Saturday, 18 May 2024
รัฐสวัสดิการ

‘ธนาธร’ ชี้ ‘รัฐสวัสดิการ’ คือทางรอดพ้นความเหลื่อมล้ำ ชู หั่นงบกองทัพช่วยหนุน ลั่น!! ‘ก้าวไกล’ เท่านั้นที่กล้าทำ 

‘ธนาธร-พรรณิการ์’ ลุยช่วยก้าวไกลหาเสียงสุดสัปดาห์สองจังหวัด ภาคอีสาน ‘กาฬสินธุ์-ขอนแก่น’ ชี้ รัฐสวัสดิการไม่ใช่ทางเลือกแต่เป็นทางรอดเดียวสังคมไทยออกจากวิกฤติความเหลื่อมล้ำสุดขั้ว ย้ำประเทศมีเงินพอทำได้ แต่ต้องกล้าตัดงบกองทัพ-นโยบายเอื้อทุนใหญ่ ชูก้าวไกลพรรคเดียวเท่านั้นกล้าทำเรื่องยาก ชนคนส่วนน้อยเพื่อคนส่วนใหญ่ รับรอง เลือกแล้วคุ้มกว่าอนาคตใหม่แน่นอน

(18 มี.ค. 66) นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า และผู้ช่วยหาเสียงของพรรคก้าวไกล พร้อมด้วย พรรณิการ์ วานิช กรรมการบริหารคณะก้าวหน้า และผู้ช่วยหาเสียงของพรรคก้าวไกล ร่วมกิจกรรมช่วยว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.พรรคก้าวไกลหาเสียงในช่วงสุดสัปดาห์ 

โดยเริ่มต้นที่จังหวัดกาฬสินธุ์ ช่วยนายชวลิต กงเพชร ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.เขต 1 จังหวัดกาฬสินธุ์ และนางสาวสุพัตรา วันตุ้ม ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.เขต 2 จังหวัดกาฬสินธุ์ ร่วมขบวนแห่ไปรอบเมืองกาฬสินธุ์ เปิดปราศรัยที่สวนสาธารณะกุดน้ำกิน ก่อนร่วมเดินแจกเอกสารแนะนำตัวผู้สมัครและนโยบาย และขึ้นปราศรัยร่วมกับว่าที่ผู้สมัครในทั้งสองเขตที่ตลาดโต้รุ่งกาฬสินธุ์ ส่วนวันรุ่งขึ้น ได้เดินสายต่อมายัง อำเภอน้ำพอง จังหวัดขอนแก่น ร่วมเดินหาเสียงกับนายวุฒิรักษ์ แพงตาแก้ว ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.เขต 4 จังหวัดขอนแก่น ที่ตลาดน้ำพอง ก่อนร่วมเปิดเวทีปราศรัยที่วัดโพธิ์ศรีโคกสูง ตำบลโคกสูง อำเภออุบลรัตน์ จังหวัดขอนแก่น

โดยเนื้อหาของการปราศรัยของนายธนาธรรอบนี้ เน้นย้ำถึงปัญหาสภาพทางเศรษฐกิจของประชาชนในปัจจุบัน ที่เป็นสาเหตุความจำเป็นของการมีรัฐสวัสดิการ โดยนายธนาธรระบุว่า ช่องว่างความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจของประเทศไทยมีแต่ห่างขึ้นทุกวัน สถานการณ์โควิดในรอบสามปีที่ผ่านมายิ่งทำให้สถานการณ์เลวร้ายลง ประชาชนหมดสิ้นความหวัง ในสถานการณ์แบบนี้สังคมไทยต้องมีรัฐสวัสดิการรองรับคนที่พ่ายแพ้ไม่ให้ถูกบดขยี้จากสภาพสังคมปัจจุบัน 

