Wednesday, 15 May 2024
ทุจริต

ฉงน!! ‘ข้าราชการสีเทา’ ฉายแสงซ้ำซาก ฤๅฤทธิ์แรงโหมจาก ‘เงา’ หลังฉาก ที่ให้ท้ายจนเคยตัว

ความวัวยังไม่ทันหาย ความควายในสังคม ‘ข้าราชการสีเทา’ ก็เน่าออกมาอีกเป็นระลอกคลื่น 

เพราะเมื่อปลายปีที่แล้ว กรณีข้าราชการสีเทา สุดงามไส้ ที่ทำเอา ‘ท็อป’ วราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพย์ฯ ยังต๊กกะใจ และตามหลอกหลอนอยู่นั้น สาเหตุมันก็มาจากความละโมบส่วนบุคคล ที่ไม่รู้มีใครหนุนหลังให้หาญกล้าลงมือกิน

แต่ก็อย่างว่า คดีนี้ก็จบลงเมื่อผู้ถูกกระทำเกินทน จนเจ้าหน้าที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) แท็กมือกับกองบังคับการป้องกันปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ (บก.ปปป.) บุกเข้าจับกุม ‘รัชฎา สุริยกุล ณ อยุธยา’ อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืชเป็นผลสำเร็จ 

เป็นเหตุเซอร์ไพรซ์ท่ามกลางความตื่นตะลึงของผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ ที่อยู่ในห้องประชุม และกำลังรออวยพรปีใหม่ ‘ทั่นอธิบดี’ ซึ่งถูกแจ้งข้อหา ‘เรียกรับผลประโยชน์’ เรียกเก็บค่าวิ่งเต้นตำแหน่ง-รีดลูกน้อง โดยจากการตรวจค้นห้องทำงาน พบเงินสดประมาณ 5 ล้านบาท ใส่ซองจำนวนหลายต่อหลายซองเป็นของกลาง แม้เจ้าตัวจะให้การปฏิเสธ ว่าไม่รู้เงินอะไร ก็มิเป็นผล 

ถัดมาวันนี้ (2 ก.พ.66) ก็ได้ข่าวทำนองว่า ผอ.โรงเรียนดังในเมืองกรุง รีดเงินเอกชน 3.2 แสนบาท เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการทุจริตเกี่ยวกับอาหารนักเรียน จนโดนเจ้าเดิมอย่าง บก.ปปป. สนธิกำลังร่วมกับ เจ้าหน้าที่ ป.ป.ช. และ ป.ป.ท., เปิดปฏิบัติการ ‘ไข่นกกระทา’

ผู้ต้องหา รอบนี้ มีชื่อว่า นายไพฑูรย์ ภูมิช่อ ผู้อำนวยการโรงเรียนบางชัน (ปลื้มวิทยานุสรณ์) อายุ 58 ปี ถูกรวบในข้อหา เป็นเจ้าพนักงาน สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งรัฐ สมาชิกสภาจังหวัด หรือสมาชิกสภาเทศบาล เรียกรับ หรือยอมจะรับทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใด และ เป็นเจ้าพนักงาน ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ภายในห้องทำงานโรงเรียน แขวงบางชัน เขตคลองสามวา กรุงเทพมหานคร

โดยสืบเนื่องจากก่อนหน้าได้รับการร้องเรียนและก่อนเข้าทำการจับกุมนั้นสายข่าวแจ้งว่าว่า นายไพฑูรย์ มีพฤติกรรมใช้อำนาจหน้าที่ในทางไม่เหมาะสม เรียกรับเงินจากคู่สัญญาหรือผู้ประกอบการที่ชนะการเสนอราคาโครงการจ้างเหมาประกอบอาหารสำหรับนักเรียน ภาคเรียนที่ 2/2565 ของโรงเรียนบางชัน (ปลื้มวิทยานุสรณ์) เป็นเงิน 329,000 บาท อ้างว่าจะนำไปปรับปรุงวัสดุ อุปกรณ์ โต๊ะ เก้าอี้ ภายในโรงอาหารของโรงเรียน และ เรียกเก็บเพิ่มเติมเป็นเงินรายเดือนอีกเดือนละ 9,000 บาท ซึ่งเงินส่วนหลังนี้อ้างว่าเป็นค่าดูแลเจ้าหน้าที่ดูแลเรื่องอาหารของนักเรียน จำนวน 5 คน

เมื่อจับได้ ก็เข้าสูตร อ้างว่าไม่มีการเรียกรับเงินแต่อย่างใด แต่ยอมรับว่าก่อนหน้าจะถูกจับกุมได้มีการเชิญตัวผู้ประกอบการมาเข้าพบจริง แต่เป็นการเรียกมาพบเพื่อเจรจาเกี่ยวกับปัญหาที่มีการร้องเรียนเรื่องคุณภาพอาหารเพียงเท่านั้น ส่วนซองเงินที่อยู่บนโต๊ะนั้น ก็ไม่ทราบว่าเป็นของผู้ประกอบการคนดังกล่าววางลืมไว้หรือไม่ แต่ไม่ใช่ของตนอย่างแน่นอน เบื้องต้นจึงนำตัวส่ง พนักงานสอบสวน กก.1 บก.ปปป. เพื่อทำการแจ้งข้อกล่าวหา ก่อนเร่งรวบรวมพยานหลักฐานสรุปสำนวนส่งต่อให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาตามกฎหมายต่อไป

‘ไตรรงค์’ แฉ พรรคการเมือง ฮั้วต่างชาติค้ายา-เปิดพนัน นำเงินสกปรกมาซื้อเสียง วอน หยุดหนุนนักการเมืองชั่ว

(25 ก.พ. 66) เมื่อวันที่ 24 ก.พ. 66 นายไตรรงค์ สุวรรณคีรี ประธานที่ปรึกษาพรรครวมไทยสร้างชาติ โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัวระบุถึงปัญหาของประเทศไทยในปัจจุบัน ว่า ศัตรูตัวใหม่ของเราไม่ใช่มหาอำนาจนักล่าอาณานิคมของชาติตะวันตก แต่เป็นยาเสพติด และของผิดกฎหมาย เช่น การพนันออนไลน์ ซึ่งสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นและคงอยู่ได้ ก็เพราะทั้งคนไทยและต่างชาติร่วมมือกันให้มันเกิดขึ้น ต่างชาติ มีทั้ง จีน, ลาว, พม่า, เขมร, รัสเซีย และไนจีเรีย คำถามคือ ทำไมคนพวกนี้จึงกล้ามาทำชั่ว และทำผิดกฎหมายบั่นทอนความมั่นคงของชาติได้ ก็คงเพราะอย่างที่นายตู้ห่าวเคยพูดว่า “มีเงินเสียอย่าง อะไร ๆ ก็สามารถซื้อได้ทำได้ในประเทศไทย ก็เป็นจริงอย่างที่เขาพูด เพราะประเทศไทยเต็มไปด้วยข้าราชการชั่ว และนักการเมืองเลวที่คอยให้ความสะดวก และคุ้มครองธุรกิจเทาดำเหล่านี้ จึงเจริญกว้างขวางยิ่งขึ้นมาก

