Thursday, 2 May 2024
BOI

BOI เผยยอดขอส่งเสริมลงทุนพุ่ง 5 แสนล้าน ส่วนคำขอจากต่างประเทศ เพิ่มขึ้นกว่า 200%

บีโอไอ เผยภาวะการลงทุน ช่วง 9 เดือนแรกของปี 2564 สถิติการขอรับส่งเสริมการลงทุน มีมูลค่ารวมมากกว่า 5 แสนล้านบาท ปรับเพิ่มขึ้นกว่าปี 2563 ทั้งปี ขณะที่การลงทุนผ่าน FDI มูลค่าก็เพิ่มขึ้นสอดคล้องกัน โดยมีอัตราเติบโตมากกว่า 200% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันกับปีก่อน

นางสาวดวงใจ อัศวจินตจิตร์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือ บีโอไอ เปิดเผยว่า ในช่วง 9 เดือนแรก (ม.ค. - ก.ย.) ปี 2564 มีโครงการยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนจำนวน 1,273 โครงการ เพิ่มขึ้นร้อยละ 23 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2563 คิดเป็นมูลค่าเงินลงทุนรวม 520,680 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 140 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมีมูลค่าสูงกว่าปี 2563 ทั้งปี (432,000 ล้านบาท) และสูงกว่ามูลค่าเฉลี่ยก่อนเกิดโควิดช่วงปี 2558 - 2562 (483,664 ล้านบาท) 

กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายมีมูลค่าเงินลงทุนรวม 269,730 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 52 ของมูลค่าการขอรับส่งเสริมการลงทุนทั้งหมด โดยอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าเงินลงทุนสูงสุดอันดับแรก ได้แก่ เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ 77,210 ล้านบาท ซึ่งเป็นผลมาจากการย้ายฐานการผลิตและสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่เปลี่ยนกิจกรรมของคนทำงานในรูปแบบ WFH ทำให้มีความต้องการของตลาดเพิ่มขึ้น 

อันดับ 2 อุตสาหกรรมการแพทย์ 59,210 ล้านบาท ซึ่งก็เป็นการลงทุนต่อเนื่องจากสถานการณ์โควิด ส่งผลให้ความต้องการสินค้าที่ใช้ในการป้องกันเชื้อโควิด เช่น ถุงมือยาง เพิ่มขึ้นอย่างมาก อันดับ 3 ปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ 36,760 ล้านบาท อันดับ 4 การเกษตรและแปรรูปอาหาร 31,660 ล้านบาท และอันดับ 5 เทคโนโลยีชีวภาพ 20,950 ล้านบาท

สำหรับมูลค่าขอรับการส่งเสริมจากต่างประเทศ หรือ FDI ช่วง 9 เดือนแรกปี 2564 มีจำนวน 587 โครงการ มูลค่าเงินลงทุน 372,068 ล้านบาท โดยมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 220 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ประเทศที่มีมูลค่าลงทุนสูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ ญี่ปุ่น 67,816 ล้านบาท สหรัฐฯ 26,936 ล้านบาท และสิงคโปร์ 26,882 ล้านบาท

สำหรับพื้นที่เป้าหมาย EEC มีการขอรับส่งเสริมจำนวน 348 โครงการ มูลค่าเงินลงทุนรวม 173,780 ล้านบาท โดยจังหวัดระยอง มีมูลค่าเงินลงทุนสูงสุด 91,670 ล้านบาท รองลงมาเป็นจังหวัดชลบุรี มูลค่าเงินลงทุน 54,310 ล้านบาท และจังหวัดฉะเชิงเทรา มูลค่าเงินลงทุน 27,800 ล้านบาท ตามลำดับ 

รัฐบาลพลิกโฉมประเทศไทยสู่ 'เศรษฐกิจใหม่' ปัก 7 หมุดเพื่ออนาคต เสริมแกร่งประเทศระยะยาว

รัฐบาลตั้งทรงไทยสู่ศูนย์กลางการลงทุนระดับภูมิภาค ด้วยยุทธศาสตร์ส่งเสริมการลงทุน 5 ปี (พ.ศ. 2566 - 2570) พร้อมปักธง 7 หมุดหมายแห่งอนาคต เพิ่มความสามารถในการแข่งขันให้กับประเทศในระยะยาว

(19 ต.ค. 65) นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ในการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บอร์ด BOI) ครั้งล่าสุด ที่มีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานฯ ได้เห็นชอบร่างยุทธศาสตร์การส่งเสริมการลงทุน 5 ปี (พ.ศ. 2566 - 2570) เพื่อปรับโครงสร้างไปสู่ 'เศรษฐกิจใหม่' เพิ่มความสามารถทางการแข่งขัน เสริมสร้างสถานะของไทยในฐานะศูนย์กลางทางธุรกิจ การค้า และโลจิสติกส์ระดับภูมิภาคซึ่ง พล.อ. ประยุทธ์ ในฐานะประธานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ได้เน้นย้ำถึงความสำคัญในการเดินหน้าส่งเสริมการลงทุนอย่างรอบด้าน ทั้งการพัฒนา และการเปลี่ยนแปลงให้ทันต่อกับสถานการณ์และความท้าทายที่เกิดในปัจจุบันและอนาคต เพื่อให้ดำเนินการได้ตามแผนและเป้าหมายที่กำหนดไว้

นายอนุชา กล่าวว่า ร่างยุทธศาสตร์ส่งเสริมการลงทุนฉบับใหม่นี้ มุ่งเสริมสร้างการลงทุนเพื่อปรับโครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศตามแนวคิดหลัก 3 ประการ คือ 

