Saturday, 27 April 2024
SiliconValleyBank

อุบัติเหตุทางเศรษฐกิจ 2 กูรู ศก.ไทย เชื่อ!! กรณีแบงก์ SVB ล้ม ไม่ส่งผลกระทบรุนแรงต่อ ‘โลก-ไทย’

หลังจากที่รัฐบาลสหรัฐอเมริกาสั่งปิดธนาคาร Silicon Valley Bank (SVB) และเข้าควบคุมอุ้มแบบทันทีทันใด เพราะเกรงว่าจะเกิดวิกฤติโดมิโนต่อธนาคารอื่นๆ (ซึ่งเริ่มมีหลายแบงก์ที่ถูกสหรัฐฯ สั่งปิดอีกมาเป็นระลอก) ภายหลัง SVB ประสบภาวะล้มละลาย จากปัญหาวิกฤตสภาพคล่องของกลุ่มธุรกิจเงินร่วมลงทุน (Venture Capital) และ Startup นั้น ก็พลันให้ทั่วโลกตระหนกหวั่นสถานการณ์ดังกล่าวจะซ้ำรอยวิกฤติซับไพรม์ 2008 หรือไม่?

เกี่ยวกับเรื่องนี้ ดร.พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ KKP ได้วิเคราะห์ปมปัญหาและผลกระทบกับ THE STATES TIMES ว่า... “การที่ธนาคาร Silicon Valley Bank ซึ่งเป็นผู้ปล่อยกู้ให้กับกลุ่ม Venture Capital และ Startup ได้เข้าสู่ภาวะล้มละลาย เนื่องจากเพิ่มทุนไม่สำเร็จ ส่งผลให้หุ้นของบริษัทร่วง และฉุดหุ้นธนาคารอื่นๆ ร่วงลงไปด้วย ทำให้หน่วยงานกำกับดูแลของรัฐแคลิฟอร์เนียได้สั่งปิดกิจการ Silicon Valley Bank และให้อยู่ภายใต้การควบคุมของ US Federal Deposit Insurance Corporation (FDIC) อย่างรวดเร็วในช่วงวันศุกร์ที่ผ่านมา (10) โดย FDIC จะทำหน้าที่ชำระสินทรัพย์ของธนาคารเพื่อชำระคืนลูกค้า ซึ่งรวมถึงผู้ฝากเงินและเจ้าหนี้

“ทว่าสิ่งที่น่าสนใจในทัศนะของ ดร.พิพัฒน์ ก็คือ Silicon Valley Bank เป็นธนาคารที่ได้ชื่อว่าค่อนข้างระมัดระวังในการบริหาร มีสินทรัพย์สภาพคล่องอยู่ค่อนข้างมาก โดยครึ่งหนึ่งของสินทรัพย์เป็นการลงทุนในตราสารหนี้ ขณะที่ NPL หรือหนี้เสีย ก็ค่อนข้างต่ำมาก (ต่ำกว่า 1%) และปัญหาที่เกิดขึ้นไม่ได้เกิดจากคุณภาพสินทรัพย์แบบปัญหาธนาคารอื่นๆ แต่ปัญหาที่เกิดขึ้น เกิดมาจากการที่ ‘เงินฝากเริ่มลดลง’ หรือ ‘โตช้า’ เพราะเงินร่วมลงทุนเริ่มหายาก และบริษัท Startup ซึ่งเป็นลูกค้าของธนาคาร เริ่มมีน้อยลง ทำให้มีปัญหาสภาพคล่อง จนต้องเริ่มขายสินทรัพย์ เช่น ตราสารหนี้ออกมา 

“แต่ปัญหาใหญ่ อยู่ที่เจ้าตราสารหนี้เหล่านี้ ได้รับผลกระทบจากอัตราดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นในช่วงที่ผ่านมา พอธนาคารขายตราสารหนี้เหล่านี้ออกมาในเวลาที่ยังขาดทุนอยู่ ทำให้ต้องบันทึกการขาดทุนผ่าน Income Statement และนั่นก็พาให้อัตราส่วนทุนของธนาคาร ได้รับผลกระทบตามไปด้วย จนทำให้ธนาคารต้องเร่งเพิ่มทุนอย่างที่เห็น”

คำถาม คือ “ปัญหาแบบนี้จะเกิดขึ้นกับธนาคารอื่นๆอีกหรือไม่?” 
ดร.พิพัฒน์ กล่าวต่อว่า “ปัญหาที่เกิดขึ้น อาจจะเรียกได้ว่าเป็นปัญหาสภาพคล่องล้วนๆ และไม่คิดว่าประเด็นนี้จะกลายเป็นปัญหาเชิงระบบ และธนาคารใหญ่ๆ คงไม่ได้มีปัญหาอะไรขนาดนี้ แต่ก็มีโอกาสเกิดขึ้นได้กับธนาคารอื่นๆ ที่มีวิกฤตศรัทธา แต่ก็ต้องจับตากันดีๆ ครับ เพราะภาวะแบบนี้อะไรก็เกิดขึ้นได้”

อีกทัศนะหนึ่งจาก รศ.ดร.ธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เกี่ยวกับกรณี SVB ล้มในครั้งนี้ ก็ได้เปิดเผยกับ THE STATES TIMES ว่า สาเหตุหลักๆ ที่ทำให้   Silicon Valley Bank คือขาดสภาพคล่อง ซึ่งมาจาก 3 สาเหตุสำคัญ ได้แก่…

