Sunday, 19 May 2024
สุชัชวีร์_สุวรรณสวัสดิ์

‘ดร.เอ้’ วิตก!! วงจรมัวเมาเยาวชนเกลื่อน วอนผู้เกี่ยวข้องจัดการเด็ดขาด หวั่นซ้ำรอยกรณีทลายผับดังย่านรังสิต 'ปล่อยเด็กเที่ยว-ไร้ใบอนุญาต'

'ดร.เอ้' ห่วงเด็กไทย หลัง จนท.ชุดเฉพาะกิจ สนธิกำลังบุกจับผับพบเด็กต่ำ 20 เพียบ แนะต้องควบคุมและจำกัด

(10 ม.ค.67) ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ ‘ดร.เอ้’ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กทม. ห่วงเด็กไทย หลังจากมีข่าวล่าสุดเจ้าหน้าที่ชุดเฉพาะกิจปฏิบัติการ ‘รังสิตมันร้าย’ ที่สนธิกำลังร่วมกับหลายหน่วยงานบุกเข้าจับกุมสถานบริการชื่อร้าน 'HEAVEN Rangsit' ในพื้นที่อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี พบบุคคลที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปีเข้ามาใช้บริการเกือบ 500 คน 

ดร.เอ้ กล่าวว่า ปัญหาเยาวชนอายุต่ำกว่า 20 ปี เข้าไปใช้บริการสถานบันเทิง ผับ-บาร์ การเปิดสถานบันเทิงเกินกว่าเวลาที่กฎหมายกำหนด ไปจนถึงการเปิดโดยไม่มีใบอนุญาต ปัญหาเหล่านี้มีมานานแล้ว ไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ เกิดเป็นวงจรปัญหาตามมาทั้งเรื่องยาเสพติด ความรุนแรง อุบัติเหตุจากเมาแล้วขับ ตนจึงอยากให้เจ้าหน้าที่และผู้ที่เกี่ยวข้องดำเนินการกวดขันและเข้มงวดในเรื่องนี้อย่างต่อเนื่องเพื่ออนาคตของเด็กและเยาวชนไทย 

“ปัญหาสำคัญที่สุดคือ สถานบันเทิงเหล่านี้ปล่อยให้เด็กต่ำกว่ากฎหมายกำหนดเข้ามาใช้บริการเป็นจำนวนมาก ข่าวล่าสุดที่ผับดังย่านรังสิตก็ตรวจพบเด็กต่ำกว่าอายุ 20 ปี เกือบ 500 คน ผมถามว่าเราปล่อยให้เป็นแบบนี้ได้ยังไง แล้วเด็กไทยเราจะมีคุณภาพได้อย่างไร ผมเป็นห่วงจริงๆ ครับ” ศ.ดร.สุชัชวีร์ กล่าว

ทั้งนี้ ที่ผ่านมาหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งฝ่ายตำรวจ ฝ่ายปกครอง ยังมีปัญหาในเรื่องการบังคับใช้กฎหมายอย่างเต็มที่ ไม่เข้มงวด ปล่อยปละละเลย โดยเฉพาะขณะนี้กฎหมายได้อนุญาตให้ขยายเวลาเปิดสถานบริการถึงตี 4 แล้ว ส่วนตัวจึงอยากแนะผู้ที่เกี่ยวข้องว่าหากยังไม่มีมาตรการในการจัดการที่เด็ดขาดโดยเฉพาะประเด็นเกี่ยวกับเด็กและเยาวชนก็อาจจะต้องทบทวน ถ้าผลประโยชน์ที่ได้ไม่คุ้มกับความเสียหายที่เกิดขึ้น

ศ.ดร.สุชัชวีร์ กล่าวว่า การพัฒนาคน โดยเฉพาะเยาวชนถือเป็นหัวใจสำคัญที่จะเปลี่ยนประเทศให้ดีขึ้น ดังนั้นภาครัฐจะออกนโยบายต่างๆ ต้องประเมินความคุ้มค่าให้รอบด้าน อย่ามองเพียงแค่มิติเดียว โดยเฉพาะนโยบายขยายเวลาเปิดผับ-บาร์ ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่ามีผลกระทบต่อเยาวชน และสวัสดิภาพ ความปลอดภัยของสาธารณชนแน่นอน

