Friday, 4 July 2025
BOI

โอกาส ‘ไทย’ หลังขึ้นแท่น ‘คลัสเตอร์ PCB’ รายใหญ่ที่สุดในอาเซียน ภายใต้ ‘ไต้หวัน’ ผู้นำแห่งอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์โลก

เมื่อวันที่ 25 ก.ย. 66 เพจเฟซบุ๊ก ‘BOI News’ ได้โพสต์ข้อความ เกี่ยวกับ ‘อุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์’ ในไทย ที่เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว จนสามารถก้าวขึ้นมาเป็นศูนย์กลางการลงทุนตั้งฐานการผลิต ที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคอาเซียน โดยระบุว่า…

เมื่อพูดถึงผู้นำใน ‘อุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์’ ของโลก 🌏

ประเทศไต้หวัน คือคำตอบอย่างไม่ต้องสงสัย แล้วปัจจัยใดที่ผลักดันให้ไต้หวันผงาดขึ้นเป็นผู้นำในตลาดผู้ผลิตชิปของโลก?

ย้อนไปในปี 2516 รัฐบาลไต้หวันได้จัดตั้งสถาบัน ‘Industrial Technology Research Institute’ (ITRI) โดยได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตชิปขั้นสูงจากต่างประเทศ ทำให้ ITRI สามารถพัฒนากระบวนการผลิตชิปได้เป็นของตัวเอง ซึ่งกลายเป็นจุดเริ่มต้นในการสร้างอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ ให้กับไต้หวันได้อย่างมั่นคงในระยะต่อมา

🔹 โดยในปี 2530 มีการก่อตั้งบริษัทผู้ผลิตชิป ‘Taiwan Semiconductor Manufacturing Company’ หรือ ‘TSMC’ ขึ้น ซึ่งต่อมากลายมาเป็นหนึ่งในความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่ที่มีส่วนผลักดันให้เกิดการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานอย่างระบบสาธารณูปโภค การสุขาภิบาล ระบบพลังงาน และการคมนาคม ในไต้หวันขึ้นอย่างรวดเร็ว ความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐานนี้ส่งผลให้การผลิตชิปเช็ตของไต้หวันมีคุณภาพสูง จนทำให้ไต้หวันก้าวขึ้นมาเป็นหนึ่งในผู้นำระดับโลกของอุตสาหกรรมผลิตชิป

ในช่วงเวลาดังกล่าว ตั้งแต่ปี 2530-2543 ถือเป็นช่วงเวลาแห่งการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญของไต้หวัน เนื่องจากมีการพัฒนาอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ หรือการผลิตชิปซึ่งเป็นหัวใจของอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อย่างก้าวกระโดด 💻

กลยุทธ์ของผู้ผลิตชิปจากไต้หวันนั้นแตกต่างจากที่อื่น ๆ ตรงที่บริษัทของไต้หวันจะเป็นผู้รับจ้างผลิตสินค้าให้กับบริษัทที่จะไปขายในแบรนด์ของตัวเอง หรือเป็นที่รู้จักในรูปแบบที่เรียกว่า ‘OEM’ เนื่องจากการลงทุนในโรงงานผลิตชิปที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงนั้นมีค่าใช้จ่ายสูงมาก ทำให้หลาย ๆ บริษัทเลือกทำเพียงขั้นตอนการออกแบบชิปแล้วมอบหมายให้กับ TSMC หรือบริษัทอื่นในไต้หวันทำหน้าที่ผลิตแทน

🔹 ปัจจุบัน ไต้หวันเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ของโลก โดยครองส่วนแบ่งทางการตลาดกว่า 65% ของการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ ของโลก โดยมีบริษัท Taiwan Semiconductor Manufacturing Corporation (TSMC) เป็นผู้ผลิตรายใหญ่

‘เซมิคอนดักเตอร์’ เป็นส่วนสำคัญของอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และเทคโนโลยีสมัยใหม่ อีกทั้งความต้องการใช้งานชิปก็ยังเพิ่มขึ้นในอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมยานยนต์ ที่เน้นการผลิตยานพาหนะที่มีความสามารถด้านการเชื่อมต่อ (Connectivity) และความเป็นอัจฉริยะ (Intelligence) ส่งผลให้ความต้องการชิปขั้นสูงเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วอย่างไม่มีทีท่าว่าจะลดลง

ประเทศไทยขึ้นแท่น ‘คลัสเตอร์ PCB’ รายใหญ่ที่สุดในอาเซียน
ปัจจัยสนับสนุนการลงทุนในอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ ของไทยมาจากการมีโครงสร้างพื้นฐานที่ดี ทั้งระบบไฟฟ้าที่มีความเสถียร พื้นที่นิคมอุตสาหกรรมที่พร้อมรองรับการลงทุนได้อีกมาก อีกทั้งบุคลากรยังมีทักษะและความเชี่ยวชาญในด้านอิเล็กทรอนิกส์ หรือการที่ไทยมี Supply Chain ของอุตสาหกรรมนี้อย่างครบวงจร รวมไปถึงการที่ภาครัฐมีมาตรการและนโยบายสนับสนุนให้ธุรกิจสามารถแข่งขันและเติบโตได้ ปัจจัยเหล่านี้เป็นเหตุผลที่ทำให้ผู้ผลิตอิเล็กทรอนิกส์จำนวนมาก โดยเฉพาะจากไต้หวัน ตัดสินใจเลือกประเทศไทยเป็นฐานการผลิตหลักเพื่อส่งออกไปยังตลาดโลก 

🔹 สำหรับอุตสาหกรรมการผลิตแผ่นวงจรพิมพ์ (PCB) ซึ่งเป็นหัวใจของอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่าง ๆ บริษัทจากไต้หวันยังถือเป็นผู้ผลิตอันดับหนึ่งของโลกอีกด้วย โดยครองส่วนแบ่งทางการตลาดถึง 35% 

โดยปัจจุบัน ผู้ผลิต PCB ของไต้หวันรายใหญ่ 20 อันดับแรกของโลก ได้ตัดสินใจเข้ามาลงทุนในประเทศไทยแล้วจำนวน 10 ราย ไม่ว่าจะเป็น WUS PCB, APEX, Dynamic Electronics, Gold Circuit, APCB และถ้ารวมกับผู้ผลิต PCB จากประเทศอื่น ๆ อย่างจีนและญี่ปุ่นที่เข้ามาลงทุนในอุตสาหกรรมนี้เช่นกันด้วยแล้ว ก็จะทำให้ประเทศไทยกลายเป็นคลัสเตอร์ PCB ที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียน

นี่คือสัญญาณแห่งโอกาสในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ของไทย ที่ไม่เพียงแต่จะกลายเป็นฮับของอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ในภูมิภาค แต่ยังเป็นการต่อยอดสู่การพัฒนาอุตสาหกรรมต้นน้ำ ได้แก่ การผลิตเวเฟอร์ และการออกแบบชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง รวมไปถึงการพัฒนาสู่การเป็นฐานการผลิตอุตสาหกรรมอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ ยานยนต์, ดิจิทัล, อุปกรณ์การแพทย์, ระบบอัตโนมัติ และหุ่นยนต์ ซึ่งจะช่วยยกระดับ Supplier ไทยให้ได้เข้าไปอยู่ใน Supply Chain อิเล็กทรอนิกส์ของโลกด้วยเช่นกัน

🎗️ บีโอไอพร้อมสนับสนุนการลงทุนในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ต้นน้ำ หรืออุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ในประเทศ ด้วยการให้สิทธิประโยชน์พิเศษทางภาษี และสิทธิประโยชน์และบริการด้านอื่น ๆ อีกจำนวนมาก เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับผู้ประกอบการไทย ตลอดจนสร้างแรงจูงใจในการวิจัยและพัฒนาให้สามารถก้าวพร้อมไปกับการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมระดับโลกได้ต่อไป

