Monday, 1 July 2024
2475

คำต่อคำ 'ส.ศิวรักษ์-ศ.ดร.ไชยันต์' ถกประวัติศาสตร์การเมืองไทยยุค 2475 การพูดคุยอย่างมีอารยะ ภายใต้ 'ข้อเท็จจริง-เหตุผลทางวิชาการ'

(6 พ.ค.67) หลังจากที่ภาพยนตร์แอนิเมชัน 2475 รุ่งอรุณแห่งการปฏิวัติ (2475 Dawn of Revolution) ได้เปิดให้รับชมมาพักใหญ่ ก็ได้รับการตอบรับอย่างท่วมท้น จนเกิดกระแสทั้งชื่นชมและวิพากษ์วิจารณ์ในวงกว้าง โดยหนึ่งในผู้วิจารณ์ คือ อาจารย์สุลักษณ์ ศิวรักษ์ ได้ทำการวิจารณ์ แอนิเมชัน 2475 อย่างรุนแรงโดยไม่มีเชิงอรรถอ้างอิง ส่วนใหญ่เป็นความเห็นส่วนตัวของอาจารย์สุลักษณ์เอง 

จนกระทั่ง ศ.ดร.ไชยันต์ ไชยพร อาจารย์ประจำภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้มีโอกาสไปร่วมพูดคุยและสอบถามกับ อาจารย์สุลักษณ์ ศิวลักษณ์ โดยมีเอกสารหลักฐานอ้างอิงจำนวนมากไปยืนยันในข้อสนทนาครั้งนี้

ล่าสุดยูทูบช่อง ‘Dhanadis - ธนดิศ’ ได้มีการเผยแพร่คลิปการสนทนาระหว่าง อาจารย์สุลักษณ์ ศิวรักษ์ และ ศ.ดร.ไชยันต์ ไชยพร ในหัวข้อ 'วิวาทะประชาธิปไตย : รัชกาลที่ 7 กับ ปรีดี' เพื่อถกเถียง-แลกเปลี่ยนมุมมองที่สอดคล้องกับเรื่องราวในหนังผ่านคลิปความยาวกว่า 40 นาที ซึ่งมีเนื้อหา ดังนี้....

>> ศ.ดร.ไชยันต์ ไชยพร: สวัสดีครับท่านอาจารย์สุลักษณ์ ศิวรักษ์ วันนี้ผมรู้สึกยินดีมากที่อาจารย์อนุญาตให้ผมและทีมงานเข้ามาบันทึกภาพและก็พูดคุยสนทนากับท่านอาจารย์ ในวันนี้ที่มาคุยกับอาจารย์นอกจากจะมากราบสวัสดีปีใหม่ไทย มีคําถามนะครับ สืบเนื่องมาจากที่อาจารย์ให้สัมภาษณ์กับทีมงานธนดิศ เกี่ยวกับเรื่อง แอนิเมชัน 2475 รุ่งอรุณแห่งการปฏิวัติ แล้วก็เห็นอาจารย์ได้มีความเห็นว่าร่างรัฐธรรมนูญที่พระปกเกล้าฯ กําลังจะพระราชทานนั้น อาจารย์บอกว่ามีแต่เขียนไว้ให้มีนายกรัฐมนตรีเท่านั้น

แล้วตอนหลังผมก็โต้แย้งไปว่า ร่างรัฐธรรมนูญฉบับ นายเรมอนด์ สตีเวน ร่างร่วมกับพระยาศรีวิสารวาจา มันมีรายละเอียดมากกว่าแค่นายกรัฐมนตรี มันมีทั้งการพูดถึงสภา คุณสมบัติของผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง รายละเอียดก็มีเยอะ ทีนี้ผมก็เลยไม่ทราบว่า ที่อาจารย์บอกว่า เอ๊ะ!! มีแต่เฉพาะนายกรัฐมนตรีเนี่ย มันคืออะไร

>> อาจารย์สุลักษณ์ ศิวรักษ์: อันนี้คือผมพูดโดยสรุปนะครับ เพราะแน่นอนว่ารัฐธรรมนูญคงจะมีรายละเอียดมากกว่านั้น แต่โดยเนื้อหาสาระ อํานาจนั้นไปอยู่ที่องค์พระมหากษัตริย์ อํานาจไม่ได้อยู่ที่ราษฎรเลย แม้กระทั่งการตั้งสภาองคมนตรีที่กําหนดเลือกให้มี 3 ปัญญาชนเข้าไปเกี่ยวข้อง ก็ปรากฏว่ามีแต่ขุนนางแทบทั้งนั้นเลย ... 3 ปัญญาชนมีสองคน เป็นพ่อค้าแต่ก็เป็นพระยาทั้งคู่ พระยาภิรมย์ภักดี (บุญรอด-นายเลิศ) แกเป็นพระยาเหมือนกัน และแม้กระนั้นท่านสิทธิพร ก็เป็นกรรมการองคมนตรีสภาองคมนตรี

>> ศ.ดร.ไชยันต์ ไชยพร: อาจารย์บอกว่าร่างรัฐธรรมนูญ อํานาจไม่ได้เป็นของประชาชนเลย แต่ว่าร่างฉบับนั้น มันมีให้สิทธิ์แก่ประชาชนในการเลือกตั้ง สส. ประเภทหนึ่ง คือ ในร่างรัฐธรรมนูญของพระยาศรีวิสารเขาจะบอกสภามี 2 แบบ แบบที่ 1 คือแบบแต่งตั้ง และ 2 แบบเลือกตั้ง โดยแบบเลือกตั้งนั้นในร่างรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าว ได้กําหนดให้ประชาชนมีสิทธิ์เลือกตั้ง อันนี้ก็ถือว่ายังให้อํานาจแก่ประชาชนนะครับ 

>> อาจารย์สุลักษณ์ ศิวรักษ์: ก็ใช่นะครับที่จริงเนี่ย ท่านต้องการจะให้เลือก สภาเทศบาลก่อน แล้วตอนนั้นก็รู้สึกจะดูฮ่องกงเป็นตัวอย่าง ก็ดูในหลวงจะดูที่เมืองขึ้น ดูที่อินเดีย, พม่า, ฮ่องกง ไม่อยากให้แพ้พวกเมืองขึ้น อยากจะออกมา ก็พูดกันอย่างไม่เกรงใจก็ไม่มีอะไรก้าวหน้ามากนัก แต่ท่านก็ตั้งใจนะครับอยากจะให้มันอย่างน้อยมีทีท่าเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น แม้กระทั่งพวกเจ้านายผู้ใหญ่โดยเฉพาะสมเด็จเจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ท่านคัดค้านมากเลย

>> ศ.ดร.ไชยันต์ ไชยพร: อ่อ!! ก็แปลว่าร่างรัฐธรรมนูญก็มีเชื้อประชาธิปไตยอยู่บ้าง คือ ให้เลือกตั้ง ทีนี้ประเด็นที่บอกว่าสภาองคมนตรีที่อาจารย์บอกว่าไม่สามารถถวายคําแนะนําได้ แต่ที่ผมไปดูในเอกสารที่ นายเบนจามิน เอ.บัทสัน เขาไปค้นมา มันก็เป็นอย่างที่อาจารย์ว่านะครับ มันมีข้อถกเถียงว่าตกลงแล้วจะให้สภาองคมนตรีอยู่ในสถานะของ Consultative หรือ Advisory นะครับ คือถ้าเป็นแบบหนึ่งก็จะไม่มีไม่มีสิทธิ์ที่จะถวายคําแนะนําเลยแล้วแต่ว่าท่านจะขอเมื่อไหร่ แต่นี่หลังจากประชุมหารือถกเถียงกันแล้วปรากฏว่า เสียงข้างมากบอกว่า ให้สภาคมนตรี สามารถถวายคําแนะนําได้โดยที่กษัตริย์ไม่ต้องริเริ่มถาม แต่ว่าจะต้องได้เสียงของสมาชิกสภาองคมนตรี คือ ต้องโหวตกันก่อนเพราะฉะนั้นตรงนี้แปลว่าสภามนตรีมีสิทธิ์ถวายคําแนะนําหรือแม้กษัตริย์ไม่ได้ขอ ก็แปลว่าอันนี้คือ มีสิทธิ์ แต่ว่าเราต้องลงเสียง

>> อาจารย์สุลักษณ์ ศิวรักษ์: มีแนวโน้มนะ รัชกาลที่ 7 ท่านก็มีแนวโน้ม ที่จะทําประชาธิปไตย ไม่ใช่น้อย

