‘ธนาธร’ ตอกย้ำ!! สังคมไทยในวันที่รัฐสวัสดิการไม่ทั่วถึง ต้องแก้ที่อำนาจ ให้พลังประชาชน ลดความเหลื่อมล้ำ

จากงานสัมมนา Learning From the Past, Addressing the Present, and Embracing the Future
ซึ่งจัดขึ้นโดย ‘สามัคคีสมาคม ในพระบรมราชูปถัมภ์’ เมื่อวันที่ 20 ม.ค.67 ณ Brunei Gallery, SOAS University of London ได้เปิดช่วงเวลาหนึ่งให้แก่ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า ได้พูดคุยถึงประเด็นความสำคัญของรัฐสวัสดิการ มีเนื้อหาโดยประมาณ ดังนี้…

เหตุผล 10 ปีที่ผ่านมา ไทยถดถอยลงเมื่อเทียบกับโลกและเพื่อนบ้าน และ ‘Welfare States and Why it Matters’ (ความสำคัญของรัฐสวัสดิการ) คือหัวข้อที่ผมจะมาพูดวันนี้ ซึ่งก็ไม่แน่ใจว่า คุณผู้ฟังจะอยากฟังเรื่องนี้มากกว่า หรือ อยากฟังเรื่องการจัดตั้งรัฐบาลล้มเหลวมากกว่า

ก่อนอื่น ขอเริ่มจากจำนวนประชากรคนไทยที่ 66 ล้านคน ทราบหรือไม่ว่ามีกลุ่มคนที่รายได้น้อยที่สุดโดยเฉพาะอยู่ที่ 7,000 บาทต่อปี ตก 155 บาทต่อวัน ส่วนค่าเฉลี่ยต่อครัวเรือน ก็จะมีรายได้ประมาณ 20,000 บาท ซึ่งเงินเท่านี้ในยุคนี้ สถานการณ์ค่าครองชีพ ราคาพลังงาน และอื่น ๆ จะสามารถทำอะไรได้ 

แน่นอนว่า โดยส่วนตัวแล้ว ผมเกิดในครอบครัวที่มีฐานะ ทําให้ตอนเด็ก ๆ ไม่รู้จักหน้าตาของความเหลื่อมล้ำในประเทศไทยสักเท่าไร จนกระทั่งได้เข้ามารู้จักกับความเหลื่อมล้ำผ่านมุมของคนไทยในหลากหลายกลุ่ม หลากหลายครัวเรือนของประเทศ ซึ่งนับวันยิ่งจะเป็นปัญหาที่ทวีคูณ และพร้อมซ้ำต่อไปสู่คนรุ่นหลัง ๆ มากยิ่งขึ้น

ผมขอยกตัวอย่างเป็นรายกรณีแบบนี้ ตั้งแต่ เรื่องของการเดินทาง ถ้าในกรุงเทพฯ คุณไม่ต้องมีรถยนต์ ก็ยังสามารถเดินทางได้ด้วยรถไฟฟ้า หรือคมนาคมหลากหลายส่วนที่มีการพัฒนาขึ้น จะเดินทางไปทำงานหรือหาหมอก็ง่าย แต่กับคนต่างจังหวัดนั้นต่างกันมาก เพราะไม่มีสาธารณูปโภคด้านคมนาคม ถ้าเกิดต้องไปหาหมอในโรงพยาบาลดี ๆ ต้องเดินทางกันมากกว่า 10 กิโลเมตรขึ้นไป…นี่คือความเหลื่อมล้ำ

