ส่องตัวแปร ‘เงินทุนจีนทิ้งประเทศ’ กับโอกาสครั้งใหญ่ของไทย สะท้อนผ่าน ‘บีโอไอ’ งานล้นมือ เพราะทุนจีนถือหมุดรอปักสยาม

เมื่อไม่นานนี้ คุณมัทนา มูลจันทร์ กรรมการผู้จัดการ บริษัทสำนักกฎหมายดีทีแอลจำกัด บริษัทเอ็มแอนด์ทีโฮลดิ้งแอนดด์ดีเวลลอปเม้นท์จำกัด ได้ให้สัมภาษณ์ผ่านรายการ ‘Money Chat Thailand’ ตอน เงินทุนจีนทิ้งประเทศ ครั้งใหญ่! ประจำวันที่ เมื่อวันที่ 4 ก.ย. 2566 ดำเนินรายการโดย คุณเนาวรัตน์ เจริญประพิณ ผู้ผลิต Content เศรษฐกิจ ธุรกิจ การเงิน การลงทุน เริ่มต้นจากแนวคิด ‘ลงทุนง่าย ๆ แค่ปลายนิ้ว’ ส่งเสริมให้ทุกคนรู้จักและเข้าใจการรับลงทุนในยุคดิจิทัล

โดยคุณมัทนา ได้ให้มุมมองเกี่ยวกับประเด็น การแข่งขันกันทางภาคธุรกิจในประเทศจีน จนส่งผลให้มีคนจีนจำนวนมาก พยายามจะย้ายมาอยู่ที่ต่างประเทศ อีกทั้ง ทางรัฐบาลยังได้มีการปรามปราบเพื่อจัดระเบียบภายในประเทศ ให้เกิดความเท่าเทียม และลดความเหลื่อมล้ำในสังคม นอกจากนี้ ยังเป็นการป้องกันอำนาจจากกลุ่มทุนใหญ่ ที่พยายามจะใช้อิทธิพลและอำนาจมืด เข้ามาแทรกแซงการบริหาร รวมถึงนโยบายต่างๆ ของรัฐบาล ว่า…

“ความจริงแล้ว ประเทศจีนมีกฎหมายหนึ่งที่ประเทศไทยเองก็มีเช่นกัน แต่ของจีนจะค่อนข้างเข้มงวดกว่า คือ ‘การผูกขาดทางการค้า’ ซึ่งเป็นความพยายามของรัฐบาลที่จะจัดการในส่วนนี้ ดังนั้น จึงเห็นได้ว่า ทุกอย่างจะถูกผลักเข้าไปสู่กลไกของธุรกิจ การแข่งขันก็มักเป็นการแข่งขันกันในเชิงธุรกิจ อย่างประเทศไทยเรามีรัฐวิสาหกิจในบางสายงาน ในบางองค์กร หรือในบางกระทรวง ทบวง กรม อาจจะมีรัฐวิสาหกิจอยู่แค่ไม่กี่บริษัท แต่ในประเทศจีนมีบริษัทที่เป็นรัฐวิสาหกิจเป็นร้อย หรืออาจจะหลายร้อยบริษัท ยกตัวอย่างเช่น ในกระทรวงคมนาคมมีบริษัทลูกที่เป็นรัฐวิสาหกิจเป็นร้อยบริษัท จึงทำให้การแข่งขันกันระหว่างสายงานต่างๆ นั้น มีค่อนข้างสูง เนื่องจากต้องแข่งขันกันเพื่อความอยู่รอดของธุรกิจต่างๆ ทำให้ขาดการช่วยเหลือกัน”

“นอกจากนี้ หลักการในการลงทุนของประเทศจีน มีแนวทางนโยบายบางประการ ที่ทางภาคธุรกิจ ‘จำใจ’ ต้องยอมจ่าย เนื่องจากถูกกดดันจากทางรัฐบาล 2 อย่างด้วยกัน คือ

‘กำแพงภาษี’ หากคุณผลิตสินค้าในจีน คุณจะถูกเก็บภาษีสูงมาก ซึ่งเป็นเหมือนการบังคับให้ต้องยอมจ่าย ดังนั้น กลุ่มนายทุนจึงต้องออกมาตั้งโรงงานกันในต่างประเทศ เพื่อไม่ให้สินค้าของบริษัท เป็นสินค้าที่ผลิตในจีนจนต้องเสียภาษีมหาโหด

สินค้าของกลุ่มทุนจีนที่ผลิตในต่างประเทศ ยกตัวอย่างเช่น สินค้าด้านพลังงาน อย่างแผงโซลาร์เซลล์ ที่สามารถสังเกตได้ว่า เกือบจะถูกแบรนด์ใหญ่ๆ ของจีน ต้องมาตั้งโรงงานในประเทศไทย เพื่อผลิตสินค้า จากนั้นจึงคอยส่งกลับไปขายในจีน

แต่ตอนนี้ก็เริ่มมีปัญหาตามมา คือ ทางรัฐบาลจีนเขาไม่ได้ดูแค่สินค้าชิ้นนี้ผลิตที่ประเทศจีนหรือไม่ แต่เขาตรวจสอบไปจนถึงวัสดุที่เป็นส่วนประกอบในการผลิตสินค้าเลยทีเดียว

