU เกิดผลสำเร็จโดยเร็ว

‘รัฐบาลไทย’ หารือ ‘ทูตอินเดีย’ เตรียมฟื้นฟู FTA-เปิดตลาดเสรี หนุนการค้า-ลงทุนทุกมิติ ดันไทยสู่ศูนย์กลางเศรษฐกิจภูมิภาค

(28 ก.ย. 66) นางนลินี ทวีสิน ผู้แทนการค้าไทย เปิดเผยว่า ได้หารือกับ นายนาเคศ สิงห์ เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐอินเดียประจำประเทศไทย โดยอินเดียพร้อมฟื้นฟูความตกลงเขตการค้าเสรี (Free Trade Agreement : FTA) ไทย-อินเดีย อีกครั้ง และพร้อมแก้ไขปัญหาอุปสรรคร่วมกันอย่างเข้มแข็งและรวดเร็วที่สุด

ทั้งนี้ ที่ผ่านมาไทยและอินเดียได้ทำความตกลงการค้าเสรี หรือ ‘FTA’ โดยได้เปิดตลาดสินค้าส่วนแรก (Early Harvest Scheme) จำนวน 83 รายการ ครอบคลุมทั้งสินค้าผลไม้สด ธัญพืช อาหารปรุงแต่งจากเนื้อสัตว์ ผลิตภัณฑ์แร่ เคมีภัณฑ์ ชิ้นส่วนยานยนต์ และเครื่องใช้ไฟฟ้า

โดยได้ยกเลิกภาษีตั้งแต่ปี 2549 ทำให้การค้าทั้ง 2 ฝ่ายขยายตัว และไทยเป็นฝ่ายได้ดุลการค้า แต่ได้หยุดชะงักไปเมื่อปี 2559 เนื่องจากอินเดียได้หันมาผลักดันการเจรจา FTA ระหว่างอาเซียน-อินเดียแทน เพื่อขยายตลาดมายังกลุ่มอาเซียน 10 ประเทศ

นางนลินี กล่าวว่า อินเดียให้ความสำคัญกับไทยในฐานะประเทศที่มีศักยภาพด้านการค้าการลงทุนของอาเซียนและเป็นศูนย์กลางของภูมิภาค โดยวันนี้ภูมิภาคอินโด-แปซิฟิกกลายเป็นศูนย์กลางของเศรษฐกิจโลก ซึ่งไทยคือหนึ่งในนั้น โดยการพูดคุยหารือครั้งนี้ถือเป็นนิมิตหมายอันดีที่อินเดียต้องการจะฟื้นฟู FTA

รวมทั้งยังอยากเห็นผลการดำเนินงานของคณะกรรมการร่วมทางการค้า หรือ ‘JTC’ ไทย-อินเดีย และความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค หรือ ‘RCEP’ ที่เติบโตขึ้นด้วย

ทั้งนี้ ในการหารือทั้ง 2 ฝ่ายเห็นตรงกันว่า ความริเริ่มแห่งอ่าวเบงกอลสำหรับความร่วมมือหลากหลายสาขาทางวิชาการและเศรษฐกิจ หรือ ‘BIMSTEC’ จะเป็นเวทีที่จะช่วยขจัดอุปสรรคต่าง ๆ เพื่อให้ความร่วมมือระหว่างประเทศสมาชิกเป็นไปอย่างราบรื่น โดยนายนเรนทรา โมดี นายกรัฐมนตรีอินเดีย ตั้งใจอย่างมากที่จะมาร่วมการประชุมระดับผู้นำ BIMSTEC ที่ประเทศไทยจะเป็นเจ้าภาพในช่วงปลายเดือนพฤศจิกายน 2566 นี้

รวมทั้งยังหวังว่าจะมีโอกาสเดินทางเยือนระดับผู้นำอย่างเป็นทางการในโอกาสต่อไป สำหรับนโยบาย Startups India ซึ่งเป็นหนึ่งในแนวทางการพัฒนาประเทศภายใต้แนวคิดอินเดียใหม่ (New India) เพื่อให้สอดคล้องกับที่อินเดียกำลังก้าวสู่ประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจ 5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ภายในปี 2568 นั้น อินเดียได้แสดงความจำนงที่จะยกระดับความร่วมมือระหว่างผู้ประกอบการ Startup รุ่นใหม่ของไทยและอินเดียให้เกิดผลสำเร็จ

