Monday, 6 May 2024
สุชัชวีร์_สุวรรณสวัสดิ์

‘สุชัชวีร์’ ลาออกอธิการบดี สจล. มีผล 13 ธ.ค. จ่อเปิดตัวชิงผู้ว่าฯ กทม. ในสีเสื้อปชป.

จากกรณีที่มีกระแสข่าวว่า ศ.ดร. สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) จะลงสมัครรับเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) ในนามพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ซึ่งทางปชป. จะแถลงข่าวเปิดตัวนายสุชัชวีร์ในวันที่ 13 ธันวาคม นั้น

เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 9 ธันวาคม พ.ศ. 2564 ที่ประชุมสภาสจล. มีวาระพิเศษ ได้มีมติอนุมัติให้ ศ.ดร. สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ ลาออกจากตำแหน่งอธิการบดี ตั้งแต่วันที่ 13 ธันวาคม พ.ศ. 2564

ทั้งนี้ มีรายงานข่าวว่า ในเวลา 09.30 น. วันที่ 13 ธันวาคมนี้ พรรคประชาธิปัตย์ จะประชุมกรรมการบริหารพรรค เพื่อสรุปตัวบุคคล ชิงเก้าอี้ผู้ว่าฯ กทม. และเปิดตัวในเวลา 16.00 น. โดยเลือกวันที่ 13 เนื่องจาก ศ.ดร.สุชัชวีร์ ชอบเลขนี้เป็นพิเศษ

ปชป. ไฟเขียว 'ดร.เอ้' ชิงผู้ว่าฯ กทม. เชื่อมั่นเลือดใหม่คุณภาพชนะใจคนกรุง

‘ปชป.’ เคาะส่ง ‘ดร.เอ้’ ชิงเก้าผู้ว่าฯ กทม. รับรองเป็นสมาชิกพรรคตลอดชีพ การันตีเลือดใหม่มีคุณภาพ มั่นใจคว้าชัยชนะ เตรียมทีมรองผู้ว่าฯ เรียบร้อย

13 ธ.ค. 64 - เมื่อเวลา 10.40 น. ที่พรรคประชาธิปัตย์ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พาณิชย์ ในฐานะหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) พร้อมด้วยนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน เลขาธิการพรรคปชป. และนายองอาจ คล้ามไพบูลย์ รองหัวหน้าพรรค ปชป. ดูแลพื้นที่กรุงเทพมหานคร ร่วมกันแถลงภายหลังการประชุมคณะกรรมการบริหารพรรค (กก.บห.)

โดยนายจุรินทร์ แถลงว่า วันนี้เป็นการประชุมคณะกก.บห.ของพรรค มีวาระสำคัญพิจารณาให้ความชอบผู้ที่จะสมัครรับเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ซึ่งที่ประชุมคณะ กก.บห. มีมติเป็นเอกฉันท์เห็นชอบให้ ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ หรือ ดร.เอ้ เป็นผู้สมัครรับเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ขณะที่ทีมงานรองผู้ว่าฯ กทม. ได้เตรียมบุคคลไว้แล้ว ซึ่งมีทั้งคนในพรรคและคนเลือดใหม่ที่เข้ามาร่วมงานกับพรรค โดยจะมีการเปิดตัวต่อไป ทั้งนี้ที่ประชุมยังรับรองให้ ดร.สุชัชวีร์ เป็นสมาชิกพรรคตลอดชีพด้วย

‘ดร.เอ้’ ยัน เชื่อโดยบริสุทธิ์ใจตามรุ่นพี่ ปม ‘เฮอเบิร์ต ไอน์สไตน์’ เป็นหลาน ‘อัลเบิร์ต’

‘ดร.เอ้’ สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ แจงเชื่อโดยบริสุทธิ์ใจตามรุ่นพี่ กรณีกล่าวถึง ‘เฮอเบิร์ต ไอน์สไตน์’ เป็นหลาน ‘อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์’ อ้างนักวิชาการไทยก็เชื่ออย่างนั้น

