Monday, 29 April 2024
กระทรวงพาณิชย์

‘จุรินทร์’ เผย เริ่มจ่ายเงินประกันรายได้ยางพาราปี 4 แล้ว แนะ ชาวสวนยางอัปเดตสมุดบัญชี ธกส. เพื่อรับเงินส่วนต่าง

(18 เม.ย.66) นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวก่อนการประชุมคณะรัฐมนตรี ประเด็นการเดินหน้าโครงการประกันรายได้ ปี 4 ที่บริเวณหน้าตึกสันติไมตรี (หลังนอก) ทำเนียบรัฐบาล

นายจุรินทร์กล่าวว่า โครงการประกันรายได้เราเดินหน้าปี 4 ทุกตัว แต่ตอนนี้การจ่ายเงินส่วนต่างในส่วนของข้าวโพด ปาล์มน้ำมัน มันสำปะหลังไม่มี เพราะราคาดีมาก มันสำปะหลังเราประกันที่ 2.50 บาท/กก. ตอนนี้ไป 3 บาทกว่าเกือบ 4 บาท/กก. และข้าวโพดประกันรายได้ที่ 8.50 บาท/กก. ตอนนี้ไป 12 บาท/กก. ส่วนปาล์มน้ำมัน ประกันรายได้ 4 บาท/กก. ตอนนี้ 5-6 บาท/กก. ยังอยู่ในเกณฑ์ที่ถือว่าดี ข้าวตอนนี้ราคาเกือบถึงราคาที่ประกัน ถือว่ายังราคาดีอยู่ ข้าวบางตัวราคาสูงกว่าที่ประกัน ส่วนยางพาราต้องจ่าย ซึ่งยางพาราปี 4 เริ่มจ่ายส่วนต่างแล้ว ขอเรียนข่าวดีให้พี่น้องชาวสวนยางทั่วประเทศ เริ่มจ่ายตั้งแต่ 12 เมษายน และจะทยอยจ่ายไปจนถึงสิ้นเดือนพฤษภาคม มีวงเงินเตรียมไว้แล้ว 7,000 กว่าล้านบาทเสนอผ่านครม.ไปแล้ว

‘จุรินทร์’ ประกาศนับหนึ่ง FTA ‘ไทย-สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์’ สร้างแต้มต่อการค้าไทย เปิดประตูสู่ตะวันออกกลาง

(18 เม.ย.66) นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวก่อนการประชุมคณะรัฐมนตรี ประเด็นความคืบหน้าการทำ FTA ระหว่างไทยกับสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ที่บริเวณหน้าตึกสันติไมตรี (หลังนอก) ทำเนียบรัฐบาล

นายจุรินทร์กล่าวว่า ตนเพิ่งเดินทางไปสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ยูเออี) ตั้งใจไปเจรจาทำ FTA ระหว่างไทยกับยูเออี เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา หลังจากนั้น ภายใน 3 เดือนไทยและยูเออีสามารถตกลงกันได้ว่าจะมีการประกาศนับหนึ่งการเจรจายกร่าง FTA ระหว่างกันอย่างเป็นทางการ โดยได้นัดหมายกับรัฐมนตรีที่มีหน้าที่โดยตรงของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์เพื่อประกาศเจรจาในวันที่ 9 พฤษภาคมที่จะถึงนี้ ช่วงเที่ยง ถือว่าเป็นวันประวัติศาสตร์อีกวันหนึ่งที่เราสามารถทำ FTA กับยูเออีได้ภายในเวลา 3 เดือนหลังจากตนเดินทางไปเจรจา จะมีผลช่วยให้ได้แต้มต่อในการส่งสินค้าไปยังกลุ่มประเทศตะวันออกกลาง ถ้าเราได้ภาษีเป็นศูนย์ในการส่งไปยูเออีหรือดูไบ จะได้สิทธิกับกลุ่มประเทศความร่วมมืออ่าวอาหรับ (Gulf Cooperation Council หรือ GCC ประกอบด้วยสมาชิก 6 ประเทศ ได้แก่ ซาอุดีอาระเบีย คูเวต โอมาน สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ กาตาร์ และบาห์เรน) ไปด้วย

‘บิ๊กตู่’ มั่นใจ!! ภาพรวมเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวดีขึ้น เผย ยอดจดทะเบียนธุรกิจใหม่พุ่ง สูงสุดในรอบ 10 ปี

นายกฯ เชื่อมั่นเศรษฐกิจภาพรวมไทยดีขึ้น ยอดจดทะเบียนธุรกิจใหม่เดือนมีนาคม 2566 กว่า 9 พันราย สูงสุดในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา คาดการณ์ว่าปี 2566 จะมียอดจดประมาณถึง 72,000 – 77,000 ราย

(29 เม.ย. 66) นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า เศรษฐกิจไทยในภาพรวม และสถานการณ์การท่องเที่ยว ฟื้นตัวดีขึ้นช่วยให้มีการจดทะเบียนธุรกิจใหม่ในเดือนมีนาคม 2566 ถึงกว่า 9 พันราย เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า (มีนาคม 2565) ถึงร้อยละ 28 ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เชื่อมั่นเศรษฐกิจประเทศมีศักยภาพ สถานการณ์การเงินการคลังของประเทศอยู่ในเกณฑ์ดี ต่างประเทศยอมรับในเศรษฐกิจของประเทศ และมีความเชื่อมั่นในเสถียรภาพการเงิน

