Sunday, 5 May 2024
ดวงจันทร์

'นาซา' ระแวง!! หวั่นจีนอาจอ้างกรรมสิทธิ์เหนือดวงจันทร์ หากชนะสหรัฐฯ ในสมรภูมิแข่งขันด้านอวกาศ

จีนอาจพยายามเข้าควบคุมตำแหน่งที่ตั้งต่าง ๆ ซึ่งอุดมไปด้วยทรัพยากรมากที่สุดบนดวงจันทร์ หากว่าปักกิ่งมีชัยชนะในการแข่งขันเหนืออเมริกา สำหรับดวงดาวบริวารเพียงดวงเดียวของโลกดวงนี้ จากความเห็นของ บิล เนลสัน ผู้อำนวยการองค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติสหรัฐฯ (นาซา)

"มันเป็นความจริง เราอยู่ในศึกแข่งขันด้านอวกาศ" เนลสัน ให้สัมภาษณ์กับเว็บไซต์ข่าวสหรัฐฯ ‘โพลิติโค’ เมื่อวันอาทิตย์ (1 ม.ค.) พร้อมเตือนว่า "และมันเป็นความจริงที่เราต้องระแวดระวังมากขึ้นว่าจีนจะไม่เข้าควบคุมสถานที่หนึ่งๆ บนดวงจันทร์ ภายใต้หน้ากากของงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์ และมันไม่ใช่เรื่องเกินเลยในขอบเขตความเป็นไปได้ ที่พวกเขาจะบอกว่าพื้นที่นี้ห้ามเข้า เราอยู่ที่นี่ นี่คือดินแดนของเรา"

ผู้อำนวยการองค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติสหรัฐฯ กล่าวต่อว่า "ปัญหาคือ ณ ตอนนี้มันมีหลายพื้นที่ทางขั้วใต้ของดวงจันทร์เท่านั้นที่เหมาะสมกับสิ่งที่เราคิด สำหรับกักเก็บน้ำและอื่น ๆ เป็นต้น"

เนลสัน พาดพิงพฤติกรรมของจีนในผืนโลก ในการให้เหตุผลเกี่ยวกับคำกล่าวอ้างดังกล่าว โดยระบุว่า "ถ้าคุณคลางแคลงใจ คุณลองดูสิ่งที่พวกเขาทำกับหมู่เกาะสแปตลีย์สิ" เขากล่าวอ้างถึงหมู่เกาะในทะเลจีนใต้ ซึ่งประเทศอื่น ๆ โต้แย้งกล่าวอ้างกรรมสิทธิ์เช่นกัน แต่กองทัพจีนได้เข้าไปจัดตั้งฐานทัพเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

ในปี 2019 จีนกลายเป็นประเทศแรกที่สามารถลงจอดแบบนุ่มนวลในด้านห่างไกลของดวงจันทร์ ส่วนหนึ่งในภารกิจของยานฉางเอ๋อ 4 และหุ่นยนต์สำรวจขนาดเล็กที่ชื่อ อวี้ทู่ 2 ทั้งนี้ ต่อมามันได้ส่งตัวอย่างดวงจันทร์กลับมายังโลก และทางปักกิ่งคาดหมายว่าพวกเขาจะสามารถส่งมนุษย์ขึ้นไปบนดวงจันทร์ก่อนปี 2023 และจากนั้นจะจัดตั้งสถานีวิจัยทางวิทยาศาสตร์บนดวงจันทร์เป็นลำดับต่อไป

ช่วงไม่ปีที่ผ่านมา องค์กรอวกาศแห่งชาติจีน (CNSA) ยังประสบความสำเร็จในการส่งยานอวกาศและยานโรเวอร์ไปดาวอังคารด้วยเช่นกัน รวมถึงปล่อยสถานีอวกาศแห่งชาติขึ้นสู่วงโคจรรอบโลก

เนลสันยอมรับว่า "ภายในทศวรรษที่ผ่านมา จีนประสบความสำเร็จอย่างมโหฬารและมีความก้าวหน้ามากมายในด้านโครงการอวกาศ" 

‘NASA’ เผย การโคจรสำรวจรอบดวงจันทร์ สำเร็จในรอบ 50 ปี คาด มนุษย์อาจสามารถไปใช้ชีวิตอยู่ที่นั่นได้ภายใน 10 ปีนี้!!

หลังจาก โครงการอาร์ทิมิส 1 (Artemis I) ของ NASA ที่ได้ส่งจรวดกลับไปสำรวจ ด้วยการโคจรรอบดวงจันทร์ ในรอบ 50 ปี เป็นผลสำเร็จ ทำให้วงการดาราศาสตร์ได้มีการคาดการว่า มนุษย์โลกจะสามารถย้ายไปอยู่ในดวงจันทร์ ดาวบริวารเพียงหนึ่งเดียวของโลกได้ในอีก 10 ปีนี้

‘โฮวาร์ด ฮู’ (Howard Hu) หัวหน้าโครงการยานอวกาศโอไรออน (Orion) ในโครงการอาร์ทิมิส 1 ได้กล่าวว่า มนุษย์จะขึ้นไปอยู่ทำงานทางวิทยาศาสตร์และใช้ชีวิตบนดวงจันทร์อยู่ช่วงระยะเวลาหนึ่งก่อนสิ้นทศวรรษนี้

“แน่นอนว่าในทศวรรษนี้ เราจะมีคนอยู่ที่นั่นชั่วระยะเวลาหนึ่ง ขึ้นอยู่กับว่าเราจะให้อยู่บนพื้นผิว (ดวงจันทร์) นานแค่ไหน พวกเขาจะมียานโรเวอร์อยู่บนพื้นดิน” ฮู กล่าว “เราจะส่งคนลงไปที่พื้นผิว และพวกเขาจะอาศัยอยู่ที่นั่นพร้อมกับทำงานด้านวิทยาศาสตร์”