- Innovative เป็นเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี นวัตกรรม และความคิดสร้างสรรค์  
- Competitive เป็นเศรษฐกิจที่มีขีดความสามารถในการแข่งขัน สามารถปรับตัวเร็ว และสร้างการเติบโตสูง 
- Inclusive เป็นเศรษฐกิจที่คำนึงถึงความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมและสังคม รวมทั้งการสร้างโอกาส และลดปัญหาความเหลื่อมล้ำ

โดยมี 7 หมุดหมายสำคัญ ได้แก่ การปรับโครงสร้างอุตสาหกรรม โดยยกระดับอุตสาหกรรมเดิมที่ไทยมีความโดดเด่น ควบคู่กับการสร้างฐานอุตสาหกรรมใหม่ที่ไทยมีศักยภาพ และสร้างความเข้มแข็งของ Supply Chain เร่งเปลี่ยนผ่านอุตสาหกรรมไปสู่ Smart & Sustainability ผลักดันไทยเป็นศูนย์กลางธุรกิจระหว่างประเทศและประตูการค้าการลงทุนของภูมิภาค ส่งเสริม SMEs และ Startup ให้เข้มแข็งและเชื่อมต่อกับโลก ส่งเสริมการลงทุนตามศักยภาพพื้นที่ เพื่อสร้างการเติบโต อย่างทั่วถึง ส่งเสริมการลงทุนเพื่อพัฒนาชุมชนและสังคม และส่งเสริมผู้ประกอบการที่มีศักยภาพให้ออกไปลงทุนในต่างประเทศ เพื่อขยายโอกาสทางธุรกิจ 

ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) จะใช้เครื่องมือสำคัญ 3 ด้าน เพื่อขับเคลื่อน 7 หมุดหมายให้บรรลุผลสำเร็จ คือ สิทธิประโยชน์ทั้งภาษีและไม่ใช่ภาษี การบริการแบบครบวงจรทั้งก่อนและหลังการลงทุน การสร้างระบบนิเวศและปรับปรุงกฎระเบียบให้เอื้อต่อการลงทุน

BOI อนุมัติ 3,893 ล้านบาท โครงการแบตเตอรี่ BYD เสริมแรงเศรษฐกิจเกี่ยวเนื่อง 'รถยนต์อีวี' ในระยะยาว

(13 ม.ค. 66) นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ได้แถลงข่าวที่ตึกนารีสโมสร ทำเนียบรัฐบาลเปิดเผยหลังจากการประชุมบอร์ด BOI ซึ่งมี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ได้อนุมัติส่งเสริมการลงทุนโครงการขนาดใหญ่ รวมมูลค่า 15,784 ล้านบาท ได้แก่ โครงการผลิตแบตเตอรี่สำหรับยานพาหนะไฟฟ้า ของบริษัท บีวายดี ออโต้ คอมโพเนนท์ส (ประเทศไทย) จำกัด มูลค่า 3,893 ล้านบาท โครงการผลิต Carbon Black ของ บริษัท ไทยโตไกคาร์บอนโปรดักท์ จำกัด มูลค่า 9,490 ล้านบาท และโครงการผลิตเชื้อเพลิงจากขยะ ของบริษัท ทีพีไอ โพลีน เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) มูลค่า 2,401 ล้านบาท

“โครงการที่ได้รับอนุมัติให้การส่งเสริมการลงทุนครั้งนี้ เป็นโครงการขนาดใหญ่ที่สอดรับกับนโยบายส่งเสริมการลงทุนเพื่อสร้างเศรษฐกิจใหม่ของบีโอไอ และจะช่วยสร้างความสามารถในการแข่งขันให้กับประเทศในระยะยาว ทั้งในด้านการสร้างฐานผลิตยานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วนสำคัญ โดยเฉพาะแบตเตอรี่ และโครงการที่นำขยะชุมชนมาผ่านการคัดแยกและแปรรูปเป็นเชื้อเพลิง เพื่อนำไปใช้ในโรงปูนซิเมนต์และโรงไฟฟ้าแทนการใช้ถ่านหิน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ที่รัฐบาลกำลังผลักดัน” นายนฤตม์ กล่าว

บีโอไอ’ เผย อย่าเพิ่งเชื่อข่าวลือ ปม ‘อีซูซุ’ ย้ายฐานผลิตไปอินโดฯ ยัน!! ยังไม่ชัดเจน ต้องรอตรวจสอบข้อเท็จจริงจากบริษัทแม่ก่อน

วันที่ (8 มิ.ย. 66) กรณีค่ายรถยนต์รายใหญ่ของญี่ปุ่น ‘อีซูซุมอเตอร์’ มีแผนจะย้ายการผลิตรถยนต์ จากโรงงานแห่งหนึ่งในประเทศไทย ไปยังประเทศอินโดนีเซีย โดยจะเริ่มการผลิตอย่างเร็วที่สุดในปี 2567 นั้น ล่าสุดได้มีการสอบถามข้อเท็จจริงเรื่องนี้ไปยัง นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ระบุว่า 

จากกรณีข่าวการย้ายฐานการผลิตของ บริษัท อีซูซุมอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด บีโอไอกำลังอยู่ระหว่างการตรวจสอบข้อมูลที่ชัดเจนไปยังบริษัทแม่ของอีซูซุมอเตอร์ว่า กรณีนี้เป็นจริงหรือไม่อย่างไร แต่ ณ ปัจจุบันบริษัทในไทยยังไม่ทราบเรื่องดังกล่าว 

“ตอนนี้ต้องรอเช็กข้อมูลให้แน่ใจก่อนว่าเป็นอย่างไร เพราะทางอีซูซุในไทยก็ยังไม่ทราบเรื่อง และคงต้องสอบถามไปยังบริษัทแม่ว่าเกิดอะไรขึ้น และหากมีความคืบหน้าจะแจ้งข้อมูลมาอีกครั้ง” นายนฤตม์ ระบุ

