Friday, 3 May 2024
ภาษาอังกฤษ

เชียงใหม่-เตรียมพร้อมครูสังกัดเทศบาลนครเชียงใหม่ เปิดห้องเรียนพิเศษ Mini English Program

สถานทูตสหรัฐฯและสถานกงสุลในประเทศไทยสนับสนุนการอบรมภาษาอังกฤษแก่ครูวิทยาศาสตร์จากโรงเรียนเทศบาลนครเชียงใหม่ในโครงการ Mini-English Program

สถานทูตสหรัฐฯและสถานกงสุลในประเทศไทยขอแสดงความยินดีกับคุณครูวิทยาศาสตร์ที่ได้เข้าร่วมโครงการอบรมภาษาอังกฤษแก่ครูในโครงการ Mini-Engish Program ซึ่งจะเริ่มสอนในโรงเรียนเทศบาลนครเชียงใหม่ในปีการศึกษาใหม่นี้ นายกเทศมนตรีนครเชียงใหม่ 
นายอัศนี บูรณุปกรณ์ และกงสุลใหญ่สหรัฐอเมริกา เชียงใหม่ ลิสา บูเจนนาส แสดงความยินดีกับคุณครูทั้ง 12 คนในพิธีปิดโครงการเมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2566

นายอัศนี บูรณุปกรณ์ นายกเทศมนตรีนครเชียงใหม่  กล่าวว่า
โครงการอบรมครูครั้งนี้ริเริ่ม โดยเทศบาลนครเชียงใหม่ โดยรัฐบาลสหรัฐอเมริกาเป็นผู้สนับสนุนผู้สอนภาษาอังกฤษ (English Language Fellows) จำนวน 2 ท่าน ได้แก่ ครีสทีน เอดี และ แคนเดซ เรนอด เป็นวิทยากร และมีอาจารย์จากมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่  และผู้เชี่ยวชาญจากแผนกการเรียนการสอนภาษาอังกฤษ (REL0) สถานทูตสหรัฐอเมริกา กรุงเทพฯ เป็นผู้ประสานงานให้ข้อมูลด้านการเรียนการสอน และช่วยเหลือด้านภาษาที่จำเป็นระหว่างการฝึกอบรมการอบรมอย่างเข้มข้นเป็นเวลา 3 วันนี้ครอบคลุมเนื้อหาหลายด้าน อาทิ ภาษาอังกฤษที่ใช้ในห้องเรียน เทคนิคการสอนคำศัพท์ทางวิทยาศาสตร์ รวมถึงวิธีการและกิจกรรมสำหรับการสอนเด็กโดยใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาในการสื่อสาร นอกจากนี้ คุณครูผู้เข้าอบรมยังได้ทำกิจกรรม micro-teaching หรือการจำลองการสอนเพื่อฝึกทักษะใหม่ที่ได้เรียนรู้อีกด้วย โครงการ Mini-English Program ใหม่สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาจะเริ่มสอนในภาคการศึกษาแรกของปีการศึกษา 2566 นี้

คุณลิสา บูเจนนาส กงสุลใหญ่สหรัฐอเมริกา เชียงใหม่  กล่าวว่า "สถานทูตสหรัฐฯและสถานกงสุลในประเทศไทยมีความภาคภูมิใจที่ได้ร่วมมือกับหน่วยงานในท้องถิ่นเพื่อสนับสนุนโครงการเกี่ยวกับการศึกษา การพัฒนาความสามารถของเยาวชนไทยในด้านการพูดภาษาอังกฤษนับเป็นเรื่องสำคัญสำหรับเรา ภาษาอังกฤษเป็นภาษาในการทำธุรกิจ เป็นภาษาทางวิทยาศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ และการแพทย์ และเป็นสะพานเชื่อมวัฒนธรรมต่าง ๆ ทั่วโลก หากเราสามารถสื่อสารกันได้ เราจะเข้าใจกัน และเรียนรู้จากกันและกัน" ก่อนหน้านี้ สถานทูตสหรัฐฯและสถานกงสุลในประเทศไทยได้สนับสนุนเทศบาลนครเชียงใหม่ในการอบรมครูผู้สอนภาษาอังกฤษและคณิตศาสตร์จากโรงเรียนเทศบาลฯ เพื่อสอนในโครงการสองภาษามาแล้ว

'บิ๊กตู่' โนแคร์!! ปม 'ภาษาอังกฤษ' ไม่มีผลต่อการบริหารประเทศ ย้ำ!! 'ฟังออก-โต้ตอบได้' แถมมีผู้เชี่ยวชาญด้านภาษาอยู่ข้างตัว

เมื่อวันที่ 22 เม.ย.66 ที่ผ่านมา ช่องยูทูบ Thai PBS ได้เผยแพร่วิดีโอสัมภาษณ์พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรครวมไทยสร้างชาติ ผ่านรายการ ข่าวเจาะย่อโลก #ExclusiveTalk ดำเนินรายการโดย สุทธิชัย หยุ่น ซึ่งบางช่วงบางตอนของการสัมภาษณ์ได้ถามถึงเรื่องทักษะภาษาอังกฤษ โดยพลเอกประยุทธ์ระบุว่า…

“ทุกครั้งที่ผมไปประชุมที่ต่างประเทศ ทุกประเทศก็ให้เกียรติผมนะ ผมเข้าใจว่าเขาพูดอะไร ผมก็มีล่ามของผมไปด้วย มีรัฐมนตรีต่างประเทศอยู่ด้วย ผมจะต้องกลัวอะไรล่ะ?”