>> ศ.ดร.ไชยันต์ ไชยพร: ประเด็นอีกประเด็นนึงที่อาจารย์ให้สัมภาษณ์ กับกรมขุนชัยนาทนเรนทร ในฐานะรับรองรัฐประหาร อันนี้อาจารย์บอกว่าหลัง 2475 รังเกียจเจ้ามาก แล้วก็มีเจ้าจํานวนหนึ่งหนีไป แต่ทีนี้ในบันทึกของนายพันโททหารฝรั่งเศสที่อยู่ในเหตุการณ์สมัยนั้น เขาบันทึกส่งไปที่กระทรวงต่างประเทศฝรั่งเศสว่ากรมพระนครสวรรค์ถูกเชิญให้ออกไป คือไม่ได้หนี แต่ถูกเชิญให้ออก

>> อาจารย์สุลักษณ์ ศิวรักษ์: เพราะว่าเมื่อตกลงกับพระปกเกล้าฯ ว่าเสด็จกลับมาแล้ว ทางคณะผู้ก่อการก็ยินดีปล่อยเจ้านายที่ขังเอาไว้ โดยเฉพาะสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ แต่ว่าสมเด็จกรมพระนครสวรรค์เขาไม่ยอมปล่อย เพราะว่าท่านมีอํานาจมาก ท่านเคยเป็นแม่ทัพบกแม่ทัพเรือว่าการมหาดไทย ทุกคนกลัวท่านกันหมด ทํายังไงถึงจะให้ท่านไปได้ รัชกาลที่ 7 ท่านก็บอกอยากจะไปอยู่ต่างประเทศ ตกลงเท่าที่ผมทราบมา พระยามโนปกรณ์นิติธาดา ติดต่อหม่อมเจ้าถาวรมงคลวงศ์ ไชยันต์ โดยหม่อมเจ้าถาวรนี้ก็เป็นน้องเมียสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์ และก็เป็นเพื่อนกับพระยามโนฯ ก็เลยกระซิบบอกพระยามโนฯ โดยหม่อมเจ้าถาวรบอกว่า ไอ้พวกก่อการเนี่ยมันหิว ต้องให้อะไรมันมั่ง ไม่ให้มันไม่ไปหรอก อันนี้ที่ผมได้ยินมานะครับ ท่านก็รับสั่งว่า ท่านรับใช้บ้านเมืองมาขนาดนี้แล้ว ยังจะเอาอะไรจากท่านอีกในเมื่อจะให้ไปอยู่ต่างประเทศ ท่านก็เอาเงินไปใช้งั้นก็เอาบ้านไปก็แล้วกัน

>> ศ.ดร.ไชยันต์ ไชยพร: จะเป็นไปได้ไหมครับว่าคณะราษฎร ก็เกรงกลัวอํานาจอิทธิพลของกรมพระนครสวรรค์ ก็เลยคล้ายๆ อยากเนรเทศให้ออกไป ท่านไม่ได้หนีออกไป

>> อาจารย์สุลักษณ์ ศิวรักษ์: เชิญเสด็จไป

>> ศ.ดร.ไชยันต์ ไชยพร: อาจารย์ครับอันนี้มีผู้ติดตามประวัติศาสตร์การเมืองไทยฝากคําถามผมมา อยากให้กราบเรียนถามท่านอาจารย์ว่า อาจารย์มีความเห็นอย่างไรนะครับ ก็อาจจะไม่ต้องตอบทุกข้อก็ได้ ว่า...หากรัฐธรรมนูญที่รัชกาลที่ 7 จะพระราชทานไม่ใช่ประชาธิปไตย เพราะมีแต่เรื่องนายกรัฐมนตรี แล้วสิ่งที่เทียนวรรณเรียกร้องจะเป็นประชาธิปไตยอย่างไรในเมื่อไม่เคยพูดถึงการให้มีกฎหมายสูงสุดปกครองประเทศ เรียกร้องแต่สภา แต่ไม่ได้เรียกร้องรัฐธรรมนูญ

>> อาจารย์สุลักษณ์ ศิวรักษ์: ก็รู้เรื่องอังกฤษอยู่บ้างเพราะประเทศอังกฤษ ก็ไม่มีรัฐธรรมนูญ

>> ศ.ดร.ไชยันต์ ไชยพร: จึงจะกล่าวในแง่มุมที่ปรีดี ผิดพลาด ท่านปรีดีทราบถึงความผิดพลาดหรือเลวร้ายมิได้ทําให้เราเข้าใจ

>> อาจารย์สุลักษณ์ ศิวรักษ์: ท่านพูดเองเลยนะครับ เรื่องข้อผิดพลาดของท่าน ท่านบอกตอนนั้นเนี่ยท่านยังไม่มีประสบการณ์พอ คิดในทางทฤษฎีมากไปแล้วที่ผิดพลาดสําคัญในแง่ของบ้านเมืองก็คือการเสนอ ปกเหลืองนะครับ ผมเข้าใจพระปกเกล้าฯ เขาไม่ได้อ่านหรอก พระยามโนฯ อ่านแล้วอ้างทําบันทึกสมุดปกขาวโต้ตอบ ปกเหลืองพูดกันตรงไปตรงมาตามแบบประชาธิปไตยเนี่ยผิดนะครับ เพราะในหลวงจะเขียนต้องมีผู้รับสนองพระราชโองการครับ แต่อันนี้คุณมโนฯ ก็อ้าง ในหลวงเขียน แล้วเขียนถึงขนาดว่า ไอ้ความคิดของหลวงประดิษฐ์เนี่ยเอามาจากสตาลิน ผมก็เชื่อว่าในหลวงเองก็ไม่เคยอ่านงานสตาลินแต่ว่าก็ถูกโจมตีมาก อันนี้เป็นจุดเด่นจุดด้อยสําคัญของอาจารย์ปรีดี เพราะท่านเห็นว่าเมื่อเปลี่ยนแปลงการปกครองนั้นประชาชนได้เสรีภาพแล้ว แต่ช่องว่างระหว่างคนรวยคนจน มากเหลือเกิน อยากจะให้คนรวยคนจนลดช่องว่างออกมา เพราะฉะนั้นก็รื้อให้มีรัฐสวัสดิการเท่านั้นเอง ไม่มีอะไรมากไปกว่านั้น 

>> ศ.ดร.ไชยันต์ ไชยพร: ครับ แต่ว่ารัฐสวัสดิการเนี่ยในปี 1932 มันยังไม่ได้เกิดขึ้นในโลกนี้ 

>> อาจารย์สุลักษณ์ ศิวรักษ์: ยังครับ อังกฤษเกิด มี หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 

>> ศ.ดร.ไชยันต์ ไชยพร: สวีเดนเนี่ยในปี 1932 ซึ่งเป็นรัฐสวัสดิการตามความเข้าใจในปัจจุบัน ทีนี้ประเด็นคือว่า ถ้าอาจารย์จะเอาความคิดเรื่องรัฐสวัสดิการของท่านปรีดี มาอธิบายเหตุผลเกี่ยวกับ เค้าโครงเศรษฐกิจ แต่จริงๆ แล้วเค้าโครงเศรษฐกิจนี้ มันมีลักษณะที่คล้ายๆ กับการที่รัฐเข้าไปจัดการควบคุมปัจจัยการผลิตหรือที่ดินคือ มันจะเหมือนของสตาลินทุกอย่าง เพียงแต่ว่าต่างกันตรงที่ว่า ของสตาลินไม่ได้บังคับซื้อ เพราะฉะนั้นก่อนหน้าที่อาจารย์ปรีดีเสนอเค้าโครงเศรษฐกิจในปี 2476 มันน่าจะไปเหมือนในแนวคิดสังคมนิยมคอมมิวนิสต์มากกว่า ที่จะเป็นรัฐสวัสดิการรึเปล่า 

>> อาจารย์สุลักษณ์ ศิวรักษ์: ผมว่าอาจารย์ปรีดีมีแนวโน้มทางสังคมนิยมแน่นอนครับ แต่ไอ้คอมมิวนิสต์ไม่เป็นแน่ คณะกรรมาธิการก็จะมี 3 ท่าน ผู้เชี่ยวชาญจากอังกฤษครับ แล้วก็มีผู้เชี่ยวชาญฝรั่งเศส ท่านซักใช้ไล่เรียนต่างๆ ข้อเขียนต่างๆ สรุปว่าอาจารย์ปรีดีไม่ใช่คอมมิวนิสต์