“มิติการเจรจาหารือทางการค้าวันนี้เปลี่ยนแปลงไปจากอดีต เพราะครอบคลุมหลายด้าน โดยทูตอินเดียได้พูดถึงความต้องการส่งออกสินค้าเกษตรมายังไทย เช่น กุ้งหรือเนื้อสัตว์อื่น สินค้ายาและเวชภัณฑ์โดยเฉพาะยารักษาโรคเบาหวาน หรือแม้กระทั่งความร่วมมือด้านความมั่นคงหรือยุทโธปกรณ์ที่อินเดียมีศักยภาพ ได้แก่ เฮลิคอปเตอร์หรือเรือดำน้ำ ผ่านนโยบาย Offset Policy หรือการชดเชยในกรณีซื้อจากต่างประเทศของกระทรวงกลาโหม สำหรับมิตรประเทศอีกด้วย” นางนลินี ระบุ

ข้อมูลการค้า ไทย-อินเดีย 
จากข้อมูลรายงานการค้าระหว่างประเทศของไทย ประจำปี 2565 ของกระทรวงพาณิชย์ ระบุว่า อินเดีย ขึ้นมาเป็นตลาดส่งออกอันดับที่ 7 จากอันดับที่ 10 ในปีก่อน โดยขยายตัวถึง 22.5% โดย การค้าระหว่างไทยและอินเดีย มีมูลค่า 17,702.82 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขยายตัว 18.06%

โดยไทยส่งออกไปอินเดีย มูลค่า 10,524.68 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และไทยนำเข้าจากอินเดีย มูลค่า 7,178.14 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ สินค้าส่งออกสำคัญของไทย อาทิ เม็ดพลาสติก ไขมันและน้ำมันจากพืชและสัตว์ เคมีภัณฑ์ อัญมณีและเครื่องประดับ และเหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์

ส่วนสินค้านำเข้าสำคัญของอินเดีย อาทิ เครื่องเพชรพลอย อัญมณี เงินแท่งและทองคำ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ สินแร่โลหะอื่นๆ เศษโลหะ เคมีภัณฑ์ และพืชและผลิตภัณฑ์จากพืช

‘ไทย-ตุรกี’ หารือฟื้น FTA ลดช่องว่างการค้า เล็งเชิญผู้นำไทยเยือนตุรกีในรอบ 20 ปี

(12 ต.ค. 66) นางนลินี ทวีสิน ผู้แทนการค้าไทย เปิดเผยหลังการหารือกับนางแซรัป แอร์ซอย เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐตุรกีประจำประเทศไทย ว่า ไทยและตุรกีเห็นพ้องกันที่จะผลักดันความตกลงการค้าเสรีหรือ FTA ระหว่างกันให้ก้าวหน้า เนื่องจากที่ผ่านมามีการเจรจากันถึง 7 รอบ แต่ต้องหยุดชะงักลงเมื่อปี 2564 จากเหตุปัจจัยภายในประเทศของตุรกี โดยไทยพร้อมและยินดีจะกลับเข้าสู่การเจรจาทันทีเมื่อตุรกีเสร็จสิ้นกระบวนการทบทวนนโยบาย ซึ่งเอกอัครราชทูตตุรกียืนยันว่าแนวทางการพิจารณาของตุรกี น่าจะเป็นรูปเป็นร่างได้ในช่วงต้นปี 2567 

ทั้งนี้ หากการจัดทำ FTA ร่วมกันสำเร็จ ทั้ง 2 ประเทศก็จะได้ประโยชน์โดยเฉพาะการลดช่องว่างดุลการค้าและด้านอื่น ๆ เช่น การท่องเที่ยว และอุตสาหกรรม โดยในปีนี้ไทยและตุรกีมีความสัมพันธ์ครบรอบ 65 ปีอีกด้วย