แต่อย่างไรก็ตาม กระบวนการเรียกเก็บภาษีนี้ ก็มีขั้นตอนเป็นระบบ และให้มีประกาศทางการอย่างชัดเจน เพื่อให้ระยะเวลาภาคธุรกิจในการตั้งตัวรับมือได้ทัน”

“เรื่องต่อมา ซึ่งเป็นเรื่องล่าสุด คือ บริษัทต่างๆ จะต้องตั้งโรงงานการผลิตนอกประเทศจีน และไต้หวัน เนื่องจากเกิดปัญหาความน่าเชื่อถือที่ลดลง เพราะรัฐบาลตั้งกฎหมายเกี่ยวกับภาคธุรกิจออกมามากมาย เพื่อที่จะควบคุมการผูกขาดทางการค้า ทำให้ลูกค้าในประเทศต่างๆ ไม่มีความเชื่อมั่นว่า หากสั่งซื้อสินค้าไปแล้ว จะได้รับสินค้าตามกำหนดหรือไม่

และที่สำคัญที่สุด คือ ความขัดแย้งทางการเมืองโลก ระหว่างประเทศจีนกับประเทศต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ประเทศสหรัฐอเมริกา ที่อาจส่งผลกระทบต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจ การค้า รวมถึงการลงทุนได้ ทำให้นักลงทุนกลัวการเกิดปัญหาต่างๆ ตามมาในภายหลัง”

“ด้วย 2 ปัจจัยหลักนี้เอง ทำให้ประเทศไทย กลายเป็น ‘หมุดหมายหลัก’ ที่เหล่ากลุ่มทุนจากจีน จะแห่กันเข้ามาลงทุน เพราะนอกจากที่ไทยจะเป็นประเทศที่มีศักยภาพและกำลังในการผลิตสูงแล้ว จุดเด่นของประเทศไทยอีกเรื่องคือ ไทยเป็นประเทศที่ไม่เคยมีท่าทีต่อต้านชาวจีน อีกทั้งยังพร้อมอ้าแขนเปิดรับชาวจีนมากที่สุด กว่าทุกประเทศในภูมิภาคอาเซียนอีกด้วย”

“สิ่งนี้ส่งผลให้ประเทศไทยรับประโยชน์จากไปเต็มๆ อีกทั้ง ทาง ‘สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน’ หรือ BOI ยังร่วมหน้าที่ส่งเสริมการลงทุนในประเทศ ทั้งในด้านการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน และอำนวยความสะดวกด้านการลงทุน รวมถึงการบริการสนับสนุนธุรกิจให้แก่นักลงทุนต่างชาติ ยิ่งทำให้นักลงทุนจากทั่วทุกสารทิศ โดยเฉพาะจากในจีนแผ่นดินใหญ่ ต่างหลั่งไหลกันมาปักหมุดหมายในไทย โดยหลายๆ แบรนด์ยังมีแผนที่จะยกให้ไทยเป็นศูนย์กลางในการผลิตที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคอาเซียนอีกด้วย”

แม้จะมีกระแสบางส่วนมองว่า การที่กลุ่มนักลงทุนจีนมาตั้งโรงงานผลิตในประเทศไทยนั้น เป็นเรื่องที่ทำให้คนไทยเสียเปรียบ เนื่องจากทาง BOI ได้ให้สิทธิประโยชน์ทางด้านภาษีในการลงทุนแก่กลุ่มทุนจีน โดยในเรื่องนี้ คุณมัทนาได้ให้ความคิดว่า…

“หากลองย้อนกลับไปดูดีๆ การก่อตั้งโรงงานนั้นไม่ได้สามารถทำกำไรได้ตั้งแต่ภายในปีแรก บางโรงงานเพิ่งสามารถทำกำไรได้ภายใน 3-5 ปีต่อมาเสียด้วยซ้ำ ซึ่งก็สอดคล้องกับระยะเวลาที่ทาง BOI ให้สิทธิไว้ตามเงื่อนไขการลงทุน อีกทั้งไม่ใช่ธุรกิจทุกประเภทจะได้รับการยกเว้นเสียภาษี ธุรกิจแต่ละประเภทก็มีระยะเวลาการยกเว้นเสียภาษีที่แตกต่างกันออกไป

ดังนั้น การที่ประเทศไทยมีกลุ่มทุนมาลงทุนนั้น นับว่าเป็นเรื่องที่ดีเป็นอย่างยิ่ง เพราะนอกจากจะทำให้อัตราการลงทุนเพิ่มแล้ว ยังเกิดการจ้างแรงงานเพิ่มขึ้น คนไทยมีงานทำมากขึ้น ช่วยให้คนไทยได้เพิ่มพูนศักยภาพ พัฒนาทักษะการทำงานให้คนไทยมากขึ้น และยังส่งผลให้มีเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ ช่วยให้การค้าขายระหว่างประเทศเติบโตก้าวหน้า เป็นประโยชน์ต่อไปเป็นทอดๆ อีกด้วย”