>> ศ.ดร.ไชยันต์ ไชยพร: นักปรัชญาการเมืองฝรั่ง ผมก็อ่านไปเยอะ อาจารย์ก็มีความรู้เบื้องต้นหรือความรู้ที่ให้ภาพรวมเกี่ยวกับข่าวมากพอสมควรนะครับ คือถ้าคณะกรรมการที่ตรวจสอบ เค้าโครงเศรษฐกิจของปรีดีเนี่ย แน่นอนถ้าเอาคอมมิวนิสต์ ของคาร์ล มาซ์ก เป็นตัวตั้ง เค้าโครงเศรษฐกิจไม่เป็นคอมมิวนิสต์หรอกครับ เพราะว่าคอมมิวนิสต์มันจะต้องผ่านพัฒนาการนะครับในประวัติศาสตร์ ต้องผ่านขั้นตอนสังคมนิยมก่อน เพราะฉะนั้นถ้าเอาเกณฑ์คอมมิวนิสต์มาจับเค้าโครงเศรษฐกิจหรือเอาเกณฑ์คอมมิวนิสต์มาจับการเปลี่ยนแปลง ในรัสเซียในจีนหรือแม้กระทั่งทุกวันนี้ ก็ยังไม่มีประเทศไหนเป็นคอมมิวนิสต์ แต่สังคมนิยมเนี่ยมันเป็นขั้นตอนหนึ่งที่จะไปสู่คอมมิวนิสต์ เพราะฉะนั้น ถ้าใช้คําว่าคอมมิวนิสต์ ตัวท่านปรีดีเองท่านก็บอกเขาไม่ได้เป็น มันไม่มีใครเป็นนะ แต่ว่ามันเป็นขั้นตอนหนึ่งที่จะนําไปสู่คอมมิวนิสต์ได้

>> อาจารย์สุลักษณ์ ศิวรักษ์: ผมก็เห็นด้วยในเรื่องนี้

>> ศ.ดร.ไชยันต์ ไชยพร: ครับผมกราบขอบพระคุณอาจารย์ครับ อาจารย์เข้าใจว่า พระยามโนฯ เป็นคนเขียนไอ้สมุดปกขาวใช่ไหม

>> อาจารย์สุลักษณ์ ศิวรักษ์: ผมเข้าใจว่าอย่างงั้นนะครับ

>> ศ.ดร.ไชยันต์ ไชยพร: ผมได้ไปเช็กเยอะเลย เพราะว่าต้นฉบับหาไม่เจอ ว่าเป็นลายมือใคร มันไม่มีจริงๆ ทีนี้ผมก็เลยไปถามนะครับ ถามคนที่เป็น ทายาทของสายรัชกาลที่ 7 คือ สายพระนางอําไพครับ ท่านก็ให้เหตุผลดีนะครับ สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีบอกว่า ในขณะที่สมุดปกขาวออกมาหรือพระบรมราชวินิจฉัยออกมาและอ้างชื่อท่านเนี่ย ถ้าท่านไม่ได้เห็นด้วย ท่านก็คงต้องแย้งออกมาแล้ว และสํานวนเนี่ยเป็นสํานวนที่บอกว่าเป็นสํานวนรัชกาลที่ 7 ผมก็เลยไม่ทราบว่านี่คือความเห็นอีกฝั่งนึงที่บอกว่าน่าจะเป็นพระบรมราชวินิจฉัยของรัชกาลที่ 7 จริงๆ หรือพื้นฐานของผู้คนนะครับ คือ ผมอ่านหลายจุดแล้ว ก็พบว่าท่านมีความรู้ทางด้านสังคมศาสตร์นะครับ แต่ถามว่าท่านจะเขียนเองได้ไหม พระองค์พระราชวินิจฉัย ถ้าเชื่อมโยงกับฐานอันนั้น มีความเป็นไปได้ที่ท่านจะเขียนสมุดปกขาวเอง แต่อันนี้อาจารย์ได้สรุปไปแล้ว ที่ผมก็ยอมรับนะครับว่าเนื่องจากมันไม่มีหลักฐานเราก็ต้องถือว่าเป็นการตีความได้ แต่กระนั้นก็ตามใครจะเขียนสมุดปกขาวก็แล้วแต่ อาจารย์คิดว่าเหตุผลหรือข้อโต้แย้งในสมุดปกขาวมีน้ำหนักไหมครับ

>> อาจารย์สุลักษณ์ ศิวรักษ์: อันนี้มันอยู่ที่คนอ่านนะครับ ถ้าคุณอยู่ฝ่ายขวา คุณจะเห็นว่า สมุดปกเหลืองเป็นคอมมิวนิสต์แท้ๆ เลย แต่ถ้าคุณมีใจเป็นกลางคุณก็จะเห็นว่า ของอาจารย์ปรีดีเนี่ย ก็เป็นสังคมนิยมแบบอ่อนๆ เท่านั้นเอง เพราะคนที่เห็นด้วยกับอาจารย์ปรีดีในคณะกรรมาธิการ ก็คือหม่อมเจ้าสกลนะครับ หม่อมเจ้าสกลวรวรรณที่ เป็นพี่ของพระองค์ท่านเลย ท่านสกลเห็นด้วยเต็มที่เลยครับ ชัดเจน 

>> ศ.ดร.ไชยันต์ ไชยพร: ที่อาจารย์พูดเมื่อกี้เนี่ย ที่บอกว่ามันแล้วแต่มุมมองพวกเขา ถ้าคนที่เป็นขวาก็จะมองว่าเป็นซ้าย คําว่าขวาของอาจารย์หมายถึงอะไร

>> อาจารย์สุลักษณ์ ศิวรักษ์: คือพวกนี้ไม่ยอมรับการเปลี่ยนแปลง กลัวจะถูกริบที่ดิน ทั้งๆ ที่เขาเขียนชัดเจนว่าเขาจะขอซื้อที่ดินเท่านั้นเอง

>> ศ.ดร.ไชยันต์ ไชยพร: ทีนี้ขวาที่ไม่เห็นด้วยกับเค้าโครงเศรษฐกิจอย่างเช่น พระยาทรงสุรเดช ท่านก็บอกว่าถ้าอยากจะให้รัฐเข้าไปทํานาเอง ทําไมต้องไปบังคับซื้อที่ดิน เพราะว่าที่ดินเนี่ยออกเยอะแยะ ที่เป็นที่ดินว่างเปล่า แล้วคนว่างงานก็เยอะแยะ ทําไมไม่ใช้ที่ดินที่ว่างเปล่าและคนว่างงานให้มาทํางานให้กับรัฐตามนโยบายของหลวงประดิษฐ์หรือท่านปรีดี...พระยาทรงเนี่ยจะเรียกว่าเป็นแนวที่ไม่ต้องการให้รัฐบังคับ จะเป็นเสรีนิยมเลยไหม

>> อาจารย์สุลักษณ์ ศิวรักษ์: เจ้าคุณทรงฯ พูดตรงไปตรงมานะครับ ความรู้ทางทางเศรษฐศาสตร์นะท่านมีน้อยมาก ท่านรู้ชัดเจนคือเรื่องทหารเท่านั้นเอง แล้วไอ้ที่มาออกความเห็นเนี่ยก็เข้าใจว่า ถูกคุณมโนเป่าหูมา ผมเข้าใจว่าอย่างงั้นมากกว่า เพราะท่านไม่เคยรู้เรื่องเศรษฐกิจ

>> ศ.ดร.ไชยันต์ ไชยพร: ทีนี้ที่อาจารย์บอกว่าหม่อมเจ้าสกลท่านเห็นด้วยกับเค้าโครงอันนี้ แต่ที่ผมได้ไปอ่านในรายงานการประชุมของคณะอนุกรรมาธิการหรือสมัยนั้นเค้าเรียกว่าคณะกรรมาธิการที่ประชุมเมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2475 คือในนั้นหม่อมเจ้าสกล แกจะมีความเห็นคือ มันเป็นบันทึกไง ผมก็ไม่ได้ว่าเขาสรุปกันยังไงนะครับ มีบันทึกมีบางครั้งเนี่ยก็เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย โดยเฉพาะเห็นด้วยกับบันทึกของโปรเฟสเซอร์ซิมเมอร์แมน ซิมเมอร์แมนคือใคร คือศาสตราจารย์ทางด้านสังคมวิทยาที่รัฐบาลพระปกเกล้าฯ ได้จ้างมาเพื่อให้สํารวจสภาพความเป็นอยู่ของชาวบ้านเมืองไทยนะครับ เพราะฉะนั้นถ้าหม่อมเจ้าสกลแกเห็นด้วยกับซิมเมอร์แมนเนี่ย ก็แปลว่าแกก็เห็นด้วยกับพระบรมราชวินิจฉัย ซึ่งอาจารย์จะสรุปว่าผมหม่อมเจ้าสกลเห็นด้วยกับท่านปรีดีทั้งหมด มันก็ไม่ชัดเหมือนกันนะ...ทีนี้ถามว่าท่านปรีดีเอง ท่านได้เคยมีงานวิจัยหรือไปสํารวจความเป็นอยู่ของประชาชนทั่วไปเหมือนกับที่โปรเฟสเซอร์ซิมเมอร์แมนได้ลงไปไหม

