จาก 24 มิถุนายน 2475 ถึง 24 มิถุนายน 2567 ตลกร้าย 92 ปี ที่ 'โจรห้าร้อย' บางคนสร้างไว้

คนทั่วไปที่ไม่จำเป็นต้องมีการศึกษาสูง ก็คงจะแปลความหมายของคนที่เป็น 'โจรห้าร้อย' กับ 'นักปฏิวัติ' ได้ง่าย ๆ ด้วยความหมายของคนสองประเภทนี้แตกต่างกันราวฟ้ากับเหว 

'นักปฏิวัติ' คือ คนที่จะลงมือสร้างความเปลี่ยนแปลงจากแบบหนึ่งไปเป็นอีกแบบตามความเชื่อของตนเองที่คิดว่าจะดีกว่า เช่น การปฏิวัติระบอบการปกครอง เพื่อยกเลิกระบอบเดิมไปใช้ระบอบใหม่ 

สำหรับประเทศไทย เกิดการปฏิวัติทางการเมืองขึ้นเพียงครั้งเดียวนั่นคือ ‘การปฏิวัติสยาม’ โดยเกิดขึ้นในวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 ซึ่งถือเป็นการปฏิวัติการปกครองโดยเปลี่ยนระบอบการปกครองจากสมบูรณาญาสิทธิราชย์ กลายเป็นระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขแทน 

อย่างไรเสีย ตามความเชื่อของนักปฏิวัติแต่ละยุคสมัย จะถูกหรือผิด? จะทำสำเร็จตามเป้าหมายหรือไม่? นักปฏิวัติที่ดีจริงก็จะไม่มีทางมีพฤติกรรมเช่น 'โจรห้าร้อย' ยกเว้นจะอาศัยการปฏิวัติเป็นฉากหน้า แต่พฤติกรรมลับ ๆ ต่ำ ๆ อันแสนจะไร้เกียรติที่ซ่อนเนียน ๆ อยู่ฉากหลังคือ 'ความโลภ' การกระหายในทรัพย์สินเงินทอง เพชรนิลจินดา รวมถึงที่ดินของบุคคลอื่น

'โจรห้าร้อย' จะมีแต่ความตะกละตะกลาม ทะเยอทะยาน มักใหญ่ใฝ่สูง มองหาแต่ความมั่งคั่งร่ำรวยจากการปล้นสมบัติของคนอื่นมาเป็นของตน 

นานถึง 92 ปีแล้ว ที่เราต่างเข้าใจกันดีว่าประเทศไทยของเราถูก 'นักปฏิวัติ' กลุ่มหนึ่งร่วมมือกันสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับระบอบการปกครองของไทยมาจนถึงปัจจุบัน และแน่นอนว่าเหตุการณ์ดังกล่าวได้แบ่งแยกผู้คนออกเป็นสองฝั่งตลอดมา ทั้งฝั่งที่เห็นดีงามกับนักปฏิวัติ กับอีกฝั่งที่คิดว่าเป็นการกระทำที่ไม่น่าให้อภัย 

แต่สิ่งที่สามารถสรุปได้ในทันทีก็คือ คนเรา ถ้าคิดว่าสิ่งที่เป็นอยู่มันไม่ดี และเราอยากรื้อถอนทำลาย เราก็ต้องทำเป็นให้เห็นว่า 'เราดีกว่า' โดยมิให้สังคมกังขาว่าเรานั้นดีจริงหรือไม่? แต่เท่าที่เห็นเป็นหลักฐานชัดที่สุดก็คือ การแฝงเป็นโจร เพื่อปล้นเอาทรัพย์สินที่ไม่ใช่ของเราใส่กระเป๋าของตัวเองเสียมากกว่า  

92 ปี แม้บางคน อาจจะคิดว่ามาจากน้ำมือของนักปฏิวัติที่คิดดีเพื่อชาติ แต่สำหรับคนจำนวนไม่น้อย มันเป็นแค่คนกลุ่มหนึ่งที่ อยากมั่ง อยากมี และอยากใหญ่ เหมือนคนที่สูงศักดิ์กว่า แต่ดันเกิดมาแล้ว 'มีบุญไม่เท่าเขา' เท่านั้น

การปล้นจึงเป็นทางออกของเหล่า 'โจรห้าร้อย' บางคน 

ไม่มีอะไรซับซ้อนให้ต้องคอยนึกย้อน 'สดุดี'


เรื่อง: แจ็ค รัสเซล