เมื่อวันที่ 15 ธ.ค. นายสุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ ว่าที่ผู้สมัครรับเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีที่มีข่าวว่า ดร.เฮอร์เบิร์ต ไอน์สไตน์ ศาสตราจารย์จากภาควิชาวิศวกรรมโยธาและสิ่งแวดล้อม สถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ (เอ็มไอที) ประเทศสหรัฐอเมริกา ไม่ได้เป็นญาติกับ อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ อัจฉริยะด้านวิทยาศาสตร์ชื่อดังระดับโลก ตามที่นายสุชัชวีร์กล่าวอ้างว่า ตนขอชี้แจงว่าเมื่อครั้งที่ตนไปเรียนที่เอ็มไอที ก็ได้รับคำบอกเล่าจากรุ่นพี่ที่เรียนอยู่ก่อนว่าตนโชคดีมากที่ได้เรียนกับอาจารย์คนนี้ เพราะเขาเป็นหลานของ อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ ซึ่งตนก็เชื่อโดยบริสุทธิ์ใจมาตลอด ไม่ได้มีเจตนาจะยกเรื่องนี้ขึ้นมาเพื่อใช้ในการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้ง ทั้งนี้ ถ้าใครได้ติดตาม จะทราบว่าตนได้พูดถึงเรื่องนี้ในการบรรยายมาตลอด 4-5 ปีที่ผ่านมา เพราะตนเชื่ออย่างนั้นโดยบริสุทธิ์ใจจริง

'มิสเตอร์เอทานอล' เชื่ออะไรก็เกิดขึ้นได้ หลัง 'ดร.เอ้' ชู!! กทม.เจ้าภาพโอลิมปิก 2036

นายอลงกรณ์ พลบุตร รองหัวหน้าพรรคและประธานคณะกรรมการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์พรรคประชาธิปัตย์ เจ้าของฉายา “มิสเตอร์เอทานอล” เขียนข้อความในเฟซบุ๊กเรื่อง “ฝันของ ดร.เอ้กับ โอลิมปิก 2036”

"No Dream No Possibility" ซึ่งเป็นการให้ข้อคิดต่อข้อเสนอเชิงนโยบายของ ศาสตราจารย์ ดร.สุชัชวีร์ (เอ้) สุวรรณสวัสดิ์ ผู้สมัครผู้ว่ากรุงเทพมหานคร

โดยนายอลงกรณ์นำเสนอมุมมองต่อเรื่องนี้ว่า หลังจาก ดร.เอ้ สุชัชวีร์ ผู้สมัครผู้ว่ากทม. พรรคประชาธิปัตย์ ประกาศนโยบายเสนอกรุงเทพเป็นเจ้าภาพจัดโอลิมปิก 2036 ก็มีการวิจารณ์ฮือฮาในโลกโซเชียลมีเดียทั้งเชิงบวกเชิงลบ รวมทั้ง Blockdit ก็ยังให้ความสำคัญกับกรณีนี้ ส่วนหนึ่งคิดว่าเป็นฝันลมๆ แล้งๆ แต่ไม่น้อยมั่นใจว่าเป็นฝันที่เป็นจริง

“ผมจึงนำประสบการณ์ส่วนตัวมาเล่าให้ฟังเกี่ยวกับความฝัน ผมก็เคยฝันจะให้ประเทศไทยผลิตน้ำมันเชื้อเพลิงเอทานอลจากพืชเพื่อลดการนำเข้าเมื่อปี 2543 หรือ 20 ปีที่แล้ว ตอนนั้นคนส่วนใหญ่ไม่เชื่อและไม่ยอมรับรวมทั้งอุตสาหกรรมน้ำมันและอุตสาหกรรมรถยนต์ แม้แต่เจ้าของรถก็เกรงว่าเอทานอลจะทำให้เครื่องยนต์เสียหาย”

เราฝันและลงมือทำงานเพียง 10 เดือนก็สามารถเสนอผ่านมติคณะรัฐมนตรีในรัฐบาลประชาธิปัตย์สมัยท่านชวน หลีกภัยเป็นนายกรัฐมนตรี

อีกมุม!! 'ดร.เอ้ สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์' อธิการบดีที่เคยปลอมตัวเป็นเด็กปี 1 | THE CORNER EP.3

THE CORNER EP.นี้ เราพามาพูดคุยและรู้จักมุมที่แตกต่างของ 'ดร.เอ้ สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์' อธิการบดีที่เคยปลอมตัวเป็นเด็กปี 1 จนสามารถสร้างจุดเปลี่ยนให้เกิดแก่สังคมคนรุ่นใหม่ได้

ขอบอกเลยว่า...มีหลากมุมที่น่าสนใจที่ใครหลายคนอาจไม่เคยรู้มาก่อน จะเป็นอย่างไร ติดตามชมได้เลย!!