สำหรับโครงการอาร์ทิมิส 1 เป็นโครงการของนาซาพยายามนำมนุษย์กลับไปสู่ดวงจันทร์อีกครั้งในรอบ 50 ปี โดยในเที่ยวบินแรกที่เพิ่งปล่อยตัวไปนี้เป็นการทดสอบระบบจรวดใหม่ที่มีชื่อว่า ‘Space Launch System’ หรือ SLS เป็นหนึ่งในจรวดที่ทรงพลังที่สุดเท่าที่เคยมีการสร้างมา และมียานอวกาศโอไรออนติดตั้งอยู่ส่วนบนสุดของจรวด

ในโครงการการสำรวจนี้ ภายที่ปล่อยนั้น จะมีหุ่นคล้ายมนุษย์ทำหน้าที่บันทึกสิ่งต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นกับลูกเรือที่เป็นมนุษย์ในอนาคตเช่นความดัน แรงของการบิน และการสัมผัสกับรังสี นอกจากนี้โอไรออนยังบรรทุกเมล็กพืช รา ยีสต์ และสาหร่ายไว้ในภาชนะที่เรียกว่า ‘การทดลองทางชีวภาพ 1 (Biological Experiment - 1)’ ซึ่งจะช่วยเผยให้เห็นว่าสิ่งมีชีวิตตอบสนองต่อสภาพที่รุนแรงของห้วงอวกาศอย่างไร และรวมไปถึงการตอบสนองต่อสภาวะไร้น้ำหนัก

“ผมคิดว่านี่เป็นวันประวัติศาสตร์สำหรับนาซา และก็เป็นวันประวัติศาสตร์สำหรับทุกคนที่รักการบินอวกาศของมนุษย์ รวมทั้งการสำรวจห้วงอวกาศด้วย เรากำลังกลับไปที่ดวงจันทร์ และทำงานเพื่อโครงการที่ยั่งยืน และนี่คือพาหนะที่จะนำพาผู้คนกลับไปเหยียบดวงจันทร์อีกครั้ง”

หัวหน้าโครงการยานอวกาศโอไรออน กล่าวเสริมตามแผนที่ได้วางไว้ในการกลับไปดวงจัทร์อีกครั้ง เป้าหมายเร็วที่สุดคือภายในเดือนพฤษภาคมปี 2024 ในโครงการ ‘อาร์ทิมิส 2’ และ ‘อาร์ทิมิส 3’ จะมีลูกเรือคนแรกที่เดินทางจากพื้นผิวดวงจันทร์ไปสู่การผจญภัยครั้งใหม่ จากนั้น ‘อาร์ทิมิส 4’ จะเป็นการเริ่มก่อสร้างสถานีอวกาศในวงโครจรของดวงจันทร์

“นี่เป็นการเปิดหน้าแรกของการสำรวจอวกาศบทใหม่” จาคอบ บลีชเชอร์ (Jacob Bleacher) หัวหน้านักวิทยาศาสตร์ของโครงการกล่าว

ขณะที่ บิล เนลสัน (Bill Nelson) ผู้บริหารของนาซา เสริมว่า “เรากำลังกลับไปที่ดวงจันทร์เพื่อใช้ชีวิตและเรียนรู้ เพื่อที่จะไปดาวอังคาร นั่นคือการผจญภัยครั้งยิ่งใหญ่ต่อไป”


ที่มา : BBC / National Geographic Thailand
https://mgronline.com/science/detail/9660000040954
 

‘จีน’ เตรียมเผยโฉม ‘แผนที่ธรณีวิทยาดวงจันทร์’ ฉบับมาตราส่วน 1:2.5 ล้าน ละเอียดสูงที่สุดในโลก

(10 ส.ค. 66) สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า คณะนักวิจัยของจีนเปิดเผยแผนการเผยแพร่แผนที่ทางธรณีวิทยาของดวงจันทร์เต็มดวง ฉบับออนไลน์ ซึ่งจะมีความละเอียดสูงสุดในโลกภายในปีนี้ หลังจากสร้างแผนที่ทางธรณีวิทยาของดวงจันทร์ มาตราส่วน 1:2,500,000 เสร็จสิ้นเมื่อเดือนพฤษภาคม 2022

หลิวเจี้ยนจง นักวิจัยจากสถาบันธรณีเคมี สังกัดสถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์จีน ซึ่งเป็นบรรณาธิการบริหารประจำการเผยแพร่แผนที่ดวงจันทร์ฉบับนี้ กล่าวว่าแผนที่ดวงจันทร์ฉบับใหม่จะมอบข้อมูลอันมีนัยสำคัญต่อการวิจัยทางวิทยาศาสตร์บนดวงจันทร์ การวางแผนสำรวจ การคัดเลือกพื้นที่ลงจอดในอนาคต ฯลฯ แผนที่ดวงจันทร์เต็มดวงเกิดจากการศึกษา ระยะ 10 ปี ของคณะนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยซานตง สถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์จีน และสถาบันอื่น ๆ โดยแผนที่นี้รวบรวมลักษณะทางธรณีวิทยาของหินบนดวงจันทร์ 17 ประเภท นำเสนอรายละเอียดเกี่ยวกับองค์ประกอบและการกระจายตัวของวัตถุบนพื้นผิวดวงจันทร์ การสร้างแผนที่นี้อ้างอิงข้อมูลจากโครงการสำรวจดวงจันทร์ฉางเอ๋อ (Chang'e) ของจีน กอปรกับข้อมูลการสำรวจดวงจันทร์และผลการวิจัยอื่น ๆ จากทั่วโลก โดยหลิวเสริมว่ามีการผลิตดวงจันทร์จำลองทรงกลมแสดงข้อมูลทางธรณีวิทยาที่ออกแบบตามแผนที่นี้จำนวนมากแล้ว

อนึ่ง คณะนักวิจัยของจีนเปิดเผยแผนการข้างต้นที่งานเทศกาลวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งกุ้ยโจว ซึ่งเพิ่งสิ้นสุดลงในมณฑลกุ้ยโจวทางตะวันตกเฉียงใต้ของจีน พร้อมเสริมว่ามีการสร้างแผนที่ทางธรณีวิทยาของดวงจันทร์ มาตราส่วน 1:1,000,000 ในปัจจุบัน