“ปัญหาของชาติในปัจจุบัน ก็คือ มีนักการเมืองของบางพรรคได้แอบร่วมกันกับต่างชาติในการค้ายาเสพติดและการพนันออนไลน์ และนักการเมืองเหล่านั้น ก็นำเงินสกปรกที่ได้มาเข้าไปใช้ในพรรค มีการเชื่อมต่อเพื่อนำเงินชั่วเข้าพรรคอยู่หลายวิธี เช่น ผู้ใหญ่เจ้าของพรรคทำหมู่บ้านจัดสรรขายให้พวกค้ายาเสพติดเพื่อฟอกเงิน โดยขายในราคาแพงเกินจริง เพื่อทำกำไรส่วนนี้มาใช้ในการซื้อเสียงในการเลือกตั้งที่จะมีขึ้น หรือบางพรรคก็มีบุคคลสำคัญของพรรคเป็นตัวเชื่อมนำเงินสกปรกเหล่านี้ ส่งให้หัวหน้าพรรคก็จะใช้เงินพวกนี้ในการซื้อความภักดีของ ส.ส.ของพรรค เชื่อหรือไม่ว่า ที่บางคนไม่ยอมย้ายพรรค ไม่ใช่มีอุดมการณ์อะไร แต่เพราะเกิดอาการเสพติดจากเงินค้ายาเสพติด และเงินที่ได้จากรัฐมนตรีของมันโกงกันมา ที่มีการแจกกันเป็นประจำทุก ๆ เดือน”

นายไตรรงค์ ยังระบุต่อว่า “เราคนไทยที่ต้องการตอบแทนบุญคุณต่อวิญญาณของบรรพบุรุษที่เสียสละเลือดเนื้อและชีวิตปกป้องแผ่นดินนี้ไว้ให้ เราก็สามารถจะกระทำได้โดยการร่วมกันไม่สนับสนุนนักการเมืองเลว ข้าราชการชั่ว และพรรคการเมืองอุบาทว์ในคราบของนักบุญ ในการเลือกตั้งครั้งนี้ เราคนไทยต้องร่วมกันลงโทษ ไม่เลือกพรรคมัน เพื่อป้องกันมิให้พวกมันสามารถใช้เงินสกปรกจากธุรกิจเทา-ดำ เช่น การค้าเฮโรอีนและยาบ้า มาซื้ออำนาจรัฐ เพื่อขอเป็นรัฐบาลบริหารประเทศอย่างเด็ดขาด”


ที่มา : https://mgronline.com/politics/detail/9660000018121

บิ๊กโจ๊กสั่งตั้งกรรมการกลางตรวจสอบทรัพย์สินสองฝ่ายเพื่อความโปร่งใส เชิญเจ้าคณะใหญ่หนเหนือ หรือเจ้าคณะภาคลงมาช่วยแก้ปัญหา ส่วนเรื่องการบังคับคดีและเรื่องทุจริต ตำรวจจะดำเนินการอย่างเต็มที่ ขอให้ชาวบ้านใจเย็น

วันที่ 17 เม.ย.66 เวลาประมาณ 16.00 น. พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รอง ผบ.ตร. และพล.ต.ต.บัณฑิต ตุงคะเศรณี รอง ผบช.ภ.6 พล.ต.ต.กำธร จันที ผบก.ภ.จว.พิจิตร ร่วมกับ นายพยนต์ อัศวพิชยนต์ ผู้ว่าราชการจังหวัดพิจิตร ฝ่ายปกครอง ฝ่ายพระพุทธศาสนาจังหวัดพิจิตร และเจ้าหน้าที่ตำรวจที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมประชุมติดตามความคืบหน้าคดีของสภ.โพนทะเล กรณี เมื่อวันที่ 6 เม.ย.66 มีกลุ่มชาวบ้าน ที่สนับสนุนอดีตเจ้าอาวาสวัดบางคลาน จ.พิจิตร บุกยึดวัด ปิดทางเข้าออก ยื่นเงื่อนไขเลื่อนการบังคับคดีส่งมอบทรัพย์สินให้เจ้าอาวาสวัดที่ได้รับการแต่งตั้งคนปัจจุบัน 

กรณีดังกล่าว พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผบ.ตร. ได้สั่งการให้ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์​ ลงมาแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นโดยเร็ว เนื่องจากวัดบางคลาน จะมีนักท่องเที่ยวเดินทางมากราบไหว้สักการะบูชาเป็นจำนวนมากทุกปี โดยเฉพาะในช่วงเทศกาลสงกรานต์ จะมีพุทธศาสนิกชน เดินทางมาที่วัดหลายพันคน แต่ปัจจุบันมาเพียง 10-20 ราย เนื่องจากนักท่องเที่ยวและชาวบ้านบริเวณใกล้เคียงเกรงว่าจะเกิดความไม่ปลอดภัย และยังมีการปิดล้อมวัดโดยกลุ่มผู้สนับสนุนอดีตเจ้าอาวาส

ปัญหาดังกล่าวนี้ เกิดขึ้นมาเป็นระยะเวลาเกือบ 10 ปี ตั้งแต่ปี 2557 ชาวบ้านที่สนับสนุนอดีตเจ้าอาวาสเกิดความไม่พอใจที่มีการแต่งตั้งรักษาการณ์เจ้าอาวาสองค์ใหม่ และต่อมาได้รับการแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสวัดบางคลานในปัจจุบัน ทำให้เกิดการชุมนุม ปิดล้อมวัด และบางครั้งมีกลุ่มชายชุดดำเข้ามาบุกยึดวัด รวมทั้งทำร้ายร่างกายชาวบ้านฝ่ายตรงข้าม เบื้องต้นมีทรัพย์สินของวัดที่ต้องส่งมอบไม่ต่ำกว่า 200 ล้านบาท ซึ่งยังต้องตรวจสอบต่อไป

‘ICAC’ สุดยอดหน่วยปราบปรามการทุจริตและคอร์รัปชัน ผู้ปัดกวาดเกาะฮ่องกง ลบภาพจำดินแดนแห่งการคดโกง

‘ICAC’ (The Independent Commission Against Corruption) ของฮ่องกง… สุดยอดต้นแบบแห่งการปราบปรามคอร์รัปชันทุจริตโกงกิน

การปราบปรามการทุจริตโกงกินของประเทศใด ๆ ก็ตาม ไม่มีวันที่จะสำเร็จหากหน่วยงานปราบปรามการทุจริตของประเทศนั้น ๆ ทำงานในเชิงรับ (Defensive) ตัวอย่างที่ดีที่สุดและพิสูจน์ให้เห็นเป็นที่ประจักษ์ ถึงความสำเร็จในการปราบปรามการทุจริตเชิงรุก (Offensive) ก็คือหน่วยงานปราบปรามทุจริตของฮ่องกง อย่าง ‘ICAC’ ซึ่งทำงานเชิงรุกมาโดยตลอด นับแต่ตั้งหน่วยงานนี้ขึ้นในเมื่อ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2517 (ค.ศ. 1974) เลยขอนำมาเล่าให้ท่านผู้อ่านได้ทราบถึงเรื่องราวของ ICAC ซึ่งยาว แต่มีประโยชน์มากครับ

