Sunday, 19 May 2024
ลาดกระบัง

'ดร.เอ้' ย้อนข้อความปี 65 กรณีสะพานข้ามแยกลาดกระบังถล่ม  'พบข้อบกพร่อง-เคยเตือนแล้ว' เสียใจที่สุด ที่ต้องมีผู้สูญเสีย

(11 ก.ค. 66) ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อดีตผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. พรรคประชาธิปัตย์ อดีตนายกสภาวิศวกร และอดีตนายกวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย รีโพสต์เนื้อหาที่ได้เคยโพสต์ไว้เมื่อวันที่ 19 ส.ค. 65 และ 9 ส.ค. 65 หลังจากเกิดเหตุสะพานข้ามแยกทรุดตัว บริเวณหน้าโลตัสลาดกระบัง ถ.หลวงแพ่ง แขวงทับยาว เขตลาดกระบัง เมื่อเวลา 18.08 น. และในเบื้องต้นมีผู้เสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บสาหัสหลายราย โดยระบุว่า...

“เสียใจที่สุด เพราะผมเคยเตือนไปแล้ว ไม่น่าเลย สุดท้ายต้องมีคนสูญเสียชีวิต จนได้”

ส่วนเนื้อหาที่ ดร.สุชัชวีร์ เคยโพสต์ไว้เมื่อวันที่ 19 ส.ค. 65 ระบุถึงการก่อสร้างสะพานข้ามแยก ที่อยู่ในโครงการก่อสร้างทางยกระดับถนนอ่อนนุช-ลาดกระบังเอาไว้ ว่า...

"กลับบ้านวันศุกร์ ไม่สุข ไม่ปลอดภัย" 

ผมขอแสดงความเป็นห่วงจากใจ โครงการก่อสร้างสะพานข้าม ถนนอ่อนนุช-หัวตะเข้ เขตลาดกระบัง เห็นปัญหาชัดเจน

1. เครื่องจักรใหญ่ทำงาน ไม่มีแนวป้องกัน เสี่ยงอุบัติเหตุของหล่น ประชาชนเดือดร้อนทเสี่ยงชีวิต
2. ถนนยุบจากการก่อสร้าง เสี่ยงอุบัติเหตุ โดยเฉพาะรถจักรยานยนต์ ของเด็กนักศึกษา ห่วงจริงๆ
3. รถติดสาหัส เพราะก่อสร้างกินพื้นที่ บางช่วงก่อสร้างเสร็จแล้ว ต้อง คืนพื้นที่ให้ประชาชนผู้สัญจรได้

เพราะอุบัติเหตุจากการก่อสร้างสะพาน เกิดขึ้นบ่อยครั้ง หลายครั้งมีผู้เสียชีวิต มีทรัพย์สินเสียหาย

ขออย่าให้เกิดที่ใด กับใคร อีกเลยครับ เป็นห่วงจริงๆ ครับ

นอกจากนี้ ยังมีเนื้อหาที่เคยโพสต์ไว้เมื่อวันที่ 9 ส.ค. 65 อีกด้วย ระบุว่า... 

ด้วยความห่วงใย การก่อสร้างสะพาน ต้องมีมาตรฐาน

นั่งรถผ่านโครงการก่อสร้างสะพานถนนลาดกระบัง-อ่อนนุช ทุกวัน เห็นแล้วอดเป็นห่วงไม่ไดั ยิ่งวันนี้เห็นตั้งนั่งร้านทำงาน มีงานเทปูน หล่อเสาตอม้อ ชิดริมถนน แล้วกังวลแทน กลัวพังลงมา 

จากประสบการณ์หลายปี ที่ลงพื้นที่ตรวจสอบการวิบัติ การก่อสร้างโครงสร้างสะพาน มักเกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้งขณะทำงาน กรณีดังนี้...

1. "นั่งร้านคนงานพัง" เนื่องจากทั้งดินอ่อนรับน้ำหนักนั่งร้านไม่ได้ หรือ ไม่ได้ค้ำยันกับโครงสร้างที่มั่นคงแข็งแรง ทำให้คนงานบาดเจ็บและเสียชีวิตบ่อยครั้ง 

2. "ไม้แบบรองรับการเทคอนกรึตเสาและคานพัง" เพราะรับน้ำหนักขณะเทคอนกรีตไม่ได้ หรือ เทผิดจังหวะทำให้ไม้แบบเอียงพัง หรือ เสาค้ำยันไม้แบบวางบนดินอ่อนเกิน ก็พังพาบลงมา 

3. "คานหล่น" ขณะติดตั้ง เนื่องจากหลุนจากเครนยก หรือ หล่นขณะวางพาดบนเสา หลายครั้งลงมาใส่รถที่สัญจร อยู่ข้างล่าง 

4. "เครนล้ม" บางกรณีใช้เครนไม่ถูกขนาด เล็กเกินไปที่จะยกโครงสร้างน้ำหนักมาก บ่อยครั้งพลิกคว่ำ เป็นอันตรายทั้งคนขับเครน และคนงานในพื้นที่ 

