‘ตร.ไซเบอร์’ แจ้งความคืบหน้าคดีหลอกลงทุน ‘Turtle Farm’ ยอดความเสียหายรวม 2 พันล้าน เตือน ปปช.อย่าหลงเชื่อ

(24 มี.ค. 66) พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ โฆษก บช.สอท. ขอเรียนชี้แจงความคืบหน้าการดำเนินคดีกับ บริษัท ไมน์นิ่งมายน์ เอ็กซ์ จำกัด, ห้างหุ้นส่วนจำกัดสถานีหลักสี่ โดยนางสาวฐานวัฒน์ กับพวก รวม 9 ราย ที่ได้ร่วมกันหลอกลวงชักชวนผู้เสียหายหลายรายให้ร่วมลงทุนเพาะเห็ด ปลูกพืชกระท่อม เลี้ยงผึ้ง หรือการลงทุนในรูปแบบอื่น ๆ ผ่านสื่อสังคมออนไลน์ต่าง ๆ

ตามนโยบายของรัฐบาล โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ที่ได้ให้ความสำคัญ และมีความห่วงใยต่อประชาชนจากภัยการหลอกลวงผ่านช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการหลอกลวงชักชวนประชาชนให้ร่วมลงทุน โดยอ้างว่าจะได้รับผลตอบแทนสูงในเวลาอันรวดเร็ว โดยได้กำชับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการสืบสวนสอบสวนและปราบปรามการกระทำความผิด บังคับใช้กฎหมายอย่างต่อเนื่อง และจริงจัง

เพื่อเป็นการดำเนินการตามนโยบายรัฐบาล และแก้ไขปัญหาอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผบ.ตร. และ พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล รอง ผบ.ตร. ซึ่งรับผิดชอบในด้านงานป้องกันปราบปราม ได้กำชับไปยัง พล.ต.ท.วรวัฒน์ วัฒน์นครบัญชา ผบช.สอท. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งรัดทำการสืบสวนสอบสวน ขยายผลหาความเชื่อมโยงในคดี ปราบปรามจับกุมผู้กระทำความผิดที่เกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยีในทุกรูปแบบ มุ่งเน้นการประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ให้แก่ประชาชนไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพ

เมื่อประมาณเดือน พ.ย. 64 - ก.ค. 65 ผู้ต้องหากับพวกได้สร้างโรงเพาะเห็ดขึ้นมาหลายโรง ในพื้นที่ จ.สกลนคร ประกาศโฆษณาผ่านสื่อสังคมออนไลน์ต่าง ๆ ให้ประชาชนทั่วไปเข้าร่วมลงทุนเพาะเห็ด ปลูกต้นกระท่อม และเลี้ยงผึ้ง โดยอ้างว่าผู้ที่เข้าร่วมลงทุนจะได้ผลตอบแทนเป็นจำนวนมากอย่างต่อเนื่อง โดยมีเงื่อนระยะเวลาในการลงทุน เช่น โครงการฝากเลี้ยงเห็ดเยื่อไผ่ ใช้เงินลงทุน 264,360 บาท ในเดือนที่ 3 จะได้รับเงินปันผล 108,640 บาท/เดือน หรือโครงการฝากเลี้ยงกระท่อม ใช้เงินลงทุน 275,000 บาท ในเดือนที่ 8 จะได้รับกำไร 150,000 บาท/เดือน โดยมีการสร้างความน่าเชื่อถือ โดยการทำสัญญาระหว่างผู้ร่วมลงทุนกับผู้ต้องหา มีการใช้บุคคลสำคัญ หรือบุคคลที่มีชื่อเสียงมาร่วมโฆษณาชักชวน มีการสร้างภาพว่าฟาร์มดังกล่าวได้รับรางวัล ทำให้ผู้เสียหายรายหลายหลงเชื่อ และนำเงินมาร่วมลงทุนเป็นจำนวนมาก

ซึ่งกลุ่มผู้ต้องหาไม่ได้มีการดำเนินการตามที่ชักชวนแต่อย่างใด กระทั่งเมื่อถึงกำหนดผู้ต้องหากับพวกอ้างเหตุขัดข้องต่าง ๆ ไม่สามารถจ่ายเงินผลตอบแทนได้ เป็นเหตุให้ประชาชนได้รับความเสียหายและมาแจ้งความร้องทุกข์ดำเนินคดีกับผู้ต้องหาตามกฎหมาย

คดีดังกล่าวพนักงานสอบสวน บก.สอท.3 ได้ดำเนินการสอบสวนสืบสวนและรวบรวมพยานหลักฐานมาโดยตลอด ได้ขออนุมัติศาลขอออกหมายจับผู้ต้องหากับพวก รวม 9 ราย ในข้อหา “ร่วมกันฉ้อโกงประชาชน, กู้ยืมเงินอันเป็นการฉ้อโกง และนําเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่ง ข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่บิดเบือน หรือปลอมไม่ว่าทั้งหมด หรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์ อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ประชาชน” ปัจจุบันสามารถจับกุมผู้ต้องหาได้ 7 ราย อยู่ระหว่างติดตามจับกุมตัวมาดำเนินคดี 2 ราย และที่ผ่านมาสามารถทำการตรวจยึดทรัพย์สิน และอายัดเงินในบัญชีที่เกี่ยวข้องได้เป็นจำนวนมาก