การปราบปรามการทุจริตของฮ่องกงเป็นต้นแบบที่ดีที่สุด ในการปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชันกรณีหนึ่งของโลก ด้วยเหตุที่ฮ่องกงในอดีตเผชิญกับปัญหาคอร์รัปชันอย่างรุนแรง ชนิดที่เรียกว่า แค่ย่างเท้าก้าวออกจากบ้านก็ต้องจ่าย สินบน ค่าน้ำร้อนน้ำชาให้กับเจ้าหน้าที่รัฐอย่างน้อยคนหนึ่ง (ฮ่องกงในอดีตอยู่ภายใต้การปกครองของอังกฤษ จนกระทั่งวันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2540 (ค.ศ. 1997) ฮ่องกงจึงกลับคืนเป็นส่วนหนึ่งของประเทศจีน และกลายเป็น ‘เขตปกครองพิเศษ’ ภายใต้หลักการ ‘หนึ่งประเทศ สองระบบ’ เป็นแห่งแรกของจีน)

ช่วงต้นทศวรรษที่ 70 รัฐบาลอังกฤษส่ง Sir. Murray MacLehose มาดำรงตำแหน่งผู้ว่าการเกาะฮ่องกง (Governor of Hong Kong) ผลงานชิ้นสำคัญของ MacLehose คือ การตั้งหน่วยงานปราบปรามการทุจริต ขึ้นเมื่อ15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2517 (ค.ศ. 1974) หน่วยงานนี้มีชื่อว่า ‘Independent Commission Against Corruption’ หรือ ‘ICAC’ ความสำเร็จของฮ่องกงที่กลายเป็นศูนย์กลางด้านการเงินระหว่างประเทศ เป็นสวรรค์ของบรรดานักช้อปทั้งหลาย มีเศรษฐกิจเฟื่องฟูต่อเนื่องกันมาหลายสิบปี โดยในช่วงทศวรรษที่ 1980 และ 1990 นั้นถือเป็นยุคที่บูมสุด ๆ ของเกาะแห่งนี้ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะผลงานของ ICAC

‘ICAC’ เป็นองค์กรที่ตั้งขึ้นมา เพื่อปราบปรามและป้องกันการทุจริต โดยมีบทบาทอย่างสูงยิ่งในการปัดกวาด กำจัดการทุจริตโกงกินที่เกิดขึ้นบนเกาะแห่งนี้จนสะอาดสะอ้าน ทำให้ปัญหาคอร์รัปชันบรรเทาเบาบางลงไปอย่างน่าอัศจรรย์ จนเกาะสะอาดแห่งนี้คว้าตำแหน่งศูนย์กลางทางการเงินแห่งภูมิภาคมาครองได้ในที่สุด ซึ่งนับเนื่องมาถึงวันนี้เวลาก็ผ่านไปเกือบ 50 ปีแล้วที่องค์กรนี้มุ่งมั่นในการทำหน้าที่ตามภารกิจนี้มา

เดิมการปราบปรามทุจริตคอร์รัปชันในฮ่องกง เป็นเพียงแผนกหนึ่งของกรมตำรวจฮ่องกง แต่ทว่า ตำรวจฮ่องกงในช่วงทศวรรษที่ 1960 และ 1970 ขึ้นชื่อในเรื่องการเรียกร้องสินบนมากที่สุด ชนิดชาวบ้านร้านตลาดต่างเอือมระอา ภาพลักษณ์ตำรวจฮ่องกงในยุคนั้นไม่ต่างอะไรกับ ‘โจรในเครื่องแบบ’ ที่รีดไถเก็บค่าคุ้มครองสุจริตชน หนำซ้ำยังอำนวยความสะดวกให้กับกลุ่มมาเฟีย โดยแลกกับผลประโยชน์จากการรับส่วย สภาพความเป็นอยู่เช่นนี้ ทำให้ชาวฮ่องกงมีต้นทุนในการดำรงชีวิตแพงขึ้น เพราะต้องจ่ายเงินใต้โต๊ะเพื่อแลกกับการใช้บริการภาครัฐ หรือไม่ก็แลกกับการที่ผู้รักษากฎหมายจะไม่มากลั่นแกล้ง หรือยัดเยียดข้อหาให้ ฮ่องกงกำลังตกอยู่ในสภาวะแห่งการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว การเติบโตอย่างฮวบฮาบของจำนวนประชากร และการขยายตัวอย่างรวดเร็วของภาคอุตสาหกรรมการผลิต ล้วนเป็นตัวเร่งเร้าจังหวะก้าวของการพัฒนา ทั้งด้านสังคมและเศรษฐกิจให้ร้อนแรงยิ่งขึ้นไปอีก

ภาครัฐเองในเวลานั้น ก็ไม่สามารถตอบสนองความต้องการที่ดูจะไม่มีวันอิ่มของจำนวนประชากร ที่นับวันจะขยายตัวยิ่งขึ้นเรื่อย ๆ สถานการณ์เช่นนี้เอง ที่เป็นเสมือนผืนดินอันอุดมสมบูรณ์ให้แก่เหล่าผู้คนประเภทไร้ศีลธรรมทั้งหลาย หลายคนได้หันไปใช้วิธีที่เรียกว่า ‘เข้าหลังบ้าน’ เพียงเพื่อยังชีพ และให้ได้มาซึ่งสิ่งพิเศษนอกเหนือจากปัจจัยพื้นฐาน สิ่งที่เรียกว่า ‘เงินค่าน้ำร้อนน้ำชา’, ‘เงินสกปรก’, ‘เงินเก๋าเจี๊ยะ’ หรือจะเรียกว่าอะไรก็ตามแต่ จึงไม่เพียงแต่เป็นสิ่งที่คนฮ่องกงคุ้นเคย แต่ต้องจำใจยอมรับมันว่าได้กลายเป็น ‘วิถีชีวิตอันไม่อาจปฏิเสธได้’ ไปเสียแล้ว

ในสมัยนั้น คอร์รัปชันได้ลุกลามไปทั่วในภาคเอกชนของฮ่องกงไม่ว่าจะเป็นพวกห้างร้านต่างๆ ก็ต้องจ่ายเงินให้พนักงานดับเพลิงเสียก่อน เพื่อให้แน่ใจว่าคนพวกนี้จะโผล่หน้ามาตอนเกิดไฟไหม้จริงๆ หรือเวลายื่นคำร้องขอติดตั้งโทรศัพท์บ้านสักเครื่องก็ต้องจ่ายค่า ‘หยอดน้ำมัน’ เพื่อให้แน่ใจว่าจะได้ ‘โทรศัพท์’ มาใช้งาน พนักงานรถพยาบาลก็ไม่วายเรียกร้องเงินค่าน้ำร้อนน้ำชาก่อนจะออกไปรับผู้ป่วยมาโรงพยาบาล หรือแม้แต่นางพยาบาลเองยังเรียกร้องเงินค่า ‘ทิป’ ก่อนจะหยิบกระโถนฉี่ หรือเอาน้ำสักแก้วมาบริการผู้ป่วยที่นอนอยู่บนเตียงผู้ป่วย มันเป็นไปได้ถึงเพียงนี้คิดดูเถิด การหยิบยื่นเงิน ‘เก๋าเจี๊ยะ’ ให้กับเจ้าหน้าที่ของรัฐให้ถูกคน ยังเป็นเรื่องจำเป็นในการติดต่อเพื่อเช่าแฟลตการเคหะ ฝากลูกเข้าโรงเรียน รวมทั้งเพื่อความคล่องตัวในการติดต่อราชการอีกสารพัดเรื่อง 