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยภาพรวมการจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจเดือนมีนาคม 2566 มีการจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจใหม่จำนวน 9,179 ราย เพิ่มขึ้นจากเดือนกุมภาพันธ์ 2566 เกือบร้อยละ 8 ในขณะที่หากเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา (มีนาคม 2565) เพิ่มขึ้นคิดเป็นร้อยละ 28 โดย 3 ประเภทธุรกิจจัดตั้งใหม่สูงสุด ได้แก่ ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ 752 ราย ธุรกิจก่อสร้างอาคารทั่วไป 699 ราย และธุรกิจภัตตาคาร/ร้านอาหาร 440 ราย ตามลําดับ ซึ่งเป็นตัวเลขทุนจดทะเบียนรวม 299,608.53 ล้านบาท ทำให้จำนวนรวมในไตรมาสแรก (มกราคม – มีนาคม) ของปี 2566 มียอดการจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจใหม่จำนวน 26,182 ราย

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า จากสถิติเดือนมีนาคม 2557 – ปี 2566 ทำให้ยอดการจัดตั้งธุรกิจในเดือนมีนาคม 2566 เป็นยอดสูงสุดในรอบ 10 ปีเช่นเดียวกับเดือนมกราคม 2566 และกุมภาพันธ์ 2566 ที่ผ่านมา สะท้อนให้เห็นว่า เศรษฐกิจในประเทศมีการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง จากสถิติการจดทะเบียนรายเดือนและรายไตรมาสที่เพิ่มขึ้น โดยกรมพัฒนาธุรกิจการค้ายังได้คาดการณ์ว่า การจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจใหม่ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2566 จะอยู่ที่ประมาณ 40,000 – 42,000 ราย และตลอดทั้งปี 2566 อยู่ที่ประมาณ 72,000 – 77,000 ราย

“นายกรัฐมนตรีเชื่อมั่นในศักยภาพของเศรษฐกิจไทย จากสัญญาณการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่แข็งแกร่ง โดยเฉพาะในภาคบริการที่มีสัญญาณจากการจัดตั้งบริษัทใหม่จำนวนมาก ซึ่งเงินหมุนเวียนที่เกิดจากการจับจ่ายใช้สอย กิจกรรมทางเศรษฐกิจที่มากขึ้น ส่งผลถึงความเชื่อมั่นของผู้บริโภค และความเชื่อมั่นทางธุรกิจปรับที่ตัวเพิ่มขึ้น จะเป็นอีกแรงบวกที่ส่งผลต่อความเชื่อมั่นในการดำเนินธุรกิจในทุกระดับและจะส่งผลถึงในการพัฒนาเศรษฐกิจภาพรวม” นายอนุชากล่าว

‘จุรินทร์’ แจ้งข่าวดีชาวนา เตรียมรับเงินประกันรายได้ข้าว งวด 29 พร้อมโอนเข้ากระเป๋า 3 พ.ค.นี้ เพื่อชดเชยราคาข้าวเปลือกหอมมะลิ

(30 เม.ย. 66) นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ได้รับรายงานจากนายวัฒนศักย์ เสือเอี่ยม อธิบดีกรมการค้าภายใน ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการกำกับดูแลและกำหนดเกณฑ์กลาง อ้างอิงโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ระบุว่า สำหรับการจ่ายเงินส่วนต่างตามนโยบายประกันรายได้เกษตรกรปี 4 นั้น ราคาเกณฑ์กลางอ้างอิงตามโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี 2565/66 งวดที่ 29 สำหรับเกษตรกรที่เก็บเกี่ยวระหว่างวันที่ 22-28 เมษายน 66 ดังนี้

1) ข้าวเปลือกหอมมะลิ สิ้นสุดฤดูเก็บเกี่ยว

2) ข้าวเปลือกหอมมะลินอกพื้นที่ เกณฑ์กลางตันละ 13, 622.75 บาท ชดเชยตันละ 377.25 บาท

3) ข้าวเปลือกหอมปทุมธานี เกณฑ์กลางตันละ 11,132.26 บาท ไม่ต้องชดเชยเนื่องจากราคาเกณฑ์กลางสูงกว่าเป้าหมาย

ต่างชาติขนเงินลงทุนไทย 4 เดือนแรก ทะลุ!! 3.8 หมื่น ลบ. เพิ่มขึ้น 6% จากปี 65 ‘ญี่ปุ่น’ ครองแชมป์อันดับ 1  

(19 พ.ค. 66) นายทศพล ทั้งสุบุตร อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว รายงานว่าในเดือน เม.ย. 66 มีการอนุญาตให้คนต่างชาติประกอบธุรกิจในประเทศไทย จำนวน 43 ราย เป็นการลงทุนผ่านช่องทางการขอรับใบอนุญาตประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว จำนวน 13 ราย และการขอหนังสือรับรองการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว จำนวน 30 ราย เงินลงทุนทั้งสิ้น 5,654 ล้านบาท จ้างงานคนไทย 487 คน ส่วนใหญ่เป็นคนต่างชาติจากประเทศญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา และสิงคโปร์

ขณะที่ช่วง 4 เดือนแรกปี 2566 (ม.ค. – เม.ย.) ได้อนุญาตให้คนต่างชาติเข้ามาลงทุนประกอบธุรกิจในประเทศไทย ภายใต้ พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542 จำนวน 217 ราย เป็นการลงทุนผ่านช่องทางการขอรับใบอนุญาตประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว 69 ราย และการขอหนังสือรับรองการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว 148 ราย เม็ดเงินลงทุนทั้งสิ้น 38,702 ล้านบาท จ้างงานคนไทย 2,419 คน

