‘ICAC’ สุดยอดหน่วยปราบปรามการทุจริตและคอร์รัปชัน ผู้ปัดกวาดเกาะฮ่องกง ลบภาพจำดินแดนแห่งการคดโกง

‘ICAC’ (The Independent Commission Against Corruption) ของฮ่องกง… สุดยอดต้นแบบแห่งการปราบปรามคอร์รัปชันทุจริตโกงกิน

การปราบปรามการทุจริตโกงกินของประเทศใด ๆ ก็ตาม ไม่มีวันที่จะสำเร็จหากหน่วยงานปราบปรามการทุจริตของประเทศนั้น ๆ ทำงานในเชิงรับ (Defensive) ตัวอย่างที่ดีที่สุดและพิสูจน์ให้เห็นเป็นที่ประจักษ์ ถึงความสำเร็จในการปราบปรามการทุจริตเชิงรุก (Offensive) ก็คือหน่วยงานปราบปรามทุจริตของฮ่องกง อย่าง ‘ICAC’ ซึ่งทำงานเชิงรุกมาโดยตลอด นับแต่ตั้งหน่วยงานนี้ขึ้นในเมื่อ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2517 (ค.ศ. 1974) เลยขอนำมาเล่าให้ท่านผู้อ่านได้ทราบถึงเรื่องราวของ ICAC ซึ่งยาว แต่มีประโยชน์มากครับ

การปราบปรามการทุจริตของฮ่องกงเป็นต้นแบบที่ดีที่สุด ในการปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชันกรณีหนึ่งของโลก ด้วยเหตุที่ฮ่องกงในอดีตเผชิญกับปัญหาคอร์รัปชันอย่างรุนแรง ชนิดที่เรียกว่า แค่ย่างเท้าก้าวออกจากบ้านก็ต้องจ่าย สินบน ค่าน้ำร้อนน้ำชาให้กับเจ้าหน้าที่รัฐอย่างน้อยคนหนึ่ง (ฮ่องกงในอดีตอยู่ภายใต้การปกครองของอังกฤษ จนกระทั่งวันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2540 (ค.ศ. 1997) ฮ่องกงจึงกลับคืนเป็นส่วนหนึ่งของประเทศจีน และกลายเป็น ‘เขตปกครองพิเศษ’ ภายใต้หลักการ ‘หนึ่งประเทศ สองระบบ’ เป็นแห่งแรกของจีน)

ช่วงต้นทศวรรษที่ 70 รัฐบาลอังกฤษส่ง Sir. Murray MacLehose มาดำรงตำแหน่งผู้ว่าการเกาะฮ่องกง (Governor of Hong Kong) ผลงานชิ้นสำคัญของ MacLehose คือ การตั้งหน่วยงานปราบปรามการทุจริต ขึ้นเมื่อ15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2517 (ค.ศ. 1974) หน่วยงานนี้มีชื่อว่า ‘Independent Commission Against Corruption’ หรือ ‘ICAC’ ความสำเร็จของฮ่องกงที่กลายเป็นศูนย์กลางด้านการเงินระหว่างประเทศ เป็นสวรรค์ของบรรดานักช้อปทั้งหลาย มีเศรษฐกิจเฟื่องฟูต่อเนื่องกันมาหลายสิบปี โดยในช่วงทศวรรษที่ 1980 และ 1990 นั้นถือเป็นยุคที่บูมสุด ๆ ของเกาะแห่งนี้ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะผลงานของ ICAC

‘ICAC’ เป็นองค์กรที่ตั้งขึ้นมา เพื่อปราบปรามและป้องกันการทุจริต โดยมีบทบาทอย่างสูงยิ่งในการปัดกวาด กำจัดการทุจริตโกงกินที่เกิดขึ้นบนเกาะแห่งนี้จนสะอาดสะอ้าน ทำให้ปัญหาคอร์รัปชันบรรเทาเบาบางลงไปอย่างน่าอัศจรรย์ จนเกาะสะอาดแห่งนี้คว้าตำแหน่งศูนย์กลางทางการเงินแห่งภูมิภาคมาครองได้ในที่สุด ซึ่งนับเนื่องมาถึงวันนี้เวลาก็ผ่านไปเกือบ 50 ปีแล้วที่องค์กรนี้มุ่งมั่นในการทำหน้าที่ตามภารกิจนี้มา