นางนลินี กล่าวว่า ตุรกีเป็นตลาดที่มีศักยภาพและมีกำลังซื้อสูง มีเศรษฐกิจขนาดใหญ่เป็นอันดับที่ 19 ของโลก ไทยสามารถใช้ตุรกีเป็นสะพานเชื่อมต่อทางการค้าไปสู่ยุโรปตะวันออก กลุ่มประเทศบอลข่าน และแอฟริกาตอนเหนือได้ และสินค้าไทยที่จะได้รับประโยชน์จาก FTA เช่น ยานพาหนะ ตู้เย็น พลาสติกชนิดโพลิสไตลีน ผ้าทอ เมล็ดพืช อาหารฮาลาล ผลไม้ เครื่องใช้ไฟฟ้า ชิ้นส่วนยานยนต์ เป็นต้น 

ส่วนทางตุรกีนั้น สามารถใช้ไทยเป็นประตูการค้าไปสู่เอเชียตะวันออก อาเซียน และประเทศอื่นที่มีความตกลงการค้าเสรีกับอาเซียน โดยเฉพาะประเทศสมาชิก RCEP รวมทั้งการลงทุนใน EEC ขณะเดียวกันตุรกียังสนใจใช้ไทยเป็นฐานการผลิตสินค้าเพื่อส่งออกไปยังกลุ่มประเทศอาเซียน โดยตุรกีมีความเข้มแข็งด้านอุตสาหกรรมก่อสร้าง ซึ่งมีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลกรองจากจีน

นางนลินี กล่าวอีกว่า สำหรับบริษัทไทยที่เข้าไปลงทุนในตุรกี เช่น CPF Indorama และ Dusit Thani ส่วนบริษัทตุรกีที่ลงทุนในไทย เช่น KOC Holding HIDROMEX Sabanci Holding เป็นต้น และทั้ง 2 ประเทศยังมีเที่ยวบินตรงระหว่างกันทั้ง Turkish Airlines และสายการบินไทยจำนวนหลายเที่ยวบินต่อสัปดาห์ โดยตุรกีเห็นว่าทั้ง 2 ประเทศยังร่วมกันพัฒนาด้านอื่นได้อีก ได้แก่ เศรษฐกิจสีเขียว ธุรกิจเพื่อความยั่งยืน อุตสาหกรรมป้องกันประเทศ และการจัดตั้งโรงเรียนในประเทศไทย และอยากให้ไทยพิจารณาผ่อนปรนเงื่อนไขการนำเข้าผลไม้จากตุรกีด้วย

"ท่านทูตตุรกีย้ำว่าไทยไม่ได้มีการเยือนตุรกีในระดับผู้นำเป็นเวลามากกว่า 20 ปีแล้ว จึงอยากเชิญนายกฯ และผู้แทนการค้าไทยไปเยือนตุรกี และยังแสดงความขอบคุณอย่างสุดซึ้งที่ราชวงศ์ไทย รัฐบาล ภาคเอกชน NGO และประชาชนชาวไทย ให้ความช่วยเหลือตุรกีในเหตุการณ์แผ่นดินไหวเมื่อเดือน ก.พ.66 ที่ผ่านมาด้วย" นางนลินี กล่าว

‘สนค.’ เล็งเจาะตลาดอ่าวอาหรับ หวังเพิ่มโอกาสให้การค้าไทย หลัง ‘รถ-ยาง-เครื่องประดับแท้-ไก่-ข้าว’ นำกลุ่มส่งออกโตต่อเนื่อง

เมื่อวันที่ 18 ต.ค. 66 นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า สนค. ได้วิเคราะห์ตลาดกลุ่มประเทศความร่วมมืออ่าวอาหรับ 6 ประเทศ (Gulf Cooperation Council : GCC) ได้แก่ ซาอุดีอาระเบีย, คูเวต, โอมาน, สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์, กาตาร์ และบาห์เรน เพื่อหาโอกาสสำหรับการเปิดตลาดใหม่เพิ่มเติมตามนโยบายของกระทรวงพาณิชย์ โดยเน้นตลาดใหม่ ที่มีกำลังซื้อสูง แต่ยังมีมูลค่าการค้ากับไทยไม่มากนัก จึงเป็นโอกาสสำหรับผู้ส่งออกไทยที่จะหาโอกาสขยายการค้าในตลาดใหม่

