Friday, 3 May 2024
ภาษาจีน

‘ไต้หวัน’ มุ่งหน้าสู่ประเทศ 2 ภาษาภายในปี 2030 อัดงบ 3 หมื่นล้านเหรียญเสริมภาษาอังกฤษ-จีน

รัฐบาลไต้หวันตั้งเป้า ขอเวลาไม่เกิน 10 ปี ผลักดันให้เป็นประเทศ 2 ภาษา (Bilingual) ที่ใช้ทั้งภาษาจีน และ อังกฤษ เป็นภาษาสื่อสารหลักให้ได้ภายในปี 2030 ตั้งงบเริ่มต้นที่ 3 หมื่นล้านดอลลาร์ไต้หวัน พัฒนาความสามารถด้านภาษาอังกฤษของประชากรให้สามารถใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาที่ 2 รองจากภาษาจีน

การเสริมทักษะด้านภาษาอังกฤษกลายเป็นวาระระดับชาติของไต้หวัน แม้จะเป็นเรื่องยากที่ทำให้ชาวไต้หวันสามารถใช้ภาษาอังกฤษได้ในระดับ ฮ่องกง, สิงคโปร์, ฟิลิปปินส์ หรือ อินเดีย ที่ภาษาอังกฤษถูกใช้เป็นภาษาราชการ และในแวดวงวิชาการทั้งด้านกฎหมาย และภาคธุรกิจอย่างกว้างขวาง แต่ก็เป็นเป้าหมายที่ไต้หวันต้องการที่จะไปให้ถึง เพื่อเพิ่มศักยภาพชาวไต้หวันสามารถแข่งขันในตลาดสากลได้มากยิ่งขึ้น อีกทั้งยังดึงดูดนักลงทุนต่างชาติ เลือกมาทำธุรกิจในไต้หวันเพิ่มมากขึ้นในอนาคตอันใกล้ เมื่ออุปสรรคด้านภาษาลดลง

แผนการยกระดับความสามารถด้านภาษาอังกฤษของประชากรไต้หวัน เริ่มวางแผนกันมานานแล้วตั้งแต่ปี 2018 และประกาศเริ่มโครงการในปีนี้ 2023 ด้วยงบประมาณ 3 หมื่นล้านเหรียญไต้หวัน โดยมีการปรับแผนการเรียนภาคบังคับทั้งหมด เพื่อรองรับการเรียนภาษาอังกฤษอย่างจริงจังในทุกระดับชั้น

อีกทั้งเริ่มประสานงานกับภาคธุรกิจในประเทศ ในการเพิ่มภาษาอังกฤษ เป็นภาษาที่สื่อสารในองค์กร ทั้งการใช้เอกสาร สัญญา ข้อความประชาสัมพันธ์บนเว็บไซท์ ควบคู่ไปกับการใช้ภาษาจีน ทั้งนี้เพื่อเอื้อต่อการติดต่อกับบริษัทต่างชาติ ประหยัดค่าใช้จ่ายในการแปลเอกสารจากอังกฤษ เป็นจีน

เนื่องจากในปัจจุบัน ไต้หวันมีการส่งออกอุปกรณ์ไฮเทค สู่ต่างประเทศรวมมูลค่ากว่า 8.29 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยเพราะชิปประมวลผล ที่ไต้หวันครองตลาดโลกสูงถึง 60% และยิ่งถ้าบุคลากรไต้หวัน สามารถสื่อสารภาษาอังกฤษได้อย่างคล่องแคล่ว โอกาสในการขยายตลาดต่างประเทศยิ่งไปได้ไกลกว่าเดิม 

สำหรับเป้าหมายเพื่อไปให้ถึงการเป็นประเทศ 2 ภาษาภายในปี 2030 นั้น ไต้หวันจะเริ่มตั้งแต่ที่โรงเรียน ด้วยการผลักดันให้เกิดระบบโรงเรียน 2 ภาษาทั่วกรุงไทเป ให้ได้ถึง 210 โรงเรียนภายในปี 2026 และ ทุกโรงเรียนในเขตนครซินเป่ย์ต้องมีหลักสูตร 2 ระบบ ทั้งจีน อังกฤษภายในปี 2030 ส่วนเมืองอื่นๆ ต้องตั้งเป้าในการพัฒนาโรงเรียนในพื้นที่ให้มีหลักสูตรภาคบังคับ 2 ภาษาให้สำเร็จในอีก 7 ปีข้างหน้า