'ดร.เอ้' ย้อนข้อความปี 65 กรณีสะพานข้ามแยกลาดกระบังถล่ม  'พบข้อบกพร่อง-เคยเตือนแล้ว' เสียใจที่สุด ที่ต้องมีผู้สูญเสีย

(11 ก.ค. 66) ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อดีตผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. พรรคประชาธิปัตย์ อดีตนายกสภาวิศวกร และอดีตนายกวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย รีโพสต์เนื้อหาที่ได้เคยโพสต์ไว้เมื่อวันที่ 19 ส.ค. 65 และ 9 ส.ค. 65 หลังจากเกิดเหตุสะพานข้ามแยกทรุดตัว บริเวณหน้าโลตัสลาดกระบัง ถ.หลวงแพ่ง แขวงทับยาว เขตลาดกระบัง เมื่อเวลา 18.08 น. และในเบื้องต้นมีผู้เสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บสาหัสหลายราย โดยระบุว่า...

“เสียใจที่สุด เพราะผมเคยเตือนไปแล้ว ไม่น่าเลย สุดท้ายต้องมีคนสูญเสียชีวิต จนได้”

ส่วนเนื้อหาที่ ดร.สุชัชวีร์ เคยโพสต์ไว้เมื่อวันที่ 19 ส.ค. 65 ระบุถึงการก่อสร้างสะพานข้ามแยก ที่อยู่ในโครงการก่อสร้างทางยกระดับถนนอ่อนนุช-ลาดกระบังเอาไว้ ว่า...

"กลับบ้านวันศุกร์ ไม่สุข ไม่ปลอดภัย" 

ผมขอแสดงความเป็นห่วงจากใจ โครงการก่อสร้างสะพานข้าม ถนนอ่อนนุช-หัวตะเข้ เขตลาดกระบัง เห็นปัญหาชัดเจน

1. เครื่องจักรใหญ่ทำงาน ไม่มีแนวป้องกัน เสี่ยงอุบัติเหตุของหล่น ประชาชนเดือดร้อนทเสี่ยงชีวิต
2. ถนนยุบจากการก่อสร้าง เสี่ยงอุบัติเหตุ โดยเฉพาะรถจักรยานยนต์ ของเด็กนักศึกษา ห่วงจริงๆ
3. รถติดสาหัส เพราะก่อสร้างกินพื้นที่ บางช่วงก่อสร้างเสร็จแล้ว ต้อง คืนพื้นที่ให้ประชาชนผู้สัญจรได้

เพราะอุบัติเหตุจากการก่อสร้างสะพาน เกิดขึ้นบ่อยครั้ง หลายครั้งมีผู้เสียชีวิต มีทรัพย์สินเสียหาย

ขออย่าให้เกิดที่ใด กับใคร อีกเลยครับ เป็นห่วงจริงๆ ครับ

นอกจากนี้ ยังมีเนื้อหาที่เคยโพสต์ไว้เมื่อวันที่ 9 ส.ค. 65 อีกด้วย ระบุว่า... 

ด้วยความห่วงใย การก่อสร้างสะพาน ต้องมีมาตรฐาน

นั่งรถผ่านโครงการก่อสร้างสะพานถนนลาดกระบัง-อ่อนนุช ทุกวัน เห็นแล้วอดเป็นห่วงไม่ไดั ยิ่งวันนี้เห็นตั้งนั่งร้านทำงาน มีงานเทปูน หล่อเสาตอม้อ ชิดริมถนน แล้วกังวลแทน กลัวพังลงมา 

จากประสบการณ์หลายปี ที่ลงพื้นที่ตรวจสอบการวิบัติ การก่อสร้างโครงสร้างสะพาน มักเกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้งขณะทำงาน กรณีดังนี้...

