นักวิชาการ ชี้!! PM2.5 ภาคเหนือ ถือเป็นภัยพิบัติ แนะ 4 แนวทางที่ควรทำอย่างเร่งด่วน เพื่อสุขภาพปชช.

นักวิชาการ เสนอวิธีแก้ปัญหา PM2.5 ภาคเหนือ ถือเป็นภัยพิบัติ ต้องสั่งอพยพด่วน เพื่อป้องกันสุขภาพ แนะกำหนดช่วงเวลาวันเผา พร้อมลงโทษไม่รับซื้อผลิตผลทางการเกษตร

เมื่อวันที่ (27 มี.ค.66) เฟซบุ๊ก ‘Sonthi Kotchawat’ หรือ สนธิ คชวัฒน์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ชมรมนักวิชาการสิ่งแวดล้อมไทย ได้โพสต์ข้อเสนอแนะป้องกันและแก้ไขฝุ่นPM2.5 โดยระบุข้อความว่า "มุมมองในการป้องกันและแก้ไขฝุ่นPM2.5ในภาคเหนือ

1.ฝุ่น PM2.5 ภาคเหนือสูงขนาดนี้ (ตั้งแต่ 300 มคก.ต่อ ลบ.ม.ติดต่อกัน ) ต้องถือว่าเป็นภัยพิบัติหรือสาธารณภัยตามมาตรา 4 ของ พ.ร.บ.ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยพ.ศ.2550 ที่จังหวัดหรือท้องถิ่นสามารถออกประกาศเป็นพื้นที่ที่ประสบภัยเพื่อนำงบประมาณออกมาช่วยเหลือพี่น้องไม่ให้ตายผ่อนส่งแบบนี้

2.การป้องกันสุขภาพของประชาชนที่ต้องรีบทำด่วนคือ
2.1.อพยพเด็กเล็ก คนป่วย คนชราและคนกลุ่มเปราะบางในพื้นที่ไปอยู่ในอาคารที่จัดทำเป็นห้องปลอดฝุ่น PM2.5 หรือห้อง Clean Room ซึ่งเป็นห้องติดแอร์ที่มีการป้องกันฝุ่น PM2.5ด้วยแผ่นกรองอากาศชนิดHEPA (High Efficiency Particulate Air Filter)ซึ่งเป็นแผ่นกรองอากาศคุณภาพสูงทำมาจากเส้นใยไฟเบอร์กลาส (Fiberglass) ถักทอจนมีขนาดที่เล็กมากๆ จนมีความสามารถในของการกรองฝุ่นละอองขนาดเล็กมาก ๆ ได้เป็นอย่างดี..ห้องปลอดฝุ่นดังกล่าวต้องเร่งทำอย่างเต็มที่

2.2.จังหวัดต้องแจกหน้ากรองกรองฝุ่นชนิด N-95 ให้ประชาชนใช้ทุกคน (ไม่ใช่หน้ากากอนา มัย)

2.3.สั่งให้ทุกคน Work from home และลดการเผาในที่โล่งทุกแห่ง

3.การจัดการเพื่อลดฝุ่นควันในพื้นที่
3.1.ประกาศให้ประชาชนทราบและระดมกำลังทุกภาคส่วนออกไปจับผู้ที่แอบเผานำมาลง โทษอย่างจริงจังรวมทั้งเร่งดับไฟป่าและไฟที่เกิดจากการเผาอื่น ๆ ในพื้นที่

3.2.แจ้งไปยังเลขาสำนักงานอาเซียนและขอความร่วมมือให้เพื่อนบ้านลดการเผาลง

4.ระยะยาวหรือปีต่อไป
4.1.กำหนดระยะเวลาห้ามเผาให้ชัดเจน เช่น ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนเมษายนและบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวดจริงๆ รวมทั้งต้องมีมาตรการช่วยเหลือให้มีการไถกลบตอซังฟางข้าวหรือรับซื้อไปใช้โรงไฟฟ้าชีวมวลต่อไป

4.2.กระจายงบประมาณในการแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 ให้อปท.ทุกแห่งและมอบอำนาจในการบังคับใช้กฎหมายจับกุมผู้ลักลอบเผาในพื้นที่รวมทั้งจัดสรรงบประมาณดับไฟในพื้นที่ด้วยโดยจังหวัดทำหน้ากำกับตรวจสอบให้เป็นไปตามเป้าหมาย

4.3.รัฐบาลเจรจากับประเทศเพื่อนบ้านในเรื่อง Contact farming จะไม่รับซื้อผลิตผลทางการเกษตรที่ปลูกในพื้นที่ผิดกฎหมายและผลิตผลที่มาจากการเผาตอซังและวัสดุเหลือใช้ทาง การเกษตร เช่นข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และพืชผลที่ประทศไทยส่งเสริมให้ปลูกรวมกัน 8 ชนิด และรัฐบาลต้องบังคับให้ภาคเอกชนไทยทำตามนโยบายดังกล่าวด้วย"


ที่มา : https://mgronline.com/onlinesection/detail/9660000028901