ดังนั้นสิ่งที่ประเทศไทยต้องทำคือ การควบคุม จำกัดวันและเวลาจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และสถานบันเทิง ให้เหมือนในหลายๆ ประเทศ เช่น ประเทศเยอรมนีที่รัฐให้ความสำคัญในเรื่องการพัฒนาคนอย่างมาก ซึ่งการจำกัดหรือควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และสถานบันเทิง ไม่ใช่เพียงแค่เรื่องความปลอดภัยเท่านั้นแต่คำนึงไปถึงเรื่องสุขภาพของคน กฎหมายที่ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ จะเน้นเกี่ยวกับการคุ้มครองเด็กและเยาวชนส่วนใหญ่ไม่ได้ออกแบบมาเพื่อให้คนหนุ่มสาวเลิกดื่มแอลกอฮอล์อย่างสมบูรณ์ แต่สอนถึงแนวทางที่เหมาะสมในการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หรือในประเทศรัสเซียที่มีการจำกัดเวลาขายช่วงกลางคืน หรือประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ที่จำกัดเวลาขายในร้านขายปลีก เป็นต้น

‘ดร.เอ้’ แนะ 3 แนวทางแก้ปัญหาฝุ่น PM2.5 ใน กทม. ชี้!! หากปล่อยไว้นาน กระทบสุขภาพ เสี่ยงเป็นมะเร็งปอด

(22 ก.พ. 67) นายสุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) กล่าวว่า จากสถานการณ์ฝุ่นพิษในพื้นที่ กทม. ปัจจุบันถึงขั้นวิกฤตแล้ว ส่งผลกระทบต่อสุขภาพประชาชนอย่างมาก ถือเป็นภัยต่อรุ่นลูกหลาน เพราะอัตราการเป็นโรคมะเร็งปอดและโรคที่เกี่ยวข้องกับ PM2.5 จะมีอัตราการตายก้าวกระโดด

กทม. ควรแก้ปัญหามาตั้งนานแล้ว แต่กลับปล่อยให้ถึงขั้นวิกฤตแบบทุกวันนี้ ทั้งที่กทม. มีอำนาจเต็มในการแก้ปัญหา โดยใช้ข้อบัญญัติ กทม.ทางด้านความสะอาด ความปลอดภัยและความเรียบร้อย ทุกเขตมีหน้าที่และเจ้าหน้าที่พร้อม สามารถตรวจจับควันดำ ตรวจสอบไซต์งานก่อสร้างได้ ทั้งจับ ปรับ ไปจนถึงระงับการก่อสร้างได้ แต่ที่ผ่านมาหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกลับไม่บังคับใช้หรือแก้ปัญหาอย่างจริงจัง

“ภารกิจ กทม.ถือเป็นภารกิจที่หนักหน่วง ผู้บริหารจึงต้องมีภาวะผู้นำ ในเรื่องการติดตามงาน อย่างมีประสิทธิภาพ และปัญหา กทม.จะแก้ไขสั่งการแบบลอยตัวไม่ได้ กทม. ต้องการผู้นำที่ดุดัน และเอาจริงมากกว่านี้ ไม่เช่นนั้นแล้วปัญหาฝุ่นพิษ หรือทุกปัญหาจะไม่สามารถแก้ไขได้เลย” นายสุชัชวีร์ กล่าว

นายสุชัชวีร์ กล่าวต่อว่า ส่วน 11 มาตรการลดฝุ่นที่ กทม. ประกาศออกมาทั้ง เข้มงวดตรวจจับรถควันดำ ประสานตำรวจเข้มงวดกวดขัน ขอความร่วมมือ Work From Home รณรงค์บำรุงรักษาเครื่องยนต์ ควบคุมสถานประกอบการไม่ปล่อยมลพิษ งดกิจกรรมเกิดฝุ่น เข้มงวดห้ามเผาทุกชนิด เพิ่มความถี่ล้างถนน ฉีดล้างต้นไม้