#บีโอไอส่งเสริมการลงทุนทั้งคนไทยและต่างชาติทุกขนาดการลงทุน
📱 0-2553-8111 
📧 [email protected]
🌐 www.boi.go.th
🔰ไม่มีค่าใช้จ่ายในการติดต่อ

‘ไทย’ พลิกบทบาทฐานผลิต ‘รถยนต์สันดาป’ สู่ ‘EV’ ชั้นนำโลก เล็งดึงเม็ดเงินบริษัทต่างชาติลงทุน 1 ล้านล้านบาท ภายใน 4 ปี

เมื่อวันที่ 8 พ.ย. 66 เพจเฟซบุ๊ก ‘เดือดทะลักจุดแตก’ ได้โพสต์ข้อความถึงกรณีที่เมื่อไม่นานนี้ ทางสำนักข่าวบลูมเบิร์กเทเลวิชัน ของสหรัฐอเมริกา รายงานข่าวว่า ‘ไทยแลนด์’ ฐานผลิตรถยนต์ (น้ำมัน) แห่งเอเชีย’ พลิกเดิมพัน EV หวังดูดเงินลงทุนมหาศาล 1 ล้านล้านบาท โดยระบุว่า…

ประเทศไทยซึ่งได้รับฉายาว่าเป็น ‘ดีทรอยต์แห่งเอเชีย’ (Detroit of Asia) ในแง่ของการผลิตรถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์สันดาปภายใน ได้แสดงความมุ่งมั่นที่จะก้าวขึ้นเป็นผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ระดับแถวหน้าของโลก ด้วยการตั้งเป้าหมายที่จะดึงดูดเม็ดเงินลงทุนต่างชาติถึง 1 ล้านล้านบาท (2.8 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) ภายในระยะเวลา 4 ปี

โดยสำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่า ไทยได้จัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการพิเศษ เพื่อดึงดูดนักลงทุนรายใหญ่ให้มาลงทุนในอุตสาหกรรม EV และภาคส่วนอื่น ๆ ที่เป็นกลยุทธ์ทางเศรษฐกิจของไทย โดยนายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวว่า กลุ่มผู้ผลิต EV ของจีนถือเป็นเป้าหมายหลักของไทย

นายนฤตม์กล่าวว่า อุตสาหกรรม EV, ยานยนต์, อิเล็กทรอนิกส์, ดิจิทัล, สำนักงานใหญ่ระดับภูมิภาค และอุตสาหกรรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ถือเป็น ‘5 อุตสาหกรรมเชิงกลยุทธ์’ ที่บีโอไอให้ความสำคัญเป็นลำดับต้น ๆ

ข้อมูลจาก fDi Markets ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ติดตามการลงทุนในอุตสาหกรรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมระบุว่า ในขณะที่ไทยสามารถดึงดูดเงินลงทุนจากบริษัทจีนหลายแห่ง ซึ่งรวมถึงบีวายดี, เกรท วอลล์ มอเตอร์ และเอสเอไอซี มอเตอร์นั้น ทิศทางด้านการลงทุนในอุตสาหกรรม EV ในปี 2565 แสดงให้เห็นว่าไทยต้องเร่งดำเนินการอย่างมากเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย ขณะที่สหรัฐฯ, ฮังการี, เม็กซิโก, อินโดนีเซีย และเยอรมนี ได้รับเงินลงทุนจากมูลค่าทั้งหมดกว่า 1.06 แสนล้านดอลลาร์ที่ลงทุนในโครงการ EV ทั่วโลกเมื่อปีที่แล้ว

ศูนย์ปฏิบัติการพิเศษเพื่อการลงทุนเชิงกลยุทธ์ (Special Operation Center For Strategic Investment) ซึ่งอยู่ในกรุงเทพฯนั้น กำลังทำงานเกือบจะตลอด 24 ชั่วโมงเพื่อดึงดูดนักลงทุนที่มีศักยภาพสูง และจัดการประชุมระดับสูงให้กับรัฐบาล รวมทั้งคอยสนับสนุนนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เกี่ยวกับทริปการเดินทางไปต่างประเทศที่สำคัญ เพื่อพยายามทำข้อตกลงด้านการลงทุน

ทั้งนี้ หลังจากที่นายเศรษฐาเดินทางเยือนสหรัฐฯ เมื่อเดือนที่แล้ว บีโอไอพยายามโน้มน้าวบริษัทรายใหญ่ ซึ่งรวมถึงไมโครซอฟท์, กูเกิล และอะเมซอน เว็บ เซอร์วิส ให้เข้ามาสร้างหรือเพิ่มฐานธุรกิจในประเทศไทยผ่านทางการลงทุนใหม่ ๆ

‘นลินี’ บิน ‘ญี่ปุ่น’ ดึง ‘SHARP’ ชวนลงทุน-ขยายฐานผลิตมาไทย ย้ำ!! ภาครัฐพร้อมหนุน เสริมข้อได้เปรียบ แถมสิทธิประโยชน์อื้อ!!

(11 พ.ย. 66) นางนลินี ทวีสิน ผู้แทนการค้าไทย เปิดเผย ภายหลังเข้าร่วมพิธีเปิดงาน SHARP Tech-Day เพื่อเฉลิมฉลองครบรอบ 111 ปี ของการก่อตั้งบริษัทชาร์ป และพบหารือกับนายโรเบิร์ต วู ประธานกรรมการบริษัท ชาร์ป คอร์ปอเรชัน ณ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ว่า นายโรเบิร์ตเคยดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการของบริษัทชาร์ป ไทย เป็นเวลา 3 ปี ก่อนจะได้รับตำแหน่งประธานกรรมการบริษัทชาร์ป เคยมีผลงานสำคัญ เช่น การจัดทำวิดีโอโปรโมทการท่องเที่ยวไทยร่วมกับกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เพื่อประชาสัมพันธ์บนโทรทัศน์ Sharp Aquos 8K ในหลายประเทศทั่วเอเชีย

ชาร์ปให้ความสำคัญกับไทย เพราะเป็นตลาดที่มีศักยภาพทั้งในด้านที่ตั้ง และมีกำลังซื้อที่เติบโตต่อเนื่อง ปัจจุบันมีโรงงานตั้งอยู่ในไทย 3 แห่ง คือ โรงงานผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน โรงงานผลิตเครื่องถ่ายเอกสาร และโรงงานผลิตโทรทัศน์ และยังสนใจจะพัฒนา AI Center และ Data Center เนื่องจาก ประเทศไทยมีบุคลากรคนรุ่นใหม่ที่มีทักษะและความคิดสร้างสรรค์ ซึ่งจะช่วยส่งเสริมการพัฒนาเทคโนโลยีนวัตกรรมได้ในอนาคต โดยต้องการการสนับสนุนจากภาครัฐของไทย เพื่อให้การดำเนินธุรกิจและขยายการลงทุนเป็นไปได้ด้วยดี

นอกจากนี้ การก่อตั้งโรงงานผลิตรถยนต์ไฟฟ้าภายใต้ชื่อ HORIZON+ ของบริษัทฟ็อกซ์คอนน์ที่ร่วมลงทุนกับบริษัท ปตท. ในไทยนั้น คาดว่าจะเริ่มการผลิตได้ในปี 2567 โดยชาร์ปจะมีส่วนร่วมในการผลิตอุปกรณ์ต่าง ๆ เช่น แผงวงจร หน้าจอรถยนต์