เลขาธิการ บีโอไอ ยอมรับว่า ปัจจุบันบริษัท อีซูซุมอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด ยังลงทุนผลิตรถยนต์ในประเทศไทย และที่ผ่านมาก็ได้รับสิทธิประโยชน์ในด้านการส่งเสริมการลงทุนจากรัฐบาลได้ไปแล้ว โดยเฉพาะสิทธิประโยชน์การลงทุนเกี่ยวกับการผลิตรถยนต์บรรทุกและรถยนต์กระบะในประเทศไทย

สำหรับกรณีกระแสข่าวการย้ายการลงทุนของ ‘อีซูซุมอเตอร์’ ที่ผ่านมา เนื่องจากนายอากัส กูมิวัง คาร์ตาซัสมิตา รัฐมนตรีอุตสาหกรรมอินโดนีเซีย ได้แถลงข่าวภายหลังพบหารือกับคณะผู้บริหารของบริษัทอีซูซุที่กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น เมื่อ 6 มิถุนายน 2566 ที่ผ่านมา 

ทั้งนี้ รัฐมนตรีอุตสาหกรรมอินโดนีเซีย ระบุว่า บริษัท อีซูซุ มอเตอร์ ผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ของญี่ปุ่น มีแผนจะโยกย้ายการผลิตรถยนต์บางส่วนจากโรงงานแห่งหนึ่งในประเทศไทย ไปยังอินโดนีเซีย โดยจะเริ่มการผลิตอย่างเร็วที่สุดในปีหน้า ซึ่งอินโดนีเซียยินดีกับการตัดสินใจดังกล่าว และจะมอบสิทธิประโยชน์พร้อมให้การสนับสนุนการย้ายฐานการผลิต

ปัจจุบัน บริษัท อีซูซุมอเตอร์ มีโรงงานผลิตรถยนต์ 2 แห่งในประเทศไทย ที่จังหวัดสมุทรปราการและฉะเชิงเทรา โดยมีกำลังการผลิตรถยนต์รวมกัน 385,000 คันต่อปี และมีการจ้างงานพนักงานประมาณ 6,000 คน ส่วนในอินโดนีเซีย อีซูซุมีโรงงานผลิตรถยนต์ 1 แห่งที่เมืองคาราวัง

รายงานข่าวระบุด้วยว่า ปัจจุบันอินโดนีเซียเป็นฐานการผลิตรถยนต์ญี่ปุ่นหลายค่าย อาทิ ฮอนด้า มิตซูบิชิ ซูซูกิ และอินโดนีเซียกำลังผลักดันตนเองให้ก้าวสู่การเป็นฐานการผลิตแบตเตอรี่สำหรับรถยนต์ไฟฟ้า เนื่องจากมีวัตถุดิบในด้านดังกล่าวจำนวนมาก

6 ค่ายรถ EV ยักษ์ใหญ่ของจีน เล็งตั้งฐานการผลิตในไทย หวังดันไทยสู่ Hub ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าแห่งภูมิภาคเอเชีย

หากพูดถึง ‘The Big 6’ แห่งอุตสาหกรรมรถยนต์ EV ของจีน ต้องเอ่ยชื่อ BYD (Build Your Dreams), Chongqing Changan, JAC Motors, Jiangling Motors, Great Wall Motor และ Geely

ล่าสุด เมื่อวันที่ 12 มิ.ย. 66 ที่ผ่านมา ‘Geely’ ตามหลัง ‘Great Wall Motor’ เดินหน้ามาลงทุนธุรกิจ EV ในไทย

‘Geely’ หนึ่งในค่ายรถรายใหญ่ของจีน มีแผนเข้าสู่ตลาดรถยนต์ไฟฟ้า หรือ EV ของไทย ประกอบด้วย การนำเข้ารถยนต์ไฟฟ้าหลากหลายรุ่น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การตั้งฐานการผลิตในไทย

Geely กำลังพิจารณาแผนการเข้าสู่ตลาดรถยนต์ไฟฟ้าในไทยครั้งใหญ่ ทั้งรถยนต์ไฟฟ้ารุ่นเล็ก และรถกระบะไฟฟ้า ภายใต้ยี่ห้อ ‘Radar’ สอดคล้องกับ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) คุณนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ ที่เผยว่า ได้มีการหารือกับค่ายรถ EV จีนยักษ์ใหญ่ 6 บริษัท หรือ ‘The Big 6’

ได้แก่ ‘บีวายดี’ (BYD: Build Your Dreams), ‘ฉงชิ่ง ฉางอัน’ (Chongqing Changan), ‘เจเอซี มอเตอร์’ (JAC Motors), ‘เจียงหลิง มอเตอร์’ (Jiangling Motors), เกรต วอลล์ มอเตอร์ (Great Wall Motor) และ ‘จีลี’ (Geely)

เลขาฯ BOI เสริมว่า ‘The Big’ ให้ความสนใจในนโยบายของไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ‘มาตรการส่งเสริมการลงทุนในการตั้งฐานการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า และวางระบบห่วงโซ่อุปทานแบบบูรณาการในภูมิภาค’

ก่อนหน้านี้ BYD (Build Your Dreams) และ Great Wall Motor ได้เดินตามแผนตั้งฐานการผลิต EV โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กำลังพิจารณาการจัดตั้งศูนย์วิจัยและพัฒนา รถยนต์ไฟฟ้า EV ในประเทศไทย

