สิ่งที่ไทยต้องระวัง จากผลกระทบของอัตราแลกเปลี่ยน หากมองว่า ‘สหรัฐฯ’ ขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย เป็นเรื่องไกลตัว

(19 มี.ค. 66) นายพงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ ที่มหาวิทยาลัยเศรษฐศาสตร์ฮิโรชิมะ ประเทศญี่ปุ่น และอดีตปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ได้ให้มุมมองถึงผลกระทบต่อการขึ้นดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐฯ โดยเฉพาะประเทศไทยที่อาจต้องขี้นตาม ว่าเป็นเรื่องที่ใกล้ตัวพวกเราเกินคาด ผ่านรายการ ‘NAVY TIME เรื่องดี ๆ ประเทศไทยยามเช้า’ ออกอากาศช่วงเช้า เวลา 07.00- 08.00 น. ทางสถานีวิทยุเสียงจากทหารเรือวังนันทอุทยาน (ส.ทร.วังนันทอุทยาน) FM93 เมื่อวันที่ 19 มี.ค. 66 ระบุว่า...

ในวันนี้ หากมองไปถึงเรื่องการขึ้นดอกเบี้ยของสหรัฐฯ แล้ว ถือเป็นอีกเรื่องที่ไม่ได้ไกลตัวผู้คนอย่างที่คิด แล้วถ้าหากใครคิดว่าไทยจะไม่ได้รับผลกระทบ หากไม่ขึ้นดอกเบี้ยตามนั้น ผมคิดว่าคงไม่ใช่ เพราะในวันที่อเมริกาขึ้นดอกเบี้ยไปเยอะ แบงก์ชาติไทยก็มีแรงกดดันที่ต้องขึ้นดอกเบี้ยตามไปด้วย

คำถาม คือ หากไทยไม่ขึ้นดอกเบี้ยตาม จะเกิดอะไรขึ้น?
ปกติแล้ว แบงก์ชาติไทย มีกรอบอัตราเงินเฟ้อเหมือนแบงก์ชาติอเมริกา โดยเขาจะมีสิ่งที่ภาษาการเงินเรียกว่า Inflation Targeting เป็นกรอบเป้าเงินเฟ้อว่าต้องไม่ให้เกินเท่าไหร่ จึงจะชะลอการขึ้นดอกเบี้ย ซึ่งของอเมริกานั้น จะอยู่ที่ 2% ส่วนไทยอยู่ที่ 3% และหากเงินเฟ้อออกนอกกรอบ 3% เมื่อไหร่ สถานการณ์แบบนี้แบงก์ชาติของไทยก็มีโอกาสที่จะต้องขี้นดอกเบี้ย เพราะอันนี้คือ สัญญาประชาคมของแบงก์ชาติ ที่ให้ไว้กับประชาชนและรัฐบาล ว่าเขาจะคุมเงินเฟ้อให้ไม่เกิน 3% หากจะยังไม่ขึ้นดอกเบี้ย

ทว่าวันนี้ล่าสุดตัวเลขเงินเฟ้ออยู่ที่ 3.8-3.9% ก็เกินจากกรอบ 3% เพราะฉะนั้นแบงก์ชาติจะต้องถูกบังคับให้ขึ้นดอกเบี้ย เพื่อแก้ปัญหาเงินเฟ้อ ให้ดึงลงมาอยู่ในกรอบ 3% ที่สัญญาไว้กับประชาชน ถ้าผิดสัญญาถือว่าสอบตก

ดังนั้นในวันที่ระบบการเงินของไทย มีความเชื่อมต่อกันกับโลกพอสมควรนั้น จึงปฏิเสธได้ยากว่า ถ้าเกิดอัตราดอกเบี้ยของแต่ละชาติมันมีความต่างกันเยอะ มันจะสะเทือนไปสู่ปัญหาเรื่องอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราไปในตัว เช่น...

เมื่อประมาณ เดือนตุลาคม-พฤศจิกายนที่แล้ว ที่สหรัฐฯ ขึ้นดอกเบี้ยหนักๆ จนส่งผลทำให้เงินบาทอ่อนลงไป เป็น 38 บาท ต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐ แต่ปัจจุบันก็ตีกลับขึ้นมาแข็ง ประมาณ 34-35 บาท ต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐ

(อัตราแลกเปลี่ยนมีผลต่อเศรษฐกิจ โดยจะส่งผลดีต่อผู้ส่งออก และธุรกิจท่องเที่ยว แต่ผู้นำเข้า และผู้บริโภคก็จะรับภาระต้นทุนที่เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตามถ้าเงินบาทอ่อนค่าอย่างหนัก ก็ส่งผลให้ผู้ส่งออกอาจต้องแบกภาระต้นทุนสินค้าเพิ่มขึ้น และเศรษฐกิจอาจชะลอตัวเพราะต้นทุนค่าครองชีพเพิ่มขึ้น ฉะนั้นการอยู่ในเกณฑ์สมดุลในแง่ของอัตราการแลกเปลี่ยน จึงมีความสำคัญอย่างมาก)

เพราะฉะนั้นเรื่องนี้ จึงเป็นแรงกดดันหนึ่ง ซึ่งหากเราไม่ทำอะไรเลยกับดอกเบี้ย จนทำให้เงินอ่อนค่าลงไปมาก ๆ ก็จะคล้าย ๆ กับ ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งปัจจุบันทางธนาคารกลางญี่ปุ่นออกมาประกาศ ว่าญี่ปุ่นจะไม่ปรับดอกเบี้ย (ฮารุฮิโกะ คุโรดะ ผู้ว่าการธนาคารกลางญี่ปุ่น BOJ คนก่อน) ผลลัพธ์ คือ ค่าเงินเยนตอนนี้ถูกมาก!!

เทียบกับเงินบาทไทยแล้ว เมื่อก่อนเราต้องใช้ 30 บาทต่อ 100 เยน แต่วันนี้แค่ 25 บาทก็ได้ 100 เยนแล้ว ผลคือ เหมือนเราได้ซื้อสินค้าลดราคาทั้งประเทศญี่ปุ่นเลยก็ว่าได้ แล้วเราก็เลยเห็นคนไทยเลยแห่ไป Shopping ที่ญี่ปุ่นเยอะแยะไปหมด 

จุดนี้จึงให้เห็นชัดว่า เรื่องของการปรับเพิ่ม-ลดอัตราดอกเบี้ย มีผลต่อชีวิตใกล้ตัวเราๆ ท่านๆ เช่น อัตราแลกเปลี่ยน ที่ได้ยกตัวอย่างไปเมื่อครู่ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ฟังดูเหมือนเรื่องที่อยู่ไกลตัว แต่ในที่สุดมันก็มีผลกระทบต่อเราโดยตรงไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง…