Monday, 29 April 2024
ทุจริต

นราธิวาส - ศึกษาธิการจังหวัด นำประกาศเจตจำนงต่อต้านการทุจริต!!

เมื่อวันพุธ ที่ 15 ธันวาคม 2564 ศึกษาธิการจังหวัดนราธิวาสนำทีมผู้บริหารและบุคลากรสำนักงานศึกษาธิการจังหวัดนราธิวาสประกาศเจตจำนงต่อต้านการทุจริต ณ ห้องประชุมบุหงาตันหยง สำนักงานศึกษาธิการจังหวัดนราธิวาส

นายชาร์รีฟ สือนิ ศึกษาธิการจังหวัดนราธิวาส กล่าวว่า “ในวันนี้กระทรวงศึกษาธิการได้จัดงานวันต่อต้านการทุจริต กระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งภายในงานได้มีพิธีประกาศเจตนารมณ์การต่อต้านการทุจริตและมอบนโยบายNo Gift Policy ของกระทรวงศึกษาธิการโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เนื่องในวันต่อต้านคอร์รัปชันสากล (ประเทศไทย) ภายใต้แนวคิด “กระทรวงศึกษาธิการโปร่งใส ไม่ทนต่อการทุจริต” (MOE TRUST & Zero Tolerance) ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 โดยได้ให้บุคลากรสำนักงานศึกษาธิการจังหวัดทุกจังหวัดได้เข้าร่วมรับชมการถ่ายทอดสดกิจกรรมดังกล่าวทาง Facebook Live

ทั้งนี้ สำนักงานศึกษาธิการจังหวัดนราธิวาสได้จัดกิจกรรมต่อต้านการทุจริต โดยศึกษาธิการจังหวัดนราธิวาสเป็นประธานในการประกาศเจตนารมณ์การต่อต้านการทุจริตของสำนักงานศึกษาธิการจังหวัดนราธิวาสซึ่งมีใจความว่า “จะปฏิบัติหน้าที่ ด้วยความซื่อสัตย์  สุจริต มีความโปร่งใส และมีคุณธรรมในการปฏิบัติงาน บริหารงานอย่างเต็มกำลังความสามารถ

 

รัฐบาลแผ่นเสียงตกร่อง คิดอะไรไม่ออกก็โทษจำนำข้าว ‘เพื่อไทย’ ยัน หนี้ อคส. เกิดขึ้นสมัยรัฐบาลประยุทธ์ทั้งสิ้น

นายจักรพงษ์ แสงมณี กรรมการบริหารพรรคเพื่อไทย และอดีตที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวถึงการอภิปรายไม่ไว้วางใจ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พาณิชย์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เรื่องการทุจริตใน อคส. (องค์การคลังสินค้า) กระทรวงพาณิชย์ กรณีถุงมือยาง โดยนายจุรินทร์ได้ลุกขึ้นชี้แจงกรณีดังกล่าว และพาดพิง ‘โยนบาป’ เหมารวมว่าโครงการในอดีตของรัฐบาลเพื่อไทยก็มีกรณีอยู่ใน อคส. เช่นเดียวกันนั้นว่า ไม่ใช่ความจริงแบบที่นายจุรินทร์พยายามจะเข้าใจ  ตรงกันข้าม การทุจริตใน อคส. เป็นการปฏิบัติและละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ที่มีประเด็นชัดเจนมากคือ กรณีใน อคส. ทั้งหมด เกิดจากการดำเนินการของรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ทั้งสิ้น 

ในฐานะอดีตคณะทำงานด้านเศรษฐกิจสมัยรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ขอชี้แจงว่า รัฐบาลเพื่อไทยขณะนั้น มีมาตรการการดำเนินโครงการรับจำนำข้าวอย่างรัดกุมถึง 13 ขั้นตอน มีคณะกรรมการตรวจสอบทุกลำดับ และมีสัญญากับเอกชนซึ่งระบุความรับผิดชอบอย่างชัดเจน จึงเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้สามารถรักษาคุณภาพข้าว “‘เป็นอย่างดีและครบถ้วน’ ดังนั้น จึงไม่มีข้าวหาย ข้าวเน่า และข้าวเสื่อมคุณภาพ แบบที่มีการใส่ร้ายบิดเบือนกัน 

ตรงกันข้าม หลังการยึดอำนาจรัฐประหารรัฐบาลเพื่อไทยของพลเอกประยุทธ์  หากยึดตามหลักฐานที่ยืนยันได้โดยผู้บริหารคลังสินค้าและเซอร์เวย์เยอร์ กลับพบว่า มีการนำข้าวคุณภาพดีไปขายในราคาต่ำ โดยมีการจัดเกรดคุณภาพข้าวใหม่ที่ต่ำกว่ากว่ามาตรฐานปกติ ซ้ำยังมีการสุ่มตรวจข้าวแบบ ‘ขอไปที’ แล้วอ้างว่าเป็น ‘ข้าวเสีย’ ทั้งหมด เรื่องนี้จึงเป็นที่มาของการเกิดเป็นคดีความให้เอกชนคู่สัญญาเหล่านั้นซึ่งได้ทำสัญญารับผิดชอบดูแลรักษาข้าว ทั้งจำนวนและคุณภาพ ต้องลุกขึ้นใช้สิทธิต่อสู้ตามกฎหมาย เป็นคดีความฟ้องร้องมากมายต่อสู้กันในชั้นศาล 
 

เรื่องที่น้อยคนจะรู้!! เปิดอีกด้านของมหกรรมกีฬา ‘โตเกียวโอลิมปิก’ งานระดับโลกสุดยิ่งใหญ่ที่ซ่อนปม ‘สินบน-ทุจริต’ เพียบ!!

ไม่รู้ว่าข่าว ‘การทุจริตในโตเกียวโอลิมปิก’ จะมีคนไทยกี่คนที่รู้และเข้าใจมากน้อยแค่ไหน เพราะสื่อบ้านเราเป็นสื่อที่มักง่าย เลือกนำเสนอข่าวที่หาง่าย ไร้การตรวจสอบ หรือไม่ทำการบ้านใดๆ เลย แต่สำหรับผมแล้ว ข่าว ‘การทุจริตในโตเกียวโอลิมปิก’ นี้ค่อนข้างมีความน่าสนใจ เพราะมีจุดเชื่อมโยงกับรัฐบาลญี่ปุ่น รวมถึงอดีตนายกรัฐมนตรีอาเบะ ชินโซผู้ล่วงลับ จึงสรุปข่าวนี้ให้เข้าใจได้ง่ายๆ และมาแบ่งปันให้ผู้อ่านได้อ่านกันครับ

ค่าใช้จ่ายในการจัดโตเกียวโอลิมปิกทั้งหมดนั้นอยู่ที่ 1,432,800 ล้านเยน (1兆4328億円) หรือเทียบเป็นเงินไทยตอนนี้ก็ราวๆ 375,913 ล้านบาท โดยผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการจัดแบ่ง มีดังนี้
1.) ประเทศ 42% 
2.) เมืองโตเกียว 13%
3.) คณะกรรมการจัดการแข่งขัน 45%

โดยประเทศและเมืองโตเกียวนั้น ที่มาของเงินก็คือภาษีจากประชาชนนั่นเอง รวมเป็น 55% คิดเป็นเงิน 783,400 ล้านเยน ส่วนอีก 45% ที่รับผิดชอบโดยคณะกรรมการจัดการแข่งขันนั้นมาจากการรับการสนับสนุนจากสปอนเซอร์ภาคเอกชนนั้นเอง 

จึงสามารถพูดได้ว่าการจัดโตเกียวโอลิมปิกเกินครึ่งหนึ่งเป็นเงินแผ่นดิน แต่กลับมีคนบางกลุ่มหาประโยชน์จากการจัดงานกีฬาระดับประเทศที่ใช้เงินแผ่นดินนั้น ถือเป็นสิ่งที่ไม่สมควรเกิดขึ้น ซึ่งจุดที่มีการค้นพบการทุจริตในครั้งนี้ก็คือ คณะกรรมการจัดการแข่งขันโตเกียวโอลิมปิก เป็นองค์กรธุรกิจเพื่อสร้างคุณประโยชน์ให้กับสังคม หรือ Public Interest Incorporated Foundation (公益財団法人) และด้วยเพราะการเป็นองค์กรแบบนี้ กฎหมายญี่ปุ่นจึงไม่ได้บังคับให้ต้องแสดงและเผยแพร่ข้อมูลทางธุรกิจทั้งหมดให้สังคมได้รับทราบ พูดง่ายๆ คือไม่สามารถตรวจสอบการใช้จ่ายขององค์กรด้วยวิธีปกติได้ทั้งหมด 

ตัวละครที่เป็นศูนย์กลางของเรื่องนี้ในปัจจุบันคือ อดีตหนึ่งในคณะกรรมการจัดการแข่งขันชื่อ ทาคาฮาชิ ฮารุยูกิ (高橋 治之) อดีตดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการบริษัทเดนท์สุ บริษัทตัวแทนโฆษณาอันดับหนึ่งของประเทศญี่ปุ่น ผู้มีฉายาว่าท่านดอนแห่งวงการธุรกิจด้านกีฬา โดยหน้าที่ที่ทาคาฮาชิได้รับในฐานะหนึ่งในคณะกรรมการจัดการแข่งขันคืออำนาจในการเลือกสปอนเซอร์ ที่จะเป็นเงินทุนให้กับการจัดโตเกียวโอลิมปิกถึง 45% ของค่าใช้จ่ายทั้งหมด ทำให้เกิดการรับสินบนจากภาคเอกชนที่จะมาเป็นสปอนเซอร์

ณ ปัจจุบัน (26 กันยายน 2565) มีบริษัทที่กำลังถูกสืบสวนการจ่ายสินบนดังต่อไปนี้
1.) บริษัท AOKI บริษัทผลิตเสื้อสูทสำเร็จขนาดใหญ่ของญี่ปุ่น (ตัวผมก็ซื้อสูทพิธีการตอนสมัยเรียนที่ญี่ปุ่นจากบริษัทนี้) ได้จ่ายเงินสินบน 51 ล้านเยน ทำให้อดีตประธานบริษัทถูกจับกุมแล้ว
2.) บริษัท KADOKAWA บริษัทสื่อบันเทิงของญี่ปุ่น ที่ประเทศไทยอาจคุ้นเคยในสื่อประเภทการ์ตูน อนิเมชั่น นิยาย รวมไปถึงธุรกิจโรงเรียนสอนศิลปะ ได้จ่ายเงินสินบน 76 ล้านเยน ทำให้อดีตประธานบริษัทถูกจับกุมแล้ว
3.) บริษัท Daiko บริษัทสื่อโฆษณา ถูกสำนักงานอัยการตั้งข้อสงสัยว่าอาจจ่ายสินบน 14 ล้านเยน กำลังอยู่ระหว่างการสืบสวน เก็บหลักฐาน
4.) บริษัท Park24 บริษัทอสังหาริมทรัพย์ ที่เน้นทำธุรกิจให้เช่าที่จอดรถในโตเกียว ถูกสำนักงานอัยการตั้งข้อสงสัยว่าอาจจ่ายสินบนเพื่อให้ได้เป็นสปอนเซอร์ของโตเกียวโอลิมปิก กำลังอยู่ระหว่างการสืบสวน เก็บหลักฐาน

แต่ระดับผู้กว้างขวางในวงการสื่อสารมวลชนของญี่ปุ่น คงไม่ทำอะไรให้โดนจับง่ายๆ ถ้าไม่มีหลักฐานมัดให้ตัวคาหนังคาเขา จากการสืบสวนของสำนักงานอัยการ พบว่าเพื่อป้องกันไม่ให้ถูกจับว่าเป็นการติดสินบน นายทาคาฮาชิได้ก่อตั้งบริษัทที่ปรึกษาชื่อ Commons (コモンズ) เพื่อรับเงินสินบนนั้นในรูปแบบเงินค่าที่ปรึกษา จ่ายเป็นเงินรายเดือน 

นอกจากนี้แล้ว เพื่อไม่ให้เป็นที่สงสัยว่าบริษัทของนายทาคาฮาชิรับค่าที่ปรึกษาจากบริษัทเอกชนที่จะเข้ามาเป็นสปอนเซอร์เพียงบริษัทเดียว จึงมีการเพิ่มตัวละครที่ชื่อ ฟุคามิ คาซุมาซะ (深見和政) ที่มีบริษัทที่ปรึกษาชื่อ Commons2 (コモンズ2) เข้ามารับเงินค่าที่ปรึกษาให้กับบริษัทเอกชนที่จะเข้ามาเป็นสปอนเซอร์อีกบริษัทหนึ่ง 

จากบริษัทที่ขึ้นลิสต์ข้างต้นไป บริษัท AOKI จ่ายค่าที่ปรึกษาให้กับบริษัทของนายทาคาฮาชิ โดยตรง ส่วนบริษัท KADOKAWA และ Daiko จ่ายค่าที่ปรึกษาให้กับบริษัทของนายฟุคามิ ซึ่งความสัมพันธ์ระหว่างนายทาคาฮาชิ และนายฟุคามินั้น มีหลายจุดที่ทำให้สำนักงานอัยการคิดว่าทั้งคู่สมรู้ร่วมคิดกันในการรับสินบนครั้งนี้คือ ทั้งคู่เป็นรุ่นพี่รุ่นน้องสมัยที่ทำงานที่บริษัทเดนท์สุ และบริษัท Commons2 (コモンズ2) ที่นายฟุคามิก่อตั้งในปี 2012 มีนายทาคาฮาชิเป็นกรรมการบริษัท ถึงปี 2013 นอกจากนี้แล้วบริษัท Commons2 รับงานทำ CM โปรโมตโตเกียวโอลิมปิกจากบริษัท AOKI ที่ได้รับการแนะนำจากบริษัท Commons (コモンズ) อีกทอดหนึ่ง 

จากหลักฐานที่สืบสวนได้ ยังสามารถจับกุมได้เพียงนายทาคาฮาชิ, นายฟุคามิ และผู้บริหารบริษัทเอกชนข้างต้นเท่านั้น ยังมีการตั้งข้อสงสัยเพิ่มเติม เนื่องจากโตเกียวโอลิมปิกเป็นการแข่งขันระดับประเทศที่ยิ่งใหญ่ สปอนเซอร์ก็ถูกจัดแบ่งเป็น 4 ระดับ คือ 
1.) Worldwide Olympic Partner
2.) Gold Partner
3.) Official Partner
4.) Official Supporter

ทั้งสี่บริษัทล้วนเป็นเพียง Official Supporter ระดับล่างสุดของสปอนเซอร์โตเกียวโอลิมปิกเท่านั้นหรือ? แล้วระดับสูงขึ้นไปจะมีการรับสินบนหรือไม่? นั้นเป็นสิ่งที่สำนักงานอัยการกำลังสืบสวนเพิ่มเติม ถ้าได้ผลอย่างไร จะนำมาเล่าให้ฟังอีกนะครับ