1. "นั่งร้านคนงานพัง" เนื่องจากทั้งดินอ่อนรับน้ำหนักนั่งร้านไม่ได้ หรือ ไม่ได้ค้ำยันกับโครงสร้างที่มั่นคงแข็งแรง ทำให้คนงานบาดเจ็บและเสียชีวิตบ่อยครั้ง 

2. "ไม้แบบรองรับการเทคอนกรึตเสาและคานพัง" เพราะรับน้ำหนักขณะเทคอนกรีตไม่ได้ หรือ เทผิดจังหวะทำให้ไม้แบบเอียงพัง หรือ เสาค้ำยันไม้แบบวางบนดินอ่อนเกิน ก็พังพาบลงมา 

3. "คานหล่น" ขณะติดตั้ง เนื่องจากหลุนจากเครนยก หรือ หล่นขณะวางพาดบนเสา หลายครั้งลงมาใส่รถที่สัญจร อยู่ข้างล่าง 

4. "เครนล้ม" บางกรณีใช้เครนไม่ถูกขนาด เล็กเกินไปที่จะยกโครงสร้างน้ำหนักมาก บ่อยครั้งพลิกคว่ำ เป็นอันตรายทั้งคนขับเครน และคนงานในพื้นที่ 

ดังนั้นการทำงานก่อสร้างสะพาน ต้องทำงานตามมาตรฐานความปลอดภัยที่เคร่งครัด และต้องระมัดระวังตลอดเวลา 

ไม่ใช่เรื่องยากครับ และไม่ได้ต้องเสียงบประมาณเพิ่มเติมอะไรมาก ดีกว่ามาแก้ไขที่หลัง หลายอย่างทดแทนคืนไม่ได้ 

ผมแนะนำด้วยความห่วงใยจริงๆ ครับ

'ดร.เอ้' โต้โผ!! จัดตั้งองค์กรอิสระเพื่อความปลอดภัยสาธารณะ สร้างบ้านเมืองที่ปลอดภัย ด้วยความตั้งใจของประชาชน

เมื่อวานนี้ (7 พ.ย. 66) นายสุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ ประธานนโยบาย กทม. พรรคประชาธิปัตย์ อดีตนายกสภาวิศวกร และอดีตนายกวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ได้ให้สัมภาษณ์ถึงประเด็นถนนทรุดโทรม ไม่มีความปลอดภัย ไร้มาตรการรองรับ ผ่านรายการ ‘คุยข่าว ถึงเครื่อง’ ประจำวันที่ 7 พ.ย. 66 เผยแพร่ผ่านช่องทางรับชมในเครือ THE STATES TIMES, คุยถึงแก่น, เปรี้ยง, NAVY AM RADIO / MAYA Channel ช่อง 44 และ FM101 โดยมี นายปรเมษฐ์ ภู่โต สื่อมวลชนอาวุโส พิธีกร ผู้ประกาศข่าวรายการคุยถึงแก่น เป็นผู้ดำเนินรายการ 

>> ในฐานะวิศวกร มีมุมมองหรือข้อแนะนำต่อกรุงเทพฯ อย่างไร หากอยากทำให้ถนน อาคารมีความแข็งแรง ปลอดภัย?

นายสุชัชวีร์ กล่าวว่า “ตลอดชีวิตการเป็นวิศวกรของผม ผมทำงานช่วยเหลือเรื่องภัยพิบัติมามาก ในสมัยที่ทำงานให้สมาคมวิศวกรรมสถาน จนกระทั่งได้เป็นนายกสมาคมฯ ผมเห็นมาเยอะ และผมก็เสียใจมาก ทุกครั้งที่ผมให้สัมภาษณ์ ผมจะพูดเสมอว่า ประเทศไทย ความปลอดภัยไม่เคยมาก่อนเลย และมันเกิดความผิดพลาดที่ไม่น่าให้อภัย เป็นความประมาทในการก่อสร้างที่ไม่ได้มาตรฐานจริง ๆ เลย เพราะหากทำตามมาตรฐานจริง ๆ เรื่องแบบนี้จะไม่เกิดขึ้นเลย จะไม่มีการสูญเสียแบบนี้ให้ได้เห็น”