โดยชาวต่างชาติที่เข้ามาลงทุน 5 อันดับแรก ได้แก่ ญี่ปุ่น 55 ราย (คิดเป็น 25%) เงินลงทุน 14,024 ล้านบาท, สิงคโปร์ 35 ราย (16%) เงินลงทุน 4,854 ล้านบาท, สหรัฐอเมริกา 34 ราย (15%) เงินลงทุน 1,725 ล้านบาท, จีน 14 ราย (6%) เงินลงทุน 11,230 ล้านบาท, สมาพันธรัฐสวิส 11 ราย (5%) เงินลงทุน 1,692 ล้านบาท และอื่น ๆ 68 ราย (33%) เงินลงทุน 5,177 ล้านบาท

รวมถึงมีการถ่ายทอดเทคโนโลยีอันเป็นองค์ความรู้เฉพาะด้านโดยตรง จากประเทศผู้เข้ามาลงทุนให้แก่คนไทย เช่น องค์ความรู้เกี่ยวกับการใช้งานสลิงและอุปกรณ์ช่วยยกในงานขุดเจาะปิโตรเลียม, องค์ความรู้เกี่ยวกับการออกแบบระบบไฟฟ้า และอิเล็กทรอนิกส์ในโครงการรถไฟฟ้า, องค์ความรู้เกี่ยวกับการทำงานของระบบการให้บริการรายการโทรทัศน์ ผ่านเครือข่ายอินเตอร์เน็ต (Internet Protocol Television : IPTV), องค์ความรู้เกี่ยวกับวิธีการแก้ไขปัญหาในการใช้งานยางล้ออากาศยาน และองค์ความรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยีการแก่ไขปัญหาเครื่องอัดอากาศ เป็นต้น

ทั้งนี้ ในช่วง 4 เดือนแรกปีนี้ มีการอนุญาตให้คนต่างชาติเข้ามาลงทุนประกอบธุรกิจในประเทศไทย 217 ราย เพิ่มขึ้น 11% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน มูลค่าการลงทุน 38,702 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 6% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และจ้างงานคนไทย 2,419 คน เพิ่มขึ้น 6% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยจำนวนชาวต่างชาติที่เข้ามาลงทุนสูงสุด คือ ‘ญี่ปุ่น’

โดยธุรกิจที่ได้รับอนุญาตในช่วงเดือน ม.ค. – เม.ย. 66 ส่วนใหญ่เป็นธุรกิจที่สอดคล้องกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ นโยบายการส่งเสริมการลงทุนเพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ อาทิ บริการขุดเจาะหลุมปิโตรลียมภายในบริเวณพื้นที่แปลงสำรวจที่ได้รับ สัมปทานในอ่าวไทย บริการออกแบบ จัดซื้อ จัดหา ติดตั้ง ปรับปรุง พัฒนา ทดลองระบบ เชื่อมระบบ และการเปิดใช้งาน ตลอดจนการบริหารจัดการ สำหรับโครงการรถไฟฟ้า

บริการก่อสร้าง รวมทั้งติดตั้งและทดสอบเกี่ยวกับการวางท่อส่งก๊าซธรรมชาติ และสถานีควบคุมก๊าซธรรมชาติ และสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ สำหรับโครงการระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติบนบก ดังนี้

บริการทางวิศวกรรมและเทคนิค เช่น การให้คำปรึกษาและแนะนำเชิงเทคนิค การแก้ไขปัญหาด้านเทคนิค รวบรวมข้อมูลด้านเทคนิค เป็นต้น

บริการกิจการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (e-Commerce) โดยเป็นการให้บริการแพลตฟอร์มกลางสำหรับซื้อ-ขายสินค้า

บริการเป็นศูนย์กลางธุรกิจระหว่างประเทศ ซึ่งให้บริการแก่กิจการของวิสาหกิจในเครือในต่างประเทศ

ส่วนการลงทุนในพื้นที่ EEC ของนักลงทุนต่างชาติ ช่วง 4 เดือนแรกปี 2566 (ม.ค. – เม.ย.) มีนักลงทุนต่างชาติสนใจลงทุนในพื้นที่ EEC จำนวน 43 ราย คิดเป็น 20% ของจำนวนนักลงทุนทั้งหมด โดยมีมูลค่าการลงทุนในพื้นที่ EEC จำนวน 7,521 ล้านบาท คิดเป็น 19% ของเงินลงทุนทั้งหมด โดยเป็นนักลงทุนจากประเทศญี่ปุ่น 17 ราย ลงทุน 2,816 ล้านบาท, จีน 8 ราย ลงทุน 725 ล้านบาท, ฮ่องกง 3 ราย ลงทุน 2,920 ล้านบาท และประเทศอื่น ๆ อีก 15 ราย ลงทุน 1,058 ล้านบาท

โดยธุรกิจที่ลงทุน อาทิ
1.) บริการให้คำปรึกษาแนะนำด้านการบริหารจัดการกระบวนการการผลิต ด้านการบริหารจัดการคุณภาพสินค้า และด้านการบริหารจัดการระบบการซ่อมแซมบำรุงรักษาเครื่องจักรที่ใช้ในการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์

2.) บริการทางวิศวกรรมและเทคนิค เช่น การออกแบบเครื่องจักร เครื่องกล เครื่องมือและอุปกรณ์