‘ไต้หวัน’ มุ่งหน้าสู่ประเทศ 2 ภาษาภายในปี 2030 อัดงบ 3 หมื่นล้านเหรียญเสริมภาษาอังกฤษ-จีน

รัฐบาลไต้หวันตั้งเป้า ขอเวลาไม่เกิน 10 ปี ผลักดันให้เป็นประเทศ 2 ภาษา (Bilingual) ที่ใช้ทั้งภาษาจีน และ อังกฤษ เป็นภาษาสื่อสารหลักให้ได้ภายในปี 2030 ตั้งงบเริ่มต้นที่ 3 หมื่นล้านดอลลาร์ไต้หวัน พัฒนาความสามารถด้านภาษาอังกฤษของประชากรให้สามารถใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาที่ 2 รองจากภาษาจีน

การเสริมทักษะด้านภาษาอังกฤษกลายเป็นวาระระดับชาติของไต้หวัน แม้จะเป็นเรื่องยากที่ทำให้ชาวไต้หวันสามารถใช้ภาษาอังกฤษได้ในระดับ ฮ่องกง, สิงคโปร์, ฟิลิปปินส์ หรือ อินเดีย ที่ภาษาอังกฤษถูกใช้เป็นภาษาราชการ และในแวดวงวิชาการทั้งด้านกฎหมาย และภาคธุรกิจอย่างกว้างขวาง แต่ก็เป็นเป้าหมายที่ไต้หวันต้องการที่จะไปให้ถึง เพื่อเพิ่มศักยภาพชาวไต้หวันสามารถแข่งขันในตลาดสากลได้มากยิ่งขึ้น อีกทั้งยังดึงดูดนักลงทุนต่างชาติ เลือกมาทำธุรกิจในไต้หวันเพิ่มมากขึ้นในอนาคตอันใกล้ เมื่ออุปสรรคด้านภาษาลดลง

แผนการยกระดับความสามารถด้านภาษาอังกฤษของประชากรไต้หวัน เริ่มวางแผนกันมานานแล้วตั้งแต่ปี 2018 และประกาศเริ่มโครงการในปีนี้ 2023 ด้วยงบประมาณ 3 หมื่นล้านเหรียญไต้หวัน โดยมีการปรับแผนการเรียนภาคบังคับทั้งหมด เพื่อรองรับการเรียนภาษาอังกฤษอย่างจริงจังในทุกระดับชั้น

อีกทั้งเริ่มประสานงานกับภาคธุรกิจในประเทศ ในการเพิ่มภาษาอังกฤษ เป็นภาษาที่สื่อสารในองค์กร ทั้งการใช้เอกสาร สัญญา ข้อความประชาสัมพันธ์บนเว็บไซท์ ควบคู่ไปกับการใช้ภาษาจีน ทั้งนี้เพื่อเอื้อต่อการติดต่อกับบริษัทต่างชาติ ประหยัดค่าใช้จ่ายในการแปลเอกสารจากอังกฤษ เป็นจีน

เนื่องจากในปัจจุบัน ไต้หวันมีการส่งออกอุปกรณ์ไฮเทค สู่ต่างประเทศรวมมูลค่ากว่า 8.29 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยเพราะชิปประมวลผล ที่ไต้หวันครองตลาดโลกสูงถึง 60% และยิ่งถ้าบุคลากรไต้หวัน สามารถสื่อสารภาษาอังกฤษได้อย่างคล่องแคล่ว โอกาสในการขยายตลาดต่างประเทศยิ่งไปได้ไกลกว่าเดิม 

สำหรับเป้าหมายเพื่อไปให้ถึงการเป็นประเทศ 2 ภาษาภายในปี 2030 นั้น ไต้หวันจะเริ่มตั้งแต่ที่โรงเรียน ด้วยการผลักดันให้เกิดระบบโรงเรียน 2 ภาษาทั่วกรุงไทเป ให้ได้ถึง 210 โรงเรียนภายในปี 2026 และ ทุกโรงเรียนในเขตนครซินเป่ย์ต้องมีหลักสูตร 2 ระบบ ทั้งจีน อังกฤษภายในปี 2030 ส่วนเมืองอื่นๆ ต้องตั้งเป้าในการพัฒนาโรงเรียนในพื้นที่ให้มีหลักสูตรภาคบังคับ 2 ภาษาให้สำเร็จในอีก 7 ปีข้างหน้า