ให้ความรู้สุขภาพอนามัย ออกหน่วยบริการสาธารณสุข หน่วยแพทย์เคลื่อนที่ ดำเนินการตามมาตรการ ลดฝุ่นในโรงเรียนนั้น เป็นสิ่งที่ต้องทำทุกวันอยู่แล้ว และต้องทำมาตั้งนานแล้ว ไม่ใช่มาประกาศ มาทำตอนนี้ ทุกวันนี้เรายังเห็นรถขนส่งควันดำวิ่งกันอยู่เลย ยังเห็นไซต์งานก่อสร้างที่ไร้ความรับผิดชอบ ไม่มีอะไรปกปิดหรือป้องกันอยู่เลย

ดังนั้น สิ่งที่ กทม.ควรต้องแก้ปัญหาในเรื่องฝุ่นพิษและทำเร่งด่วน คือ 

1.ป้าย กทม.ต้องขึ้นแสดงสภาพอากาศ รัฐรู้แค่ไหน ประชาชนต้องรู้เท่านั้น 

2.อำนาจ กทม.มีอยู่แล้วในการจัดการเรื่องฝุ่น โดยคุมเรื่องรถขนส่งและไซต์งานก่อสร้างที่ไร้ความรับผิดชอบ

3.กำหนดเขตมลพิษต่ำ Bangkok Low Emission Zone หรือ B-LEZ (บีเลส) นำร่อง 16 เขตกรุงเทพฯชั้นใน ซึ่งเป็นเขตที่มีประชากรอาศัยหนาแน่น ทั้งผู้อยู่อาศัย ผู้มาทำงาน และนักเรียน มีทั้งโรงเรียนและโรงพยาบาลอยู่ในพื้นที่นี้เป็นจำนวนมาก

'ดร.เอ้' ยัน!! นายกฯ เดินทางไปต่างแดน เป็นสิ่งจำเป็น แต่ต้องหมั่นโฟกัสเรื่องใหญ่ ไม่ใช่แค่รับมาแล้วก็เงียบไป

เมื่อไม่นานมานี้ นายสุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ (ดร.เอ้) รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ได้โพสต์วิดีโอในช่องติ๊กต็อก @aesuchatvee พร้อมระบุแคปชันว่า “นายกรัฐมนตรีแสดงวิสัยทัศน์ ‘IGNITE Thailand’ มุ่ง 8 เป้าหมายพัฒนาประเทศ ในงาน ไม่มีเรื่อง ‘เป้าหมายการศึกษา’ และ ‘การพัฒนาทักษะคนไทย’ แม้แต่ข้อเดียว น่าเสียใจ” 

โดยภายในวิดีโอได้พูดและแนะนำถึงสิ่งที่นายกรัฐมนตรีควรให้ความสำคัญ ไม่น้อยกว่าการไปเยือนต่างประเทศ โดยกล่าวว่า… “สําหรับการเดินทางไปต่างประเทศของนายกฯ คนใหม่เป็นสิ่งจําเป็น เพราะต้องแนะนําตัวและนโยบายของประเทศตอนนี้ว่าเป็นอย่างไร ผมว่าเรื่องพวกนี้มีความจําเป็น แต่ท่านต้องไม่ฉาบฉวย มีภาพท่านที่ออกมาในลักษณะที่มีคนร้องเรียนทีนึง เมื่อไปดู แล้วก็หาย ไปอีกตรงหนึ่ง ท่านก็หาย กลายเหมือนกับว่า ไม่ได้โฟกัสอะไร…”

ดร.เอ้ กล่าวต่อว่า “จริง ๆ แล้วท่านต้องโฟกัส และต้องจัดอันดับเรื่องของปัญหา ยกตัวอย่างเช่น วันนี้ประเทศไทยไม่พ้นความยากจน ประเทศไทยมีปัญหาหลายเรื่องที่มาจากเรื่องของการศึกษา แต่ท่านไม่พูดเลย”