‘อินเดีย’ ส่งยาน ‘จันทรายาน-3’ ขึ้นสู่ห้วงอวกาศ ลงจอดที่ขั้วโลกใต้ของดวงจันทร์สำเร็จเป็นชาติแรก

เมื่อวันที่ 23 ส.ค. 66 ยานสำรวจ จันทรายาน-3 ของ อินเดีย ลงจอดบริเวณขั้วโลกใต้ของดวงจันทร์เป็นผลสำเร็จแล้วเมื่อเวลาประมาณ 19.34 น.ของเมื่อวันที่ 23 ส.ค.ที่ผ่านมา ตามเวลาในประเทศไทย ท่ามกลางการส่งเสียงเชียร์ด้วยความดีใจของบรรดานักวิทยาศาสตร์ขององค์การวิจัยอวกาศอินเดีย (ไอเอสอาร์โอ) และชาวอินเดียทั่วประเทศที่ลุ้นกันตัวโก่ง

ภารกิจในห้วงอวกาศครั้งประวัติศาสตร์นี้ ส่งผลให้อินเดียกลายเป็นชาติแรกที่ส่งยานอวกาศลงจอดขั้วโลกใต้ของดวงจันทร์เป็นผลสำเร็จ และเป็นประเทศที่ 4 ของโลกที่สามารถส่งยานอวกาศไปลงดวงจันทร์ได้ ต่อจากอดีตสหภาพโซเวียต สหรัฐอเมริกา และ จีน ซึ่งทำให้อินเดียผงาดสู่การเป็นมหาอำนาจอวกาศอีกชาติหนึ่ง

ภายหลังจากที่ยานจันทรายาน 3 ได้ลงจอดสำเร็จนั้น หน่วยงานอวกาศรอสคอส ของรัสเซีย ได้แสดงความยินดีกับอินเดีย ที่ประสบความสำเร็จในการลงจอดของยานอวกาศนี้ ผ่านแถลงการณ์ โดยระบุว่า การสำรวจดวงจันทร์มีความสำคัญต่อมนุษยชาติทั้งหมด ในอนาคต มันอาจกลายเป็นเวทีสำหรับการเรียนรู้อวกาศที่ลึกซึ้งยิ่งขึ้น

นายนเรนทรา โมดี นายกรัฐมนตรีอินเดีย ซึ่งร่วมชมการถ่ายทอดสดขณะยานจันทรายาน-3 ลงจอดบนขั้วโลกใต้ของดวงจันทร์ด้วยในระหว่างที่เขาอยู่ในระหว่างร่วมการประชุมสุดยอดกลุ่มบริกส์อยู่ที่ประเทศแอฟริกาใต้ เขาได้โบกธงชาติอินเดียและกล่าวอย่างปลาบปลื้มในการประกาศความสำเร็จของภารกิจนี้ครั้งนี้ว่า นี่เป็นชัยชนะของอินเดีย

“แนวทางที่มีมนุษยชาติเป็นศูนย์กลางนี้… คือ โลกหนึ่งใบ หนึ่งครอบครัว อนาคตหนึ่งเดียวที่กำลังก้องกังวานไปทั่วโลก” เขาระบุ และยังสนับสนุนให้ประเทศอื่นๆ ได้เปิดภารกิจของตนเอง โดยกล่าวว่า ความสำเร็จของอินเดีย คือความสำเร็จของมวลมนุษยชาติ

“เราทุกคนสามารถปรารถนาถึงดวงจันทร์ และที่อื่นๆเหนือไปกว่านั้นได้”

“ท้องฟ้าไม่ใช่ขีดจำกัดอีกต่อไป” นเรนทรา โมดี กล่าว

ภารกิจจันทรายาน-3 ครั้งนี้ ซึ่งเป็นความพยายามครั้งที่ 2 ของอินเดียในความพยายามส่งยานอวกาศลงบนพื้นผิวดวงจันทร์นั้น มีขึ้นไม่ถึงสัปดาห์หลังจากยานลูนา-25 ของรัสเซีย ประสบความล้มเหลวที่จะลงจอดบนดวงจันทร์

ทั้งนี้ คาดว่าจันทรายาน-3 จะยังคงทำงานได้เป็นเวลา 2 สัปดาห์ โดยทำการทดลองหลายชุด รวมถึงการวิเคราะห์องค์ประกอบของแร่ธาตุบนพื้นผิวดวงจันทร์

ทั้งนี้ ภารกิจนี้เปิดตัวเมื่อเกือบ 6 สัปดาห์ที่ผ่านมาโดยมีผู้ชมหลายพันคนที่ส่งเสียงให้กำลังใจเป็นสักขีพยาน โดยเคลื่อนที่ไปตามวงโคจรของโลกเป็นเวลาราว 10 วัน และเข้าไปโคจรรอบดวงจันทร์ได้สำเร็จในวันที่ 6 สิงหาคม

‘ญี่ปุ่น’ ยิงจรวดขนส่งยาน ‘มูนสไนเปอร์’ ขึ้นสู่อวกาศ มุ่งหน้าทำภารกิจลงจอดดวงจันทร์ เป็นชาติที่ 5 ของโลก

(7 ก.ย. 66) สำนักข่าวบีบีซีรายงานว่า ญี่ปุ่นได้ปล่อยจรวดขนส่ง ‘H-IIA’ เพื่อส่งยานสำรวจดวงจันทร์ ‘มูนสไนเปอร์’ ของญี่ปุ่น พร้อมดาวเทียม ‘X-Ray Imaging and Spectroscopy Mission’ (XRISM)

