‘พงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์’ ถอดบทเรียนอวสาน Silicon Valley Bank  โอกาส ‘โดมิโนเอฟเฟกต์’ เป็นไปได้แค่ไหน?

จากกรณี สหรัฐอเมริกา สั่งปิดกิจการ Silicon Valley Bank (SVB) ซึ่งเป็นธนาคารขนาดใหญ่อันดับที่ 16 ของประเทศสหรัฐอเมริกา โดยมีสินทรัพย์ประมาณ 200,000 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นเงินไทยประมาณ 7 ล้านล้านบาท เกิดปัญหาสภาพคล่องทางการเงิน ทำให้ลูกค้าเจ้าของบัญชีแห่ถอนเงิน จนทางการต้องสั่งปิดกิจการ และให้ Federal Deposit Insurance Corporation (FDIC) ซึ่งเป็นสถาบันที่ให้ประกันเงินฝากจากความล้มเหลวของธนาคาร มาเป็นผู้ดูแลสินทรัพย์ของ SVB โดยจะขายสินทรัพย์ของธนาคารเพื่อจ่ายเงินคืนให้แก่ผู้ฝากเงินและเจ้าหนี้ธนาคาร จากกระแสข่าวดังกล่าวสร้างความตื่นตัวให้กับภาคเศรษฐกิจ การเงิน การธนาคารของไทย รวมถึงคำถามจากประชาชนผู้ฝากเงินกับธนาคารในประเทศไทยว่าจะเกิดเหตุการณ์เช่นนี้ได้หรือไม่ 

ทีมข่าว THE STATES TIMES ได้สัมภาษณ์ คุณพงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ อดีตรองปลัดกระทรวงการคลัง ถึงกรณีดังกล่าวว่าจะมีผลกระทบวงกว้างต่อโลกและประเทศไทยแค่ไหน โดยกล่าวว่า “SVB เริ่มมีฐานะการเงินเลวร้ายลง โดยเฉพาะในช่วงที่อัตราดอกเบี้ยสหรัฐฯ ปรับขึ้น SVB จึงพยายามที่จะเพิ่มทุนจดทะเบียน ประมาณ 2.5 พันล้านเหรียญสหรัฐ เพื่อให้มีชีวิตอยู่ต่อได้ แต่ก็ไม่สามารถเพิ่มทุนได้  ทำให้แผนการเพิ่มทุนจึงล้มไป ส่งผลให้หุ้น SVB ตกต่ำลงอย่างมาก ลดลง 60% ในครั้งแรก และลดลงอีก 70%” 

ส่วนสาเหตุที่ SVB ถูกปิดกิจการนั้น คุณพงษ์ภาณุ กล่าวว่า “SVB ทำหน้าที่เป็นนายธนาคารของธุรกิจ Startup ในสหรัฐอเมริกา ย่าน Silicon Valley ซึ่งเป็นย่านธุรกิจไฮเทค โดย SVB ปล่อยสินเชื่อให้กับธุรกิจเหล่านี้ ซึ่งเป็นธุรกิจที่มีความเสี่ยงสูง ธนาคารทั่วไปจะไม่ปล่อย เพราะธุรกิจ Startup ไม่มีทรัพย์สินเพียงพอที่จะมาวางเป็นหลักประกันเงินกู้ให้แบงก์ โดย Silicon Valley ในช่วงที่ผ่านมาก่อนดอกเบี้ยจะปรับขึ้น มีธุรกิจที่ขยายตัวเร็วมาก มีเงินฝากเพิ่มและปล่อยสินเชื่อเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมาก อย่างไรก็ตาม เงินฝากเพิ่มขึ้นมากกว่าสินเชื่อ เพราะตอนนั้นสภาพคล่องในธุรกิจไฮเทค ค่อนข้างสูง เกิด Mix & Match ระหว่างเงินฝากกับสินเชื่อ สภาพคล่องที่มีมากเกินไปโดยนำไปลงทุนในพันธบัตรรัฐบาล ถึง 2 ใน 3 ของสินทรัพย์ที่แบงก์มีอยู่ ปล่อยเป็นสินเชื่อเพียง 1 ใน 3 ซึ่งเป็นสถานะของแบงก์ SVB ในช่วงก่อนที่จะเกิดวิกฤต