สนค. พบว่า กลุ่ม GCC ถือเป็นกลุ่มที่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจของภูมิภาคตะวันออกกลาง มูลค่าจีดีพีของกลุ่มประเทศ GCC คิดเป็นสัดส่วน 46.7% ของจีดีพี รวมของภูมิภาคตะวันออกกลาง รวมถึงทุกประเทศมีรายได้ต่อหัวเฉลี่ยสูงกว่าไทย โดยในปี 2565 กาตาร์ เป็นประเทศที่มีรายได้ต่อหัวสูงที่สุดในกลุ่มประเทศ GCC อยู่ที่ 88,046 เหรียญสหรัฐฯ สูงกว่าไทยถึง 12.7 เท่า และมีจำนวนประชากรรวม 58.9 ล้านคน ใกล้เคียงจำนวนประชากรของไทย โดยซาอุดีอาระเบียเป็นประเทศมีประชากรมากที่สุดในกลุ่มประเทศ GCC คิดเป็น 61% ของประชากรทั้งหมดในกลุ่มประเทศ GCC สำหรับการค้าระหว่างประเทศ แหล่งนำเข้าสำคัญของกลุ่มประเทศ GCC 3 ลำดับแรก คือ จีน, อินเดีย และสหรัฐฯ โดยไทยเป็นแหล่งนำเข้าลำดับที่ 19 คิดเป็น 1.4% ของมูลค่าการนำเข้าทั้งหมด

แม้ว่าปัจจุบันไทยส่งออกไปยังตลาดกลุ่มประเทศความร่วมมืออ่าวอาหรับได้ไม่มาก แต่สินค้าไทยยังมีโอกาสเข้าถึงตลาดกลุ่มประเทศความร่วมมืออ่าวอาหรับได้อีก จากข้อมูลการส่งออกของไทย 8 เดือนแรกของปี 2566 ไปยังกลุ่มประเทศ GCC มีมูลค่ารวม 4,588 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัว 4.2% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า ซึ่งคิดเป็น 2.4% ของมูลค่าส่งออกทั้งหมดจากไทยไปโลก โดยตลาดส่งออกหลัก ได้แก่ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และซาอุดีอาระเบีย ซึ่งมีสัดส่วนการส่งออกของไทยไปยังกลุ่มประเทศ GCC 44.6% และ 37.3% ตามลำดับ ซึ่งตลาดส่งออกรองลงมา คือ คูเวต, โอมาน, กาตาร์ และบาห์เรน ตามลำดับ

โดยมีสินค้าส่งออกหลัก เช่น รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ไฟเบอร์บอร์ด เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ เป็นต้น สำหรับในระยะต่อไป สนค. มองว่าไทยมีสินค้าศักยภาพหลายรายการที่มีโอกาสเจาะตลาดในกลุ่มประเทศความร่วมมืออ่าวอาหรับได้เพิ่มเติม โดยสินค้าที่มีศักยภาพในการส่งออกเพิ่มเติม แบ่งเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ สินค้าดาวเด่น, สินค้าศักยภาพ และสินค้าแนะส่งเสริม โดยมีรายละเอียด ดังนี้

สินค้าดาวเด่น เป็นสินค้าส่งออกหลักของไทยในกลุ่มประเทศ GCC ที่มีแนวโน้มเติบโตดี สะท้อนว่าตลาดยังมีความต้องการ โดยใน 8 เดือนแรกของปี 2566 ประเทศไทยส่งออก ‘รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ’ สัดส่วน 37% ของสินค้าส่งออกไทยไปกลุ่มประเทศ GCC ทั้งหมด ขยายตัวสูงถึง 17.1% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า และส่งออก ‘ยางยานพาหนะ’ สัดส่วน 4.1% ขยายตัว 19.8% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า โดยในปี 2565 ไทยครองส่วนแบ่งตลาด รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ในตลาดกลุ่มประเทศ GCC อยู่ที่ 5.6% และ ยางยานพาหนะที่ 7.4% ซึ่ง สนค. มองว่าสินค้าดังกล่าวยังมีโอกาสขยายการส่งออกและขยายส่วนแบ่งตลาดได้อีก