ในส่วนของน้ำประปา ผมขอยกกรณีชาวบ้านในต่างจังหวัด แต่ที่พบเห็นมากับตัวคือชาวบ้านประมาณพันกว่าคนที่อยู่ในมหาสารคาม ไม่สามารถนำน้ำประปามาดื่ม หรือแม้แต่ใช้ซักผ้าได้ เพราะมันเป็นน้ำประปาแดง และมีจำนวนคนอีกเป็นล้าน ที่ยังไม่สามารถเข้าถึงน้ำประปาที่มีคุณภาพ และเข้าไม่ถึงตลอด 24 ชั่วโมง 365 วันต่อปี ซึ่งนี่คือภาพที่เกิดขึ้นจริงในต่างจังหวัด แน่นอนว่า สิ่งเหล่านี้ไม่เกิดขึ้นกับคนกรุงเทพฯ…นี่คือความเหลื่อมล้ำ

โรงพยาบาลในต่างจังหวัด หลายคนคงนึกไม่ถึงความเหลื่อมล้ำว่ามีหน้าตาอย่างไร ผมยกตัวอย่างแบบนี้ ในกรุงเทพฯ จะพบแพทย์ 1 คนต่อประชากร 500 คน อันดับสองภูเก็ตจะพบแพทย์ 1 คนต่อประชากร 900 คนอันดับ 3 สมุทรสาคร แพทย์ 1 คนต่อประชากร 900 คน ส่วนจังหวัดที่แย่ที่สุดในประเทศไทย คือ บึงกาฬ มีหมอหนึ่งคนต่อประชากร 6,000 คน ขณะที่ความแออัดของระบบสาธารณสุขไทย ทําให้ประชาชนต้องติดต่อคิวยาวทั้งทั้งที่การเดินทาง ก็ลําบากอยู่แล้ว เพราะในต่างจังหวัดโรงพยาบาลดี ๆ ไม่ได้อยู่ใกล้บ้าน…นี่คือความเหลื่อมล้ำ จากโอกาสชีวิตที่เลือกไม่ได้

นี่แค่ส่วนหนึ่งของความเหลื่อมล้ำในประเทศไทย ที่ลากกระทบไปถึงเรื่องอื่น ๆ 

คุณคิดว่าทําไมคนรุ่นใหม่ถึงไม่อยากมีลูก ทําไมอัตราคนเกิดใหม่น้อยลง พวกคุณ (แฟน) นอนด้วยกันน้อยลงงั้นหรือ ผมว่าไม่ใช่นะ แต่คำตอบ คือ ถ้าคุณมีค่าครองชีพ ที่เฉลี่ยแล้วตกประมาณเดือนละ 20,000 บาท คุณก็คงเริ่มคิดว่าจะเลี้ยงลูกให้มีคุณภาพได้จริงหรือ นี่ยังไม่นับว่าจะต้องหวาดผวาทุกเดือนถึงหารายได้ที่ต้องหามาประคองชีวิตประจำวันอีก

แน่นอนว่า ทุกคนอยากมีเงินเก็บที่พอเพียงแบบที่ไม่ต้องรวยมากก็ได้ ขอแค่ตอนแก่พออยู่ได้อย่างสบาย มีบ้านของตัวเองสักหลัง มีรถสักคัน ส่งลูกเรียนโรงเรียนดี ๆ ได้ ให้ลูกมีชีวิตดีกว่าเราได้ และถ้าเป็นไปได้ถ้าเป็นไปได้และไปเที่ยวต่างประเทศปีละสักครั้งนึง

เชื่อว่านี่คือความฝันที่คนส่วนใหญ่ต้องการ แต่เมื่อรายได้เฉลี่ยต่อครัวเรือนมันอยู่เท่านี้ แถมความเหลื่อมล้ำจากสวัสดิการทางสังคมมันยังเป็นแบบนี้ และนี่ยังไม่ได้บวกปัญหาผู้สูงวัยที่เตรียมพุ่ง ซึ่งคนวัยหลักที่กำลังเผชิญสังคมเช่นนี้อยู่ต้องเข้าไปแบกด้วยอีก มันจึงไม่แปลก ที่คนยุคนี้จะเลือกตัดสินใจไม่มีลูกและหมดซึ่งความคิดสร้างสรรค์

