‘SAVAK’ ตำรวจลับของ ‘Shah แห่งอิหร่าน’ สมัยราชวงศ์ปาห์ลาวี องค์กรที่ขึ้นชื่อด้าน ‘การทรมาน’ จนทำให้ชาวอิหร่าน ‘เกลียดชัง-หวาดกลัว’

สืบเนื่องจากที่ผู้เขียนได้โพสต์เล่าเรื่องราวของงานวันชาติสาธารณรัฐอิสลามแห่งอิหร่าน วันฉลองชัยชนะ 45 ปีการปฏิวัติอิสลามของอิหร่าน และฉลอง 400 ปี ความสัมพันธ์สาธารณรัฐอิสลามแห่งอิหร่านและราชอาณาจักรไทยใน FB ดร.โญ มีเรื่องเล่า ของผู้เขียน มีผู้อ่านท่านหนึ่งได้แสดงความคิดเห็นว่า ไม่เห็นด้วยกับงานวันชาติซึ่งเป็นวันฉลองชัยชนะ 45 ปีการปฏิวัติอิสลามของอิหร่านอีกด้วย ซึ่งผู้เขียนจึงได้อธิบายว่า “บริบทของแต่ละประเทศแตกต่างกันครับ บทบาทหน้าที่ของราชวงศ์ก็แตกต่างกันออกไปด้วย บูรพมหากษัตริย์ไทยตั้งแต่ก่อร่างสร้างชาติมาร่วมพันปี กระทั่งถึงราชวงศ์จักรีสามารถครองคนและครองใจได้ตลอดมาจนถึงทุกวันนี้ ด้วยเพราะพระราชกรณียกิจอันทรงประโยชน์มากมายมหาศาลแก่พสกนิกรทั่วหล้า เอามาเปรียบกันไม่ได้ดอกครับ ทุกวันนี้สาธารณรัฐอิสลามแห่งอิหร่านยังคงยึดมั่นในสถาบันศาสนาอย่างเคร่งครัด ในขณะที่ชาติไทยของเราดำรงคงอยู่ได้ด้วย ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ สามสถาบันหลักอันเป็นที่เคารพรักยิ่งของคนไทยครับ”

Mohammad Reza Pahlavi (Shah of Iran)

จึงขอนำเรื่องราวสาเหตุสำคัญประการหนึ่งอันเป็นสาเหตุการล่มสลายของราชวงศ์  Pahlavi มาบอกเล่าให้ได้ทราบ ระบอบการปกครองของอิหร่านภายใต้ Mohammad Reza Pahlavi (Shah of Iran) เป็นระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ซึ่งได้รับความสนับสนุนอย่างเต็มที่จากประเทศมหาอำนาจตะวันตก โดยเฉพาะอย่างยิ่งสหรัฐอเมริกา ได้มีการสนับสนุนต่อกษัตริย์ Reza Pahlavi มากมาย ไม่ว่าจะเป็นที่ปรึกษาด้านความมั่นคงและที่ปรึกษาทางทหาร การขายอาวุธยุทโธปกรณ์ที่ทันสมัยมากมาย อาทิ เครื่องบินขับไล่แบบ F-14 ซึ่งสหรัฐฯ ไม่เคยขายให้กับชาติใดเลย คงมีใช้แต่เพียงกองทัพเรือสหรัฐฯ และกองทัพอากาศอิหร่านเท่านั้น ภายหลังจากการรัฐประหารในอิหร่าน ปี 1953 ด้าน Mohammad Mosaddeq นายกรัฐมนตรีถูกปลดออกจากตำแหน่ง กษัตริย์ Reza Pahlavi ได้ทรงตั้งหน่วยข่าวกรองขึ้นโดยมีอำนาจเช่นเดียวกับตำรวจ เป้าหมายของ Shah คือ การเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับระบอบการปกครองของพระองค์ โดยการจัดวางฝ่ายตรงข้ามทางการเมืองให้อยู่ภายใต้การสอดแนมและมีการปราบปรามการเคลื่อนไหวของเหล่าบรรดาผู้ที่เห็นต่างอย่างโหดเหี้ยม