ต่อมาเมื่อ 3 ต.ค. 65 พนักงานสอบสวนได้สรุปสำนวนการสอบสวน ครั้งที่ 1 มีความเห็นสั่งฟ้องผู้ต้องหาไปยังพนักงานอัยการ โดยมีผู้เสียหาย 119 ราย ความเสียหาย 60 ล้านบาท และเมื่อ 22 ธ.ค.65 ได้สรุปสำนวนการสอบสวน ครั้งที่ 2 มีความเห็นสั่งฟ้องผู้ต้องหาไปยังพนักงานอัยการ มีผู้เสียหาย 1,001 ราย ความเสียหายกว่า 703 ล้านบาท ทั้งนี้ พนักงานสอบสวนอยู่ระหว่างสรุปสำนวนการสอบสวน ครั้งที่ 3 ปัจจุบันมีผู้เสียหายอีกกว่า 1,000 ราย ความเสียหายกว่า 1,000 ล้านบาท คาดว่าจะแล้วเสร็จสามารถส่งสำนวนการสอบสวนได้ภายในเดือน เม.ย. 66 เพื่อให้พนักงานอัยการพิจารณาดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป

โฆษก บช.สอท. กล่าวเพิ่มเติมว่า จากสถิติการรับแจ้งความออนไลน์ ความเสียหายจากการหลอกลวงให้ลงทุนนั้นอยู่ในลำดับที่ 1 ของความเสียหายจากการหลอกลวงทั้งหมด หรือคิดเป็นประมาณ 25% โดยส่วนใหญ่เงินลงทุนของประชาชนบางรายเป็นเงินเก็บก้อนสุดท้ายของชีวิต หรือบางรายต้องเอาทรัพย์สินไปจำนองเพื่อให้ได้เงินมาลงทุน ถือเป็นการซ้ำเติมความเดือดร้อนของประชาชน ฝากเตือนไปยังมิจฉาชีพที่ยังคงหลอกลวงประชาชนในลักษณะดังกล่าว ให้หยุดการกระทำนั้นเสีย เพราะท้ายที่สุดก็ต้องถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจติดตตามจับกุมมาดำเนินคดีทุกราย ไม่มีละเว้น อย่างไรก็ตาม ขอฝากเตือนประชาชนถึงแนวทางการลงทุนในรูปแบบต่าง ๆ ดังนี้

1.) ระมัดระวังอย่าหลงเชื่อการเชิญชวนในลักษณะดังกล่าว มักเป็นการหลอกลวงในรูปแบบของแชร์ลูกโซ่ ควรศึกษาทำความเข้าใจให้ดี ก่อนตัดสินใจลงทุน พิจารณาถึงความเสี่ยง และความน่าเชื่อถือของผู้ประกอบการ
2.) มิจฉาชีพมักหลอกลวงเหยื่อด้วยภาพลักษณ์ของธุรกิจที่ประสบความสำเร็จในเวลาอันรวดเร็ว เช่น ถ่ายภาพกับยานพาหนะหรู ที่พัก หรือของแบรนด์ต่าง ๆ
3.) ในระยะแรกเหยื่อจะได้รับผลตอบแทนจริง เพื่อชักจูงโน้มน้าวให้เพิ่มการลงทุน ภายหลังไม่ได้รับผลตอบแทนมิจฉาชีพหนีไปกับเงินลงทุนของเหยื่อ
4.) อย่าหลงเชื่อการลงทุนที่อ้างได้รับผลตอบแทนสูงเกินจริง ในเวลาอันรวดเร็ว
5.) หลีกเลี่ยงการโอนเงินให้ผู้อื่นซื้อขายหรือลงทุนแทน ควรลงทุนด้วยตนเอง
6.) ไม่มีการลงทุนใดที่การันตีผลตอบแทน
7.) ไม่รีบร้อน ตรวจสอบตัวตนบริษัทก่อนการลงทุน
8.) ไม่โอนเงินเข้าบัญชีบุคคลธรรมดา หรือบัญชีส่วนตัว ผู้ให้บริการที่ถูกต้องตามกฎหมายต้องใช้บัญชีธนาคารเป็นชื่อบริษัทของผู้ให้บริการเท่านั้น และต้องมีรายงานยืนยันผลการลงทุน
9.) หากได้รับความเสียหายในคดีลักษณะเดียวกันนี้ ให้รวบรวมพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้องเพื่อร้องทุกข์กับพนักงานสอบสวน เพื่อดำเนินการตามกฎหมายต่อไป