‘Lockheed’ ติดสินบนผู้มีอำนาจหลายชาติ เพื่อปิดดีลซื้อ-ขายเครื่องบิน

ไม่ใช่เฉพาะบ้านเราที่มีข่าวการติดสินบนทั้งในหมู่นักการเมืองและหน่วยราชการต่าง ๆ ในประเทศที่ได้ชื่อว่าเป็น ‘อารยประเทศ’ ก็เคยมีเรื่องเช่นนี้เกิดขึ้นเช่นกัน การติดสินบนอื้อฉาวดังกล่าวทำให้เกิดความขัดแย้งทางการเมืองอย่างมากใน เยอรมนีตะวันตก อิตาลี เนเธอร์แลนด์ และญี่ปุ่น ส่วนในสหรัฐอเมริกาเรื่องอื้อฉาวเกือบจะนำไปสู่ความหายนะของบริษัท Lockheed เนื่องจากต้องดิ้นรนให้พ้นจากความล้มเหลวทางการค้าในการผลิตเครื่องบินโดยสารแบบ Lockheed L-1011 TriStar 

กรณีสินบนจากผลงานที่ทำโดยพนักงานของ บริษัท Lockheed ตั้งแต่ปลายทศวรรษ 1950 จนถึงกลางทศวรรษ 1970 ในขั้นตอนของการเจรจาต่อรองในการเสนอขายเครื่องบินแบบต่างๆ ของบริษัท Lockheed

Clarence ‘Kelly’ Johnson หัวหน้าคนแรกของทีมออกแบบ Skunk Works ของบริษัท Lockheed

ผู้บริหารของบริษัท Lockheed ยอมรับว่า มีการจ่ายเงินสินบนหลายล้านดอลลาร์เป็นเวลากว่าทศวรรษให้กับผู้มีอำนาจใน เยอรมนีตะวันตก อิตาลี เนเธอร์แลนด์ และญี่ปุ่น รวมทั้งซาอุดีอาระเบียเพื่อให้พวกเขาซื้อเครื่องบินของเรา 

‘Kelly’ หมายถึง Clarence ‘Kelly’ Johnson หัวหน้าคนแรกของทีมออกแบบ Skunk Works ของบริษัท Lockheed เองก็ยังรู้สึกเบื่อหน่ายกับการเปิดเผยเรื่องทุจริตเหล่านี้จนเกือบจะลาออก และมีผู้บริหารระดับสูงของบริษัท Lockheed ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องอื้อฉาวจะลาออกด้วยความอับอายขายหน้ากันหลายคน

เมื่อมีการผ่านรัฐบัญญัติการค้ำประกันเงินกู้ในกรณีฉุกเฉิน ปี ค.ศ. 1971 ซึ่งโครงการค้ำประกันนี้จะทำให้รัฐบาลสหรัฐรับภาระหนี้ของบริษัท Lockheed หากผิดนัดชำระหนี้ ในปี ค.ศ. 1975 ในเดือนสิงหาคมปี ค.ศ. 1975 คณะกรรมาธิการของรัฐสภาสหรัฐฯ ได้ตรวจสอบว่า บริษัท Lockheed อาจละเมิดภาระหน้าที่หรือไม่ โดยไม่แจ้งให้คณะกรรมาธิการฯ ทราบเกี่ยวกับการชำระเงินในต่างประเทศของบริษัท Lockheed เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม ค.ศ. 1977 บริษัท Lockheed และธนาคารผู้ให้กู้ยืม ๒๔ แห่งได้ทำข้อตกลงด้านสินเชื่อโดยให้วงเงินสินเชื่อหมุนเวียน US$100,000,000 เพื่อทดแทนข้อผูกพันในการค้ำประกันของรัฐบาล สิ่งนี้ถูกใช้เพื่อปลดหนี้ของบริษัท Lockheed มูลค่า US$60,000,000 คณะกรรมาธิการการค้ำประกันเงินกู้ฉุกเฉินได้อนุมัติข้อตกลงสินเชื่อฉบับใหม่เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม ค.ศ. 1977 ผ่านข้อตกลงการยกเลิกโดยคณะกรรมาธิการค้ำประกันเงินกู้ฉุกเฉินของรัฐบาลฯ หลังจากออกรายงานฉบับสุดท้ายในวันที่ 30 กันยายน ค.ศ. 1977 ค่าธรรมเนียมที่บริษัท Lockheed และธนาคารจ่ายให้แก่คณะกรรมาธิการการฯ สำหรับการบริหารเงินกู้โปรแกรมสุทธิประมาณ US$30,000,000 ซึ่งถูกส่งไปยังกระทรวงการคลังของสหรัฐฯ โดยตรง และไม่เคยมีการมอบเงินภาษีของพลเมืองอเมริกันแก่บริษัท Lockheed เลย

เครื่องบินขับไล่แบบ Lockheed F-104 Starfighter ของกองทัพอากาศเยอรมันตะวันตก

ในช่วงปลายปี ค.ศ. 1975 และต้นปี ค.ศ. 1976 คณะอนุกรรมาธิการของวุฒิสภาสหรัฐ ซึ่งนำโดยวุฒิสมาชิก Frank Church สรุปว่า สมาชิกของคณะกรรมการบริหารของบริษัท Lockheed ได้จ่ายเงินให้สมาชิกของรัฐบาลที่เป็นมิตรเพื่อรับประกันสัญญาสำหรับเครื่องบินรบ ในปี ค.ศ. 1976 มีการเปิดเผยต่อสาธารณะว่า บริษัท Lockheed ได้จ่ายสินบนให้กับเจ้าหน้าที่ต่างชาติจำนวน US$22,000,000 ในกระบวนการเจรจาการขายเครื่องบินซึ่งรวมถึงเครื่องบินขับไล่แบบ F-104 Starfighter ซึ่งถูกเรียกว่า ‘ข้อตกลงแห่งศตวรรษ’ (Deal of the Century)

>> เยอรมนีตะวันตก 
Ernest Hauser อดีต Lobbyist ของบริษัท Lockheed บอกกับคณะอนุกรรมาธิการของวุฒิสภาสหรัฐ ว่า Franz Josef Strauss รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมเยอรมันตะวันตกและพรรค Christian Social Union ของเขาได้รับเงินอย่างน้อย US$10,000,000 สำหรับการซื้อเครื่องบินขับไล่แบบ F-104G จำนวน ๙๐๐ เครื่องในปี ค.ศ. 1961 แต่พรรค Christian Social Union และผู้นำพรรคปฏิเสธข้อกล่าวหา และ Strauss ยื่นฟ้อง Hauser ว่าใส่ความ เนื่องจากคำฟ้องดังกล่าวไม่ได้รับการยืนยันปัญหาจึงหลุดไป 

Manfred Wörner สมาชิกของ Bundestag และสมาชิกสภากลาโหม เยอรมันตะวันตก

ในเดือนกันยายน ค.ศ. 1976 ช่วงสุดท้ายของการเลือกตั้งสหพันธรัฐเยอรมันตะวันตก กรณีดังกล่าวได้ถูกหยิบยกขึ้นมาอีกครั้ง เมื่อมีการถามคำถามเกี่ยวกับ ‘เอกสารของ Lockheed’ กระทรวงกลาโหมของรัฐบาลเยอรมันตะวันตกเก็บไว้ ทั้งยังมีแหล่งข่าวนิรนามได้แจกจ่ายเอกสารหลายฉบับให้สื่อมวลชนรับทราบ 