ปัญหาคอร์รัปชันได้กลายมาเป็นปัญหาใหญ่ของสังคมในฮ่องกงเรื่อยมา ทว่ารัฐบาลในสมัยนั้นดูเหมือนจะไร้น้ำยาที่จะจัดการกับปัญหานี้ได้ ความอดทนของประชาชนต่อเรื่องนี้นับวันจะน้อยลงๆ ทุกที หลายคนจึงเริ่มออกมาแสดงความไม่พอใจโจมตีความไม่เอาไหนของรัฐฯ ในการจัดการกับปัญหานี้ ในช่วงต้นๆ ของทศวรรษที่ 1970 ปรากฏว่าผู้คนในสังคมได้รวมพลังกันแสดงความคิดเห็นต่อปัญหานี้กันอย่างแข็งขัน จนเกิดเป็นพลังทางสังคมที่รัฐฯ ไม่อาจทำเป็นหูทวนลมต่อไปได้ สาธารณชนได้ทำการกดดันฝ่ายบ้านเมืองชนิดกัดไม่ปล่อย เพื่อให้รัฐฯ ตัดสินใจใช้มาตรการอันเฉียบขาดในการสะสางปัญหาอันเรื้อรังนี้เสียที

‘Sir. Murray MacLehose’ ผู้ว่าการเกาะฮ่องกง ผู้ก่อตั้งหน่วย ICAC

‘Sir. Murray MacLehose’ ผู้ว่าการเกาะฮ่องกง (ข้าหลวงใหญ่ฮ่องกง) ในขณะนั้น (ดำรงตำแหน่ง 19 พฤศจิกายน พ.ศ. 2514 (ค.ศ. 1971) – 8 พฤษภาคม พ.ศ. 2525 (ค.ศ. 1982)) ได้ชี้แจงแสดงเหตุผลความจำเป็น ที่จะต้องจัดตั้งองค์กรอิสระขึ้นมาเพื่อต่อต้านการทุจริต ในสุนทรพจน์ของเขาที่แสดงต่อคณะกรรมการที่ปรึกษาฝ่ายนิติบัญญัติในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2516 (ค.ศ. 1973) จนในที่สุดได้ส่งผลให้เกิดการจัดตั้งองค์กรอิสระที่เรียกว่า ‘คณะกรรมการอิสระป้องกันและปราบปรามการทุจริต’ หรือ ‘Independent Commission Against Corruption’ (ICAC) ขึ้นมาเมื่อ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2517 (ค.ศ. 1974)

การเปลี่ยนแปลงที่สำคัญอย่างหนึ่งของฮ่องกง คือ ภาคธุรกิจเอกชน ซึ่งเมื่อก่อนไม่ค่อยสนใจ หรือตระหนักถึงอันตรายของปัญหาคอร์รัปชัน และมองว่าเรื่องการจ่ายใต้โต๊ะเป็นส่วนหนึ่งของธุรกิจ ได้มีการปรับเปลี่ยนทัศนคติจนทำให้มีส่วนร่วมในการปราบคอร์รัปชัน ทั้งภายในองค์กรของตัวเอง และที่เกี่ยวข้องกับภาครัฐมากขึ้น องค์กรธุรกิจภาคเอกชนที่ไปขอคำแนะนำเรื่องการปราบปรามคอร์รัปชันจาก ICAC มีจำนวนมากขึ้นเรื่อย ๆ ในปี พ.ศ. 2537 ICAC เริ่มรณรงค์เรื่องจริยธรรมทางธุรกิจและต่อมาอีก 18 เดือนมีบริษัทและสมาคมการค้ากว่า 1,200 แห่ง ประกาศเรื่องประมวลจรรยาบรรณของบริษัท (Code of conduct)

ปัจจัยต่าง ๆ ที่ทำให้ฮ่องกงประสบความสำเร็จในการป้องกันและปราบปรามคอร์รัปชัน : 

ปัจจัยแรก การยอมรับสภาพปัญหาและความตั้งใจจริงในการแก้ปัญหาคอร์รัปชันของรัฐบาล ทำให้ความพยายามในการปราบปรามคอร์รัปชันได้ผลคือ เจ้าหน้าที่รัฐระดับสูงสุดตระหนักถึงความเลวร้ายของปัญหาคอร์รัปชัน และมีความตั้งใจจริงที่จะแก้ปัญหานี้อย่างจริงจัง โดยเน้นว่าเป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง ที่จะต้องใช้เวลาแก้ไขอย่างต่อเนื่องมากกว่ามาตรการระยะสั้น อย่างกรณีของฮ่องกง ข้าหลวงใหญ่เป็นผู้จัดตั้งสำนักงานคณะกรรมการอิสระ เพื่อการปราบปรามคอร์รัปชัน (ICAC) โดยตรง และตั้งเป็นองค์กรอิสระจากการแทรกแซงการเมือง เพื่อทำให้ประชาชนเชื่อถือ รัฐบาลสนับสนุนงบประมาณในการสร้างองค์กรนี้ให้ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยการคัดเลือกและตรวจสอบพนักงานอย่างมีคุณภาพ ให้เงินเดือนและสวัสดิการสูง เพื่อให้เป็นองค์กรที่อยู่ได้อย่างยาวนาน ต่างจากการรณรงค์การปราบปรามการคอร์รัปชันระยะสั้นในหลายประเทศ ซึ่งมักเป็นการหาเสียงทางการเมือง มากกว่าจะมีความจริงใจในการปราบปรามการคอร์รัปชัน และทำให้ประชาชนไม่เชื่อถือและไม่ให้ความร่วมมือกับองค์กรที่รัฐบาลตั้งขึ้นมา

ปัจจัยที่ 2 การมีองค์กรปราบปรามคอร์รัปชันที่มีประสิทธิภาพและโปร่งใส คือ ICAC ของฮ่องกงจะมีการคัดเลือกเจ้าหน้าที่ที่มาทำงานอย่างเข้มงวดมาก ๆ คือจะต้องคัดเลือกคนที่เก่ง ทั้งมีคุณธรรมและความซื่อสัตย์สูง เจ้าหน้าที่ของ ICAC จะได้รับเงินเดือนและสวัสดิการสูง แต่ก็ต้องปฏิบัติตัวตามวินัย และมีการตรวจสอบภายในอย่างเคร่งครัด ทั้งนี้ เพื่อป้องกันไม่ให้เจ้าหน้าที่ถูกเย้ายวนใจให้เป็นผู้คอร์รัปชันเสียเอง ในบางประเทศที่เจ้าหน้าที่ด้านนี้มีอำนาจมากอาจเป็นดาบสองคม หากพวกเขาหลงทางใช้อำนาจไปในทางที่ผิดได้ จะทำให้การปราบปรามคอร์รัปชันไม่ได้ผล

