'ดร.เอ้' ย้อนข้อความปี 65 กรณีสะพานข้ามแยกลาดกระบังถล่ม  'พบข้อบกพร่อง-เคยเตือนแล้ว' เสียใจที่สุด ที่ต้องมีผู้สูญเสีย

(11 ก.ค. 66) ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อดีตผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. พรรคประชาธิปัตย์ อดีตนายกสภาวิศวกร และอดีตนายกวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย รีโพสต์เนื้อหาที่ได้เคยโพสต์ไว้เมื่อวันที่ 19 ส.ค. 65 และ 9 ส.ค. 65 หลังจากเกิดเหตุสะพานข้ามแยกทรุดตัว บริเวณหน้าโลตัสลาดกระบัง ถ.หลวงแพ่ง แขวงทับยาว เขตลาดกระบัง เมื่อเวลา 18.08 น. และในเบื้องต้นมีผู้เสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บสาหัสหลายราย โดยระบุว่า...

“เสียใจที่สุด เพราะผมเคยเตือนไปแล้ว ไม่น่าเลย สุดท้ายต้องมีคนสูญเสียชีวิต จนได้”

ส่วนเนื้อหาที่ ดร.สุชัชวีร์ เคยโพสต์ไว้เมื่อวันที่ 19 ส.ค. 65 ระบุถึงการก่อสร้างสะพานข้ามแยก ที่อยู่ในโครงการก่อสร้างทางยกระดับถนนอ่อนนุช-ลาดกระบังเอาไว้ ว่า...

"กลับบ้านวันศุกร์ ไม่สุข ไม่ปลอดภัย" 

ผมขอแสดงความเป็นห่วงจากใจ โครงการก่อสร้างสะพานข้าม ถนนอ่อนนุช-หัวตะเข้ เขตลาดกระบัง เห็นปัญหาชัดเจน

1. เครื่องจักรใหญ่ทำงาน ไม่มีแนวป้องกัน เสี่ยงอุบัติเหตุของหล่น ประชาชนเดือดร้อนทเสี่ยงชีวิต
2. ถนนยุบจากการก่อสร้าง เสี่ยงอุบัติเหตุ โดยเฉพาะรถจักรยานยนต์ ของเด็กนักศึกษา ห่วงจริงๆ
3. รถติดสาหัส เพราะก่อสร้างกินพื้นที่ บางช่วงก่อสร้างเสร็จแล้ว ต้อง คืนพื้นที่ให้ประชาชนผู้สัญจรได้

เพราะอุบัติเหตุจากการก่อสร้างสะพาน เกิดขึ้นบ่อยครั้ง หลายครั้งมีผู้เสียชีวิต มีทรัพย์สินเสียหาย

ขออย่าให้เกิดที่ใด กับใคร อีกเลยครับ เป็นห่วงจริงๆ ครับ

นอกจากนี้ ยังมีเนื้อหาที่เคยโพสต์ไว้เมื่อวันที่ 9 ส.ค. 65 อีกด้วย ระบุว่า... 

ด้วยความห่วงใย การก่อสร้างสะพาน ต้องมีมาตรฐาน

นั่งรถผ่านโครงการก่อสร้างสะพานถนนลาดกระบัง-อ่อนนุช ทุกวัน เห็นแล้วอดเป็นห่วงไม่ไดั ยิ่งวันนี้เห็นตั้งนั่งร้านทำงาน มีงานเทปูน หล่อเสาตอม้อ ชิดริมถนน แล้วกังวลแทน กลัวพังลงมา 

จากประสบการณ์หลายปี ที่ลงพื้นที่ตรวจสอบการวิบัติ การก่อสร้างโครงสร้างสะพาน มักเกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้งขณะทำงาน กรณีดังนี้...

1. "นั่งร้านคนงานพัง" เนื่องจากทั้งดินอ่อนรับน้ำหนักนั่งร้านไม่ได้ หรือ ไม่ได้ค้ำยันกับโครงสร้างที่มั่นคงแข็งแรง ทำให้คนงานบาดเจ็บและเสียชีวิตบ่อยครั้ง 

2. "ไม้แบบรองรับการเทคอนกรึตเสาและคานพัง" เพราะรับน้ำหนักขณะเทคอนกรีตไม่ได้ หรือ เทผิดจังหวะทำให้ไม้แบบเอียงพัง หรือ เสาค้ำยันไม้แบบวางบนดินอ่อนเกิน ก็พังพาบลงมา 

3. "คานหล่น" ขณะติดตั้ง เนื่องจากหลุนจากเครนยก หรือ หล่นขณะวางพาดบนเสา หลายครั้งลงมาใส่รถที่สัญจร อยู่ข้างล่าง 

4. "เครนล้ม" บางกรณีใช้เครนไม่ถูกขนาด เล็กเกินไปที่จะยกโครงสร้างน้ำหนักมาก บ่อยครั้งพลิกคว่ำ เป็นอันตรายทั้งคนขับเครน และคนงานในพื้นที่ 

ดังนั้นการทำงานก่อสร้างสะพาน ต้องทำงานตามมาตรฐานความปลอดภัยที่เคร่งครัด และต้องระมัดระวังตลอดเวลา 

ไม่ใช่เรื่องยากครับ และไม่ได้ต้องเสียงบประมาณเพิ่มเติมอะไรมาก ดีกว่ามาแก้ไขที่หลัง หลายอย่างทดแทนคืนไม่ได้ 

ผมแนะนำด้วยความห่วงใยจริงๆ ครับ