ตามเอกสารเหล่านี้ Manfred Wörner สมาชิกของ Bundestag และสมาชิกสภากลาโหม เยอรมันตะวันตก ได้ตอบรับคำเชิญจากบริษัท Lockheed ให้ไปเยี่ยมชมโรงงานผลิตเครื่องบินของพวกเขาในสหรัฐอเมริกาโดยที่บริษัท Lockheed เป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายให้ตลอดการเดินทาง และในระหว่างการสืบสวนยังพบว่า เอกสารส่วนใหญ่ที่เกี่ยวข้องกับการซื้อเครื่องบินขับไล่แบบ Lockheed F-104 Starfighter ถูกทำลายในปี ค.ศ. 1962 เบาะแสของเอกสารได้ถูกนำขึ้นมาหารืออีกครั้งในการประชุมคณะกรรมาธิการสอบสวนของ Bundestag ระหว่างเดือนมกราคม ค.ศ. 1978 ถึงเดือนพฤษภาคม ปี ค.ศ. 1979 และการสืบสวนของทางการสหรัฐฯ เปิดเผยว่าการเดินทางไปสหรัฐฯ Wörner รับทุนจาก Bundestag และเกี่ยวข้องกับการทดสอบการบินกับเครื่องปราบเครื่องดำน้ำแบบ S-3 Viking และเที่ยวบินของ Wörner ที่เดินทางกลับจากสหรัฐอเมริกากลับไปยังเยอรมนีได้รับการชำระโดยบริษัท Lockheed ซึ่ง Wörner เดินทางพร้อมกับเลขานุการของเขา และบริษัท Lockheed ก็ออกค่าใช้จ่ายในการเดินทางส่วนหนึ่งให้เธอ ยิ่งไปกว่านั้น Wörner ยัง ‘เสีย’ ตั๋วเดินทางที่รัฐบาลเยอรมันตะวันตกขากลับไปเยอรมนี และบริษัท Lockheed ‘รับรอง’ เขาด้วยการให้ตั๋วเดินทางกลับอีกใบแก่เขา 

เครื่องบินขนส่งแบบ Lockheed C-130 Hercules ของกองทัพอากาศอิตาลี

>> อิตาลี
เรื่องอื้อฉาวของบริษัท Lockheed ในอิตาลีเกี่ยวข้องกับการติดสินบนนักการเมืองสังกัดพรรค Christian Democrat และพรรคสังคมนิยมเพื่อให้สนับสนุนการจัดซื้อเครื่องบินขนส่งแบบ Lockheed C-130 Hercules ของกองทัพอากาศอิตาลี 

ข้อกล่าวหาเรื่องการติดสินบนได้รับการสนับสนุนจาก L'Espresso นิตยสารทางการเมือง และมีเป้าหมายที่อดีตรัฐมนตรี ๒ คน คือ Luigi Gui และ Mario Tanassi (อดีตรัฐมนตรีอิตาลีคนแรกที่รับโทษจำคุก และเป็นนักการเมืองคนแรกที่ถูกตัดสินว่ามีความผิด ก่อนเกิดเรื่องอื้อฉาวเกี่ยวกับการทุจริตทั่วประเทศในทศวรรษ 1990) อดีตนายกรัฐมนตรี Mariano Rumor และจากนั้น ประธานาธิบดี Giovanni Leone ได้กดดันให้เขาลาออกจากตำแหน่งเมื่อวันที่ 15 มิถุนายน ค.ศ. 1978

โทรเลขรายงานข้อมูลที่เกี่ยวกับการติดสินบนของบริษัท Lockheed จากเอกอัครราชทูตสหรัฐฯประจำเนเธอร์แลนด์มายังรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศสหรัฐฯ (Henry Kissinger)

เจ้าชาย Bernhard พระสวามีในสมเด็จพระราชินีจูเลียนา ถูกกล่าวหาว่า ได้รับสินบน US$1,100,000 จากบริษัท Lockheed เพื่อให้แน่ใจว่า เครื่องบินขับไล่แบบ Lockheed F-104 Starfighter จะชนะเครื่องบินขับไล่แบบ Dassault Mirage 5 ในการสั่งซื้อโดยกองทัพอากาศเนเธอร์แลนด์ พระองค์เคยทรงดำรงตำแหน่งในคณะกรรมการบริษัท หรือคณะกรรมาธิการต่าง ๆ มากกว่า 300 แห่งทั่วโลก และได้รับการยกย่องอย่างมากในเนเธอร์แลนด์สำหรับความพยายามในการส่งเสริมความเป็นอยู่ทางเศรษฐกิจที่ดีของประเทศเนเธอร์แลนด์

เจ้าชาย Bernhard พระสวามีในสมเด็จพระราชินีจูเลียนา

นายกรัฐมนตรี Joop den Uyl สั่งให้มีการสอบสวนเรื่องนี้ ในขณะที่เจ้าชาย Bernhard ทรงปฏิเสธที่จะตอบคำถามของผู้สื่อข่าวโดยระบุว่า ‘ข้าพเจ้าอยู่เหนือเรื่องนั้น’ ผลของการไต่สวนนำไปสู่วิกฤตรัฐธรรมนูญซึ่งสมเด็จพระราชินีจูเลียนาทรงขู่ว่า จะทรงสละราชสมบัติหากเจ้าชาย Bernhard ทรงถูกดำเนินคดี เจ้าชาย Bernhard ทรงได้รับยกเว้นการดำเนินคดี แต่ทรงต้องลงจากตำแหน่งสาธารณะหลายตำแหน่ง และถูกห้ามไม่ให้ทรงเครื่องแบบทหารอีก 

เจ้าชาย Bernhard ทรงปฏิเสธข้อกล่าวหามาโดยตลอด แต่หลังจากการสิ้นพระชนม์ชีวิตในวันที่ 1 ธันวาคม ค.ศ. 2004 มีการเผยแพร่บทสัมภาษณ์ที่แสดงให้เห็นว่า พระองค์ทรงยอมรับว่า ทรงรับเงิน พระองค์ตรัสว่า "ข้าพเจ้ายอมรับว่าคำว่า Lockheed จะถูกสลักไว้บนหลุมฝังศพของข้าพเจ้า" 

Adnan Khashoggi ตัวแทนจำหน่ายของบริษัท Lockheed ในซาอุดีอาระเบีย

>> ซาอุดิอาระเบีย
ระหว่างปี ค.ศ. 1970 และค.ศ. 1975 บริษัท Lockheed จ่ายค่า Commissions ราว US$106,000,000 ให้กับ Adnan Khashoggi ตัวแทนจำหน่ายในซาอุดีอาระเบีย เริ่มต้นที่ 2.5% + และในที่สุดก็เพิ่มขึ้นเป็น 15% 

เครื่องบินขับไล่แบบ Lockheed F-104 Starfighter กองกำลังป้องกันตนเองทางอากาศของญี่ปุ่น

>> ญี่ปุ่น
เรื่องอื้อฉาวที่เกี่ยวข้องกับ Marubeni Corporation และอีกสมาชิกระดับสูงทางการเมือง ธุรกิจ และวงการมาเฟียของญี่ปุ่น รวมทั้ง Eisaku Satō รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และ Minoru Genda ประธานคณะเสนาธิการ กองกำลังป้องกันตนเองญี่ปุ่น (JASDF) ในปี ค.ศ. 1957 กองกำลังป้องกันตนเองทางอากาศของญี่ปุ่นต้องการซื้อเครื่องบินขับไล่แบบ Grumman F11F-1F Super Tiger เพื่อแทนที่เครื่องบินขับไล่แบบ F-86 Saber ที่ประจำการอยู่ในขณะนั้น แต่การล็อบบี้อย่างหนักโดยบริษัท Lockheed โดยแกนนำคนสำคัญของพรรค Liberal Democratic Party ทำให้มีการซื้อเครื่องบินขับไล่แบบ Lockheed F-104 Starfighter แทน