นายพล Teymur Bakhtiar 

สำนักงานข่าวกรองกลางของสหรัฐฯ (CIA) ได้ส่งพันเอกสังกัดกองทัพบกสหรัฐฯ ไปยังอิหร่านในเดือนกันยายน 1953 เพื่อทำงานร่วมกับนายพล Teymur Bakhtiar ซึ่งได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้ว่าราชการกรุงเตหะราน (ฝ่ายทหาร) ในเดือนธันวาคม 1953 และเริ่มรวบรวมแกนกลางขององค์กรข่าวกรองใหม่ทันที พันเอกนายดังกล่าวทำงานอย่างใกล้ชิดกับนายพล Bakhtiar และผู้ใต้บังคับบัญชาของเขา โดยจัดระบบสั่งการสำนักงานข่าวกรองใหม่และฝึกอบรมสมาชิกเกี่ยวกับเทคนิคข่าวกรองขั้นพื้นฐาน เช่น วิธีการสอดแนมและการสอบสวน การใช้เครือข่ายข่าวกรอง และการรักษาความปลอดภัยขององค์กร องค์กรนี้เป็นหน่วยข่าวกรองที่ทันสมัยและมีประสิทธิภาพแห่งแรกที่ดำเนินงานในอิหร่าน ความสำเร็จหลักเกิดขึ้นในเดือนกันยายน 1954 เมื่อหน่วยงานของนายพล Bakhtiar สามารถค้นพบและทำลายเครือข่ายขนาดใหญ่ที่ของ Tudeh (พรรคคอมมิวนิสต์ของอิหร่าน) ที่จัดตั้งขึ้นในกองทัพอิหร่านได้สำเร็จ

พลตรี Herbert Norman Schwarzkopf

ในเดือนมีนาคม 1955 CIA ได้ส่งทีมงานซึ่งประกอบด้วยเจ้าหน้าที่ของ CIA 5 นายมาแทนที่ รวมถึงผู้เชี่ยวชาญในการปฏิบัติการลับ การวิเคราะห์ข่าวกรอง และการต่อต้านข่าวกรอง รวมถึงพลตรี Herbert Norman Schwarzkopf (บิดาของพลเอก Norman Schwarzkopf Jr. ผบ.กองกำลังพันธมิตรในยุทธการพายุทะเลทราย) ที่ดำเนินการ ‘ฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ของ SAVAK รุ่นแรกเกือบทั้งหมด’ ในปี 1956 หน่วยงานนี้ได้รับการจัดระเบียบใหม่และตั้งชื่อว่า Sazeman-e Ettela'at va Amniyat-e Keshvar (SAVAK) การจัดการต่าง ๆ รวมทั้งการฝึกฝนอบรมถูกแทนที่ด้วยเจ้าหน้าที่ของ SAVAK เองในปี 1965 SAVAK มีอำนาจเซ็นเซอร์สื่อ คัดกรองผู้สมัครเข้าทำงานในหน่วยงานของรัฐ และ ติดตามแหล่งข้อมูลตะวันตกที่เชื่อถือได้ โดยใช้ทุกวิถีทางที่จำเป็น รวมถึงการตามล่า การทรมานเหล่าบรรดาผู้เห็นต่าง หลังปี 1963 Shah ทรงขยายหน่วยงานรักษาความมั่นคงของพระองค์ ซึ่งรวมถึง SAVAK ที่ขยายจนมีจำนวนเจ้าหน้าที่เต็มเวลามากกว่า 5,300 ราย และสายข่าวอีกเป็นจำนวนมาก (ไม่ทราบจำนวน) ในปี 1961 รัฐบาลอิหร่านได้ปลดนายพล Teymur Bakhtiar ซึ่ง ผู้อำนวยการคนแรกของหน่วยงานนี้ออก และต่อมาเขาก็กลายเป็นผู้เห็นต่างทางการเมืองของรัฐบาลอิหร่าน ในปี 1970 เจ้าหน้าที่ SAVAK ได้ลอบสังหารเขา โดยทำให้ปฏิบัติการดังกล่าวเป็นเหมือนอุบัติเหตุ