ดร.เอ้ ได้ยกตัวอย่างประเทศเพื่อนบ้านอย่างสิงคโปร์ที่กำลังจะมีนายกรัฐมนตรีคนใหม่ คือ ‘ลอว์เลนซ์ หว่อง’ ที่ได้พูดเรื่องการศึกษามาเป็นเรื่องแรก ๆ 

ดร.เอ้ ระบุต่อว่า “แต่นายกฯ เศรษฐาไม่พูดเลย ท่านไปดูตรงไหน ท่านก็พูดแต่เรื่องฉาบฉวย แต่ความสามารถในการแข่งขัน การสร้างคนซึ่งเป็นเรื่องที่จําเป็นที่สุด ท่านไม่เคยพูด”

สุดท้ายดร.เอ้ ได้พูดถึงประเด็นที่นายกฯ เดินทางไปต่างประเทศบ่อยครั้งว่า “เรื่องท่านไปต่างประเทศ ผมไม่ว่า แต่งานที่สําคัญที่สุดคือ ‘เรื่องของรากลึกของสังคมไทย’ เรื่องการศึกษา ท่านไม่พูดเลย อีกทั้งเรื่องการแก้ปัญหา ท่านต้องไม่โยนให้กับกระทรวงอื่น แต่ท่านต้องแสดงบทบาทผู้นําว่าท่านหยิบจับอะไรมันก็สําเร็จ ไม่ใช่จับแล้วปล่อย ๆ แบบนี้ ผมว่าท่านจะต้องปรับปรุง”

‘ดร.เอ้’ ติง ‘นายกฯ’ ไปเชียงใหม่ แต่ไร้วิสัยทัศน์แก้ฝุ่น PM2.5 แนะ 3 ข้อ ‘ขจัดผลประโยชน์ทับซ้อน-กระจายอำนาจ-ใช้เทคโนโลยี’

(19 มี.ค. 67) นายสุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ดูแล กทม. โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว เรื่องปัญหาฝุ่น PM 2.5 ที่เชียงใหม่ แก้ได้ด้วยภาวะผู้นำโดยวิพากษ์วิจารณ์การลงพื้นที่ของนายกรัฐมนตรีที่ผ่านมาว่า นายกฯ ลงพื้นที่เชียงใหม่ แต่ไม่รับฟังปัญหาของชาวบ้าน และนักวิชาการ ไม่แสดงวิสัยทัศน์ในการแก้ปัญหาอย่างจริงจัง ทั้งที่นายกฯ มีอำนาจหน้าที่ มีพลัง แก้ไขวิกฤติฝุ่นพิษได้

นายสุชัชวีร์ กล่าวต่อว่า มั่นใจว่าบทบาทของนายกฯ สามารถแก้ปัญหาทุกข์เรื้อรัง ของชาวเชียงใหม่ และจังหวัดใกล้เคียงได้ หากท่าน เอาจริงเอาจัง กับ 3 เรื่องนี้ 

1.จัดการกับผลประโยชน์ทับซ้อน เพราะการเผา เป็นปัญหาผลประโยชน์ทับซ้อนของราชการกันเอง ทั้งระหว่างหน่วยงาน ที่ต่างฝ่ายต้องการงบประมาณลงหน่วยงานของตนให้มากที่สุด และปัญหาผลประโยชน์ของเอกชน มีหลายคนได้ผลประโยชน์จากการที่ป่าหรือไร่ถูกเผา นายกรัฐมนตรีมีอำนาจสูงสุด ถ้าแก้เรื่อง ประโยชน์ทับซ้อน ได้การเผาจะลดลง ฝุ่นก็ลดลง