Yoshio Kodama

ต่อมาบริษัท Lockheed ได้ทำการว่าจ้าง Yoshio Kodama ซึ่งเป็นผู้มีบทบาทและอิทธิพลต่อหลายสายการบินของญี่ปุ่น เป็นที่ปรึกษา ซึ่งทำให้ All Nippon Airways (ANA) สั่งซื้อเครื่องบินโดยสารแบบ Lockheed L-1011 TriStar แทนเครื่องบินโดยสารแบบ McDonnell Douglas DC-10 โดยวันที่ 6 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1976 รองประธานของบริษัท Lockheed กล่าวกับคณะอนุกรรมาธิการของวุฒิสภาว่า บริษัท Lockheed ได้จ่ายสินบนประมาณ US$3,000,000 ให้กับสำนักงานของ Kakuei Tanaka นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น เพื่อขอความช่วยเหลือในเรื่องนี้ 

‘ตร.’ เผย 2 เดือน จับยาเสพติดเฉียด 5 หมื่นคดี พร้อมทลาย ‘แก๊งต่างชาติ-ทุนจีน-พนันบอล’ เพียบ

ผบ.ตร.โชว์ผลงานรอบ 2 เดือน เน้นงานนโยบาย 5 ด้าน เร่งด่วน แก้ปัญหาผู้เสพกว่า 1.4 แสนราย จับกุมปืน 22,027 คดี กวาดล้างยาเสพติด 47,310 คดี พนันฟุตบอล 5,101 ราย ทลายเครือข่ายนายทุนจีน แก๊งต่างชาติ อาชญากรรมทางเทคโนโลยี สร้างความเชื่อมั่นให้ประชาชน

วันนี้ (30 พ.ย.65) เวลา 11.00 น. ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ พล.ต.ต.อาชยน ไกรทอง โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) เปิดเผยว่า ตามนโยบาย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มอบหมายให้ พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผบ.ตร. ขับเคลื่อนนโยบายสำคัญของรัฐบาล โดยเฉพาะด้านอาชญากรรม ที่ส่งผลกระทบต่อประชาชน ด้านปัญหายาเสพติด อาวุธปืน สถานบริการ การพนัน คดีออนไลน์ และเครือข่ายคนต่างด้าวที่กระทำผิดกฎหมายในประเทศไทยอย่างเฉียบขาด จริงจัง และต่อเนื่อง โดยบังคับใช้ทุกมาตรการทางกฎหมาย

สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ขอแถลงผลการดำเนินการ ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. - 28 พ.ย. 65 จำนวน 5 ด้าน ดังนี้

1.) สถิติอาชญากรรม สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (1 ต.ค.- 28 พ.ย.65) รับคำร้องทุกข์ 142,740 คดี  จับกุมได้ 131,349 คดี คิดเป็น ร้อยละ 92

(1.1) จับกุม อาวุธปืนและวัตถุระเบิด 22,027 คดี 20,316 คน (ปืนสงคราม 220 คดี, ปืนไม่มีทะเบียน 6,466 คดี, ปืนมีทะเบียน 529 คดี )

(1.2) คดีเกี่ยวกับการพนัน 15,407 คดี ผู้ต้องหา 18,170 คน จับกุมกรณี บ่อนการพนัน (20 คนขึ้นไป) 4 คดี ผู้ต้องหา 108 คน

โดยศูนย์ป้องกันและปราบปรามการลักลอบเล่นการพนันทายผลฟุตบอลโลก (World Cup 2022) มีผลปฏิบัติ จับกุมเจ้ามือ จำนวน 104 ราย (เจ้ามือ 57 ราย เจ้ามือออนไลน์ 47 ราย) ผู้เล่น 4,975 ราย (ผู้เล่นทั่วไป 4,559 ราย ผู้เล่นออนไลน์ 416 ราย) เดินโพย 22 ราย รวม จำนวนทั้งสิ้น 5,101 ราย โดยยึดของกลางโพยบอล 7,064 ใบ เงินสด 98,140 บาท รวมมูลค่า 1,268,000 บาท
(1.3) จับกุมความผิดเกี่ยวกับสถานบริการ 1,032 คดี ผู้ต้องหา 1,024 คน

2.) ด้านการป้องกันปราบปรามยาเสพติด

(2.1) ค้นหาและนำผู้สมัครใจเข้าสู่กระบวนการบำบัดฯ จำนวน 72,716 ราย และผู้เสพที่มีอาการ ทางจิตประสาท จำนวน 21,143 ราย รวมทั้งสิ้น 93,859 ราย

(2.2) ผู้เสพไม่สมัครใจบำบัดหรือกระทำผิดซ้ำ จับกุม จำนวน 46,980 ราย (กลุ่มฐานความผิดร้ายแรง (ผู้จำหน่าย ครอบครองเพื่อการค้า ซึ่งทำให้เกิดการแพร่กระจายในหมู่ประชาชน) จำนวน 9,329 ราย โดยสามารถนำผู้เสพเข้าสู่กระบวนการทางกฎหมาย รวมทั้งสิ้น จำนวน 140,839 ราย ระยะเวลา ต.ค.-พ.ย.65 คิดเป็นร้อยละ 54 เมื่อเทียบกับปีงบประมาณ พ.ศ.2565

(2.3) จับกุมยาเสพติด 47,310 คดี ผู้ต้องหา 46,453 คน ปริมาณของกลางยาบ้า 34,827,953 เม็ด ไอซ์ 67.88 กิโลกรัม เฮโรอีน 125.9 กิโลกรัม เคตามีน 406.5 กิโลกรัม โคเคน 2.4 กิโลกรัม และยาอี 1,217 เม็ด ดำเนินการตามยึดทรัพย์ ตามมาตรการฟอกเงิน 3 ราย

(2.4) ดำเนินโครงการชุมชนยั่งยืนเพื่อแก้ไขปัญหายาเสพติดแบบครบวงจรในพื้นที่ 1,483 หมู่บ้าน/ชุมชน จำนวนไม่น้อยกว่า 15,000 ราย โดยจะเริ่มดำเนินการได้ในห้วง ม.ค.-เม.ย.2566

3.) ด้านการแจ้งความออนไลน์ และ อาชญากรรมทางเทคโนโลยี
สถิติการรับแจ้งความออนไลน์ตั้งแต่ 1 มี.ค. - 29 พ.ย.65 รับแจ้งความ 134,268 คดี พบว่า ข้อมูล 5 กลโกงที่พบการรับแจ้งมากที่สุด 
(1) คดีหลอกลวงซื้อขายสินค้า 
(2) โอนเงินเพื่อหารายได้จากกิจกรรม 
(3) หลอกให้กู้เงินแต่ไม่ได้เงิน 
(4) หลอกให้ลงทุน 
(5) หลอกลวงทางโทรศัพท์แบบเป็นขบวนการ/Call Center)

ข้อมูล 5 กลโกงที่พบความเสียหายสูงสุด
1.หลอกให้ลงทุน (6.4 ลบ.) 
2.หลอกลวงทางโทรศัพท์แบบเป็นขบวนการ (2.1 ลบ.) 
3.โอนเงินเพื่อหารายได้จากกิจกรรม (2.0 ลบ.) 
4.หลอกให้รักแล้วลงทุน (0.99 ลบ.)
5.หลอกให้กู้เงินแต่ไม่ได้เงิน (0.67 ลบ.)
สามารถติดตามอายัดบัญชี 49,765 บัญชี สามารถอายัดได้ทัน 385,759,583 บาท