ถึงกระนั้นรัฐบาลไต้หวัน ก็ยังไม่ได้ประกาศอย่างเป็นทางการ ว่าจะให้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาราชการ รวมถึงการใช้ภาษาอังกฤษในเอกสารราชการสำคัญ ทั้งในศาล หรือในสภาด้วยหรือไม่ เพียงแต่มีการเรียกร้องให้ยกระดับการใช้ภาษาอังกฤษสื่อสารในหน่วยงานภาครัฐมากยิ่งขึ้นต่อจากนี้ไป 

ด้าน ฐิตินันท์ พงษ์สุทธิรักษ์ ผู้อำนวยการสถาบันวิทยาศาสตร์และความมั่นคงระหว่างประเทศ ของคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  มองว่า นโยบายด้านภาษาอังกฤษจะช่วยกระตุ้นให้ชาวไต้หวันพัฒนาทักษะภาษาอังกฤษของตนมากขึ้น 

ทว่า เมื่อเปรียบเทียบกันนโยบายการพัฒนาการเรียนรู้ภาษาอังกฤษของไทยแล้ว กระทรวงศึกษาธิการของไทย ได้ตั้งเป้าให้พัฒนาหลักสูตรให้ เด็กนักเรียนตั้งแต่ระดับประถมศึกษาสามารถสื่อสารภาษาอังกฤษในระดับพื้นฐานในชีวิตประจำวันให้ได้ภายในปี 2026 

‘ว.นานาชาติ มธบ.’ เปิดหลักสูตรจีนธุรกิจ ไม่มีพื้นฐานก็เรียนได้ พร้อมชู 4 จุดแข็ง ‘บุคลากร-คอมมูนิตี้-ทุนเรียนฟรี-พันธมิตรธุรกิจ’

วันที่ (25 พ.ค. 66) อาจารย์จุฑามาศ ลิมศุภนาค หัวหน้าหลักสูตรภาษาจีนธุรกิจ วิทยาลัยนานาชาติ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (มธบ.) เปิดเผยว่า ในโลกของการทำงานภาษานั้น นับเป็นหัวใจสำคัญอย่างหนึ่งในการนำพาให้ประสบความสำเร็จในสายงานอาชีพ ปัจจุบันการใช้ภาษาจีนมีอัตราเติบโตมากขึ้น

เนื่องจากเศรษฐกิจประเทศจีนเติบโตอย่างก้าวกระโดดขยายไปทั่วทุกมุมโลก ทำให้ภาคธุรกิจต้องการแรงงานที่มีทักษะด้านภาษาจีนมากขึ้นด้วย ดังนั้น การมีทักษะด้านภาษาจีนจึงเพิ่มโอกาสในการทำงานและได้เปรียบในการทำธุรกิจ รวมไปถึงเพิ่มความเป็นมืออาชีพอีกด้วย

หลักสูตรภาษาจีนธุรกิจ วิทยาลัยนานาชาติ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (DPU) เล็งเห็นความสำคัญของการผลิตบุคลากรให้ตรงกับความต้องการของตลาดแรงงาน ดังนั้น การจัดการเรียนการสอนจึงออกแบบให้สอดคล้องกับความต้องการของภาคธุรกิจ

โดยให้ความสำคัญกับการเรียนภาษาจีนพร้อมกับบูรณาการความรู้เฉพาะทางในสาขาอาชีพต่าง ๆ ที่นักศึกษาจะได้นำเป็นความรู้ในการประกอบอาชีพตามความต้องการภายหลังจบการศึกษา ไม่ว่าจะเป็น ภาษาจีนเพื่อธุรกิจสายการบิน ภาษาจีนเพื่อการค้าระหว่างประเทศ ภาษาจีนเพื่อการค้าออนไลน์ ภาษาจีนด้านการโรงแรมและการท่องเที่ยว ฯลฯ ดังนั้น บัณฑิตที่จบออกไปจึงสามารถทำงานได้หลากหลายอาชีพ