ปัจจัยที่ 3 การมียุทธศาสตร์ระยะยาวที่มีการวางแผนที่ดี คือ มียุทธศาสตร์ในการจัดปราบคอร์รัปชันระยะยาวที่มีการวางแผนอย่างรอบคอบ สงครามปราบคอร์รัปชันไม่อาจเอาชนะได้ด้วยการจับกุม ลงโทษผู้ทำคอร์รัปชันและปรับปรุงกลไกการทำงานของราชการ สิ่งที่จำเป็น คือ ต้องมีการเปลี่ยนแปลงทัศนคติของประชาชนขั้นพื้นฐานด้วย ยุทธศาสตร์ในการปราบปรามคอร์รัปชันของฮ่องกง คือ การทำสงครามด้านคอร์รัปชัน 3 ทางพร้อมกันแบบบูรณาการ คือ การสอบสวน การป้องกัน และการให้การศึกษาแก่ประชาชน ทางแรก มีหน่วยปฏิบัติการที่ทำงานสอบสวนข้อเท็จจริงตามที่ได้รับรายงานหรือมีการร้องเรียนเข้ามา ทางที่ 2 มีหน่วยป้องกันคอร์รัปชัน ซึ่งทำหน้าที่ในการป้องกัน เพื่อลดโอกาสในการคอร์รัปชัน ทั้งในภาครัฐและเอกชน ทางที่ 3 มีหน่วยประชาสัมพันธ์ชุมชนทำงานด้านให้การศึกษา ให้ประชาชนตระหนักถึงความเลวร้ายของคอร์รัปชัน และแสวงหาการสนับสนุนอย่างแข็งขันจากพลเมืองด้วย ‘หน่วยประชาสัมพันธ์ชุมชน’ (Community Relations Department) ซึ่งมีเจ้าหน้าที่ราว 200 คน ตั้งขึ้นมาด้วยความตระหนักว่า ต้องเปลี่ยนทัศนคติประชาชนเรื่องการคอร์รัปชันให้ได้เท่านั้น จึงจะสามารถปราบคอร์รัปชัน ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่โตลึกซึ้งได้อย่างแท้จริง งานที่หน่วยนี้ทำ คือ พยายามอธิบายกฎหมายการต่อต้านสินบนให้ประชาชนได้ตระหนักรู้ ให้การศึกษาเด็กนักเรียนที่โรงเรียน และกระตุ้นให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการปราบปรามคอร์รัปชัน ด้วยการรายงานข่าวหรือข้อสงสัยเรื่องการคอร์รัปชันให้องค์กร ICAC ทราบ

การที่จะทำเช่นนี้ได้เจ้าหน้าที่จะต้องมียุทธวิธีเฉพาะและทำงานใกล้ชิดกับคนกลุ่มต่าง ๆ ในชุมชน จนกระทั่งประชาชนไว้วางใจว่า ICAC เป็นองค์กรที่โปร่งใสและมีประสิทธิภาพ ประชาชนจึงจะเป็นกำลังที่สำคัญในการยกระดับทางศีลธรรม และปฏิรูประบบการบริหารจัดการองค์กรภาคเอกชนที่จะช่วยป้องกันการคอร์รัปชัน ความสำเร็จด้านหนึ่งขององค์กร ICAC คือ การที่องค์กรทำให้สาธารณชนเปลี่ยนทัศนคติใหม่ว่า การติดสินบนให้เจ้าหน้าที่รัฐนั้น เป็นการส่งเสริมการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรม เพิ่มค่าใช้จ่ายให้สูงขึ้น ทำให้ธุรกิจมีกำไรลดลง และเป็นการทำลายระบบเศรษฐกิจแบบตลาดเสรี

การทำงานในด้านการสอบสวนและลงโทษผู้ทำผิดได้ ก็จะมีส่วนช่วยให้ประชาชนเชื่อถือองค์กร ICAC และช่วยรายงานข้อมูลมาให้องค์กร ICAC มากขึ้น รวมทั้งร่วมมือในการป้องกันคอร์รัปชันมากขึ้น แม้ 3 หน่วยนี่จะทำงานคนละด้าน แต่ก็มีความร่วมมือและส่งเสริมซึ่งกันและกัน เพราะการทำงานประสบความสำเร็จของแต่ละหน่วยนั้น จะช่วยให้หน่วยอื่น ๆ ทำงานได้สำเร็จมากขึ้น

ปัจจัยที่ 4 การใส่ใจต่อรายงานข้อร้องเรียนเรื่องคอร์รัปชันทุกฉบับ ปัจจัยที่จะทำให้ประชาชนไว้วางใจ และร่วมมือในการรายงานร้องเรียนเรื่องคอร์รัปชันมาที่ ICAC ก็คือ ICAC จะรับและติดตามสอบสวนรายงานที่ประชาชนร้องเรียนมาทุกเรื่อง แม้เป็นเรื่องเล็กน้อยและจะตอบให้ประชาชนทราบด้วยว่า เรื่องที่ร้องเรียนมานั้นสอบสวนไปถึงไหน ผลเป็นอย่างไร เพื่อที่ประชาชนจะได้ไว้วางใจว่า เรื่องที่พวกเขาร้องเรียนไปไม่ได้หายเข้ากลีบเมฆ และประชาชนจะได้ช่วยเป็นหูเป็นตาคอยรายงานให้ ICAC อีกในครั้งต่อไป แม้บางเรื่องที่ประชาชนร้องเรียนมาเป็นเรื่องปัญหาของหน่วยงานรัฐมากกว่าจะเกี่ยวกับการคอร์รัปชัน แต่ ICAC ก็ไม่โยนทิ้งตะกร้า แต่จะส่งต่อให้หน่วยงานที่รับผิดชอบเป็นผู้ดำเนินการแก้ไขปรับปรุงต่อไป เพื่อให้ประชาชนไว้วางใจว่า ICAC เป็นองค์กรที่พึ่งที่หวังได้

ปัจจัยที่ 5 การรักษาความลับของผู้ร้องเรียน ปัจจัยที่นำไปสู่ความสำเร็จ คือ ICAC รักษาความลับของผู้ร้องเรียนอย่างเข้มงวด เพราะการร้องเรียนนั้นมีความเสี่ยงอยู่ คนที่จะร้องเรียนต้องมีความกล้าและความมั่นใจว่า ICAC ต้องปกปิดชื่อผู้ร้องเรียน โดยไม่ทำให้พวกเขาได้รับอันตรายภายหลัง การบันทึกข้อมูลของผู้ร้องเรียนในคอมพิวเตอร์และระบบไฟล์ จะมีการป้องกันการรั่วไหลของข้อมูลอย่างดี จะมีเฉพาะเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องโดยตรงที่จำเป็นต้องรู้เท่านั้น จึงจะเข้าถึงข้อมูลได้ เจ้าหน้าที่คนอื่นไม่เกี่ยวข้องจะเข้าถึงข้อมูลไม่ได้ ข้อมูลที่ใช้ไปและหมดความจำเป็นแล้วจะถูกทำลาย กฎหมายของฮ่องกงยังให้ ICAC มีสิทธิไม่เปิดเผยแหล่งที่มาของข้อมูลของตนได้ด้วย

ปัจจัยที่ 6 การมีปัจจัยแวดล้อมโดยรวมที่เอื้อให้ ICAC ทำงานประสบความสำเร็จ เพราะมีปัจจัยหลายอย่างที่ทำงานร่วมกันอย่างเอื้ออำนวยต่อการปราบปรามคอร์รัปชัน ข้าหลวงใหญ่ฮ่องกงเป็นผู้แต่งตั้งเลขาธิการและรองเลขาธิการสำนักงาน ICAC เลขาธิการ ICAC เป็นผู้แต่งตั้งเจ้าหน้าที่ ICAC คนอื่น ๆ และรายงานตรงต่อข้าหลวงใหญ่ เพื่อป้องกันไม่ให้หน่วยงานอื่นหรือนักการเมืองข้าราชการคนอื่น ๆ เข้าไปแทรกแซง ICAC เลขาธิการ ICAC เป็นผู้เจรจาต่อรองกับรัฐบาลและรัฐสภาในเรื่องงบประมาณประจำปี เจ้าหน้าที่ของ ICAC ต้องทำตามระเบียบเงื่อนไขการจ้างงานของเจ้าหน้าที่รัฐ แต่การปฏิบัติงานของ ICAC เป็นอิสระโดยสิ้นเชิง