4.) ด้านเครือข่ายคนต่างด้าวกระทำผิดกฎหมาย ผบ.ตร. สั่งการให้ ผบช.สตม. ดำเนินการเพิ่มความเข้มในการคัดกรอง กวาดล้างและจัดระเบียบ คนต่างด้าวที่ผิดกฎหมาย กระทำความผิดลักษณะเป็นเครือข่ายคนต่างด้าวกระทำผิดกฎหมายในประเทศไทย ดังนี้
(4.1) คัดกรองคนต่างด้าวมีการปฏิเสธคนต่างด้าวเข้าเมือง จำนวน 3,395 ราย คนต่างด้าวหลบหนีเข้าเมือง 2,005 ราย ช่วยเหลือ ซ่อนเร้น 21 ราย และจัดระเบียบคนต่างด้าวในประเทศ ไม่รายงานตัวฯ 582 ราย (มาตรา 37) ไม่แจ้งที่พักอาศัยคนต่างด้าว 8,770 ราย (มาตรา 38) และจับกุมคนต่างด้าวอนุญาตสิ้นสุด (Overstay) จำนวน 1,073 ราย

(4.2) ขยายจับกุมเครือข่ายนายทุนจีนผิดกฎหมาย จากกรณี ร้านผับจินหลิง คดีที่เมื่อวันที่ 26 ต.ค.65 เข้าตรวจค้น พบผู้ใช้ยาเสพติดกว่า 104 ราย และพบยาเสพติดจำนวนมาก พร้อมตรวจยึดรถยนต์หรู จำนวน 35 คัน จากการขยายผลพบเพิ่มอีก 4 กรณี ได้แก่

(1) ร้านคลับวันพัทยา พื้นที่ สภ.เมืองพัทยา หลังการตรวจค้น พบยาเสพติดจำนวนมาก ผู้ต้องหา 4 ราย
(2) ร้านท็อปวัน พื้นที่ สน.สุทธิสาร มีกลุ่มคนจีนเป็นเจ้าของ โดยใช้ชื่อคนไทยเป็นนอมินี จำนวน 2 ราย
(3) ร้านจินหลิง พื้นที่ สน.ยานนาวา จับกุมขยายผลผู้ต้อง 4 ราย ได้ของกลางเป็นยาเสพติดประเภท เฮโรอีน ยาอี และแฮปปี้วอเตอร์ ตรวจค้นจุดต้องสงสัยกว่า 38 จุด ยึดรถหรู 5 คัน เงินสด 19 ล้านบาท หลังจากนั้นได้ขออนุมัติออกหมายจับเพิ่มอีก 2 ราย
(4) ร้านเบบี้เฟซ พื้นที่ สน.คลองตัน หลังตรวจค้นที่พัก พบสุราต่างประเทศ ไวน์ต่างประเทศ บุหรี่ต่างประเทศ บุหรี่ไฟฟ้าพร้อมอุปกรณ์ และอาวุธปืน หลังจากรวบรวมพยานหลักฐาน ได้ดำเนินคดีกับผู้ต้องหา เพิ่มจำนวน 4 ราย โดยคดีนี้อยู่ระหว่างสืบสวนขยายผลผู้กระทำความผิดที่เกี่ยวข้อง

(4.3) จับกุม คนต่างด้าวลักลอบเปิดเว็บพนันออนไลน์ เมื่อวันที่ 28 ต.ค. 65 คนต่างด้าว 56 ราย ใช้ไทยเป็นฐานลักลอบเปิดเว็บพนันออนไลน์ เห่อซิง โดยมีเงินทุนหมุนเวียนกว่า 500 ล้านบาท

(4.4) จับกุมแก๊งค์อุ้มเรียกค่าไถ่ เมื่อวันที่ 1 พ.ย.65 ผู้ต้องหา 2 ราย เกี่ยวข้องกับแก๊งอุ้มตัดนิ้วเพื่อนร่วมแก๊งเรียกค่าไถ่ 37 ล้านบาท

(4.5) จับกุมคนต่างด้าวสวมบัตรประชาชน เมื่อวันที่ 9 พ.ย.65 จับกุมนายทุนรายใหญ่ สวมบัตรประชาชนไทย ตามหมายจับศาล จว.ปัตตานี จ.125/65 ยึดของกลางหลายรายการ เช่น ชุดเครื่องแบบฯ ติดป้ายชื่อ รถยนต์ 2 คัน (ติดธงจีนคล้ายรถสถานทูต) หนังสือเดินทาง 3 เล่ม

(4.6) จับกุม แก๊งคอลเซ็นเตอร์ต่างชาติ เมื่อวันที่ 13 พ.ย.65 รวบหัวหน้าแก๊งคอลเซ็นเตอร์ หนีซุกไทยเสวยสุข ตามหมายจับฯ ข้อหา เกี่ยวกับยาเสพติด การฉ้อโกง การลักทรัพย์ เป็นบุคคลที่เป็นภัยต่อสาธารณะ หนังสือเดินทางปลอม ตรวจยึด รถยนต์ยี่ห้อ Ferrari 1 คัน มูลค่ากว่า 24 ล้านบาท
(5.) โครงการ ‘ทำดี มีรางวัล’ พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ฯ ผบ.ตร. ได้มอบเกียรติบัตรตามโครงการ ‘ทำดี มีรางวัล’ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ จำนวน 8 เรื่อง โดยเป็นข้าราชการตำรวจ จำนวน 12 นาย และประชาชน 3 นาย เช่น การช่วยเหลือ ประชาชน นำส่งเด็กผลัดหลง การปฐมพยาบาล (ปั้มหัวใจ) ช่วยเหลือรถจักรยานยนต์ตกคลอง การจับกุมคนร้ายใช้อาวุธปืน ช่วยเหลือเด็กหญิง เจรจาคนพยามยามจะกระโดดสะพาน ใช้ไหวพริบในการจับกุมยาเสพติดกว่า 5 ล้านเม็ด

2 ธันวาคม พ.ศ. 2551 ศาลรัฐธรรมนูญ สั่งยุบ 3 พรรคการเมือง ‘พลังประชาชน - ชาติไทย – มัชฌิมาธิปไตย’

วันนี้ เมื่อ 14 ปีก่อน ศาลรัฐธรรมนูญ มีมติให้ยุบ 3 พรรคการเมือง ‘พลังประชาชน - ชาติไทย – มัชฌิมาธิปไตย’ ปมทุจริตการเลือกตั้งปี 2550

เวลา 12.00-13.32 น. วันที่ 2 ธันวาคม พ.ศ. 2551 คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ อ่านคำวินิจฉัยกรณีอัยการสูงสุดมีคำร้องให้ยุบพรรคพลังประชาชน พรรคชาติไทย และพรรคมัชฌิมาธิปไตย เนื่องจากกระทำผิดทุจริตการเลือกตั้ง เมื่อปี 2550 โดยศาลฯ มีคำสั่งให้ยุบพรรคทั้ง 3 พรรค รวมทั้งเพิกถอนสิทธิการเลือกตั้งต่อกรรมการบริหารพรรคเป็นจำนวน 37 คน, 43 คน, และ 29 คน ตามลำดับ มีกำหนด 5 ปี นับตั้งแต่วันที่ศาลรัฐธรรมนูญคำสั่งให้ยุบพรรคสามารถสรุปได้ดังนี้