อาจารย์จุฑามาศ กล่าวเพิ่มเติมว่า หลักสูตรภาษาจีนธุรกิจ DPU เปิดมานานกว่า 36 ปี โดยเป็นมหาวิทยาลัยเอกชนแห่งแรกในประเทศไทยที่เปิดสอนในสาขานี้ นักศึกษาที่มาเรียนที่นี่จะได้เรียนกับอาจารย์ที่จบจากมหาวิทยาลัยชั้นนำจากประเทศจีนโดยตรง ทั้ง ป.ตรี ป.โท ป.เอก ซึ่งอาจารย์จะมีความเข้าใจในโครงสร้างด้านวัฒนธรรม บริบทต่างๆ ตลอดจนการเติบโตของประเทศจีน โดยความรู้สำคัญที่จะส่งเสริมกับการเรียนภาษาเหล่านี้ก็นักศึกษาจะได้รับการถ่ายทอดควบคู่กับการเรียนรู้ไปด้วย เพราะเนื่องจากมหาวิทยาลัยมีนักศึกษาชาวจีนจำนวนกว่า 3,000 คน ซึ่งนับเป็นคอมมูนิตี้ขนาดใหญ่ นักศึกษาจะได้อยู่ในสิ่งแวดล้อมทางภาษากับเจ้าของภาษาโดยตรง ได้เรียนรู้การปรับตัวในการอยู่ร่วมกัน ทำงานร่วมกันในวัฒนธรรมที่แตกต่าง

อีกทั้งทุกปีนักศึกษายังมีโอกาสได้รับทุนการศึกษาไปเรียนคอร์สระยะสั้นในช่วงซัมเมอร์ที่มหาวิทยาลัยของจีนซึ่งเป็นพันธมิตรกัน ขณะเดียวกันยังมีทุนเรียนต่อปริญญาโทที่ประเทศจีนกับเครือข่ายมหาวิทยาลัยจีนของเราอีกด้วย ไม่ว่าจะเป็น มหาวิทยาลัยครุศาสตร์เทียนจิน มหาวิทยาลัยชนชาติกว่างซี มหาวิทยาลัยภาษาและวัฒนธรรมปักกิ่ง และยังมีสถาบันขงจื่อเส้นทางสายไหมทางทะเล ซึ่งให้ทุนมาปีหนึ่งๆ จำนวนกว่า 20 ทุน ที่สำคัญนักศึกษาที่จบจากหลักสูตรภาษาจีนธุรกิจของเรา ส่วนใหญ่บริษัทที่เป็นพันธมิตรจะรับเข้าทำงานทันที

“หลักสูตรนี้ น้อง ๆ ที่ไม่มีพื้นฐานภาษาจีนก็สามารถเรียนได้ เพราะก่อนจะเปิดเทอมเราจะปรับระดับภาษาจีนให้มีพื้นฐานก่อน และพอเปิดเรียนแล้วเราก็จับคู่บัดดี้ที่เป็นนักศึกษาจีนให้กับเขา เพื่อให้ได้ฝึกสื่อสารกับเจ้าของภาษาอยู่ตลอดเวลา นักศึกษาจะอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ล้อมรอบไปด้วยเพื่อนคนจีน จะทำให้เขาคุ้นเคยกับเจ้าของภาษา กล้าที่จะสื่อสาร ทำให้สามารถสื่อสารภาษาจีนได้เร็วขึ้น

นอกจากนี้ หลักสูตรยังมีคลินิกภาษาจีนไว้คอยสนับสนุนการพัฒนาทักษะภาษาจีนขอนักศึกษา โดย นักศึกษาสามารถเข้าไปฝึกฝนทักษะการฟัง การพูด การอ่าน และการเขียน หรือติวเพิ่มในส่วนที่เรียนไม่ทันหรือไม่เข้าใจได้ตลอด รวมไปถึงหลักสูตรยังสนับสนุนให้นักศึกษาในชั้นปีที่สูงขึ้นมีประสบการณ์การทำงานในด้านภาษา เพื่อให้นักศึกษาเรียนรู้ทักษะจากการทำงานจริง ทั้งผ่านการฝึกงาน และการทำงาน Part Time ในสถานประกอบการต่าง ๆ เช่น การรับงานแปล พนักงานขายสินค้าให้ชาวจีน การเป็นล่ามฝึกหัด ซึ่งจะมีบริษัทติดต่อมาเข้ามาอยู่ตลอดเวลา

ทางหลักสูตรให้ความสำคัญกับการสนับสนุนให้นักศึกษาได้ฝึกประสบการณ์จริงอีกด้วย ที่ผ่านมา Feedback และเสียงตอบรับจากผู้ประกอบการก็ดีมาก ทั้งยังแสดงความจำนงให้เราส่งนักศึกษาไปทำงานและฝึกงานอยู่อย่างต่อเนื่อง ยิ่งไปกว่านั้น การเปิดโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ (EEC) ก็เป็นอีกปัจจัยที่สำคัญ ซึ่งนักลงทุนจีนที่เข้ามาลงทุนในประเทศไทยเยอะมากขึ้น ยิ่งต้องการแรงงานที่สามารถใช้ภาษาไทย และภาษาจีนอีกด้วย” หัวหน้าหลักสูตรภาษาจีนธุรกิจ กล่าว