ตามมาด้วย Geely ซึ่งเป็นรายล่าสุด ต่อจาก Great Wall Motor ที่มีแผนลงทุน ‘ปักหมุด’ EV ในไทย มูลค่าระดับหลักพันล้านบาท สอดรับกับนโยบายการรักษาสถานะผู้ผลิตรถยนต์ใหญ่อันดับ 10 ของโลกของไทย ซึ่งมุ่งหวังสานต่อความสำเร็จของ Hub รถยนต์เอเชียในอดีต และต่อยอดสู่การเป็นศูนย์ผลิตรถยนต์พลังงานไฟฟ้า หรือ EV ของภูมิภาค

ตามเป้าหมายปรับสัดส่วนการผลิตรถยนต์ 30% จากยอดการผลิตรถยนต์ 2.5 ล้านคันต่อปี ให้เป็นการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า EV ทั้งหมดภายในปี ค.ศ. 2030 โดยเฉพาะอย่างยิ่ง Great Wall Motor ประกาศแผนลงทุน 30 ล้านดอลลาร์ หรือกว่า 1,000 ล้านบาท เพื่อสร้างโรงงานประกอบแบตเตอรี่แห่งใหม่ในประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง แผนการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า EV รุ่นเล็กในไทย ในปีหน้า หรือ ปี ค.ศ. 2024

คุณณรงค์ สีตลายน กรรมการผู้จัดการบริษัท Great Wall Motor Thailand ระบุว่า บริษัทเเม่จากจีน กำลังพิจารณาตั้งศูนย์วิจัยและพัฒนาในประเทศไทย

“แผนการลงทุนที่ไทยจะขึ้นอยู่กับปัจจัยต่างๆ รวมถึงเรื่องการสนับสนุนจากภาครัฐ เช่น มาตราการเงินอุดหนุนราคารถยนต์ไฟฟ้า หรือการลดภาษีรถ EV” MD Great Wall Motor Thailand กล่าว

ในปี ค.ศ. 2022 รถยนต์ EV ยี่ห้อ ORA Good Cat ที่เป็นรถรุ่นเล็ก หรือ Compact Car ของ Great Wall Motor เป็นรถยนต์ไฟฟ้า EV ที่ขายดีที่สุดในประเทศไทย โดยรุ่นที่ราคาต่ำสุดอยู่ที่ 828,500 บาท ซึ่งราคานี้ได้รับการอุดหนุจากรัฐ 230,500 บาท

โดย Great Wall Motor ได้เข้ามาเริ่มต้นทำธุรกิจในประเทศไทยเมื่อ 3 ปีก่อน ซึ่ง Great Wall Motor วางแผนที่จะผลิตรถยนต์ EV ยี่ห้อ ORA Good Cat ในไทย ในปีหน้า หรือ ปี ค.ศ. 2024 ส่วนแผนการลงทุนสร้างโรงงานประกอบแบตเตอรี่ของ Great Wall Motor น่าจะใช้งบประมาณราว 500 ล้านบาท ถึง 1,000 ล้านบาท

ซึ่งทั้งหมดนี้ จะประกาศรายละเอียดให้ทราบในอีก 6 เดือนจากนี้ หรือในครึ่งปีหลังของปี ค.ศ. 2023 หรือไตรมาสที่ 3 ของปี ค.ศ. 2023

อย่างไรก็ดี แม้ว่า The Big 6 ทุกค่ายไล่ตั้งแต่ บีวายดี (BYD: Build Your Dreams), ฉงชิ่ง ฉางอัน (Chongqing Changan), เจเอซี มอเตอร์ (JAC Motors), เจียงหลิง มอเตอร์ (Jiangling Motors), เกรต วอลล์ มอเตอร์ (Great Wall Motor) และ จีลี (Geely) จะลงทุนในไทยเป็นมูลค่าที่สูงมากเท่าไหร่ก็ตาม

ทว่า ค่ายรถเจ้าใหญ่ (เจ้าที่) ในไทย ยังคงเป็นบริษัทญี่ปุ่น เช่น TOYOTA, ISUZU, HONDA, NISSAN, MAZDA, MITSUBISHI

เรื่อง : ดร.จักรกฤษณ์ สิริริน
 

‘บีโอไอ’ ชี้!! ยอดลงทุน 6 เดือน พุ่ง 3.6 แสนล้าน ‘พริงเกิลส์-โลตัส บิสคอฟ’ ขยายฐานการผลิตในไทยต่อ

(11 ก.ค. 66) นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือ ‘บีโอไอ’ เปิดเผยสถิติคำขอรับการส่งเสริมการลงทุน 6 เดือน (มกราคม – มิถุนายน) ปี 2566 มีโครงการยื่นขอรับการส่งเสริมรวมทั้งสิ้น 891 โครงการ เพิ่มขึ้นร้อยละ 18 และมีมูลค่าเงินลงทุน 364,420 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 70 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน 

สำหรับคำขอรับการส่งเสริมในอุตสาหกรรมเป้าหมาย มีจำนวน 464 โครงการ มูลค่ารวม 286,930 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 79 ของมูลค่าขอรับการส่งเสริมทั้งสิ้น ส่วนใหญ่เป็นการลงทุนในอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ อุตสาหกรรมเกษตรและอาหารแปรรูป อุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน ตามลำดับ

นอกจากการขยายการลงทุนของผู้ประกอบการรายเดิมทั้งไทยและต่างชาติแล้ว ในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา ได้มีบริษัทระดับโลกหลายรายตัดสินใจขยายฐานผลิตมาที่ประเทศไทย เช่น บริษัท พริงเกิลส์ ผู้ผลิตมันฝรั่งแผ่นจากสหรัฐอเมริกา และบริษัท โลตัส บิสคอฟ ผู้ผลิตบิสกิตชื่อดังแบรนด์ ‘Lotus Biscoff’ สัญชาติเบลเยี่ยม เป็นต้น 

‘BOI’ เผย ‘จีน’ นักลงทุนหลักในประเทศไทย ครึ่งแรกปี 66 ลงทุนแล้วกว่า 6.15 หมื่น ลบ.