นายพล Hassan Pakravan

นายพล Hassan Pakravan ผู้อำนวยการ SAVAK ตั้งแต่ปี 1961 ถึง 1966 เขามีชื่อเสียงในด้านความอ่อนโยนและมีเมตตา เช่น รับประทานอาหารร่วมกับอยาตุลลอฮ์ Khomeini เป็นประจำทุกสัปดาห์ ขณะที่โคไมนีถูกกักบริเวณในบ้าน และต่อมาได้เข้าแทรกแซงเพื่อป้องกันการประหารชีวิตของอยาตุลลอฮ์ Khomeini โดยให้เหตุผลว่า เรื่องดังกล่าวจะ ‘ทำให้ประชาชนทั่วไปของอิหร่านโกรธเคือง’ อย่างไรก็ตาม หลังการปฏิวัติอิหร่าน นายพล Pakravan กลับเป็นหนึ่งในเจ้าหน้าที่กลุ่มแรก ๆ ของ Shah ที่ถูกรัฐบาลของอยาตุลลอฮ์ Khomeini ประหารชีวิต นายพล Pakravan ถูกแทนที่ในปี 1966 โดยนายพล Nematollah Nassiri ซึ่งเป็นนายทหารใกล้ชิดของ Shah และมีการจัดระบบใหม่และมีบทบาทเพิ่มมากขึ้นเมื่อเผชิญกับกลุ่มติดอาวุธฝ่ายซ้ายและกลุ่มอิสลามิสต์ที่เพิ่มขึ้น ตลอดจนความไม่สงบทางการเมือง รวมถีงเป็นผู้จุดชนวนแงความเกลียดชังของชาวอิหร่านต่อ Shah 

นายพล Nematollah Nassiri

จุดเปลี่ยนในชื่อเสียงของ SAVAK ในด้านความโหดร้ายที่โหดเหี้ยมมีรายงานว่ามีการโจมตีที่ทำการทหารในหมู่บ้าน Siahkal แคสเปียนโดยกลุ่มมาร์กซิสต์ติดอาวุธกลุ่มเล็ก ๆ ในเดือนกุมภาพันธ์ 1971 อีกทั้งมีข่าวว่า เจ้าหน้าที่ของ SAVAK ได้ทรมานจนอยาตอลเลาะห์ Muhammad Reza Sa'idi นักบวชชีอะห์จนเสียชีวิต ในปี 1970 ตามคำบอกของ Ervand Abrahamian นักประวัติศาสตร์การเมืองชาวอิหร่านซึ่งระบุว่า หลังจากการโจมตีครั้งนั้น เจ้าหน้าที่สอบสวนของ SAVAK ถูกส่งไปต่างประเทศเพื่อรับการฝึกอบรมทางวิทยาศาสตร์เพื่อป้องกันการเสียชีวิตที่ไม่พึงประสงค์จาก 'การใช้กำลังอย่างโหดเหี้ยม' ซึ่งประกอบด้วย Bastinado (การเฆี่ยนตรงฝ่าเท้า) การบังคับให้อดนอน การขังเดี่ยวอย่างยาวนาน การไฟฉายส่องนาน ๆ การยืนขาเดียวเป็นเวลาหลายชั่วโมง การถอนเล็บ งู (นิยมใช้กับผู้หญิง) การช็อตไฟฟ้าด้วยตราประทับสัตว์ (ซึ่งมักจะสอดเข้าทางทวารหนั​​ก) การจี้ด้วยบุหรี่ การนั่งบนเตาร้อน การหยดน้ำกรดเข้ารูจมูก การจับกดน้ำ การข่มขู่ทรมานต่าง ๆ และการใช้เก้าอี้ไฟฟ้าที่มีหน้ากากโลหะขนาดใหญ่เพื่อปิดเสียงกรีดร้อง (อุปกรณ์นี้เรียกว่า Apollo แคปซูลอวกาศของสหรัฐอเมริกา) นอกจากนี้ นักโทษยังถูกทำให้อับอายจากการข่มขืน การปัสสาวะรด และการถูกบังคับให้ยืนเปลือยกาย 

Bastinado (การเฆี่ยนตรงฝ่าเท้า)