อาจารย์จุฑามาศ กล่าวอีกว่า นอกจากทักษะด้านภาษาจีนแล้ว มหาวิทยาลัยยังให้ความสำคัญกับการพัฒนาทักษะในทุกด้าน โดยเฉพาะทักษะแรงงานที่จำเป็นในศตวรรษที่ 21 ทั้งในเรื่องของเทคโนโลยี ทักษะการวิเคราะห์และแก้ปัญหา ทักษะการเป็นผู้ประกอบการ ทักษะการสื่อสาร ทักษะการทำงานเป็นทีม และทักษะด้านความคิดสร้างสรรค์ ซึ่งเราเรียกว่า DPU Core โดยทักษะเหล่านี้จะถูกฝึกฝนผ่านโครงงานที่เรียกว่า Capstone Project ซึ่งจะเป็นโครงการ ที่ให้นักศึกษาต่างคณะต่างสาขามาร่วมกันทำโครงงาน ซึ่งจะได้ฝึกทุกทักษะที่จำเป็นตั้งแต่ปี 1-2-3 ได้ฝึกลองผิด ลองถูก ในการทำธุรกิจซึ่งนักศึกษาจะได้ทั้งทักษะด้านภาษาจีนและทักษะการทำธุรกิจไปด้วย ที่ DPU จึงต่างจากมหาวิทยาลัยอื่นตรงนี้ เราให้นักศึกษาฝึกการทำธุรกิจตั้งแต่ปี 1 และเข้มข้นขึ้นในทุกปี

“แรงงานที่พูดภาษาจีนได้นั้น ขาดแคลนจริง ๆ ผู้ประกอบการมักจะติดต่อมาอยู่เสมอๆ ขอให้ส่งนักศึกษาไปให้ตลอด นักศึกษาหลักสูตรภาษาจีนธุรกิจที่จบอออกไป จึงเป็นที่ต้องการของภาคธุรกิจมาก และระหว่างที่เรียนนักศึกษายังสามารถสร้างรายได้ให้กับตัวเองได้อีกด้วย ไม่ว่าจะเป็น ล่าม แปลงาน ประสานงาน ขายสินค้าจากประเทศจีนหรือให้นักท่องเที่ยวชาวจีน หรือ ติวเตอร์ต่าง ๆ” อาจารย์จุฑามาศ กล่าวในตอนท้าย

สำหรับผู้สนใจหลักสูตรภาษาจีนธุรกิจ วิทยาลัยนานาชาติ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
 

‘รัสเซีย’ บรรจุ ‘ภาษาจีน’ ในหลักสูตรระดับมหาวิทยาลัย อ้าง!! หวังเพิ่มขีดความสามารถแข่งขันด้านวิทยาศาสตร์

เมื่อไม่นานมานี้ หนังสือพิมพ์วอชิงตันเอ็กแซมมิเนอร์ของสหรัฐฯ รายงานว่า อันเดร เฟอร์เซนโก (Andrei Fursenko) ที่ปรึกษาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของเครมลินซึ่งเคยดำรงตำแหน่งอดีตรัฐมนตรีการศึกษาและเทคโนโลยีรัสเซียกล่าวมีใจความว่า

“จะไม่มีความรุนแรงพวกเราจะหว่านล้อมแต่ในเวลาเดียวกันพวกเราจะมุ่งหน้าสู่แนวทางนี้หากว่าพวกเราต้องการที่จะสามารถแข่งขันได้” เขากล่าวในรายงานของสื่อ RIA Novosti ของรัสเซีย

ทั้งนี้ สื่อยูเครนสกายา ปราฟดา (Ukrainska Pravda) ที่รายงานเช่นเดียวกันระบุว่า ได้มีการบรรจุภาษาแมนดารินเข้าสอนในหลักสูตรตามมหาวิทยาลัยภายในรัสเซีย

เฟอร์เซนโก ชี้ว่า หนทางนี้จะช่วยให้บรรดานักศึกษาสามารถเข้าสู่ความเข้าใจทางสาขาวิทยาศาสตร์มากขึ้น โดยชี้ว่า 30% ของงานวิจัยวิทยาศาสตร์โลกนั้นถูกตีพิมพ์เป็นภาษาจีน