ผมอยากจะบอกว่ารัฐสวัสดิการไม่ได้หมายถึง End Game เหมือนแบบสแกนดิเนเวีย แต่มันคือ การตั้งเป้าหมาย และการเดินทางที่จะเดินไปถึงจุดนั้นได้ เพื่อประคองความพ่ายแพ้ของชีวิตคน ให้ยังลุกขึ้นมายืนได้อย่างมีศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์…รัฐต้องสร้าง ‘โซเชียลเซฟตี้’ ให้กับประชาชน…การค่อย ๆ สร้างสวัสดิการสังคมที่เข้มแข็งมากขึ้น มันจะลดความเหลื่อมล้ำได้ 

ทุกวันนี้ ประเทศ สังคม ภาครัฐ บริษัทเอกชน คาดหวังที่จะเห็นประชาชนคนไทยปลดปล่อยศักยภาพ มีความสามารถ มีความคิดสร้างสรรค์ แต่คุณคิดว่า ความคิดสร้างสรรค์ จะเกิดขึ้นเมื่อไร เมื่อคุณท้องหิว? หรือ เมื่อคุณท้องอิ่ม?

คุณต้องมีความมั่นคงในชีวิตก่อน แต่คนส่วนใหญ่ของประเทศไม่มีตรงนี้ ไม่มีงานมั่นคงทำ ไม่มีสวัสดิการที่ช่วยให้เกิดความสะดวกต่อการใช้ชีวิตแบบไม่พะวงหน้าพะวงหลัง ยิ่งคนต่างจังหวัดด้วยแล้ว เขาทำได้แค่รับจ้างทำไร่ทำนา ไม่ก็รับจ้างก่อสร้าง เป็นแรงงานรายวัน ที่ไม่มีความมั่นคง

คำถาม คือ งบประมาณประเทศปีละ 3 ล้านล้านบาท 10% คือ 300,000 ล้าน 1% คือ 30,000 ล้าน แต่แนวทางที่มาสามารถนำมาพัฒนาด้านรัฐสวัสดิการจริง ๆ เอาแค่ 0.5% ก็เพียงพอแล้ว ถ้าตั้งใจทำ เพียงแต่ทั้งหมดก็เพราะ ‘อํานาจ’ บางอย่าง ที่ทำให้เกิดขึ้นไม่ได้

อำนาจในการจัดการทรัพยากร? อำนาจไหนที่สามารถจัดการเรื่องน้ำ? อำนาจ คืออะไร? 

90 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยมีรัฐธรรมนูญ 20 ฉบับ โดยเฉลี่ยเปลี่ยนรัฐธรรมนูญ 4.5 ปีต่อหนึ่งฉบับ เรามีนายกรัฐมนตรีมาแล้ว 29 คน มีรัฐประหาร 13 ครั้ง 

หากเราจะอยู่ร่วมกันในสังคมไทยสันติ ต้องมีรัฐธรรมนูญที่มาจากประชาชน ต้องเป็นรัฐธรรมนูญที่สะท้อนให้เห็นถึงอำนาจการจัดการสิ่งต่าง ๆ ได้อย่างถูกต้อง แต่เมื่อวันนี้อำนาจไม่ใช่ของประชาชน ประชาชนจะเอาอะไรไปต่อรอง ‘ดอกผลแห่งการพัฒนา’ เพื่อมาเป็นส่วนแบ่งให้แก่ตนเองบ้าง

การรวมตัวเรียกร้อง สิทธิในการรวมตัวเรียกร้อง ซึ่งถูกลิดรอนอย่างที่เป็นอยู่ จึงไม่แปลกใจที่ดอกผลของการพัฒนาไม่ถึง คนจน เรารวมตัวกันเรียกร้องไม่ได้ ผมเชื่อว่าประเทศไทย มีศักยภาพเพียงพอในการจัดสรรสวัสดิการ ถ้าอำนาจนั้น ๆ ถูกใช้อย่างถูกต้อง