เดิมการปราบปรามทุจริตคอร์รัปชันในฮ่องกง เป็นเพียงแผนกหนึ่งของกรมตำรวจฮ่องกง แต่ทว่า ตำรวจฮ่องกงในช่วงทศวรรษที่ 1960 และ 1970 ขึ้นชื่อในเรื่องการเรียกร้องสินบนมากที่สุด ชนิดชาวบ้านร้านตลาดต่างเอือมระอา ภาพลักษณ์ตำรวจฮ่องกงในยุคนั้นไม่ต่างอะไรกับ ‘โจรในเครื่องแบบ’ ที่รีดไถเก็บค่าคุ้มครองสุจริตชน หนำซ้ำยังอำนวยความสะดวกให้กับกลุ่มมาเฟีย โดยแลกกับผลประโยชน์จากการรับส่วย สภาพความเป็นอยู่เช่นนี้ ทำให้ชาวฮ่องกงมีต้นทุนในการดำรงชีวิตแพงขึ้น เพราะต้องจ่ายเงินใต้โต๊ะเพื่อแลกกับการใช้บริการภาครัฐ หรือไม่ก็แลกกับการที่ผู้รักษากฎหมายจะไม่มากลั่นแกล้ง หรือยัดเยียดข้อหาให้ ฮ่องกงกำลังตกอยู่ในสภาวะแห่งการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว การเติบโตอย่างฮวบฮาบของจำนวนประชากร และการขยายตัวอย่างรวดเร็วของภาคอุตสาหกรรมการผลิต ล้วนเป็นตัวเร่งเร้าจังหวะก้าวของการพัฒนา ทั้งด้านสังคมและเศรษฐกิจให้ร้อนแรงยิ่งขึ้นไปอีก

ภาครัฐเองในเวลานั้น ก็ไม่สามารถตอบสนองความต้องการที่ดูจะไม่มีวันอิ่มของจำนวนประชากร ที่นับวันจะขยายตัวยิ่งขึ้นเรื่อย ๆ สถานการณ์เช่นนี้เอง ที่เป็นเสมือนผืนดินอันอุดมสมบูรณ์ให้แก่เหล่าผู้คนประเภทไร้ศีลธรรมทั้งหลาย หลายคนได้หันไปใช้วิธีที่เรียกว่า ‘เข้าหลังบ้าน’ เพียงเพื่อยังชีพ และให้ได้มาซึ่งสิ่งพิเศษนอกเหนือจากปัจจัยพื้นฐาน สิ่งที่เรียกว่า ‘เงินค่าน้ำร้อนน้ำชา’, ‘เงินสกปรก’, ‘เงินเก๋าเจี๊ยะ’ หรือจะเรียกว่าอะไรก็ตามแต่ จึงไม่เพียงแต่เป็นสิ่งที่คนฮ่องกงคุ้นเคย แต่ต้องจำใจยอมรับมันว่าได้กลายเป็น ‘วิถีชีวิตอันไม่อาจปฏิเสธได้’ ไปเสียแล้ว