ถึงกระนั้นรัฐบาลไต้หวัน ก็ยังไม่ได้ประกาศอย่างเป็นทางการ ว่าจะให้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาราชการ รวมถึงการใช้ภาษาอังกฤษในเอกสารราชการสำคัญ ทั้งในศาล หรือในสภาด้วยหรือไม่ เพียงแต่มีการเรียกร้องให้ยกระดับการใช้ภาษาอังกฤษสื่อสารในหน่วยงานภาครัฐมากยิ่งขึ้นต่อจากนี้ไป 

ด้าน ฐิตินันท์ พงษ์สุทธิรักษ์ ผู้อำนวยการสถาบันวิทยาศาสตร์และความมั่นคงระหว่างประเทศ ของคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  มองว่า นโยบายด้านภาษาอังกฤษจะช่วยกระตุ้นให้ชาวไต้หวันพัฒนาทักษะภาษาอังกฤษของตนมากขึ้น 

ทว่า เมื่อเปรียบเทียบกันนโยบายการพัฒนาการเรียนรู้ภาษาอังกฤษของไทยแล้ว กระทรวงศึกษาธิการของไทย ได้ตั้งเป้าให้พัฒนาหลักสูตรให้ เด็กนักเรียนตั้งแต่ระดับประถมศึกษาสามารถสื่อสารภาษาอังกฤษในระดับพื้นฐานในชีวิตประจำวันให้ได้ภายในปี 2026 

‘ภาษาอังกฤษ’ เป็นเครื่องมือไว้สำหรับสื่อสาร ไม่ใช่เครื่องวัดความฉลาด

(12 พ.ค. 66) เพจเฟซบุ๊ก ‘สมเกียรติ โอสถสภา’ ได้โพสต์ข้อความมระบุว่า…

บันทึกลับจากเกาะปีนัง 

แวะมาพูดคุยกับพรรคพวกชาวมาเลย์ที่ปีนังได้สามวันแล้วครับ

บรรยากาศสบายๆ ช่วงกลางวันรถไม่ติด แต่ตอนเย็นติดเอาเรื่อง

อาหารหลากหลายเชื้อชาติ มาเล อินเดีย จีน

ค่าใช้จ่ายไม่แพง ส่วนนึงเพราะค่าเงินริงกิตอ่อนลงเยอะ จากเดิม 10 บาทต่อ 1 ริงกิต เดี๋ยวนี้เหลือ 7.5 บาทต่อ 1 ริงกิต

อากาศเมืองที่เป็นเกาะ รับลมทะเลเต็มๆ สดชื่นอยู่แล้วครับ

เดิมปีนังเป็นที่ๆ คนไทยส่งลูกหลานมาเรียน ‘เมืองนอก’

ต่อมาอีกยุค เป็นที่ ๆ หนึ่ง ที่คนไทยมาจับจ่ายซื้อของนำเข้าจากตะวันตก

แต่มาคราวนี้ มีแต่คนปีนังบอกว่าชอบไปเที่ยวเมืองไทย

บางคนขับรถห้าชั่วโมงไปหาดใหญ่ แทบทุกเดือน

บอกว่าติดใจต้มยำกุ้ง 

แต่ดู ๆ แล้วน่าจะมีกิ๊กมากกว่า

คุยไปคุยมา สัมผัสได้ว่า คนมาเลไม่ได้ภูมิใจกับการเคยเป็นเมืองขึ้นของอังกฤษ

คนมาเลสื่อสารภาษาอังกฤษได้ แต่ไม่ได้พูดภาษาอังกฤษคล่องทุกคน แม้ประเทศจะเคยเป็นเมืองขึ้น

ภาษาอังกฤษ ใช้วัดความสามารถในการสื่อสารเป็นภาษาอังกฤษ

ไม่ได้ใช้วัดความฉลาดของคน 

หลาย ๆ ชาติในอาเซียน แอบแหยงประเทศไทย ที่อยู่เป็นเอกราชมาได้ ตลอดยุคล่าอาณานิคม

เค้าอาจไม่ยอมรับตรงๆ แต่คุยแล้วสัมผัสได้ 

เป็นบันทึก 007 สั้น ๆ จากเกาะปีนัง 

ก่อนจะกลับไปลงคะแนนเลือกตั้งครับ

แต่เที่ยงวันนี้ คงต้องแวะไปร้านชาร์กั๋วเตี๋ยวอีกซักรอบ

เรื่องปากท้องเป็นเรื่องใหญ่เสมอครับ

โซเชียลชื่นชม ‘แม่ค้าแหนมคลุก’ พูดอังกฤษคล่องปรื๋อ อธิบายสินค้าฉะฉาน ทำนักท่องเที่ยวต่างชาติปลื้ม!!