สินค้าศักยภาพ เป็นสินค้าที่ไทยมีศักยภาพ แต่มีส่วนแบ่งของไทยในตลาดกลุ่มประเทศ GCC ต่ำกว่าส่วนแบ่งของไทยในตลาดโลก ได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ซึ่งปี 2565 ไทยครองส่วนแบ่งในตลาดกลุ่มประเทศ GCC อยู่ที่ 1.1% เปรียบเทียบกับส่วนแบ่งของไทยในตลาดโลกที่ 4.3% ขณะที่การส่งออกใน ช่วง 8 เดือนแรกปี 2566 ขยายตัวที่ 1.4% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า และ เครื่องประดับแท้ ซึ่งไทยครองส่วนแบ่งในตลาดกลุ่มประเทศ GCC อยู่ที่ 1.9% เปรียบเทียบกับส่วนแบ่งของไทยในตลาดโลกที่ 5% ขณะที่การส่งออกในช่วง 8 เดือนแรกปี 2566 เพิ่มขึ้น 14.5% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า

สินค้าแนะส่งเสริม เป็นสินค้าที่ตลาดมีความต้องการ แต่กลุ่มประเทศ GCC ยังนำเข้าจากไทย ค่อนข้างน้อย หรือมูลค่าการนำเข้าจากไทยมีไม่ต่อเนื่อง จึงเป็นสินค้าไทยที่แนะนำให้เข้าไปเปิดตลาดใหม่ ได้แก่ ‘ไก่’ และ ‘ข้าว’ อย่างไรก็ดี การเข้าสู่ตลาดใหม่ในสินค้าดังกล่าวเป็นเรื่องที่ท้าทายทั้งจากคู่แข่งทางการค้าเดิม ที่มีส่วนแบ่งตลาดค่อนข้างสูง และมาตรฐานสินค้าและกฎระเบียบในกลุ่มประเทศที่ค่อนข้างสูงกว่ากลุ่มประเทศอื่น

“ตลาดกลุ่มประเทศ GCC เป็นตลาดที่น่าจับตามอง แต่ไทยยังมีการค้ากับประเทศเหล่านี้ค่อนข้างน้อย มีโอกาสเข้าสู่ตลาดนี้ได้อีกมาก นอกจากนี้ ไทยมีสินค้าที่มีศักยภาพหลายรายการที่สามารถเข้าไปเจาะตลาดกลุ่มนี้เพิ่มเติม จากการวิเคราะห์ด้วย ‘Data Analytics Dashboard’ แม้ปัจจุบัน ไทยจะส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมไปยังกลุ่มประเทศ GCC เป็นหลัก หรือมากกว่า 88% ของมูลค่าการส่งออกจากไทย แต่จะเห็นได้ว่าไทยมีศักยภาพเจาะตลาดสินค้าเกษตรและอาหารด้วย โดยเฉพาะสินค้าไก่และข้าว

ซึ่งปัจจุบันกระทรวงพาณิชย์ อยู่ระหว่างการเจรจาจัดทำความตกลงการค้าเสรี (FTA) ไทยกับสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ คาดว่าจะสรุปผลการเจรจาได้ในปี 2566 นอกจากนี้ ความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างไทยกับซาอุดีอาระเบีย ดีขึ้นอย่างมากหลังการฟื้นฟูความสัมพันธ์ระหว่างกัน อีกครั้ง กระทรวงพาณิชย์มีแผนเจรจา FTA ระหว่างไทยกับกลุ่มประเทศ GCC ในอนาคตอีกด้วย” นายพูนพงษ์ กล่าว

‘ผู้แทนการค้าไทย’ หารือความร่วมมือฯ ทูต ‘กลุ่มประเทศเบเนลักซ์’ หวังเจาะตลาดยุโรปเพิ่ม ผลักดันเอฟทีเอ ‘ไทย-อียู’ สำเร็จใน 2 ปี

(27 ต.ค. 66) นางนลินี ทวีสิน ผู้แทนการค้าไทย เปิดเผยถึงการหารือกับเอกอัครราชทูตกลุ่มประเทศเบเนลักซ์ประจำประเทศไทย นางซีบีย์ เดอ การ์ตีเย ดีฟว์ เอกอัครราชทูตราชอาณาจักรเบลเยียม, นายแพทริก เฮมเมอร์ เอกอัครราชทูตราชรัฐลักเซมเบิร์ก และนายเร็มโก โยฮันเนิส ฟัน ไวน์คาร์เดิน เอกอัครราชทูตราชอาณาจักรเนเธอร์แลนด์ เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลนโยบายและแนวทางยกระดับความร่วมมือระหว่างประเทศไทย กับสหภาพยุโรปและกลุ่มประเทศเบเนลักซ์ โดยเฉพาะเรื่องการจัดทำความตกลงเขตการค้าเสรี (FTA) ไทย-สหภาพยุโรป ที่เป็นคู่ค้าอันดับ 4 ของไทย รองจากจีน สหรัฐฯ และญี่ปุ่น ไม่รวมอาเซียน โดยการค้ารวมมีมูลค่า 41,038.10 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือคิดเป็น 6.95% ของการค้าไทยในตลาดโลก