ในสมัยนั้น คอร์รัปชันได้ลุกลามไปทั่วในภาคเอกชนของฮ่องกงไม่ว่าจะเป็นพวกห้างร้านต่างๆ ก็ต้องจ่ายเงินให้พนักงานดับเพลิงเสียก่อน เพื่อให้แน่ใจว่าคนพวกนี้จะโผล่หน้ามาตอนเกิดไฟไหม้จริงๆ หรือเวลายื่นคำร้องขอติดตั้งโทรศัพท์บ้านสักเครื่องก็ต้องจ่ายค่า ‘หยอดน้ำมัน’ เพื่อให้แน่ใจว่าจะได้ ‘โทรศัพท์’ มาใช้งาน พนักงานรถพยาบาลก็ไม่วายเรียกร้องเงินค่าน้ำร้อนน้ำชาก่อนจะออกไปรับผู้ป่วยมาโรงพยาบาล หรือแม้แต่นางพยาบาลเองยังเรียกร้องเงินค่า ‘ทิป’ ก่อนจะหยิบกระโถนฉี่ หรือเอาน้ำสักแก้วมาบริการผู้ป่วยที่นอนอยู่บนเตียงผู้ป่วย มันเป็นไปได้ถึงเพียงนี้คิดดูเถิด การหยิบยื่นเงิน ‘เก๋าเจี๊ยะ’ ให้กับเจ้าหน้าที่ของรัฐให้ถูกคน ยังเป็นเรื่องจำเป็นในการติดต่อเพื่อเช่าแฟลตการเคหะ ฝากลูกเข้าโรงเรียน รวมทั้งเพื่อความคล่องตัวในการติดต่อราชการอีกสารพัดเรื่อง 

ปัญหาคอร์รัปชันได้กลายมาเป็นปัญหาใหญ่ของสังคมในฮ่องกงเรื่อยมา ทว่ารัฐบาลในสมัยนั้นดูเหมือนจะไร้น้ำยาที่จะจัดการกับปัญหานี้ได้ ความอดทนของประชาชนต่อเรื่องนี้นับวันจะน้อยลงๆ ทุกที หลายคนจึงเริ่มออกมาแสดงความไม่พอใจโจมตีความไม่เอาไหนของรัฐฯ ในการจัดการกับปัญหานี้ ในช่วงต้นๆ ของทศวรรษที่ 1970 ปรากฏว่าผู้คนในสังคมได้รวมพลังกันแสดงความคิดเห็นต่อปัญหานี้กันอย่างแข็งขัน จนเกิดเป็นพลังทางสังคมที่รัฐฯ ไม่อาจทำเป็นหูทวนลมต่อไปได้ สาธารณชนได้ทำการกดดันฝ่ายบ้านเมืองชนิดกัดไม่ปล่อย เพื่อให้รัฐฯ ตัดสินใจใช้มาตรการอันเฉียบขาดในการสะสางปัญหาอันเรื้อรังนี้เสียที

‘Sir. Murray MacLehose’ ผู้ว่าการเกาะฮ่องกง ผู้ก่อตั้งหน่วย ICAC

‘Sir. Murray MacLehose’ ผู้ว่าการเกาะฮ่องกง (ข้าหลวงใหญ่ฮ่องกง) ในขณะนั้น (ดำรงตำแหน่ง 19 พฤศจิกายน พ.ศ. 2514 (ค.ศ. 1971) – 8 พฤษภาคม พ.ศ. 2525 (ค.ศ. 1982)) ได้ชี้แจงแสดงเหตุผลความจำเป็น ที่จะต้องจัดตั้งองค์กรอิสระขึ้นมาเพื่อต่อต้านการทุจริต ในสุนทรพจน์ของเขาที่แสดงต่อคณะกรรมการที่ปรึกษาฝ่ายนิติบัญญัติในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2516 (ค.ศ. 1973) จนในที่สุดได้ส่งผลให้เกิดการจัดตั้งองค์กรอิสระที่เรียกว่า ‘คณะกรรมการอิสระป้องกันและปราบปรามการทุจริต’ หรือ ‘Independent Commission Against Corruption’ (ICAC) ขึ้นมาเมื่อ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2517 (ค.ศ. 1974)