(6 ก.ค. 66) กลายเป็นคลิปไวรัลที่เรียกเสียงชื่นชมได้เป็นอย่างมาก หลังมีนักท่องเที่ยวต่างชาติถ่ายคลิปแม่ค้าสาวคนหนึ่งที่ร้านแหนมเนืองภายในตลาดสดสิริวัฒนา อ.เมืองเชียงใหม่ ซึ่งแม่ค้าสาวคนนี้ไม่เพียงแต่หน้าตาสดใสน่ารัก แต่ยังมีทักษะด้านภาษาที่ดี สามารถพูดคุยสื่อสารกับนักท่องเที่ยวเป็นภาษาอังกฤษได้อย่างคล่องแคล่วฉะฉาน โดยในคลิปนักท่องเที่ยวได้สอบถามว่าอาหารแบบนี้คืออะไร แม่ค้าสาวก็ได้บอกว่ามันคือแหนมคลุก พร้อมกับอธิบายส่วนผสมอย่างละเอียดและพูดคุยกับนักท่องเที่ยว ก่อนที่นักท่องเที่ยวจะโดนแม่ค้าตก อุดหนุนแหนมคลุกไปหนึ่งชุดพร้อมกับรอยยิ้มความประทับใจซึ่งนักท่องเที่ยวคนนี้ได้โพสตส์คลิปลงในติ๊กต็อกและถูกแชร์ไปอย่างรวดเร็ว

ขณะที่หลังเป็นกระแสโซเชียล ผู้สื่อข่าวได้ติดตามไปที่ตลาดสิริวัฒนา หรือตลาดธานินทร์พบกับ นางสาวผณินทรา จันทน้อย หรือ น้องนิว อายุ 22 ปี กำลังจัดข้าวของอยู่ที่ร้าน ทันทีทีพบกันน้องนิวก็ทักทายด้วยรอยยิ้มพร้อมกับบอกว่าเธอคือแม่ค้าในคลิป เป็นหลานของเจ้าของร้านซึ่งเธอจะมาช่วยขายของเป็นประจำ โดยลูกค้าต่างชาติคนดังกล่าวได้มาเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน ที่ผ่านมา ได้เดินถือกล้องมาถ่ายอาหารที่วางอยู่ที่ร้าน เธอพูดจาทักทายสวัสดีซึ่งชาวต่างชาติได้สอบถามอาหารที่วางขายอยู่ว่าคืออะไร เธอจึงบอกไปว่าเป็น “ยำแหนมมิกซ์” หลังจากนั้นชาวต่างชาติคนนี้ก็สั่งยำแหนม พร้อมกับสอบถามเรื่องเวลาร้านเปิดเผื่อมีโอกาสจะได้แวะกลับมาอุดหนุนอีก

น.ส.ผณินทรา บอกว่า ที่ผ่านมามีลูกค้าต่างชาติมาเป็นประจำ ส่วนสาเหตุที่เธอพูดสื่อสารภาษาอังกฤษได้ เป็นเพราะเรียนคณะศิลปศาสตร์ เอกภาษาอังกฤษ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ เพิ่งจบเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา พร้อมกับออกตัวว่าไม่ได้เก่ง แต่พอจะพูดได้นิดหน่อย โดยหลังจากที่คลิปถูกแชร์และมีเสียงชื่นชม เธอก็รู้สึกดีใจและขอบคุณ หลายคนจำได้และมาพูดคุยด้วย พร้อมบอกว่าอยากให้หลาย ๆ คนยังที่ไม่มั่นใจในการพูดภาษาอังกฤษและสื่อสารกับชาวต่างชาติ ได้หัดลองพูดและมีความมั่นใจให้มากขึ้น เพราะโดยส่วนตัวแล้วเธอก็พูดไม่ค่อยเก่ง แต่ใช้ความมั่นใจ ยิ้มแย้มและใช้ภาษาที่เข้าใจง่าย พูดให้เกิดความเข้าใจมากที่สุด

'โบว์-ณัฏฐา' แนะ!! ยกระดับภาษาอังกฤษคนไทยต้องให้เรียนไว้เป็นภาษาที่สอง พร้อมทั้งต้องสอนอย่างถูกวิธี ให้ความสำคัญครบ 'ศัพท์-ไวยากรณ์-ทักษะ'

(29 พ.ย.66) น.ส.ณัฏฐา มหัทธนา หรือ โบว์ พิธีกรรายการวิเคราะห์ข่าว และนักกิจกรรมเพื่อสิทธิมนุษยชน โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก ถึงประเด็นภาษาอังกฤษคนไทยลำดับต่ำลง ว่า...

ที่ภาษาอังกฤษคนไทยลำดับต่ำลงเรื่อยๆ ไม่ใช่เพราะเรียนไวยากรณ์มากไปอย่างที่พูดตามๆ กัน ที่มันดิ่งลงเรื่อยๆ เพราะไวยากรณ์ก็ทิ้ง ศัพท์ก็ไม่ให้ท่อง อยากสอนแนวใหม่แบบเน้นทักษะแต่จำนวนชั่วโมงก็ไม่พอ

ถ้าจะสอนแบบคนเรียนภาษาแม่ เน้นฟังเน้นพูด ก็ต้องมีเวลาอยู่กับภาษานั้นมากพอ แทบตลอดเวลา คือเรียนแบบ English as the First Language (EFL) ซึ่งพอระดับสูงขึ้นก็จะเน้นทุกอย่าง

