สหรัฐฯ รื้อฟื้นวิชา 'คัดลายมือ' กระตุ้นพัฒนาการ-กล้ามเนื้อมัดเล็กเด็ก

(21 เม.ย.67) ปัจจุบัน นักเรียนระดับประถมศึกษาของโรงเรียน Orangethorpe Elementary School ในรัฐ California กำลังฝึกฝนการคัดลายมือ ตัวเขียนภาษาอังกฤษ หลังจากหน่วยงานด้านการศึกษาของรัฐ California กลับมาบังคับใช้หลักสูตรการคัดตัวเขียนในปีการศึกษาใหม่

ที่ผ่านมา สหรัฐอเมริกาได้ออกนโยบาย 'ลดเวลาหน้าจอ' ของเด็กๆ ในระดับชั้นประถมศึกษา โดยให้เด็กหันมาจับดินสอ เพื่อคัดลายมือในรูปแบบตัวเขียน ท่ามกลางความหวังที่จะกระตุ้นพัฒนาการเด็ก และสนับสนุนโครงการรื้อฟื้นทักษะการเขียน รวมถึงส่งเสริมการใช้กล้ามเนื้อมัดเล็ก

ทั้งนี้ ดูเหมือนว่า การเขียนตัวอักษรแบบคัดลายมือที่ใช้วิธีลากหางตัวอักษรต่อกัน หรือที่เรียกว่าอักษรตัวเขียน (Cursive) จะไม่ค่อยเป็นที่คุ้นเคยสำหรับเด็ก Gen Alpha ทำให้นโยบายคัดลายมือถูกนำกลับมาบรรจุในหลักสูตรสำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาในรัฐ California ที่จะถูกบังคับใช้ในปีการศึกษาใหม่นี้

โดยในเดือนมกราคมปี ค.ศ. 2024 กฎหมาย Assembly Bill 446 ได้กำหนดให้โรงเรียนระดับประถมศึกษาต้องสอนคัดลายมือแบบตัวเขียน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง นักเรียนเกรด 1-เกรด 6 (Grade 1 หรือ G1 ถึง G6 ซึ่งเทียบเท่าระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ถึงปีที่ 6 ของไทย) ในรัฐ California ที่มีจำนวนเกือบ 3 ล้านคน

Sharon Quirk-Silva อดีตครูประถมผู้สนับสนุนร่างกฎหมายฉบับนี้ กล่าวว่าขณะที่ร่วมโต๊ะอาหารกับ Jerry Brown อดีตผู้ว่าการรัฐ California เมื่อปี ค.ศ. 2016 เมื่อเขาทราบว่าเธอเป็นครูชั้นประถมศึกษา เขาบอกกับเธอทันทีว่า “คุณต้องนำการคัดลายมือกลับมา”

Sharon Quirk-Silva บอกว่า การเรียนรู้ลักษณะนี้จะช่วยปรับปรุง และพัฒนาความรู้-ความเข้าใจในการอ่าน และช่วยให้เด็กมีทักษะการเคลื่อนไหวกล้ามเนื้อมัดเล็กที่ดี ยังไม่นับประโยชน์ด้านอื่นๆ อีกมากมาย

ซึ่งตัว Sharon Quirk-Silva เองได้เห็นประโยชน์ในการสอนให้เด็กอ่านเอกสารทางประวัติศาสตร์ รวมถึงจดหมายประจำครอบครัวจากรุ่นก่อนๆ ที่มักเขียนด้วยลายมือมานานแล้ว

Pamela Keller คุณครูชั้นประถมปลายของ Orangethorpe กล่าวว่า เธอสอนคัดลายมือในชั้นเรียนก่อนหน้าที่จะมีกฎหมายบังคับใช้ในวันปีใหม่ที่ผ่านมาตั้งนานแล้ว ซึ่งที่ผ่านมา เด็กบางคนบ่นว่า ชั่วโมงคัดลายมือน่าเบื่อมาก

Pamela Keller จึงมักให้นักเรียนฟังว่า วิธีเขียนแบบนี้จะช่วยให้พวกเธอฉลาดขึ้น

“การคัดลายมือจะสร้างการเชื่อมโยงบางอย่างในสมอง และจะช่วยในการก้าวสู่ระดับต่อไป” Pamela Keller กระชุ่น