นางนลินี กล่าวว่า การเจรจาความตกลงฯ ไทย-สหภาพยุโรป หยุดชะงักมาตั้งแต่ปี 2557 ต่อมาเดือน มี.ค. 2566 ทั้งสองฝ่ายได้ร่วมกันประกาศเปิดการเจรจาอย่างเป็นทางการ โดยวางแผนว่าจะจัดการประชุมปีละ 3 ครั้ง ตั้งเป้าเบื้องต้นเพื่อหาข้อสรุปการเจรจาภายใน 2 ปี โดยเริ่มเจรจารอบแรก ณ กรุงบรัสเซลล์ เมื่อวันที่ 18 - 22 ก.ย. ที่ผ่านมา โดยการเจรจาเป็นไปด้วยดี และเราหวังว่าจะได้รับการสนับสนุนการเจรจา เพื่อให้สามารถสรุปผลและบังคับใช้ได้โดยเร็ว ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการสร้างโอกาสทางการค้าและการลงทุนระหว่างไทยกับสหภาพยุโรป รวมถึงประเทศเบลเยียม เนเธอร์แลนด์ และลักเซมเบิร์ก ด้วย และไทยมีกำหนดเป็นเจ้าภาพจัดการเจรจารอบต่อไปในเดือน ม.ค. 2567

นางนลินี กล่าวว่า นายกรัฐมนตรี เน้นย้ำว่า รัฐบาลมีแนวทางสร้างรายได้โดยใช้การทูตเศรษฐกิจเชิงรุก เพื่อเปิดประตูการค้าสู่ตลาดใหม่ หนึ่งในนั้นคือ กลุ่มสหภาพยุโรป และมุ่งเน้นพัฒนาเศรษฐกิจใหม่ เช่น พัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล อุตสาหกรรมเทคโนโลยีขั้นสูง อุตสาหกรรมสีเขียว และสานต่อนโยบาย Carbon Neutrality ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายข้อตกลงสีเขียว (EU Green Deal) ของสหภาพยุโรป ที่ต้องการสร้างสังคมที่เป็นธรรมบนพื้นฐานเศรษฐกิจที่ทันสมัย ใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ และตั้งเป้าลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง 55% ภายในปี 2030 และลดเป็นศูนย์ภายในปี 2050

ทั้งนี้ ไทยคาดหวังว่าจะมีการพูดคุยและร่วมมือเชิงลึกเกี่ยวกับมาตรการ การรายงานข้อมูลการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของสินค้าแต่ละชนิด เพื่อลดภาระของผู้ประกอบการไทยในการส่งสินค้าออกไปยังสหภาพยุโรปต่อไป

ปิดดีล 'FTA ไทย–ศรีลังกา' เตรียมลงนามเดือน ก.พ.67 มั่นใจ!! 'ทรัพยากรสมบูรณ์-ขนส่งทางเรือแกร่ง' เอื้อประโยชน์ไทย

(28 ธ.ค. 66) น.ส.โชติมา เอี่ยมสวัสดิกุล อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยถึงผลการประชุมเจรจา FTA ไทย-ศรีลังกา รอบที่ 9 ระหว่างวันที่ 18-20 ธ.ค.66 ที่ผ่านมา ณ กรุงโคลัมโบ โดยมีนางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ในฐานะที่ปรึกษาหัวหน้าคณะเจรจา FTA นำคณะผู้แทนไทยเข้าร่วมการประชุมดังกล่าว ว่า ที่ประชุมสามารถสรุปผลการเจรจา FTA ไทย-ศรีลังกา ได้ตามเป้าหมาย โดยครอบคลุมการค้าสินค้า การค้าบริการ การลงทุน และความร่วมมือทางเศรษฐกิจ และหลังจากนี้ แต่ละฝ่ายจะดำเนินกระบวนการภายใน เพื่อนำไปสู่การลงนามความตกลงฯ ต่อไป