ถ้าไม่สามารถทำแบบนั้นได้ ก็ต้องเรียนในฐานะภาษาต่างประเทศ ซึ่งจะทิ้งศัพท์ทิ้งไวยากรณ์ไม่ได้ เพราะต้องมี Pattern ให้ตั้งหลักไว้ต่อยอดเมื่อมีโอกาสฝึกทักษะมากขึ้น คือเรียน English as a Foreign Language (EFL)

ทางที่ดี ยกระดับให้เรียนเป็นภาษาที่สอง จะได้ความเข้มข้นเพิ่ม และมีเวลาฝึกทักษะเพียงพอ แม้จะไม่ได้อยู่ในประเทศที่ใช้ภาษานั้นเป็นหลักก็ตาม คือเรียน English as the Second Language (ESL) 

คนจัดการศึกษาต้องเข้าใจและเลือกเอาสักอย่างค่ะ แต่ถ้ามีชีวิตแบบไม่มีภาษาอังกฤษแวดล้อมเลย แล้วทิ้งศัพท์ทิ้งไวยากรณ์ หวังพึ่งการพูดการฟังแค่สัปดาห์ละไม่กี่ชั่วโมง เพราะคิดว่าแบบนี้แหละคือการสอนแนวใหม่แล้ว … ผลที่ได้ก็คือ ถูกแซงเรียบ ดิ่งต่อได้อีก 

📍ถ้ายังทำอะไรไม่ได้ ระหว่างนี้ หยุดสร้างความเข้าใจผิดๆ กันก่อน เรียนภาษาต่างประเทศต้องให้ความสำคัญครบสามอย่าง 'ศัพท์ ไวยากรณ์ ทักษะ'

อย่าไปตั้งข้อรังเกียจสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ถ้าสอนถูกวิธี ไม่มีแย่ลงค่ะ

อันนี้พูดถึงการยกระดับของคนทั้งรุ่นในระบบ ให้เปิดโอกาสไปถึงการใช้งานระดับสูงได้ ไม่ใช่แค่พอสื่อสารได้

‘ภาษาอังกฤษ’ ไม่ได้มีไว้เพื่อ ‘วัดความฉลาด’

‘ภาษาอังกฤษ’ ไม่ได้มีไว้เพื่อ ‘วัดความฉลาด’

ภาษามีไว้สื่อสาร!!

ประโยคเด็ดกินใจคนไทย ที่พยายามฝึกภาษาอังกฤษ แต่กลับถูกบูลลี่ เหยียบย่ำ ดูแคลนว่าโง่ ซึ่ง Mohamad Safa นักสิทธิมนุษยชน UN เคยทวีตข้อความเกี่ยวกับประเด็นนี้ไว้เมื่อปี 2018 โดยระบุว่า…

“I hope one day people will understand that English is a language. Not a measure of
intelligence.” หรือแปลว่า…

“ผมหวังว่าสักวันหนึ่ง ผู้คนจะเข้าใจว่าภาษาอังกฤษเป็นแค่ภาษา ไม่ใช่สิ่งที่วัดความฉลาดของคน”

‘ผปค.’ หาครูสอนพิเศษอังกฤษให้ลูก 7 ขวบ ย้ำ!! ‘ขอคนไม่จบราชภัฏ’ ทำชาวเน็ตเสียงแตก 2 ฝั่ง ‘เข้าใจเป็นสิทธิ-ควรใช้วิธีโพสต์ที่ดีกว่านี้’

(11 ธ.ค.66) กลายเป็นประเด็นในโลกออนไลน์จำนวนมาก หลังจากที่ผู้ปกครองรายหนึ่ง โพสต์ข้อความลงในกลุ่ม ‘หาครูสอนพิเศษเด็กตามบ้าน’ ที่มีสมาชิกมากกว่า 7.8 พันคน ระบุว่า

“หาครูสอนพิเศษภาษาอังกฤษ เด็ก 7 ขวบครับ พิกัดศรีราชา ขอคนที่ไม่จบจากราชภัฏนะครับ นอกนั้นได้หมด”

หลังจากโพสต์ไปไม่นานมีคนเข้ามาแสดงความคิดเห็นจำนวนมาก นอกจากนี้มีเพจหลายเพจ แคปข้อความนี้ไปวิพากษ์วิจารณ์จำนวนมาก เช่น