>> อาจารย์สุลักษณ์ ศิวรักษ์: ปรีดีนั้นเป็นลูกชาวนานะครับ แล้วพ่อท่านก็ถูกเอาเปรียบมาจากเรื่องที่ดินครับ ท่านก็เลยเห็นมาว่า ส่วนมากชาวไร่ชาวนาถูกเอาเปรียบมาก

>> ศ.ดร.ไชยันต์ ไชยพร: อาจารย์ เคยอ่านงานของโปรเฟสเซอร์ซิมเมอร์แมนไหมครับ

>> อาจารย์สุลักษณ์ ศิวรักษ์: ไม่ได้อ่าน

>> ศ.ดร.ไชยันต์ ไชยพร: คือในช่วงที่ โปรเฟซเซอร์ซิลเมอร์แมน แกสํารวจสภาพความเป็นอยู่ของคนไทยในชนบทเสร็จแล้ว แกก็ได้ตีพิมพ์เป็นหนังสือ ทีนี้โปรเฟสเซอร์บันเนอร์หรืออะไรเนี่ยผมจําชื่อไม่ได้ แต่ว่าผมได้เขียนไปในเฟซบุ๊ก และแกได้เอางานวิจัยของโปรเฟสเซอร์ซิมเมอร์แมนมาตรวจสอบในฐานะนักวิชาการ ก็ปรากฏว่าในรายงานของโปรเฟซเซอร์ซิมเมอร์แมน เขาตระหนักถึงสิ่งที่อาจารย์พูดเมื่อกี้นี้เลยคือ เขากลัวมากเลยว่าเวลาเขาไปลงพื้นที่เนี่ยก็จะมีพวกข้าราชการคอยเอาผักชีมาให้โรยหน้าอะไรอย่างเงี้ยนะครับคือ ระวังตัวมาก พยายามที่จะระวังตัว เพราะว่าในแง่ของระเบียบวิธีวิจัยทางสังคมศาสตร์ก็รู้อยู่แล้วว่า จะต้องระวังไม่ให้ไอ้สิ่งที่เป็นข้อมูล ที่มันไม่ใช่ข้อมูลแท้ มันมีผลต่อเขา ซึ่งเขาก็ระวังอยู่นะครับ แล้วก็จะได้มาดูว่าตกลงแล้วไอ้สภาพการณ์หรือข้อสรุปที่เสนอพระปกเกล้าฯ แล้วกลายมาเป็นส่วนหนึ่งในเหตุผลข้อโต้แย้งของสมุดปกขาวต่อปกเหลืองเนี่ยมันฟังขึ้นแค่ไหน นะครับ อันนี้ก็น่าจะเป็นความเจริญของวงการวิชาการนะครับ อาจารย์เห็นด้วยมั้ยครับว่าพระยาทรงฯ เสนอว่าอย่าไปบังคับซื้อที่ดินชาวไร่ชาวนาเลย แล้วก็อย่าไปบังคับชาวนาให้มาเป็นข้าราชการชาวไร่ทํานาให้กับรัฐบาลเลย แต่ว่าให้ไปเอาที่ดินรกร้าง เอาคนว่างงานมาทํา จะได้ทําให้เค้าโครงเศรษฐกิจของขุนหลวง ดําเนินไปได้โดยไม่ต้องไปบังคับซื้อที่ดิน

>> อาจารย์สุลักษณ์ ศิวรักษ์: ผมเชื่อว่าอาจารย์ปรีดี เค้าคิดแบบนั้นนะครับ ที่ดินก็จะใช้ที่ดินที่ว่างเปล่า ที่มันมีเจ้าของก่อนครับ ที่เหล่านี้ไม่เพียงพอแล้วค่อยค่อยขอซื้อจากชาวไร่ 

>> ศ.ดร.ไชยันต์ ไชยพร: ชาวนาเค้าจะขายให้ครับ และเค้าจะซื้อด้วยราคานิติธรรม ซึ่งอันนี้มีการพูดจริงครับ เพราะว่าในรายงานการประชุมคณะรัฐมนตรี ถ้าผมจําไม่ผิดวันที่ 28 มีนาคม 2475 หลังจากพระยาทรงฯ เสนอความคิดว่าขุนหลวง อย่าไปบังคับซื้อเลย ใช้ที่ดินว่างเปล่าดีกว่า ท่านก็เห็นด้วยครับ ท่านปรีดีก็เห็นด้วย แล้วมาโต้แย้งกันในประเด็นในเรื่องแบบว่า พักหนี้ เพราะว่ามีคนเสนอให้พักหนี้ประนอมหนี้นะครับ แต่แล้วอาจารย์ปรีดีไม่เห็นด้วย ที่ประชุมวันนั้นก็รายงานการประชุมก็ปิดไป อาจารย์ทราบมั้ยครับว่าตอนหลังได้มีการพยายามเอาเค้าโครงเศรษฐกิจเนี่ยไปเสนอในสภาผู้แทนราษฎรอีกทีนึง อันนี้ผมไม่รู้เรื่อง หลังจากที่คณะรัฐมนตรี ลงมติไม่รับนโยบายของอาจารย์ปรีดี แต่ไปรับนโยบายเศรษฐกิจของพระยามโนฯ หลังที่เกิดกบฏวรเดชแล้ว เค้าบอกท่านปรีดีเป็นอีกอีกท่านหนึ่งที่หนุนกฎหมายพิเศษ กฎหมายศาลพิเศษ การออกกฎหมายศาลพิเศษนี้ ถือว่าทําลายประชาธิปไตยหรือไม่

>> อาจารย์สุลักษณ์ ศิวรักษ์: อันนี้ผมไม่ทราบ พูดตรงไปตรงมาว่าท่าน เห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย อันนี้ผมไม่ทราบ

>> ศ.ดร.ไชยันต์ ไชยพร: ครับและท่านก็ไม่ได้ขัดขวาง

>> อาจารย์สุลักษณ์ ศิวรักษ์: ผมไม่รู้เรื่องนี้ครับ ข้อด้อยของท่านปรีดีมีเพียงเล็กน้อย หนึ่งไอ้เรื่องสมุดปกเหลืองเนี่ยมันทําเร็วเกินไป สองเรื่องกรณีสวรรคตเนี่ยท่านใช้หลักรัฐศาสตร์ไม่ใช้หลักนิติศาสตร์ แล้วท่านถ้าท่านใช้หลักนิติศาสตร์คดีนี้เรียบร้อยสบายเลย ผิดพลาดเรื่องสวรรคตประมาณหมองูตายเพราะงู สิ่งที่ท่านผิดพลาดอีก ก็คือสิ่งที่เรียก กบฏวังหลวงทหารเรือ หักหลังท่านด้วยทหารเรือก็วางแผนร่วมจะร่วมแต่ว่า ท่านก็พลาดไป

>> ศ.ดร.ไชยันต์ ไชยพร: เอ๊ะ!! ทําไมเมื่อกี้ที่อาจารย์บอกว่าในกรณีสวรรคต ถ้าท่านปรีดีเอาคน 7 คนสอบสวนตามกระบวนการกฎหมายก็จะจบละ แต่ว่าไปใช้หลักรัฐศาสตร์ใช่ไหม แล้วอาจารย์บอกว่ากรมชัยนาทเนี่ยส่ายหน้านี้หมายความว่าไม่อยากให้ไปแยกสอบ ข้อมูลอะไรที่อาจารย์ไปอ่านแล้วบอกว่ากรมชัยนาทไม่เห็นด้วย

>> อาจารย์สุลักษณ์ ศิวรักษ์: เรื่องนี้อาจารย์ปรีดีเขียนไว้ชัดเจนเลยนะครับ เพราะว่ามันหลายอย่างพูดมันชัดเจนนะ น่าสังเกตเพราะสมเด็จพระราชชนนี ท่านเป็นพยาบาลมา ท่านก็รู้ว่ามันมี วิสามัญกรรมเกิดขึ้น ไปแตะต้องศพไม่ได้เลย ไอ้อะไรหลักฐานต่างๆ เก็บไว้นี่ท่านสั่งเลย ให้ไปฝังให้เปลี่ยนอะไรต่างๆ เนี่ยแสดงว่ามันมีอะไรที่มันไม่โปร่งใสเกี่ยวข้องอยู่ชัดเจน