3.) บริการรับจ้างผลิตเครื่องจักร และชิ้นส่วนเครื่องจักรสำหรับอุตสาหกรรม 

4.) บริการรับจ้างผลิตชิ้นส่วนพลาสติกสำหรับอุตสาหกรรมต่าง ๆ

5.) การค้าระหว่างประเทศ โดยเป็นการจัดซื้อสินค้า วัตถุดิบ และชิ้นส่วนสำหรับอุตสาหกรรมต่าง ๆ เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์เพื่อค้าส่งในประเทศ เป็นต้น

‘สนค.’ ชี้เป้าผู้ประกอบการไทย เล็งขายสินค้าออนไลน์เจาะ ‘ตลาดจีน’ หลังพบมีการเติบโตต่อเนื่อง จากการที่คนจีนใช้อินเทอร์เน็ตเพิ่มขึ้น

(12 ก.ย.66) นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า สนค. ได้ทำการศึกษาการเติบโตของการค้าออนไลน์ข้ามพรมแดน หรือ Cross-border e-Commerce (CBEC) พบว่า มีการเติบโตเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะตลาดจีน ซึ่งเป็นตลาดหลักที่สำคัญของไทย โดยมีปัจจัยจากการเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมากของจำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ต โดยปี 2565 มีจำนวน 1.067 พันล้านคน เพิ่มขึ้น 35.49 ล้านคน เมื่อเทียบกับปี 2564 และการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนไป หันมาใช้ e-Commerce มากขึ้น

ทั้งนี้ ยังพบว่า รัฐบาลจีนมีมาตรการและนโยบายสนับสนุน เช่น การจัดตั้งเขตนำร่องบูรณาการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ข้ามพรมแดน จำนวน 165 แห่ง ครอบคลุม 33 เมือง อาทิ หางโจว ปักกิ่ง เซี่ยงไฮ้ คุนหมิง และเฉิงตู เชื่อมโยงระหว่างทางบก ทางทะเล ทั้งในประเทศและระหว่างประเทศ เพื่อส่งเสริมการส่งออกโดยเฉพาะสินค้าของ SMEs จีน ไปยังแพลตฟอร์มออนไลน์ในต่างประเทศและส่งเสริมการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศ เพื่อมาจำหน่ายบนแพลตฟอร์มออนไลน์ในจีน โดยผู้ประกอบการจะได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีและมีขั้นตอนพิธีการศุลกากรที่ง่ายกว่าการค้าระหว่างประเทศแบบปกติ และมีการส่งเสริมความเชื่อมโยงระหว่างจีนกับต่างประเทศผ่านการลงนามในสัญญาความร่วมมือระยะยาวระหว่างรัฐบาลจีนกับบริษัทด้านการค้าระหว่างประเทศและบริษัทด้านการขนส่งทางทะเล รวมทั้งการส่งเสริมบริษัทคลังสินค้าในต่างประเทศให้เชื่อมโยงกับแพลตฟอร์ม E-Commerce ทั้งของจีนและต่างประเทศ

สำหรับการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศสู่ตลาดจีนผ่านทางแพลตฟอร์ม CBEC แบ่งออกเป็น 2 รูปแบบ ได้แก่ 1.) การนำเข้าสินค้าผ่านคลังสินค้าทัณฑ์บน (Bonded Warehouse Import) ผู้ประกอบการจากทั่วโลกสามารถนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศมาเก็บไว้ในคลังสินค้าทัณฑ์บนโดยไม่ต้องผ่านพิธีการศุลกากรและยังไม่ต้องเสียภาษี จนกว่าผู้บริโภคจะสั่งซื้อสินค้า โดยการนำเข้ารูปแบบนี้มีข้อดี ดังนี้ (1) ลดระยะเวลาการรอคอยสินค้า การนำเข้าสินค้ามาเก็บไว้ในคลังสินค้าทัณฑ์บนสามารถจัดส่งสินค้าถึงผู้บริโภคได้ภายใน 3-7 วัน (2) ห่วงโซ่อุปทานที่ยืดหยุ่น ผู้ประกอบการสามารถดำเนินการคัดแยก บรรจุหีบห่อใหม่และการติดฉลากสินค้าในคลังสินค้าทัณฑ์บนโดยไม่ต้องเสียภาษีศุลกากร (3) รักษาสภาพคล่องได้ดีขึ้น เนื่องจากผู้ประกอบการจะต้องชำระอากรและภาษีเมื่อมีการนำสินค้าออกจากคลังสินค้าทัณฑ์บน จึงทำให้ธุรกิจสามารถรักษากระแสเงินสดได้เป็นอย่างดี แต่ก็ยังมีข้อจำกัด ดังนี้

(1) ข้อจำกัดด้านกฎระเบียบ อาทิ ขั้นตอนพิธีการศุลกากรที่เพิ่มขึ้นในการขอเก็บสินค้าในคลัง และข้อจำกัดในการจัดเก็บสินค้าในคลัง (2) ต้นทุนการดำเนินงาน อาทิ ค่าเช่า ค่าประกันภัย และค่าบริหารจัดการ