“ในเรื่องการป้องกัน ประชาชนอย่างเรา ๆ ไม่สามารถทำ
อะไรได้อยู่แล้ว เราก็ใช้ชีวิตไปตามปกติ ขับรถไปส่งลูก ไปทำงาน อยู่ ๆ ก็มีอะไรไม่รู้หล่นลงมา หล่นใส่ใครตอนไหน ใครจะไปรู้ ผู้ที่เกี่ยวข้อง อย่าคิดว่าจะไม่เกิดขึ้นกับพวกท่าน ทั้งสะพานลาดกระบัง ถ้าเป็นตอนกลางวันผมก็อาจจะโดนไปแล้ว หรือถนนเป็นหลุมยุบลงไป อย่าคิดว่าเป็นเรื่องไกลตัวนะ สักวันอาจจะเป็นเราก็ได้” นายสุชัชวีร์ กล่าว

นายสุชัชวีร์ กล่าวต่อว่า “คนที่ต้องทำหน้าที่แทนประชาชนทุกคนก็คือ ‘เจ้าของหน่วยงาน’ ได้แก่ กทม. กรมทางหลวง กรมทางหลวงชนบท การประปา การไฟฟ้า ซึ่งดูแลสาธารณูปโภค มีอำนาจ เป็นเจ้าของเงิน และต้องกำกับดูแลให้ผู้รับเหมาทำงานให้ตรงตามมาตรฐาน ไม่ใช่เรื่องที่มากเกินไปด้วย แค่ทำให้ตรงมาตรฐาน ซึ่งก็มีเช็กลิสต์ให้อยู่แล้ว ถ้าทำได้ จะทำให้ชีวิต ทรัพย์สินของคนไทยและคนกรุงเทพฯ ดีขึ้นแน่นอน”

“จากประสบการณ์ผม เหตุสลดที่เกิดขึ้นก็มาจากการไม่ได้มาตรฐานนี่แหละ ผมก็เลยอยากจะระดมรายชื่อ ให้ครบ 1 หมื่นชื่อ เพื่อที่จะเสนอกฎหมายก่อตั้ง ‘องค์กรอิสระเพื่อความปลอดภัยสาธารณะ’ เพื่อจะได้เข้ามาดูแลเรื่องเหล่านี้ เหมือนอย่างในต่างประเทศ” นายสุชัชวีร์ กล่าว

นายสุชัชวีร์ กล่าวต่อว่า “และที่น่าแปลกคือเมื่อมีเหตุการณ์สลดเกิดขึ้น จะให้องค์กร ๆ นั้นหาสาเหตุของความผิดพลาดที่เกิดขึ้น ซึ่งมันไม่สามารถทำได้อยู่แล้ว อาจจะเพราะขาดความเชี่ยวชาญ เนื่องจากต้องดูแลงานในส่วนอื่น ๆ ด้วย ดังนั้นจะต้องมีองค์กรอิสระเข้ามาช่วยตรวจสอบ ค้นหาความจริง”

>> ตัวอย่างจากต่างประเทศ มีองค์กร / หน่วยงาน เข้ามากำกับดูแลเข้มงวด

นายสุชัชวีร์ กล่าวว่า “อย่างในเกาหลีใต้ เมื่อครั้งที่เกิดเหตุการณ์เรือเซวอลล่ม ทำให้เด็กนักเรียนเสียชีวิตหลายร้อยคน เหตุการณ์ครั้งนั้นเป็นเรื่องใหญ่ระดับประเทศ และกระจายออกไปทั่วโลกเลย ส่งผลให้รัฐบาลเกาหลีใต้ตั้งกระทรวงความปลอดภัย เพราะเขามองว่า หากให้การท่าเรือ หรือ กระทรวงอุตสาหกรรมเข้ามาดูแล ก็กลัวว่าจะไม่ได้มาตรฐาน เมื่อมีกระทรวงใหม่ขึ้นมา ก็ทำให้วิศวกรที่ต่อเติมกฎหมายถูกลงโทษจำคุกเป็น 10 ปี เจ้าของเรือก็จำคุกหลายปี แม้กระทั่งยามชายฝั่งก็ถูกจำคุก เพราะหากมาเร็วกว่านั้น เด็ก ๆ คงไม่ตายเป็นร้อยคนขนาดนั้น”

