‘พงษ์ภาณุ’ ชี้สงครามการค้า ‘สหรัฐฯ - จีน’ พาอุตฯ หลัก แห่ย้ายฐานการผลิต ชี้!! ‘อินโดฯ - เวียดนาม’ ที่มั่นใหม่ แนะ!! ‘ไทย’ เร่งคว้าโอกาสก่อนตกขบวน

สงครามการค้า 'จีน-สหรัฐฯ' ระเบียบโลกสั่นคลอน โลกาภิวัฒน์ถดถอย อินโดนีเซียและเวียดนามได้ประโยชน์เต็มๆ จากนโยบายต่างประเทศที่ชาญฉลาด แล้วไทยจะยืนอยู่ตรงไหน???

(30 เม.ย.66) นายพงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ ที่มหาวิทยาลัยเศรษฐศาสตร์ฮิโรชิมะ ประเทศญี่ปุ่น อดีตปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และอดีตรองปลัดกระทรวงการคลัง ได้ให้มุมมองต่อเศรษฐกิจของโลกและภูมิภาคอาเซียน ผ่านรายการ ‘NAVY TIME เรื่องดี ๆ ประเทศไทยยามเช้า’ ออกอากาศช่วงเช้า เวลา 07.00- 08.00 น. ทางสถานีวิทยุเสียงจากทหารเรือวังนันทอุทยาน (ส.ทร.วังนันทอุทยาน) FM93 เมื่อวันที่ 30 เม.ย. 66 โดยระบุว่า...

จากสงครามการค้าที่เกิดขึ้นระหว่างมหาอำนาจทางเศรษฐกิจของโลก สหรัฐอเมริกา และจีน ซึ่งสหรัฐฯ มองว่า จีน จะก้าวขึ้นมาเป็นคู่แข่งสำคัญทั้งในด้านเทคโนโลยีและการทหาร เพราะฉะนั้น ทางสหรัฐฯ จึงได้แบนสินค้าจากจีน ด้วยการอ้างเหตุผลสารพัด ตั้งแต่สมัยประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ จนถึงปัจจุบัน แม้จะเปลี่ยนผู้นำคนใหม่แล้ว สถานการณ์ก็ยังคงเหมือนเดิม 

ทั้งนี้ จะเห็นได้ว่า ไม่เพียงแต่การแบนสินค้าจากจีนเท่านั้น แต่ในช่วงที่ผ่านมา แบรนด์สินค้าจากฝั่งสหรัฐฯ ที่เคยมีฐานการผลิตใหญ่อยู่ในประเทศจีน ไม่ว่าจะเป็น แอปเปิล ไนกี้ และอีกหลายแบรนด์ ก็ได้เริ่มทยอยย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศอื่น ๆ โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศอาเซียน เพราะมองว่า ฐานการผลิตในจีนเริ่มไม่มีความมั่นคง ไม่มีความปลอดภัย เนื่องจากเป็นประเทศที่มีระบบการปกครองที่เป็นเผด็จการ ธุรกิจในประเทศถูกควบคุมโดยรัฐบาลกลาง มีความสุ่มเสี่ยงมากขึ้น

แน่นอนว่า หากแบรน์ใหญ่ ๆ เหล่านี้ เลือกฐานการผลิตประเทศใด ย่อมสร้างรายได้ และสร้างงานให้กับประเทศนั้น ๆ ได้อย่างมหาศาล ซึ่งจะเห็นได้ว่า หลาย ๆ ประเทศในอาเซียนต่างพยายามนำเสนอจุดแข็งของประเทศเพื่อดึงดูเม็ดเงินการลงทุนจากแบรนด์สินค้าเหล่านั้น

นายพงษ์ภาณุ ระบุว่า จากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในขณะนี้ มองว่ามีอยู่ 2 ประเทศในกลุ่มอาเซียนที่จะได้รับผลประโยชน์อย่างสูงมากกว่าชาติอื่น ๆ นั่นก็คือ อินโดนีเซีย และเวียดนาม 

เหตุที่มองเช่นนั้น เพราะว่า ประธานาธิบดี โจโค วิโดโด หรือ โจโควี ของอินโดนีเซีย ที่เป็นผู้นำประเทศมา 10 ปี และกำลังจะครบเทอมในปีหน้า เป็นคนที่วางตำแหน่งประเทศอินโดนีเซียได้ยอดเยี่ยมมาก...