- “จบราชภัฏแล้วมันทำไมคะ?”
- “เขาจ้าง เขาก็มีสิทธิเลือกนะดีหรือไม่ดี ไม่ใช่ประเด็น ประเด็นคือ เขาไม่เอา แค่นั้น”
- “ไม่เห็นว่าเจ้าของโพสต์ผิดอะไรนะ ถ้าเจ้าตัวสะดวกมีเงินจะจ้าง คนเราไม่มีสิทธิเลือกเหรอวะ”
- “ขออนุญาตนะคะ… คือไม่ต้องโพสต์ว่าไม่รับจบราชภัฏก็ได้ ค่อยไปเลือกทีหลัง ส่วนคนจบราชภัฏก็ไม่ได้เสียหายนะคะ ไม่เลือกก็ไม่ต้องประกาศ ให้มีความต่างก็ได้ค่ะ”
- “เป็นพ่อคนได้ไง ชอบดูถูกคนอื่นแบบนี้ แล้วจะสอนให้ลูกไม่ดูถูกคนได้หรอ สงสารเด็ก”
- “แยกให้ออกนะ ระหว่างมีสิทธิเลือกกับเหยียด คนเรามีสิทธิเลือกโดยไม่ต้องเหยียดได้นะ เผื่อไม่รู้”
- “เอาตรงๆ นะครับ ทุกคนทุกที่ทุกสถาบันมีสิทธิเลือกคนที่จะมาทำงานด้วยครับ ต้องยอมรับว่าชื่อมหาลัยสำคัญครับโดยเฉพาะในวงการครูสอนพิเศษ แต่ถ้าผู้สอนสามารถพิสูจน์ทางอื่นได้ว่าคุณมีศักยภาพ เช่น ผลงานลูกศิษย์สอบติดม.ดัง ผลคะแนนสอบที่ดีมาก ประสบการณ์สอนเยอะมีผลงานมากมาย อันนั้นก็จะเป็นอีกประเด็น แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น พอขอคุณสมบัติเรื่องมหาลัยมา เรทการสอนก็จะขึ้นไปตามนั้นด้วยครับ ผมว่าถ้าเป็นไปตามนี้ คุณจขพเค้าก็แฟร์ๆ นะครับผม”
- “ให้กำลังใจคุณพ่อค่ะ เขาอยากเลือกสิ่งที่ดีที่สุดให้ลูกตนเอง ส่วนอันไหนที่ ‘ไม่ดี’ ไม่มีคุณภาพก็ไม่ต้องใส่ไปให้ลูก”
- “อยากรู้เหมือนกัน ทำไมถึงดูถูกกับราชภัฏกันจัง”

‘นายกฯ’ สั่งยกระดับ ‘ภาษาอังกฤษ’ ในระดับอุดมศึกษา สร้างความพร้อมด้าน ‘วิชาการ-วิชาชีพ-ทักษะสื่อสาร’ ยิ่งขึ้น

(25 ม.ค. 67) นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า จากข้อสั่งการของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง ในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 28 พ.ย 66 ให้หน่วยงานภาครัฐเร่งจัดหาโครงการ หรือมาตรการต่าง ๆ ด้านการพัฒนาทักษะภาษาอังกฤษอย่างเร่งด่วน ทางกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ได้ออกประกาศเรื่องนโยบายการยกระดับมาตรฐานภาษาอังกฤษในสถาบันอุดมศึกษา พ.ศ. 2567 เพื่อยกระดับความรู้ความสามารถในการใช้ภาษาอังกฤษของผู้สำเร็จการศึกษาระดับอุดมศึกษาให้ดีขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม

โดยกำหนดเป้าหมาย พัฒนาการจัดการเรียนการสอน ส่งเสริมสภาพแวดล้อมให้เหมาะสมต่อการเรียนรู้ รวมถึงกำหนดให้นักศึกษาทุกคน สอบวัดความรู้และทักษะภาษาอังกฤษก่อนสำเร็จการศึกษา ตามแบบทดสอบที่สถาบันอุดมศึกษาพัฒนาขึ้นหรือแบบทดสอบตามมาตรฐานสากลอื่น ๆ โดยเทียบเคียงผลกับมาตรฐานสากลของสหภาพยุโรปที่ใช้วัดระดับความสามารถทางภาษาในด้านการอ่าน การเขียน การฟัง และการพูด (Common European Framework of Reference for Languages: CEFR)

นายชัย กล่าวว่า กระทรวง อว. ได้ขับเคลื่อนแผนการดำเนินงานตามประกาศดังกล่าว โดยกำหนดให้สถาบันอุดมศึกษาปฏิบัติตามแนวทางกำหนดนโยบายและเป้าหมายยกระดับมาตรฐานภาษาอังกฤษ เพื่อเป็นแนวทางในการพัฒนาทักษะความสามารถในการใช้ภาษาอังกฤษของนิสิต นักศึกษาให้เป็นบัณฑิตที่มีความพร้อม ทั้งด้านวิชาการ วิชาชีพ และทักษะการสื่อสารภาษาอังกฤษในระดับที่ใช้งานได้ และพิจารณาจัดการเรียนการสอนในรายวิชาภาษาอังกฤษ รวมทั้งจัดทําแผนเพื่อดําเนินการให้เป็นไปตามเป้าหมาย โดยมีตัวชี้วัดและมีการประเมินผลที่ชัดเจน และจัดกิจกรรมเสริมหลักสูตร จัดสภาพแวดล้อมทั้งในห้องเรียนและนอกห้องเรียนที่ส่งเสริมการใช้ภาษาอังกฤษ