“พอปี 2022 โลกเกิดการเปลี่ยนแปลง ธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) ได้ขึ้นดอกเบี้ยอย่างรวดเร็ว เพื่อต่อต้านเงินเฟ้อที่เกิดในสหรัฐอเมริกาอย่างไม่มีทางเลือก เพราะต้องควบคุมเงินเฟ้อตามที่วางเป้าหมายไว้ เมื่อดอกเบี้ยในสหรัฐอเมริกาเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว พันธบัตรที่ธนาคาร SVB ลงทุนไป ตอนเริ่มลงทุนรัฐบาลสหรัฐฯ ดอกเบี้ยต่ำ ราคาพันธบัตรแพง เมื่อดอกเบี้ยขึ้น ราคาพันธบัตรก็ลดลง แม้ว่าพันธบัตรรัฐบาลจะไม่มีความเสี่ยงทางด้านเครดิต แต่อย่างไรก็ตามมีความเสี่ยงทางด้านดอกเบี้ย ถ้าดอกเบี้ยขึ้นแรง ก็จะทำให้ราคาพันธบัตรลดลง พอ SVB เริ่มมีปัญหา จึงจำเป็นต้องขายพันธบัตรนี้ออกไป เพื่อนำเงินมาใช้จุนเจือสภาพคล่องของตัวเองโดยขายพันธบัตรราคาถูก ทำให้ SVB ขาดทุนจำนวนมาก ถึง 2,000 ล้านเหรียญสหรัฐ จึงพยายามเพิ่มทุนโดยเสนอ FDIC ปรากฏว่าเพิ่มทุนไม่สำเร็จ จึงเป็นที่มาของการปิดกิจการ ไม่สามารถชำระคืนเงินผู้ฝากได้ โดยสรุปแล้ว SVB ประสบปัญหาขาดทุนจากการลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลซึ่งมีความเสี่ยงด้านอัตราดอกเบี้ย”

เมื่อถามถึงความกังวลในระดับโลกว่ามีโอกาสเกิดโดมิโนหรือวิกฤติเศรษฐกิจรอบใหม่หรือไม่? คุณพงษ์ภาณุ กล่าวว่า “ไม่น่าจะมีโอกาสสูงนัก แต่ไม่ใช่ว่าจะไม่มีโอกาส SVB เป็นแบงก์ที่ปล่อยสินเชื่อน้อย ลงทุนตราสารการเงินค่อนข้างเยอะ แบงก์โดยทั่วไป ถ้าดูงบดุลแบงก์ ทางด้านหนี้สินแบงก์มีเงินฝากจากประชาชนเข้ามา แล้วนำเงินฝากไปปล่อยสินเชื่อให้กับธุรกิจ ไปปล่อยลงทุนในหลักทรัพย์ ซึ่ง SVB ปล่อยสินเชื่อน้อย ลงทุนเยอะ แต่แบงก์อื่นๆในสหรัฐอเมริกาจะปล่อยสินเชื่อมากกว่าลงทุน เพราะฉะนั้นสินเชื่อสามารถปรับดอกเบี้ยให้ขึ้นได้ ถ้าเกิดลงทุนในหลักทรัพย์ที่เป็น FIXED INCOME ดอกเบี้ยไม่ขึ้น แต่ถ้าเป็นพันธบัตรระยะยาว ดอกเบี้ยคงที่ เพราะฉะนั้นราคาจึงต้องปรับตัวลดลง แบงก์ส่วนใหญ่ในสหรัฐอเมริกา เป็นแบงก์ที่ปล่อยสินเชื่อ สามารถมีความยืดหยุ่นได้มากกว่า SVB เป็นสิ่งที่คิดว่าไม่น่าจะเกิดเหตุการณ์นี้ลุกลามไปยังแบงก์อื่นๆ อาจจะจำกัดอยู่แค่แบงก์ SVB” 

เมื่อถามว่า ประเทศไทยควรถอดบทเรียนจากกรณีข้างต้นเพื่อรับมือได้อย่างไร? คุณพงษ์ภาณุ กล่าวว่า “ประเทศไทยหนีไม่พ้นกับการที่ดอกเบี้ยปรับขึ้น จากที่เป็นดอกเบี้ยขาขึ้น ประเทศไทยมีหนี้ครัวเรือนประมาณ 90% ของ GDP หนี้ของประชาชน หนี้ของครัวเรือนสูง ดอกเบี้ยขึ้นเมื่อไหร่ หนี้เหล่านี้ก็พร้อมที่จะเป็นหนี้เสียได้ทุกเมื่อ ในขณะที่หนี้รัฐบาล ซึ่งอยู่ในรูปของพันธบัตรรัฐบาล ก็มีอยู่มากพอสมควร ปัจจุบัน 60% ของ GDP โดยหนี้ส่วนใหญ่ถูกถือโดยสถาบันการเงิน เมื่อดอกเบี้ยขึ้น สถาบันการเงินจะต้องปรับราคาของพันธบัตรเหล่านี้ แม้จะไม่มีความเสี่ยงกับเครดิตเหล่านี้ แต่มีความเสี่ยงทางด้านอัตราดอกเบี้ยอยู่ เพราะฉะนั้น สิ่งที่จะต้องใช้เป็นบทเรียน คือ การปรับดอกเบี้ยขึ้นมีผลกระทบอย่างกว้างขวาง ไม่ใช่ในภาคธุรกิจจริงเท่านั้น แต่สถาบันการเงินซึ่งเป็นผู้ลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลจำนวนมาก จะต้องบริหารจัดการความเสี่ยงนี้อย่างเต็มที่ 