ดังนั้นการทำงานก่อสร้างสะพาน ต้องทำงานตามมาตรฐานความปลอดภัยที่เคร่งครัด และต้องระมัดระวังตลอดเวลา 

ไม่ใช่เรื่องยากครับ และไม่ได้ต้องเสียงบประมาณเพิ่มเติมอะไรมาก ดีกว่ามาแก้ไขที่หลัง หลายอย่างทดแทนคืนไม่ได้ 

ผมแนะนำด้วยความห่วงใยจริงๆ ครับ

‘ชัชชาติ’ เชื่อ คานก่อสร้างทางยกระดับถล่ม ไม่ใช่เหตุสุดวิสัย จี้!! ผอ.เขตลาดกระบังเร่งสอบสวนสาเหตุ เพื่อหาตัวผู้รับผิดชอบ

เมื่อวันที่ 10 ก.ค. 66 นายชัชชาติ สิทธิพันธ์ุ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวระหว่างลงพื้นที่เกิดเหตุคานโครงการก่อสร้างทางยกระดับถนนอ่อนนุช-ลาดกระบังถล่ม ว่า ช่วงระหว่างก่อสร้างคือจุดอ่อนที่อันตรายที่สุด เนื่องจากคอนกรีตยังไม่แข็งตัว องค์ประกอบแต่ละส่วนของโครงสร้างยังไม่เชื่อมเป็นเนื้อเดียวกัน เพราะต้องร้อยชิ้นส่วนซึ่งเป็นคอนกรีตมาประกอบกัน เชื่อว่าไม่ใช่เหตุสุดวิสัย ตามหลักการ เหตุการณ์นี้ไม่ควรเกิดขึ้น อาจมีความผิดปกติเกิดขึ้นระหว่างก่อสร้าง เพราะฐานรากมีการลงเสาเข็มลึกถึงชั้นทราย

สำหรับ Launcher คือคาน 1 คาน เคลื่อนไหวได้ ประกอบด้วย ชิ้นส่วนคอนกรีต 20 ชิ้น ต้องใช้ลวดสลิงดึงส่วนประกอบแต่ละชิ้นมาต่อกัน เบื้องต้นสันนิษฐานว่า เกิดจากความไม่เสถียรระหว่างก่อสร้าง ส่วนจุดที่เสาขาด คาดว่ารับน้ำหนักมากเกินไป

นายชัชชาติ กล่าวว่า เรื่องนี้ต้องมีผู้รับผิดชอบ เพราะมีการก่อสร้างลักษณะนี้มากมายในกรุงเทพมหานครโดยไม่ต้องปิดพื้นที่ และไม่เคยเกิดปัญหาลักษณะนี้ ต่อไปต้องคัดเลือกผู้รับเหมาที่มีคุณภาพ เบื้องต้นอาจต้องปิดพื้นที่บริเวณเกิดเหตุ 3-4 วัน และคาดว่าจะรู้สาเหตุภายในคืนนี้ สำหรับผู้บาดเจ็บ ณ เวลานี้ ได้รับแจ้ง 8 คน เสียชีวิต 1 คน ยังไม่มีรายงานผู้สูญหาย ปัจจุบัน ได้แต่งตั้งผู้อำนวยการสำนักงานเขตลาดกระบัง เป็นผู้บัญชาการเหตุ

‘ภรรยา’ สุดเศร้า พาลูก 2 คน รับศพ ‘วิศวกร’ สะพานถล่ม เผย สามีเป็นคนรักงานมาก รับจากกันเร็วเกินกว่าจะทำใจได้

(11 ก.ค. 66) ที่สถาบันนิติเวช โรงพยาบาลตำรวจ นางวินุด แสนสีมล อายุ 38 ปี ภรรยา พร้อมลูกชาย 2 คน วัย 6 ปี และ 13 ปี รวมถึงญาติพี่น้องของนายฉัตรชัย ประเสริฐ วิศวกรโครงการก่อสร้างสะพานทางยกระดับอ่อนนุช-ลาดกระบัง ที่เสียชีวิตจากเหตุสะพานถล่ม เดินทางมายื่นเอกสาร เพื่อขอรับศพกลับไปบำเพ็ญกุศลที่วัดพังกิ่ง ตำบลสมหวัง อำเภอกงหรา จังหวัดพัทลุง

นางวินุด เปิดเผยว่า รู้สึกเสียใจมาก การจากไปของสามีเกิดขึ้นรวดเร็วเกินกว่าจะทำใจได้ สามีเป็นคนรักงานในอาชีพวิศวกรเป็นอย่างมาก ก่อนหน้านี้ทำงานอยู่ที่ จ.สตูล โดยจะเดินทางกลับบ้านที่ กทม. 1-2 เดือนครั้ง กระทั่งย้ายมาทำงานที่โครงการดังกล่าวได้ประมาณ 4 เดือน ถือเป็นโอกาสดีที่ได้มาอยู่ใกล้บ้านและครอบครัว