เพื่อป้องกันไม่ให้ ICAC ใช้อำนาจไปในทางที่ผิด จะมีระบบการตรวจสอบ ICAC ที่เข้มงวด งานของ ICAC จะถูกชี้นำโดยคณะกรรมการที่ปรึกษา 4 คณะ สมาชิกของคณะกรรมการที่ปรึกษามาจากตัวแทนกลุ่มต่าง ๆ ในสังคม โดยมีข้าหลวงใหญ่เป็นผู้แต่งตั้ง และยังมีคณะกรรมการคณะที่ 5 ประกอบไปด้วยตัวแทนจากฝ่ายบริหารของรัฐสภามีหน้าที่พิจารณาเรื่องที่ประชาชนร้องเรียน ICAC ผู้ที่เป็นประธานกรรมการทั้ง 5 ชุด ไม่ใช่เลขาธิการ ICAC แต่เป็นหนึ่งในสมาชิกคณะกรรมการที่ปรึกษา ทั้งนี้ เพื่อให้คณะกรรมการที่ปรึกษาเป็นอิสระอย่างแท้จริง

ปัจจัยที่เอื้ออำนวยอย่างสำคัญอีกประการหนึ่ง คือ การที่ระบบกฎหมายของฮ่องกงสนับสนุนให้ ICAC ทำงานปราบคอร์รัปชันได้อย่างมีประสิทธิภาพ ICAC มีอำนาจที่จะป้องกันไม่ให้ผู้ต้องสงสัยว่าจะคอร์รัปชันโยกย้ายถ่ายเททรัพย์สินได้ สามารถร้องขอต่อศาลสั่งห้ามผู้ต้องสงสัยเดินทางออกนอกประเทศได้ สามารถเข้าไปตรวจสอบบัญชีและตู้นิรภัยของผู้ต้องสงสัยได้ เรียกร้องให้ผู้ต้องสงสัยต้องแสดงสถานการณ์ทางการเงินโดยละเอียด รวมทั้งเข้าไปตรวจค้นที่บ้านพักของผู้ต้องสงสัย ถ้าการสอบสวนโยงใยไปถึงบุคคลอื่น ICAC ก็สามารถตามไปตรวจสอบคนคน นั้น เพื่อที่จะโยงในเรื่องการคอร์รัปชันทั้งหมดได้

อาวุธที่สำคัญข้อหนึ่งที่ระบบกฎหมายฮ่องกงยื่นให้ ICAC คือ การที่ ICAC สามารถตั้งข้อหาต่อเจ้าหน้าที่รัฐที่มีทรัพย์สินมากและไม่อาจอธิบายได้ หรือใช้ชีวิตที่หรูหราฟุ่มเฟือยเกินกว่ารายได้ประจำจากเงินเดือน ถ้าเจ้าหน้าที่รัฐผู้นั้นไม่สามารถอธิบายต่อศาลได้ว่า ทรัพย์สินเหล่านั้นมาอย่างไร เขาจะถูกถือว่าคอร์รัปชัน กฎหมายนี้ช่วยให้เจ้าหน้าที่รัฐของฮ่องกงต้องทำงานอย่างซื่อสัตย์เพิ่มขึ้น (B.E.D.DE Speville The Experience Of Hong Kong, China in Combating Corruption 5 Daniel Kaufmann. FINANCE AND DEVELOPMENT, September 2005, V.42 NO. 3.)

การคอร์รัปชันในระบบราชการของฮ่องกงเมื่อ 30 ปีที่แล้วถูกขจัดไป แต่ปัญหาใหม่คือ การคอร์รัปชันในภาคเอกชนที่สลับซับซ้อน ซึ่งต้องการการติดตามแก้ไขปัญหาที่ซับซ้อนเพิ่มขึ้น ต้องการความร่วมมือระหว่างรัฐบาลประเทศต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องเพิ่มมากขึ้น การที่ฮ่องกงกลับคืนจากการอยู่ใต้ปกครองของอังกฤษมาเป็นเขตปกครองพิเศษ (Special Administrative Region – Sar) ของจีนตั้งแต่ปี พ.ศ. 2540 ก็ทำให้โฉมหน้าการเมืองเปลี่ยนไปอีกแบบหนึ่ง

แม้ระบบกฎหมายฮ่องกงจะรองรับการดำรงอยู่ของ ICAC ในฐานะองค์กรอิสระต่อไป แต่ก็ขึ้นอยู่กับการเมืองภายในประเทศจีนอยู่มาก โดยทั่วไปแล้วการปราบปรามคอร์รัปชันจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาฮ่องกงให้มั่นคงและเจริญรุ่งเรืองต่อไป รวมทั้งการร่วมมือกับหน่วยงานทำนองเดียวกันในกวางตุ้ง และมณฑลอื่น ๆ ของจีน ก็จะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาจีนเอง การปราบคอร์รัปชันในหมู่นักการเมืองและข้าราชการคงดำเนินต่อไป ยกเว้นจะมีการคอร์รัปชันในระดับข้าราชการที่สูงมาก ๆ แต่ประสบการณ์ของฮ่องกงก็น่าจะเป็นประโยชน์ต่อประเทศอื่นให้ศึกษาได้ว่า แม้แต่ประเทศที่เคยมีวัฒนธรรมการจ่ายสินบนใต้โต๊ะที่เรียกว่า ‘ค่าน้ำร้อนน้ำชา’ อย่างถือเป็นเรื่องปกติ ก็สามารถเปลี่ยนแปลงเลิกวัฒนธรรมแบบนี้ได้ ถ้ามีการรณรงค์อย่างจริงจัง (ขอบคุณที่มา นโยบายรัฐบาลด้านเศรษฐกิจ : การทับซ้อนของผลประโยชน์ทางธุรกิจ (Conflict of Interest) อาจารย์วิทยากร เชียงกูล)

ทุกวันนี้หน่วยงานต่อต้านและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบของบ้านเรามีทั้ง (1) กองบังคับการป้องกันปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ กองบัญชาการสอบสวนกลส่วนกลาง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (2) สำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) และ (3) คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ซึ่งยังคงทำงานเชิงรับ และทำงานไม่ได้เหมือนและไม่ได้เท่ากับ ICAC ของฮ่องกง เช่นนี้แล้วต่อให้เราท่านตายแล้วเกิดใหม่อีก 7 ชาติ สถานการณ์ทุจริตโกงกินในบ้านเราก็จะยังคงเป็นเหมือนเช่นเดิมอยู่ต่อไป

ชมคลิป ดร.โญ มีเรื่องเล่า เรื่อง ICAC  ออกอากาศทาง ททบ5 เมื่อ 18 เมษายน 2562 https://youtu.be/51-6j8wRBVk