การเปลี่ยนแปลงที่สำคัญอย่างหนึ่งของฮ่องกง คือ ภาคธุรกิจเอกชน ซึ่งเมื่อก่อนไม่ค่อยสนใจ หรือตระหนักถึงอันตรายของปัญหาคอร์รัปชัน และมองว่าเรื่องการจ่ายใต้โต๊ะเป็นส่วนหนึ่งของธุรกิจ ได้มีการปรับเปลี่ยนทัศนคติจนทำให้มีส่วนร่วมในการปราบคอร์รัปชัน ทั้งภายในองค์กรของตัวเอง และที่เกี่ยวข้องกับภาครัฐมากขึ้น องค์กรธุรกิจภาคเอกชนที่ไปขอคำแนะนำเรื่องการปราบปรามคอร์รัปชันจาก ICAC มีจำนวนมากขึ้นเรื่อย ๆ ในปี พ.ศ. 2537 ICAC เริ่มรณรงค์เรื่องจริยธรรมทางธุรกิจและต่อมาอีก 18 เดือนมีบริษัทและสมาคมการค้ากว่า 1,200 แห่ง ประกาศเรื่องประมวลจรรยาบรรณของบริษัท (Code of conduct)

ปัจจัยต่าง ๆ ที่ทำให้ฮ่องกงประสบความสำเร็จในการป้องกันและปราบปรามคอร์รัปชัน : 

ปัจจัยแรก การยอมรับสภาพปัญหาและความตั้งใจจริงในการแก้ปัญหาคอร์รัปชันของรัฐบาล ทำให้ความพยายามในการปราบปรามคอร์รัปชันได้ผลคือ เจ้าหน้าที่รัฐระดับสูงสุดตระหนักถึงความเลวร้ายของปัญหาคอร์รัปชัน และมีความตั้งใจจริงที่จะแก้ปัญหานี้อย่างจริงจัง โดยเน้นว่าเป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง ที่จะต้องใช้เวลาแก้ไขอย่างต่อเนื่องมากกว่ามาตรการระยะสั้น อย่างกรณีของฮ่องกง ข้าหลวงใหญ่เป็นผู้จัดตั้งสำนักงานคณะกรรมการอิสระ เพื่อการปราบปรามคอร์รัปชัน (ICAC) โดยตรง และตั้งเป็นองค์กรอิสระจากการแทรกแซงการเมือง เพื่อทำให้ประชาชนเชื่อถือ รัฐบาลสนับสนุนงบประมาณในการสร้างองค์กรนี้ให้ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยการคัดเลือกและตรวจสอบพนักงานอย่างมีคุณภาพ ให้เงินเดือนและสวัสดิการสูง เพื่อให้เป็นองค์กรที่อยู่ได้อย่างยาวนาน ต่างจากการรณรงค์การปราบปรามการคอร์รัปชันระยะสั้นในหลายประเทศ ซึ่งมักเป็นการหาเสียงทางการเมือง มากกว่าจะมีความจริงใจในการปราบปรามการคอร์รัปชัน และทำให้ประชาชนไม่เชื่อถือและไม่ให้ความร่วมมือกับองค์กรที่รัฐบาลตั้งขึ้นมา

ปัจจัยที่ 2 การมีองค์กรปราบปรามคอร์รัปชันที่มีประสิทธิภาพและโปร่งใส คือ ICAC ของฮ่องกงจะมีการคัดเลือกเจ้าหน้าที่ที่มาทำงานอย่างเข้มงวดมาก ๆ คือจะต้องคัดเลือกคนที่เก่ง ทั้งมีคุณธรรมและความซื่อสัตย์สูง เจ้าหน้าที่ของ ICAC จะได้รับเงินเดือนและสวัสดิการสูง แต่ก็ต้องปฏิบัติตัวตามวินัย และมีการตรวจสอบภายในอย่างเคร่งครัด ทั้งนี้ เพื่อป้องกันไม่ให้เจ้าหน้าที่ถูกเย้ายวนใจให้เป็นผู้คอร์รัปชันเสียเอง ในบางประเทศที่เจ้าหน้าที่ด้านนี้มีอำนาจมากอาจเป็นดาบสองคม หากพวกเขาหลงทางใช้อำนาจไปในทางที่ผิดได้ จะทำให้การปราบปรามคอร์รัปชันไม่ได้ผล