>> ศ.ดร.ไชยันต์ ไชยพร: เดี๋ยวประเด็นนี้เดี๋ยวผมค่อยไปค้นคว้าแล้วก็มากราบเรียนอาจารย์ทีหลังนะครับ เออเรื่องพระยาทรงสุรเดช กับความขัดแย้งกับท่านปรีดีเนี่ยอาจารย์คิดว่าเริ่มเมื่อไหร่

>> อาจารย์สุลักษณ์ ศิวรักษ์: ผมว่าคุณทรงท่านไม่มีความรู้ทางเศรษฐศาสตร์นะครับ แต่ตอนหลังเนี่ย คุณทรงเริ่มไม่ไว้ใจคุณพหลอะไรพวกนี้แล้วจริงๆ พหลมากับหลวงพิบูลย์อะไรท่านก็แหวกออกมา ก็เลยเป็นเหตุ

>> ศ.ดร.ไชยันต์ ไชยพร: ในบันทึกของคุณประยูรภมรมนตรีนี่นะครับชีวิต 5 แผ่นดินของข้าพเจ้าเขาบอกว่าพระยาทรงกับหลวงประดิษฐ์นี้แตกกัน 3 วันหลังที่เปลี่ยนแปลงการปกครองวันที่แกนนําคณะราษฏรนําร่างรัฐธรรมนูญไปทูลเกล้าถวายพระปกเกล้าเนี่ย แล้วพระปกเกล้า พิจารณาแล้วก็เห็นว่ามันเป็นอะไรที่คล้ายกับทําไมต้องใช้คําว่า กรรมการราษฎร อะไรประมาณนี้ ทีนี้ พระองค์ ก็เลยถามพระยาทรงฯ ว่าท่านได้อ่านไอ้รัฐธรรมนูญฉบับนี้หรือเปล่า พระยาทรงฯ ก็บอกว่า ไม่ได้อ่านนะครับ แล้วพระปกเกล้าฯ ก็ถามคุณประยูร คุณประยูรก็บอกว่าไม่ได้อ่าน แล้วถ้าในบันทึกของคุณประยูรก็บอกว่าพระปกเกล้าเสียใจนะครับ และคุณประยูรก็บันทึกว่าพระยาทรงฯ โกรธหลวงประดิษฐ์มาก ที่ร่างรัฐธรรมนูญออกมาแบบนี้ แล้วเขาก็บอกตั้งแต่วันนั้นมาเนี่ยคือแตกกันเด็ดขาด คุณต้องฟังหูไว้หูนะครับเพราะคุณประยูรคนนี้ 

>> อาจารย์สุลักษณ์ ศิวรักษ์: เป็นคนสําคัญมาก ที่เปลี่ยนแปลงการปกครองสําเร็จ ก็เพราะคุณประยูร ที่คณะราษฏรพัง ก็พระคุณประยูร เมื่อก่อนตอนอยู่วังบางขุนพรหม ทูลกระหม่อมบริพัตรฯ ก็หลงเขา ให้เขาเป็นคนเก่งคนหนึ่งเช่นเดียวกัน ไปบนฐานะให้เจ้าคุณมโนทุกๆ เช้าเลย ก็คือเวลาเขาเข้าใครเนี่ยประจบใครเนี่ยหลงทั้งหมดทุกคน แต่ก่อนเนี่ยเค้าก็อยู่วังบางพ้งพรหมทูลกระหม่อมบริภัทรก็หลงเขาให้เขาเขาเป็นคนเก่งหนึ่ง ก็เช่นเดียวกันครับ เขาเป็นคนหลายๆ เล่ห์หลายมุม

เบิกเนตร!! ประวัติศาสตร์ 2475 เริ่มกระจ่าง ก่อการเพื่อ 'คณะราษฎร' หรือ 'คนไทย'

ปีนี้เป็นปีที่ 92 หลังจากการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครองของไทย พ.ศ. 2475 จากระบอบ ‘สมบูรณาญาสิทธิราชย์’ เป็นระบอบ ‘ประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุข’ 

ขออธิบายสั้น ๆ สำหรับผู้ที่อาจไม่เข้าใจในระบอบ ‘สมบูรณาญาสิทธิราชย์’

ระบอบ ‘สมบูรณาญาสิทธิราชย์’ (Absolute Monarchy) เป็นระบอบการปกครองที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นผู้ปกครองและทรงมีสิทธิ์ขาดในการบริหารประเทศ 

ปัจจุบันทุกวันนี้ยังมีประเทศที่ปกครองด้วยระบอบ ‘สมบูรณาญาสิทธิราชย์’ อันได้แก่ 

(1) Negara Brunei Darussalam
(2) Kingdom of Eswatini (Swaziland เดิม)
(3) Kingdom of Saudi Arabia
(4) Sultanate of Oman
(5) Vatican City State 
และ (6) United Arab United Arab Emirates (ประกอบด้วย 7 รัฐ Emirates ซึ่งทั้ง 7 รัฐปกครองด้วยระบอบ ‘สมบูรณาญาสิทธิราชย์’ ทั้งสิ้น) 

โดยคุณภาพชีวิตของประชาชนพลเมืองทั้ง 6 ประเทศนี้จัดว่า ‘ดีมาก’ แม้แต่ Kingdom of Eswatini ซึ่งอยู่ในทวีปแอฟริกา สภาพความเป็นอยู่ของผู้คนก็ยังอยู่ในอันดับปานกลางค่อนข้างดีเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคเดียวกัน

คราวนี้มาถึงเรื่องของไทยเรา ... หลังจากมีการนำเสนอ 2475 Dawn of Revolution ภาพยนตร์ Animation ที่บอกเล่าเรื่องราวอันเป็นข้อเท็จจริงของการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475

แอนิเมชันเรื่องนี้ได้ขยายความจริงบางประการให้พี่น้องประชาชนคนไทยได้รับทราบถึงข้อเท็จจริง ความเป็นมา รายละเอียดต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องระหว่างระบอบประชาธิปไตยกับสถาบันพระมหากษัตริย์ไทย ซึ่งอันที่จริงแล้วมีการเตรียมการ (ประชาธิปไตย) มาตั้งแต่รัชสมัยของล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ 4 เริ่มจากการจัดตั้งการปกครองส่วนท้องถิ่นขึ้นเป็นครั้งแรกในรูปแบบสุขาภิบาลที่ท่าฉลอม จังหวัดสมุทรสาคร เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม พ.ศ. 2441 แล้ว

ต่อมาในรัชสมัยของล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ 5 ทรงตั้งสภาที่ปรึกษาขึ้นมา 2 สภา ได้แก่ สภาที่ปรึกษาราชการแผ่นดิน และสภาที่ปรึกษาในพระองค์ในปี พ.ศ. 2417 อีกทั้งทรงสร้างความเท่าเทียมเสมอภาคของประชาชนด้วยการเลิกทาสในปี พ.ศ. 2448 รวมถึงยังทรงออกประกาศให้มีการนับถือศาสนาโดยอิสระในราชอาณาจักรสยาม ขณะเดียวกันก็ทรงใช้ระบบเขตการปกครองใหม่ เช่น มณฑลเทศาภิบาล จังหวัด และอำเภอ และทรงประกาศตั้งกระทรวงขึ้นอย่างเป็นทางการจำนวน 12 กระทรวง เมื่อวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2435 อีกด้วย

พอครั้นถึงรัชสมัยของล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ 6 ก็ได้ทรงตั้งดุสิตธานีเมืองจำลองขึ้นในปี พ.ศ. 2461 เพื่อเป็นแบบทดลอง 'นครตัวอย่าง' ของการปกครองระบอบประชาธิปไตย โดยมีลักษณะเป็นการปกครองส่วนท้องถิ่นในรูปแบบของเทศบาลที่ดัดแปลงมาจากประเทศอังกฤษ 

ในรัชกาลต่อมา ล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ 7 ทรงมีพระราชดำริให้จัดทำร่างรัฐธรรมนูญขึ้น 2 ฉบับ คือ Outline of Preliminary Draft ของพระยากัลยาณไมตรี (Francis B. Sayre) และ An Outline of Changes in the Form of the Government ของนาย Raymond B. Stevens และพระยาศรีวิสารวาจา (เทียนเลี้ยง ฮุนตระกูล) ... แต่ร่างรัฐธรรมนูญดังกล่าวซึ่งจะพระราชทานในวันที่ 6 เมษายน 2475 ถูกคัดค้านจากอภิรัฐมนตรีสภา (คณะที่ปรึกษาชั้นสูงสุด) ด้วยเหตุผลสำคัญว่า ยังไม่ถึงเวลาอันสมควร อันเนื่องจากราษฎรยังมีการศึกษาไม่ดีพอ จึงเกรงว่าเมื่อพระราชทานรัฐธรรมนูญแล้วจะก่อให้เกิดความเสียหายแก่ชาติบ้านเมืองในภายหลัง

