‘อินเดีย’ ส่งยาน ‘จันทรายาน-3’ ขึ้นสู่ห้วงอวกาศ ลงจอดที่ขั้วโลกใต้ของดวงจันทร์สำเร็จเป็นชาติแรก

เมื่อวันที่ 23 ส.ค. 66 ยานสำรวจ จันทรายาน-3 ของ อินเดีย ลงจอดบริเวณขั้วโลกใต้ของดวงจันทร์เป็นผลสำเร็จแล้วเมื่อเวลาประมาณ 19.34 น.ของเมื่อวันที่ 23 ส.ค.ที่ผ่านมา ตามเวลาในประเทศไทย ท่ามกลางการส่งเสียงเชียร์ด้วยความดีใจของบรรดานักวิทยาศาสตร์ขององค์การวิจัยอวกาศอินเดีย (ไอเอสอาร์โอ) และชาวอินเดียทั่วประเทศที่ลุ้นกันตัวโก่ง

ภารกิจในห้วงอวกาศครั้งประวัติศาสตร์นี้ ส่งผลให้อินเดียกลายเป็นชาติแรกที่ส่งยานอวกาศลงจอดขั้วโลกใต้ของดวงจันทร์เป็นผลสำเร็จ และเป็นประเทศที่ 4 ของโลกที่สามารถส่งยานอวกาศไปลงดวงจันทร์ได้ ต่อจากอดีตสหภาพโซเวียต สหรัฐอเมริกา และ จีน ซึ่งทำให้อินเดียผงาดสู่การเป็นมหาอำนาจอวกาศอีกชาติหนึ่ง

ภายหลังจากที่ยานจันทรายาน 3 ได้ลงจอดสำเร็จนั้น หน่วยงานอวกาศรอสคอส ของรัสเซีย ได้แสดงความยินดีกับอินเดีย ที่ประสบความสำเร็จในการลงจอดของยานอวกาศนี้ ผ่านแถลงการณ์ โดยระบุว่า การสำรวจดวงจันทร์มีความสำคัญต่อมนุษยชาติทั้งหมด ในอนาคต มันอาจกลายเป็นเวทีสำหรับการเรียนรู้อวกาศที่ลึกซึ้งยิ่งขึ้น

นายนเรนทรา โมดี นายกรัฐมนตรีอินเดีย ซึ่งร่วมชมการถ่ายทอดสดขณะยานจันทรายาน-3 ลงจอดบนขั้วโลกใต้ของดวงจันทร์ด้วยในระหว่างที่เขาอยู่ในระหว่างร่วมการประชุมสุดยอดกลุ่มบริกส์อยู่ที่ประเทศแอฟริกาใต้ เขาได้โบกธงชาติอินเดียและกล่าวอย่างปลาบปลื้มในการประกาศความสำเร็จของภารกิจนี้ครั้งนี้ว่า นี่เป็นชัยชนะของอินเดีย

“แนวทางที่มีมนุษยชาติเป็นศูนย์กลางนี้… คือ โลกหนึ่งใบ หนึ่งครอบครัว อนาคตหนึ่งเดียวที่กำลังก้องกังวานไปทั่วโลก” เขาระบุ และยังสนับสนุนให้ประเทศอื่นๆ ได้เปิดภารกิจของตนเอง โดยกล่าวว่า ความสำเร็จของอินเดีย คือความสำเร็จของมวลมนุษยชาติ

“เราทุกคนสามารถปรารถนาถึงดวงจันทร์ และที่อื่นๆเหนือไปกว่านั้นได้”

“ท้องฟ้าไม่ใช่ขีดจำกัดอีกต่อไป” นเรนทรา โมดี กล่าว

ภารกิจจันทรายาน-3 ครั้งนี้ ซึ่งเป็นความพยายามครั้งที่ 2 ของอินเดียในความพยายามส่งยานอวกาศลงบนพื้นผิวดวงจันทร์นั้น มีขึ้นไม่ถึงสัปดาห์หลังจากยานลูนา-25 ของรัสเซีย ประสบความล้มเหลวที่จะลงจอดบนดวงจันทร์

ทั้งนี้ คาดว่าจันทรายาน-3 จะยังคงทำงานได้เป็นเวลา 2 สัปดาห์ โดยทำการทดลองหลายชุด รวมถึงการวิเคราะห์องค์ประกอบของแร่ธาตุบนพื้นผิวดวงจันทร์

ทั้งนี้ ภารกิจนี้เปิดตัวเมื่อเกือบ 6 สัปดาห์ที่ผ่านมาโดยมีผู้ชมหลายพันคนที่ส่งเสียงให้กำลังใจเป็นสักขีพยาน โดยเคลื่อนที่ไปตามวงโคจรของโลกเป็นเวลาราว 10 วัน และเข้าไปโคจรรอบดวงจันทร์ได้สำเร็จในวันที่ 6 สิงหาคม