ปัจจัยที่ 3 การมียุทธศาสตร์ระยะยาวที่มีการวางแผนที่ดี คือ มียุทธศาสตร์ในการจัดปราบคอร์รัปชันระยะยาวที่มีการวางแผนอย่างรอบคอบ สงครามปราบคอร์รัปชันไม่อาจเอาชนะได้ด้วยการจับกุม ลงโทษผู้ทำคอร์รัปชันและปรับปรุงกลไกการทำงานของราชการ สิ่งที่จำเป็น คือ ต้องมีการเปลี่ยนแปลงทัศนคติของประชาชนขั้นพื้นฐานด้วย ยุทธศาสตร์ในการปราบปรามคอร์รัปชันของฮ่องกง คือ การทำสงครามด้านคอร์รัปชัน 3 ทางพร้อมกันแบบบูรณาการ คือ การสอบสวน การป้องกัน และการให้การศึกษาแก่ประชาชน ทางแรก มีหน่วยปฏิบัติการที่ทำงานสอบสวนข้อเท็จจริงตามที่ได้รับรายงานหรือมีการร้องเรียนเข้ามา ทางที่ 2 มีหน่วยป้องกันคอร์รัปชัน ซึ่งทำหน้าที่ในการป้องกัน เพื่อลดโอกาสในการคอร์รัปชัน ทั้งในภาครัฐและเอกชน ทางที่ 3 มีหน่วยประชาสัมพันธ์ชุมชนทำงานด้านให้การศึกษา ให้ประชาชนตระหนักถึงความเลวร้ายของคอร์รัปชัน และแสวงหาการสนับสนุนอย่างแข็งขันจากพลเมืองด้วย ‘หน่วยประชาสัมพันธ์ชุมชน’ (Community Relations Department) ซึ่งมีเจ้าหน้าที่ราว 200 คน ตั้งขึ้นมาด้วยความตระหนักว่า ต้องเปลี่ยนทัศนคติประชาชนเรื่องการคอร์รัปชันให้ได้เท่านั้น จึงจะสามารถปราบคอร์รัปชัน ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่โตลึกซึ้งได้อย่างแท้จริง งานที่หน่วยนี้ทำ คือ พยายามอธิบายกฎหมายการต่อต้านสินบนให้ประชาชนได้ตระหนักรู้ ให้การศึกษาเด็กนักเรียนที่โรงเรียน และกระตุ้นให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการปราบปรามคอร์รัปชัน ด้วยการรายงานข่าวหรือข้อสงสัยเรื่องการคอร์รัปชันให้องค์กร ICAC ทราบ

การที่จะทำเช่นนี้ได้เจ้าหน้าที่จะต้องมียุทธวิธีเฉพาะและทำงานใกล้ชิดกับคนกลุ่มต่าง ๆ ในชุมชน จนกระทั่งประชาชนไว้วางใจว่า ICAC เป็นองค์กรที่โปร่งใสและมีประสิทธิภาพ ประชาชนจึงจะเป็นกำลังที่สำคัญในการยกระดับทางศีลธรรม และปฏิรูประบบการบริหารจัดการองค์กรภาคเอกชนที่จะช่วยป้องกันการคอร์รัปชัน ความสำเร็จด้านหนึ่งขององค์กร ICAC คือ การที่องค์กรทำให้สาธารณชนเปลี่ยนทัศนคติใหม่ว่า การติดสินบนให้เจ้าหน้าที่รัฐนั้น เป็นการส่งเสริมการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรม เพิ่มค่าใช้จ่ายให้สูงขึ้น ทำให้ธุรกิจมีกำไรลดลง และเป็นการทำลายระบบเศรษฐกิจแบบตลาดเสรี

การทำงานในด้านการสอบสวนและลงโทษผู้ทำผิดได้ ก็จะมีส่วนช่วยให้ประชาชนเชื่อถือองค์กร ICAC และช่วยรายงานข้อมูลมาให้องค์กร ICAC มากขึ้น รวมทั้งร่วมมือในการป้องกันคอร์รัปชันมากขึ้น แม้ 3 หน่วยนี่จะทำงานคนละด้าน แต่ก็มีความร่วมมือและส่งเสริมซึ่งกันและกัน เพราะการทำงานประสบความสำเร็จของแต่ละหน่วยนั้น จะช่วยให้หน่วยอื่น ๆ ทำงานได้สำเร็จมากขึ้น

