Friday, 3 May 2024
นักลงทุน

‘นักลงทุน’ แห่ช้อปทองคำ เหตุเป็น ‘สินทรัพย์ปลอดภัย’ ลุ้นนิวไฮใหม่ทองคำ ปี 65 อาจทะลุบาทละ 32,100 บาท

พิษแบงก์มะกันล้ม นักลงทุนแห่ช้อปทองคำ ลุ้นทะลุนิวไฮบาทละ 32,100 บ. ขณะที่หุ้นหายตื่นดีดแรงบวก 41 จุด

(15 มี.ค.66) นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยถึงกรณีการปิดตัวลงของธนาคารซิลิคอน วัลเลย์ แบงก์ (Silicon Valley Bank : SVB) และซิกเนเจอร์แบงก์ (Signature Bank) ในสหรัฐ ว่า คงไม่มีผลกระทบกับแผนเงินกู้ในตลาดตราสารหนี้ ที่จับตาดูอยู่ยังไม่มีอะไร และธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ยังดูแลอยู่ เชื่อว่าจะมีการจำกัดผลกระทบส่วนนี้ให้น้อยลง หากเกิดความผันผวนขึ้นมาในช่วงรัฐบาลยุบสภา สามารถใช้มาตรการเข้าไปดูแลในช่วงรักษาการได้หรือไม่นั้น ก็ต้องเป็นหน้าที่ของรัฐบาล ไม่ว่าจะเป็นปัญหาใด ๆ ที่ได้รับผลกระทบเป็นวงกว้าง จำเป็นต้องเข้าไปดำเนินมาตรการเพื่อดูแลประชาชน คาดหวังว่าเหตุที่เกิดขึ้นในสหรัฐจะไม่ได้รับผลกระทบในวงกว้าง หากไม่ได้เป็นประเทศที่ไปลงทุน และฝากเงินใน 2 แบงก์นั้นจำนวนมาก

“ส่วนถามว่าจำเป็นต้องออกมาตรการมาดูแลเช่นใดนั้น ก็ยังตอบไม่ได้ เพราะยังไม่ทราบว่าปัญหาจะเป็นเรื่องอะไร วิกฤตที่เกิดขึ้นในสหรัฐ แบงก์ที่ปิดตัวเป็นธนาคารในภูมิภาค แม้จะอยู่ที่อันดับ 16 ก็ตาม แต่หากขยายไปสู่แบงก์ยักษ์ใหญ่ระดับประเทศ ก็อาจจะมีผลกระทบ” นายอาคมกล่าว

นายพิบูลย์ฤทธิ์ วิริยะผล ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยทองคำ เปิดเผยว่า ภาพรวมตลาดทองคำ นับตั้งแต่ต้นปี 2566 ถึงปัจจุบัน ปรับขึ้นมาแล้วกว่า 1,150 บาทต่อบาททองคำ โดยเฉพาะในเดือนมีนาคมนี้ บวกแล้ว 800 บาทต่อบาททองคำ ราคาขึ้นไปทำจุดสูงสุดที่บริเวณ 31,100 บาทต่อบาททองคำ ราคาทองคำปรับขึ้นร้อนแรงตั้งแต่วันที่ 10 มีนาคมที่ผ่านมา ตอบรับวิกฤตธนาคารสหรัฐขาดสภาพคล่องจนต้องปิดตัวไปแล้ว 3 แห่ง ยังไม่รู้ว่าจะมีอีกกี่รายรอปิดตัวเพิ่มอีก ทำให้ทองคำถูกมองเป็นสินทรัพย์ปลอดภัยหรือเซฟเฮฟเว่นในการลงทุนอีกครั้ง เพราะขณะนี้ตลาดมีความกังวลกับการล้มของแบงก์สหรัฐสูงมาก

“มีการมองภาพย้อนกลับไปเมื่อปี 2551 ที่เกิดวิกฤตเศรษฐกิจในสหรัฐ ทำให้รัฐบาลสหรัฐต้องพิมพ์เงินเพิ่มจำนวนมาก (คิวอี) เพื่อเพิ่มสภาพคล่องในระบบสถาบันการเงิน ซึ่งถือเป็นการทำคิวอีครั้งแรกในรอบนั้นด้วย โดยในช่วง 10 ปีก่อนหน้าทองคำถือเป็นฮีโร่ในช่วงวิกฤตการเงิน ทำให้นักลงมุนมองว่า ทองคำอาจเป็นฮีโร่อีกครั้งได้ แต่ภาพปัจจุบันแตกต่างกัน เพราะดอกเบี้ยในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาอยู่ระดับต่ำมาก แต่ตอนนี้ก็คงค้างอยู่สูงมาแทน” นายพิบูลย์ฤทธิ์กล่าว

2 เดือนแรกของปี 66 ต่างชาติลงทุนรวม 26,756 ลบ. สะท้อนความสำเร็จนโยบายพัฒนา ศก. ‘รัฐบาลลุงตู่’

(24 มี.ค.66) เพจ ‘ศูนย์ปฏิบัติการนายกรัฐมนตรี - PMOC’ ได้โพสต์ข้อความเกี่ยวกับนักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนในไทย โดยระบุว่า…

ต่างชาติเข้ามาลงทุนธุรกิจในไทยเพิ่มขึ้น 305% ใน 2 เดือนแรกของปี 2566 เงินลงทุนรวม 26,756 ล้านบาท สะท้อนศักยภาพความเชื่อมั่นต่อการลงทุนในไทย ย้ำความสำเร็จนโยบายพัฒนาเศรษฐกิจของรัฐบาล

ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ยินดีที่ต่างชาติเข้ามาลงทุนในประเทศไทยช่วง 2 เดือนแรกของปี 2566 มีเงินลงทุนรวม 26,756 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 305% จากช่วงเวลาเดียวกันเมื่อปี 2565 สะท้อนศักยภาพความเชื่อมั่นต่อการลงทุนในไทย ถือเป็นความสำเร็จของมาตรการส่งเสริมการลงทุนไทย ตามนโยบายพัฒนาเศรษฐกิจของรัฐบาล

กรมพัฒนาธุรกิจการค้าเปิดเผยรายงานการอนุญาตให้คนต่างชาติเข้ามาลงทุนประกอบธุรกิจในประเทศไทย ภายใต้พระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542 ช่วงเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ 2566 ซึ่งมีจำนวน 113 ราย โดยลงทุนผ่านช่องทางการขอรับใบอนุญาตประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว จำนวน 37 ราย และการขอหนังสือรับรองการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว จำนวน 76 ราย รวมเป็นเงินลงทุน 26,756 ล้านบาท และเกิดการจ้างงานคนไทยถึง 1,651 คน

ทั้งนี้ เมื่อเปรียบเทียบช่วงเวลาเดียวกันปี 2565 พบว่า อนุญาต 62 ราย มูลค่าการลงทุน รวม 6,602 ล้านบาท และจ้างงาน 1,239 คน ซึ่งเท่ากับตัวเลขเพิ่มขึ้นในทุกส่วนได้แก่ การอนุญาตให้คนต่างชาติเข้ามาลงทุนเพิ่มขึ้น 51 ราย ยอดลงทุนเพิ่ม 20,154 ล้านบาท และการจ้างงานคนไทยเพิ่มขึ้น 412 ราย

นักวิเคราะห์ ชี้!! ระวังหุ้น STARK ภาค 2 หายนะครั้งใหญ่จ่อนักลงทุนนับหมื่นคน

เมื่อไม่นานนี้ คุณสุนันท์ ศรีจันทรา คอลัมนิสต์และนักวิเคราะห์หุ้น ได้เผยว่า แม้หุ้นบริษัท สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ STARK ปิดฉากการสร้างภาพลวงตาไปแล้ว แต่ไม่ใช่หุ้นตัวสุดท้ายที่จะสร้างหายนะครั้งใหญ่ให้นักลงทุนนับหมื่นคน

เพราะยังมีหุ้นบางตัวที่มีพฤติกรรมไม่แตกต่างจาก STARK และถูกจับตาว่า อีกไม่นานเกินรอบริษัทจะล่มสลายเช่นเดียวกัน

หุ้นเก็งกำไรตัวเล็กนับสิบบริษัท ช่วงนี้สงบราบคาบตามๆ กัน แต่บางตัวยังมีความพยายามสร้างข่าว กระตุ้นราคาหุ้นอยู่เป็นระยะ แม้ว่าธุรกิจหลักกำลังตกต่ำ กลายเป็นสินค้าและบริการที่ตกยุค เนื่องจากผู้บริโภคหันไปใช้เทคโนโลยีที่พัฒนาไปไกล และสะดวกสบายมากกว่า

หุ้นที่มีพฤติกรรมปั่นราคาจะมีสูตรสำเร็จในลักษณะเดียวกันคือ การสร้างข่าว การขยายการลงทุน การซื้อทรัพย์สิน หรือซื้อกิจการบริษัทอื่น รวมทั้งบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ด้วยกัน

การแจกใบสำคัญแสดงสิทธิซื้อหุ้นสามัญหรือวอร์แรนต์

การปล่อยข่าวโฆษณาชวนเชื่อเกี่ยวกับแนวโน้มการเติบโตของบริษัท และการจุดพลุไล่ราคาหุ้น เพื่อล่อแมลงเม่าให้ตามแห่เข้าไปเก็งกำไร

การซื้อทรัพย์สิน กิจการ หรือบริษัทจดทะเบียนจะใช้เงินจากการออกหุ้นกู้ โดยวิ่งหาบริษัทจัดอันดับเครดิตความน่าเชื่อถือ ซึ่งสามารถแจกเครดิตเกรดดีๆ ได้ง่าย เช่นเดียวกับ STARK และมีบริษัทหลักทรัพย์หลายแห่งเสนอตัวเป็นตัวแทนผู้จำหน่ายหุ้นกู้ จนระดมเงินจากหุ้นกู้ได้หลายพันล้านบาท

บริษัทจดทะเบียนขนาดเล็กบางแห่งสร้างภาพเป็นกิจการขนาดใหญ่ มีบริษัทย่อยในเครือข่ายจำนวนนับสิบแห่ง จนนักลงทุนมองว่าเป็นกิจการที่มั่นคง ขณะที่มีเจ้ามือคอยดูแล สร้างมูลค่าการซื้อขายแต่ละวันสูง ราคาบางช่วงขึ้นถูกลากขึ้นอย่างร้อนแรงจนดูเหมือนเป็นหุ้นที่มีสภาพคล่อง

แต่บริษัทพร้อมล่มสลายได้ตลอดเวลา

หุ้นเก็งกำไรตัวเล็กบางตัวมีจำนวนผู้ถือหุ้นหลายหมื่นคน มากกว่าจำนวนผู้ถือหุ้น STARK เสียอีก ซึ่งหากวันใดบริษัทถึงจุดอวสาน จะสร้างความเสียหายให้นักลงทุนจำนวนมากยิ่งกว่า STARK

ผู้บริหารหุ้นเก็งกำไรตัวเล็กบางคนไม่รู้ไปทำเรื่องร้ายๆ อะไรไว้ จึงต้องคอยระวังตัว โดยมีคนคอยเดินติดตามคุ้มกัน เหมือนกลุ่มคนที่ทำธุรกิจสีเทา ทั้งที่เป็นเจ้าของบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งต้องดำเนินงานด้วยความโปร่งใส และยึดหลักธรรมาภิบาล

นายเอริค เลอวีน อดีตผู้บริหาร บริษัท แคลิฟอร์เนีย ว้าว เอ็กซ์พีเรียนซ์ จำกัด (มหาชน) หรือ CAWOW ชาวแคนาดา ซึ่งมาเปิดกิจการฟิตเนส ก่อนหอบเงินสมาชิกหนีคดีฉ้อโกงออกนอกประเทศ โดยยังมีหมายจับติดตามตัวอยู่

ผู้บริหาร CAWOW เคยจ้างตำรวจขับรถตำรวจนำทางจากบ้านย่านฝั่งธนบุรี ส่งถึงสำนักงานย่านสีลม เพื่อคุ้มกัน เพราะรู้ตัวว่ากำลังฉ้อโกง และเกรงกลัวผู้ที่ได้รับความเสียหายจะลอบทำร้าย

ผู้บริหารหุ้นเก็งกำไรตัวเล็กบางคนกำลังก่อพฤติกรรมฉ้อโกง สร้างความเสียหายให้นักลงทุนหรือไม่ จึงต้องจ้างบอดี้การ์ดมาคุ้มกัน

หุ้น STARK เก็บฉากไปแล้ว ทิ้งไว้แต่ซากศพนักลงทุนทั้งหุ้นกู้และหุ้นสามัญนับหมื่นชีวิต แต่หุ้น STARK 2 อาจตามมาในเร็วๆ นี้

อย่าหวังว่าสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และตลาดหลักทรัพย์จะป้องกันไม่ให้เกิด STARK ภาค 2 ได้

แต่นักลงทุนต้องป้องกันตัวเอง โดยสำรวจตรวจสอบว่ามีหุ้นเก็งกำไรตัวเล็กตัวใดที่มีพฤติกรรมสร้างภาพ สร้างข่าวกระตุ้นราคาหุ้น มีการซื้อทรัพย์สิน ซื้อกิจการ ออกหุ้นกู้หลายๆ รุ่น และอยู่ในข่ายอาจล่มสลายเช่นเดียวกับ STARK หรือไม่

ถ้ามีหุ้นเล็กตัวอันตรายอยู่ในพอร์ตต้องรีบตัดสินใจขายทิ้งทันที จะขาดทุนเท่าไหร่ก็ช่าง

เพราะถ้าชะล่าใจ หรือทำใจตัดขายขาดทุนไม่ได้ จะเสียใจที่ตกเป็นเหยื่อหุ้น STARK 2 ในภายหลัง

'รัฐบาล' เผยครึ่งปีแรก 66 มูลค่าการลงทุนต่างชาติแตะห้าหมื่นล้าน ส่วนตลาดรถยนต์ไฟฟ้าเติบโตกว่า 3 เท่า จากยอดปี 65 ทั้งปี

(22 ก.ค. 66) น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า จากการที่รัฐบาลได้ผลักดันและส่งเสริมการลงทุนอย่างจริงจัง ทำให้ใน 6 เดือนแรกของปี 2566 มีผู้สนใจเข้าลงทุนในประเทศเพิ่มต่อเนื่อง และได้มีการอนุญาตให้คนต่างชาติเข้ามาลงทุนประกอบธุรกิจในประเทศไทย เพิ่มขึ้นร้อยละ 15 เมื่อเปรียบเทียบช่วงเวลาเดียวกันปี 2565 โดยอยู่ที่จำนวน 326 ราย รวมมูลค่าการลงทุนทั้งสิ้น 48,927 ล้านบาท สร้างการจ้างงาน 3,222 คน นักลงทุน 5 อันดับแรก ได้แก่ 1.ญี่ปุ่น 74 ราย เงินลงทุน 17,527 ล้านบาท 2.สหรัฐอเมริกา 59 ราย เงินลงทุน 2,913 ล้านบาท 3. สิงคโปร์ 53 ราย เงินลงทุน 6,916 ล้านบาท 4.จีน 24 ราย เงินลงทุน 11,505 ล้านบาท และ 5. สมาพันธรัฐสวิส 14 ราย เงินลงทุน 1,857 ล้านบาท สำหรับการลงทุนจากชาติอื่น ๆ มีจำนวน 102 ราย เงินลงทุน 8,209 ล้านบาท 

ทั้งนี้ ธุรกิจส่วนใหญ่สอดคล้องกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ นโยบายการส่งเสริมการลงทุน เพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ รวมถึงมีการถ่ายทอดเทคโนโลยี และองค์ความรู้เฉพาะด้านโดยตรงให้แก่คนไทย เช่น องค์ความรู้เกี่ยวกับการควบคุมแรงดันหลุมขุดเจาะปิโตรเลียม ขั้นตอนดำเนินการขุดสถานีใต้ดิน การออกแบบระบบไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ในโครงการรถไฟฟ้า การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลม เป็นต้น

นอกจากนี้ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวอีกว่า ความพยายามของรัฐบาลในการมุ่งส่งเสริมการลงทุนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะเทคโนโลยียานยนต์รูปแบบใหม่ อย่างอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ซึ่งปัจจุบันตลาดรถยนต์ไฟฟ้าของประเทศไทยมีอัตราการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ในช่วงครึ่งปีแรก (เดือนมกราคม-มิถุนายน) ยอดจดทะเบียนรถยนต์ไฟฟ้าในไทยมีมากถึง 31,738 คัน โดยมากกว่าถึง 3 เท่าของจำนวนทั้งหมดในปี 2565 

และจากรายงานของ China Association of Automobile Manufacturers (CAAM) พบว่า ไทยถือเป็น 1 ใน 3 ประเทศ ผู้นำเข้ารถยนต์ไฟฟ้าจากจีนมากที่สุด เนื่องจากผู้บริโภคมีความเข้าใจเกี่ยวกับเทคโนโลยีรูปแบบใหม่มากขึ้น ประกอบกับภาครัฐได้มีการออกมาตรการสนับสนุนให้มีการใช้รถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย ซึ่งเอื้อประโยชน์ให้กับผู้บริโภค รวมถึงมีมาตรการจูงใจให้นักลงทุนสามารถขยายธุรกิจ และใช้ไทยเป็นฐานในการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วนในภูมิภาค โดยเมื่อวันที่ 11 ก.ค.ที่ผ่านมา คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือ BOI ได้เปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการชิ้นส่วนอุตสาหกรรมในประเทศไทยที่มีศักยภาพ เข้าร่วมการเจรจาธุรกิจกับบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าจากจีนอย่างบริษัท BYD ซึ่งมีแผนลงทุนตั้งโรงงานผลิตรถยนต์ของ BYD แห่งแรกในภูมิภาคอาเซียนที่ไทย นับเป็นการเชื่อมโยงธุรกิจระหว่างบริษัทผลิตรถยนต์โลกกับผู้ผลิตชิ้นส่วนในประเทศ เพื่อทำให้เกิดการพัฒนาห่วงโซ่อุปทาน และเป็นการสร้างโอกาสให้ผู้ผลิตในไทยได้มีส่วนร่วมอยู่ในซัพพลายเชนระดับโลก

“นายกรัฐมนตรีให้ความสำคัญกับการลงทุนในเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ส่งเสริมการพัฒนาทางด้านโครงสร้างพื้นฐาน และเพิ่มความสามารถในการแข่งขันให้ประเทศไทย มาอย่างต่อเนื่อง โดยประเทศไทยนับได้ว่ามีศักยภาพและความได้เปรียบที่ดึงดูดนักลงทุนต่างชาติ รวมทั้ง มีกระบวนการผลิตที่มีคุณภาพสูงตามมาตรฐานสากล มีข้อได้เปรียบทางภูมิศาสตร์ที่เป็นประโยชน์กับการค้าการลงทุน ซึ่งเมื่อประกอบกับนโยบายของไทยที่เป็นไปตามวิสัยทัศน์ของนายกรัฐมนตรี ตอบรับความท้าทายระดับโลก เช่น ความท้าทายด้านสิ่งแวดล้อม พลังงานสะอาด ทำให้ประเทศไทยได้รับความสนใจอย่างต่อเนื่อง” น.ส.รัชดากล่าว

'รองโฆษกรัฐบาล' เตือน นักลงทุน เช็ก 11 แอปฯ หลอกลงทุนเงินดิจิทัล-เทรดทอง-เทรดเหรียญ

(21 ส.ค. 66) น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ขอย้ำเตือนประชาชนระวังถูกหลอก ซึ่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดยกองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บช.สอท.) ได้สืบสวนสอบสวนจับกุมคนร้ายแก๊งหลอกลงทุนออนไลน์ ที่ชักชวนเหยื่อด้วยวิธีการต่างๆ อาทิ ปลอมโปรไฟล์เข้าไปตีสนิทก่อนชวนลงทุน หรือโฆษณาในสื่อโซเชียลมีเดียต่าง ๆ ให้ลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัล อ้างได้รับผลตอบแทนสูง เป็นต้น ทำให้มีผู้เสียหายหลงเชื่อจำนวนมาก

นอกจากนี้ มิจฉาชีพยังสร้างแอปพลิเคชันลงทุนปลอมขึ้น โดยบางแอปแอบอ้างใช้ชื่อพ้องกับแอปที่มีอยู่จริง และสร้างกระดานเทรด โชว์ภาพตาราง หรือกราฟการเทรดเงินดิจิทัล เทรดเหรียญปลอมขึ้น เพื่อความสมจริง

น.ส.รัชดา กล่าวว่า หากมีผู้ชักชวนลงทุนเก็งกำไรสินทรัพย์ดิจิทัลใน 11 แอปพลิเคชันนี้ ขอให้ตรวจสอบด่วน อาจกำลังตกเป็นเหยื่อมิจฉาชีพได้ สำหรับ 11 แอปพลิเคชัน มีดังนี้ BChGlobal, OrangeX, NAGA, Cobo, SpotGlobal, Bitmox, Bitgo, BitcoinEX, EthMiner, Paxful, MATH ทั้งนี้ หากสงสัยถูกหลอกลงทุนสินทรัพย์ดิจิทัลผ่านแอป ขอให้รีบแจ้งผ่านสายด่วนตำรวจไซเบอร์ (บช.สอท.) โทร.1441 หากตกเป็นเหยื่อแล้ว สามารถแจ้งความออนไลน์ที่ www.thaipoliceonline.com

“รัฐบาลไม่ต้องการให้ประชาชนตกเป็นเหยื่อมิจฉาชีพ โดยได้ทำการแจ้งเตือนผ่านช่องทางต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม มิจฉาชีพเหล่านี้พัฒนารูปแบบการหลอกลวงได้แยบยลมากขึ้นผ่านสื่อโซเชียลมีเดีย จึงขอให้ประชาชนพึงระมัดระวังไว้เสมอ มีสติ อย่ารีบตัดสินใจ ศึกษาข้อมูลให้ครบถ้วน หากบุคคลใดมีปัญหาการถูกหลอกลวงผ่านสื่อโซเชียลมีเดีย สามารถร้องเรียนได้ที่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ผ่านสายด่วน 1212” น.ส.รัชดา กล่าว

ส่องตัวแปร ‘เงินทุนจีนทิ้งประเทศ’ กับโอกาสครั้งใหญ่ของไทย สะท้อนผ่าน ‘บีโอไอ’ งานล้นมือ เพราะทุนจีนถือหมุดรอปักสยาม

เมื่อไม่นานนี้ คุณมัทนา มูลจันทร์ กรรมการผู้จัดการ บริษัทสำนักกฎหมายดีทีแอลจำกัด บริษัทเอ็มแอนด์ทีโฮลดิ้งแอนดด์ดีเวลลอปเม้นท์จำกัด ได้ให้สัมภาษณ์ผ่านรายการ ‘Money Chat Thailand’ ตอน เงินทุนจีนทิ้งประเทศ ครั้งใหญ่! ประจำวันที่ เมื่อวันที่ 4 ก.ย. 2566 ดำเนินรายการโดย คุณเนาวรัตน์ เจริญประพิณ ผู้ผลิต Content เศรษฐกิจ ธุรกิจ การเงิน การลงทุน เริ่มต้นจากแนวคิด ‘ลงทุนง่าย ๆ แค่ปลายนิ้ว’ ส่งเสริมให้ทุกคนรู้จักและเข้าใจการรับลงทุนในยุคดิจิทัล

โดยคุณมัทนา ได้ให้มุมมองเกี่ยวกับประเด็น การแข่งขันกันทางภาคธุรกิจในประเทศจีน จนส่งผลให้มีคนจีนจำนวนมาก พยายามจะย้ายมาอยู่ที่ต่างประเทศ อีกทั้ง ทางรัฐบาลยังได้มีการปรามปราบเพื่อจัดระเบียบภายในประเทศ ให้เกิดความเท่าเทียม และลดความเหลื่อมล้ำในสังคม นอกจากนี้ ยังเป็นการป้องกันอำนาจจากกลุ่มทุนใหญ่ ที่พยายามจะใช้อิทธิพลและอำนาจมืด เข้ามาแทรกแซงการบริหาร รวมถึงนโยบายต่างๆ ของรัฐบาล ว่า…

“ความจริงแล้ว ประเทศจีนมีกฎหมายหนึ่งที่ประเทศไทยเองก็มีเช่นกัน แต่ของจีนจะค่อนข้างเข้มงวดกว่า คือ ‘การผูกขาดทางการค้า’ ซึ่งเป็นความพยายามของรัฐบาลที่จะจัดการในส่วนนี้ ดังนั้น จึงเห็นได้ว่า ทุกอย่างจะถูกผลักเข้าไปสู่กลไกของธุรกิจ การแข่งขันก็มักเป็นการแข่งขันกันในเชิงธุรกิจ อย่างประเทศไทยเรามีรัฐวิสาหกิจในบางสายงาน ในบางองค์กร หรือในบางกระทรวง ทบวง กรม อาจจะมีรัฐวิสาหกิจอยู่แค่ไม่กี่บริษัท แต่ในประเทศจีนมีบริษัทที่เป็นรัฐวิสาหกิจเป็นร้อย หรืออาจจะหลายร้อยบริษัท ยกตัวอย่างเช่น ในกระทรวงคมนาคมมีบริษัทลูกที่เป็นรัฐวิสาหกิจเป็นร้อยบริษัท จึงทำให้การแข่งขันกันระหว่างสายงานต่างๆ นั้น มีค่อนข้างสูง เนื่องจากต้องแข่งขันกันเพื่อความอยู่รอดของธุรกิจต่างๆ ทำให้ขาดการช่วยเหลือกัน”

“นอกจากนี้ หลักการในการลงทุนของประเทศจีน มีแนวทางนโยบายบางประการ ที่ทางภาคธุรกิจ ‘จำใจ’ ต้องยอมจ่าย เนื่องจากถูกกดดันจากทางรัฐบาล 2 อย่างด้วยกัน คือ

‘กำแพงภาษี’ หากคุณผลิตสินค้าในจีน คุณจะถูกเก็บภาษีสูงมาก ซึ่งเป็นเหมือนการบังคับให้ต้องยอมจ่าย ดังนั้น กลุ่มนายทุนจึงต้องออกมาตั้งโรงงานกันในต่างประเทศ เพื่อไม่ให้สินค้าของบริษัท เป็นสินค้าที่ผลิตในจีนจนต้องเสียภาษีมหาโหด

สินค้าของกลุ่มทุนจีนที่ผลิตในต่างประเทศ ยกตัวอย่างเช่น สินค้าด้านพลังงาน อย่างแผงโซลาร์เซลล์ ที่สามารถสังเกตได้ว่า เกือบจะถูกแบรนด์ใหญ่ๆ ของจีน ต้องมาตั้งโรงงานในประเทศไทย เพื่อผลิตสินค้า จากนั้นจึงคอยส่งกลับไปขายในจีน

แต่ตอนนี้ก็เริ่มมีปัญหาตามมา คือ ทางรัฐบาลจีนเขาไม่ได้ดูแค่สินค้าชิ้นนี้ผลิตที่ประเทศจีนหรือไม่ แต่เขาตรวจสอบไปจนถึงวัสดุที่เป็นส่วนประกอบในการผลิตสินค้าเลยทีเดียว

แต่อย่างไรก็ตาม กระบวนการเรียกเก็บภาษีนี้ ก็มีขั้นตอนเป็นระบบ และให้มีประกาศทางการอย่างชัดเจน เพื่อให้ระยะเวลาภาคธุรกิจในการตั้งตัวรับมือได้ทัน”

“เรื่องต่อมา ซึ่งเป็นเรื่องล่าสุด คือ บริษัทต่างๆ จะต้องตั้งโรงงานการผลิตนอกประเทศจีน และไต้หวัน เนื่องจากเกิดปัญหาความน่าเชื่อถือที่ลดลง เพราะรัฐบาลตั้งกฎหมายเกี่ยวกับภาคธุรกิจออกมามากมาย เพื่อที่จะควบคุมการผูกขาดทางการค้า ทำให้ลูกค้าในประเทศต่างๆ ไม่มีความเชื่อมั่นว่า หากสั่งซื้อสินค้าไปแล้ว จะได้รับสินค้าตามกำหนดหรือไม่

และที่สำคัญที่สุด คือ ความขัดแย้งทางการเมืองโลก ระหว่างประเทศจีนกับประเทศต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ประเทศสหรัฐอเมริกา ที่อาจส่งผลกระทบต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจ การค้า รวมถึงการลงทุนได้ ทำให้นักลงทุนกลัวการเกิดปัญหาต่างๆ ตามมาในภายหลัง”

“ด้วย 2 ปัจจัยหลักนี้เอง ทำให้ประเทศไทย กลายเป็น ‘หมุดหมายหลัก’ ที่เหล่ากลุ่มทุนจากจีน จะแห่กันเข้ามาลงทุน เพราะนอกจากที่ไทยจะเป็นประเทศที่มีศักยภาพและกำลังในการผลิตสูงแล้ว จุดเด่นของประเทศไทยอีกเรื่องคือ ไทยเป็นประเทศที่ไม่เคยมีท่าทีต่อต้านชาวจีน อีกทั้งยังพร้อมอ้าแขนเปิดรับชาวจีนมากที่สุด กว่าทุกประเทศในภูมิภาคอาเซียนอีกด้วย”

“สิ่งนี้ส่งผลให้ประเทศไทยรับประโยชน์จากไปเต็มๆ อีกทั้ง ทาง ‘สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน’ หรือ BOI ยังร่วมหน้าที่ส่งเสริมการลงทุนในประเทศ ทั้งในด้านการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน และอำนวยความสะดวกด้านการลงทุน รวมถึงการบริการสนับสนุนธุรกิจให้แก่นักลงทุนต่างชาติ ยิ่งทำให้นักลงทุนจากทั่วทุกสารทิศ โดยเฉพาะจากในจีนแผ่นดินใหญ่ ต่างหลั่งไหลกันมาปักหมุดหมายในไทย โดยหลายๆ แบรนด์ยังมีแผนที่จะยกให้ไทยเป็นศูนย์กลางในการผลิตที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคอาเซียนอีกด้วย”

แม้จะมีกระแสบางส่วนมองว่า การที่กลุ่มนักลงทุนจีนมาตั้งโรงงานผลิตในประเทศไทยนั้น เป็นเรื่องที่ทำให้คนไทยเสียเปรียบ เนื่องจากทาง BOI ได้ให้สิทธิประโยชน์ทางด้านภาษีในการลงทุนแก่กลุ่มทุนจีน โดยในเรื่องนี้ คุณมัทนาได้ให้ความคิดว่า…

“หากลองย้อนกลับไปดูดีๆ การก่อตั้งโรงงานนั้นไม่ได้สามารถทำกำไรได้ตั้งแต่ภายในปีแรก บางโรงงานเพิ่งสามารถทำกำไรได้ภายใน 3-5 ปีต่อมาเสียด้วยซ้ำ ซึ่งก็สอดคล้องกับระยะเวลาที่ทาง BOI ให้สิทธิไว้ตามเงื่อนไขการลงทุน อีกทั้งไม่ใช่ธุรกิจทุกประเภทจะได้รับการยกเว้นเสียภาษี ธุรกิจแต่ละประเภทก็มีระยะเวลาการยกเว้นเสียภาษีที่แตกต่างกันออกไป

ดังนั้น การที่ประเทศไทยมีกลุ่มทุนมาลงทุนนั้น นับว่าเป็นเรื่องที่ดีเป็นอย่างยิ่ง เพราะนอกจากจะทำให้อัตราการลงทุนเพิ่มแล้ว ยังเกิดการจ้างแรงงานเพิ่มขึ้น คนไทยมีงานทำมากขึ้น ช่วยให้คนไทยได้เพิ่มพูนศักยภาพ พัฒนาทักษะการทำงานให้คนไทยมากขึ้น และยังส่งผลให้มีเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ ช่วยให้การค้าขายระหว่างประเทศเติบโตก้าวหน้า เป็นประโยชน์ต่อไปเป็นทอดๆ อีกด้วย”

‘เศรษฐา’ ส่งสัญญาณ!! ผ่าตัดใหญ่ตลาดหลักทรัพย์  ยกระดับการกำกับดูแลผู้ลงทุนให้มีความเข้มข้นขึ้น

เมื่อวันที่ 8 ก.ย. 66 ในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยจะเกิดแรงสั่นสะเทือนครั้งใหญ่ โดยรัฐบาลนายเศรษฐา ทวีสิน มีเป้าหมายปรับโครงสร้างองค์กร เพื่อยกระดับการกำกับดูแลประชาชนผู้ลงทุนให้มีความเข้มข้นขึ้น ทั้งการป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดในตลาดหุ้น

การปรับโครงสร้างองค์กรตลาดหลักทรัพย์ฯ จะเริ่มตั้งแต่การเปลี่ยนแปลงคณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์ โดยกรรมการตลาดหลักทรัพย์ปัจจุบันมีจำนวน 11 คน เป็นกรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์ฯ ที่มาจากการสรรหาและการคัดเลือกของคณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์ฯ 1 คน คือนายภากร ปิตธวัชชัย

อีก 6 คนเป็นผู้ทรงคุณวุฒิที่ได้รับการแต่งตั้งจากคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และอีก 4 คนเป็นตัวแทนจากบริษัทสมาชิกหรือตัวแทนจากบริษัทโบรกเกอร์ โดยมี ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล เป็นประธานคณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์ฯ
.
โครงสร้างใหม่คณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์ฯ จะปรับเปลี่ยนให้มีความหลากหลายขึ้น โดยมีตัวแทนกระจายในแต่ละกลุ่มอาชีพ รวมทั้งตัวแทนของประชาชนผู้ลงทุน ส่วนตัวแทนของโบรกเกอร์อาจลดจำนวนเหลือเพียง 1 คน เพราะกรรมการตลาดหลักทรัพย์ กระจุกตัวในกลุ่มคนแวดวงตลาดทุนและอดีตข้าราชการระดับสูงจากกระทรวงการคลังหรืออดีตผู้บริหารแบงก์ชาติ

กรรมการตลาดหลักทรัพย์ที่ขาดความหลากหลาย และเป็นกลุ่มผลประโยชน์ในตลาดทุน นำไปสู่ข้อจำกัดแนวความคิดในการแก้ปัญหาตลาดหุ้น และการขาดความกระฉับกระเฉงในมาตรการปกป้องประชาชนผู้ลงทุน ซึ่งเห็นได้ชัดจากความเสียหายกรณีการแต่งบัญชี บริษัท สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ‘STARK’ ซึ่งถือเป็นความหละหลวม บกพร่องร้ายแรงของตลาดหลักทรัพย์ฯ

นอกจากนั้น เมื่อพฤติกรรมโกงใน STARK ถูกเปิดโปง ตลาดหลักทรัพย์ฯ กลับดำเนินการแก้ปัญหาที่ล่าช้า ทั้งที่มีอำนาจในการกำกับ ควบคุมดูแล และจัดการแก้ปัญหาได้ในทันที เพื่อระงับยับยั้งความเสียหายไม่ให้ลุกลามในวงกว้าง

อีกเป้าหมายการจัดโครงสร้างการบริหารงานภายในที่นายเศรษฐา ให้ความสำคัญคือ การรื้อฟื้นบทบาทของฝ่ายกำกับ ซึ่งปัจจุบันต้องอยู่ภายใต้ฝ่ายการตลาด โดยจะยกระดับบทบาทการทำงานของฝ่ายกำกับให้มีความเข้มข้น

แยกเป็นหน่วยงานที่มีความอิสระและมีความคล่องตัวในการทำงาน มุ่งการตรวจสอบบริษัทจดทะเบียน ตั้งแต่เริ่มต้นสัญญาณการเกิดปัญหา และมีฝ่ายที่จะตรวจสอบงบการเงิน รวมทั้งธุรกรรมต่างๆ ของบริษัทจดทะเบียนโดยเฉพาะ โดยเมื่อพบปัญหาที่อาจสร้างความเสียหายให้ผู้ลงทุนจะเข้าแก้ไขในทันทีตั้งแต่ต้นน้ำ

ไม่ปล่อยให้ปัญหาลุกลาม จนสร้างความเสียหายให้นักลงทุน และกลายเป็นโศกนาฏกรรมใหญ่ที่เกิดขึ้นจากการกระทำผิดในบริษัทจดทะเบียนหลายกรณี

ตลาดหลักทรัพย์มีสภาพเหมือนองค์กรในแดนสนธยา เพราะสาธารณชนไม่มีโอกาสรับรู้เงินเดือนของกรรมการและผู้จัดการ ไม่รู้อัตราโบนัสพนักงานในแต่ละปี และไม่รู้การใช้จ่ายที่ฟุ่มเฟือยในการดูแลกรรมการทั้ง 11 คน

รายได้ของกรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์ฯ รวมแล้วปีละประมาณ 30 ล้านบาท และกรรมการตลาดหลักทรัพย์ฯเดินทางดูงานต่างประเทศบ่อยครั้ง โดยเดินทางสายการบินระดับเฟิร์สคลาส พักโรงแรมหรู กินอาหารชั้นดีราคาแพง

และแม้แต่การจัดเลี้ยงงานประชุมกรรมการ ยังสั่งไวน์ราคาแพงๆมาจิบกันเพลิน ทั้งที่การทำงานของคณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์มักสายเกินไปเสมอ โดยปัญหาเกิดขึ้นลุกลามบานปลายแล้ว ประชาชนผู้ลงทุนได้รับความเสียหายแล้ว ตลาดหลักทรัพย์จึงลงไปแก้ไข

รวมทั้งการใช้มาตรการกำกับหุ้นที่มีพฤติกรรมการสร้างราคา ซึ่งมักเกิดขึ้นหลังนักลงทุนรายใหญ่ขายหุ้นทำกำไรออกไปก่อนแล้ว และมีกรณีล่าสุดหุ้นในตลาด MAI ที่ราคาถูกลากขึ้นอย่างร้อนแรง ก่อนที่จะถูกถล่มขายจนราคาดิ่งลงหนัก ทำให้นักลงทุนรายย่อยที่แห่เข้าไปเก็งกำไรขาดทุนป่นปี้

การรื้อโครงสร้างตลาดหลักทรัพย์ครั้งใหญ่ กำลังคืบคลานเข้ามา และเมื่อการทำงานของรัฐบาลนายเศรษฐา เข้าที่เข้าทาง การเปลี่ยนแปลงในคณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์อาจเกิดขึ้นทันที

แน่นอนว่า กรรมการตลาดหลักทรัพย์ทั้ง 11 คน จะต้องมีใครไปใครอยู่ ไม่ว่าทางใดทางหนึ่ง

เป้าหมายในการปกป้องประชาชนผู้ลงทุนในตลาดหุ้นไม่ให้เสียหายจากการซื้อหุ้นบริษัทจดทะเบียน ซึ่งเกิดขึ้นซ้ำซากตลอดเกือบ 50 ปีถูกกำหนดไว้แล้ว

และการรื้อโครงสร้างคณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์ จะเป็นจุดเริ่มต้นในการปกป้องนักลงทุนไม่ให้ถูกปล้นจากแก๊งมิจฉาชีพในตลาดหุ้นของรัฐบาลเศรษฐา

‘อินโดฯ’ เสนอ ‘Golden Visa’ ไม่ต้องยื่นใบพำนักชั่วคราว หวังดึงดูดนักลงทุนต่างชาติ ทั้งสถาบัน-รายย่อยเข้าประเทศ

เมื่อไม่นานนี้ ประเทศอินโดนีเซีย ประกาศโครงการ ‘Golden Visa’ เพื่อดึงดูดนักลงทุนชาวต่างชาติทั้งประเภทบุคคลธรรมดาและนิติบุคคลพำนักเป็นระยะเวลา 5 - 10 ปีโดยไม่จำเป็นต้องยื่นขอใบอนุญาตพำนักชั่วคราวอีกต่อไป

▪️ เงื่อนไขสำหรับนักลงทุนประเภทบุคคลธรรมดา ที่ประสงค์ขอรับวีซ่าพำนักเป็นระยะเวลา 5 ปี ต้องมีการตั้งบริษัทในอินโดนีเซียด้วยวงเงินลงทุนไม่ต่ำกว่า 2.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และกรณีพำนักระยะเวลา 10 ปี ต้องมีการลงทุนอยู่ที่ 5 ล้านดอลลาร์สหรัฐขึ้นไป

▪ ในกรณีที่ไม่ต้องการจัดตั้งบริษัทใด ๆ ในประเทศอินโดนีเซีย มีเงื่อนไขต้องลงทุนในกองทุนที่สามารถใช้ซื้อพันธบัตรรัฐบาลวงเงินตั้งแต่ 350,000-700,000 ดอลลาร์สหรัฐ

▪️ นักลงทุนประเภทนิติบุคคลกำหนดต้องลงทุน 25 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยผู้อำนวยการและคณะกรรมการจะได้รับวีซ่าพำนักเป็นระยะเวลา 5 ปี และวีซ่าพำนักเป็นระยะเวลา 10 ปี จะต้องลงทุนเพิ่ม 2 เท่า หรือ 50 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

▪️ ล่าสุดประกาศ นักลงทุนต่างประเทศที่ได้รับสิทธิ Golden Visa เป็นคนแรกของอินโดนีเซีย คือ ‘Sam Altman’ ซึ่งเป็น CEO ของบริษัท Open AI เจ้าพ่อธุรกิจ Chat Bot เจ้าของแพลตฟอร์ม ChatGPT

▪️ ประเทศอื่น ๆ ที่มีโครงการ Golden Visa ในลักษณะเดียวกันนี้ เพื่อดึงดูดเม็ดเงินลงทุนและบรรดาผู้ประกอบการให้เข้าไปลงทุนและพำนักอาศัยอยู่ในประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา ไอร์แลนด์ นิวซีแลนด์ และสเปน 

‘นายกฯ เศรษฐา’ เยือนจีน ชักชวน บ.เอกชนจีนลงทุนในไทย ปักหมุด 5 อุตฯ ยุทธศาสตร์ เน้น ‘พลังงานสะอาด รถยนต์ EV’

(17 ต.ค. 66) ผู้สื่อข่าวรายงานภารกิจของ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง ในการเข้าร่วมการประชุมเวทีข้อริเริ่มสายแถบและเส้นทาง (Belt and Road Forum for International Coperration- BRF) ครั้งที่ 3 และการเยือนสาธารณรัฐประชาชนจีนอย่างเป็นทางการระหว่างวันที่ 16 - 19 ตุลาคม ตามคำเชิญของนายสี จิ้นผิง ประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน และเยือนสาธารณรัฐประชาชนจีนอย่างเป็นทางการ ตามคำเชิญของนายหลี่ เฉียง นายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐประชาชนจีน

เมื่อเวลา 09.00 น. (ตามเวลาท้องถิ่นกรุงปักกิ่งซึ่งเร็วกว่าประเทศไทย 1 ชม.) Mr. Zhu Hexin, Chairman CITIC Group Corporation เข้าเยี่ยมคารวะนายกรัฐมนตรี โดย CITIC เป็นบริษัทใหญ่ของจีนที่ดำเนินธุรกิจ ทั้งในส่วนของการบริการทางการเงินแบบครบวงจร และใช้เทคโนโลยีระดับสูง กลุ่ม CITIC ได้รับการจัด อันดับอยู่ใน Fortune's Global 500 เป็นเวลา 15 ปีติดต่อกันนับตั้งแต่ปี 2552 และอยู่ในอันดับที่ 100 ในปี 2566 โดย CITIC สนใจลงทุนใน PPP Projects ขนาดใหญ่ของไทย มีความเชื่อมั่นที่จะเข้ามาลงทุนในไทยในหลากหลายธุรกิจ

โดยนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ขอเชิญชวนให้ CITIC มาร่วมลงทุนในอุตสาหกรรมยุทธศาสตร์ 5 อุตสาหกรรม ได้แก่ อุตสาหกรรมกลุ่ม BCG หรือ Bio-Circular-Green Economy (โดยเฉพาะเกษตร อาหาร การแพทย์ และพลังงาน สะอาด) อุตสาหกรรมยานยนต์ (โดยเฉพาะยานยนต์ไฟฟ้า) อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ (โดยเฉพาะต้นน้ำและ อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ) อุตสาหกรรมดิจิทัลและสร้างสรรค์ และการส่งเสริมให้ไทยเป็นศูนย์กลางธุรกิจระหว่างประเทศ ตลอดจนเชิญชวนให้มาตั้ง Regional Headquarter โดยมีเป้าหมายเพื่อผลักดันประเทศไทยไปสู่เศรษฐกิจใหม่

ขณะที่ฝ่ายบริษัทฯ ระบุว่ามีความประสงค์ขยายความร่วมมือกับไทยในอีกหลายด้าน บริษัทมีธุรกิจครอบคลุมและมีบริษัทในเครือจำนวนมาก และมีศักยภาพการแข่งขันระดับโลก รวมทั้ง ด้านพลังงานสะอาดที่ไทยสนใจ ไทยและ CITIC จะร่วมมือกันเพื่อต่อยอดและให้เกิดประโยชน์สูงสุด ด้วยความเชื่อมั่นและความสัมพันธ์อันดีกับรัฐบาล บริษัทต้องการขยายความร่วมมือและการลงทุนในไทย โดยเฉพาะสาขาที่ไทยสนใจ เช่น พลังงานสะอาด การพัฒนานิคมอุตสาหกรรม

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ขอชวนมาขยายธุรกิจด้านการเงินในไทย ซึ่ง CITIC มีธุรกิจเกี่ยวข้องการเงินอยู่ด้วยแล้ว เช่น บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ มีใบอนุญาตทางการเงินการธนาคารครบถ้วนและอยู่ในอันดับต้น ๆ ในจีน จึงมีศักยภาพที่จะลงทุนในไทยได้ จะได้หารือในขั้นตอนต่อไป โดยไทยส่งเสริมการผลิตรถยนต์ EV 

"จึงขอเชิญบริษัทฯ เข้ามาลงทุนลักษณะ supply chain เช่น ล้อแม็กซ์ฯ ให้กับอุตสาหกรรมยานยนต์ โดยไทยสนับสนุนมาตรการและสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการลงทุนที่น่าสนใจด้วยมาตรการของ BOI และเพื่อการพัฒนาขอเสนอให้ตั้งคณะทำงานร่วมกันเพื่อผลักดันการลงทุนในไทยให้เกิดผล" นายกรัฐมนตรีกล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังหารือกับนาย Zhu Hexin, Chairman บริษัท CITIC แล้ว วันเดียวกันนี้นายกรัฐมนตรีจะหารือกับนาย Sun Yongcai, Chairman บริษัท CRRC Group ดำเนินธุรกิจด้านขนส่งทางราง

จากนั้นหารือกับนาย Xie Yonglin, Executive Director, President and Co-CEO บริษัท Ping An Group ดำเนินธุรกิจประกันภัย, หารือนาย Alain Lam, Vice President, CFO บริษัท Xiaomi ดำเนินธุรกิจด้านเทคโนโลยี อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์

ต่อด้วยการหารือกับนาย Fan Jiang, CEO บริษัท Alibaba International Digital Commerce Group ดำเนินธุรกิจ e-commerce และ การหารือกับผู้บริหารบริษัท Norinco ดำเนินธุรกิจด้านยุทโธปกรณ์

ทั้งนี้กำหนดการที่น่าสนใจนอกจากพบภาคเอกชนของจีนแล้ว นายกรัฐมนตรีจะได้พบกับ วลาดิเมียร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซีย ในเวลา 17.00 น. ตามเวลาท้องถิ่นสาธารณรัฐประชาชนจีน 

มหากาพย์โกงในตลาดหุ้น อดีต - ปัจจุบัน ผู้บริหารหอบเงินเสวยสุข - ทิ้งนักลงทุนน้ำตาตก

‘การลงทุน’ ให้เงินงอกเงยนั้น เป็นสิ่งที่คนทั่วไปต่างคาดหวัง ขณะที่ ‘ตลาดหุ้น’ คือ แหล่งลงทุนที่คนส่วนใหญ่เลือก แต่ทว่าไม่ใช่เรื่องง่าย ๆ ที่จะได้กำไรเสมอไป เพราะมีความเสี่ยงหลาย ๆ อย่างที่เราไม่สามารถคาดการณ์ได้ และหากเป็นการขาดทุนจากภาวะปกติของการดำเนินธุรกิจของบริษัทที่เรานำเงินเข้าไปลงทุนก็คงไม่น่าเจ็บใจนัก แต่ถ้าเกิดจากการทุจริตของผู้บริหารจนทำให้บริษัทขาดทุนล้มละลาย แบบนี้เป็นเรื่องยากที่นักลงทุนจะทำใจได้

ที่ผ่านมา มีกรณีที่ผู้บริหารบริษัทในตลาดหลักทรัพย์กระทำการทุจริต จนทำให้เกิดความเสียหาย ส่งผลให้นักลงทุนสูญเสียเงินมาแล้วหลายกรณี บางกรณีผู้บริหารโกง พร้อมหอบเงินหนีคดีไปเสวยสุขในต่างประเทศหลายราย 

สำหรับหายนะครั้งล่าสุดที่สร้างความเสียหายให้กับนักลงทุนอย่างมาก เพิ่งเกิดขึ้นเมื่อปี 2566 ที่ผ่านมานี่เอง นั่นก็คือ ใน บริษัท สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ STARK ซึ่งเป็นมหากาพย์การโกงที่สร้างความเสียหายหลายหมื่นล้านบาท ซึ่งจากข้อมูลของสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) พบว่า คดีทุจริตในบริษัท สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น มีการโกงเงินไปกว่า 2 หมื่นล้านบาท จากข้อมูลทางการสืบสวนสอบสวน ชี้ว่า ‘นายชนินทร์ เย็นสุดใจ’ อดีตประธาน STARK หนึ่งในผู้ต้องหาที่หลบหนีอยู่ต่างประเทศ โยกเงินไปอยู่ที่อังกฤษอีกประมาณ 8,000 ล้านบาท

ทั้งนี้ กรณีอดีตผู้บริหาร STARK ที่เผ่นหนีออกนอกประเทศ ไม่ใช่ผู้บริหารของบริษัทจดทะเบียนรายแรกที่หอบเงินหนีคดีไปอยู่ต่างประเทศ 

ย้อนไปเมื่อปี 2551 นายสมพงษ์ วิทยารักษ์สรรค์ อดีตประธานกรรมการบริษัท เอส อี ซี ออร์โต้เซลล์ แอนด์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ SECC ผู้นำเข้าและจำหน่ายรถหรูรายใหญ่ ได้ทุจริตยักยอกทรัพย์ทำให้บริษัทได้รับความเสียหายกว่า 1,000 ล้านบาท ซึ่งหนีคดีหอบเงินนับร้อยล้านเผ่นออกต่างประเทศ จนถึงทุกวันนี้ก็ยังไม่สามารถตามตัวกลับมารับโทษได้

นอกจากนี้ ยังมีกรณีสุดอื้อฉาวของวงการตลาดหุ้นไทย เมื่อนายสุริยา ลาภวิสุทธิสิน อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ หนีคดีหุ้นบริษัท ปิคนิค คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ PICNIC ซึ่งโยงใยในการยักยอกทรัพย์บริษัท เวิลด์แก๊ส (ประเทศไทย) จำกัด นักลงทุนที่เจ๊งกันระนาว รวมถึงบรรดา สส. และนักการเมืองที่ได้รับการจัดสรรหุ้นเพิ่มทุน ต่างน้ำตาตกไปตาม ๆ กัน เพราะก่อนที่หุ้นเพิ่มทุน PICNIC จะเข้าทำการซื้อขาย เริ่มมีข่าวลือร้าย ๆ ออกมา ทำให้ราคาหุ้นรูดชนิดกู่ไม่กลับ และสุดท้ายนายสุริยา ได้เผ่นหนีคดี จนป่านนี้ยังไม่รู้อยู่แห่งหนใด

อีกหนึ่งกรณีการโกงที่สร้างความเจ็บปวดที่หลายคนยังจำได้ดี เพราะสร้างความเสียหายในวงกว้างนั่นก็คือ บริษัท แคลิฟอร์เนีย ว้าว เอ็กพีเรียนซ์ จำกัด (มหาชน) หรือ CAWOW เจ้าของแคลิฟอร์เนียฟิตเนส ซึ่งไม่เพียงแต่สร้างความเสียหายให้กับนักลงทุนเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงลูกค้าที่จ่ายเงินค่าสมาชิกไปล่วงหน้าอีกมากมาย 

สำหรับ บริษัท แคลิฟอร์เนีย ว้าวฯ ก่อตั้งโดยนายเอริค มาร์ค เลอวีน ชาวสหรัฐฯ เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ปลายปี 2548 ในราคาหุ้นละ 6 บาท และสามารถแสดงผลประกอบการที่มีกำไรได้เพียงปีเดียวคือ ปี 2549 ก่อนจะขาดทุนต่อเนื่อง จนกระทั่งถูกตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยสั่งฟื้นฟูกิจการ และพักการซื้อขายในปี 2554 จากนั้นได้ทยอยปิดสาขาลงจนหมด และสุดท้ายนายเอริค ก็หอบเงินที่โกงจากสมาชิกและปล้นจากนักลงทุนในตลาดหุ้น หนีเข้ากลีบเมฆ กลับไปเสวยสุขในบ้านเกิดตัวเอง และจนถึงปัจจุบันกฎหมายไทยยังไม่สามารถจัดการกับฝรั่งจอมโกงรายนี้ได้

นี่เป็นเพียงบางส่วนของมหากาพย์การโกงในตลาดหุ้นไทย ซึ่งเกิดจากตัวผู้บริหารที่ทำการทุจริตบริษัทตัวเอง เป็นการปล้นนักลงทุนผ่านตลาดหุ้นแล้วก็หอบเงินหนีไปเสวยสุข ซึ่งเชื่อว่าจะยังมีกรณีเช่นนี้เกิดขึ้นอีกอย่างแน่นอน ตราบใดที่ผู้บริหารไร้ซึ่งธรรมาภิบาลและยังมีความโลภครอบงำ

แต่อย่างไรก็ดี เมื่อเกิดเหตุการณ์โกงแบบหน้าด้าน ๆ แล้ว สิ่งที่นักลงทุนหรือผู้ที่ได้รับความเสียหายต้องการอย่างยิ่ง คงหนีไม่พ้นการชดใช้ และนำตัวคนผิดมาลงโทษตามกฎหมาย แต่ดูเหมือนว่า หน่วยงานที่รับผิดชอบกลับไม่สามารถนำตัวคนกระทำผิดมาดำเนินคดีได้เลย 

นอกจากนี้ ตลาดทุนไทยกำลังเผชิญกับอีกหนึ่งปัญหาที่กำลังสร้างผลกระทบอย่างมากในขณะนี้ นั่นก็คือ การผิดนัดชำระหนี้ ‘หุ้นกู้’ จากข้อมูลของสมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) ระบุว่า ชำระหนี้หุ้นกู้ในปี 2566 มีมูลค่ารวมทัั้งหมด 16,363 ล้านบาท ประกอบด้วย

บริษัท ออลล์ อินสไปร์ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) หรือ ALL ทั้งหมด 7 รุ่น รวม 2,334 ล้านบาท
บริษัท สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ STARK ทั้งหมด 9 รุ่น รวม 9,198 ล้านบาท 
บริษัท ช ทวี จำกัด (มหาชน) หรือ CHO ทั้งหมด 4 รุ่น 409 ล้านบาท
บริษัท เดซติเนชั่น รีสอร์ทส์ จำกัด หรือ DR ทั้งหมด 2 รุ่น 1,210 ล้านบาท
บริษัท เจเคเอ็น โกลบอล กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ JKN ทั้งหมด 7 รุ่น 3,212 ล้านบาท

แน่นอนว่า ในบรรดาบริษัทที่ผิดนัดชำระหนี้หุ้นกู้ในปีที่ผ่านมา ที่ฮือฮามากที่สุดก็คงหนีไม่พ้น JKN ของแอน-จักรพงษ์ จักราจุฑาธิบดี ที่ลอยหน้าลอยตาท่องคาถาการใช้เงินผิดประเภท (Mismatch Fund) ผ่านสื่อ แต่ฉับพลันก็ขอเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูเพื่อใช้เงื่อนกฎหมายสะกดเจ้าหนี้

ทั้ง ๆ ที่นักลงทุนและเจ้าหนี้ทั้งหลายต่างทราบกันดีว่า ลำพัง Mismatch Fund ไม่อาจเข้าเงื่อนไขฟื้นฟูแต่อย่างใด ได้ยินมาว่าเจ้าหนี้กำลังคอยให้สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เข้ามาตรวจสอบธุรกรรมทางการเงินที่ผิดปกติ (Forensic Accounting) เพื่อจะได้ประจักษ์ความจริงว่ามีสิ่งแปลกปลอมอะไรบ้างในงบของ JKN

จากเหตุการณ์ผิดนัดชำระหนี้หุ้นกู้ที่เกิดขึ้นในปีที่ผ่านมา ซึ่งดูเหมือนจะเป็นโดมิโน่ที่สร้างผลกระทบต่อระบบตลาดทุนและความเชื่อมั่นของนักลงทุนอย่างหนัก หากรัฐบาลและหน่วยงานกำกับไม่เข้ามาดูแลจัดการอย่างจริงจัง สุดท้ายแล้ว จะส่งผลเสียต่อโครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศในอนาคต เพราะบริษัทจดทะเบียนจะระดมทุนผ่านการออกหุ้นกู้ได้ยากขึ้น

และเพียงเริ่มต้นปีไม่ถึงครึ่งเดือน ก็ยังมีข่าวว่า บริษัทรับเหมาก่อสร้างรายใหญ่กำลังมีปัญหาเสี่ยงผิดนัดชำระหนี้เงินกู้ออกมา ให้นักลงทุนและเจ้าหนี้หนาว ๆ ร้อน ๆ ชนิดที่ต้องลุ้นติดตามข่าวกันทุกวัน 

อย่างไรก็ดี ขอเป็นกำลังใจผู้บริหารที่กำลังพบกับปัญหาต่าง ๆ ‘ไม่หนี และ ผ่าฟันอุปสรรค’ ให้กลับมายิ่งใหญ่ได้อีกครั้ง


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top