เมื่อวันที่ 5 ส.ค. สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า เว็บไซต์ไชน่านิวส์ (Chinanews.com) รายงานโดยอ้างอิงรายงานที่เผยแพร่โดยคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ของไทยไม่นานนี้ ว่าจีนได้กลายเป็นแหล่งการลงทุนหลักสำหรับไทยในช่วงครึ่งแรกของปี 2023

รายงานระบุว่าช่วงครึ่งแรกของปี 2023 ไทยดึงดูดโครงการลงทุนใหม่จากต่างประเทศ 507 โครงการ ในจำนวนนี้เป็นโครงการจากจีน 132 โครงการ ซึ่งมีมูลค่าการลงทุนรวม 6.15 หมื่นล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 20 ของการลงทุนจากต่างประเทศทั้งหมด

การลงทุนส่วนใหญ่ครอบคลุมด้านต่าง ๆ ได้แก่ การผลิตยางล้อและผลิตภัณฑ์ยาง การผลิตยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ การผลิตเหล็ก อสังหาริมทรัพย์ การจัดหาและการจัดจำหน่ายพลังงาน

รายงานระบุว่าสืบเนื่องจากการลงทุนจากจีนที่เพิ่มขึ้น เศรษฐกิจของไทยจึงเติบโตอย่างแข็งแกร่ง

ทั้งนี้ ช่วง 6 ปีที่ผ่านมา มีนักลงทุนจากจีนได้ยื่นคำขอการลงทุนมากกว่า 900 โครงการ โดยมีมูลค่าการลงทุนรวมกว่า 5.26 แสนล้านบาท

‘รัฐบาล’ เผย ตัวเลข BOI พบ การลงทุนด้านอุตสาหกรรมฟื้นตัว ‘อิเล็กทรอนิกส์-อาหารแปรรูป-EV’ ปังสุด มูลค่าลงทุนกว่า 3 แสนลบ.

(25 ส.ค. 66) น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ข้อมูลสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) เรื่องการฟื้นตัวด้านอุตสาหกรรมในประเทศไทย โดยเฉพาะกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ อาหารแปรรูป และรถยนต์ไฟฟ้า ซึ่งเดือนมกราคม – มิถุนายน 2566 มีมูลค่าเงินลงทุน 364,420 ล้านบาท สะท้อนความสำเร็จมาตรการส่งเสริมการลงทุน โดยเฉพาะการกระตุ้นการลงทุนอุตสาหกรรม EV แบบครบวงจรของรัฐบาล

น.ส.รัชดา กล่าวว่า ยอดขอรับการส่งเสริมการลงทุนช่วง 6 เดือนแรกของปี 2566 เพิ่มขึ้นทั้งจำนวนโครงการและเงินลงทุน ซึ่งแหล่งเงินทุนจากต่างประเทศมาจากจีน สิงคโปร์ และญี่ปุ่น โดยกลุ่มอุตสาหกรรมที่น่าจับตามองคือ กลุ่มรถยนต์ไฟฟ้า ซึ่งรัฐบาลได้เดินหน้าลงทุนไทยอย่างต่อเนื่อง ทั้งบริษัทผลิตรถยนต์ไฟฟ้า ชิ้นส่วน และสถานีชาร์จไฟฟ้า ทำให้ไทยก้าวขึ้นเป็นฐานการผลิตหลักของยานยนต์ไฟฟ้าในภูมิภาคอาเซียน โดยปัจจุบันมีผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าแบบ BEV ได้รับการส่งเสริมแล้ว 14 โครงการ เงินลงทุนรวม 33,970 ล้านบาท คิดเป็นกำลังการผลิต 276,640 คันต่อปี

น.ส.รัชดา กล่าวว่า ในช่วงที่ผ่านมาอุตสาหกรรมรถยนต์ของไทยมีการพัฒนามากขึ้น ถือเป็นหนึ่งในผู้ส่งออกรถยนต์รายใหญ่ของโลก เนื่องจากมีห่วงโซ่อุปทานที่ครบวงจรจากการดำเนินการในอุตสาหกรรมนี้มาอย่างยาวนาน และจากการดำเนินนโยบายของรัฐบาลตามมาตรการส่งเสริมการลงทุนใหม่ โดยเฉพาะการเปลี่ยนผ่านไปสู่การผลิตยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ออกมาตรการให้เงินอุดหนุนการซื้อรถยนต์ EV เพื่อสร้างตลาดในประเทศ และจะก่อให้เกิดการขยายตัวของอุตสาหกรรมอื่น ๆ ที่เกี่ยวเนื่องตามมา โดยเฉพาะการผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ และการพัฒนาดิจิทัลแพลตฟอร์มต่าง ๆ สำหรับ EV

น.ส.รัชดา กล่าวว่า รัฐบาลดำเนินนโยบายเพื่อสนับสนุนการพัฒนาอุตสาหกรรมอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอุตสาหกรรมหลัก ภายใต้แนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน ในการส่งเสริมการเติบโตของอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้า รัฐบาลดำเนินมาตรการสนับสนุนแบบครบวงจร ทำให้ตลาดรถยนต์ไฟฟ้าเติบโต เท่าทันประเทศอื่นในภูมิภาค และมีศักยภาพตอบโจทย์การลงทุน ตามมาตรฐานสากล

ส่องตัวแปร ‘เงินทุนจีนทิ้งประเทศ’ กับโอกาสครั้งใหญ่ของไทย สะท้อนผ่าน ‘บีโอไอ’ งานล้นมือ เพราะทุนจีนถือหมุดรอปักสยาม