ปัจจัยที่ 4 การใส่ใจต่อรายงานข้อร้องเรียนเรื่องคอร์รัปชันทุกฉบับ ปัจจัยที่จะทำให้ประชาชนไว้วางใจ และร่วมมือในการรายงานร้องเรียนเรื่องคอร์รัปชันมาที่ ICAC ก็คือ ICAC จะรับและติดตามสอบสวนรายงานที่ประชาชนร้องเรียนมาทุกเรื่อง แม้เป็นเรื่องเล็กน้อยและจะตอบให้ประชาชนทราบด้วยว่า เรื่องที่ร้องเรียนมานั้นสอบสวนไปถึงไหน ผลเป็นอย่างไร เพื่อที่ประชาชนจะได้ไว้วางใจว่า เรื่องที่พวกเขาร้องเรียนไปไม่ได้หายเข้ากลีบเมฆ และประชาชนจะได้ช่วยเป็นหูเป็นตาคอยรายงานให้ ICAC อีกในครั้งต่อไป แม้บางเรื่องที่ประชาชนร้องเรียนมาเป็นเรื่องปัญหาของหน่วยงานรัฐมากกว่าจะเกี่ยวกับการคอร์รัปชัน แต่ ICAC ก็ไม่โยนทิ้งตะกร้า แต่จะส่งต่อให้หน่วยงานที่รับผิดชอบเป็นผู้ดำเนินการแก้ไขปรับปรุงต่อไป เพื่อให้ประชาชนไว้วางใจว่า ICAC เป็นองค์กรที่พึ่งที่หวังได้

ปัจจัยที่ 5 การรักษาความลับของผู้ร้องเรียน ปัจจัยที่นำไปสู่ความสำเร็จ คือ ICAC รักษาความลับของผู้ร้องเรียนอย่างเข้มงวด เพราะการร้องเรียนนั้นมีความเสี่ยงอยู่ คนที่จะร้องเรียนต้องมีความกล้าและความมั่นใจว่า ICAC ต้องปกปิดชื่อผู้ร้องเรียน โดยไม่ทำให้พวกเขาได้รับอันตรายภายหลัง การบันทึกข้อมูลของผู้ร้องเรียนในคอมพิวเตอร์และระบบไฟล์ จะมีการป้องกันการรั่วไหลของข้อมูลอย่างดี จะมีเฉพาะเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องโดยตรงที่จำเป็นต้องรู้เท่านั้น จึงจะเข้าถึงข้อมูลได้ เจ้าหน้าที่คนอื่นไม่เกี่ยวข้องจะเข้าถึงข้อมูลไม่ได้ ข้อมูลที่ใช้ไปและหมดความจำเป็นแล้วจะถูกทำลาย กฎหมายของฮ่องกงยังให้ ICAC มีสิทธิไม่เปิดเผยแหล่งที่มาของข้อมูลของตนได้ด้วย

ปัจจัยที่ 6 การมีปัจจัยแวดล้อมโดยรวมที่เอื้อให้ ICAC ทำงานประสบความสำเร็จ เพราะมีปัจจัยหลายอย่างที่ทำงานร่วมกันอย่างเอื้ออำนวยต่อการปราบปรามคอร์รัปชัน ข้าหลวงใหญ่ฮ่องกงเป็นผู้แต่งตั้งเลขาธิการและรองเลขาธิการสำนักงาน ICAC เลขาธิการ ICAC เป็นผู้แต่งตั้งเจ้าหน้าที่ ICAC คนอื่น ๆ และรายงานตรงต่อข้าหลวงใหญ่ เพื่อป้องกันไม่ให้หน่วยงานอื่นหรือนักการเมืองข้าราชการคนอื่น ๆ เข้าไปแทรกแซง ICAC เลขาธิการ ICAC เป็นผู้เจรจาต่อรองกับรัฐบาลและรัฐสภาในเรื่องงบประมาณประจำปี เจ้าหน้าที่ของ ICAC ต้องทำตามระเบียบเงื่อนไขการจ้างงานของเจ้าหน้าที่รัฐ แต่การปฏิบัติงานของ ICAC เป็นอิสระโดยสิ้นเชิง