ข้อแรก วางตัวเป็นกลางไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด เปิดเสรีการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานเต็มที่

ข้อสอง เป็นประเทศที่มีนโยบายการต่างประเทศที่เป็นอิสระ ที่สำคัญตัวผู้นำประเทศยังสามารถคุยได้กับทุกฝ่าย นับเป็นผู้นำประเทศเพียงไม่กี่คนที่ได้พบปะพูดคุยกับผู้นำถึง 4 ประเทศ ประกอบด้วย โจ ไบเดน, สีจิ้นผิง, วลาดีมีร์ ปูติน และ โวโลดิมีร์ เซเลนสกี ในปีที่ผ่านมา น่าจะเป็นคนเดียวที่มีโอกาสพบผู้นำ 4 คนภายในปีเดียว สะท้อนให้เห็นว่า ผู้นำประเทศอินโดนีเซียคนนี้ ได้รับการยอมรับมากเพียงใด

นอกจาก ตัวของประธานาธิบดี โจโควี ที่ได้รับการยอมรับแล้ว ด้วยขนาดของประเทศและประชากรที่มีกว่า 260 ล้านคน ซึ่งถือว่ามากที่สุดในอาเซียน ยิ่งทำให้ประเทศนี้น่าสนใจ อยู่ในจอเรดาร์ของโลกการลงทุน ขณะนี้ ประเทศจีนได้เข้าไปลงทุนสร้างรถไฟความเร็วสูงจาการ์ตา – บันดุง เชื่อมเมืองหลวงไปยังด้านตะวันตกของเกาะชวา ซึ่งเป็นการหนุนเศรษฐกิจ การค้า และการท่องเที่ยวได้อย่างมหาศาล 

ขณะที่ เวียดนาม หนึ่งในข้อได้เปรียบของประเทศนี้ก็คือ การมีพรมแดนที่ติดกับประเทศจีน เมื่อฐานการผลิตในจีนมีปัญหา ทางซัพพลายเออร์ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์และยานยนต์ อาจจะมองเวียดนามเป็นฐานการผลิตใหม่ เพราะสามารถส่งสินค้าไปประเทศจีน โดยเฉพาะเมืองเซินเจิ้น ซึ่งเป็นเมืองเทคโนโลยีสำคัญได้อย่างสะดวก ด้วยระยะทางไม่กี่ร้อยกิโลเมตรเท่านั้น ขณะเดียวกัน เวียดนามยังเป็นประเทศที่มีเสถียรภาพทางการเมืองสูง และนโยบายการเปิดเสรีทางการค้าการลงทุนมีผลดึงดูดเม็ดเงินการลงทุนจากต่างชาติได้สูงมาก มีการย้ายฐานการผลิตมายังเวียดนามอย่างต่อเนื่อง

ขณะที่ประเทศไทยเอง จะต้องเรียนรู้จากประเทศอื่นที่เขาประสบความสำเร็จในสถานการณ์ของเศรษฐกิจโลกที่กำลังเปลี่ยนไป โดยเฉพาะการถอดบทเรียนการพัฒนาและนโยบายการต่างประเทศของอินโดนีเซีย ว่าเขาทำอย่างไรให้ 2 มหาอำนาจอย่าง สหรัฐอเมริกา และจีน ต่างหันมามองและให้ความสำคัญกับประเทศนี้

“ถ้านโยบายการต่างประเทศ ในภาพใหญ่ผมคิดว่า คงต้องดูอินโดนีเซียเป็นหลัก ลองดูว่าโจโควีเป็นหลักว่าเขาทำยังไง ถึงเป็นที่สนใจทั้งอเมริกาและจีนไปพร้อมๆกัน คิดว่าอันนี้ไม่ง่าย เพราะที่ผ่านมาไทยเราเอียงไปทางจีนค่อนข้างเยอะ และอาจจะทำให้สหรัฐฯ มองข้ามเราไปในช่วงที่ผ่านมา" พงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ ทิ้งท้าย