สำหรับกรณีของพรรคพลังประชาชน นั้น ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ระบุว่า กรณีที่นายยงยุทธ ติยะไพรัช อดีตรองหัวหน้าพรรคกระทำการฝ่าฝืนและขัดต่อ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2550 ที่มีผลทำให้การเลือกตั้งไม่เป็นไปโดยสุจริต และได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองที่ไม่เป็นไปตามวิถีทางของรัฐธรรมนูญ ดังนั้นจึงเป็นเรื่องที่พรรคและคณะกรรมการบริหารพรรคคนอื่น ๆ ต้องร่วมรับผิดชอบ

ศาลวินิจฉัยแล้วเห็นว่าคำแก้ข้อกล่าวหาของผู้ถูกร้องฟังไม่ขึ้น เนื่องจากนายยงยุทธ เป็นนักการเมืองหลายสมัย มีฐานะเป็นถึงรองหัวหน้าพรรค และอดีตประธานสภาผู้แทนราษฎร ย่อมต้องเพิ่มความเข้มงวดที่จะไม่กระทำการใด ๆ อันฝ่าฝืนกฎหมาย แต่นายยงยุทธ ติยะไพรัช กลับกระทำผิดเสียเอง

นอกจากนี้กรณีที่พรรคพลังประชาชนโต้แย้งว่าได้จัดการประชุมชี้แจงเพื่อกำชับไม่ให้ผู้สมัครของพรรคกระทำการฝ่าฝืนกฎหมายเลือกตั้งแล้วก็ตามนั้น ศาลเห็นว่าแม้พรรคจะมีการกระทำดังกล่าวจริง แต่ไม่ได้เป็นข้อยกเว้นความรับผิดในการที่กรรมการบริหารพรรคจะไปกระทำผิดเอง เพราะทำให้เห็นว่ามาตรการดังกล่าวไม่ได้มีผลบังคับใช้

ส่วนที่มีข้อโต้แย้งว่าผลการสืบสวนของคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) ละเมิดสิทธิและไม่เป็นไปตามหลักนิติธรรมนั้น ศาลวินิจฉัยแล้วเห็นว่า กกต.มีหน้าที่ยื่นคำร้องต่อศาล และได้ดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมายมาอย่างถูกต้องแล้ว

'เพื่อไทย' ซัด 'ประยุทธ์' 8 ปีปราบโกงแค่คำหลอกลวง ชี้!! คนใกล้ตัวมีข่าวเอี่ยวทุจริต แต่ยังเมินเฉยไม่ตรวจสอบ

(7 ม.ค. 66) น.ส.ลิณธิภรณ์ วริณวัชรโรจน์ รองเลขาธิการพรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวว่า ขณะนี้การทุจริตคอร์รัปชันกลายเป็นปัญหาพัวพันในทุกแวดวง ทั้งราชการ การเมืองและธุรกิจสีเทาอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน แต่ดูเหมือนว่าพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ มีท่าทีเมินเฉย ไม่เร่งรัดให้มีการตรวจสอบอย่างเร่งด่วน ซ้ำยังแสดงท่าทีฉุนเฉียวเมื่อถูกสื่อสอบถามกรณีนายชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ เปิดโปงข้อมูลโยงถึงหลานชายของพล.อ.ประยุทธ์ ว่ามีความเกี่ยวข้องกับทุนจีนสีเทานายตู้ห่าวอีกด้วย 

ที่ผ่านมาฝ่ายค้านและพรรคเพื่อไทยพยายามเปิดโปงการทุจริต คอร์รัปชันต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นภายใต้การบริหารงานของพล.อ.ประยุทธ์อย่างต่อเนื่อง คู่ขนานไปกับความเข้มแข็งของภาคประชาชน ที่แฉข้อมูลกดดันให้กระบวนการตรวจสอบต้องเดินหน้า แต่หลายเรื่องเมื่อเข้าสู่กระบวนการของรัฐ กลับทำให้ประชาชนเกิดคำถามและข้อสงสัยว่าเหตุใดหน่วยงานด้านการตรวจสอบ ไม่กล้าทำหน้าที่เป็นที่พึ่งของประชาชนอย่างที่ควรจะเป็น    

น.ส.ลิณธิภรณ์ กล่าวต่อว่า ขณะที่พล.อ.ประยุทธ์เคยให้คำมั่นต่อประชาชนว่าจะเข้ามาปราบโกง ขจัดนักการเมืองไม่ดีออกไป แต่จนถึงขณะนี้สถานการณ์ปราบโกงที่พล.อ.ประยุทธ์มุ่งมั่นจะทำกลับเลวร้ายลง ยืนยันได้จากดัชนีการรับรู้การทุจริต (Corruption Perceptions Index หรือ CPI) ประจำปี 2564 ไทยได้เพียง 35 คะแนน อยู่ในอันดับที่ 110 ของโลกอันดับแย่ที่สุดนับตั้งแต่จัดอันดับมา 

'เพื่อไทย' จวก 'ประยุทธ์' ภาวะผู้นำเสื่อมถอย ทำโมโหกลบเกลื่อน หลังถูกจี้ถามปมหลานชายเอี่ยวทุจริต

(7 ม.ค. 66) นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด รองเลขานุการคณะกรรมการยุทธศาสตร์และทิศทางการเมืองพรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวถึงกรณี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ โมโห ฉุนเฉียว หลังถูกจี้ถามปมที่นายชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ อดีตหัวหน้าพรรครักประเทศไทย หลังเปิดโปงหลักฐานแฉโยงชื่อหลานชายของ พล.อ.ประยุทธ์เข้าไปเอี่ยวคดีตู้ห่าวหรือไม่ว่า ดูเหมือนพล.อ.ประยุทธ์ตอนถูกถามเรื่องหลานชายเอี่ยวคดีตู้ห่าว กับตอนพูดเรื่องจะไปเปิดตัวกับพรรครวมไทยสร้างชาติจะเป็นคนละคนกัน สำเนียงส่อภาษา กิริยาส่อสกุล 8 ปีที่ผ่านมาคนไทยต้องรับสภาพพล.อ.ประยุทธ์ที่ภาวะผู้นำเสื่อมถอย พอนึกได้ก็บอกว่าจะปรับปรุงตัวให้ดีขึ้น แต่พอเรื่องไหนจวนตัวเสี่ยงจะเขวี้ยงงูไม่พ้นคอ ก็ออกอาการโมโหฉุนเฉียวพาลใส่ประชาชน สภาพเหมือนคนควบคุมตัวเองไม่ได้ 

สื่อมวลชนถามว่าหลานชายมีเอี่ยวคดีตู้ห่าวหรือไม่ก็ตอบไป ไม่เห็นต้องโมโหฉุนเฉียวเกรี้ยวกราดอะไรขนาดนั้น ประชาชนตั้งคำถาม 8 ปีที่ผ่านมาข้าราชการระดับสูงหลายคนที่มีพฤติกรรมไม่เหมาะสม ได้รับอิทธิพลหรือถูกครอบงำจากพล.อ.ประยุทธ์หรือไม่ ศึกอภิปรายเป็นการทั่วไปโดยไม่มีการลงมติตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 152 ภายใต้ยุทธการถอดหน้ากากคนดีย์ 4 ปีแปดเปือน นอกจากจะมีประเด็นเกี่ยวกับการทุจริตคอร์รัปชัน การจัดซื้อจัดจ้างผิดปกติมีปัญหา เชื่อว่าประเด็นภาวะผู้นำเสื่อมถอยของพล.อ.ประยุทธ์ จะต้องถูกนำมาตั้งคำถามด้วย

‘ชญาภา’ ชี้ ภาพลักษณ์คอร์รัปชันไทย 64 รั้ง 110 เทียบยุค ‘โทนี่’ เป็นนายกฯ ยังอยู่ในอันดับที่ 59