“ประเทศไทยวันนี้ต้องเผชิญหน้ากับปัญหาสังคมสูงวัย เด็กเกิดใหม่ลดจำนวนลงเหลือปีละ 5 แสนคน คนไม่อยากมีลูกเพราะการมีลูกมีค่าใช้จ่ายที่สูงมาก ยิ่งในสภาวะเศรษฐกิจแบบนี้ยิ่งทำให้คนมีลูกน้อยลง จะแก้ปัญหานี้ได้ต้องมีรัฐสวัสดิการเท่านั้น เพื่อเป็นกลไกให้คนยืนอยู่ในสังคมได้อย่างมั่นคง ไขว่คว้าหาความฝันในชีวิต เลือกเส้นทางชีวิตเดินได้” นายธนาธร กล่าว

นายธนาธรยังกล่าวต่อไปว่า แต่ทั้งหมดจะเป็นไปไม่ได้ถ้าไม่มีเจตจำนงทางการเมืองที่แน่วแน่ ในการหางบประมาณมาสร้างรัฐสวัสดิการ เช่น การปฏิรูปกองทัพ ลดงบประมาณกองทัพที่ไม่เกี่ยวกับความมั่นคงของประเทศ ทุกวันนี้กองทัพเข้ามาทำเรื่องที่ไม่ใช่หน้าที่มากมาย ทั้งหวย มวย ม้า สนามกอล์ฟ รีสอร์ต หากเราสามารถยกเลิกธุรกิจกองทัพได้ ประเทศเราจะมีเงินประมาณคืนกลับมาได้ถึง 5 หมื่นล้านบาทต่อปี

รวมทั้งเก็บภาษีคนรวยมาดูแลคนจน เช่น ภาษีนิติบุคคลที่เรียกเก็บจากบริษัทขนาดใหญ่ ยกเลิกสิทธิ BOI ที่ให้กับบริษัทขนาดใหญ่ระดับร้อยล้านพันล้านขึ้นไป ถ้าทำสำเร็จจะได้อีก 8 พันล้านบาทต่อปี รวมถึงการเก็บภาษีความมั่งคั่ง จากคนรวยที่มีทรัพย์สินเกิน 300 ล้านบาท จะทำให้เรามีรายได้เพิ่มขึ้นอีก 6 หมื่นล้านบาทต่อปี

'องอาจ' ชี้ 'ประชาธิปัตย์' มุ่งพัฒนารัฐสวัสดิการระยะยาว ไม่ขอหว่านเงินให้เกิดความพึงพอใจ แล้วก็เลิกรากันไป

(24 เม.ย.66) จากรายการ ‘ถลกข่าว ถลกคน’ รายการเกาะติด-เจาะลึกการเลือกตั้ง 2566 โดยสำนักข่าวออนไลน์ THE STATES TIMES ร่วมกับ TV Direct ช่อง 76 (จานดาวเทียม PSI) ได้เชิญนายองอาจ คล้ามไพบูลย์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ มาพูดคุยเกี่ยวกับข้อซักถามความเห็นในเรื่องนโยบายเชิงประชานิยมที่หลายพรรคการเมืองกำลังเร่งออกมาผลักดันเพื่อเรียกคะแนนเสียงนั้น นายองอาจ มองว่า "การสัญญาว่าจะแจกของพรรคการเมืองที่มีการหาเสียงตามลักษณะที่เป็นอยู่นี้นั้น ไม่ใช่องค์ประกอบสำคัญที่จะทำให้เกิดเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิตอย่างยั่งยืนกับพี่น้องประชาชน 

"อย่างไรก็ตาม พรรคประชาธิปัตย์ ก็มองว่า สวัสดิการยังคงมีความจำเป็นในชีวิต ที่ประชาชนควรจะได้ควรจะมี เพียงแต่เงินที่จะนำมาใช้ในเชิงของการกระตุ้นเศรษฐกิจ ต้องไม่ใช่การเอาเงินไปหว่านให้เกิดความพึงพอใจ จากนั้นก็เลิกรากันไป