ออกจากฐานยิงบนเกาะทาเนกาชิมะ ทางตอนใต้ของประเทศ ขึ้นสู่อวกาศเป็นผลสำเร็จ เมื่อวันที่ 7 กันยายน นับเป็นความพยายามครั้งที่ 4 หลังจากครั้งก่อนต้องล้มเหลว เพราะสภาพอากาศไม่เอื้ออำนวย ในภารกิจส่งยานสำรวจมูนสไนเปอร์ลงจอดบนพื้นผิวดวงจันทร์ ที่คาดว่ายานสไนเปอร์จะลงจอดภายในระยะ 100 เมตรจากตำแหน่งใกล้กับปล่อง Shioli บนด้านใกล้ของดวงจันทร์

โดยยานสไนเปอร์จะเข้าสู่วงโคจรของดวงจันทร์ภายใน 4 เดือนนับจากนี้ จากนั้นจะโคจรรอบดวงจันทร์ ก่อนพยายามลงจอดบนพื้นผิวดวงจันทร์ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นได้ในราวเดือนกุมภาพันธ์ ซึ่งหากทุกอย่างเป็นไปอย่างราบรื่น ญี่ปุ่น จะกลายเป็นประเทศที่ 5 ของโลก ที่ส่งยานสำรวจลงจอดบนดวงจันทร์สำเร็จ หลังจากเมื่อเร็วๆ นี้ อินเดีย ได้สร้างประวัติศาสตร์กลายเป็นชาติที่ 4 ของโลกนอกจากสหรัฐ รัสเซียและจีนที่ส่งยานสำรวจไปลงดวงจันทร์สำเร็จ

ทั้งนี้ ภารกิจส่งยานสำรวจมูนสไนเปอร์ไปยังดวงจันทร์ ที่มีมูลค่าโครงการ 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 3,562 ล้านบาท) มีจุดมุ่งหมายเพื่อแสดงให้เห็นถึงความสามารถของญี่ปุ่น ในการส่งยานอวกาศที่มีน้ำหนักเบาและใช้ต้นทุนต่ำไปลงจอดบนดวงจันทร์ได้

นอกจากนี้ จรวดขนส่ง ยังบรรทุกดาวเทียม X-Ray Imaging and Spectroscopy Mission (XRISM) ซึ่งติดกล้องโทรทรรศน์ขนาดเท่ารถบัสไว้ด้วย เพื่อจะไปศึกษาปรากฏการณ์ในอวกาศ เช่น หลุมดำ อันเป็นโครงการร่วมระหว่างหน่วยงานอวกาศของญี่ปุ่น อเมริกา และยุโรป

‘อินเดีย’ ยังไม่สามารถปลุกยานสำรวจดวงจันทร์ได้ หลังเข้าสู่โหมดนอนหลับ แม้ภารกิจจะสำเร็จแล้วก็ตาม

(26 ก.ย. 66) สำนักข่าวบีบีซีรายงานว่า นายเอ เอส คิราน คูมาร์ อดีตผู้อำนวยการองค์การวิจัยอวกาศอินเดีย (ไอเอสอาร์โอ) กล่าวเมื่อวันที่ 25 กันยายนว่า โอกาสที่วิกรม (Vikram) ยานลงจอดดวงจันทร์ของยานสำรวจอวกาศจันทรายาน-3 ของอินเดีย จะติดขึ้นมาอีกครั้งหลังเจอกับคืนข้างแรมอันหนาวเย็นบนดวงจันทร์ได้ลดน้อยลงไปทุกๆ ชั่วโมง แต่บรรดานักวิทยาศาสตร์จะพยายามติดต่อกับยานให้ได้จนถึงวันสุดท้ายของวันข้างขึ้น

ยานลงจอดดวงจันทร์วิกรม ซึ่งบรรจุหุ่นยนต์สำรวจดวงจันทร์ที่ชื่อปรัชญาณ ได้ลงจอดบนขั้วโลกใต้ของดวงจันทร์เมื่อวันที่ 23 สิงหาคมที่ผ่านมา และได้ทำการสำรวจดวงจันทร์เป็นเวลา 2 สัปดาห์ ก่อนที่ทั้งวิกรมและปรัชญาณจะเข้าสู่ sleep mode เมื่อเข้าสู่วันข้างแรม โดยไอเอสอาร์โอหวังว่าแบตเตอรี่ของวิกรมและปรัชญาณจะถูกชาร์จใหม่และตื่นขึ้นมาอีกครั้งเมื่อถึงวันข้างขึ้นในวันที่ 22 กันยายน เนื่องจากยานทั้งสองต้องใช้แสงอาทิตย์ในการชาร์จแบตเตอรี่

อย่างไรก็ดี เมื่อถึงวันข้างขึ้น ไอเอสอาร์โอระบุว่า ทางหน่วยงานกำลังพยายามติดต่อวิกรมและปรัชญาณให้ได้ แต่ตอนนี้พวกเขายังไม่ได้รับสัญญาณใดๆ ตอบกลับมา ซึ่งขณะนี้ไอเอสอาร์โอยังไม่ได้ประกาศความคืบหน้าของความพยายามดังกล่าวแต่อย่างใด

นายคูมาร์กล่าวว่า “ยานลงจอดดวงจันทร์และหุ่นยนต์สำรวจดวงจันทร์มีส่วนประกอบหลายชิ้นที่อาจไม่รอดจากอากาศอันเยือกเย็นบนดวงจันทร์” บริเวณใกล้กับขั้วโลกใต้ของดวงจันทร์อาจมีอุณหภูมิต่ำถึง -200 ถึง -250 องศาเซลเซียสได้ในช่วงกลางคืน

“เราไม่สามารถติดต่อกับยานลงจอดดวงจันทร์ได้เลย เว้นแต่ว่าทรานสมิตเตอร์ของยานจะติดขึ้นมาอีกครั้ง มันต้องบอกเราว่ามันยังมีชีวิตอยู่ และต่อให้ระบบย่อยอื่นๆ ทั้งหมดของยานยังคงทำงานได้ แต่เราก็จะไม่มีทางทราบได้เลย” นายคูมาร์ กล่าวให้ข้อมูล