พร้อมทั้งจัดสื่อการเรียนการสอนรูปแบบเอกสารหรือสื่อการเรียนรู้ออนไลน์ เพื่อเพิ่มโอกาสให้นิสิตนักศึกษาสามารถพัฒนาทักษะการใช้ภาษาอังกฤษได้ด้วยตนเอง รวมถึงตั้งแนวทางการประเมิน โดยการสอบวัดความรู้และทักษะภาษาอังกฤษก่อนสําเร็จการศึกษา ตามแบบทดสอบที่สถาบันอุดมศึกษาพัฒนาขึ้น หรือ แบบทดสอบตามมาตรฐานสากลอื่น ๆ โดยกําหนดเป้าหมายผลสัมฤทธิ์ด้านทักษะภาษาอังกฤษ เทียบเคียงผลกับเกณฑ์ CEFR ของแต่ละบุคคล ตามหลักดังนี้ 1.ระดับอนุปริญญา ในระดับเกณฑ์ตั้งแต่ B1 ขึ้นไป 2. ระดับปริญญาตรี ในระดับเกณฑ์ตั้งแต่ B2 ขึ้นไป และ 3. ระดับบัณฑิตศึกษา ในระดับเกณฑ์ตั้งแต่ C1 ขึ้นไป

“ด้วยการกำหนดนโยบายแบบมุ่งยกระดับทุกด้าน นายกรัฐมนตรีจึงเร่งการพัฒนาทรัพยากรบุคคลไทยให้มีความสามารถเท่าทัน เท่าเทียมการตลาดแรงงาน เร่งพัฒนาทักษะภาษาอังกฤษในระดับอุดมศึกษาให้ได้ตามมาตรฐานสากล เพื่อความพร้อมของนักเรียน นักศึกษา เพื่อใช้ในการติดต่อสื่อสารกับชาวต่างชาติ ช่วยพัฒนาความรู้ความสามารถ ตลอดจนยกระดับอาชีพ ให้เท่าทันสอดคล้องกับนโยบายของประเทศด้านการท่องเที่ยว การค้า การลงทุน ภาคการศึกษาวิจัยต่าง ๆ” นายชัย กล่าว

สหรัฐฯ รื้อฟื้นวิชา 'คัดลายมือ' กระตุ้นพัฒนาการ-กล้ามเนื้อมัดเล็กเด็ก

(21 เม.ย.67) ปัจจุบัน นักเรียนระดับประถมศึกษาของโรงเรียน Orangethorpe Elementary School ในรัฐ California กำลังฝึกฝนการคัดลายมือ ตัวเขียนภาษาอังกฤษ หลังจากหน่วยงานด้านการศึกษาของรัฐ California กลับมาบังคับใช้หลักสูตรการคัดตัวเขียนในปีการศึกษาใหม่

ที่ผ่านมา สหรัฐอเมริกาได้ออกนโยบาย 'ลดเวลาหน้าจอ' ของเด็กๆ ในระดับชั้นประถมศึกษา โดยให้เด็กหันมาจับดินสอ เพื่อคัดลายมือในรูปแบบตัวเขียน ท่ามกลางความหวังที่จะกระตุ้นพัฒนาการเด็ก และสนับสนุนโครงการรื้อฟื้นทักษะการเขียน รวมถึงส่งเสริมการใช้กล้ามเนื้อมัดเล็ก

ทั้งนี้ ดูเหมือนว่า การเขียนตัวอักษรแบบคัดลายมือที่ใช้วิธีลากหางตัวอักษรต่อกัน หรือที่เรียกว่าอักษรตัวเขียน (Cursive) จะไม่ค่อยเป็นที่คุ้นเคยสำหรับเด็ก Gen Alpha ทำให้นโยบายคัดลายมือถูกนำกลับมาบรรจุในหลักสูตรสำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาในรัฐ California ที่จะถูกบังคับใช้ในปีการศึกษาใหม่นี้

โดยในเดือนมกราคมปี ค.ศ. 2024 กฎหมาย Assembly Bill 446 ได้กำหนดให้โรงเรียนระดับประถมศึกษาต้องสอนคัดลายมือแบบตัวเขียน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง นักเรียนเกรด 1-เกรด 6 (Grade 1 หรือ G1 ถึง G6 ซึ่งเทียบเท่าระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ถึงปีที่ 6 ของไทย) ในรัฐ California ที่มีจำนวนเกือบ 3 ล้านคน

Sharon Quirk-Silva อดีตครูประถมผู้สนับสนุนร่างกฎหมายฉบับนี้ กล่าวว่าขณะที่ร่วมโต๊ะอาหารกับ Jerry Brown อดีตผู้ว่าการรัฐ California เมื่อปี ค.ศ. 2016 เมื่อเขาทราบว่าเธอเป็นครูชั้นประถมศึกษา เขาบอกกับเธอทันทีว่า “คุณต้องนำการคัดลายมือกลับมา”

Sharon Quirk-Silva บอกว่า การเรียนรู้ลักษณะนี้จะช่วยปรับปรุง และพัฒนาความรู้-ความเข้าใจในการอ่าน และช่วยให้เด็กมีทักษะการเคลื่อนไหวกล้ามเนื้อมัดเล็กที่ดี ยังไม่นับประโยชน์ด้านอื่นๆ อีกมากมาย