นายองอาจ กล่าวต่ออีกว่า "ประชานิยมที่ดี จำเป็นต้องออกแบบมาเพื่อให้ประชาชนมีกิน มีใช้อย่างยั่งยืน และสามารถลดความเหลื่อมล้ำทางสังคมได้ ยกตัวอย่าง...ทำไม? เด็กที่อยู่ในชนบทถึงไม่สามารถมีความรู้ได้เท่าเด็กในเมือง? นั่นก็เพราะว่าในพื้นที่ชนบทเหล่านั้น ยังไม่มีอินเทอร์เน็ตที่เข้าไปอย่างทั่วถึง เป็นต้น"

เกี่ยวกับข้อซักถามในเรื่องของการทุจริต นายองอาจ ได้กล่าวว่า "นี่คือหัวใจและเป็นเงื่อนไขหลักของการร่วมรัฐบาล ซึ่งพรรคประชาธิปัตย์ยึดถือหลักซื่อสัตย์สุจริต

"ยกตัวอย่าง 4 ปีที่ผ่านมา สังเกตได้ว่าการดำเนินงานของพรรคในบทบาทของการเป็นรัฐบาลนั้น ไม่มีการประท้วงจากเกษตรกร ทั้งเรื่องข้าว เรื่องยาง เรื่องปาล์ม เรื่องมันสำปะหลัง ทั้งจากหน่วยงานภาครัฐ และภาคเกษตรกรเลย"

ชาวเน็ต โวย กลุ่มบิดเบืยนข้อเท็จจริง ปมปรับขึ้น VAT ชี้!! หากไม่ปรับขึ้น รัฐฯ อาจแบกรับภาระทั้งหมดไม่ไหว

(27 ส.ค. 66) ผู้ใช้เฟซบุ๊กรายหนึ่ง ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว เกี่ยวกับประเด็นการปรับขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่ม จาก 7% เป็น 10% โดยระบุว่า…

“คนกลุ่มหนึ่งเรียกร้องอยากได้รัฐสวัสดิการแบบประเทศในกลุ่ม Scandinavia เลี้ยงดูกันไปตั้งแต่เกิดจนตาย โดยอ้างว่า ตัวเองจ่าย VAT เยอะแล้ว… พอมีแนวคิดจะขึ้น VAT เป็น 10% (ซึ่งเป็นอัตราปกติ ที่เราจ่าย 7% นี่เป็นอัตราลดมาเนิ่นนาน) ก็โวยวายว่า VAT เป็นภาษีแห่งความเหลื่อมล้ำ ควรจัดเก็บภาษีแบบขั้นบันได 😅

ข้อเท็จจริงมีอยู่ว่า
1.) Income Tax เก็บเป็นขั้นบันไดอยู่แล้ว แต่มีคนจ่ายแค่ 4 ล้านคน ต้องแบกรับภาระคนทั้งประเทศ

2.) VAT ที่ไหนก็เก็บเป็น flat rate แล้วมันก็ยุติธรรม เพราะคนรวยที่ซื้อของเยอะ ก็ต้องจ่าย VAT เยอะ ธุรกิจที่ขายของได้เยอะ ก็ต้องนำส่ง VAT เยอะ

3.) ถ้าอยากได้รัฐสวัสดิการแบบ Scandinavia ก็ช่วยดูด้วยว่า เขาจ่าย VAT กัน 25%... ไหวไหมล่ะ นี่ยังไม่นับ Income Tax ที่เขาจ่ายกันเกิน 50% แถมยังมีฐานภาษีที่กว้างมากด้วย

4.) หลายคนไม่ยอมศึกษาระบบประกันสังคมของไทย ซึ่งออกแบบมาดูแลแรงงานในระบบตั้งแต่เกิดจนตาย โดยใช้หลักคิด co-pay ร่วมกันจ่าย 3 ฝ่าย : รัฐบาล นายจ้าง ลูกจ้าง… เมื่อคน 10+ ล้านคนอยู่ในระบบนี้แล้ว รัฐฯ จึงมีภาระดูแลเฉพาะคนที่ไม่มีสวัสดิการใดๆ ซึ่งรัฐฯ ต้องจ่ายฝ่ายเดียว

5.) ประเทศที่ล้มละลายเพราะให้สวัสดิการมากไปก็มี แม้แต่ Sweden เองก็ต้องทยอยลดสวัสดิการลง เพราะรัฐฯ แบกภาระไม่ไหว