ทั้งนี้เมื่อตอนที่ไอเอสอาร์โอปรับวิกรมและปรัชญาณเข้าสู่ sleep mode ทางหน่วยงานบอกว่ายานทั้งสองได้บรรลุภารกิจทั้งหมดของตัวเองแล้วแต่หวังว่ามันจะตื่นขึ้นมาอีกครั้งเมื่อถึงวันข้างขึ้นครั้งใหม่ และถึงแม้ว่าวิกรมและปรัชญาณจะไม่ตื่นขึ้นมาทำงานอีกครั้ง แต่ยานทั้งสองจะอยู่บนดวงจันทร์ต่อไปในฐานะทูตดวงจันทร์ของอินเดีย

รู้จัก ‘ทุ่งลาวามอส’ สิ่งมหัศจรรย์ทางธรรมชาติแห่งไอซ์แลนด์ สนามซ้อมของทีมอพอลโล 11 ก่อนได้ประทับรอยเท้าแรกบนดาวต่างดวง

ไม่เพียงแค่ ‘แสงเหนือ’ ที่ลอยล่องสู่สายตานักท่องเที่ยวที่ ‘ไอซ์แลนด์’ ยามพระอาทิตย์ลับขอบฟ้าจะเป็นความมหัศจรรย์ที่ดึงดูดผู้คนทั่วโลกเท่านั้น

หากแต่ดินแดนแห่งนี้ ยังมีความมหัศจรรย์ทางธรรมชาติ อย่าง ‘ทุ่งลาวามอส’ ที่ใหญ่ที่สุดในโลกให้นักท่องเที่ยวได้เยี่ยมชม ‘พืชจิ๋ว’ ที่เติบโตบนซากลาวาอันแข็งแห้งและกระจายไปทั่ว ‘วงแหวนทองคำ’ อีกด้วย

ทั้งนี้ ‘วงแหวนทองคำ’ (Gullni hringurinn หรือ Golden Circle) คือ อีกชื่อหนึ่งของเกาะไอซ์แลนด์ หรือ ‘สาธารณรัฐไอซ์แลนด์’ (Republic of Iceland) ประเทศนอร์ดิกในยุโรปเหนือ ตั้งอยู่บนเกาะในมหาสมุทรแอตแลนติกเหนือ ระหว่างกรีนแลนด์ นอร์เวย์ และ สหราชอาณาจักร มีเมืองหลวงคือ ‘เรคยาวิก’ (Reykjavík) 

โดย ‘ไอซ์แลนด์’ เป็นประเทศที่ตั้งที่อยู่ตรงกลางระหว่างแผ่นเปลือกโลกอเมริกาเหนือ และ แผ่นเปลือกยูเรเชียน เป็นประเทศเดียวที่สามารถมองเห็นหุบเขาแนวแผ่นเปลือกโลกแยกตัว ‘สันเขากลางมหาสมุทรแอตแลนติก’ (Mid-Atlantic Ridge) ที่อยู่เหนือระดับน้ำทะเลได้ ซึ่งการแยกตัวออกจากกันอย่างต่อเนื่องของแผ่นเปลือกโลกทั้ง 2 ทำให้ไอซ์แลนด์มีภูเขาไฟจำนวนมากนั่นเอง

ดังนั้น ไอซ์แลนด์ จึงได้รับฉายาว่า ‘ดินแดนแห่งไฟและน้ำแข็ง’ โดยส่วนของ ‘ไฟ’ มาจากการปะทุของภูเขาไฟนับครั้งไม่ถ้วนในอดีต

>> แล้วทุ่งลาวามอสเกิดจากอะไร? 
ในช่วงปี 1783 ถึง 1784 ได้เกิดการปะทุขนาดใหญ่ของภูเขาไฟ ‘Skaftáreldar’ ที่เป็นอีกหนึ่งภัยพิบัติที่รุนแรงที่สุดของไอซ์แลนด์ หลังจากภูเขาไฟปะทุ ลาวาร้อนๆ ก็ไหลไปสู่ด้านล่าง ตามแม่น้ำ หลอมละลายต้นไม้ต่างๆ จนเหลือแต่ซากของทุ่งลาวาขนาดใหญ่

แต่ในปัจจุบันนั้น นักท่องเที่ยวมีโอกาสน้อยมากที่จะได้เห็นลาวาไหลออกมา ทำให้สิ่งที่จะได้พบเห็นในประเทศนี้ คือ ‘ทุ่งลาวาแห้ง’ ที่มีอายุต่างๆ กันไป เป็นสิ่งมีชีวิตชนิดเดียวที่สามารถเจริญเติบโตได้ และแพร่ขยายไปทั่วประเทศ จนกลายเป็นความมหัศจรรย์ทางธรรมชาติที่ถือกำเนิดขึ้น และเชิญชวนให้ทุกคนต้องมาดูด้วยตาให้ได้สักครั้งในชีวิต ในชื่อ ‘ทุ่งลาวามอส’ (Lava field moss)

สำหรับ ทุ่งลาวามอสที่ใหญ่ที่สุดในไอซ์แลนด์และถือว่าใหญ่ที่สุดในโลกด้วยนั้น จะมีชื่อว่า ‘Eldhraun’ (เอลธรอน) ครอบคลุมพื้นที่ 565 ตร.กม. เกิดการปะทุในปี 1783-1784 (200 กว่าปีที่แล้ว) ถือเป็นการปะทุที่อันตรายที่สุด มีก๊าซพิษปริมาณมากที่ยังหลงเหลือจนถึงปัจจุบัน เหตุการณ์ครั้งนั้นส่งผลกระทบเชิงลบต่อไอซ์แลนด์ ประชากรทั้งหมดถูกบังคับให้อพยพไปยังเดนมาร์ก สัตว์เลี้ยงบนเกาะมากกว่าครึ่งหนึ่งตาย