‘ชญาภา’ สับต่อมผิดชอบชั่วดี ‘ประยุทธ์’ ไม่ทำงานหลังตั้งแก๊ง รทสช. นั่งทีมนายกฯ อื้อ อัด รบ.คนดีสร้างบาปทางการเมืองไว้เพียบ เชื่อ ปชช.จะพิพากษาวันเลือกตั้ง

(18 ม.ค. 66) น.ส.ชญาภา สินธุไพร รองโฆษกพรรคเพื่อไทย (พท.) และผู้ซึ่งประสงค์สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.ร้อยเอ็ด พรรคเพื่อไทยกล่าวกรณีที่คณะรัฐมนตรีที่มีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ เป็นประธาน มีมติแต่งตั้งนายสยาม บางกุลธรรม รองเลขาธิการพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) และนายเนวินธุ์ ช่อชัยทิพฐ์ คณะกรรมการยุทธศาสตร์และว่าที่ผู้สมัคร ส.ส. กทม.เขตยานนาวา พรรครทสช.ให้เป็นข้าราชการการเมืองในตำแหน่งประจำสำนักเลขาธิการนายกฯ ตามที่นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค เลขาธิการนายกฯ เสนอว่า ยิ่งนานวันรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ ยิ่งทำสิ่งที่ไร้มารยาททางการเมือง ต่อมความรู้สึกผิดชอบชั่วดีทางการเมืองไม่ทำงาน นอกจากจะล้มเหลวในการแก้ไขปัญหาบ้านเมืองแล้ว ยังสร้างความไม่ไว้วางใจให้กับพี่น้องประชาชนซ้ำ ๆ ทั้งที่เหลือเวลาในการทำงานไม่ถึง 2 เดือน แต่ยังเดินหน้าแต่งตั้งคนในพรรคที่ตนเองสังกัดมาทำงานรอบกาย

น.ส.ชญาภา กล่าวต่อว่า โดยปกติการแต่งตั้งบุคคลมาช่วยทำงานจะแต่งตั้งหลังจากที่มีการเลือกตั้ง จัดตั้งรัฐบาลแล้วเสร็จ แต่พล.อ.ประยุทธ์แต่งตั้งคนในพรรคที่สังกัดมาดำรงตำแหน่งในรัฐบาลเพื่อไปสู้ศึกเลือกตั้ง เรื่องนี้น่าจะมีผลประโยชน์ทับซ้อนทางการเมืองหรือไม่ จากที่ก่อนหน้านี้ได้แต่งตั้งนายนายพีระพันธุ์ หัวหน้าพรรค รทสช.เป็นเลขาธิการนายกฯ จึงอดคาดเดาไม่ได้ว่าหลังจากนี้คนที่เป็นเลขาธิการนายกฯ และเป็นหัวหน้าพรรคที่นายกฯ สังกัดอยู่ จะตั้งพล.อ.ประยุทธ์เป็นแคนดิเดตนายกฯ จากพรรค รทสช.เป็นการผลัดกันเกาหลังทางการเมือง หากเป็นบุคคลที่มีความละอายทางการเมือง จะไม่ทำเช่นนี้ แต่พล.อ.ประยุทธ์กล้าทำในหลายเรื่อง เช่น…

1. พล.อ.ประยุทธ์รัฐประหาร ฉีกรัฐธรรมนูญ ในปี 2557 มีความผิดฐานกบฎ แต่นิรโทษกรรมตัวเองไม่ให้รับผิด

2. พล.อ.ประยุทธ์เป็นผู้นำเผด็จการรัฐบาลทหารกว่า 4 ปีไม่พอใจ ยังวางหมากทางการเมืองหวังจะสืบทอดอำนาจต่อ โดยสรรหา ส.ว.เพื่อโหวตให้ตัวเองเป็นนายกฯต่อ 

3. พล.อ.ประยุทธ์อยู่บ้านพักฟรี ค่าน้ำค่าไฟฟรีจากภาษีประชาชน

‘เพื่อไทย’ จวก ‘บิ๊กตู่’ ไม่มีความรับผิดชอบ อยู่จะครบเทอม ยังจัดการปัญหาทุจริตไม่ได้

(24 ม.ค. 66) น.ส.ชญาภา สินธุไพร รองโฆษกพรรคเพื่อไทย (พท.) และผู้ซึ่งประสงค์สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.ร้อยเอ็ด พรรคเพื่อไทยกล่าวถึงข่าวนักท่องเที่ยวชาวจีนอ้างว่าใช้บริการวีไอพีจากตำรวจไทยพร้อมจ่ายเงินตอบแทนว่า เป็นอีกครั้งที่ตำรวจไทยบางส่วนทำงามหน้าประเทศ เป็นปลาตัวเดียวที่ทำให้วงการสีกากีเน่าไปทั้งข้อง ทำเกียรติภูมิของตำรวจไทยเสียหาย สะท้อนไปถึงการบังคับใช้กฎหมายที่เหลวแหลก พฤติกรรมของตำรวจบางกลุ่มที่ถูกเปิดโปง ต้องยอมรับว่าหากหัวไม่สั่นหางคงไม่กระดิกใช่หรือไม่ สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นเพียงยอดภูเขาน้ำแข็งที่สั่นคลอนระบบราชการภายใต้การบริหารราชการแผ่นดินของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ ที่กำกับดูแลสำนักงานตำรวจแห่งชาติต้องรับผิดด้วย อย่ารับแต่ชอบ 

น.ส.ชญาภา กล่าวต่อว่า กี่กรณีแล้วที่พล.อ.ประยุทธ์ ปล่อยปละละเลยให้ธุรกิจสีเทาและทุนจีนสีเทาเฟื่องฟู ยาเสพติดระบาดเกลื่อนบ้านเกลื่อนเมือง ระบบการส่งส่วยที่รับเงินสดแบบไม่เกรงกลัวต่อกฎหมาย เมื่อตรวจพบแต่ละครั้งก็ทำได้แค่ย้ายเข้ากรุ ตั้งคณะกรรมการสอบ โดยภายในเดือนม.ค.เพียงเดือนเดียว พบว่ามีการตั้งกรรมการสอบหน่วยงานของรัฐไปแล้ว 6 คณะ ได้แก่ คณะกรรมการตรวจสอบกรณีเรือหลวงสุโขทัยอับปาง กรณีพบส่วยในห้องทำงานข้าราชการระดับสูงกรมอุทยาน กรณีตำรวจ 191 เรียกทรัพย์หลังค้นบ้านทุนจีนสีเทา กรณีดีเอสไอเรียกทรัพย์ค้นบ้านทุนจีนสีเทา กรณีเปลี่ยนป้ายสถานีกลางบางซื่อ กรณีช่วยเหลือคดีตู้ห่าว ทั้งหมดเกิดขึ้นภายในเดือนเดียว เพิ่มเติมจากเรื่องเก่าที่ยังไม่มีความคืบหน้า อย่างเรื่องเงินบริจาคของนายตู้ห่าวที่บริจาคให้พรรคพลังประชารัฐ จึงไม่อยากประเมินสถานการณ์ไปถึงอนาคตว่าประเทศไทยจะมีการตั้งคณะกรรมการไปอีกกี่ชุด ทั้งที่การแก้ไขที่ต้นเหตุสามารถทำได้ด้วยการมีผู้นำที่มีความจริงใจในการแก้ไขปัญหา และเอาจริงเอาจังในการปราบปรามการทุจริตทุกรูปแบบมากกว่านี้ แต่พล.อ.ประยุทธ์กลับละเลย ฉายา 8 ปีที่ 8 เปื้อนที่สื่อตั้งให้คงสมฉายาแล้ว


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top