เมื่อคณะราษฎรทำการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครองในวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 ล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ 7 ทรงประทับอยู่ที่พระราชวังไกลกังวล หัวหิน ก็ไม่ได้ทรงต่อต้านขัดขวางการกระทำของคณะราษฎรแต่อย่างใด ทั้ง ๆ ที่ยังทรงมีอำนาจสิทธิ์ขาดในการบังคับบัญชาหน่วยทหารทั้งหมดที่อยู่นอกพระนคร รวมทั้งกองทัพเรือซึ่งไม่ได้เข้าร่วมในการก่อการกับคณะราษฎร 

ไม่เพียงเท่านี้ ยังทรงยินยอมเสด็จนิวัตพระนครตามคำกราบบังคมทูลเชิญ (แกมบังคับ) ของคณะราษฎร และทรงพระราชทานรัฐธรรมนูญให้แก่คนไทยตามที่คณะราษฎรผู้ก่อการปฏิวัติต้องการ ด้วยแท้ที่จริงแล้ว ได้ทรงตั้งพระทัยที่จะพระราชทานรัฐธรรมนูญให้แก่ประชาชนอยู่แล้ว เพราะได้ทรงให้มีการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญจนเสร็จสิ้นแล้วนั้นเอง

ต่อมาได้เกิดการคัดค้านการพระราชทานรัฐธรรมนูญให้แก่ประชาชนของอภิรัฐมนตรีสภา ด้วยเกรงว่าจะทำให้เกิดความเสียหายแก่ชาติบ้านเมืองในภายหลัง และได้รับการพิสูจน์ว่าเป็นจริงในเวลาต่อมาเมื่อ 25 ปีหลังการปฏิวัติ 2475 อำนาจในการปกครองบริหารบ้านเมืองถูกแย่งชิงในมือของสมาชิกคณะราษฎร จนถูกจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ทำรัฐประหารตัดวงจรอำนาจทางเมืองของคณะราษฎรในปี พ.ศ. 2500 

ถือเป็น 25 ปีที่คณะราษฎรไม่เคยสนใจหรือใส่ใจในการให้ความรู้ความเข้าใจในเรื่องการปกครองระบอบประชาธิปไตยให้กับชาวบ้านประชาชนเลย จึงกลายเป็นผลกระทบในด้านลบทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตยของไทยมาจนทุกวันนี้ เพราะการขับเคลื่อนการเมืองในระบอบประชาธิปไตยจะมีความเข้มแข็ง และยั่งยืน สิ่งแรกที่ประชาชนจำเป็นจะต้องมีก็คือ ‘วุฒิภาวะทางการเมือง’ 

‘วุฒิภาวะทางการเมือง’ (Political maturity) เริ่มต้นจากการทำหน้าที่พลเมืองที่ดีของประชาชน อาทิ เคารพและปฏิบัติตามกฎหมาย ทำหน้าที่พลเมืองอย่างถูกต้องและครบถ้วน เคารพสิทธิและเสรีภาพของตนเองและผู้อื่น เคารพบรรทัดฐานเดิมของสังคมในเรื่องที่ถือว่ามีคุณค่าหลักร่วมกันของสังคม การเคารพคุณค่าและความเห็นต่างของผู้อื่นด้วยการไม่เหยียดหยามด้อยค่าศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ฯลฯ เห็นประโยชน์ของส่วนรวมมากกว่าประโยชน์ของส่วนตน และสิ่งที่สำคัญที่สุดคือ ต้อง ‘รู้เท่าทันและไม่ตกเป็นเหยื่อของนักการเมืองและพรรคการเมือง’ 

เพราะ 92 ปีของประเทศ ภายใต้ระบอบ ‘ประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุข’ สิ่งที่บ้านเมืองของเรามีปัญหาและเสียโอกาสมากที่สุดเกิดจากการ ‘ทุจริตประพฤติมิชอบ’ ของนักการเมืองและพรรคการเมืองที่ประชาชนคนไทยส่วนไม่รู้เท่าทันจนทำให้เกิดเป็น ‘วงจรอุบาทว์’ เช่นนี้ซ้ำแล้วซ้ำเล่า โดยมีวงรอบของ ‘วงจรอุบาทว์’  คือ...

'เลือกตั้ง -> จัดตั้งรัฐบาล -> เกิดวิกฤตการณ์จาก ‘การทุจริตประพฤติมิชอบ’ ของนักการเมือง -> เกิดการรัฐประหาร  -> ยกเลิกรัฐธรรมนูญ -> ร่างรัฐธรรมนูญ -> กลับมาเลือกตั้งอีก'

ดังนั้นหากไม่สามารถที่จะหยุดยั้งการ ‘ทุจริตประพฤติมิชอบ’ ของนักการเมืองและพรรคการเมืองได้ก็จะมีเหตุทำให้เกิด ‘วงจรอุบาทว์’ อยู่ร่ำไป 

นอกจากความ ‘ไม่รู้เท่าทันจนตกเป็นเหยื่อของนักการเมืองและพรรคการเมือง’ จากการ ‘ทุจริตประพฤติมิชอบ’ แล้ว ขณะนี้ยังเกิดการเซาะกร่อนบ่อนทำลายความมั่นคงของชาติ ตลอดจนทำให้ความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้านเกิดความกินแหนงแคลงใจ ซ้ำร้ายนักการเมืองและพรรคการเมืองฟากฝ่ายที่เป็นปฏิกษัตริย์นิยม ยังไม่ยอมรับความสำคัญในสถาบันหลักของชาติบ้านเมือง (จากใบสั่งจากชาติมหาอำนาจตะวันตก) ด้วยความ ‘ไม่รู้เท่าทัน จนตกเป็นเหยื่อของนักการเมืองและพรรคการเมือง’

ยิ่งไปกว่านั้น พี่น้องประชาชนคนไทยส่วนหนึ่ง ซึ่งน่าจะเป็นกลุ่มคนที่ฉลาด มีความสามารถ และจะเป็นกำลังสำคัญของประเทศชาติต่อไป กลับหลงเชื่อจนตกเป็นเหยื่อและกลายเป็นสาวกให้กลุ่มคนที่ไม่หวังดีต่อชาติบ้านเมืองเหล่านี้ ให้พยายามยึดโยงเอ่ยอ้างว่า ‘ภารกิจ 2475 ยังไม่แล้วเสร็จ’ เพราะเจตนาอันเป็นที่สุด เป็นหมุดหมาย และปลายทางของคนเหล่านี้คือ การใช้ความพยายามอย่างที่สุดเพื่อเปลี่ยนประเทศไทยจาก ‘ราชอาณาจักร’ ให้เป็น ‘สาธารณรัฐ’ นั้นเอง 

ดังนั้น เรื่องราวของการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 หากได้ศึกษาพิจารณาด้วยปัญญาโดยมีสติกำกับอย่างถ่องแท้แล้ว ที่สุดจะพบกับความจริงว่า 'การก่อการครั้งนั้น คณะผู้ก่อการทำเพื่อใครกันแน่ ใครที่ได้ประโยชน์สูงสุดจากการก่อการระหว่างบรรดาสมาชิกคณะราษฎรหรือพี่น้องประชาชนคนไทย'

จาก 24 มิถุนายน 2475 ถึง 24 มิถุนายน 2567 ตลกร้าย 92 ปี ที่ 'โจรห้าร้อย' บางคนสร้างไว้

คนทั่วไปที่ไม่จำเป็นต้องมีการศึกษาสูง ก็คงจะแปลความหมายของคนที่เป็น 'โจรห้าร้อย' กับ 'นักปฏิวัติ' ได้ง่าย ๆ ด้วยความหมายของคนสองประเภทนี้แตกต่างกันราวฟ้ากับเหว 

'นักปฏิวัติ' คือ คนที่จะลงมือสร้างความเปลี่ยนแปลงจากแบบหนึ่งไปเป็นอีกแบบตามความเชื่อของตนเองที่คิดว่าจะดีกว่า เช่น การปฏิวัติระบอบการปกครอง เพื่อยกเลิกระบอบเดิมไปใช้ระบอบใหม่ 