วอชิงตันเอ็กแซมมิเนอร์ชี้ว่า นักศึกษามหาวิทยาลัยรัสเซียชื่อดังอย่างน้อย 1 แห่งออกมาต่อต้านคำสั่งโดยชี้ว่า “แปลกประหลาดและส่งผลร้าย”

ซึ่งเฟอร์เซนโกยืนยันว่า มันมีความสำคัญจากการที่จีนมีชื่อเสียงโด่งดังทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยประธานาธิบดีจีน สี จิ้นผิง มองว่า นี่เป็นหนทางที่จะทำให้ 2 ชาติสหายมีความใกล้ชิดผูกพันมากขึ้น

เฟอร์เซนโกกล่าวในการประชุมฟอรัมการศึกษาเยาวชนรัสเซีย

“พวกเราต้องการที่จะอยู่ในเทรนด์วิทยาศาสตร์กันอยู่หรือไม่? มุ่งไปข้างหน้ากันเถิด” เขากล่าว และเสริมต่อว่า “ปัญหาคือแน่นอนที่สุดมันมีความจำเป็นที่ต้องทำให้มั่นใจว่า ภาษารัสเซียยังคงอยู่ท่ามกลางไม่กี่ภาษาของด้านวิทยาศาสตร์”

ทั้งนี้ ผู้เชี่ยวชาญ ดร.เซอร์เก โพโพป (Dr.Sergei Popov) ได้ให้สัมภาษณ์กับสื่อฝรั่งเศส Le Monde เมื่อต้นปีว่า สำหรับการศึกษาวิทยาศาสตร์พื้นฐาน มีภาษาเดียวเท่านั้นคือภาษาอังกฤษ และจะไม่มีวันเปลี่ยนแปลงในอนาคตระยะใกล้

“ราว 100% ของสิ่งที่ผมได้อ่านและ 90% ของสิ่งที่ผมได้เขียนเป็นภาษาอังกฤษ ซึ่งภาษาจีนที่เป็นคำถามนั้นอาจขึ้นมา แต่พบน้อยกว่าในแวดวงวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี”

สื่อสหรัฐฯ รายงานว่า บรรดานักศึกษารัสเซียประจำสถาบันการศึกษาฟิสิกส์และเทคโนโลยีแห่งมอสโก MFTI (The Moscow Institute of Physics) ได้ออกมาโต้ว่า ความร่วมมือระหว่างนักวิทยาศาสตร์รัสเซียและนักวิทยาศาสตร์จีนไม่ถึงระดับที่จะทำให้การศึกษาภาษาจีนนั้นมีความสำคัญ

ยูเครนสกายา ปราฟดา ชี้ว่า มีการประท้วงเกิดขึ้นในหมู่นักศึกษาเมื่อมีนาคมต้นปี หลังจากทางสถาบันการศึกษาได้สั่งถอดวิชาภาษาต่างประเทศทั้งสเปน เยอรมัน และฝรั่งเศสออกจากหลักสูตร และใส่วิชาภาษาแมนดารินในหลักสูตรสำหรับภาคการศึกษา 2023-24 แทนด้วยเหตุผลด้านค่าใช้จ่าย

และเมื่อมีนาคมต้นปีเช่นเดียวกัน ธนาคารแห่งรัสเซีย (Bank of Russia) กำหนดให้พนักงานของตัวเองต้องเรียนภาษาแมนดาริน โดยอ้างว่าเพื่อการติดต่อทางธุรกิจกับเพื่อนร่วมงานจากจีน

โดยหนังสือพิมพ์มอสโกไทม์สได้รายงานเมื่อวันที่ 29 มี.ค.ว่า เป็นผลมาจากการเผชิญหน้าอย่างตึงเครียดกับตะวันตกหลังเครมลินเปิดปฏิบัติการทางทหารในยูเครน เครมลินได้หันไปมุ่งสู่เอเชียแทน ความต้องการเรียนภาษาแมนดารินเพิ่มขึ้นจากการที่รัสเซียได้เพิ่มการพึ่งพาทางเศรษฐกิจต่อจีน

หนังสือพิมพ์มอสโกแสดงภาพน่ารักของบรรดาสาว ๆ รัสเซียแต่งกายในชุดจีนโบราณสำหรับพิธีน้ำชาอย่างคึกคัก รวมถึงการศึกษาพู่กันจีน