2.) การส่งสินค้าไปยังผู้บริโภคโดยตรง (Direct Mailing Mode) ผู้ประกอบการสามารถส่งสินค้าจากประเทศต้นทางไปยังผู้บริโภคที่อยู่ในจีนโดยตรงผ่านระบบโลจิสติกส์ การชำระเงิน และการเสียภาษีที่ร่วมมือกับแพลตฟอร์ม โดยจะมีความสะดวกของผู้บริโภคและผู้ประกอบการในด้านระบบโลจิสติกส์ เนื่องจากของแพลตฟอร์มกับบริษัทโลจิสติกส์ร่วมมือกันโดยตรง และยังมีต้นทุนต่ำจากการหลีกเลี่ยงค่าใช้จ่ายคลังสินค้าทัณฑ์บนในจีน แต่ก็ยังมีข้อจำกัด คือ อาจต้องใช้ระยะเวลาผ่านพิธีการศุลกากรประมาณ 1-2 สัปดาห์ ซึ่งยาวนานกว่าการนำเข้าสินค้าผ่านคลังสินค้าทัณฑ์บนที่ใช้เวลาดำเนินการพิธีทางศุลกากรเพียง 1-2 วัน

นายพูนพงษ์กล่าวว่า โอกาสของผู้ประกอบการไทยจากการที่ตลาด CBEC ของจีนเติบโตอย่างต่อเนื่อง และยังมีความต้องการซื้อสินค้าในตลาดอยู่จำนวนมาก ประกอบกับมีสินค้าไทยหลายชนิดที่สามารถทำยอดขายในจีนได้อย่างต่อเนื่องอยู่แล้ว อาทิ อาหารแปรรูป อาหารพร้อมรับประทาน ขนมขบเคี้ยว สินค้าเพื่อสุขภาพ ผลไม้สด เครื่องสำอาง และผลิตภัณฑ์ดูแลผิวธรรมชาติ ดังนั้น หากผู้ประกอบการไทยค้าขายผ่านช่องทาง CBEC มากขึ้น และมุ่งเน้นสินค้าที่มีอัตลักษณ์ความเป็นไทย มีศักยภาพ และเป็นที่ต้องการของผู้บริโภคจีน ตอบสนองคุณภาพชีวิตยุคใหม่ก็จะสามารถเพิ่มยอดขายและส่วนแบ่งตลาดในจีนได้โดยการค้าผ่าน CBEC มีสิทธิประโยชน์ทางภาษีและพิธีทางศุลกากรที่ถูกและง่ายกว่าการค้าแบบปกติ หากเป็นคำสั่งซื้อสินค้าที่มีมูลค่าต่ำกว่า 5,000 หยวน ต่อคำสั่งซื้อ และมูลค่ารวม ไม่เกิน 26,000 หยวนต่อปี/ต่อราย ก็จะได้รับการยกเว้นภาษีศุลกากรและชำระภาษีมูลค่าเพิ่มและภาษีสรรพสามิตเพียงร้อยละ 70 จากอัตราปกติ

“ด้วยแนวโน้มการซื้อขายสินค้าผ่าน CBEC ที่เติบโตต่อเนื่อง ประกอบกับสิทธิประโยชน์ทางภาษีและพิธีศุลกากรที่ง่ายและรวดเร็วกว่าการซื้อขายในช่องทางปกติ จะทำให้ CBEC เป็นช่องทางสำคัญในการเพิ่มโอกาสและขยายช่องทางการตลาดของผู้ประกอบการไทย โดยเฉพาะสินค้าในกลุ่มเครื่องสำอางและสิ่งของที่ใช้ทำความสะอาดร่างกายและบำรุงผิว รวมไปถึงอาหารสด โดยผู้ประกอบการควรศึกษาตลาดจีนให้ลึกซึ้งทั้งในด้านกฎหมาย ภูมิประเทศ และวัฒนธรรมของกลุ่มเป้าหมาย ตลอดจนเลือกแพลตฟอร์มให้เหมาะกับตัวสินค้าเพื่อให้สื่อสารได้ตรงกลุ่มเป้าหมาย และสามารถใช้ช่องทาง CBEC เป็นกุญแจสำคัญในการขยายธุรกิจสู่ตลาดจีนต่อไป” นายพูนพงษ์กล่าว

ปัจจุบัน กรมศุลกากรจีน ระบุว่า มูลค่าการนำเข้าและส่งออกผ่าน CBEC ในปี 2565 มีมูลค่า 2.06 ล้านล้านหยวน (2.83 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ) เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.1 และในช่วงครึ่งแรกของปี 2566 (ม.ค.-มิ.ย.) มูลค่าการนำเข้าและส่งออกผ่าน CBEC สูงถึง 1.1 ล้านล้านหยวน (1.50 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ) เพิ่มขึ้นร้อยละ 16 แบ่งเป็น การส่งออก 8.21 แสนล้านหยวน (1.12 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ) เพิ่มขึ้นร้อยละ 19.9 และการนำเข้า 2.76 แสนล้านหยวน (3.78 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ) เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.7 ซึ่งเมื่อพิจารณาแนวโน้มมูลค่าการนำเข้าและส่งออกผ่าน CBEC ของจีนแล้วจะเห็นว่ามีแนวโน้มที่เติบโตขึ้นตั้งแต่ปี 2563

‘กรมพัฒนาธุรกิจฯ’ ดัน ‘สมุนไพรไทย’ สู่ซอฟต์พาวเวอร์ ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ รับเทรนด์รักสุขภาพของคนยุคใหม่