แม้ปัจจุบัน ‘เอลธรอน’ จะถูกปกคลุมไปด้วยมอสที่ใช้เวลาเกือบร้อยปีกว่าจะโต แต่ดินในทุ่งลาวาเอลธรอน ก็ยังมีความเปราะบางมาก และเป็นสาเหตุที่ทางการไอซ์แลนด์ไม่อนุญาตให้เดินบนทุ่งลาวามอส วิธีที่ดีที่สุดที่จะเก็บความประทับใจคือ จอดรถในบริเวณลานจอดที่จัดเตรียมไว้ และเดินบนเส้นทางที่กำหนด ถ่ายภาพ ซึ่งไม่ว่าจะหันไปมุมไหน ก็สามารถถ่ายภาพความประทับใจได้ทุกมุม ด้วยพื้นที่อันกว้างใหญ่สุดลูกหูลูกตา 

อย่างไรก็ตาม ก็มีอีกเรื่องที่น่าสนใจของที่นี่ เพราะหลังช่วงลาวาแข็งตัว ประกอบกับในช่วงเวลาที่พื้นแห่งที่ถูกปล่อยรกร้าง ทำให้ในปี 1969 สถานที่แห่งนี้ได้ถูกนำมาใช้เป็นที่ฝึกลูกเรือยานอวกาศอพอลโล 11 ของ NASA เพื่อซ้อมเดินบนดวงจันทร์ เนื่องจากมีความคล้ายคลึงกับพื้นผิวดวงจันทร์ ก่อนที่มนุษย์จะได้ขึ้นไปประทับรอยเท้าแรกบนดาวต่างดวงนั่นเอง 

ไทยหน้าบาน!! จีนเลือกอุปกรณ์นักวิทย์ฯ ไทย ติดยาน 'ฉางเอ๋อ 7' ลุยสำรวจดวงจันทร์ปี 69

(16 ต.ค. 66) คณะกรรมการวิทยาศาสตร์ฝ่ายจีนในโครงการฉางเอ๋อ 7 ได้คัดเลือก ‘อุปกรณ์สำรวจสภาพอวกาศระหว่างโลกและดวงจันทร์ ตรวจวัดรังสีคอสมิก และติดตามผลกระทบที่มีต่อโลก’ (Sino-Thai Sensor Package for Space Weather Global Monitoring) เป็น 1 ใน 7 อุปกรณ์วิทยาศาสตร์ที่จะติดตั้งไปกับอวกาศยานฉางเอ๋อ 7

เครื่องมือดังกล่าวมีน้ำหนัก 3 กิโลกรัม ติดตั้งเซ็นเซอร์แม่เหล็กซึ่งจะพุ่งเป้าลงไปยังดวงจันทร์เพื่อตรวจสอบสนามแม่เหล็ก และส่งการแจ้งเตือนเหตุการณ์สภาพอากาศในอวกาศ เช่น พายุสุริยะ ไปยังโลก ในขณะที่เครื่องตรวจจับอีกชิ้นหนึ่งที่จะตรวจวัดรังสีคอสมิกพลังงานต่ำในช่วงพลังงานที่ไม่เคยมีการตรวจสอบอย่างต่อเนื่องมาก่อน

รายงานระบุว่า อุปกรณ์ดังกล่าวได้รับการพัฒนาร่วมกัน นำโดยสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สดร.) และมหาวิทยาลัยมหิดลภายใต้กรอบความร่วมมือด้านการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีการสำรวจอวกาศเชิงลึก ภายใต้โครงการสถานีวิจัยดวงจันทร์นานาชาติ (International Lunar Research Station)

ปัจจุบัน ทีมวิจัยของสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และมหาวิทยาลัยมหิดลกำลังทำงานร่วมกับศูนย์วิทยาศาสตร์อวกาศแห่งชาติในกรุงปักกิ่งเพื่อปรับแต่งการออกแบบเชิงวิศวกรรมโดยละเอียด

ตามแผนโครงการสำรวจดวงจันทร์ระยะที่ 4 ยานอวกาศฉางเอ๋อ-7 จะทำการสำรวจภูมิประเทศขั้วใต้ของดวงจันทร์ รวมทั้งองค์ประกอบของทางกายภาพ และสภาพแวดล้อมในอวกาศ ตั้งเป้าเปิดตัวในปี 2569 เพื่อปูทางสำหรับการก่อสร้างสถานีวิจัยดวงจันทร์นานาชาติ (ILRS) ซึ่งเป็นฐานที่จีนและพันธมิตรระหว่างประเทศจะสร้างบนดวงจันทร์เพื่อการสำรวจทางวิทยาศาสตร์และการใช้ทรัพยากรในช่วงปี 2573

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 25 ก.ย. 2566 สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ และศูนย์ปฏิบัติการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีการสำรวจอวกาศเชิงลึก (Deep Space Exploration Laboratory : DSEL) องค์การบริหารอวกาศแห่งชาติจีน (China National Space Adminnistration: CNSA) ได้ร่วมกันลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือด้านการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีการสำรวจอวกาศเชิงลึก ภายใต้โครงการสถานีวิจัยดวงจันทร์นานาชาติ เพื่อร่วมกันออกแบบและพัฒนาระบบอุปกรณ์ปฏิบัติภารกิจอวกาศ ดาวเทียมวิจัยวิทยาศาสตร์ และอุปกรณ์วิทยาศาสตร์สนับสนุนอื่น ๆ รวมถึงแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ ประสบการณ์ และทักษะเชิงวิจัย ด้านดาราศาสตร์ฟิสิกส์ และวิศวกรรมดาราศาสตร์เชิงลึก ครอบคลุมถึงการสำรวจอวกาศ สภาพอวกาศ วิทยาศาสตร์ข้อมูล และการพัฒนาเทคโนโลยีและวิศวกรรมขั้นสูง

‘สตาร์ตอัปฝรั่งเศส-อเมริกัน’ ผุด ‘ไบโอพ็อด’ โดมเพื่อการเกษตร เตรียมปลูกพืชบนอวกาศ รับการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ในอนาคต

