‘ไต้หวัน’ มุ่งหน้าสู่ประเทศ 2 ภาษาภายในปี 2030 อัดงบ 3 หมื่นล้านเหรียญเสริมภาษาอังกฤษ-จีน

รัฐบาลไต้หวันตั้งเป้า ขอเวลาไม่เกิน 10 ปี ผลักดันให้เป็นประเทศ 2 ภาษา (Bilingual) ที่ใช้ทั้งภาษาจีน และ อังกฤษ เป็นภาษาสื่อสารหลักให้ได้ภายในปี 2030 ตั้งงบเริ่มต้นที่ 3 หมื่นล้านดอลลาร์ไต้หวัน พัฒนาความสามารถด้านภาษาอังกฤษของประชากรให้สามารถใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาที่ 2 รองจากภาษาจีน

การเสริมทักษะด้านภาษาอังกฤษกลายเป็นวาระระดับชาติของไต้หวัน แม้จะเป็นเรื่องยากที่ทำให้ชาวไต้หวันสามารถใช้ภาษาอังกฤษได้ในระดับ ฮ่องกง, สิงคโปร์, ฟิลิปปินส์ หรือ อินเดีย ที่ภาษาอังกฤษถูกใช้เป็นภาษาราชการ และในแวดวงวิชาการทั้งด้านกฎหมาย และภาคธุรกิจอย่างกว้างขวาง แต่ก็เป็นเป้าหมายที่ไต้หวันต้องการที่จะไปให้ถึง เพื่อเพิ่มศักยภาพชาวไต้หวันสามารถแข่งขันในตลาดสากลได้มากยิ่งขึ้น อีกทั้งยังดึงดูดนักลงทุนต่างชาติ เลือกมาทำธุรกิจในไต้หวันเพิ่มมากขึ้นในอนาคตอันใกล้ เมื่ออุปสรรคด้านภาษาลดลง

แผนการยกระดับความสามารถด้านภาษาอังกฤษของประชากรไต้หวัน เริ่มวางแผนกันมานานแล้วตั้งแต่ปี 2018 และประกาศเริ่มโครงการในปีนี้ 2023 ด้วยงบประมาณ 3 หมื่นล้านเหรียญไต้หวัน โดยมีการปรับแผนการเรียนภาคบังคับทั้งหมด เพื่อรองรับการเรียนภาษาอังกฤษอย่างจริงจังในทุกระดับชั้น

อีกทั้งเริ่มประสานงานกับภาคธุรกิจในประเทศ ในการเพิ่มภาษาอังกฤษ เป็นภาษาที่สื่อสารในองค์กร ทั้งการใช้เอกสาร สัญญา ข้อความประชาสัมพันธ์บนเว็บไซท์ ควบคู่ไปกับการใช้ภาษาจีน ทั้งนี้เพื่อเอื้อต่อการติดต่อกับบริษัทต่างชาติ ประหยัดค่าใช้จ่ายในการแปลเอกสารจากอังกฤษ เป็นจีน

เนื่องจากในปัจจุบัน ไต้หวันมีการส่งออกอุปกรณ์ไฮเทค สู่ต่างประเทศรวมมูลค่ากว่า 8.29 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยเพราะชิปประมวลผล ที่ไต้หวันครองตลาดโลกสูงถึง 60% และยิ่งถ้าบุคลากรไต้หวัน สามารถสื่อสารภาษาอังกฤษได้อย่างคล่องแคล่ว โอกาสในการขยายตลาดต่างประเทศยิ่งไปได้ไกลกว่าเดิม 

สำหรับเป้าหมายเพื่อไปให้ถึงการเป็นประเทศ 2 ภาษาภายในปี 2030 นั้น ไต้หวันจะเริ่มตั้งแต่ที่โรงเรียน ด้วยการผลักดันให้เกิดระบบโรงเรียน 2 ภาษาทั่วกรุงไทเป ให้ได้ถึง 210 โรงเรียนภายในปี 2026 และ ทุกโรงเรียนในเขตนครซินเป่ย์ต้องมีหลักสูตร 2 ระบบ ทั้งจีน อังกฤษภายในปี 2030 ส่วนเมืองอื่นๆ ต้องตั้งเป้าในการพัฒนาโรงเรียนในพื้นที่ให้มีหลักสูตรภาคบังคับ 2 ภาษาให้สำเร็จในอีก 7 ปีข้างหน้า

ถึงกระนั้นรัฐบาลไต้หวัน ก็ยังไม่ได้ประกาศอย่างเป็นทางการ ว่าจะให้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาราชการ รวมถึงการใช้ภาษาอังกฤษในเอกสารราชการสำคัญ ทั้งในศาล หรือในสภาด้วยหรือไม่ เพียงแต่มีการเรียกร้องให้ยกระดับการใช้ภาษาอังกฤษสื่อสารในหน่วยงานภาครัฐมากยิ่งขึ้นต่อจากนี้ไป 

ด้าน ฐิตินันท์ พงษ์สุทธิรักษ์ ผู้อำนวยการสถาบันวิทยาศาสตร์และความมั่นคงระหว่างประเทศ ของคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  มองว่า นโยบายด้านภาษาอังกฤษจะช่วยกระตุ้นให้ชาวไต้หวันพัฒนาทักษะภาษาอังกฤษของตนมากขึ้น 

ทว่า เมื่อเปรียบเทียบกันนโยบายการพัฒนาการเรียนรู้ภาษาอังกฤษของไทยแล้ว กระทรวงศึกษาธิการของไทย ได้ตั้งเป้าให้พัฒนาหลักสูตรให้ เด็กนักเรียนตั้งแต่ระดับประถมศึกษาสามารถสื่อสารภาษาอังกฤษในระดับพื้นฐานในชีวิตประจำวันให้ได้ภายในปี 2026 

ทั้งนี้ ความพยายามในการพัฒนาการใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาที่ 2 ของทั้งไต้หวันและไทย จะสามารถเปิดประตูสู่การเรียนรู้ และการหาความรู้ได้ด้วยตนเอง ที่เป็นส่วนสำคัญในการพัฒนาการศึกษาโดยรวม เพียงแต่อุปสรรคสำคัญของนโยบายกระตุ้นการเรียนภาษาอังกฤษของไต้หวันคือ ชาวไต้หวันไม่ค่อยมีโอกาสได้ใช้ภาษาอังกฤษในชีวิตประจำวันมากนัก 

อีกทั้งหลักสูตรการเรียนมักมุ่งเน้นเพื่อการอ่านเพื่อสอบเป็นสำคัญ มากกว่าความสามารถในการพูด หรือเขียน จึงทำให้นักเรียนไต้หวันไม่มั่นใจพอที่จะพูดภาษาอังกฤษในที่สาธารณะ ซึ่งไม่ต่างจากนักเรียนไทย ที่ยังขาดแรงจูงใจในการพัฒนาทักษะภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสาร จึงเป็นโจทย์สำคัญของนักการศึกษาในการปรับปรุง แก้ไขหลักสูตร เพื่อยกระดับทักษะผู้เรียนให้สามารถใช้ภาษาอังกฤษ เป็นภาษาที่ 2 ได้อย่างแท้จริง

เรื่อง: ยีนส์ อรุณรัตน์

อ้างอิง: South China Morning Post