สำหรับประเทศไทย เกิดการปฏิวัติทางการเมืองขึ้นเพียงครั้งเดียวนั่นคือ ‘การปฏิวัติสยาม’ โดยเกิดขึ้นในวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 ซึ่งถือเป็นการปฏิวัติการปกครองโดยเปลี่ยนระบอบการปกครองจากสมบูรณาญาสิทธิราชย์ กลายเป็นระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขแทน 

อย่างไรเสีย ตามความเชื่อของนักปฏิวัติแต่ละยุคสมัย จะถูกหรือผิด? จะทำสำเร็จตามเป้าหมายหรือไม่? นักปฏิวัติที่ดีจริงก็จะไม่มีทางมีพฤติกรรมเช่น 'โจรห้าร้อย' ยกเว้นจะอาศัยการปฏิวัติเป็นฉากหน้า แต่พฤติกรรมลับ ๆ ต่ำ ๆ อันแสนจะไร้เกียรติที่ซ่อนเนียน ๆ อยู่ฉากหลังคือ 'ความโลภ' การกระหายในทรัพย์สินเงินทอง เพชรนิลจินดา รวมถึงที่ดินของบุคคลอื่น

'โจรห้าร้อย' จะมีแต่ความตะกละตะกลาม ทะเยอทะยาน มักใหญ่ใฝ่สูง มองหาแต่ความมั่งคั่งร่ำรวยจากการปล้นสมบัติของคนอื่นมาเป็นของตน 

นานถึง 92 ปีแล้ว ที่เราต่างเข้าใจกันดีว่าประเทศไทยของเราถูก 'นักปฏิวัติ' กลุ่มหนึ่งร่วมมือกันสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับระบอบการปกครองของไทยมาจนถึงปัจจุบัน และแน่นอนว่าเหตุการณ์ดังกล่าวได้แบ่งแยกผู้คนออกเป็นสองฝั่งตลอดมา ทั้งฝั่งที่เห็นดีงามกับนักปฏิวัติ กับอีกฝั่งที่คิดว่าเป็นการกระทำที่ไม่น่าให้อภัย 

แต่สิ่งที่สามารถสรุปได้ในทันทีก็คือ คนเรา ถ้าคิดว่าสิ่งที่เป็นอยู่มันไม่ดี และเราอยากรื้อถอนทำลาย เราก็ต้องทำเป็นให้เห็นว่า 'เราดีกว่า' โดยมิให้สังคมกังขาว่าเรานั้นดีจริงหรือไม่? แต่เท่าที่เห็นเป็นหลักฐานชัดที่สุดก็คือ การแฝงเป็นโจร เพื่อปล้นเอาทรัพย์สินที่ไม่ใช่ของเราใส่กระเป๋าของตัวเองเสียมากกว่า  

92 ปี แม้บางคน อาจจะคิดว่ามาจากน้ำมือของนักปฏิวัติที่คิดดีเพื่อชาติ แต่สำหรับคนจำนวนไม่น้อย มันเป็นแค่คนกลุ่มหนึ่งที่ อยากมั่ง อยากมี และอยากใหญ่ เหมือนคนที่สูงศักดิ์กว่า แต่ดันเกิดมาแล้ว 'มีบุญไม่เท่าเขา' เท่านั้น

การปล้นจึงเป็นทางออกของเหล่า 'โจรห้าร้อย' บางคน 

ไม่มีอะไรซับซ้อนให้ต้องคอยนึกย้อน 'สดุดี'

‘อ.ไชยันต์’ ย้อนคำพูดทูตอังกฤษวิจารณ์บางคนใน ‘คณะราษฎร’ “มีความสามารถ อยากตั้งสาธารณรัฐ แต่ดิบและขาดประสบการณ์”

เมื่อวานนี้ (23 มิ.ย. 67) ศ.ดร.ไชยันต์ ไชยพร อาจารย์ประจำภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก 'Chaiyan Chaiyaporn' ระบุว่า…

“ทูตอังกฤษเป็นสลิ่ม (วาทะ ลุงมะเขือ) ว่าด้วยวาทกรรม ต่อต้าน 2475 : ใครเอ่ย กล่าวในปี 2475 ถึง “บางคน” ในคณะราษฎรว่า”

“ส่วนกลุ่มหัวรุนแรงนั้นเชื่อกันว่า ต้องการจัดตั้งสาธารณรัฐ ระบบโซเวียต หรือระบบที่ใกล้เคียงอย่างใดอย่างหนึ่งที่จะเป็นไปได้ คนเหล่านี้เป็นคนกลุ่มน้อย และแม้บางคนจะกล่าวได้ว่าเป็นผู้มีความสามารถมากกว่าคนทั้งปวง แต่ก็มีลักษณะ “ดิบ” (raw) และขาดประสบการณ์?”

“เฉลย : นายซีซิล ดอร์เมอร์ (Cecil Dormer) อัครราชทูตอังกฤษประจำประเทศไทย ระหว่าง พ ศ 2472-2477”

“อ้างอิง ( [F 7857/4260/40] “Mr. Dormer to Sir John Simon, 7 October 1932, British Documents.)”

“แม้แต่ทูตอังกฤษก็ร่วมขบวน “แซะ” ไปกับเขาด้วยหรือ ?!”

โดนแล้ว!! 'สื่อตะวันตก' ปั่นกระแส '2475 รุ่งอรุณแห่งการปฏิวัติ’ รับเงินหลวง ปฏิบัติข่าวสารเลือกข้าง แบบที่ฟอกขาวอิสราเอล แต่ดิสเครดิตจีนปมอุยกูร์

มีเรื่องราวอันเป็นข่าวเกี่ยวกับ ‘2475 รุ่งอรุณแห่งการปฏิวัติ’ ด้วยมีข่าวปรากฏออกมาว่า วันที่ 7 พ.ค. 2567 สื่อต่างประเทศรายหนึ่ง (ขอสงวนชื่อ) ได้สัมภาษณ์ ‘วิวัธน์ จิโรจน์กุล’ ผู้กำกับ ‘2475 รุ่งอรุณแห่งการปฏิวัติ’  ด้วยการเริ่มคำถามทั่วไปเกี่ยวกับ ภาพยนตร์แอนิเมชันเรื่องนี้ ซึ่งสื่อต่างประเทศรายนั้นถามว่า งบประมาณที่ใช้ทำแอนิเมชันเรื่องนี้มาจากกองทัพ ใช่หรือไม่ หรือการที่ ‘วิวัธน์ จิโรจน์กุล’ ในฐานะผู้กำกับตัดสินใจทำแอนิเมชันเรื่องนี้มาจากม็อบเยาวชนออกมาเคลื่อนไหวเรื่องภารกิจคณะราษฎร ใช่หรือไม่

ตามด้วยคำถามที่เกี่ยวกับการเมืองไทยในปัจจุบัน อาทิ คุณไม่อยากให้ก้าวไกลเป็นรัฐบาลใช่หรือไม่, คุณคิดเห็นอย่างไรกับการยุบพรรคก้าวไกล, คุณเห็นว่า มาตรา 112 มีปัญหาหรือไม่, คุณคิดว่าบทลงโทษ 3-15 ปี ไม่รุนแรงไปหรือ?, แล้วการที่แค่วิจารณ์แล้วต้องติดคุก มันเหมาะสมหรือไม่?, แล้วคุณคิดเห็นอย่างไร? ที่หลายฝ่ายมองว่า ม.112 ละเมิดสิทธิมนุษยชน และ แล้ว มุมมองประชาธิปไตยของคุณเป็นอย่างไร? 