2.กระจายอำนาจ และงบประมาณการแก้ปัญหาระยะสั้น เพื่อบรรเทาทุกข์ อาจถึงเวลาที่ต้องแก้ปัญหาด้วย เงิน เพราะการให้เงินโบนัสหมู่บ้านไม่เผา โดยกระจายอำนาจหน้าที่ให้ผู้ว่าราชการจังหวัด ดำเนินการได้กับหมู่บ้านที่ไม่เผา เราอาจไม่ถูกใจเรื่องแจกเงิน แต่คุ้มค่ากว่าความเสียหายทางเศรษฐกิจและทางสุขภาพที่เกิดจากฝุ่นพิษ PM 2.5 อีกทั้งยังประหยัดงบประมาณในการดับไฟ และรักษาชีวิตเจ้าหน้าที่ที่ต้องเสี่ยงกับการเข้าไปดับไฟ 

และ 3. ต้องใช้เทคโนโลยีแก้ปัญหา เพราะเทคโนโลยีดาวเทียม ไม่โกหก เพราะภาพถ่ายจากดาวเทียมธีออส-2 ที่โคจรต่ำ ผ่านประเทศไทย 4 รอบต่อวัน จะรู้ทันที ใครเผา และที่ดินใคร สามารถใช้เป็นหลักฐาน เพื่อดำเนินการใด ๆ ได้อย่างเป็นธรรม ของดีมี ต้องใช้

“วิกฤตฝุ่น PM2.5 เป็นวิกฤตชาติที่รอไม่ได้อีกต่อไป อย่าปล่อยให้เป็นแบบไฟไหม้ฟาง คือ มาดู แล้วจากไป” นายสุชัชวีร์ ระบุ

‘ดร.เอ้’ ฟาด!! ‘กทม.’ เหตุปัดความรับผิดชอบ กรณีชายตกท่อดับ ชี้!! โยนกันไปมา ไร้เจ้าภาพ แนะ!! ควรมี กม.เพื่อความปลอดภัย

(4 พ.ค.67) ศาสตราจารย์ ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กทม.ให้สัมภาษณ์ต่อสื่อถึงเหตุการณ์ชายตกท่อ ลาดพร้าว 49 เมื่อวานนี้ (3 พ.ค.67) ถึงการ ‘ปัดความรับผิดชอบของกทม.’ เพราะเป็นเจ้าของพื้นที่ และชี้หน่วยงานโยนไปมา หาเจ้าภาพไม่เจอ บอกถึงเวลาแล้ว ไทยต้องเป็นสังคมปลอดภัย พร้อมชวนประชาชนลงชื่อ เสนอกฎหมาย ‘จัดตั้งองค์กรอิสระเพื่อความปลอดภัยสาธารณะ’

ส่วนตัวรับไม่ได้ กรณีชายอายุ 59 ปี พลัดตกท่อย่านลาดพร้าว 49 เพราะ ยังมีคนเสียชีวิตจากการตกท่ออีก แต่สิ่งที่ทุกคนเห็น แต่ละหน่วยงานโยนกันไปมา ทั้ง กทม. กฟน. บีทีเอส สายสีเหลือง สุดท้ายแล้วคนตาย ‘หาเจ้าภาพไม่เจอ’ และเกิดเหตุซ้ำซาก จึงเป็นที่มาถึงเวลาของประเทศไทยต้องเป็นสังคมปลอดภัย ตนได้รณรงค์ให้ประชาชนมาลงชื่อให้เกิน 10,000 คนขึ้นไป เพื่อเสนอกฎหมายจัดตั้ง ‘องค์กรอิสระเพื่อความปลอดภัยสาธารณะ’ อย่างน้อยจะหาคนกลางหรือเจ้าภาพได้เมื่อเกิดเหตุขึ้น สามารถร้องเรียนที่คณะกรรมการ หรือองค์กรนี้ได้ทันที ซึ่งอาจขึ้นตรงกับผู้นำประเทศ และองค์กรอิสระนี้สามารถติดตามความเสี่ยง พร้อมเผยแพร่ข้อมูล ประชาสัมพันธ์ และทำให้หน่วยงานหลักที่เป็นเจ้าของ เข้าไปแก้ไขปัญหาได้ตรงจุด หรือเกิดการสูญเสียถึงแก่ชีวิตหรือสูญเสียทรัพย์สิน ก็ยังมีการถอดบทเรียน ไม่ใช่ ‘วัวหายล้อมคอก’ คนตายไปสุดท้ายไม่ได้ทำอะไร และตายฟรี ดังนั้น ขอเชิญชวนประชาชนมาลงชื่อได้ที่ suchatvee.com ให้เกิน 10,000 ชื่อ ซึ่งเรากำลังร่างกฎหมายเสนอสภา เพื่อให้เหมือนกับในต่างประเทศ เพราะมีหน่วยงานกลาง ดูแลความเสี่ยง ถอดบทเรียนหาผู้รับผิดชอบ เอาผิด จะได้เข็ด รวมทั้งเยียวยาผู้สูญเสียที่เป็นธรรม