ในขณะเดียวกัน จำนวนนักศึกษาระดับไฮสกูลรัสเซียได้เลือกภาษาจีนเป็นภาษาต่างประเทศในการสอบไล่ปลายปีเพิ่มขึ้นภายใน 1 ปี มาอยู่ที่ 17,000 คน ถึงแม้ว่าภาษาอังกฤษจะยังคงเป็นภาษาต่างประเทศที่เลือกเป็นอันดับ 1 สำหรับเวลานี้

มีนักเรียนรัสเซียตั้งความหวังจะไปศึกษาต่อในจีนหลังมีความหวังน้อยลงในการเข้าสู่สถาบันการศึกษาโลกตะวันตก และมีอีกบางส่วนมองหาลู่ทางที่จะเดินทางไปทำงานในจีนจากเหตุค่าตอบแทนสูงสำหรับชาวยุโรป

แชร์ประสบการณ์!! เรียนต่อที่จีน เปิดโลกทัศน์กว้างไกล ได้เรียนรู้วัฒนธรรม-สังคม-ธุรกิจ ใช้ต่อยอดชีวิตในอนาคต

เมื่อไม่นานมานี้ เพจ ‘ตี๋น้อย’ เพจแชร์เรื่องราวและข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับประเทศจีน ได้โพสต์ข้อความเกี่ยวกับประโยชน์ของการเรียนภาษาจีน โดยระบุว่า…

เล่าเรื่องหนึ่ง ช่วงนี้ที่จีนใกล้จะเปิดเทอมแล้ว น้อง ๆ หลาย ๆ คน อาจจะเริ่มเตรียมตัวกลับไปจีน หรือบางคนเพิ่งจะไปจีนครั้งแรกในเทอมนี้ ตี๋น้อยเลยอยากจะมาแชร์ประสบการณ์กันครับว่า การไปเรียนภาษาหรือปริญญาที่จีน เป็นยังไงบ้าง ได้อะไรเพิ่มกลับมาบ้าง

เริ่มแรกเลย แน่นอนแหละว่ามันได้ภาษากลับมาแน่นอน เพราะว่าการเรียนภาษาที่จีน คุณจะได้คุยภาษาจีนกับทุกคน ไม่ว่าจะเป็นชาวจีนหรือต่างชาติ ทุกคนจะพูดภาษาจีนกับคุณทุกคน ยิ่งถ้าเราเฟรนด์ลี่ เรายิ่งได้ภาษาแน่นอน แต่บางครั้งอาจจะรู้สึกแปลก ๆ หน่อย เวลาเราคุยกับพวกยุโรป แอฟริกา เป็นภาษาจีน

สองคือได้สังคม ได้เรียนรู้วัฒนธรรมอื่น ๆ ด้วย จากข้อแรก ถ้าเราเฟรนด์ลี่ คุยกับคนอื่นง่าย ชาวต่างชาติและชาวจีนคนอื่น ๆ จะยิ่งต้อนรับเรามากขึ้น บางทีบางครั้งเราคุยและสนิทกับเพื่อนต่างชาติ เราก็จะได้เรียนรู้วัฒนธรรมของเขาด้วย บางครั้งเราก็ได้แลกเปลี่ยนของฝากแต่ละประเทศด้วยครับ

ข้อสามเลย คือได้ลองทานอาหารหลากหลายประเทศ นักเรียนชาวต่างชาติที่นี่ปกติส่วนใหญ่มักจะทำกับข้าวกันเอง ผมเองก็ไปฝากท้องห้องคนอื่นบ่อย ๆ (เขาเชิญไปนะครับ) บางครั้งก็ได้ทานอาหารแอฟริกา บางครั้งได้ทานอาหารปากีสถาน อินเดีย บางทีก็ได้ทานกิมจิ หรือถ้าไปบ้านคนจีนก็ได้ทานอาหารจีนประจำภาคนั้น ๆ ด้วยครับ

ข้อสามได้เรียนรู้คน แน่นอนแหละว่า ร้อยพ่อพันแม่มาเจอกัน ทุกคนมีนิสัยที่แตกต่างกันไป มันก็ทำให้เราเรียนรู้ครับว่าคนแบบนี้มีนิสัยแบบนั้น คนแบบไหนที่เราไม่ควรยุ่งด้วย คนไหนที่เราสนิทด้วยได้