(13 ก.ย. 66) นางรวีพรรณ ช้างเย็นฉ่ำ รองอธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า กรมมีแผนที่จะส่งเสริมการตลาดสินค้า ‘สมุนไพรไทย’ อย่างต่อเนื่อง โดยปัจจุบัน มีคณะกรรมการนโยบายและสมุนไพรแห่งชาติ ได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการส่งเสริมภาพลักษณ์และการตลาดสมุนไพร มีปลัดกระทรวงพาณิชย์เป็นประธาน มีกรม กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ และกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก เป็นฝ่ายเลขานุการ ทำหน้าที่ส่งเสริมการตลาดผลิตภัณฑ์สมุนไพรทั้งในและต่างประเทศ และกำหนดช่องทางการตลาดในรูปแบบต่าง ๆ เพื่อผลักดันสมุนไพรไทยให้เป็น Soft Power ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศอีกรายการหนึ่ง

สำหรับการขับเคลื่อนสมุนไพรไทย ได้มีการกำหนดมาตรการผลักดันสมุนไพรเป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์ประเทศด้านอาหารและวัฒนธรรมไทย โดยบูรณาการประเด็นสมุนไพรร่วมกับอาหาร วัฒนธรรม และการท่องเที่ยว ผลักดันคุณค่าของสมุนไพรไทยร่วมกับอาหารไทย ตอบรับกระแสนิยมด้านรักสุขภาพ นำเสนอเมนูอาหารที่มีส่วนประกอบของสมุนไพรไทย ชูสรรพคุณที่มีคุณประโยชน์เจาะกลุ่มผู้บริโภคเฉพาะด้าน เช่น เพิ่มภูมิคุ้มกัน Plant-based และผู้สูงอายุ

ส่วนด้านการตลาด จะมีการศึกษาความต้องการของตลาด กำหนดกลุ่มเป้าหมายที่ชัดเจนทั้งในประเทศและต่างประเทศ ส่งเสริมการใช้การตลาดออนไลน์ที่น่าเชื่อถือ สร้างเรื่องเล่าดึงดูดความสนใจของผู้บริโภค เน้นขยายตลาดผลิตภัณฑ์สมุนไพรกลุ่มเวชสำอาง ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และสินค้าอุปโภคบริโภค เพื่อเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ชุมชนกลุ่มสมุนไพร รวมทั้งสนับสนุนการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมในการเพิ่มมูลค่าของผลิตภัณฑ์สมุนไพร

นอกจากนี้ จะเร่งการพัฒนาตราสัญลักษณ์คุณภาพสมุนไพรที่เป็นที่ยอมรับ โดยกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก เป็นหน่วยงานหลักในการพิจารณาคัดเลือกผู้ประกอบการสมุนไพรเพื่อมอบรางวัลผลิตภัณฑ์สมุนไพรคุณภาพ ซึ่งสัญลักษณ์ของรางวัลมีแนวคิดการออกแบบมาจากรูปแบบของไผ่ที่สานเป็นรูปดวงดาวของเหลว และกราฟิกรูปหัวใจ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นและไว้วางใจจากผู้บริโภคในการเลือกซื้อผลิตภัณฑ์สมุนไพร

ทั้งนี้ ในส่วนของกรม จะเดินหน้ายกระดับศักยภาพด้านการตลาดของผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์สมุนไพร สร้างภาพลักษณ์ที่ดี สะท้อนคุณค่า และความน่าเชื่อถือผลิตภัณฑ์สมุนไพร รวมทั้งขยายโอกาสทางการค้าให้ผลิตภัณฑ์สมุนไพร เพื่อให้บรรลุเป้าหมายของยุทธศาสตร์ในการกำหนดให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางของการเป็นตลาดสมุนไพรของอาเซียน

ทางด้านผลการทำงาน ในปี 2565 ที่ผ่านมา ได้สร้างภาพลักษณ์และการรับรู้คุณประโยชน์ของผลิตภัณฑ์สมุนไพรไทย โดยสร้างเรื่องเล่าให้ผลิตภัณฑ์สมุนไพร 22 ผลิตภัณฑ์ เน้นผลิตภัณฑ์ที่มีวัตถุดิบมาจาก Herbal Champion ได้แก่ ขมิ้นชัน กระชายดำ และบัวบก พร้อมประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ผ่านออนไลน์และเครือข่ายพันธมิตร และนำผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์สมุนไพรที่มีศักยภาพขยายตลาดเชิงรุกเข้าสู่กลุ่มผู้บริโภคโดยตรง ผ่านงานแสดงสินค้าต่าง ๆ และการเจรจาจับคู่ธุรกิจกับผู้จัดจำหน่าย สามารถสร้างมูลค่าการค้าได้มากกว่า 15 ล้านบาท โดยกลุ่มผลิตภัณฑ์สมุนไพรที่ได้รับความนิยม ได้แก่ ยาดม น้ำมันหอมระเหย และเครื่องสำอาง สมุนไพรจากน้ำนมข้าว และในปี 2566 ได้นำผู้ประกอบการเข้าร่วมงาน THAIFEX – Anuga Asia 2023 เมื่อเดือน พ.ค. 2566 จำนวน 42 ราย สามารถสร้างมูลค่าการค้ารวมทั้งสิ้น 203.31 ล้านบาท โดยผลิตภัณฑ์สมุนไพรที่ได้รับความนิยม 5 อันดับ ได้แก่ ขมิ้นชันผง น้ำมะขามป้อม ขนมจากขิง เครื่องดื่มจากจมูกข้าว และเครื่องแกง ตามลำดับ

'ภูมิธรรม' เด้งรับรัฐบาล ปรับลด 'ไฟฟ้า-น้ำมันดีเซล' ขอเวลา 15 วัน สินค้าหลายรายการจะลดราคาลงตาม