“สำหรับประเทศไทย ไม่มีหน่วยงานที่จะคืนความเป็นธรรมให้ประชาชน น่าเสียดายมากที่เหตุการณ์แบบนี้จะเกิดซ้ำซาก และจะเกิดขึ้นต่อไป หากเราไม่มีองค์กรอิสระเข้ามาดูแลเรื่องแบบนี้อย่างเต็มเวลา” นายสุชัชวีร์ กล่าว

>> ในส่วนของการเสนอร่างกฎหมาย จะเสนอในนามของภาคประชาชนใช่หรือไม่?

นายสุชัชวีร์ กล่าวว่า “ถูกต้องครับ ขณะนี้มีผู้ลงชื่อแล้วกว่า 5 พันคน จึงอยากจะขอร้องทุกท่าน เข้ามาที่เว็บไซต์ http://Suchatvee.com เข้ามาร่วมลงชื่อ เพื่อจะได้เสนอในนามภาคประชาชนได้ เป็นการทำเพื่อพวกเราทุกคน ไม่เช่นนั้นแล้วก็จะไม่มีใครทำ”

นายสุชัชวีร์ กล่าวต่อว่า “ตั้งแต่เป็นนายกฯ วิศวกรรมสถานฯ ผมไม่เคยได้รับคำตอบ ไม่เคยได้รับการถอดบทเรียนมาให้เราได้เผยแพร่ต่อประชาชนเลย ถึงเวลาแล้ว ประเทศไทยอยู่แบบนี้ไม่ได้ ถึงเวลาเกิดเหตุร้าย ๆ แล้วเราไปร้องเรียน หน่วยงานนั้น ๆ ก็เงียบได้ เพราะไม่มีใครเข้ามากำกับดูแล แต่ถ้ามี ‘องค์กรเพื่อความปลอดภัยสาธารณะ’ จะทำหนังสือถึงอธิบดีฯ หากหน่วยงานรับผิดชอบยังชักช้า ก็จะรายงานถึงนายกรัฐมนตรี จะไม่มีใครกล้าช้า และก็สามารถรายงาน เผยแพร่เว็บไซต์ให้กับประชาชนได้ จะทำให้หน่วยงานต้นสังกัดเจอกระแสสังคม รับรองว่าจะไม่กล้าทำอะไรสุ่มสี่สุ่มห้าแน่นอน และเรื่องแบบนี้ก็มีเกิดขึ้นในประเทศที่พัฒนาแล้วทั้งนั้น แต่ก็เสียดายที่เรื่องแบบนี้ ประเทศไทยเราล้าหลังจริง ๆ” 

“เรื่องความปลอดภัยก็เป็นหนึ่งในตัวชี้วัดว่าประเทศเราพัฒนาแล้ว อย่าคิดว่าเรามีรถไฟฟ้า มี 5G มีห้างสวย ๆ แล้วนั่นคือการพัฒนา มันไม่ใช่แบบนั้น คนไทยตายด้วยอุบัติเหตุมากติดท็อปโลก แบบนี้ไม่ใช่เรื่องที่ถูกต้อง เราปล่อยประเทศเราไปแบบนี้ไม่ได้หรอก ผมพูดในฐานะวิศวกร และคนที่มีครอบครัวอยู่ในกรุงเทพ” นายสุชัชวีร์ กล่าวทิ้งท้าย

รับชมสัมภาษณ์เต็มได้ที่>> https://www.facebook.com/thestatestimes/videos/606689744824469 

ร่วมลงชื่อร่างกฎหมายจัดตั้งองค์กรอิสระเพื่อความปลอดภัยสาธารณะได้ที่ >>  http://Suchatvee.com 

‘ดร.เอ้’ แนะ!! กทม.สำรวจ-ประเมินตึกสูงนับหมื่นแห่ง หวั่น!! แผ่นดินไหวส่งผลกระทบ ชี้!! ความเสียหายจะหนักหนา

(17 พ.ย. 66) ศาสตราจารย์ สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ ประธานนโยบาย กทม. พรรคประชาธิปัตย์ อดีตนายกสภาวิศวกร และอดีตนายกวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ‘เอ้ สุชัชวีร์’ ระบุว่า…

ภัยแผ่นดินไหว อันตรายจริง กทม.มีความเสี่ยง!!