ผู้แทนการค้าไทย กล่าวว่า ตนยังได้พบกับนายเคอิโซะ ฟูจิโมโต ผู้แทนบริษัท Kaneka Corporation ผู้ผลิตนวัตกรรมผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีและโฟมชั้นนำของญี่ปุ่น มุ่งเน้นการผลิตสินค้าที่ช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมและสร้างการพัฒนาที่ยั่งยืน เช่น โพลิเมอร์ที่ย่อยสลายได้เองตามธรรมชาติ พลังงานสะอาดจากโซลาร์เซลล์ เป็นต้น

ปัจจุบัน Kaneka มีสำนักงานตั้งอยู่ใน 3 เมืองหลักของญี่ปุ่น คือ โตเกียว โอซากา และนาโกยา และร่วมทุนกับบริษัทต่างชาติ เช่น อังกฤษ เยอรมนี จีน และสหรัฐอเมริกา รวมทั้งยังมีโรงงานผลิตอยู่ที่ จ.ระยอง ของไทยอีกด้วย โดย Kaneka เล็งเห็นถึงศักยภาพของตลาดอาเซียนที่มีการเติบโตอย่างรวดเร็ว

ที่ผ่านมามีการลงทุนในมาเลเซีย แต่พบปัญหาเรื่องความแตกต่างด้านภาษาและวัฒนธรรม จึงต้องการหันไปลงทุนในประเทศอื่น ซึ่งตนได้เชิญชวนให้เข้ามาลงทุนในประเทศไทย เนื่องจากรัฐบาลให้การสนับสนุนการลงทุนจากต่างประเทศ และไทยยังมีความพร้อมในด้านต่าง ๆ เช่น การให้สิทธิประโยชน์ด้านการลงทุนทั้งภายใต้ BOI และ EEC ความได้เปรียบทางภูมิรัฐศาสตร์ ที่สามารถพัฒนาเป็นศูนย์กระจายสินค้าไปอย่างภูมิภาคอื่นได้ และยังสามารถใช้ประโยชน์จากความตกลงการค้าเสรีที่ไทยมีกับประเทศต่าง ๆ เช่น อินเดีย เพื่อช่วยเพิ่มความได้เปรียบทางด้านการค้าการลงทุนให้กับ Kaneka ได้เป็นอย่างดี

“แนวคิดหลักของการจัดงาน SHARP Tech-Day ครั้งนี้ คือ ‘Be a Game Changer’ หรือ เทคโนโลยีที่จะเปลี่ยนแปลงอนาคต โดยนำเสนอเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่เป็นแรงผลักดัน เพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืน มีการจัดแสดงสินค้านวัตกรรมที่น่าสนใจ เช่น Super Silent Cleaner เครื่องดูดฝุ่นที่มีเสียงเบาแต่มีประสิทธิภาพสูง, High Speed Oven เครื่องอบความเร็วสูงที่สามารถอบเนื้อสัตว์ให้สุกได้ภายใน 5 นาที, Driver Monitoring Camera กล้องติดหน้ารถที่ใช้เทคโนโลยี AI ช่วยประเมินประสิทธิภาพของคนขับรถเพื่อป้องกันการหลับใน เป็นต้น ซึ่งสามารถนำแนวคิดมาต่อยอดการพัฒนาในประเทศไทยต่อไปได้” นางนลินี กล่าว

‘สุริยะ’ เยือน ‘สหรัฐฯ’ ร่วมประชุมเอเปค เตรียมโรดโชว์ ‘แลนด์บริดจ์’ ดึงต่างชาติมาร่วมลงทุน หวังดัน ‘ไทย’ เป็นประตูการค้าสู่ภูมิภาคเอเชีย

(11 พ.ย. 66) นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และตน พร้อมด้วยคณะผู้บริหารระดับสูงกระทรวงคมนาคม และสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) จะเดินทางไปจัดงาน ‘Thailand Landbridge Roadshow’ วันที่ 13 พ.ย.นี้ ที่โรงแรม Ritz Carlton เมืองซานฟรานซิสโก สหรัฐอเมริกา ในระหว่างเดินทางไปประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ครั้งที่ 30

โดยนายกฯ และตน ในฐานะเจ้าภาพจัดงานจะร่วมกันให้ข้อมูลรายละเอียดต่าง ๆ เพื่อประชาสัมพันธ์ให้นานาประเทศรู้จักโครงการเพิ่มมากขึ้น อาทิ โอกาสทางธุรกิจ รูปแบบการลงทุน ศักยภาพทำเลที่ตั้งของพื้นที่โครงการ และประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับจากโครงการ โดยมีนักลงทุนภาคธุรกิจของประเทศสหรัฐอเมริกา ทั้งสายการเดินเรือ ผู้บริหารท่าเรือ กลุ่มโลจิสติกส์ กลุ่มพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ และกลุ่มผู้ลงทุนด้านอุตสาหกรรม เป็นต้น ให้ความสนใจเข้าร่วมงาน

โดยกลุ่มนักลงทุนให้ความสนใจประเด็นโอกาสในการลงทุนของโครงการ ทั้งนี้ ในอนาคตโครงการสะพานเศรษฐกิจภาคใต้เชื่อมฝั่งทะเลอ่าวไทย - อันดามัน (ชุมพร - ระนอง) หรือ ‘แลนด์บริดจ์’ จะเป็นช่องทางการค้าแห่งใหม่ เพื่อใช้เป็นเส้นทางขนถ่ายสินค้าหลักระดับภูมิภาคและจะเป็นประตูสู่ภูมิภาคเอเชีย และช่วยลดระยะเวลาการขนส่งทางทะเล รวมถึงลดต้นทุนด้านโลจิสติกส์ในพื้นที่ห่างไกลจากตัวเมือง อีกทั้ง จะช่วยให้เกิดการพัฒนาในพื้นที่ให้เป็นศูนย์กลางการค้า ประกอบด้วย เขตการค้า เมืองท่าและเขตอุตสาหกรรม และธุรกิจอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้มีนักลงทุนจากหลายประเทศให้ความสนใจโครงการเป็นอย่างมาก อาทิ ฝรั่งเศส ประเทศฝั่งตะวันออกกลาง และสาธารณรัฐประชาชนจีน เป็นต้น

ส่อง 3 ยักษ์เทคฯ 'Google-Microsoft-Amazon' ปักหมุดไทย ความฝันสู่ศูนย์กลาง 'เทคโนโลยี-นวัตกรรม' แห่งเอเชีย ไม่ไกล!!

(29 พ.ย. 66) เพจ ‘BOI News’ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ได้เปิดเผยถึงกรณี ‘ประเทศไทยกำลังเดินหน้าสู่การเป็นศูนย์กลางของเทคโนโลยีและนวัตกรรมในภูมิภาคเอเชีย’ ระบุว่า…

ด้วยการลงทุนจากยักษ์ใหญ่ของวงการเทคโนโลยีระดับโลก เช่น #Google #Microsoft และ #Amazon Web Services หรือ #AWS ที่อาจพูดได้ว่า เป็นการพาประเทศไทยเข้าสู่ #DigitalTransformation เพื่อสร้างเศรษฐกิจไทยให้เติบโตในยุคดิจิทัลได้อย่างทันโลก 

#ไทยผนึกกำลังกับ 3 ยักษ์ใหญ่เทคโนโลยีระดับโลก 🌎
1️⃣ #Google

🔺 แผนลงทุน Data Center ในไทย: ประเทศไทยเป็นหนึ่งในทางเลือกที่ Google กำลังพิจารณาสร้าง Data Center เป็นประเทศที่ 11

🔺Google Cloud Region ในกรุงเทพฯ: แผนก่อตั้ง Cloud Region แห่งแรกในไทย ซึ่งจะมีส่วนช่วยสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับประเทศได้มากกว่า 4.1 พันล้านดอลลาร์ (หรือประมาณ 1.4 แสนล้านบาท) และสร้างงานได้อีกกว่า 50,000 ตำแหน่งในปี พ.ศ. 2573

🔺การนำเทคโนโลยี Google Cloud ที่รวดเร็วและปลอดภัยมาใช้กับองค์กรภายในประเทศ: ศึกษาถึงความเป็นไปได้ในการก่อตั้ง National CyberShield Alliance เพื่อป้องกันการโจมตีโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญของประเทศทางไซเบอร์

🔺การพัฒนาด้าน AI ร่วมกับกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม: โดยเบื้องต้นบริษัทได้เซ็น MOU เป็นที่เรียบร้อยเพื่อส่งเสริมการใช้งาน AI ในการบริการภาครัฐ ไม่ว่าจะเป็นเทคโนโลยีด้านการเงิน การพัฒนาภาคสาธารณสุข การศึกษา การขนส่งมวลชน

🔺การพัฒนาทักษะดิจิทัลในประเทศไทย: มอบทุนการศึกษา Google Career Certificate ให้กับคนไทย 

โดย Google ร่วมมือกับกระทรวงดิจิทัลฯ และบีโอไอมอบทุนการศึกษาสำหรับใบรับรองทักษะอาชีพของ Google เพิ่มเติมจำนวน 12,000 ทุน ภายใต้โครงการ Samart Skills เพื่อพัฒนาทักษะอาชีพในสาขาที่มีความต้องการสูง อาทิ การรักษาความปลอดภัยไซเบอร์ อีคอมเมิร์ซและหลักสูตร ‘Introduction to Generative AI Path’ จาก Google Cloud Skills Program ที่เปิดให้เรียนออนไลน์ฟรี

2️⃣ #Microsoft

🔹โครงการ Microsoft Data Center ไทย: ศึกษาความเป็นไปได้ของแผนการลงทุน Data Center ขนาดใหญ่ในไทยเพื่อสนับสนุนการให้บริการภาครัฐสาธารณะด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล

🔹การพัฒนาทักษะด้านเทคโนโลยีดิจิทัลและ AI ในประเทศไทย: พัฒนาทักษะทางดิจิทัลผ่านโครงการและการฝึกอบรมต่าง ๆ

🔹การสนับสนุนด้านพลังงานสะอาดและ ESG: สนับสนุนพลังงานสะอาดและนโยบาย ESG ในการดำเนินธุรกิจ และปรับปรุงการให้บริการสาธารณะด้วยเทคโนโลยีที่ยั่งยืน

3️⃣ #Amazon Web Services (#AWS)

🔸AWS Asia Pacific (Bangkok) Region: สร้างศูนย์ข้อมูล #Hyperscale ระดับโลกแห่งแรกในไทยด้วยงบประมาณกว่า 190,000 ล้านบาท ในระยะเวลา 15 ปี เพื่อให้เกิดการใช้ Cloud ให้ครบในทุกภาคส่วนของประเทศ เพื่อขับเคลื่อนและพัฒนาการบริการด้านดิจิทัลให้แก่ประชาชน

🔸 การสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านดิจิทัล: เพื่อช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศ

🔸 การพัฒนาเทคโนโลยี AI, Machine Learning, Data Analytics และ IoT: ซึ่งเป็นโครงสร้างพื้นฐานทางด้านดิจิทัลที่สำคัญที่จะสามารถเพิ่มโอกาสในการสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ ๆ และพัฒนาประเทศทางด้านเศรษฐกิจ 

#บีโอไอ ได้มีส่วนในการสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยและส่งเสริมการลงทุน รวมถึงยังสนับสนุนโครงการต่าง ๆ ที่มีผลต่อการเติบโตของเศรษฐกิจดิจิทัล พร้อมทั้งมุ่งเน้นที่จะส่งเสริมการพัฒนาทักษะดิจิทัลของคนไทยเพื่อสร้างโอกาสในการเข้าถึงงานที่อาศัยทักษะทางดิจิทัลให้กับคนไทย เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน และยกระดับนวัตกรรมและการพัฒนาเทคโนโลยีให้กลายเป็นแรงดึงดูดอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องจากทั่วโลกมาลงทุนในไทย

‘BOI’ ชี้!! ลงทุนสุขภาพ ปี 67 เติบโตก้าวกระโดด รับ ‘เทรนด์สูงวัย-โรคอุบัติใหม่-ท่องเที่ยวการแพทย์’

(21 ม.ค. 67) นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยว่า การลงทุนในอุตสาหกรรมการแพทย์และสุขภาพในปีนี้ยังมีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยมีปัจจัยสนับสนุนหลายด้าน อาทิ กระแสการดูแลสุขภาพ การเข้าสู่สังคมสูงวัย อัตราการเจ็บป่วยที่มีแนวโน้มสูงขึ้นและเป็นโรคที่ซับซ้อนมากขึ้น การเกิดโรคติดเชื้ออุบัติใหม่ รวมทั้งการขยายตัวของตลาดท่องเที่ยวเชิงสุขภาพและการแพทย์

โดยในช่วงที่ผ่านมามีกลุ่มการลงทุนจากต่างประเทศ (FDI) ส่วนใหญ่สนใจเข้ามาในกิจการผลิตเครื่องมือแพทย์และอาหารทางการแพทย์ ซึ่งเป็นผู้ผลิตรายใหญ่จากประเทศต่างๆ เช่น ญี่ปุ่น จีน สหรัฐและยุโรป

ทั้งนี้ อุตสาหกรรมการแพทย์และสุขภาพ เป็นสาขาที่ประเทศไทยมีศักยภาพสูงในการเป็นผู้นำของภูมิภาค ด้วยจุดแข็งในด้านคุณภาพการรักษาพยาบาลเป็นที่ยอมรับในระดับโลก ความพร้อมของโรงพยาบาลที่ผ่านการรับรองมาตรฐาน JCI กว่า 60 แห่ง มากเป็นอันดับ 4 ของโลก อันดับ 1 ของอาเซียน รวมทั้งมีค่ารักษาพยาบาลที่แข่งขันได้

ดังนั้น อุตสาหกรรมการแพทย์และสุขภาพจึงเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมเป้าหมายที่บีโอไอให้ความสำคัญ โดยมีแพ็กเกจให้สิทธิประโยชน์เพื่อส่งเสริมการลงทุนแบบครบวงจร ทั้งด้านการผลิตและการให้บริการ ทั้งในรูปแบบสิทธิประโยชน์ทางภาษี เช่น ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 3-8 ปี ยกเว้นอากรขาเข้าเครื่องจักร ยกเว้นอากรขาเข้าวัตถุดิบสำหรับการผลิตเพื่อส่งออก ยกเว้นอากรขาเข้าสำหรับของที่นำมาใช้ในการวิจัยและพัฒนา

รวมทั้งสิทธิประโยชน์ที่ไม่ใช่ภาษี ซึ่งจะใช้อำนวยความสะดวกแก่ผู้ลงทุน เช่น สิทธิในการถือครองที่ดินเพื่อประกอบกิจการ การอำนวยความสะดวกด้านวีซ่าและใบอนุญาตทำงาน เป็นต้น

โดยสิทธิประโยชน์จะครอบคลุมกิจการ ตั้งแต่การผลิตเครื่องมือแพทย์ เวชภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์ยา อาหารทางการแพทย์ และผลิตภัณฑ์สมุนไพร รวมถึงการให้บริการทางการแพทย์ เช่น โรงพยาบาล ศูนย์การแพทย์เฉพาะทาง ศูนย์การแพทย์แผนไทยหรือแผนไทยประยุกต์ ศูนย์ดูแลผู้สูงอายุหรือผู้มีภาวะพึ่งพิง ศูนย์ฟื้นฟูสุขภาพ ตลอดจนการวิจัยทางคลินิก (Clinical Research) และการพัฒนาซอฟต์แวร์หรือแอปพลิเคชันทางการแพทย์

โดยในปี 2566 มีโครงการที่ยื่นขอรับการส่งเสริมในอุตสาหกรรมการแพทย์และสุขภาพ จำนวน 65 โครงการ มูลค่าเงินลงทุนกว่า 16,000 ล้านบาท ในแง่เงินลงทุน ส่วนใหญ่อยู่ในกิจการโรงพยาบาล 10 โครงการ เงินลงทุน 9,000 ล้านบาท รองลงมาเป็นกิจการผลิตเครื่องมือแพทย์และชิ้นส่วน 24 โครงการ 2,700 ล้านบาท กิจการศูนย์การแพทย์เฉพาะทางต่างๆ เช่น โรคไต โรคมะเร็ง และจิตเวช 9 โครงการ 1,600 ล้านบาท และกิจการผลิตยา 12 โครงการ 1,000 ล้านบาท

ขณะเดียวกัน บีโอไอได้มีการประชุมหารือกับบุคลากรในวิชาชีพอย่างสม่ำเสมอ ให้มีการปรับปรุงนโยบายและมาตรการส่งเสริมการลงทุนให้สอดรับกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งในอนาคตอาจมีการพิจารณาเพิ่มประเภทกิจการใหม่ที่เกี่ยวข้องเพื่อพัฒนาให้เกิดการต่อยอดในอุตสาหกรรมการแพทย์ และหากเป็นกิจการเฉพาะ (นิช มาร์เก็ต) ที่ประเทศไทยมีศักยภาพ จะช่วยสนับสนุนการสร้าง Ecosystem ที่จำเป็นต่อการเป็น Medical Hub ของประเทศไทย เช่น กิจการบริการเดลิเวอรี่ทางการแพทย์ การผลิตไบโอพอลิเมอร์สำหรับการแพทย์ เป็นต้น

‘บีโอไอ’ เผย!! ‘จีน’ สนใจลงทุนผลิตเซลล์แบตฯ อีวีในไทย คาด!! ปลายปี 67 ตอบรับ 2 ราย เงินลงทุนกว่า 3 หมื่น ลบ.

เมื่อไม่นานมานี้ นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยว่า จากการนำคณะเดินทางไปพบกับผู้บริหารของบริษัทผลิตแบตเตอรี่ชั้นนำระดับโลกจากจีน 7 ราย ได้แก่ CATL, CALB, IBT, Eve Energy, Gotion High-tech, Sunwoda และ SVOLT Energy Technology ระหว่างวันที่ 7-10 เมษายน 2567 ณ มณฑลฝูเจี้ยน และมณฑลกวางตุ้ง สาธารณรัฐประชาชนจีน พบว่า ทุกบริษัทมองเห็นโอกาสทางธุรกิจในไทย และให้ความสนใจอย่างมากต่อ ‘มาตรการส่งเสริมการลงทุนเพื่อผลิตแบตเตอรี่ระดับเซลล์สำหรับยานยนต์ไฟฟ้าและระบบกักเก็บพลังงาน’ ที่บีโอไอเพิ่งออกมาเมื่อเร็ว ๆ นี้ เพื่อดึงให้ผู้ผลิตระดับโลกเข้ามาตั้งฐานผลิตเซลล์แบตเตอรี่ ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมต้นน้ำที่ใช้เทคโนโลยีและองค์ความรู้ ด้านเคมีและวัสดุศาสตร์ขั้นสูง ใช้เงินลงทุนสูง และเป็นหัวใจสำคัญของอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า

โดยมาตรการนี้จะให้สิทธิประโยชน์แก่ผู้ลงทุนหลายด้านที่สำคัญต่อการตัดสินใจลงทุน ทั้งการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล การยกเว้นอากรขาเข้าเครื่องจักรและวัตถุดิบ และเงินสนับสนุนจากกองทุนเพิ่มขีดความสามารถ ในการแข่งขันฯ เพื่อสนับสนุนค่าใช้จ่ายบางส่วนในการลงทุน การวิจัยและพัฒนา และการพัฒนาบุคลากร  

ผู้ผลิตแบตเตอรี่ทั้ง 7 ราย มองว่าประเทศไทยมีจุดแข็งหลายด้าน โดยเฉพาะการที่รัฐบาล
มีนโยบายส่งเสริมอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าที่ชัดเจนและต่อเนื่อง จะทำให้มีความต้องการใช้เซลล์แบตเตอรี่จำนวนมากในอนาคต จะเห็นได้จากตลาดยานยนต์ไฟฟ้าที่เติบโตอย่างก้าวกระโดด ทั้งรถยนต์ BEV, PHEV และ HEV อีกทั้งภาครัฐมีมาตรการสนับสนุนครอบคลุมยานยนต์ไฟฟ้าทุกประเภท ไม่ว่าจะเป็นรถยนต์นั่งรถกระบะ ไปจนถึงรถบัส รถบรรทุก และเรือไฟฟ้า ซึ่งจำเป็นต้องใช้แบตเตอรี่ขนาดใหญ่เป็นส่วนประกอบ 

นอกจากนี้ อุตสาหกรรมพลังงานหมุนเวียนที่ขยายตัวอย่างรวดเร็ว ทำให้ความต้องการใช้แบตเตอรี่สำหรับระบบกักเก็บพลังงาน (Energy Storage System: ESS) เพิ่มสูงขึ้นมากในอนาคต ประกอบกับประเทศไทยมีความพร้อมทั้งด้านโครงสร้างพื้นฐาน พื้นที่รองรับการลงทุน บุคลากร และมาตรการสนับสนุนจากภาครัฐ ผู้ผลิตแบตเตอรี่จึงมองเห็นโอกาสที่จะเข้ามาผลิตเซลล์แบตเตอรี่ในประเทศไทย และบางรายจะผลิตต่อเนื่องไปถึงขั้นปลายคือ โมดูลและแพ็ค 

ภายในปีนี้ คาดว่าผู้ผลิตรายใหญ่อย่างน้อย 2 ราย จะมีความชัดเจนในการเข้ามาลงทุนผลิตแบตเตอรี่ระดับเซลล์ในไทย โดยแต่ละรายจะมีขนาดกำลังการผลิตในเฟสแรกประมาณ 6-10 GWh มูลค่าเงินลงทุนเฟสแรกรวมกันกว่า 30,000 ล้านบาท 

สำหรับรายอื่น ๆ บางส่วนกำลังเจรจาธุรกิจกับผู้ร่วมทุนฝั่งไทย และบางรายอยู่ระหว่างการศึกษาข้อมูลเพิ่มเติม เนื่องจากเดิมวางแผนลงทุนผลิตเฉพาะโมดูลและแพ็ค แต่เมื่อทราบว่าประเทศไทยออกมาตรการพิเศษเพื่อส่งเสริมการผลิตเซลล์ จึงให้ความสนใจและจะพิจารณาแผนการลงทุนใหม่ ซึ่งบีโอไอจะติดตามอย่างใกล้ชิด

“ที่ผ่านมาประเทศไทยประสบความสำเร็จในการดึงการลงทุนจากบริษัทผู้นำด้านรถยนต์ไฟฟ้าให้เข้ามาสร้างฐานการผลิตในประเทศ แต่การผลักดันให้ไทยเป็นฐานยานยนต์ไฟฟ้าแบบครบวงจร แบตเตอรี่ถือเป็นหัวใจสำคัญ โดยเฉพาะเซลล์ซึ่งเป็นวัตถุดิบต้นน้ำของแบตเตอรี่ และเป็นตัวกำหนดประสิทธิภาพและระยะทางวิ่งของรถยนต์ไฟฟ้า จากการตอบรับอย่างดีของผู้ผลิตเซลล์แบตเตอรี่ครั้งนี้ เชื่อว่าภายใน 2 ปีข้างหน้า ประเทศไทยจะมีโรงงานผลิตเซลล์แบตเตอรี่ขนาดใหญ่เกิดขึ้น ซึ่งจะเป็นอีกก้าวสำคัญที่จะช่วยเติมเต็มซัพพลายเชนและทำให้อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าในไทยมีฐานที่มั่นคงในระยะยาว” นายนฤตม์กล่าว 

ปัจจุบันประเทศจีนเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมแบตเตอรี่ของโลก ผู้ผลิตแบตเตอรี่ระดับเซลล์จากจีนมีส่วนแบ่งตลาดรวมกันกว่าร้อยละ 60 โดย CATL มีส่วนแบ่งตลาดอันดับหนึ่ง ด้วยสัดส่วนถึงร้อยละ 37 บริษัทเหล่านี้มิได้ผลิตแบตเตอรี่ป้อนให้กับค่ายรถยนต์ไฟฟ้าจีนเท่านั้น แต่ล้วนมีเครือข่ายระดับโลก และผลิตป้อนให้กับค่ายรถยนต์ชั้นนำทั่วโลกด้วย เช่น CATL ผลิตแบตเตอรี่ให้กับ Tesla, Ford, BMW, Mercedes-Benz, Volkswagen, Kia และเป็นพันธมิตรกับ Toyota 

ขณะที่ Gotion มี Volkswagen เข้าไปถือหุ้นใหญ่ เพื่อร่วมกันวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีแบตเตอรี่ในอนาคต ส่วน EVE Energy ผลิตป้อนให้กับ BMW และ SVOLT มีลูกค้าเป็นแบรนด์รถยนต์ชั้นนำ เช่น BMW และ Stellantis สำหรับ Sunwoda ก็ผลิตแบตเตอรี่ให้กับแบรนด์ชั้นนำจากหลายประเทศ ไม่ว่าจะเป็น Renault, Nissan, Volkswagen, Volvo

บริษัทเหล่านี้อยู่ในห้วงเวลาที่กำลังพิจารณาขยายฐานการผลิตออกนอกประเทศจีน เพื่อรองรับความต้องการที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากทั่วโลก รวมทั้งลดความเสี่ยงจากปัญหาความขัดแย้งระหว่างขั้วมหาอำนาจที่มีแนวโน้มรุนแรงขึ้น ซึ่งผู้ผลิตบางส่วนได้เริ่มลงทุนสร้างโรงงานแบตเตอรี่ในโซนยุโรป และสหรัฐอเมริกาแล้ว เป้าหมายต่อไปคือ ภูมิภาคอาเซียน ประเทศไทยจึงจำเป็นต้องเร่งดึงการลงทุนและสร้างความร่วมมือกับบริษัทกลุ่มนี้โดยเร็วที่สุด 

‘BOI’ เผย ยอดขอรับส่งเสริมการลงทุน 6 เดือนแรก แตะ 4.5 แสนล้าน เติบโตกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน 35% ในแง่เงินลงทุน

(1 ส.ค. 67) Business Tomorrow รายงานว่า BOI เผยยอดขอรับการส่งเสริมการลงทุน 6 เดือนแรก ปี 2567 ยังเติบโตต่อเนื่อง ทั้งจำนวนโครงการและเงินลงทุน โดยมีคำขอรับการส่งเสริม 1,412 โครงการ เงินลงทุน 458,359 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 35 นำโดย 3 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย อิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า ยานยนต์และชิ้นส่วน เกษตรและแปรรูปอาหาร

ขณะที่การลงทุนจากต่างประเทศ (FDI) สิงคโปร์อันดับหนึ่ง ตามด้วยจีน และฮ่องกง ครึ่งปีหลังเร่งแผนโรดโชว์ชิงลงทุนฮับภูมิภาค ควบคู่กับการปรับโครงสร้างการผลิต เพื่อเพิ่มศักยภาพการแข่งขัน

ตามรายงานจากนายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) การลงทุนในประเทศไทยแสดงแนวโน้มการเติบโตที่น่าประทับใจในช่วงครึ่งปีแรกของ 2567 สะท้อนให้เห็นถึงความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจและความน่าดึงดูดของประเทศในฐานะจุดหมายปลายทางการลงทุน

ในช่วงเดือนมกราคมถึงมิถุนายน 2567 การขอรับการส่งเสริมการลงทุนเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ โดยมีโครงการทั้งสิ้น 1,412 โครงการ เพิ่มขึ้นร้อยละ 64 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน มูลค่าการลงทุนรวมสูงถึง 458,359 ล้านบาท ซึ่งเพิ่มขึ้นร้อยละ 35

>> กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายที่มีมูลค่าเงินลงทุนสูงสุด 5 อันดับแรก

1. อิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า : 139,725 ล้านบาท
2. ยานยนต์และชิ้นส่วน : 39,883 ล้านบาท
3. เกษตรและแปรรูปอาหาร : 33,121 ล้านบาท
4. ปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ : 25,344 ล้านบาท
5. ดิจิทัล : 25,112 ล้านบาท

>> โดยมีการลงทุนในอุตสาหกรรมแห่งอนาคตที่มีความสำคัญต่อการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ ดังนี้

- กิจการผลิตอิเล็กทรอนิกส์ขั้นสูง ได้แก่ การผลิต Wafer, การออกแบบทางอิเล็กทรอนิกส์, การประกอบ และทดสอบเซมิคอนดักเตอร์ และวงจรรวม 10 โครงการ เงินลงทุนรวม 19,543 ล้านบาท
- กิจการผลิตแผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ (Printed Circuit Board: PCB) 31 โครงการ เงินลงทุนรวม 39,732 ล้านบาท
- กิจการผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ และเครื่องใช้ไฟฟ้าอัจฉริยะ 8 โครงการ เงินลงทุนรวม 38,182 ล้านบาท
- กิจการ Data Center 3 โครงการ เงินลงทุนรวม 24,289 ล้านบาท
- กิจการผลิตเครื่องจักร อุปกรณ์ หรือระบบ Automation 69 โครงการ เงินลงทุนรวม 10,271 ล้านบาท
- กิจการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนหรือขยะ 255 โครงการ เงินลงทุนรวม 72,475 ล้านบาท

หากยังมีโจทย์ท้าทายสำหรับประเทศไทยที่จะต้องเอาชนะปัญหาใหญ่ 5 ประการ ดังกล่าวได้ โดยคุณสุวัฒน์ สินสาฎก CFA, FRM, ERP รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายงานธุรกิจหลักทรัพย์ลูกค้าสถาบัน บริษัทหลักทรัพย์ บียอนด์ จำกัด (มหาชน) BYD ได้มีความเห็นไว้ว่า ยังมีปัญหาเชิงโครงสร้างที่ถูกละเลยมากว่า 3 ทศวรรษ ตั้งแต่ทศวรรษ 1990s ที่ไทยริเริ่มก่อเกิดโครงการมาบตาพุดที่ได้กลายเป็นกระดูกสันหลังของอุตสาหกรรมส่งออกไทยมากว่า 3 ทศวรรษที่ผ่านมา

>> โดยปัญหาเชิงโครงสร้างมีดังนี้

1. ไทยเป็นประเทศสังคมสูงวัย โดยมีอายุเฉลี่ยของประชากรถึง 40.5 ปี เทียบกับเวียดนาม 32.8 ปี และอินโดนีเซีย 29.9 ปี หรือยังมากกว่าจีนที่ 39 ปี จากผลของนโยบายลูกคนเดียว (one child policy)

2. ไทยมีปัญหาขาดแคลนแรงงานอย่างมาก แม้ตัวเลขอัตราการว่างงานต่ำมากเพียง 1.06% ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยปกติที่ 2.0% แต่เป็นการทำงานแบบแฝง ดังนั้นไทยจำเป็นต้องพึ่งพาแรงงานต่างด้าว 2.3 ล้านคนที่ลงทะเบียนถูกต้องตามกฎหมาย (8.5% ของแรงงานนอกภาคเกษตรของไทย) แต่คาดว่าตัวเลขแรงงานต่างด้าวจริงในประเทศไทยน่าจะสูงกว่า 5 ล้านคน

3. ไทยเป็นประเทศที่มีค่าแรงค่อนข้างสูง แม้รายได้ต่อหัวจะสูงราว $7,298 สำหรับไทย เทียบกับ $5,109 ของอินโดนีเซีย และ $4,316 ของเวียดนาม

แต่แม้ไทยจะมีรายได้ต่อหัวต่ำกว่ามาเลเซียที่ $13,034 แต่มาเลเซียสามารถดึง FDI ได้มากกว่าไทยมาก เพราะนโยบายภาครัฐที่เน้นการสร้างบุคลากร การสร้างโครงสร้างพื้นฐานอื่นๆ ที่สำคัญเพื่อการลงทุนในอุตสาหกรรม Semiconductor และ AI ต่างกับไทยที่ไม่มีการเตรียมพร้อมใด ๆ ในช่วงที่ผ่านมาเลย

4. ไทยมีค่าไฟฟ้าที่สูงกว่าเพื่อนบ้านอย่างมาเลเซีย อินโดนีเซีย เวียดนาม และสูงกว่าแม้แต่ค่าไฟฟ้าในอเมริกา ทำให้ไทยเสียเปรียบในการลงทุนอุตสาหกรรมใหม่ ๆ เช่น AI data center semiconductor EV ที่ต้องใช้พลังงานไฟฟ้ามหาศาล

ค่าไฟฟ้าไทยปัจจุบันที่ 4.18 บาทต่อ kWh แพงกว่าอเมริกา 11%, แพงกว่ามาเลเซีย 20%, แพงกว่าเกาหลีใต้ 33%, แพงกว่าอินเดีย 35%, แพงกว่าไต้หวัน 39%, แพงกว่าแคนาดา 52%, แพงกว่าจีน 79%, และแพงกว่าเวียดนามและอินโดนีเซียกว่าเท่าตัว

5. ไทยไม่มีความพร้อมแรงงานที่มีคุณภาพสำหรับอุตสาหกรรมยุค 4.0 แตกต่างกับสิงคโปร์ มาเลเซีย เวียดนาม และอินโดนีเซีย ที่ภาครัฐมีความชัดเจนในนโยบายการส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมใหม่ ๆ และมีความพร้อมของบุคลากรมากกว่าไทย

โดยคุณสุวัฒน์ สินสาฎก มองว่ามีทางแก้ปัญหาเพื่อเพิ่ม FDI มีสองทางหลัก ได้แก่

ทางแก้แรก: ‘ลดค่าเงินบาท’ ทางแรกคือการลดค่าเงินบาท เช่นที่เคยทำหลังวิกฤติต้มยำกุ้งปี 1997 เพราะหลังจากเศรษฐกิจฟื้นตัว ด้วยค่าเงินบาทต่อดอลลาร์ที่ 42-45 บาท FDI เติบโตมากถึง 3 เท่าตัว และการเติบโตของการลงทุนมากถึง 12.6% ในปี 2004 และ 15% ในปี 2005 หากทางนี้เป็นการทำลายประเทศ ซึ่งเป็นไปไม่ได้

ทางแก้ที่สอง: เพิ่มสภาพคล่องในระบบเศรษฐกิจและเร่งสร้างและเพิ่มประสิทธิภาพ ความสามารถในการแข่งขันอุตสาหกรรมไทยให้รวดเร็วขึ้น ดังเช่นที่ทำได้เป็นรูปธรรมสำหรับอุตสาหกรรมรถ EV

นอกจากนี้ นายนฤตม์ กล่าวเพิ่มเติมว่า “ในช่วงครึ่งปีหลัง ทิศทางการลงทุนโลกยังคงมีแนวโน้มเคลื่อนย้ายการลงทุนและการปรับซัพพลายเชนทั่วโลก จึงเป็นช่วงเวลาสำคัญของประเทศไทยที่ต้องช่วงชิงการลงทุนมาให้ได้ โดย BOI จะให้ความสำคัญกับการบุกเจาะกลุ่มเป้าหมายเชิงรุก และส่งเสริมให้เกิดการลงทุนปรับโครงสร้างการผลิต เพื่อให้ประเทศไทยมีขีดความสามารถในการแข่งขันเพิ่มสูงขึ้น

โดยในช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้ มีจำนวน 1,451 โครงการ เพิ่มขึ้นร้อยละ 37 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เงินลงทุนรวม 476,276 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 27 ประโยชน์ของโครงการที่ได้รับอนุมัติส่งเสริมการลงทุนเหล่านี้

คาดว่าจะเพิ่มมูลค่าการส่งออกของประเทศอีกกว่า 1.3 ล้านล้านบาท/ปี โดยส่วนใหญ่อยู่ในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า นอกจากนี้ ยังเพิ่มการใช้วัตถุดิบในประเทศกว่า 4.9 แสนล้านบาท/ปี และเกิดการจ้างงานคนไทยกว่า 1 แสนตำแหน่งด้วยกัน

'BOI' ส่งเสริม หม้อแปลง Low Carbon ลดสัดส่วนการลงทุน 50% ตอบโจทย์อุตสาหกรรมและผู้ประกอบการ ด้านการประหยัดพลังงาน ลดค่าไฟฟ้า ผลิตภัณฑ์รางวัลนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA)

(17 ก.ย. 67) นายประจักษ์ กิตติรัตนวิวัฒน์ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท เจริญชัยหม้อแปลงไฟฟ้า จำกัด กล่าว โครงการปรับปรุงประสิทธิภาพด้านการประหยัดพลังงาน (BOI) ส่งเสริมหม้อแปลงไฟฟ้า Low Carbon ทดแทนระบบเดิมเพื่อการประหยัดพลังงาน ลดค่าพลังงานไฟฟ้า ลดคาร์บอนเครดิต ยืดอายุการใช้งานของอุปกรณ์ไฟฟ้าและเครื่องจักรทำให้ใช้งานได้นานขึ้น

นวัตกรรมหม้อแปลง Low Carbon และระบบบริหารจัดการพลังงาน ด้วยโปรแกรม Energy Management System ของคนไทยได้รับการสนับสนุนจาก สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ NIA ภายใต้โครงการ 'Low Carbon Transformer ระบบจัดการ หม้อแปลงไฟฟ้าเพื่อรองรับการใช้พลังงานสะอาด อย่างมั่นคง' (Net Zero, Near Zero, Peak Demand และ Demand Response) และการประหยัดพลังงาน โดยสามารถประหยัดพลังงาน ประหยัดค่าไฟฟ้า ลดต้นทุนค่าไฟฟ้าได้ และอนุรักษ์พลังงาน ได้สูงสุดถึง 22.16% มีระยะเวลาคืนทุนภายในเวลา 2-5 ปี

ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลในการแก้ปัญหาด้านการประหยัดพลังงานเพื่อเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติ สังคม ประชาชนและ ผู้ประกอบการ ด้านความมั่นคงระบบไฟฟ้า ขอขอบพระคุณในความร่วมมือของทุกฝ่ายที่ทำนวัตกรรมพลังงานสะอาดของหม้อแปลง Low Carbon จะช่วยประหยัดพลังงาน อนุรักษ์พลังงาน ลดค่าไฟ ลดคาร์บอน ลดก๊าซเรือนกระจก สร้างระบบไฟฟ้ามั่นคงปลอดภัย Low Carbon

BOI เผยยอดรวมแผนการลงทุน Data Center-Cloud Service ในไทยทะลุ 1.6 แสนล้านบาท รวมกว่า 46 โครงการ เสริมแกร่งโครงสร้างพื้นฐานทางดิจิทัล

(2 ต.ค. 67) บีโอไอ ย้ำศักยภาพและความพร้อมของประเทศไทยในด้านอุตสาหกรรมดิจิทัล หลังจากที่ Google และบริษัทยักษ์ใหญ่ด้านเทคโนโลยี ทยอยประกาศแผนการลงทุนในไทย โดยเฉพาะในธุรกิจ Data Center และ Cloud Service ยอดส่งเสริมลงทุนล่าสุด รวม 46 โครงการ มูลค่าลงทุนกว่า 1.6 แสนล้านบาท เสริมแกร่งโครงสร้างพื้นฐานทางดิจิทัล ช่วยพัฒนาบุคลากรและผู้ประกอบการ ยกระดับประเทศไทยสู่ศูนย์กลางเศรษฐกิจดิจิทัลในอาเซียน 

นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยว่า ตามที่ Google ได้ประกาศแผนลงทุนสร้าง Data Center และ Cloud Region ในประเทศไทย มูลค่าเงินลงทุนเฟสแรก 1,000 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 36,000 ล้านบาท สะท้อนถึงศักยภาพและความพร้อมของประเทศไทยในการเป็นศูนย์กลางธุรกิจดิจิทัลของภูมิภาค จากข้อได้เปรียบในหลาย ๆ ด้าน ได้แก่ 

1) โครงสร้างพื้นฐานมีคุณภาพสูง ทั้งโครงข่ายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง เครือข่าย 5G ระบบไฟฟ้าที่มีความเสถียร มีศักยภาพด้านพลังงานสะอาด และกฎระเบียบด้านดิจิทัลที่มีมาตรฐานสากล 

2) มีความมั่นคงปลอดภัยและเป็นกลางในเวทีระหว่างประเทศ อีกทั้งทำเลที่ตั้งอยู่ในจุดศูนย์กลางที่สามารถเชื่อมต่อกับประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคอาเซียน โดยเฉพาะศักยภาพในการเป็น Connecting Hub สำหรับกลุ่มประเทศ CLMVT ที่มีประชากรรวมกันกว่า 250 ล้านคน 

3) บุคลากรที่มีคุณภาพและมีทักษะด้านดิจิทัล 

4) ตลาดในประเทศขยายตัวสูง ทั้งดีมานด์จากการยกระดับองค์กรไปสู่ยุคดิจิทัล (Digital Transformation) การกำหนดนโยบาย Cloud First Policy ของรัฐบาล สัดส่วนการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตอยู่ในระดับสูง และประชาชนมีทักษะในการทำธุรกรรมการเงินผ่านระบบดิจิทัล 

5) สิทธิประโยชน์ที่จูงใจ และกระตุ้นให้เกิดการลงทุนด้านเทคโนโลยีเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพให้กับภาคธุรกิจ รวมถึงการอำนวยความสะดวกด้านวีซ่าและใบอนุญาตทำงาน เพื่อดึงดูดบุคลากรทักษะสูงเข้าสู่ประเทศ ทั้งหมดนี้เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ไทยเป็นหนึ่งในประเทศเป้าหมายที่เป็นจุดยุทธศาสตร์ในการลงทุน Data Center และ Cloud Service ของบริษัทระดับโลก เพื่อรองรับการขยายตัวของ AI และบริการด้านดิจิทัลต่าง ๆ ที่กำลังเติบโตสูงในภูมิภาค

ปัจจุบันมีโครงการ Data Center และ Cloud Service ขอรับการส่งเสริมการลงทุนจากบีโอไอ รวม 46 โครงการ มูลค่าเงินลงทุน 167,989 ล้านบาท ส่วนใหญ่ตั้งอยู่ที่กรุงเทพมหานคร สมุทรปราการ ชลบุรี และระยอง ซึ่งนอกจาก Google ที่ได้ประกาศแผนลงทุนและยื่นคำขอกับบีโอไอแล้ว ยังมีบริษัทชั้นนำระดับโลกได้เข้ามาลงทุนจัดตั้ง Data Center ในประเทศไทยแล้วหลายราย อาทิ 

Amazon Web Service (AWS) ที่ประกาศลงทุนในไทยกว่า 2 แสนล้านบาท ภายในปี 2580 โดยในเฟสแรก ได้ลงทุนสร้าง Data Center แล้ว 3 แห่ง เงินลงทุนกว่า 25,000 ล้านบาท 

โครงการ NextDC จากออสเตรเลีย ลงทุน 13,700 ล้านบาท CtrlS จากอินเดีย ลงทุน 5,000 ล้านบาท STT GDC จากสิงคโปร์ ลงทุน 4,500 ล้านบาท Evolution Data Center จากสิงคโปร์ ลงทุน 4,000 ล้านบาท Supernap (Switch) จากสหรัฐอเมริกา ลงทุน 3,000 ล้านบาท Telehouse จากญี่ปุ่น ลงทุน 2,700 ล้านบาท และ One Asia จากฮ่องกง ลงทุน 2,000 ล้านบาท   

สำหรับธุรกิจการให้บริการคลาวด์ (Cloud Service) มีบริษัทชั้นนำที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนจาก บีโอไอ เช่น Alibaba Cloud ลงทุนกว่า 4,000 ล้านบาท และ Huawei Technologies ลงทุนกว่า 3,000 ล้านบาท นอกจากบริษัทชั้นนำจากต่างประเทศแล้ว ยังมีผู้ประกอบการไทยที่มีศักยภาพสูงอีกหลายรายที่ลงทุนในธุรกิจ Data Center และ Cloud Service ด้วย เช่น บริษัท ทรู อินเทอร์เน็ต ดาต้า เซ็นเตอร์, บริษัท อินเทอร์เน็ตประเทศไทย และบริษัท GSA ซึ่งเป็นการร่วมทุนระหว่าง Gulf, Singtel และ AIS   

นอกจากธุรกิจ Data Center และ Cloud Service แล้ว บีโอไอยังส่งเสริมการลงทุนอุตสาหกรรมดิจิทัลอย่างครบวงจร ทั้งการพัฒนาซอฟต์แวร์ แพลตฟอร์มเพื่อให้บริการดิจิทัล ดิจิทัลคอนเทนต์ และกิจการสนับสนุนระบบนิเวศด้านดิจิทัล เช่น กิจการ Innovation Park, Maker Space หรือ Fabrication Lab และกิจการพัฒนาพื้นที่และระบบ Smart City เป็นต้น 

“Data Center และ Cloud Service ถือเป็นหัวใจสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศ และจะทำให้เกิดการทำงานประสานกันระหว่างคนและเทคโนโลยี เพื่อสร้างสรรค์สินค้าและบริการที่มีมูลค่าเพิ่มสูง ประโยชน์ที่คนไทยจะได้รับมีมากมาย โดยเฉพาะการสร้างงานทักษะสูงทั้งทางตรงและทางอ้อม อีกทั้งช่วยส่งเสริมการเติบโตของอุตสาหกรรมอื่น ๆ เช่น การผลิต การเงิน เทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ ๆ ธุรกิจด้านสุขภาพ การท่องเที่ยว อีคอมเมิร์ซ และธุรกิจบริการต่าง ๆ ทำให้ผู้ประกอบการไทยมีโอกาสเข้าถึงบริการ Cloud ที่มีคุณภาพสูง และเทคโนโลยีดิจิทัลอื่น ๆ ได้ง่ายขึ้น ช่วยเร่งกระบวนการ Digital Transformation และสนับสนุนการพัฒนาธุรกิจในโลกยุคใหม่ที่จำเป็นต้องมีทั้งความเร็วและความมั่นคงปลอดภัยของข้อมูล รวมทั้งยกระดับไทยให้ก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจดิจิทัลของภูมิภาค” นายนฤตม์ กล่าว


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top