(8 ม.ค. 67) รายงานข่าวจาก บริษัทเทคโนโลยีชีวภาพ อินเทอร์สเตลลาร์ แล็บ สตาร์ทอัพสัญชาติฝรั่งเศส-อเมริกัน ซึ่งมีสำนักงานตั้งอยู่ในกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส และในนครลอสแอนเจลิส ประเทศสหรัฐอเมริกา เป็นผู้ออกแบบโดมเพื่อการเกษตรที่มีชื่อเรียกว่า ‘ไบโอพ็อด’ (BioPod) ที่ได้รับการออกแบบมาเพื่อช่วยเกษตรกรสร้างผลผลิตในท้องถิ่น และสร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมให้น้อยลง

บาร์บารา เบลวีซี ผู้ก่อตั้งบริษัท ยกตัวอย่างว่า ในแง่การลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมนั้น การทดลองปลูกต้นวานิลลาภายในโดมไบโอพ็อด จะเป็นการช่วยลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากการขนส่งวานิลลาจากประเทศหนึ่งไปยังอีกประเทศหนึ่ง

“นอกจากนี้ เรายังใช้ทรัพยากรนํ้าอย่างมีประโยชน์มากขึ้นเทียบกับการเกษตรแบบดั้งเดิม เพราะด้วยวิธีการใหม่นี้ 99% ของนํ้า จะถูกรีไซเคิลและนำกลับมาใช้ใหม่ อีกทั้งยังเป็นการนำก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากชั้นบรรยากาศไปเพิ่มระดับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ภายในโดม” เบลวีซีอธิบาย

การจัดวางองค์ประกอบต่าง ๆ ยังช่วยให้สามารถใช้พื้นที่สำหรับการเกษตรอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยเน้นการใช้พื้นที่แนวตั้งมากกว่าแนวขยายรูปทรงภายนอกของโดมไบโอพ็อด มีลักษณะกลมรี ตัวฐานใช้วัสดุที่สามารถถอดประกอบได้ง่าย พื้นชั้นล่างสุดจะเป็นที่เก็บอุปกรณ์ระบบภายใน ส่วนหลังคาด้านบนใช้เป็นวัสดุโพลิเมอร์เป่าลมให้พองออกได้คล้ายกับโดม

ด้านในประกอบไปด้วยระบบควบคุมอุณหภูมิ ความชื้น ปริมาณออกซิเจน และคาร์บอนไดออกไซด์ในอากาศ รวมถึงแสง และนํ้า นอกจากนี้ยังมีระบบหมุนเวียนรีไซเคิลทั้งนํ้าและอากาศกลับมาใช้ใหม่ เพื่อความยั่งยืนอีกด้วย

ด้วยแนวคิดให้เป็นโมดูลผลิตอาหารแบบยั่งยืน ภายในโดมซึ่งมีพื้นที่ใช้สอยขนาด 55 ตารางเมตร ได้รับการออกแบบให้มีความทนทานต่อสภาพอากาศที่รุนแรงบนอวกาศ โดยตั้งสมมุติฐาน ถ้ามนุษย์ตั้งถิ่นฐานบนดวงจันทร์ อุณหภูมิที่นั่นเมื่อแสงอาทิตย์ส่องอาจจะร้อนได้ถึง 127 องศาเซลเซียส หรือลดลงต่ำสุดได้ถึง -173 องศาเซลเซียสในเวลากลางคืน

‘ไบโอพ็อด’ โดมปลูกพืชบนดวงจันทร์

ทั้งนี้ จากความร่วมมือกับองค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติของสหรัฐอเมริกา หรือ นาซ่า (NASA) จะมีการนำโดมเพื่อการเกษตรไบโอพ็อดนี้ ออกไปทดลองปลูกพืชในอวกาศด้วย โดยมีกำหนดใช้งานบนดวงจันทร์ภายในปี 2027เป้าหมายเพื่อพัฒนาเรือนปลูกพืชสำหรับใช้งานในอวกาศ รองรับการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ในอนาคต ซึ่งอาจจะเป็นดวงจันทร์ที่นาซ่ากำลังมีโครงการนำมนุษย์ไปยังดวงจันทร์ภายในปี 2024 นี้

สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า ผู้บริหารของอินเทอร์สเตลลาร์ แล็บ ได้เข้าร่วมการประชุมสภาพภูมิอากาศ COP28 ที่จัดโดยสหประชาชาติที่เมืองดูไบ ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ยูเออี) เมื่อเร็ว ๆ นี้ เพื่อแนะนำโครงการและระดมทุนสำหรับ

โครงการนี้ โดยคาดว่าเมื่อบริษัทผลิตโดมไบโอพ็อดออกจำหน่ายเพื่อการพาณิชย์ จะมีราคาอยู่ที่ประมาณ 350,000 ดอลลาร์ หรือราว 12 ล้านบาท

ผู้บริหารของบริษัทกล่าวว่า หลายภูมิภาคทั่วโลกมีอุณหภูมิร้อนขึ้น นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่าการผสมพันธุ์ดัดแปรพันธุกรรมอาจนำไปสู่การปรับปรุงพืชให้สามารถทนทานต่อความร้อนได้ดีขึ้น แต่พืชบางชนิดเช่น มันฝรั่ง ก็มีความเสี่ยงที่ผลผลิตจะลดลงเนื่องจากอุณหภูมิที่สูงขึ้น ดังนั้น การนำไบโอพ็อดไปใช้ในพื้นที่ดังกล่าวสามารถทำหน้าที่เป็นวิธีหนึ่งในการรับรองว่าพืชผลบางชนิดจะปลอดภัยจากสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงไป

นอกจากนี้ ไบโอพ็อดยังสามารถปกป้องและอนุรักษ์พืชที่อยู่นอกแหล่งที่อยู่อาศัยตามธรรมชาติของพืชนั้นๆ จึงอาจกล่าวได้ว่า นี่คืออีกเครื่องมือหนึ่งของมนุษย์ในการปกป้องความหลากหลายทางชีวภาพทางการเกษตร นอกเหนือไปจากธนาคารเมล็ดพันธุ์และสวนพฤกษศาสตร์