(14 ก.ย.66) นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ พร้อมนายนภินทร ศรีสรรพางค์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เดินเข้าทำงานที่กระทรวงพาณิชย์วันแรก ได้หารือกับข้าราชการระดับสูงเพื่อร่วมกันการแก้ไขวิกฤตของประเทศ โดยนโยบายเร่งด่วน คือ การดูแลราคาสินค้า เพราะคณะรัฐมนตรี ได้ออกมาตรการลดค่าไฟฟ้า และน้ำมันไปแล้ว ซึ่งมีผลต่อต้นทุนการผลิตสินค้าที่ควรจะปรับลดลงโดยได้สั่งการให้กรมการค้าภายใน ไปหารือกับผู้ผลิตสินค้าในรายละเอียด เพื่อให้ได้เป้าหมายที่เป็นรูปธรรมชัดเจนภายใน 15 วัน และสามารถลดราคาได้ทันภายในต้นเดือนตุลาคม ทันเป็นของขวัญปีใหม่ให้กับประชาชน

อย่างไรก็ตาม ในสัปดาห์หน้า ได้เชิญผู้ประกอบการรายใหญ่ โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นในชีวิตประจำวัน มาพูดคุยรับฟังข้อมูลเพื่อร่วมกันทำงานแก้ไขปัญหาให้กับพี่น้องประชาชน ส่วนนโยบายเงินดิจิทัล 10,000 บาท ซึ่งเป็นกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหญ่ ที่ทำภายใน 6 เดือนนั้น ได้มอบให้กรมที่เกี่ยวข้องไปศึกษาทบทวนงานในส่วนที่รับผิดชอบ จะรองรับการขับเคลื่อนนโยบายนี้เพื่อให้เกิดประโยชน์กับพี่น้องประชาชนได้อย่างไร เพราะเกี่ยวข้องกับกระทรวงพาณิชย์ในหลายเรื่อง โดยเฉพาะข้อกังวลเรื่องการใช้จ่ายในระยะ 4 กิโลเมตร ที่จะกระทบกับประชาชน โดยจะต้องหาวิธีในการกระจายสินค้า หรือ เพิ่มแหล่งให้ประชาชนได้ซื้อสินค้า

ส่วนครอบครัวที่ได้หลายคน อาจจะรวมยอดได้ 50,000 - 1 แสนบาท แม้บางครอบครัว อาจจะมองว่าเป็นเงินไม่เยอะ แต่บางครอบครัวอาจจะเป็นมูลค่ามาก นอกจากจะใช้เพื่ออุปโภคบริโภคได้แล้ว ยังอาจจะสามารถสร้างเป็นธุรกิจเล็กๆ หรือ เกิดธุรกิจใหม่ๆ ที่หมุนเวียนได้ ซึ่งกรมที่เกี่ยวข้อง สามารถเข้าไปให้ความรู้การค้าขาย อาทิ รถพุ่มพวง ต่อยอดอาชีพได้

ทั้งนี้ ยังมีนโยบายสำคัญ 7 เรื่องที่ต้องเร่งดูแล คือ การลดค่าใช้จ่าย เพิ่มรายได้ ขยายโอกาส ให้กับประชาชน การบริหารจัดการให้เกิดความสมดุล ระหว่างผู้บริโภค เกษตรกรและผู้ประกอบการภาคธุรกิจ ต้องทำงานเชิงรุกและบูรณาการร่วมกัน แก้ไขข้อจำกัดของกฎหมาย ร่วมขับเคลื่อนนโยบายดิจิทัล wallet ให้เกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจ เร่งขยับตัวเลขส่งออกให้ติดลบน้อยลง และผลักดันให้มีการใช้ประโยชน์จาก FTA ให้มากขึ้น โดยการแบ่งงานให้กับรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์นั้น อยู่ระหว่างพิจารณากันอยู่ โดยการบริหารงานของกระทรวงพาณิชย์จะร่วมมือกันทำงานเป็นทีมเป็นสำคัญ

‘รองฯ อ้วน’ สาธิตผัดข้าวกะเพรา กลางงาน CAEXPO 2023 ย้ำ!! รัฐฯ หนุนเอสเอ็มอีเต็มที่ ดันสินค้าท้องถิ่นไทยสู้ตลาดโลก

เมื่อวันที่ 16 ก.ย. 66 ที่นครหนานหนิง ประเทศจีน นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ได้ใช้โอกาสในการนำคณะผู้บริหารระดับสูง เดินทางเยือนเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง ระหว่างวันที่ 15-18 กันยายน 2566 เพื่อเข้าร่วมพิธีเปิดงานแสดงสินค้าจีน-อาเซียน หรือ ‘China–ASEAN Expo’ (CAEXPO 2023) ครั้งที่ 20 ซึ่งจัดขึ้นที่ศูนย์นิทรรศการและการประชุมระหว่างประเทศนครหนานหนิง (Nanning International Convention & Exhibition Center) นครหนานหนิง เขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง ประเทศจีน

โดยเมื่อวันที่ 16 ก.ย. 66 เข้าพบปะหารือกับผู้ประกอบการไทยที่มาออกบูธในงาน CAEXPO จำนวน 76 รายใน 4 กลุ่มสินค้า ได้แก่ กลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม กลุ่มแฟชั่นและเครื่องประดับ กลุ่มสุขภาพและความงาม และกลุ่มของใช้ในครัวเรือนและของตกแต่งบ้าน โดยพบว่า ส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบการ SMEs ซึ่งเป็นไปตามนโยบายรัฐบาลที่ให้ความสำคัญกับการส่งเสริม SMEs และได้ยืนยันกับผู้ประกอบการว่า จะเพิ่มความเข้มข้นในการสนับสนุนผู้ประกอบการ SMEs ให้เพิ่มมากขึ้นต่อไป