(***สามารถอ่านคำถามและคำตอบของ ‘วิวัธน์ จิโรจน์กุล’ ได้ที่ >> https://www.facebook.com/2475animation/posts/pfbid0tkoXHrYutYW3RfNYzGTSAUdRmxQxMvsd6B1aYcuVYr8jPuvSomjKssMw9ujRGXm6l)

จะเห็นได้ว่าคำถามต่าง ๆ ของสื่อต่างประเทศรายนั้นที่ถามต่อสัมภาษณ์ ‘วิวัธน์ จิโรจน์กุล’ ผู้กำกับ ‘2475 รุ่งอรุณแห่งการปฏิวัติ’ เป็นคำถามที่มีลักษณะชี้นำแกมบังคับเพื่อให้ผู้ตอบได้แสดงออกถึงจุดยืนทางการเมืองฟากฝ่ายใดฟากฝ่ายหนึ่ง แต่ ‘วิวัธน์ จิโรจน์กุล’ สามารถตอบคำถามต่าง ๆ เหล่านั้นได้อย่างถูกต้องและเหมาะสม แสดงถึงความเป็นกลางทางการเมือง และความถูกต้องตามมาตรฐานของคุณธรรมและจริยธรรมได้อย่างชัดเจน สมควรที่จะได้รับคำชื่นชมจากพี่น้องประชาชนคนไทยทุกคนที่รักในความเป็นธรรมและยึดถือในความถูกต้องเป็นอย่างยิ่ง

หลายปีที่ผ่านมา ‘สื่อตะวันตก’ ได้เปลี่ยนบทบาทท่าทีจากความเป็นสื่อมวลชนที่มีคุณภาพและจรรยาบรรณ ยึดถือความเป็นกลาง นำเสนอข่าวสารข้อมูลอันเป็นจริงด้วยความเป็นธรรม ไม่เอนเอียงไปทางฟากฝ่ายใดฟากฟากหนึ่งของความขัดแย้ง แต่กาลปัจจุบันกลับไม่เป็นเช่นนั้นแล้ว สื่อมวลชน โดยเฉพาะสื่อตะวันตกจะนำเสนอข่าวสารข้อมูลที่มีลักษณะเลือกข้าง ราวกับรับงานจากรัฐบาลและนายทุนฟากฝ่ายตะวันตกมา ‘ปฏิบัติการด้านข้อมูลข่าวสาร’ (Information Operation : IO) โจมตีประเทศต่าง ๆ ที่เป็นคู่ขัดแย้ง ไม่ว่าจะเป็น จีน รัสเซีย อิหร่าน ฯลฯ

ในขณะที่ประเทศที่โลกตะวันตกสนับสนุนอย่างเช่น อิสราเอล ซึ่งไม่ว่าจะก่ออาชญากรรมเข่นฆ่าผู้บริสุทธิ์ชาวปาเลสไตน์ไปมากมายขนาดไหน ก็ไม่เคยถูก ‘สื่อตะวันตก’ ประณามหรือกล่าวร้ายเลย โดย ‘สื่อตะวันตก’ เหล่านั้นต่างพยายามให้ข้อมูลกับชาวโลกว่า อิสราเอลป้องกันตนเองอย่างชอบธรรม ทั้ง ๆ ที่พฤติการณ์และพฤติกรรมที่อิสราเอลทำกับชาวปาเลสไตน์นั้น โหดร้ายและป่าเถื่อน เกินกว่าการป้องกันตัวเองไปจนมากมายเกินไปแล้วก็ตาม 

แต่ในกรณีของการปฏิบัติของรัฐบาลสาธารณรัฐประชาชนจีนต่อชาวอุยกูร์ ทั้ง ๆ ที่เมืองต่าง ๆ ในดินแดนซินเกียงที่ชาวอุยกูร์อาศัยอยู่นั้นได้รับการพัฒนาความเจริญมากมายในทุก ๆ ด้าน และเมื่อนำมาเปรียบเทียบกับเขตกาซ่าหรือเขตเวสต์แบงก์ของชาวปาเลสไตน์ซึ่งถูกอิสราเอลปิดล้อมอยู่นั้น ภาพที่ปรากฏเปรียบเทียบความแตกต่างได้ว่ามากกว่าฟ้ากับเหวเสียด้วยซ้ำไป แต่ ‘สื่อตะวันตก’ ยังคงประณาม กล่าวร้าย จีนว่ากดขี่และละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อชาวอุยกูร์ จนมีการแบนผลิตภัณฑ์จากฝ้ายที่เป็นพืชเศรษฐกิจสำคัญของซินเกียง โดยรัฐบาลของประเทศมหาอำนาจตะวันตก

จากภาพยนตร์แอนิเมชัน ‘2475 รุ่งอรุณแห่งการปฏิวัติ’ หากนำเรื่องราวต่าง ๆ มาศึกษาติดตามต่อแล้วจะค้นพบถึงสัจธรรมและปรัชญาทางพุทธศาสนาอย่างน้อย 2 ประการคือ ‘ความจริงเป็นสิ่งไม่ตาย’ (สจจ เว อมตวาจา) และ ‘สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม’ (กมฺมุนา วตฺตตี โลโก) โดยเรื่องราวเกี่ยวกับ ‘ความจริงเป็นสิ่งไม่ตาย’ ได้แก่สิ่งต่าง ๆ ที่คณะราษฎรได้ทำแต่ถูกปิดเงียบเก็บงำเป็นความลับมายาวนานกว่า 80 ปีนั้น ปรากฎโดยเอกสารผลสอบสวนของคณะกรรมการเกี่ยวกับการซื้อขายที่ดินของพระคลังข้างที่ หรือสำนักทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ในปัจจุบัน (ในขณะนั้น) ซึ่งเป็นรายงานที่ทำโดยสำนักนายกรัฐมนตรี ส่งถึงประธานสภาผู้แทนราษฎร เมื่อปี พ.ศ.2480 ได้บอกเล่าอธิบายเกี่ยวกับพฤติกรรมและวิธีการของสมาชิกคณะราษฎรซึ่งดำเนินการเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อปี พ.ศ.2475 ในการซื้อที่ดินพระคลังข้างที่ในราคาถูกมาเป็นกรรมสิทธิของตัวเองและพวกพ้อง ด้วยวิธีการที่ไม่สุจริต ซึ่งถูกชี้ชัดว่าเป็นวิธีการไม่ถูกต้องตามกฎหมาย

ส่วนเรื่องราวเกี่ยวกับ ‘สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม’ นั้น มาจากการที่ ‘แกนนำคณะราษฎร’ เกือบทั้งหมดเป็นข้าราชการทหารและพลเรือน เคยเป็นนักเรียนต่างประเทศจึงได้รับการอุปถัมภ์ดูแลจากล้นเกล้าฯ ในหลวง รัชกาลที่ 6 และรัชกาลที่ 7 ตลอดจนเหล่าบรรดาพระบรมวงศานุวงศ์ทั้งหลาย แต่การปฏิวัติสยาม 2475 นั้น ‘แกนนำคณะราษฎร’ กลับใช้กำลังบังคับจับกุมเหล่าบรรดาพระบรมวงศานุวงศ์ทั้งหลาย ซึ่งหลายพระองค์ได้ทรงให้ความเมตตาเอ็นดูต่อ ‘แกนนำคณะราษฎร’ ตั้งแต่ยังศึกษาเล่าเรียนหรือเป็นข้าราชการชั้นผู้น้อย การกระทำดังกล่าวจึงเปรียบเสมือนการเนรคุณต่อผู้มีพระคุณ ซึ่งผลแห่งกรรมของบรรดา ‘แกนนำคณะราษฎร’ เกิดขึ้นอย่างมากมายในภายหลัง แม้คนรุ่นใหม่ในยุคสมัยนี้อาจไม่เชื่อ แต่ข้อเท็จจริงปรากฏว่า บรรดา ‘แกนนำคณะราษฎร’ หลายคนนั้นจบชีวิตลงด้วยความทุกข์ทรมาน ยากลำบาก ไม่ด้วยทางกาย ก็ทางใจ และบางคนก็ไม่สามารถมากลับมาสิ้นสุดหยุดชีวิตบนแผ่นดินเกิดได้ 

ดังนั้น ‘2475 รุ่งอรุณแห่งการปฏิวัติ’ นอกจากจะเป็นภาพยนตร์ที่สะท้อนความเป็นจริงที่ถูกต้องของประวัติศาสตร์ชาติไทยแล้ว ยังให้ข้อคิด อุทาหรณ์ บทเรียนมากมายแก่ผู้ที่เข้าใจต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยเพียงแค่ ‘กระพี้’ แต่กลับปฏิบัติตัวเช่นผู้ที่บรรลุถึง ‘แก่นแท้’ ของประชาธิปไตยแล้ว ซึ่งทำให้การปกครองระบอบประชาธิปไตยของไทยไม่เคยสมบูรณ์แบบ ทำให้เกิดปัญหาเรื่อยมา ‘2475 รุ่งอรุณแห่งการปฏิวัติ’ ได้แสดงให้เห็นถึงความหมายที่แท้จริงและชัดเจนของประโยคที่ว่า ‘เมื่อกลัดกระดุมเม็ดแรกผิดแล้ว กระดุมเม็ดต่อ ๆ ไปก็กลัดผิดหมด’ ขอขอบคุณคณะผู้สร้างภาพยนตร์เรื่องนี้ แม้จะพบพานปัญหาอุปสรรคเยอะแยะมากมาย แต่ก็ไม่ได้ย่อท้อ บุคคลเหล่านี้ถือได้ว่ามีคุณสมบัติเป็นทองอย่างแท้จริง และเมื่อเป็นทองแล้ว...ย่อมไม่กลัวไฟ!!!


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top