การที่ Influencer นำเสนอข้อมูลบิดเบือน ก็ไม่ต่างอะไรกับ Propaganda ที่หวังผลทางการเมือง แล้วเราก็จะอยู่กันในโลกที่ถกเถียงกันด้วยข้อมูลผิดๆ แบบนี้ไปอีกนาน”

‘ธนาธร’ ตอกย้ำ!! สังคมไทยในวันที่รัฐสวัสดิการไม่ทั่วถึง ต้องแก้ที่อำนาจ ให้พลังประชาชน ลดความเหลื่อมล้ำ

จากงานสัมมนา Learning From the Past, Addressing the Present, and Embracing the Future
ซึ่งจัดขึ้นโดย ‘สามัคคีสมาคม ในพระบรมราชูปถัมภ์’ เมื่อวันที่ 20 ม.ค.67 ณ Brunei Gallery, SOAS University of London ได้เปิดช่วงเวลาหนึ่งให้แก่ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า ได้พูดคุยถึงประเด็นความสำคัญของรัฐสวัสดิการ มีเนื้อหาโดยประมาณ ดังนี้…

เหตุผล 10 ปีที่ผ่านมา ไทยถดถอยลงเมื่อเทียบกับโลกและเพื่อนบ้าน และ ‘Welfare States and Why it Matters’ (ความสำคัญของรัฐสวัสดิการ) คือหัวข้อที่ผมจะมาพูดวันนี้ ซึ่งก็ไม่แน่ใจว่า คุณผู้ฟังจะอยากฟังเรื่องนี้มากกว่า หรือ อยากฟังเรื่องการจัดตั้งรัฐบาลล้มเหลวมากกว่า

ก่อนอื่น ขอเริ่มจากจำนวนประชากรคนไทยที่ 66 ล้านคน ทราบหรือไม่ว่ามีกลุ่มคนที่รายได้น้อยที่สุดโดยเฉพาะอยู่ที่ 7,000 บาทต่อปี ตก 155 บาทต่อวัน ส่วนค่าเฉลี่ยต่อครัวเรือน ก็จะมีรายได้ประมาณ 20,000 บาท ซึ่งเงินเท่านี้ในยุคนี้ สถานการณ์ค่าครองชีพ ราคาพลังงาน และอื่น ๆ จะสามารถทำอะไรได้ 

แน่นอนว่า โดยส่วนตัวแล้ว ผมเกิดในครอบครัวที่มีฐานะ ทําให้ตอนเด็ก ๆ ไม่รู้จักหน้าตาของความเหลื่อมล้ำในประเทศไทยสักเท่าไร จนกระทั่งได้เข้ามารู้จักกับความเหลื่อมล้ำผ่านมุมของคนไทยในหลากหลายกลุ่ม หลากหลายครัวเรือนของประเทศ ซึ่งนับวันยิ่งจะเป็นปัญหาที่ทวีคูณ และพร้อมซ้ำต่อไปสู่คนรุ่นหลัง ๆ มากยิ่งขึ้น

ผมขอยกตัวอย่างเป็นรายกรณีแบบนี้ ตั้งแต่ เรื่องของการเดินทาง ถ้าในกรุงเทพฯ คุณไม่ต้องมีรถยนต์ ก็ยังสามารถเดินทางได้ด้วยรถไฟฟ้า หรือคมนาคมหลากหลายส่วนที่มีการพัฒนาขึ้น จะเดินทางไปทำงานหรือหาหมอก็ง่าย แต่กับคนต่างจังหวัดนั้นต่างกันมาก เพราะไม่มีสาธารณูปโภคด้านคมนาคม ถ้าเกิดต้องไปหาหมอในโรงพยาบาลดี ๆ ต้องเดินทางกันมากกว่า 10 กิโลเมตรขึ้นไป…นี่คือความเหลื่อมล้ำ