เรื่อง : ดร.ปุณกฤษ ลลิตธนมงคล
ที่ปรึกษาด้านการบริหารจัดการสมัยใหม่ อาจารย์พิเศษหลักสูตรปริญญาโทและเอก นักเล่าเรื่องมากมายในหลากหลายมิติ เป็นผู้ที่ชื่นชมสนใจในประวัติศาสตร์สงครามสมัยใหม่ตลอดจนอาวุธยุทโธปกรณ์ต่างๆ

‘ปชป.’ โต้ ‘ก้าวไกล’ หลังเปรย มีการทุจริตเลือกตั้งซ่อมระยอง  ท้างัดหลักฐานมาพิสูจน์ต่อ กกต. ยัน!! ไม่ใช่ประชาธิปัตย์แน่นอน

(4 ส.ค. 66) ที่รัฐสภา นายชัยชนะ เดชเดโช สส.นครศรีธรรมราช และรักษาการรองเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) กล่าวถึงกรณีพรรคก้าวไกล ระบุว่าการเลือกตั้งซ่อม สส.เขต 3 ระยอง เริ่มมีบางพรรคการเมืองทุจริตด้วยการเก็บบัตรประชาชน ว่า ไม่ทราบว่าเป็นพรรคใด เพราะจากการที่ตนลงพื้นที่กับ นพ.บัญญัติ เจตนจันทร์ ผู้สมัคร สส.ของพรรค พร้อมด้วยนายบัญญัติ บรรทัด สส.บัญชีรายชื่อ, นายนิพนธ์ บุญญามณี รักษาการรองหัวหน้าพรรคฯ และคุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รักษาการรองหัวหน้าพรรคฯ เป็นการเลือกตั้งที่บริสุทธิ์ดี โปร่งใส ไม่มีทุจริตคอร์รัปชัน พรรคฯ ยึดมั่นในการหาเสียงชูนโยบายพรรคการเมือง เดินเคาะประตูบ้าน

เพราะฉะนั้น การกล่าวหาลอยๆ ว่ามีการเก็บบัตรประชาชนหรือการเลือกตั้งจะไม่โปร่งใส ก็ขอให้พรรคก้าวไกลระบุมาว่าเป็นใคร หากมั่นใจว่ามีหลักฐานพอ ขอให้ไปยื่นร้องต่อคณะกรรมการการเลือกตั้งจังหวัดระยอง (กกต.จังหวัด) อย่าพูดเพื่อหวังผลคะแนนเสียงในวันเลือกตั้งเช่นนี้

เมื่อถามว่า การเลือกตั้งครั้งนี้ เป็นการแข่งขันที่ดุเดือดระหว่างพรรคก้าวไกลกับพรรคประชาธิปัตย์ การพูดลักษณะนี้มีความตั้งใจพุ่งเป้ามายังพรรคประชาธิปัตย์หรือไม่ นายชัยชนะกล่าวว่า ต้องไปถามพรรคก้าวไกลว่าคิดอย่างไร การแข่งขันครั้งนี้แข่งกัน 3 พรรคการเมืองเราจะไปมองว่าพรรคที่ 3 ไม่ได้อยู่ในสนามแข่งขันไม่ได้ ทั้งนี้ หากพรรคก้าวไกลมีหลักฐานหรือคลิปวีดีโอก็ให้มาเปิดแล้วนำไปยื่นต่อ กกต.เลย ทางเรายินดีให้ตรวจสอบ และยืนยันว่าไม่ใช่พรรคประชาธิปัตย์แน่นอน
 

‘สกุลธร’ น้องชายธนาธร ให้การปฏิเสธทุกข้อหา ยัน!! ขอสู้คดี ปมติดสินบน 20 ล้าน-เช่าที่ดินทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์

เมื่อวันที่ 19 ก.ย. 66 ที่ศาลอาญาคดีทุจริต และประพฤติมิชอบกลาง ถนนเลียบทางรถไฟ ย่านตลิ่งชัน ศาลนัดสอบคำให้การจำเลย คดีที่พนักงานอัยการปราบปรามการทุจริต 3 เป็นโจทก์ฟ้องนายสกุลธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานบริหาร บริษัท เรียลแอสเสท ดีเวลลอปเม้นท์ จํากัด เป็นจำเลยซึ่งเป็นน้องชายของนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า ในความผิดฐานเป็นผู้ใช้ให้ผู้อื่น ให้ ขอให้ หรือรับว่าจะให้ ทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใด เพื่อจูงใจให้กระทำการ และประวิงการกระทำอันมิชอบด้วยหน้าที่” และ “เป็นผู้ใช้ให้ผู้อื่น ให้ขอให้ หรือรับว่าจะให้ ทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดแก่เจ้าหน้าที่รัฐ เพื่อจูงใจให้กระทำการ หรือประวิงการกระทำอันมิชอบ ด้วยหน้าที่ และได้กระทำไปในฐานะเป็นผู้แทนนิติบุคคล และเพื่อประโยชน์ของนิติบุคคล

กรณีนายสกุลธร มีพฤติการณ์กระทำผิดติดสินบนเจ้าพนักงาน และนายหน้าเป็นเงินจำนวน 20 ล้านบาท เพื่อเช่าที่ดินของทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ 2 แปลงในซอยร่วมฤดี และย่านชิดลม

โดยเมื่อวันที่ 19 ก.ย. 66 นายสกุลธร พร้อมทนายความ เดินทางมาศาล

ภายหลังเสร็จสิ้นการพิจารณา ใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมง นายสกุลธรได้ออกจากห้องพิจารณา และเดินทางกลับขึ้นรถยนต์ออกจากศาลทันที โดยไม่ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนแต่อย่างใด

ด้านนายโกศลวัฒน์ อินทุจันทร์ยง โฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด กล่าวถึงกรณีดังกล่าวว่า ศาลได้อ่านและอธิบายฟ้องให้นายสกุลธร จำเลยฟัง และได้สอบถาม ว่าจะให้การรับสารภาพหรือปฏิเสธ ปรากฏว่า นายสกุลธร แถลงให้การปฏิเสธ ต่อสู้คดีทุกข้อหา โดยศาลนัดคู่ความตรวจสอบพยานเบื้องต้นกับเจ้าพนักงานศาลก่อน ในวันที่ 16 พ.ย.นี้ และนัดตรวจคู่ความทั้ง 2 ฝ่าย มาตรวจพยานหลักฐานกับศาลวันที่ 13 ธ.ค.นี้ เวลา 09.00 น.