แม้จะมีวิธีการ 'ทางวิทยาศาสตร์' ใหม่ แต่การทรมานที่เลือกยังคงเป็นวิธีการดั้งเดิมที่ใช้ในการตีฝ่าเท้า ‘เป้าหมายหลัก’ ของการทารุณกรรมโดยการใช้วิธี Bastinado คือ “การค้นหาคลังอาวุธ สถานที่หลบซ่อน และสอบเค้นหาผู้สมรู้ร่วมคิด” Abrahamian ประเมินว่า SAVAK (รวมถึงตำรวจและทหารหน่วยอื่น ๆ) สังหารฝ่ายต่อต้านไปราว 368 คน รวมทั้งผู้นำขององค์กรต่อต้านในเมืองใหญ่ ๆ (องค์กร Fedai Guerrillas แห่งประชาชนอิหร่าน, Mujahedin ของประชาชนแห่งอิหร่าน) เช่น Hamid Ashraf ระหว่างปี 1971–1977 และมีการประหารชีวิตนักโทษทางการเมืองมากถึง 100 คน ระหว่างปี 1971 ถึง 1979 ซึ่งเป็นยุคที่มีความรุนแรงที่สุดในระหว่างการดำรงอยู่ของ SAVAK ภายในสิ้นปี 1975 กวี นักประพันธ์ อาจารย์ ผู้กำกับละคร และผู้สร้างภาพยนตร์ที่มีชื่อเสียงจำนวน 22 คน ถูกจำคุกเนื่องจากการวิพากษ์วิจารณ์ระบอบการปกครองของ Shah และอีกหลายคนถูกทำร้ายร่างกายเนื่องจากปฏิเสธที่จะร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ การปราบปรามผ่อนคลายลงเนื่องจากการประชาสัมพันธ์และการตรวจสอบโดย ‘องค์กรระหว่างประเทศและหนังสือพิมพ์ต่างประเทศจำนวนมาก’ และเมื่อ จิมมี คาร์เตอร์ ขึ้นเป็นประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกา และเขาได้หยิบยกประเด็นสิทธิมนุษยชนในรัฐจักรวรรดิแห่งอิหร่านขึ้นมา ทำให้สภาพภายในเรือนจำเปลี่ยนไปในชั่วข้ามคืน ผู้ต้องขังขนานนามสิ่งนี้ว่าเป็นรุ่งอรุณของระบอบ ‘Jimmykrasy’

ส่วนหนึ่งของภาพผู้ที่เสียชีวิตและสูญหายด้วยฝีมือเจ้าหน้าที่ของ SAVAK

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาคำถามเกี่ยวกับจำนวนเจ้าหน้าที่ของ SAVAK เป็นเรื่องที่ถกเถียงกันโดยนักประวัติศาสตร์และนักวิจัยหลายคน เมื่อพิจารณาจากข้อเท็จจริงที่ว่าอิหร่านไม่เคยเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับจำนวนเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานลับ นักประวัติศาสตร์จำนวนมากให้ตัวเลขที่ขัดแย้งกันสำหรับจำนวนบุคลากรของ SAVAK ตั้งแต่ 6,000 ถึง 60,000 คน ในการให้สัมภาษณ์ครั้งหนึ่งของ Shah เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 1974 Shah ตรัสว่า พระองค์เองก็เขาไม่ทราบจำนวนเจ้าหน้าที่ของ SAVAK ที่แน่นอน อย่างไรก็ตามพระองค์ทรงประเมินว่า จำนวนเจ้าหน้าที่ของ SAVAK ทั้งหมดคงจะน้อยกว่า 2,000 คน สำหรับคำถามเกี่ยวกับ ‘การทรมานและความโหดร้าย’ ของ SAVAK Shah ทรงตอบว่า รายงานของหนังสือพิมพ์เกี่ยวกับ ‘ความเด็ดขาดและความโหดร้ายของ SAVAK’ เป็นการโกหกและการใส่ร้าย เอกสารแผ่นพับที่เผยแพร่หลังการปฏิวัติอิสลามระบุว่า มีชาวอิหร่าน 15,000 คนเป็นเจ้าหน้าที่อย่างเป็นทางการของ SAVAK ไม่รวมถึงสายข่าวที่ไม่เป็นทางการอีกเป็นจำนวนมาก

ในช่วงที่มีอำนาจสูงสุด SAVAK มีพลังที่แทบไม่มีขีดจำกัด ดำเนินการศูนย์กักขังของตนเอง เช่น เรือนจำเอวิน นอกเหนือจากการรักษาความปลอดภัยภายในประเทศแล้ว ภารกิจของ SAVAK ยังขยายไปถึงการสอดแนมชาวอิหร่านในต่างประเทศ โดยเฉพาะในสหรัฐอเมริกา ฝรั่งเศส และสหราชอาณาจักร โดยเฉพาะนักศึกษาที่ได้รับเงินทุนจากรัฐบาล นอกจากนั้นแล้ว SAVAK ยังร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับ CIA โดยส่งสายลับไปยังนครนิวยอร์กเพื่อแบ่งปันและหารือเกี่ยวกับกลวิธีในการสอบสวน นิตยสารไทม์เขียนในช่วงเวลาแห่งการโค่นล้มพระเจ้าชาห์เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 1979 โดยบรรยายถึง SAVAK ว่าเป็น ‘หน่วยงานที่ชาวอิหร่านทั้งเกลียดชังและหวาดกลัวที่สุดมายาวนาน’ ซึ่ง ‘ได้’ ทำการทรมานและสังหารศัตรูของ Shah ไปหลายพันคน นักวิทยาศาสตร์อเมริกันยังพบว่ามีความผิดฐาน ‘ทรมานและประหารชีวิตนักโทษการเมืองหลายพันคน’ และกลายเป็นสัญลักษณ์ของ ‘การปกครองของ Shah ระหว่างปี 1963-79’ รายการวิธีการทรมาน SAVAK  ได้แก่ ‘การช็อตไฟฟ้า การเฆี่ยนตี การทุบตี การเหยียบแก้วที่แตก และการเทน้ำเดือดลงในทวารหนัก การมัดตุ้มน้ำหนักไว้ที่ลูกอัณฑะ และการถอนฟันและถอดเล็บ’