ซึ่งตัว Sharon Quirk-Silva เองได้เห็นประโยชน์ในการสอนให้เด็กอ่านเอกสารทางประวัติศาสตร์ รวมถึงจดหมายประจำครอบครัวจากรุ่นก่อนๆ ที่มักเขียนด้วยลายมือมานานแล้ว

Pamela Keller คุณครูชั้นประถมปลายของ Orangethorpe กล่าวว่า เธอสอนคัดลายมือในชั้นเรียนก่อนหน้าที่จะมีกฎหมายบังคับใช้ในวันปีใหม่ที่ผ่านมาตั้งนานแล้ว ซึ่งที่ผ่านมา เด็กบางคนบ่นว่า ชั่วโมงคัดลายมือน่าเบื่อมาก

Pamela Keller จึงมักให้นักเรียนฟังว่า วิธีเขียนแบบนี้จะช่วยให้พวกเธอฉลาดขึ้น

“การคัดลายมือจะสร้างการเชื่อมโยงบางอย่างในสมอง และจะช่วยในการก้าวสู่ระดับต่อไป” Pamela Keller กระชุ่น

เธอเล่าต่อว่า เมื่อเข้าใจแล้ว เด็กๆ ก็ตื่นเต้นเพราะอยากที่จะฉลาดขึ้น พวกเขาจึงหันมาสนใจที่จะเรียนรู้การคัดมือมากขึ้น

“เมื่อนักเรียนรู้จักการคัดลายมือตัวเขียนภาษาอังกฤษแล้ว พวกเขาจะสามารถอ่านเอกสารทางประวัติศาสตร์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น รัฐธรรมนูญของสหรัฐฯ ที่เขียนขึ้นในปี ค.ศ. 1787” Pamela Keller กล่าว และว่า...

เมื่อยกตัวอย่างที่น่าตื่นตาตื่นใจ อย่างการจะพาไปอ่านรัฐธรรมนูญฉบับแรก นักเรียนของเธอทุกคนต่างสนใจเป็นอย่างมาก

ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา มาตรฐานด้านการเรียนการสอนของสหรัฐอเมริกา ได้ลดระดับความสนใจในการสอนคัดลายมือ หรือการอ่านตัวเขียนลง ให้สอดคล้องกับยุค Digital ที่ใช้การพิมพ์ตัวอักษรในการสื่อสารผ่านอุปกรณ์ ICT ไม่ว่าจะเป็น PC Notebook Tablet PC หรือ Smart Phone ถึงขนาดวางเป็นแนวทางวิชาการของการศึกษาระดับชาติเลยทีเดียว

Kathleen Wright ผู้ก่อตั้งองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร Handwriting Collective ที่ส่งเสริมการจัดการเรียนการสอนการเขียนด้วยลายมือ เล่าว่า “พวกเขาหยุดสอนเด็กๆ ถึงวิธีเขียนหนังสือไปทั้งหมดได้อย่างไร โดยเฉพาะอย่างยิ่ง วิทยาลัยครูต่างๆ ก็ไม่ได้เตรียมบุคลากรให้สอนการเขียนด้วยลายมืออีกด้วย”

Lauren Gendill นักวิเคราะห์นโยบายของ National Conference of State Legislatures หรือ NCSL ระบุว่า California เป็นรัฐที่ 22 ซึ่งตรากฎหมายให้มีการจัดการเรียนการสอนเขียนตัวอักษรภาษาอังกฤษ และเป็นรัฐลำดับ 14 ที่มีนโยบายการสอนการคัดลายมือมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 2014

โดยในปี ค.ศ. 2024 นี้ จะมีอีก 5 รัฐ ที่จะออกกฎหมายให้สอนการเขียนด้วยลายมือแบบตัวเขียนต่อจาก California

Leslie Zoroya ผู้อำนวยการโครงการด้านการอ่าน สำนักงานการศึกษา Los Angeles County ระบุว่า การเรียนรู้แบบตัวเขียน ช่วยส่งเสริมทักษะหลายอย่าง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ช่วยปรับปรุงพัฒนาการของเด็ก

“เมื่อเด็กๆ เขียนด้วยลายมือแทนการพิมพ์ โครงข่ายประสาทต่างๆ ของเด็กจะถูกใช้งานต่างกัน” Leslie Zoroya กล่าว และว่า...

การคัดลายมือ มีส่วนช่วยสร้างการเชื่อมโยงในสมอง รวมถึงระบบความจำ เพราะเวลาที่เด็กๆ ลงมือเขียน พวกเขาจะนึกถึงลักษณะ และเสียงของตัวอักษร อีกทั้งความสัมพันธ์ระหว่างสายตาและมือ จะมีมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อเด็กๆ นึกถึงกับอักษรที่จะเขียนตัวถัดไป

Sharon Quirk-Silva อดีตครูประถมผู้สนับสนุนร่างกฎหมายคัดลายมือของ California กลับมา เผยเป็นการส่งท้าย ว่าเธอตั้งความหวังที่จะเห็นนักเรียน G6 ที่เรียนจบชั้นประถมศึกษาไปแล้ว จะสามารถอ่านและเขียน อักษรตัวเขียนได้อย่างคล่องแคล่วในอนาคต


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top