ข้อสี่ เรียนรู้การควบคุมตัวเอง แน่นอนแหละว่าการมาเรียนต่างประเทศ สิ่งยั่วยุมันเยอะ เราก็แค่เรียนรู้ที่จะควบคุมตัวเองให้ได้ เรียนบ้าง เที่ยวบ้าง เที่ยวได้แต่ต้องไม่เสียคนจนเสียการเรียน เพราะตี๋น้อยเคยเห็นหลายคนเสียคน เสียการเรียน เสียประวัติ ไปกับสิ่งยั่วยุ การต่อยตี โดยเฉพาะการทะเลาะต่อยตี ที่จีนโทษหนักถึงขั้นขึ้นแบล็กลิสต์ห้ามเข้าจีนนะครับ เป็นไปได้อย่าทะเลาะเลยดีสุด

ข้อห้า นอกจากเราจะได้ภาษาจีนแล้ว เรายังได้ภาษาอังกฤษด้วย เพราะชาวต่างชาติบางคนพูดจีนไม่ได้ เราต้องพูดภาษาอังกฤษกับเขา ทำให้พัฒนาภาษาอังกฤษของเราเองด้วย

ข้อหก นอกจากได้ภาษาแล้ว เรายังได้โอกาสทางธุรกิจด้วย คือที่จีนเนี่ยหลายเมืองเป็นเมืองค้าส่ง หรือว่าเราสามารถเอาสิ่งที่จีนมี แต่ไทยไม่มี เอามาปรับใช้ได้ เช่น อี้อู กวางโจว เราสามารถไปดูลู่ทางธุรกิจ หรือโอกาสทางธุรกิจได้

ข้อเจ็ด นักเรียนหญิงไทยที่จีนมักมีแฟนเป็นแถบประเทศ เอเชียกลาง สถาน ๆ ทั้งหลาย เช่น คาซัคสถาน อุซเบกิสถาน พวกหล่อ ๆ ทั้งหลายครับ อิจฉาคนหล่อครับฮ่า ๆ 

ข้อแปด นักเรียนชายต่างชาติ ห้าสิบเปอร์เซ็นต์ขึ้นไป มักเจ้าชู้ แต่คนดี ๆ ก็มีเช่นกัน

สุดท้าย ไม่ว่าคุณจะไปเรียนจีนผ่านเอเจนซี่ หรือสมัครเองตามมหาวิทยาลัย ขอบอกว่า ไปเถอะครับ เราได้อะไรกลับมาเยอะกว่าแค่ภาษาแน่นอน

ปล.รูปนี้ผมถ่ายตอน 2013 ตอนที่ผมไปแลกเปลี่ยนที่กวางโจวครับ #ตี๋น้อย #เล่าเรื่องเมืองจีน #ชีวิตในจีน #จีน #ชีวิตในซินเจียง #ซินเจียง

‘ตลาดแรงงานมาเลฯ’ ให้ความสำคัญทักษะด้านภาษา มากกว่าใบปริญญา ยิ่งสื่อสาร ‘จีน-เกาหลี-ญี่ปุ่น-อารบิก’ ได้ดี ยิ่งมีโอกาสหางานได้มากกว่า

ตลาดแรงงานมาเลฯ เริ่มมองหา ‘คนทำงานรุ่นใหม่’ ที่มีทักษะ ขยันเรียนรู้ มากกว่าใบเกรด และหากยิ่งรู้ภาษาจีน ก็ยิ่งได้เปรียบ

สมัยก่อน อาจจะกล่าวได้ว่า มีใบปริญญา สามารถการันตีโอกาสในการหางานที่ดีกว่าได้ ยิ่งเป็นใบปริญญาจากสถาบันที่มีชื่อเสียง ก็ยิ่งมีโอกาสมากกว่าคนอื่น 

แต่ในยุคสมัยใหม่ที่กระแสค่านิยมและเทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วมาก จนความรู้เชิงวิชาการเพียงอย่างเดียว ดูจะไม่เพียงพอเสียแล้ว เมื่อนายจ้างเริ่มพิจารณาคนทำงานที่มีคุณสมบัติอื่น ๆ มากกว่า โดยเฉพาะ ทักษะประสบการณ์ทำงานจริง, ความรู้เรื่องวัฒนธรรม รวมถึงจรรยาบรรณในการทำงาน 