พิพิธภัณฑ์ ‘Ebrat’ ในอดีตเรือนจำ Towhid ใจกลางกรุงเตหะราน
เป็นพิพิธภัณฑ์จัดแสดงเอกสารและเรื่องราวความโหดร้ายของ SAVAK

SAVAK ถูกปิดตัวลงไม่นานก่อนการโค่นล้ม Shah และการขึ้นสู่อำนาจของอยาตุลลอฮ์ Ruhollah Khomeini ในการปฏิวัติอิหร่านเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 1979 หลังจากการจากไปของ Shah ในเดือนมกราคม 1979 เจ้าหน้าที่ส่วนกลางและสายข่าวกว่า 3,000 คนของ SAVAK ตกเป็นเป้าหมายของการแก้แค้น อย่างไรก็ตาม Hossein Fardoust อดีตเพื่อนร่วมชั้นวันเด็กของ Shah ซึ่งเป็นรองผู้อำนวยการของ SAVAK จนกระทั่งเขาได้รับแต่งตั้งให้เป็นหัวหน้าผู้ตรวจราชการของจักรวรรดิอิหร่าน หรือที่รู้จักในชื่อหน่วยข่าวกรองพิเศษ เพื่อตรวจสอบเจ้าหน้าที่ของรัฐระดับสูง รวมถึงผู้อำนวยการของ SAVAK แต่ต่อมา Fardoust ได้เปลี่ยนข้างระหว่างการปฏิวัติและสามารถรักษาเจ้าหน้าที่ของ SAVAK จำนวนมากไว้ได้ ตามคำกล่าวของ Charles Kurzman นักเขียนซึ่งระบุ SAVAK ไม่เคยถูกปิด เพียงแค่เปลี่ยนชื่อและผู้นำ และดำเนินการต่อด้วยหลักปฏิบัติเดิม และมี ‘เจ้าหน้าที่’ ที่ปฏิบัติงานเช่นเดิมไม่เปลี่ยนแปลง SAVAK ถูกแทนที่ด้วย ‘ที่ใหญ่กว่ามาก’ SAVAMA (Sazman-e Ettela'at va Amniat-e Melli-e Iran) หรือที่รู้จักในชื่อว่ากระทรวงข่าวกรองและความมั่นคงแห่งชาติของอิหร่าน ภายหลังการปฏิวัติอิหร่าน มีการเปิดพิพิธภัณฑ์แห่งหนึ่งขึ้นในอดีตเรือนจำ Towhid ใจกลางกรุงเตหะรานที่เรียกว่า ‘Ebrat’ เป็นพิพิธภัณฑ์จัดแสดงเอกสารและเรื่องราวความโหดร้ายของ SAVAK แน่นอนว่า ไม่มีสถาบันหลักใด ๆ ในโลกนี้จะสามารถดำรงคงอยู่ได้โดยปราศจากความรัก ความศรัทธา ของประชาชนคนส่วนใหญ่ในสังคมนั้น ๆ ซึ่งเกิดจากความวิริยะ อุตสาหะ ความเมตตากรุณา ของสมาชิกในสถาบันหลักนั้น ๆ และกลายเป็นพลังแห่งความจงรักภักดีที่ยิ่งใหญ่ดังเช่นที่ปรากฏให้เห็นในบ้านเมืองของเราอยู่เสมอมาและจะดำรงคงอยู่เช่นนี้ตลอดไป 


👍 ติดตามผลงาน อาจารย์ปุณกฤษ ลลิตธนมงคล เพิ่มเติมได้ที่ : https://thestatestimes.com/author/ดร.ปุณกฤษ%20ลลิตธนมงคล