ในส่วนของน้ำประปา ผมขอยกกรณีชาวบ้านในต่างจังหวัด แต่ที่พบเห็นมากับตัวคือชาวบ้านประมาณพันกว่าคนที่อยู่ในมหาสารคาม ไม่สามารถนำน้ำประปามาดื่ม หรือแม้แต่ใช้ซักผ้าได้ เพราะมันเป็นน้ำประปาแดง และมีจำนวนคนอีกเป็นล้าน ที่ยังไม่สามารถเข้าถึงน้ำประปาที่มีคุณภาพ และเข้าไม่ถึงตลอด 24 ชั่วโมง 365 วันต่อปี ซึ่งนี่คือภาพที่เกิดขึ้นจริงในต่างจังหวัด แน่นอนว่า สิ่งเหล่านี้ไม่เกิดขึ้นกับคนกรุงเทพฯ…นี่คือความเหลื่อมล้ำ

โรงพยาบาลในต่างจังหวัด หลายคนคงนึกไม่ถึงความเหลื่อมล้ำว่ามีหน้าตาอย่างไร ผมยกตัวอย่างแบบนี้ ในกรุงเทพฯ จะพบแพทย์ 1 คนต่อประชากร 500 คน อันดับสองภูเก็ตจะพบแพทย์ 1 คนต่อประชากร 900 คนอันดับ 3 สมุทรสาคร แพทย์ 1 คนต่อประชากร 900 คน ส่วนจังหวัดที่แย่ที่สุดในประเทศไทย คือ บึงกาฬ มีหมอหนึ่งคนต่อประชากร 6,000 คน ขณะที่ความแออัดของระบบสาธารณสุขไทย ทําให้ประชาชนต้องติดต่อคิวยาวทั้งทั้งที่การเดินทาง ก็ลําบากอยู่แล้ว เพราะในต่างจังหวัดโรงพยาบาลดี ๆ ไม่ได้อยู่ใกล้บ้าน…นี่คือความเหลื่อมล้ำ จากโอกาสชีวิตที่เลือกไม่ได้

นี่แค่ส่วนหนึ่งของความเหลื่อมล้ำในประเทศไทย ที่ลากกระทบไปถึงเรื่องอื่น ๆ 

คุณคิดว่าทําไมคนรุ่นใหม่ถึงไม่อยากมีลูก ทําไมอัตราคนเกิดใหม่น้อยลง พวกคุณ (แฟน) นอนด้วยกันน้อยลงงั้นหรือ ผมว่าไม่ใช่นะ แต่คำตอบ คือ ถ้าคุณมีค่าครองชีพ ที่เฉลี่ยแล้วตกประมาณเดือนละ 20,000 บาท คุณก็คงเริ่มคิดว่าจะเลี้ยงลูกให้มีคุณภาพได้จริงหรือ นี่ยังไม่นับว่าจะต้องหวาดผวาทุกเดือนถึงหารายได้ที่ต้องหามาประคองชีวิตประจำวันอีก

แน่นอนว่า ทุกคนอยากมีเงินเก็บที่พอเพียงแบบที่ไม่ต้องรวยมากก็ได้ ขอแค่ตอนแก่พออยู่ได้อย่างสบาย มีบ้านของตัวเองสักหลัง มีรถสักคัน ส่งลูกเรียนโรงเรียนดี ๆ ได้ ให้ลูกมีชีวิตดีกว่าเราได้ และถ้าเป็นไปได้ถ้าเป็นไปได้และไปเที่ยวต่างประเทศปีละสักครั้งนึง

เชื่อว่านี่คือความฝันที่คนส่วนใหญ่ต้องการ แต่เมื่อรายได้เฉลี่ยต่อครัวเรือนมันอยู่เท่านี้ แถมความเหลื่อมล้ำจากสวัสดิการทางสังคมมันยังเป็นแบบนี้ และนี่ยังไม่ได้บวกปัญหาผู้สูงวัยที่เตรียมพุ่ง ซึ่งคนวัยหลักที่กำลังเผชิญสังคมเช่นนี้อยู่ต้องเข้าไปแบกด้วยอีก มันจึงไม่แปลก ที่คนยุคนี้จะเลือกตัดสินใจไม่มีลูกและหมดซึ่งความคิดสร้างสรรค์