เธอเล่าต่อว่า เมื่อเข้าใจแล้ว เด็กๆ ก็ตื่นเต้นเพราะอยากที่จะฉลาดขึ้น พวกเขาจึงหันมาสนใจที่จะเรียนรู้การคัดมือมากขึ้น

“เมื่อนักเรียนรู้จักการคัดลายมือตัวเขียนภาษาอังกฤษแล้ว พวกเขาจะสามารถอ่านเอกสารทางประวัติศาสตร์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น รัฐธรรมนูญของสหรัฐฯ ที่เขียนขึ้นในปี ค.ศ. 1787” Pamela Keller กล่าว และว่า...

เมื่อยกตัวอย่างที่น่าตื่นตาตื่นใจ อย่างการจะพาไปอ่านรัฐธรรมนูญฉบับแรก นักเรียนของเธอทุกคนต่างสนใจเป็นอย่างมาก

ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา มาตรฐานด้านการเรียนการสอนของสหรัฐอเมริกา ได้ลดระดับความสนใจในการสอนคัดลายมือ หรือการอ่านตัวเขียนลง ให้สอดคล้องกับยุค Digital ที่ใช้การพิมพ์ตัวอักษรในการสื่อสารผ่านอุปกรณ์ ICT ไม่ว่าจะเป็น PC Notebook Tablet PC หรือ Smart Phone ถึงขนาดวางเป็นแนวทางวิชาการของการศึกษาระดับชาติเลยทีเดียว

Kathleen Wright ผู้ก่อตั้งองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร Handwriting Collective ที่ส่งเสริมการจัดการเรียนการสอนการเขียนด้วยลายมือ เล่าว่า “พวกเขาหยุดสอนเด็กๆ ถึงวิธีเขียนหนังสือไปทั้งหมดได้อย่างไร โดยเฉพาะอย่างยิ่ง วิทยาลัยครูต่างๆ ก็ไม่ได้เตรียมบุคลากรให้สอนการเขียนด้วยลายมืออีกด้วย”

Lauren Gendill นักวิเคราะห์นโยบายของ National Conference of State Legislatures หรือ NCSL ระบุว่า California เป็นรัฐที่ 22 ซึ่งตรากฎหมายให้มีการจัดการเรียนการสอนเขียนตัวอักษรภาษาอังกฤษ และเป็นรัฐลำดับ 14 ที่มีนโยบายการสอนการคัดลายมือมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 2014

โดยในปี ค.ศ. 2024 นี้ จะมีอีก 5 รัฐ ที่จะออกกฎหมายให้สอนการเขียนด้วยลายมือแบบตัวเขียนต่อจาก California

Leslie Zoroya ผู้อำนวยการโครงการด้านการอ่าน สำนักงานการศึกษา Los Angeles County ระบุว่า การเรียนรู้แบบตัวเขียน ช่วยส่งเสริมทักษะหลายอย่าง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ช่วยปรับปรุงพัฒนาการของเด็ก

“เมื่อเด็กๆ เขียนด้วยลายมือแทนการพิมพ์ โครงข่ายประสาทต่างๆ ของเด็กจะถูกใช้งานต่างกัน” Leslie Zoroya กล่าว และว่า...

การคัดลายมือ มีส่วนช่วยสร้างการเชื่อมโยงในสมอง รวมถึงระบบความจำ เพราะเวลาที่เด็กๆ ลงมือเขียน พวกเขาจะนึกถึงลักษณะ และเสียงของตัวอักษร อีกทั้งความสัมพันธ์ระหว่างสายตาและมือ จะมีมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อเด็กๆ นึกถึงกับอักษรที่จะเขียนตัวถัดไป

Sharon Quirk-Silva อดีตครูประถมผู้สนับสนุนร่างกฎหมายคัดลายมือของ California กลับมา เผยเป็นการส่งท้าย ว่าเธอตั้งความหวังที่จะเห็นนักเรียน G6 ที่เรียนจบชั้นประถมศึกษาไปแล้ว จะสามารถอ่านและเขียน อักษรตัวเขียนได้อย่างคล่องแคล่วในอนาคต


ที่มา: ดร.จักรกฤษณ์ สิริริน 
https://www.salika.co/2024/04/19/calligraphy-usa-education/