เมื่อไม่นานนี้ คุณมัทนา มูลจันทร์ กรรมการผู้จัดการ บริษัทสำนักกฎหมายดีทีแอลจำกัด บริษัทเอ็มแอนด์ทีโฮลดิ้งแอนดด์ดีเวลลอปเม้นท์จำกัด ได้ให้สัมภาษณ์ผ่านรายการ ‘Money Chat Thailand’ ตอน เงินทุนจีนทิ้งประเทศ ครั้งใหญ่! ประจำวันที่ เมื่อวันที่ 4 ก.ย. 2566 ดำเนินรายการโดย คุณเนาวรัตน์ เจริญประพิณ ผู้ผลิต Content เศรษฐกิจ ธุรกิจ การเงิน การลงทุน เริ่มต้นจากแนวคิด ‘ลงทุนง่าย ๆ แค่ปลายนิ้ว’ ส่งเสริมให้ทุกคนรู้จักและเข้าใจการรับลงทุนในยุคดิจิทัล

โดยคุณมัทนา ได้ให้มุมมองเกี่ยวกับประเด็น การแข่งขันกันทางภาคธุรกิจในประเทศจีน จนส่งผลให้มีคนจีนจำนวนมาก พยายามจะย้ายมาอยู่ที่ต่างประเทศ อีกทั้ง ทางรัฐบาลยังได้มีการปรามปราบเพื่อจัดระเบียบภายในประเทศ ให้เกิดความเท่าเทียม และลดความเหลื่อมล้ำในสังคม นอกจากนี้ ยังเป็นการป้องกันอำนาจจากกลุ่มทุนใหญ่ ที่พยายามจะใช้อิทธิพลและอำนาจมืด เข้ามาแทรกแซงการบริหาร รวมถึงนโยบายต่างๆ ของรัฐบาล ว่า…

“ความจริงแล้ว ประเทศจีนมีกฎหมายหนึ่งที่ประเทศไทยเองก็มีเช่นกัน แต่ของจีนจะค่อนข้างเข้มงวดกว่า คือ ‘การผูกขาดทางการค้า’ ซึ่งเป็นความพยายามของรัฐบาลที่จะจัดการในส่วนนี้ ดังนั้น จึงเห็นได้ว่า ทุกอย่างจะถูกผลักเข้าไปสู่กลไกของธุรกิจ การแข่งขันก็มักเป็นการแข่งขันกันในเชิงธุรกิจ อย่างประเทศไทยเรามีรัฐวิสาหกิจในบางสายงาน ในบางองค์กร หรือในบางกระทรวง ทบวง กรม อาจจะมีรัฐวิสาหกิจอยู่แค่ไม่กี่บริษัท แต่ในประเทศจีนมีบริษัทที่เป็นรัฐวิสาหกิจเป็นร้อย หรืออาจจะหลายร้อยบริษัท ยกตัวอย่างเช่น ในกระทรวงคมนาคมมีบริษัทลูกที่เป็นรัฐวิสาหกิจเป็นร้อยบริษัท จึงทำให้การแข่งขันกันระหว่างสายงานต่างๆ นั้น มีค่อนข้างสูง เนื่องจากต้องแข่งขันกันเพื่อความอยู่รอดของธุรกิจต่างๆ ทำให้ขาดการช่วยเหลือกัน”

“นอกจากนี้ หลักการในการลงทุนของประเทศจีน มีแนวทางนโยบายบางประการ ที่ทางภาคธุรกิจ ‘จำใจ’ ต้องยอมจ่าย เนื่องจากถูกกดดันจากทางรัฐบาล 2 อย่างด้วยกัน คือ

‘กำแพงภาษี’ หากคุณผลิตสินค้าในจีน คุณจะถูกเก็บภาษีสูงมาก ซึ่งเป็นเหมือนการบังคับให้ต้องยอมจ่าย ดังนั้น กลุ่มนายทุนจึงต้องออกมาตั้งโรงงานกันในต่างประเทศ เพื่อไม่ให้สินค้าของบริษัท เป็นสินค้าที่ผลิตในจีนจนต้องเสียภาษีมหาโหด

สินค้าของกลุ่มทุนจีนที่ผลิตในต่างประเทศ ยกตัวอย่างเช่น สินค้าด้านพลังงาน อย่างแผงโซลาร์เซลล์ ที่สามารถสังเกตได้ว่า เกือบจะถูกแบรนด์ใหญ่ๆ ของจีน ต้องมาตั้งโรงงานในประเทศไทย เพื่อผลิตสินค้า จากนั้นจึงคอยส่งกลับไปขายในจีน

แต่ตอนนี้ก็เริ่มมีปัญหาตามมา คือ ทางรัฐบาลจีนเขาไม่ได้ดูแค่สินค้าชิ้นนี้ผลิตที่ประเทศจีนหรือไม่ แต่เขาตรวจสอบไปจนถึงวัสดุที่เป็นส่วนประกอบในการผลิตสินค้าเลยทีเดียว

แต่อย่างไรก็ตาม กระบวนการเรียกเก็บภาษีนี้ ก็มีขั้นตอนเป็นระบบ และให้มีประกาศทางการอย่างชัดเจน เพื่อให้ระยะเวลาภาคธุรกิจในการตั้งตัวรับมือได้ทัน”

“เรื่องต่อมา ซึ่งเป็นเรื่องล่าสุด คือ บริษัทต่างๆ จะต้องตั้งโรงงานการผลิตนอกประเทศจีน และไต้หวัน เนื่องจากเกิดปัญหาความน่าเชื่อถือที่ลดลง เพราะรัฐบาลตั้งกฎหมายเกี่ยวกับภาคธุรกิจออกมามากมาย เพื่อที่จะควบคุมการผูกขาดทางการค้า ทำให้ลูกค้าในประเทศต่างๆ ไม่มีความเชื่อมั่นว่า หากสั่งซื้อสินค้าไปแล้ว จะได้รับสินค้าตามกำหนดหรือไม่