ทั้งนี้ ยังได้ใช้โอกาสนี้ เข้าเยี่ยมชมคูหาส่งเสริมข้าวไทย และสาธิตการทำเมนูผัดกะเพราหมู ซึ่งมั่นใจว่าข้าวไทย จะได้รับการตอบรับจากผู้ซื้อ ผู้นำเข้าชาวจีน และผู้เข้าเยี่ยมชมงานจากประเทศอื่นๆ นอกจากนี้ ยังได้เยี่ยมชมศูนย์แสดงสินค้าดีเด่นจีน-อาเซียน หรือ China ASEAN Merchantile Exchange (CAMEX หรือ คาเม็กซ์) เป็นโครงการสำคัญในการส่งเสริมความร่วมมือทางการค้าจีน – อาเซียนภายใต้กรอบความร่วมมือ ‘One Belt One Road’ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐทางเขตกว่างซี ลงทุนก่อตั้งและบริหารจัดการโดยบริษัทสิงคโปร์ CSILP (China-Singapore Nanning International Logistic Park) เปิดอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 14 กันยายน 2565 โดยมั่นใจว่าจะเป็นอีกช่องทางหนึ่งในการกระจายสินค้าจากไทยและอาเชียนเข้าสู่ตลาดจีนได้เพิ่มขึ้น โดยจะมีการเชื่อมโยงการทำงานระหว่างทูตพาณิชย์ พาณิชย์จังหวัด กับผู้ประกอบการในการนำสินค้ามาจำหน่ายต่อไป

ปัจจุบันมีสินค้าจากประเทศไทยจัดแสดงอยู่ในศูนย์ CAMEX จำนวน 18 บริษัท โดยเป็นสินค้าประเภทอาหาร เครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์ยางพารา อาทิ ข้าวเหนียวมะม่วง จาก จ.ตาก หมอนยางพารา จาก จ.อุตรดิตถ์ เป็นต้น

ทั้งนี้ สำนักงานส่งเสริมการค้าฯ เมืองหนานหนิง ได้บูรณาการร่วมกันกับพาณิชย์จังหวัดต่างๆ ในการส่งเสริมและผลักดันสินค้าโดดเด่นจากท้องถิ่นเข้าร่วมจัดแสดงในศูนย์ฯ เพิ่มขึ้น ซึ่งจะเป็นโอกาสสำคัญของ SMEs ไทยในการบุกตลาดจีนต่อไป

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายภูมิธรรม ขณะเยี่ยมชมคูหา Thailand Pavilion ในงาน China ASEAN Expo ได้สาธิตทำข้าวผัดกะเพรา เพื่อให้คนร่วมงานได้ชิม หนึ่งในการโปรโมตข้าวไทยและสมุนไพรไทย

‘บิ๊กอ้วน’ จ่อหารือผู้ประกอบการ ปรับราคา ‘ข้าว ไข่ ไก่ หมู’ หวังสร้างสมดุล ‘ผู้ซื้อ-ผู้ขาย’ คาด!! ตุลาคมนี้ชัดเจน

(20 ก.ย. 66) ที่ทำเนียบรัฐบาล นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวถึงมาตรการลดราคาสินค้า หลังจากที่รัฐบาลประกาศลดราคาน้ำมันดีเซล ว่า การลดราคาน้ำมันของรัฐบาลเนื่องจากเป็นปัญหาต่อค่าครองชีพของพี่น้องประชาชน ซึ่งมีปัญหาเรื่องต้นทุนสินค้าตามมา เพราะในต้นทุนสินค้า มีค่าโลจิสติกส์และค่าผลิต เรื่องนี้ได้มอบหมายนโยบายเร่งด่วนให้กรมการค้าภายใน ดูเรื่องการลดราคาสินค้า ภายใน 15 วัน โดยให้ดูรายการสินค้าทั้งหมดที่มีผลกระทบต่อค่าครองชีพของประชาชน สินค้าตัวไหนมีต้นทุนอย่างไร และจะลดราคาได้แค่ไหน คาดว่าต้นเดือนตุลาคมนี้น่าจะมีความชัดเจน

นายภูมิธรรม กล่าวอีกว่า สิ่งสำคัญคือภายในสัปดาห์หน้า ตนจะไปพูดคุยกับผู้ประกอบการรายใหญ่เพื่อหารือกันเรื่องนี้ด้วย คนตัวใหญ่ต้องช่วยคนตัวเล็กให้ขึ้นไปด้วยกัน แก้ปัญหา สร้างจุดสมดุลให้กับผู้ผลิตผู้ประกอบการและผู้บริโภคให้ไม่กระทบกับทุกฝ่าย หาจุดที่ประนีประนอมกันได้ โดยคาดว่าสินค้าที่จะได้รับการพิจารณา จะเป็นสินค้าที่อยู่ในชีวิตประจำวันประมาณ 20 ตัว เช่น ข้าว ไก่ หมู ไข่ เราจะลดต้นทุนอย่างเป็นรูปธรรม ภายใต้นโยบายหาจุดสมดุลและอยู่ร่วมกันได้กับทุกฝ่าย น่าจะเป็นทางออกในการแก้ไขปัญหา


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top