รัฐบาลพลิกโฉมประเทศไทยสู่ 'เศรษฐกิจใหม่' ปัก 7 หมุดเพื่ออนาคต เสริมแกร่งประเทศระยะยาว

รัฐบาลตั้งทรงไทยสู่ศูนย์กลางการลงทุนระดับภูมิภาค ด้วยยุทธศาสตร์ส่งเสริมการลงทุน 5 ปี (พ.ศ. 2566 - 2570) พร้อมปักธง 7 หมุดหมายแห่งอนาคต เพิ่มความสามารถในการแข่งขันให้กับประเทศในระยะยาว

(19 ต.ค. 65) นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ในการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บอร์ด BOI) ครั้งล่าสุด ที่มีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานฯ ได้เห็นชอบร่างยุทธศาสตร์การส่งเสริมการลงทุน 5 ปี (พ.ศ. 2566 - 2570) เพื่อปรับโครงสร้างไปสู่ 'เศรษฐกิจใหม่' เพิ่มความสามารถทางการแข่งขัน เสริมสร้างสถานะของไทยในฐานะศูนย์กลางทางธุรกิจ การค้า และโลจิสติกส์ระดับภูมิภาคซึ่ง พล.อ. ประยุทธ์ ในฐานะประธานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ได้เน้นย้ำถึงความสำคัญในการเดินหน้าส่งเสริมการลงทุนอย่างรอบด้าน ทั้งการพัฒนา และการเปลี่ยนแปลงให้ทันต่อกับสถานการณ์และความท้าทายที่เกิดในปัจจุบันและอนาคต เพื่อให้ดำเนินการได้ตามแผนและเป้าหมายที่กำหนดไว้

นายอนุชา กล่าวว่า ร่างยุทธศาสตร์ส่งเสริมการลงทุนฉบับใหม่นี้ มุ่งเสริมสร้างการลงทุนเพื่อปรับโครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศตามแนวคิดหลัก 3 ประการ คือ 

- Innovative เป็นเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี นวัตกรรม และความคิดสร้างสรรค์  
- Competitive เป็นเศรษฐกิจที่มีขีดความสามารถในการแข่งขัน สามารถปรับตัวเร็ว และสร้างการเติบโตสูง 
- Inclusive เป็นเศรษฐกิจที่คำนึงถึงความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมและสังคม รวมทั้งการสร้างโอกาส และลดปัญหาความเหลื่อมล้ำ

โดยมี 7 หมุดหมายสำคัญ ได้แก่ การปรับโครงสร้างอุตสาหกรรม โดยยกระดับอุตสาหกรรมเดิมที่ไทยมีความโดดเด่น ควบคู่กับการสร้างฐานอุตสาหกรรมใหม่ที่ไทยมีศักยภาพ และสร้างความเข้มแข็งของ Supply Chain เร่งเปลี่ยนผ่านอุตสาหกรรมไปสู่ Smart & Sustainability ผลักดันไทยเป็นศูนย์กลางธุรกิจระหว่างประเทศและประตูการค้าการลงทุนของภูมิภาค ส่งเสริม SMEs และ Startup ให้เข้มแข็งและเชื่อมต่อกับโลก ส่งเสริมการลงทุนตามศักยภาพพื้นที่ เพื่อสร้างการเติบโต อย่างทั่วถึง ส่งเสริมการลงทุนเพื่อพัฒนาชุมชนและสังคม และส่งเสริมผู้ประกอบการที่มีศักยภาพให้ออกไปลงทุนในต่างประเทศ เพื่อขยายโอกาสทางธุรกิจ 

ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) จะใช้เครื่องมือสำคัญ 3 ด้าน เพื่อขับเคลื่อน 7 หมุดหมายให้บรรลุผลสำเร็จ คือ สิทธิประโยชน์ทั้งภาษีและไม่ใช่ภาษี การบริการแบบครบวงจรทั้งก่อนและหลังการลงทุน การสร้างระบบนิเวศและปรับปรุงกฎระเบียบให้เอื้อต่อการลงทุน

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า นอกจากนี้ BOI จะปรับเปลี่ยนบทบาทจากเดิมเป็นผู้ส่งเสริมและให้สิทธิประโยชน์ (Promoter) มาสู่การให้น้ำหนักกับการเป็นผู้บูรณาการเครื่องมือสนับสนุนการลงทุน (Integrator) ผู้ให้บริการและอำนวยความสะดวก (Facilitator) และผู้เชื่อมโยงอุตสาหกรรมเพื่อสร้างโอกาสทางธุรกิจ (Connector) มากขึ้น ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวสอดคล้องกับในโลกยุคใหม่ที่มีความท้าทาย ความผันผวน และมีการแข่งขันสูง โดย BOI จะเป็นองค์กรที่ทันต่อการเปลี่ยนแปลง และมุ่งมั่นส่งเสริมให้เกิดการลงทุนที่จะช่วยยกระดับการพัฒนาประเทศ โดยร่วมมือกับทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาชน ในการผลักดัน 7 หมุดหมายแห่งอนาคตให้เกิดผลเป็นรูปธรรม เพื่อนำประเทศไทยไปสู่เศรษฐกิจใหม่ ที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี นวัตกรรม และความคิดสร้างสรรค์ รวมทั้งเติบโตอย่างยั่งยืน และแข่งขันได้บนเวทีโลก

“จากสถานการณ์ปัจจุบันที่โลกกำลังเผชิญทั้งความท้าทาย รัฐบาลมุ่งมั่นพัฒนายุทธศาสตร์ส่งเสริมการลงทุนอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เท่าทันต่อการเปลี่ยนแปลง เสริมความสามารถในการแข่งขันกับต่างประเทศ ช่วยนำประเทศไทยให้เข้าสู่เศรษฐกิจใหม่ โดยหากดูสถิติคำขอรับการส่งเสริมการลงทุนจะเห็นถึงสัญญาณที่ชัดเจนว่าในช่วง 1-2 ปีข้างหน้า จะมีกระแสการลงทุนเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งจะช่วยให้ประเทศไทยเดินหน้าได้ตามเป้าหมายที่วางไว้” นายอนุชา กล่าว