ขณะเดียวกัน กรณีหากเกิดเหตุ ผู้รับเหมาต้องรับผิดชอบหรือไม่นั้น ดร.เอ้ กล่าวว่า เป็นเพียงส่วนหนึ่ง เพราะผู้รับเหมาต้องทำงานและได้เงินเร็วที่สุด แต่หลายครั้งการทำแบบนี้ ก็ได้มาซึ่งความสูญเสีย มาตรฐานที่ไร้คุณภาพ เช่น เจ้าของงานจ้างผู้รับเหมามาสร้างบ้าน ก็ต้องจ้างคนคุมงานมาดูแลด้วย ดังนั้น จากกรณีนี้ เจ้าของพื้นที่ คือ กทม. จะโยนไปที่ กฟน. ถือว่าไม่ถูกต้อง เพราะพื้นที่เกาะกลางถนน ฟุตบาท เป็นของ กทม. ใครจะทำอะไรต้องมาขอ กทม. และระหว่างทำ กทม. มีหน้าที่ในการดูแล ส่วนการส่งมอบ กทม. ก็ต้องมีส่วนร่วมในฐานะเจ้าของบ้าน จะปฏิเสธความรับผิดชอบไม่ได้ แต่ในอดีตหน่วยงานโยนกันไปมา และ จบที่การ ‘กล่าวแสดงความเสียใจ’ ปัดออกจากตัวหมด

จากนั้น พอไปถึงหน่วยงานซึ่งดูเหมือนจะเป็นเจ้าของ หน่วยงานนั้นก็โยนให้ผู้รับเหมา และผู้รับเหมาโยนไปที่บริษัทประกันชีวิต ทั้งนี้ เมื่อถึงบริษัทประกันชีวิต ก็จะสู้ด้วยข้อกฎหมาย ที่อาจระบุว่า คนเดินแล้วเกิดอุบัติเหตุ อาจจะประมาท มีสภาพร่างกายอาจไม่สมบูรณ์ กว่าจะจ่ายเงินเยียวยาก็ใช้เวลานาน หรือหลายกรณีไม่ได้เงิน เพราะครอบครัวไม่รู้จะเอาอะไรไปต่อสู้ จึงย้อนกลับมาว่า ประเทศไทยไม่มีองค์กรกลางที่จะช่วยหาข้อมูล หลักฐานส่งฟ้อง เพื่อให้ประกันดูแลเยียวยาผู้เสียหายอย่างเป็นธรรม และนี่คือสาเหตุของการเกิดเหตุซ้ำซาก เพราะคนเกี่ยงกัน คนผิดไม่เคยได้รับผิด คนสูญเสียไม่ได้รับการเยียวยา หรือได้รับการเยียวยาช้าเกินไป เพราะฉะนั้น ผู้นำรัฐบาลต้องเร่งแก้ปัญหานี้อย่างจริงจัง โดยนำอุทาหรณ์เหล่านี้มาเป็นบทเรียนในการสร้างความปลอดภัยให้เกิดขึ้น เพราะนี่คือ ‘สิทธิพื้นฐาน’ ของประชาชนที่ควรจะได้รับ


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top