และที่สำคัญที่สุด คือ ความขัดแย้งทางการเมืองโลก ระหว่างประเทศจีนกับประเทศต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ประเทศสหรัฐอเมริกา ที่อาจส่งผลกระทบต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจ การค้า รวมถึงการลงทุนได้ ทำให้นักลงทุนกลัวการเกิดปัญหาต่างๆ ตามมาในภายหลัง”

“ด้วย 2 ปัจจัยหลักนี้เอง ทำให้ประเทศไทย กลายเป็น ‘หมุดหมายหลัก’ ที่เหล่ากลุ่มทุนจากจีน จะแห่กันเข้ามาลงทุน เพราะนอกจากที่ไทยจะเป็นประเทศที่มีศักยภาพและกำลังในการผลิตสูงแล้ว จุดเด่นของประเทศไทยอีกเรื่องคือ ไทยเป็นประเทศที่ไม่เคยมีท่าทีต่อต้านชาวจีน อีกทั้งยังพร้อมอ้าแขนเปิดรับชาวจีนมากที่สุด กว่าทุกประเทศในภูมิภาคอาเซียนอีกด้วย”

“สิ่งนี้ส่งผลให้ประเทศไทยรับประโยชน์จากไปเต็มๆ อีกทั้ง ทาง ‘สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน’ หรือ BOI ยังร่วมหน้าที่ส่งเสริมการลงทุนในประเทศ ทั้งในด้านการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน และอำนวยความสะดวกด้านการลงทุน รวมถึงการบริการสนับสนุนธุรกิจให้แก่นักลงทุนต่างชาติ ยิ่งทำให้นักลงทุนจากทั่วทุกสารทิศ โดยเฉพาะจากในจีนแผ่นดินใหญ่ ต่างหลั่งไหลกันมาปักหมุดหมายในไทย โดยหลายๆ แบรนด์ยังมีแผนที่จะยกให้ไทยเป็นศูนย์กลางในการผลิตที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคอาเซียนอีกด้วย”

แม้จะมีกระแสบางส่วนมองว่า การที่กลุ่มนักลงทุนจีนมาตั้งโรงงานผลิตในประเทศไทยนั้น เป็นเรื่องที่ทำให้คนไทยเสียเปรียบ เนื่องจากทาง BOI ได้ให้สิทธิประโยชน์ทางด้านภาษีในการลงทุนแก่กลุ่มทุนจีน โดยในเรื่องนี้ คุณมัทนาได้ให้ความคิดว่า…

“หากลองย้อนกลับไปดูดีๆ การก่อตั้งโรงงานนั้นไม่ได้สามารถทำกำไรได้ตั้งแต่ภายในปีแรก บางโรงงานเพิ่งสามารถทำกำไรได้ภายใน 3-5 ปีต่อมาเสียด้วยซ้ำ ซึ่งก็สอดคล้องกับระยะเวลาที่ทาง BOI ให้สิทธิไว้ตามเงื่อนไขการลงทุน อีกทั้งไม่ใช่ธุรกิจทุกประเภทจะได้รับการยกเว้นเสียภาษี ธุรกิจแต่ละประเภทก็มีระยะเวลาการยกเว้นเสียภาษีที่แตกต่างกันออกไป

ดังนั้น การที่ประเทศไทยมีกลุ่มทุนมาลงทุนนั้น นับว่าเป็นเรื่องที่ดีเป็นอย่างยิ่ง เพราะนอกจากจะทำให้อัตราการลงทุนเพิ่มแล้ว ยังเกิดการจ้างแรงงานเพิ่มขึ้น คนไทยมีงานทำมากขึ้น ช่วยให้คนไทยได้เพิ่มพูนศักยภาพ พัฒนาทักษะการทำงานให้คนไทยมากขึ้น และยังส่งผลให้มีเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ ช่วยให้การค้าขายระหว่างประเทศเติบโตก้าวหน้า เป็นประโยชน์ต่อไปเป็นทอดๆ อีกด้วย”

‘BOI’ กางยอด 8 เดือน ไต้หวันแห่ลงทุนในไทย 3 หมื่นล้านบาท พร้อมยกเป็นฐานการผลิตด้านอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อส่งออกทั่วโลก

เมื่อไม่นานมานี้ นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยว่า อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ นับเป็นอุตสาหกรรมยุทธศาสตร์ของโลก และเป็นอุตสาหกรรมเป้าหมายที่บีโอไอให้ความสำคัญมาก เนื่องจากมีความเชื่อมโยงและเป็นฐานการพัฒนาที่สำคัญของอุตสาหกรรมอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นยานยนต์ ดิจิทัล อุปกรณ์การแพทย์ ระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์ เป็นต้น 

ในช่วง 2 - 3 ปีที่ผ่านมา อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์โลกขยายตัวอย่างมาก โดยประเทศไทยเป็นหนึ่งในแหล่งรองรับการลงทุนที่มีความโดดเด่น ทั้งในด้านโครงสร้างพื้นฐานที่ดี ระบบไฟฟ้ามีความเสถียร พื้นที่นิคมอุตสาหกรรมมีความพร้อมรองรับการลงทุนได้อีกมาก บุคลากรมีทักษะและความเชี่ยวชาญในด้านอิเล็กทรอนิกส์ ซัปพลายเชนครบวงจร และภาครัฐมีมาตรการสนับสนุนที่แข่งขันได้ ทำให้ผู้ผลิตอิเล็กทรอนิกส์จำนวนมาก โดยเฉพาะจากไต้หวัน ตัดสินใจเลือกประเทศไทยเป็นฐานการผลิตหลักเพื่อส่งออกไปยังตลาดโลก