นางวินุด กล่าวต่อว่า ที่ผ่านมาเขารักและทุ่มเทกับการทำงานเป็นอย่างมาก ก่อนหน้านี้ไม่มีลางสังหรณ์อะไร สามีออกไปทำงานตามปกติ ส่วนสาเหตุตนยังไม่ทราบและไม่กล้าจะฟันธง ที่ผ่านมาทางบริษัทได้เข้ามาติดต่อพูดคุยแสดงความเสียใจแล้ว แต่ไม่ขอเปิดเผยรายละเอียด ขอให้จัดการงานศพให้เสร็จสิ้นเรียบร้อยก่อน

สำหรับผลการชันสูตรสาเหตุการเสียชีวิตเบื้องต้นเกิดจากของแข็งกระแทกบริเวณศีรษะ ทางครอบครัวจะเคลื่อนร่างกลับไปบำเพ็ญกุศลยังภูมิลำเนา ในวันพรุ่งนี้ (12 ก.ค.) เนื่องจากรอบิดาและมารดาของผู้เสียชีวิตที่กำลังเดินทางมาจาก จ.พัทลุง เพื่อมารับศพกลับไปบำเพ็ญกุศล

'สุชัชวีร์' ห่วงความปลอดภัย การซ่อมสะพานลาดกระบัง  ชี้!! ไม่ได้มาตรฐาน บทเรียนราคาแพงก่อนหน้าไม่ช่วยอะไร

(19 ก.ย. 66) นายสุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ หรือ ดร.เอ้ อดีตนายกสภาวิศวกรและอดีตนายกวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย เปิดเผยทางเฟซบุ๊ก เอ้ สุชัชวีร์ ระบุว่า

“สะพานลาดกระบัง ยังน่ากลัวเหมือนเดิม”

การสูญเสียชีวิตและทรัพย์สินอาจเกิดขึ้นอีก หรือนี่คือ มาตรฐานกทม.

คนหัวตะเข้-ลาดกระบัง ตกอยู่ในภาวะเสี่ยง ต้องลอดผ่านสะพานที่กำลังก่อสร้างนี้ อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ทุกวัน ทั้งที่รู้ว่าชีวิตอยู่กับอันตราย น่าเห็นใจที่สุด

จากรูป สะพานเดิมที่กำลังจะทุบ หรือจะปรับปรุง อยู่ในสภาพที่อันตรายมาก เพราะ

1.การก่อสร้างหรือรื้อถอนโครงสร้างสะพาน โดยไม่มีการค้ำยันที่เพียงพอ อันตรายมาก สังเกตจากรูป ไม่มีการค้ำยัน ทั้งที่มีการสัญจรของคนและรถ จำนวนมากทุกวัน หากคานแอ่น พังลงมา ไม่กล้าคิดว่าจะเกิดความสูญเสียมากเพียงใด

2.คานเริ่มมีรอยร้าว เพราะคานถูกสกัดอย่างหยาบ โดยไม่ระมัดระวัง เห็นสภาพแล้วแย่มาก หากของหล่นใส่คนเดินผ่าน หรือรถจักรยานยนต์ รถยนต์ ไม่เจ็บก็ตายได้

3.การป้องกันผลกระทบจากการก่อสร้าง ถือว่ามาตรฐานต่ำมาก ไม่ปิดกั้นบริเวณก่อสร้างให้ดี เปิดถ่างไว้ รถผ่านไปมา เสี่ยงที่สุด อุบัติเหตุเกิดขึ้นได้ทุกเวลา ยิ่งมองเข้ามาข้างใน ยิ่งสลด เพราะการจัดการก่อสร้างแย่มาก ไม่เป็นระเบียบ งานลักษณะนี้สะท้อนถึงความใส่ใจของผู้รับเหมา และผู้ควบคุมงานได้ จริงไหมครับ

โครงการนี้ ผมเคยเตือนมาแล้ว สุดท้ายก็เกิดเหตุ ถล่มลงมา คนตาย ผมเคยคิดว่า กทม. เจ้าของโครงการได้บทเรียนราคาแพงไปแล้ว จะใส่ใจมากกว่านี้ แต่ที่เห็น ก็แทบไม่ต่างจากเดิม เสียใจและห่วงใยจริง ๆ ผมเองก็ต้องไปส่งลูกไปโรงเรียน ต้องผ่านทางนี้ เลี่ยงไม่ได้เช่นกัน จึงขอพูดในทั้งฐานะวิศวกรอาชีพ และชาวบ้านลาดกระบังคนหนึ่ง

ทำให้ดีเถอะครับ ท่านต้องคิดว่า ชาวบ้านเปรียบเสมือนครอบครัวของเรา คงไม่มีใครอยากให้ครอบครัวเราเดือดร้อน ใช่ไหมครับ


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top