ผมอยากจะบอกว่ารัฐสวัสดิการไม่ได้หมายถึง End Game เหมือนแบบสแกนดิเนเวีย แต่มันคือ การตั้งเป้าหมาย และการเดินทางที่จะเดินไปถึงจุดนั้นได้ เพื่อประคองความพ่ายแพ้ของชีวิตคน ให้ยังลุกขึ้นมายืนได้อย่างมีศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์…รัฐต้องสร้าง ‘โซเชียลเซฟตี้’ ให้กับประชาชน…การค่อย ๆ สร้างสวัสดิการสังคมที่เข้มแข็งมากขึ้น มันจะลดความเหลื่อมล้ำได้ 

ทุกวันนี้ ประเทศ สังคม ภาครัฐ บริษัทเอกชน คาดหวังที่จะเห็นประชาชนคนไทยปลดปล่อยศักยภาพ มีความสามารถ มีความคิดสร้างสรรค์ แต่คุณคิดว่า ความคิดสร้างสรรค์ จะเกิดขึ้นเมื่อไร เมื่อคุณท้องหิว? หรือ เมื่อคุณท้องอิ่ม?

คุณต้องมีความมั่นคงในชีวิตก่อน แต่คนส่วนใหญ่ของประเทศไม่มีตรงนี้ ไม่มีงานมั่นคงทำ ไม่มีสวัสดิการที่ช่วยให้เกิดความสะดวกต่อการใช้ชีวิตแบบไม่พะวงหน้าพะวงหลัง ยิ่งคนต่างจังหวัดด้วยแล้ว เขาทำได้แค่รับจ้างทำไร่ทำนา ไม่ก็รับจ้างก่อสร้าง เป็นแรงงานรายวัน ที่ไม่มีความมั่นคง

คำถาม คือ งบประมาณประเทศปีละ 3 ล้านล้านบาท 10% คือ 300,000 ล้าน 1% คือ 30,000 ล้าน แต่แนวทางที่มาสามารถนำมาพัฒนาด้านรัฐสวัสดิการจริง ๆ เอาแค่ 0.5% ก็เพียงพอแล้ว ถ้าตั้งใจทำ เพียงแต่ทั้งหมดก็เพราะ ‘อํานาจ’ บางอย่าง ที่ทำให้เกิดขึ้นไม่ได้

อำนาจในการจัดการทรัพยากร? อำนาจไหนที่สามารถจัดการเรื่องน้ำ? อำนาจ คืออะไร? 

90 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยมีรัฐธรรมนูญ 20 ฉบับ โดยเฉลี่ยเปลี่ยนรัฐธรรมนูญ 4.5 ปีต่อหนึ่งฉบับ เรามีนายกรัฐมนตรีมาแล้ว 29 คน มีรัฐประหาร 13 ครั้ง 

หากเราจะอยู่ร่วมกันในสังคมไทยสันติ ต้องมีรัฐธรรมนูญที่มาจากประชาชน ต้องเป็นรัฐธรรมนูญที่สะท้อนให้เห็นถึงอำนาจการจัดการสิ่งต่าง ๆ ได้อย่างถูกต้อง แต่เมื่อวันนี้อำนาจไม่ใช่ของประชาชน ประชาชนจะเอาอะไรไปต่อรอง ‘ดอกผลแห่งการพัฒนา’ เพื่อมาเป็นส่วนแบ่งให้แก่ตนเองบ้าง

การรวมตัวเรียกร้อง สิทธิในการรวมตัวเรียกร้อง ซึ่งถูกลิดรอนอย่างที่เป็นอยู่ จึงไม่แปลกใจที่ดอกผลของการพัฒนาไม่ถึง คนจน เรารวมตัวกันเรียกร้องไม่ได้ ผมเชื่อว่าประเทศไทย มีศักยภาพเพียงพอในการจัดสรรสวัสดิการ ถ้าอำนาจนั้น ๆ ถูกใช้อย่างถูกต้อง


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top