อย่างไรก็ตาม การพัฒนาไบโอพ็อด เป็นเพียงขั้นตอนแรกของภารกิจที่ยิ่งใหญ่ในการช่วยให้มนุษย์สามารถใช้ชีวิตอย่างกลมกลืนกับสภาพแวดล้อมที่พวกเขาเลือกอยู่ไม่ว่าจะเป็นบนโลก ในอวกาศ หรือบนดวงจันทร์ แนวคิดของอินเทอร์สเตลลาร์ แล็บ ซึ่งเป็นเจ้าของนวัตกรรมนั้น ต้องการให้ไบโอพ็อด สามารถรับมือกับความท้าทายที่เกิดขึ้นบนโลกใบนี้ นั่นคือการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ และเพื่อปกป้องความหลากหลายทางชีวภาพ การทำฟาร์มอย่างยั่งยืน และการจัดการทรัพยากรอย่างมีความรับผิดชอบ เพื่อเป็นหลักประกันว่า มนุษย์จะมีความมั่นคงทางอาหาร ไม่ว่าพวกเขาเลือกจะอยู่ที่ไหนบนโลกใบนี้ หรือแม้แต่บนดาวเคราะห์

‘มิว สเปซ’ ผนึก ‘ispace’ ลงนามบันทึกความเข้าใจ เดินหน้าภารกิจบน ‘ดวงจันทร์’ ภายในปี 2028

เมื่อวันที่ 1 ก.พ. 67 บริษัท มิว สเปซ แอนด์ แอดวานซ์ เทคโนโลยี จำกัด (มิว สเปซ) ประกาศการลงนามบันทึกความเข้าใจสองฉบับเกี่ยวกับบริการเพย์โหลดและความร่วมมือเชิงกลยุทธ์กับบริษัท ispace inc. (ispace) บริษัทสำรวจดวงจันทร์ด้วยหุ่นยนต์ภาคเอกชนที่ตั้งอยู่ในญี่ปุ่น ซึ่งก่อตั้งในปี 2010 โดยที่การร่วมมือครั้งนี้ถือเป็นก้าวแรกสู่ภารกิจดวงจันทร์ในอนาคตระหว่างสองบริษัท

ตามข้อตกลงทั้งสองบริษัทได้เข้าสู่การเจรจาสำหรับบริการเพย์โหลดในอนาคตเพื่อไปยังวงโคจรและพื้นผิวดวงจันทร์ และตกลงที่จะร่วมมือกันในการพัฒนาตลาดดาวเทียมดวงจันทร์ โดยการทำงานร่วมกันเพื่อให้บริการขนส่งและการปล่อยเพย์โหลดดาวเทียมดวงจันทร์และการผลิตชิ้นส่วนดาวเทียม ในส่วนหนึ่งของข้อตกลง มิวสเปซ และ ispace จะดำเนินการพัฒนาตลาดร่วมกันในญี่ปุ่นและไทยเพื่อเร่งจำนวนภารกิจดาวเทียมวงโคจรดวงจันทร์ รวมถึงเพย์โหลดดาวเทียมขนาดเล็กและเพย์โหลดสำหรับลงจอดบนดวงจันทร์ที่มีน้ำหนักสูงสุดถึง 100 กิโลกรัม

มิว สเปซ ซึ่งมีสำนักงานใหญ่อยู่ที่กรุงเทพมหานคร ประเทศไทย เป็นผู้นำในอุตสาหกรรมอวกาศและผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตดาวเทียมในภาคพื้นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ด้วยภารกิจ sub-orbital ที่ประสบความสำเร็จ 4 ภารกิจตั้งแต่ปี 2018 ถึง 2020 มิว สเปซ ในปัจจุบันมีแผนที่จะจัดหาดาวเทียมและอุปกรณ์ให้กับภารกิจที่กำหนดไว้ตั้งแต่ปี 2024 เป็นต้นไป ispace ซึ่งมีสำนักงานใหญ่อยู่ที่โดเกี๊ยวได้กลายเป็นผู้ให้บริการขนส่งไปยังดวงจันทร์ครั้งแรกของโลกที่สามารถส่งลงจอดบนดวงจันทร์ได้สำเร็จในเดือนธันวาคม 2022 และในขณะมีภารกิจที่กำหนดไว้สำหรับปี 2024, 2026 และ 2027

เจมส์ เย็นบำรุง ผู้บริหารระดับสูงและประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายเทคโนโลยีของมิว สเปซ กล่าวว่า "ผมรู้สึกยินดีที่จะแบ่งปันข่าวของความร่วมมือระหว่าง มิว สเปซ กับ ispace นี่ถือเป็นภารกิจดวงจันทร์ครั้งแรกของเรา แสดงถึงวิสัยทัศน์และความมุ่งมั่นของเราในการเป้าหมายบนดวงจันทร์ภายในปี 2028" 

"เราพร้อมที่จะพิสูจน์เทคโนโลยีสำคัญและสร้างฐานสำหรับการพยายามบนดวงจันทร์ในอนาคตในร่วมมือกับทุนของ ispace และความร่วมมือนี้ยังเป็นการยืนยันถึงการยกระดับเทคโนโลยีอวกาศในเอเชียอีกด้วย" 

ด้าน ทาเคชิ ฮาคามาดะ ผู้ก่อตั้งและ CEO ของ ispace กล่าวว่า "การใช้ดาวเทียมดวงจันทร์ที่มีความคล่องตัวสูงสำหรับเครือข่ายการสื่อสาร การวิจัยวิทยาศาสตร์ และการใช้งานอื่นๆ อีกมากมายเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการมีอยู่ของมนุษย์บนดวงจันทร์ในระยะยาว"

"ผมยินดีที่จะประกาศข้อตกลงกับมิวสเปซที่จะสร้างตลาดใหม่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และทั่วโลกสำหรับภารกิจดาวเทียมดวงจันทร์เพื่อเป็นการสร้างเศรษฐกิจดวงจันทร์-โลก นี่เป็นอีกก้าวหนึ่งในการทำให้วิสัยทัศน์ของ ispace ที่ว่า 'ขยายดาวเคราะห์ของเรา ขยายอนาคตของเรา' เป็นจริง"


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top