วิค สิทธสนาน ผู้อำนวยการของ Jobstreet by Seek Malaysia แสดงความเห็นว่า การพัฒนาด้านอาชีพกำลังเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ โดยได้ยกรายงานจาก Hiring Compensation and Benefits Report for 2024 ซึ่งบ่งชี้ว่ามีนายจ้างมากขึ้นเรื่อย ๆ ที่เน้นคัดเลือกบุคลากรที่เคยผ่านการฝึกอบรมวิชาชีพ หรือ หลักสูตรที่สามารถเรียนรู้ได้ด้วยตัวเอง ตามทักษะที่นายจ้างต้องการ มากกว่าใบปริญญาแล้ว 

แม้การพิจารณาคัดเลือกพนักงานจากวุฒิการศึกษายังคงมีอยู่ แต่ก็จะถูกลดความสำคัญลงไป เมื่อนายจ้างยุคใหม่ต้องการคนที่ผ่านการฝึกอบรมเฉพาะทางที่ตรงกับสายงานมากกว่า และจำเป็นต้องนำมาใช้งานได้จริงด้วย

ไม่เพียงเท่านั้น ผู้บริหารเว็บไซท์ที่ให้บริการรับสมัคร, จัดหางานอันดับ 1 ในมาเลเซีย ยังเน้นอีกว่า ‘ภาษาอังกฤษ’ มีความสำคัญ แต่ยังไม่พอ 

เนื่องจากมาเลเซียมีเศรษฐกิจที่ผูกพันกับทางจีนอย่างมาก ความต้องการบุคลากรที่มีความสามารถในการสื่อสารภาษาจีนจึงพุ่งสูงขึ้นในตลาดแรงงานมาเลเซีย โดยเฉพาะในตำแหน่งผู้บริหารระดับกลาง ที่หลายบริษัทระบุเลยว่าต้องการผู้ที่พูดภาษาจีน หรือสามารถพูดได้หลายภาษา

ความเห็นของผู้บริหาร Jobstreet สอดคล้องกับ ดาตุ๊ก ดร.ซาอีด ฮัซเซน ซาอีด ฮัสมาน ประธานสหพันธ์นายจ้างมาเลเซีย ที่ได้กล่าวว่า ปัจจุบัน นายจ้างสนใจผู้สมัครที่จบวุฒิสายอาชีพ (TVET) มากกว่า เพราะมีทักษะหลายอย่างที่สามารถนำมาประยุกต์ในการทำงานจริงได้โดยตรง โดยนายจ้างก็มีแนวโน้มประเมินผู้สมัครแบบองค์รวมมากขึ้น

และถึงแม้ว่าภาษาอังกฤษยังอยู่ในห้าอันดับแรกของทักษะที่เป็นที่ต้องการ แต่ ดร.ซาอีด ฮัซเซนเห็นเช่นเดียวกับ วิค สิทธสนาน ว่าทักษะภาษาจีนกลางเป็นที่ต้องการอย่างมากในปัจจุบัน 

ซึ่งนอกจากภาษาจีนแล้ว ผู้ที่เชี่ยวชาญทักษะภาษาอื่น ๆ เช่น ญี่ปุ่น, เกาหลี และ อารบิก ก็เป็นที่ต้องการสูงเช่นกัน ทั้งนี้เพราะมาเลเซียเป็นหนึ่งในประเทศศูนย์กลางการลงทุนของบริษัทข้ามชาติ จึงมองหาบุคลากรที่สามารถสื่อสารได้หลายภาษา นอกเหนือจากภาษาอังกฤษ 

จึงสรุปได้ว่า ไม่ว่าจะมี ‘ความรู้’ แบบใดมาจากระบบการศึกษาแบบดั้งเดิม แต่สิ่งที่เจ้าของกิจการมองหาคือ ‘ทักษะ’ ที่หมายถึง ‘ความสามารถ’ ในการใช้งานได้จริง ไม่ว่าจะเป็นด้านภาษา ด้านงานช่าง งานเทคนิค ฯลฯ รวมถึงเข้าใจในการทำงานในวัฒนธรรมที่แตกต่างหลากหลายด้วย ซึ่งทักษะเหล่านี้ ไม่อาจพิจารณาจากใบปริญญาได้ ต้องพิสูจน์ด้วยตัวเองที่หน้างานเท่านั้น 

“ฉันเยาว์ ฉันเขลา ฉันทึ่ง 
ฉันจึง มาหา ความหมาย
ฉันหวัง เก็บอะไร ไปมากมาย 
สุดท้ายให้กระดาษฉันแผ่นเดียว

แค่ปริญญา ไม่พอจริง ๆ”


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top