เพื่อป้องกันไม่ให้ ICAC ใช้อำนาจไปในทางที่ผิด จะมีระบบการตรวจสอบ ICAC ที่เข้มงวด งานของ ICAC จะถูกชี้นำโดยคณะกรรมการที่ปรึกษา 4 คณะ สมาชิกของคณะกรรมการที่ปรึกษามาจากตัวแทนกลุ่มต่าง ๆ ในสังคม โดยมีข้าหลวงใหญ่เป็นผู้แต่งตั้ง และยังมีคณะกรรมการคณะที่ 5 ประกอบไปด้วยตัวแทนจากฝ่ายบริหารของรัฐสภามีหน้าที่พิจารณาเรื่องที่ประชาชนร้องเรียน ICAC ผู้ที่เป็นประธานกรรมการทั้ง 5 ชุด ไม่ใช่เลขาธิการ ICAC แต่เป็นหนึ่งในสมาชิกคณะกรรมการที่ปรึกษา ทั้งนี้ เพื่อให้คณะกรรมการที่ปรึกษาเป็นอิสระอย่างแท้จริง

ปัจจัยที่เอื้ออำนวยอย่างสำคัญอีกประการหนึ่ง คือ การที่ระบบกฎหมายของฮ่องกงสนับสนุนให้ ICAC ทำงานปราบคอร์รัปชันได้อย่างมีประสิทธิภาพ ICAC มีอำนาจที่จะป้องกันไม่ให้ผู้ต้องสงสัยว่าจะคอร์รัปชันโยกย้ายถ่ายเททรัพย์สินได้ สามารถร้องขอต่อศาลสั่งห้ามผู้ต้องสงสัยเดินทางออกนอกประเทศได้ สามารถเข้าไปตรวจสอบบัญชีและตู้นิรภัยของผู้ต้องสงสัยได้ เรียกร้องให้ผู้ต้องสงสัยต้องแสดงสถานการณ์ทางการเงินโดยละเอียด รวมทั้งเข้าไปตรวจค้นที่บ้านพักของผู้ต้องสงสัย ถ้าการสอบสวนโยงใยไปถึงบุคคลอื่น ICAC ก็สามารถตามไปตรวจสอบคนคน นั้น เพื่อที่จะโยงในเรื่องการคอร์รัปชันทั้งหมดได้

อาวุธที่สำคัญข้อหนึ่งที่ระบบกฎหมายฮ่องกงยื่นให้ ICAC คือ การที่ ICAC สามารถตั้งข้อหาต่อเจ้าหน้าที่รัฐที่มีทรัพย์สินมากและไม่อาจอธิบายได้ หรือใช้ชีวิตที่หรูหราฟุ่มเฟือยเกินกว่ารายได้ประจำจากเงินเดือน ถ้าเจ้าหน้าที่รัฐผู้นั้นไม่สามารถอธิบายต่อศาลได้ว่า ทรัพย์สินเหล่านั้นมาอย่างไร เขาจะถูกถือว่าคอร์รัปชัน กฎหมายนี้ช่วยให้เจ้าหน้าที่รัฐของฮ่องกงต้องทำงานอย่างซื่อสัตย์เพิ่มขึ้น (B.E.D.DE Speville The Experience Of Hong Kong, China in Combating Corruption 5 Daniel Kaufmann. FINANCE AND DEVELOPMENT, September 2005, V.42 NO. 3.)