โครงการลงทุนจากไต้หวันส่วนใหญ่เป็นกลุ่มผู้ผลิตแผ่นวงจรพิมพ์ (Printed Circuit Board: PCB) คอมพิวเตอร์พกพา (Notebook) และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะที่นำระบบเซ็นเซอร์ Internet of Things (IoT) หรือระบบสมองกลฝังตัว (Embedded System) มาใช้ เช่น ลำโพงอัจฉริยะ อุปกรณ์คอมพิวเตอร์ และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์แบบสวมใส่ (Wearable Device) เป็นต้น 

ซึ่งบีโอไอได้มองเห็นถึงโอกาสและศักยภาพของไทยในการเป็นฐานผลิตของอุตสาหกรรมดังกล่าว จึงได้จัดกิจกรรมส่งเสริมการลงทุนจากไต้หวันอย่างต่อเนื่อง รวมถึงประสานงานนำสมาชิกสมาคมผู้ผลิต PCB รายใหญ่จากไต้หวัน เดินทางสำรวจพื้นที่เพื่อวางแผนการลงทุนในประเทศไทยอย่างเร่งด่วนในช่วงไตรมาสที่ 2 ที่ผ่านมา ทำให้มีบริษัท PCB จากไต้หวัน ทยอยเข้ามาลงทุนในประเทศไทยเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ

“ไทยเป็นฐานการผลิตที่สำคัญของอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ในภูมิภาคมานานกว่า 40 ปี และได้พัฒนาอุตสาหกรรมสนับสนุนในกลุ่มชิ้นส่วนและวัตถุดิบต่าง ๆ จนแข็งแกร่งและครบวงจร ทั้งยังผ่านประสบการณ์ทำงานร่วมกับบริษัทระดับโลกมาแล้ว จึงมีศักยภาพที่จะต่อยอดไปสู่อุตสาหกรรมต้นน้ำ เช่น การผลิตเวเฟอร์ และการออกแบบทางอิเล็กทรอนิกส์ รวมทั้งการผลิตผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ เช่น กลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง และผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ โดยไต้หวันเป็นหนึ่งในเป้าหมายที่ไทยจะดึงการลงทุน เนื่องจากเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์ระดับโลก” นายนฤตม์ กล่าว

ปัจจุบันไต้หวันเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ของโลก ครองส่วนแบ่งตลาดถึงกว่าร้อยละ 65 ของการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ของโลก โดยมีบริษัท Taiwan Semiconductor Manufacturing Corporation (TSMC) เป็นผู้ผลิตรายใหญ่ สำหรับการผลิตแผ่นวงจรพิมพ์ (PCB) ซึ่งเป็นหัวใจของอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่าง ๆ บริษัทไต้หวันก็เป็นผู้ผลิตอันดับหนึ่งของโลก มีส่วนแบ่งในตลาดโลกร้อยละ 35 โดยปัจจุบันผู้ผลิต PCB ไต้หวัน 20 อันดับแรก ได้ตัดสินใจเข้ามาลงทุนในประเทศไทยแล้ว 10 ราย เช่น WUS PCB, APEX, Dynamic Electronics, Gold Circuit, APCB เป็นต้น 

เมื่อรวมกับผู้ผลิต PCB จากประเทศอื่น เช่น จีน และญี่ปุ่น ที่เข้ามาลงทุนด้วย ทำให้ประเทศไทยกลายเป็นคลัสเตอร์ PCB ที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียน ตามมาด้วยประเทศเวียดนามและมาเลเซีย สำหรับผู้ผลิต PCB รายใหญ่ที่เหลือ เป็นเป้าหมายสำคัญที่บีโอไอจะเร่งเชิญชวนให้เข้ามาลงทุนในไทยเพิ่มเติม โดยบางรายได้ตอบรับและอยู่ระหว่างเตรียมการลงทุนในเร็ว ๆ นี้

“การเข้ามาลงทุนของกลุ่มผู้ผลิต PCB จากไต้หวันในรอบนี้ ถือเป็นคลื่นการลงทุนสำคัญ ที่ไม่เพียงแต่จะสร้างเม็ดเงินจำนวนมากให้ประเทศเท่านั้น แต่จะช่วยยกระดับซัปพลายเชนในประเทศ เกิดการจ้างงานและการพัฒนาบุคลากรด้านอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องจักรสมัยใหม่ รวมทั้งสร้างโอกาสทางธุรกิจให้กับผู้ผลิตชิ้นส่วนไทยที่มีศักยภาพได้เข้าไปอยู่ในซัพพลายเชนอิเล็กทรอนิกส์ของโลก ผ่านกิจกรรมเชื่อมโยงอุตสาหกรรมของบีโอไออีกด้วย” นายนฤตม์ กล่าว

ทั้งนี้ ในช่วง 8 เดือนที่ผ่านมา (มกราคม - สิงหาคม 2566) มียอดขอรับการส่งเสริมการลงทุนจากบริษัทไต้หวันในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ รวม 20 โครงการ มูลค่าเงินลงทุนกว่า 30,000 ล้านบาท โดยเป็นการผลิต PCB 7 โครงการ เช่น บริษัท Gold Circuit Electronics, ITEQ Corporation, Taiwan Union Technology และเป็นการผลิตโน้ตบุ๊กให้กับ HP บริษัทคอมพิวเตอร์อันดับ 2 ของโลก จำนวน 2 โครงการ ได้แก่ บริษัท QMB และ Inventec นอกจากนี้ ยังมีบริษัทรายใหญ่จากไต้หวันในกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ที่ได้เข้ามาลงทุนก่อนหน้านี้แล้ว เช่น บริษัท Delta Electronics, Tatung, Cal-Comp, Techman, Chicony, Primax เป็นต้น


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top