ตอนนี้ โชคดีที่ดอกเบี้ยของไทย ยังปรับขึ้นไม่มากนัก และ…

1.ธนาคารแห่งประเทศไทย ก็ไม่ควรขึ้นดอกเบี้ยไปมากกว่านี้ เพราะว่าจะมีผลกระทบต่อสถาบันการเงิน
2.ควรจะปล่อยให้เงินบาทอ่อนค่า ที่ผ่านมาแบงก์ชาติขึ้นดอกเบี้ยตามสหรัฐอเมริกา หากไม่ขึ้น ค่าเงินก็จะอ่อนตัว เงินเฟ้อก็อาจจะถีบตัวสูงขึ้น

“ปัจจุบัน เงินบาทอยู่ที่ 34.8 บาทต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐ เราเคยอ่อนไปถึง 38 บาทในช่วงปลายปีที่แล้ว วันนี้ ปล่อยให้เงินบาทอ่อนไป อย่าไปขึ้นดอกเบี้ยตามสหรัฐอเมริกา ผมคิดว่าเงินบาทอ่อนเป็นผลดีต่อการส่งออกของประเทศไทย เป็นผลดีต่อการดึงนักท่องเที่ยวเข้ามาเที่ยวประเทศไทยมากขึ้น ส่วนเงินเฟ้อ ปีที่แล้วประเทศไทยมีแนวโน้มค่อนข้างสูง ประมาณ 6% กว่าๆ สูงที่สุดในอาเซียน แต่ตอนนี้อัตราเงินเฟ้อชะลอลงเหลือ 3.8% ในเดือนกุมภาพันธ์ 2566 ที่ผ่านมา และมีแนวโน้มจะชะลอลงเรื่อยๆ ในจุดนี้แบงก์ชาติไม่ต้องกังวลในภาวะเงินเฟ้อมากเกินไป ปัจจุบันกรอบเงินเฟ้ออยู่ที่ 0-3% เราจะไม่ยอมให้เงินเฟ้อปรับขึ้นเกิน 3% จะใช้ดอกเบี้ยเข้ามาแก้ไข คิดว่าตรงนี้เป็นไปได้ที่แบงก์ชาติจะปรับกรอบเงินเฟ้อขึ้นไปอีกนิดนึง เพื่อจะได้ไม่ต้องใช้นโยบายดอกเบี้ยสูงเข้ามาทำให้เศรษฐกิจหรือสถาบันการเงินมีปัญหา ปรับขึ้นไปประมาณ 4%-5% คิดว่าประชาชนน่าจะยอมรับได้”

ส่วนที่ประชาชนเริ่มมีความกังวลในสถาบันการเงินไทย คุณพงษ์ภาณุ กล่าวว่า “สถานการณ์ในเมืองไทยยังคงแตกต่างจากสถานการณ์ในสหรัฐอเมริกา ดอกเบี้ยไทยยังไม่ได้ขึ้นไปสูงมาก แต่มีแนวโน้มที่จะปรับขึ้น ต้องฝากแบงก์ชาติให้ชะลอการปรับอัตราดอกเบี้ย อย่ากังวลเรื่องค่าเงินบาท อย่ากังวลเรื่องเงินเฟ้อมากจนเกินไป  ธนาคารไทยส่วนใหญ่ผมคิดว่ามีฐานะการเงินที่เข้มแข็งมากขึ้น สามารถทนทานต่อการเปลี่ยนแปลงในระบบการเงินอย่างมาก ผมยืนยันกับประชาชนว่า สถาบันการเงินไทยมีความเข้มแข็ง แต่ก็ประมาทไม่ได้”


เรื่อง: วสันต์ มนต์ประเสริฐ Content Manager