มหากาพย์โกงในตลาดหุ้น อดีต - ปัจจุบัน ผู้บริหารหอบเงินเสวยสุข - ทิ้งนักลงทุนน้ำตาตก

‘การลงทุน’ ให้เงินงอกเงยนั้น เป็นสิ่งที่คนทั่วไปต่างคาดหวัง ขณะที่ ‘ตลาดหุ้น’ คือ แหล่งลงทุนที่คนส่วนใหญ่เลือก แต่ทว่าไม่ใช่เรื่องง่าย ๆ ที่จะได้กำไรเสมอไป เพราะมีความเสี่ยงหลาย ๆ อย่างที่เราไม่สามารถคาดการณ์ได้ และหากเป็นการขาดทุนจากภาวะปกติของการดำเนินธุรกิจของบริษัทที่เรานำเงินเข้าไปลงทุนก็คงไม่น่าเจ็บใจนัก แต่ถ้าเกิดจากการทุจริตของผู้บริหารจนทำให้บริษัทขาดทุนล้มละลาย แบบนี้เป็นเรื่องยากที่นักลงทุนจะทำใจได้

ที่ผ่านมา มีกรณีที่ผู้บริหารบริษัทในตลาดหลักทรัพย์กระทำการทุจริต จนทำให้เกิดความเสียหาย ส่งผลให้นักลงทุนสูญเสียเงินมาแล้วหลายกรณี บางกรณีผู้บริหารโกง พร้อมหอบเงินหนีคดีไปเสวยสุขในต่างประเทศหลายราย 

สำหรับหายนะครั้งล่าสุดที่สร้างความเสียหายให้กับนักลงทุนอย่างมาก เพิ่งเกิดขึ้นเมื่อปี 2566 ที่ผ่านมานี่เอง นั่นก็คือ ใน บริษัท สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ STARK ซึ่งเป็นมหากาพย์การโกงที่สร้างความเสียหายหลายหมื่นล้านบาท ซึ่งจากข้อมูลของสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) พบว่า คดีทุจริตในบริษัท สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น มีการโกงเงินไปกว่า 2 หมื่นล้านบาท จากข้อมูลทางการสืบสวนสอบสวน ชี้ว่า ‘นายชนินทร์ เย็นสุดใจ’ อดีตประธาน STARK หนึ่งในผู้ต้องหาที่หลบหนีอยู่ต่างประเทศ โยกเงินไปอยู่ที่อังกฤษอีกประมาณ 8,000 ล้านบาท

ทั้งนี้ กรณีอดีตผู้บริหาร STARK ที่เผ่นหนีออกนอกประเทศ ไม่ใช่ผู้บริหารของบริษัทจดทะเบียนรายแรกที่หอบเงินหนีคดีไปอยู่ต่างประเทศ 

ย้อนไปเมื่อปี 2551 นายสมพงษ์ วิทยารักษ์สรรค์ อดีตประธานกรรมการบริษัท เอส อี ซี ออร์โต้เซลล์ แอนด์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ SECC ผู้นำเข้าและจำหน่ายรถหรูรายใหญ่ ได้ทุจริตยักยอกทรัพย์ทำให้บริษัทได้รับความเสียหายกว่า 1,000 ล้านบาท ซึ่งหนีคดีหอบเงินนับร้อยล้านเผ่นออกต่างประเทศ จนถึงทุกวันนี้ก็ยังไม่สามารถตามตัวกลับมารับโทษได้

นอกจากนี้ ยังมีกรณีสุดอื้อฉาวของวงการตลาดหุ้นไทย เมื่อนายสุริยา ลาภวิสุทธิสิน อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ หนีคดีหุ้นบริษัท ปิคนิค คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ PICNIC ซึ่งโยงใยในการยักยอกทรัพย์บริษัท เวิลด์แก๊ส (ประเทศไทย) จำกัด นักลงทุนที่เจ๊งกันระนาว รวมถึงบรรดา สส. และนักการเมืองที่ได้รับการจัดสรรหุ้นเพิ่มทุน ต่างน้ำตาตกไปตาม ๆ กัน เพราะก่อนที่หุ้นเพิ่มทุน PICNIC จะเข้าทำการซื้อขาย เริ่มมีข่าวลือร้าย ๆ ออกมา ทำให้ราคาหุ้นรูดชนิดกู่ไม่กลับ และสุดท้ายนายสุริยา ได้เผ่นหนีคดี จนป่านนี้ยังไม่รู้อยู่แห่งหนใด

อีกหนึ่งกรณีการโกงที่สร้างความเจ็บปวดที่หลายคนยังจำได้ดี เพราะสร้างความเสียหายในวงกว้างนั่นก็คือ บริษัท แคลิฟอร์เนีย ว้าว เอ็กพีเรียนซ์ จำกัด (มหาชน) หรือ CAWOW เจ้าของแคลิฟอร์เนียฟิตเนส ซึ่งไม่เพียงแต่สร้างความเสียหายให้กับนักลงทุนเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงลูกค้าที่จ่ายเงินค่าสมาชิกไปล่วงหน้าอีกมากมาย 

สำหรับ บริษัท แคลิฟอร์เนีย ว้าวฯ ก่อตั้งโดยนายเอริค มาร์ค เลอวีน ชาวสหรัฐฯ เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ปลายปี 2548 ในราคาหุ้นละ 6 บาท และสามารถแสดงผลประกอบการที่มีกำไรได้เพียงปีเดียวคือ ปี 2549 ก่อนจะขาดทุนต่อเนื่อง จนกระทั่งถูกตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยสั่งฟื้นฟูกิจการ และพักการซื้อขายในปี 2554 จากนั้นได้ทยอยปิดสาขาลงจนหมด และสุดท้ายนายเอริค ก็หอบเงินที่โกงจากสมาชิกและปล้นจากนักลงทุนในตลาดหุ้น หนีเข้ากลีบเมฆ กลับไปเสวยสุขในบ้านเกิดตัวเอง และจนถึงปัจจุบันกฎหมายไทยยังไม่สามารถจัดการกับฝรั่งจอมโกงรายนี้ได้

นี่เป็นเพียงบางส่วนของมหากาพย์การโกงในตลาดหุ้นไทย ซึ่งเกิดจากตัวผู้บริหารที่ทำการทุจริตบริษัทตัวเอง เป็นการปล้นนักลงทุนผ่านตลาดหุ้นแล้วก็หอบเงินหนีไปเสวยสุข ซึ่งเชื่อว่าจะยังมีกรณีเช่นนี้เกิดขึ้นอีกอย่างแน่นอน ตราบใดที่ผู้บริหารไร้ซึ่งธรรมาภิบาลและยังมีความโลภครอบงำ

แต่อย่างไรก็ดี เมื่อเกิดเหตุการณ์โกงแบบหน้าด้าน ๆ แล้ว สิ่งที่นักลงทุนหรือผู้ที่ได้รับความเสียหายต้องการอย่างยิ่ง คงหนีไม่พ้นการชดใช้ และนำตัวคนผิดมาลงโทษตามกฎหมาย แต่ดูเหมือนว่า หน่วยงานที่รับผิดชอบกลับไม่สามารถนำตัวคนกระทำผิดมาดำเนินคดีได้เลย 

นอกจากนี้ ตลาดทุนไทยกำลังเผชิญกับอีกหนึ่งปัญหาที่กำลังสร้างผลกระทบอย่างมากในขณะนี้ นั่นก็คือ การผิดนัดชำระหนี้ ‘หุ้นกู้’ จากข้อมูลของสมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) ระบุว่า ชำระหนี้หุ้นกู้ในปี 2566 มีมูลค่ารวมทัั้งหมด 16,363 ล้านบาท ประกอบด้วย

บริษัท ออลล์ อินสไปร์ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) หรือ ALL ทั้งหมด 7 รุ่น รวม 2,334 ล้านบาท
บริษัท สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ STARK ทั้งหมด 9 รุ่น รวม 9,198 ล้านบาท 
บริษัท ช ทวี จำกัด (มหาชน) หรือ CHO ทั้งหมด 4 รุ่น 409 ล้านบาท
บริษัท เดซติเนชั่น รีสอร์ทส์ จำกัด หรือ DR ทั้งหมด 2 รุ่น 1,210 ล้านบาท
บริษัท เจเคเอ็น โกลบอล กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ JKN ทั้งหมด 7 รุ่น 3,212 ล้านบาท

แน่นอนว่า ในบรรดาบริษัทที่ผิดนัดชำระหนี้หุ้นกู้ในปีที่ผ่านมา ที่ฮือฮามากที่สุดก็คงหนีไม่พ้น JKN ของแอน-จักรพงษ์ จักราจุฑาธิบดี ที่ลอยหน้าลอยตาท่องคาถาการใช้เงินผิดประเภท (Mismatch Fund) ผ่านสื่อ แต่ฉับพลันก็ขอเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูเพื่อใช้เงื่อนกฎหมายสะกดเจ้าหนี้

ทั้ง ๆ ที่นักลงทุนและเจ้าหนี้ทั้งหลายต่างทราบกันดีว่า ลำพัง Mismatch Fund ไม่อาจเข้าเงื่อนไขฟื้นฟูแต่อย่างใด ได้ยินมาว่าเจ้าหนี้กำลังคอยให้สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เข้ามาตรวจสอบธุรกรรมทางการเงินที่ผิดปกติ (Forensic Accounting) เพื่อจะได้ประจักษ์ความจริงว่ามีสิ่งแปลกปลอมอะไรบ้างในงบของ JKN

จากเหตุการณ์ผิดนัดชำระหนี้หุ้นกู้ที่เกิดขึ้นในปีที่ผ่านมา ซึ่งดูเหมือนจะเป็นโดมิโน่ที่สร้างผลกระทบต่อระบบตลาดทุนและความเชื่อมั่นของนักลงทุนอย่างหนัก หากรัฐบาลและหน่วยงานกำกับไม่เข้ามาดูแลจัดการอย่างจริงจัง สุดท้ายแล้ว จะส่งผลเสียต่อโครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศในอนาคต เพราะบริษัทจดทะเบียนจะระดมทุนผ่านการออกหุ้นกู้ได้ยากขึ้น

และเพียงเริ่มต้นปีไม่ถึงครึ่งเดือน ก็ยังมีข่าวว่า บริษัทรับเหมาก่อสร้างรายใหญ่กำลังมีปัญหาเสี่ยงผิดนัดชำระหนี้เงินกู้ออกมา ให้นักลงทุนและเจ้าหนี้หนาว ๆ ร้อน ๆ ชนิดที่ต้องลุ้นติดตามข่าวกันทุกวัน 

อย่างไรก็ดี ขอเป็นกำลังใจผู้บริหารที่กำลังพบกับปัญหาต่าง ๆ ‘ไม่หนี และ ผ่าฟันอุปสรรค’ ให้กลับมายิ่งใหญ่ได้อีกครั้ง