ทั้งนี้ ในส่วนของไทย กระทรวงพาณิชย์จะนำเสนอผลการเจรจาต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อขอความเห็นชอบให้มีการลงนามความตกลงฯ ในช่วงการเดินทางเยือนศรีลังกาอย่างเป็นทางการของนายกรัฐมนตรี ตามคำเชิญของประธานาธิบดีศรีลังกาในช่วงต้นเดือน ก.พ.2567

“การสรุปผลการเจรจาครั้งนี้ ถือเป็นความสำเร็จของกระทรวงพาณิชย์ เนื่องจากเป็นหนึ่งในนโยบาย Quick Win ที่ต้องทำให้สำเร็จภายใน 99 วันเเรกของรัฐบาล โดยเป็น FTA ฉบับแรกของรัฐบาลชุดนี้ และนับเป็น FTA ฉบับที่ 15 ของไทย”น.ส.โชติมากล่าว

น.ส.โชติมา กล่าวว่า แม้ศรีลังกาจะเป็นประเทศขนาดเล็ก มีประชากรเพียง 22 ล้านคน แต่มีจุดเด่นด้านที่ตั้ง ซึ่งเป็นเกาะในมหาสมุทรอินเดีย โดยเป็นจุดยุทธศาสตร์ของการขนส่งทางเรือ และมีทรัพยากรธรรมชาติอุดมสมบูรณ์ เช่น แร่รัตนชาติ แร่แกรไฟต์ และสัตว์ทะเล โดยสินค้าไทยที่คาดว่าจะได้รับประโยชน์ ได้แก่ ยานยนต์  สิ่งทอ อัญมณี โลหะ เครื่องใช้ไฟฟ้า เครื่องจักรกล เม็ดพลาสติก ผลิตภัณฑ์เหล็ก กระดาษ ถุงมือยาง อาหารปรุงแต่ง อาหารสัตว์ เมล็ดข้าวโพด ภาคบริการที่ได้รับประโยชน์ เช่น การเงิน ประกันภัย คอมพิวเตอร์ ก่อสร้าง ท่องเที่ยว และวิจัยและพัฒนา และด้านการลงทุนที่ได้รับประโยชน์ ได้แก่ สาขาการผลิตอาหารแปรรูป การผลิตรถยนต์และส่วนประกอบ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ สิ่งทอ แบตเตอรี่ และอุปกรณ์การแพทย์

ในช่วง 10 เดือนของปี 2566 (ม.ค.-ต.ค.) การค้าระหว่างไทยและศรีลังกา มีมูลค่า 320.37 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยไทยส่งออกไปศรีลังกา มูลค่า 213.49 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และไทยนำเข้าจากศรีลังกา มูลค่า 106.88 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สินค้าส่งออกสำคัญ เช่น ยางพารา ผ้าผืน อัญมณีและเครื่องประดับ เม็ดพลาสติก และเครื่องจักรกลและส่วนประกอบ และสินค้านำเข้าสำคัญ เช่น เครื่องเพชรพลอยและอัญมณี เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ เสื้อผ้าสำเร็จรูป พืชและผลิตภัณฑ์จากพืช และเคมีภัณฑ์

‘นายกฯ’ ยินดี!! ‘ไทย-ศรีลังกา’ ลงนามข้อตกลงการค้าเสรี FTA พร้อมร่วมมือพัฒนาอัญมณี-หนุนการยกเว้นวีซ่าระหว่าง 2 ชาติ

เมื่อวันที่ 3 ก.พ. 67 นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้โพสต์ข้อความแสดงความดีใจ ที่รัฐบาลไทยได้เป็นแขกพิเศษในงานฉลองเอกราช 76 ปี ของศรีลังกา โดยระบุว่า…

“ดีใจที่รัฐบาลไทยได้เป็นแขกพิเศษในงานฉลองเอกราช 76 ปีของศรีลังกา ขณะที่การหารือก็มีผลเป็นที่น่าพอใจ โดยมีการลงนามข้อตกลงการค้าเสรี FTA ซึ่งครอบคลุมเรื่องอัญมณี ซึ่งมี MOU ด้านความร่วมมือการวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับ ซึ่งจะส่งผลดีต่อทั้ง 2 ประเทศ”

นายกรัฐมนตรี ยังระบุเพิ่มเติมว่า นอกจากนี้ ยังมีการลงนามความตกลงด้านบริการการเดินอากาศระหว่างกัน และผลักดันการยกเว้น Visa ให้ชาวไทย-ศรีลังกา เดินทางไปมาได้สะดวกขึ้น ซึ่งจะเป็นแรงส่งให้การค้า การลงทุน และการท่องเที่ยวของทั้ง 2 ประเทศพัฒนาไปได้เร็วขึ้นด้วย โดยบริษัทการบินไทยจะเริ่มเที่ยวบิน กรุงเทพฯ-โคลัมโบ ในวันที่ 31 มี.ค. 67 นี้

“ไทยยินดีสนับสนุนการพัฒนาการประมงของศรีลังกาที่มุ่งสู่ความทันสมัย เพิ่มความร่วมมือด้านพลังงานสะอาดและจะจับมือกันเพิ่มศักยภาพด้านการเดินทะเล ความมั่นคงทางทะเล และการป้องกันประเทศด้วย” นายเศรษฐา ระบุทิ้งท้าย

‘กรมการค้าต่างประเทศ’ คิกออฟ!! งานใหญ่เสริมแกร่ง SME 8-9 พ.ค.นี้ เอื้อโอกาส SME ไทยก้าวไกลด้วยสิทธิประโยชน์ทางการค้าต่างแดน

(4 พ.ค.67) กรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ จัดงานใหญ่ให้ความรู้ผู้ประกอบการ เพื่อนำไปต่อยอดและขยายโอกาสธุรกิจสู่ตลาดต่างประเทศ โดยเฉพาะ ผู้ประกอบการ SME รวมถึงผู้สนใจทั่วไป ภายใต้โครงการส่งเสริม SME ให้แข่งขันได้ในตลาดสากล เรื่อง “FAST, FUTURE, FREE TRADE ขยายโอกาส SME ไทยก้าวไกลด้วยสิทธิประโยชน์ทางการค้า” ในวันที่ 8, 9 พฤษภาคม 2567 เวลา 09.00 – 16.30 น. ณ โรงแรม The Tide Resort Bangsaen Beach, Thailand จังหวัดชลบุรี

งานนี้ กรมการค้าต่างประเทศ นำขบวนทัพนักวิชาการให้ความรู้ด้านสิทธิประโยชน์ทางการค้าภายใต้ FTA โดยเฉพาะการเตรียมความพร้อมกับความตกลงใหม่ล่าสุด กับความตกลงการค้าเสรีไทย - ศรีลังกา 🇹🇭รวมถึงการสมัครบัญชีผู้ใช้งานผ่านระบบ DFT SMART – I และการออกหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าด้วยระบบ DFT SMART C/O รวมถึงการตรวจคุณสมบัติของสินค้าทางด้านถิ่นกำเนิดผ่านระบบ ROVERs PLUS 

เพราะสิทธิประโยชน์ทางการค้า คือ กุญแจสำคัญในการสร้างโอกาสให้ผู้ประกอบการขยายธุรกิจสู่ตลาดการค้าต่างประเทศ

พร้อมแล้วหรือยังกับการไขกุญแจเพื่อเปิดรับความรู้ดี ดี สิทธิประโยชน์ทางการค้า อย่าลืม อย่าพลาด...โอกาสดี ดี รีบลงทะเบียนด่วน

ฟรี...ฟรี มีที่นี่ กรมการค้าต่างประเทศ

‼️สนใจลงทะเบียนได้ที่ ‼️

วันที่ 8 พฤษภาคม 2567  https://forms.gle/LKVmVNc5Wf8YyjpN6

วันที่ 9 พฤษภาคม 2567  https://forms.gle/Ud74PVMatyrejQ5V7

สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ 
📞 081-701-4654 , 063-792-4412
📞สายด่วน 1385
👉🏻Facebook กรมการค้าต่างประเทศ DFT
💻 www.dft.go.th


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top