การคอร์รัปชันในระบบราชการของฮ่องกงเมื่อ 30 ปีที่แล้วถูกขจัดไป แต่ปัญหาใหม่คือ การคอร์รัปชันในภาคเอกชนที่สลับซับซ้อน ซึ่งต้องการการติดตามแก้ไขปัญหาที่ซับซ้อนเพิ่มขึ้น ต้องการความร่วมมือระหว่างรัฐบาลประเทศต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องเพิ่มมากขึ้น การที่ฮ่องกงกลับคืนจากการอยู่ใต้ปกครองของอังกฤษมาเป็นเขตปกครองพิเศษ (Special Administrative Region – Sar) ของจีนตั้งแต่ปี พ.ศ. 2540 ก็ทำให้โฉมหน้าการเมืองเปลี่ยนไปอีกแบบหนึ่ง

แม้ระบบกฎหมายฮ่องกงจะรองรับการดำรงอยู่ของ ICAC ในฐานะองค์กรอิสระต่อไป แต่ก็ขึ้นอยู่กับการเมืองภายในประเทศจีนอยู่มาก โดยทั่วไปแล้วการปราบปรามคอร์รัปชันจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาฮ่องกงให้มั่นคงและเจริญรุ่งเรืองต่อไป รวมทั้งการร่วมมือกับหน่วยงานทำนองเดียวกันในกวางตุ้ง และมณฑลอื่น ๆ ของจีน ก็จะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาจีนเอง การปราบคอร์รัปชันในหมู่นักการเมืองและข้าราชการคงดำเนินต่อไป ยกเว้นจะมีการคอร์รัปชันในระดับข้าราชการที่สูงมาก ๆ แต่ประสบการณ์ของฮ่องกงก็น่าจะเป็นประโยชน์ต่อประเทศอื่นให้ศึกษาได้ว่า แม้แต่ประเทศที่เคยมีวัฒนธรรมการจ่ายสินบนใต้โต๊ะที่เรียกว่า ‘ค่าน้ำร้อนน้ำชา’ อย่างถือเป็นเรื่องปกติ ก็สามารถเปลี่ยนแปลงเลิกวัฒนธรรมแบบนี้ได้ ถ้ามีการรณรงค์อย่างจริงจัง (ขอบคุณที่มา นโยบายรัฐบาลด้านเศรษฐกิจ : การทับซ้อนของผลประโยชน์ทางธุรกิจ (Conflict of Interest) อาจารย์วิทยากร เชียงกูล)

ทุกวันนี้หน่วยงานต่อต้านและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบของบ้านเรามีทั้ง (1) กองบังคับการป้องกันปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ กองบัญชาการสอบสวนกลส่วนกลาง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (2) สำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) และ (3) คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ซึ่งยังคงทำงานเชิงรับ และทำงานไม่ได้เหมือนและไม่ได้เท่ากับ ICAC ของฮ่องกง เช่นนี้แล้วต่อให้เราท่านตายแล้วเกิดใหม่อีก 7 ชาติ สถานการณ์ทุจริตโกงกินในบ้านเราก็จะยังคงเป็นเหมือนเช่นเดิมอยู่ต่อไป

ชมคลิป ดร.โญ มีเรื่องเล่า เรื่อง ICAC  ออกอากาศทาง ททบ5 เมื่อ 18 เมษายน 2562 https://youtu.be/51-6j8wRBVk

เรื่อง : ดร.ปุณกฤษ ลลิตธนมงคล
ที่ปรึกษาด้านการบริหารจัดการสมัยใหม่ อาจารย์พิเศษหลักสูตรปริญญาโทและเอก นักเล่าเรื่องมากมายในหลากหลายมิติ เป็นผู้ที่ชื่นชมสนใจในประวัติศาสตร์สงครามสมัยใหม่ตลอดจนอาวุธยุทโธปกรณ์ต่างๆ


👍 ติดตามผลงาน อาจารย์ปุณกฤษ ลลิตธนมงคล เพิ่มเติมได้ที่ : https://thestatestimes.com/author/ดร.ปุณกฤษ%20ลลิตธนมงคล