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับคดีนี้ พนักงานอัยการปราบปรามการทุจริต 3 ได้เป็นโจทก์ฟ้องนาย สกุลธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานบริหาร บริษัท เรียลแอสเสท ดีเวลลอปเม้นท์ จํากัด เป็นจำเลย กรณีนายสกุลธรติดสินบนเงินจำนวน 20 ล้านบาทเจ้าหน้าที่และนายหน้าในการเช่าที่ดิน จากทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ รวม 2 แปลง ในซอยร่วมฤดี และย่านชิดลม โดยยื่นฟ้องนายสกุลธร ต่อศาลอาญาคดีทุจริตฯ เมื่อวันที่ 31 ส.ค.ที่ผ่านมา และได้รับการประกันตัวระหว่างพิจารณาคดี

9 ธันวาคม ของทุกปี  เป็นวันต่อต้านคอร์รัปชันสากล ร่วมสร้างการตระหนักรู้เรื่องทุจริต

วันที่ 9 ธันวาคม ของทุกปี ถูกกำหนดขึ้นให้เป็น ‘วันต่อต้านการทุจริตสากล’ หรือ ‘วันต่อต้านคอร์รัปชันสากล’ (International Anti-Corruption Day) 

วันต่อต้านการทุจริตสากล ถือกำเนิดขึ้นหลังจากที่ประชุมใหญ่สมัชชาสหภาพสากล (The United Nation : UN) ที่มีมติเห็นชอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการต่อต้านการทุจริต พ.ศ. 2546 เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม พ.ศ. 2546 จากนั้นประเทศภาคีสมาชิก จำนวน 191 ประเทศ รวมทั้งประเทศไทยได้เข้าร่วมลงนามในอนุสัญญาระหว่างวันที่ 9 - 11 ธันวาคม พ.ศ. 2546 ณ เมืองเมอริด้า ประเทศเม็กซิโก

โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความตระหนักของผู้คนในเรื่องการทุจริต อันส่งผลกระทบต่อทั้งความมั่นคงของรัฐบาล เป็นตัวถ่วงการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ ทั้งยังทำลายรากฐานของประชาธิปไตย และสร้างความตระหนักในบทบาทของอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการต่อต้านการทุจริตในการต่อสู้และป้องกัน

ดังนั้น UN จึงได้กำหนดให้ทุกวันที่ 9 ธันวาคมของทุกปีเป็น ‘วันต่อต้านคอร์รัปชันสากล’ สำหรับอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการต่อต้านการทุจริต ค.ศ. 2003 ได้กำหนดประเด็นความร่วมมือที่สำคัญของรัฐภาคี 3 ประการ ดังนี้

1. ด้านมาตรการเชิงป้องกัน : ทุกประเทศต้องมุ่งป้องกันปัญหาคอร์รัปชันเป็นอันดับแรก
2. ด้านการบัญญัติความผิดทางอาญา : ทุกประเทศต้องถือว่าการคอร์รัปชันทุกรูปแบบคืออาชญากรรม 
3. ด้านความร่วมมือระหว่างประเทศ : ทุกประเทศต้องให้ความร่วมมือในการทำให้อนุสัญญามีผลในทางปฏิบัติได้จริง

‘รัฐมนตรีญี่ปุ่น’ แห่ลาออก เซ่นปมทุจริต-รับเงินใต้โต๊ะ 500 ล้านเยน ด้าน ‘นายกฯ ฟูมิโอะ’ เร่งกู้ภาพลักษณ์ รบ.-เรียกความเชื่อมั่น ปชช.

(14 ธ.ค. 66) สำนักข่าวเอเอฟพี รายงานข่าวความคืบหน้า กรณีฉาวแวดวงการเมืองของญี่ปุ่นว่า นายยาซูโตชิ นิชิมูระ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐกิจและอุตสาหกรรม, นายจุนจิ ซูซูกิ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกิจการภายใน และ นายอิจิโร่ มิยาชิตะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตร ยื่นหนังสือลาออกจากตำแหน่ง

รายงานระบุ คาดว่า นายฮิโรคาซุ มัตสึโนะ หัวหน้าเลขาธิการคณะรัฐมนตรีญี่ปุ่น รวมถึงรัฐมนตรีช่วยอีก 5 คนจะยื่นเรื่องลาออกในวันเดียวกัน หลังเกิดประเด็นกล่าวหาว่ามีการรับสินบนรวมมูลค่ากว่า 500 ล้านเยน หรือราว 123 ล้านบาท

ภายในพรรคเสรีประชาธิปไตย (แอลดีพี) พรรครัฐบาล รวมถึงนายมัตสึโนะที่ถูกครหาว่ารับเงินใต้โต๊ะกว่า 2.4 ล้านบาทจากการจัดงานระดมทุนที่ฝ่ายเสียงข้างน้อยในพรรคจัดขึ้น สร้างความไม่พอใจให้กับสังคมและนำไปสู่ความไม่ไว้วางใจในรัฐบาล ขณะที่อัยการเริ่มต้นการสอบสวนข้อกล่าวหาเรื่องรับเงินสินบน

‘ฮ่องกง’ ผุดสถาบัน ‘ปราบปรามทุจริต’ หวังดันประเทศเป็นศูนย์กลางระดับสากล

เมื่อไม่นานมานี้ สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า คณะกรรมาธิการอิสระปราบปรามการทุจริตประจำเขตบริหารพิเศษฮ่องกงทางตอนใต้ของจีน จัดพิธีการก่อตั้งสถาบันปราบปรามการทุจริตระหว่างประเทศแห่งฮ่องกง ซึ่งมุ่งชี้นำแผนริเริ่มการฝึกอบรมปราบปรามการทุจริตทั้งระดับท้องถิ่นและระดับโลก ส่งเสริมการแบ่งปันประสบการณ์ และเสริมสร้างสถานะของฮ่องกงในการเป็นศูนย์กลางปราบปรามการทุจริตในระดับสากล

จอห์น ลี ผู้บริหารสูงสุดของฮ่องกง กล่าวว่าความซื่อสัตย์เป็นหัวใจสำคัญในการรักษาความเจริญรุ่งเรืองและเสถียรภาพของฮ่องกง รวมถึงการมีส่วนส่งเสริมการพัฒนาระดับชาติของฮ่องกง โดยสถาบันฯ จะสนับสนุนสถานะของฮ่องกงในการเป็นศูนย์กลางปราบปรามการทุจริต พร้อมส่งเสริมสังคมฮ่องกงที่โปร่งใส ความมั่นคงทางสังคม และคุณค่าที่ฮ่องกงให้ความสำคัญกับความซื่อสัตย์และหลักนิติธรรม

หูอิงหมิง สมาชิกคณะกรรมาธิการฯ บ่งชี้การตระหนักถึงความสำคัญของความร่วมมือระหว่างประเทศในงานปราบปรามการทุจริต โดยสถาบันฯ จะจัดการฝึกอบรมแก่เจ้าหน้าที่ฝ่ายปราบปรามการทุจริตทั่วโลกอย่างเป็นระบบและมืออาชีพ รวมถึงรวบรวมนักวิชาการทั้งในประเทศและต่างประเทศมาแบ่งปันประสบการณ์ปราบปรามการทุจริตด้วย

ทั้งนี้ สถาบันฯ ได้ร่วมมือกับสำนักงานว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ (UNODC) ร่วมกันเปิดหลักสูตรแรกของสถาบันฯ ได้แก่ ‘โครงการพัฒนาวิชาชีพว่าด้วยการสืบสวนทางการเงินและการกู้คืนสินทรัพย์’ (Professional Development Program on Financial Investigation and Asset Recovery) ซึ่งมีเจ้าหน้าที่ฝ่ายปราบปรามการทุจริตจากหน่วยงานตุลาการราว 20 แห่ง เข้าร่วม 35 คน

นอกจากนั้นสถาบันฯ ได้ลงนามบันทึกความเข้าใจ (MoU) กับมหาวิทยาลัยชั้นนำบนแผ่นดินใหญ่ มาเก๊า และฮ่องกง จำนวน 5 แห่ง เพื่อขับเคลื่อนการวิจัยการปราบปรามการทุจริตและส่งเสริมการแลกเปลี่ยนผู้มีความรู้ความสามารถด้วย


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top