แผ่นดินไหวที่เมียนมา สะเทือนถึงกรุงเทพ ตึกเก่าหลายหมื่น เสี่ยงจริง กทม.ต้องมีมาตราการสำรวจ และประเมินความแข็งแรงของอาคารในกรุงเทพ อย่างจริงจัง

อย่าทำเป็นเล่น หากอาคารถล่ม ความสูญเสีย ประเมินค่ามิได้ เป็นห่วงครับ
#แผ่นดินไหว

'ดร.เอ้' เปิดใจ!! ในฐานะนักเรียนทุนรัฐบาลจากภาษีประชาชน ต้องตอบแทน ‘ปชช.-สังคม-แผ่นดินแม่’ อย่างสุดความสามารถ

(27 พ.ย. 66) ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อดีตผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) อดีตนายกสภาวิศวกร และอดีตนายกวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ได้โพสต์เฟซบุ๊ก ระบุว่า...

"เรา นักเรียนทุนรัฐบาล จากภาษีประชาชน ต้องตอบแทนคุณแผ่นดิน"

ผมในฐานะ ‘นายกสมาคมนักเรียนทุนรัฐบาลไทย’ จัดการประชุมประจำปี และมอบรางวัลนักเรียนทุนดีเด่น และนักเรียนทุนดาวรุ่ง ประจำปี 2566 เพื่อเป็นกำลังใจแก่ คนทำความดีเพื่อสังคมไทย

ผมขอแสดงความยินดีกับ ผู้ได้รับรางวัลที่ยิ่งใหญ่นี้ และครอบครัว รวมทั้งหน่วยงานของท่านด้วยครับ

ทุกความสำเร็จ ย่อมมี ‘คนปิดทองหลังพระ’ ซึ่งก็คือ พี่น้องคณะกรรมการสมาคมนักเรียนทุนฯ ที่เป็นคนที่เสียสละที่สุด ทำงานเพื่อส่วนรวม มิหวังผลตอบแทน และไม่เคยได้อะไรตอบแทน น่าศรัทธายิ่ง

เรารู้ว่า บุญคุณของสังคมไทย ที่ส่งเราไปเรียนต่างประเทศ นั้นยิ่งใหญ่มากนัก เราจึงมีหน้าที่ต้องตอบแทนประชาชน สังคม และแผ่นดินแม่ อย่างสุดความสามารถ

รู้ครับว่า ไม่ง่าย เพราะคนเก่ง คนดี อาจไปไม่ไกลถึงดวงดาว เพราะสังคมไทยมีปัจจัยแฝงมากมายเหลือเกิน

แต่กำลังใจ ที่มอบให้กัน และการยกย่องคนเก่งคนดี อย่างน้อยจะเป็นพลังซึ่งกันและกัน ผลักดันสังคมไทยให้พัฒนาขึ้นได้แน่นอน

สู้ๆ นะครับ

ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์
นายกสมาคมนักเรียนทุนรัฐบาลไทย (2562-2566)
#นักเรียนทุน

การศึกษาที่มีคุณภาพ เป็นหนทางสู่ความก้าวหน้าของทุกสิ่ง

ไม่ว่าจะยุคไหน ๆ ‘การศึกษา’ ก็เป็นสิ่งสำคัญและเป็นพื้นฐานของความก้าวหน้าของทุกสิ่ง ทางด้านศาสตราจารย์ สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ ก็ได้เน้นย้ำถึงเรื่องนี้ โดยระบุว่า…

“การพัฒนาและความก้าวหน้าของทุกประเทศทั่วโลก เริ่มจากการวางรากฐาน ด้านการศึกษาที่มีคุณภาพเท่านั้น”


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top