1. ผู้ฝากเงินขาดความมั่นใจ ต่อให้แบงก์มีความมั่นคงแค่ไหน แต่ถ้ามีคนแห่ไปถอนเงิน แบงก์ก็จะเจอปัญหา
2. หมวดของค่าใช้จ่ายสูงขึ้น เพราะอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐอเมริกาเพิ่มสูงขึ้นถึง 4% จึงทำให้ต้นทุนเงินฝากสูงขึ้น
3. รายรับ ที่มีปัญหาในปัจจุบัน

“เหตุการณ์ SVB ล้มละลาย ต้องมองเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกา เป็นตัวตั้งก่อนว่า การที่แบงก์ล้มแบบนี้ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในระดับที่ถดถอยรุนแรงหรือไม่? ซึ่งหากเรามองดูในจุดแรก SVB มี Asset (ทรัพย์สิน) อยู่ที่ 2แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ ประมาณ 0.1% ของGDP สหรัฐฯ ซึ่งอยู่ที่ประมาณ26ล้านล้านดอลลาร์ หรือก็คือ สเกลยังต่ำ และเครือข่ายของแบงก์ไม่ได้กว้างขวาง รวมถึง SVB ยังลงทุนในธุรกรรมที่เป็นปกติ ไม่ได้มีความเสี่ยงด้วย”

‘พงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์’ ถอดบทเรียนอวสาน Silicon Valley Bank  โอกาส ‘โดมิโนเอฟเฟกต์’ เป็นไปได้แค่ไหน?

จากกรณี สหรัฐอเมริกา สั่งปิดกิจการ Silicon Valley Bank (SVB) ซึ่งเป็นธนาคารขนาดใหญ่อันดับที่ 16 ของประเทศสหรัฐอเมริกา โดยมีสินทรัพย์ประมาณ 200,000 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นเงินไทยประมาณ 7 ล้านล้านบาท เกิดปัญหาสภาพคล่องทางการเงิน ทำให้ลูกค้าเจ้าของบัญชีแห่ถอนเงิน จนทางการต้องสั่งปิดกิจการ และให้ Federal Deposit Insurance Corporation (FDIC) ซึ่งเป็นสถาบันที่ให้ประกันเงินฝากจากความล้มเหลวของธนาคาร มาเป็นผู้ดูแลสินทรัพย์ของ SVB โดยจะขายสินทรัพย์ของธนาคารเพื่อจ่ายเงินคืนให้แก่ผู้ฝากเงินและเจ้าหนี้ธนาคาร จากกระแสข่าวดังกล่าวสร้างความตื่นตัวให้กับภาคเศรษฐกิจ การเงิน การธนาคารของไทย รวมถึงคำถามจากประชาชนผู้ฝากเงินกับธนาคารในประเทศไทยว่าจะเกิดเหตุการณ์เช่นนี้ได้หรือไม่ 

ทีมข่าว THE STATES TIMES ได้สัมภาษณ์ คุณพงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ อดีตรองปลัดกระทรวงการคลัง ถึงกรณีดังกล่าวว่าจะมีผลกระทบวงกว้างต่อโลกและประเทศไทยแค่ไหน โดยกล่าวว่า “SVB เริ่มมีฐานะการเงินเลวร้ายลง โดยเฉพาะในช่วงที่อัตราดอกเบี้ยสหรัฐฯ ปรับขึ้น SVB จึงพยายามที่จะเพิ่มทุนจดทะเบียน ประมาณ 2.5 พันล้านเหรียญสหรัฐ เพื่อให้มีชีวิตอยู่ต่อได้ แต่ก็ไม่สามารถเพิ่มทุนได้  ทำให้แผนการเพิ่มทุนจึงล้มไป ส่งผลให้หุ้น SVB ตกต่ำลงอย่างมาก ลดลง 60% ในครั้งแรก และลดลงอีก 70%” 

ส่วนสาเหตุที่ SVB ถูกปิดกิจการนั้น คุณพงษ์ภาณุ กล่าวว่า “SVB ทำหน้าที่เป็นนายธนาคารของธุรกิจ Startup ในสหรัฐอเมริกา ย่าน Silicon Valley ซึ่งเป็นย่านธุรกิจไฮเทค โดย SVB ปล่อยสินเชื่อให้กับธุรกิจเหล่านี้ ซึ่งเป็นธุรกิจที่มีความเสี่ยงสูง ธนาคารทั่วไปจะไม่ปล่อย เพราะธุรกิจ Startup ไม่มีทรัพย์สินเพียงพอที่จะมาวางเป็นหลักประกันเงินกู้ให้แบงก์ โดย Silicon Valley ในช่วงที่ผ่านมาก่อนดอกเบี้ยจะปรับขึ้น มีธุรกิจที่ขยายตัวเร็วมาก มีเงินฝากเพิ่มและปล่อยสินเชื่อเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมาก อย่างไรก็ตาม เงินฝากเพิ่มขึ้นมากกว่าสินเชื่อ เพราะตอนนั้นสภาพคล่องในธุรกิจไฮเทค ค่อนข้างสูง เกิด Mix & Match ระหว่างเงินฝากกับสินเชื่อ สภาพคล่องที่มีมากเกินไปโดยนำไปลงทุนในพันธบัตรรัฐบาล ถึง 2 ใน 3 ของสินทรัพย์ที่แบงก์มีอยู่ ปล่อยเป็นสินเชื่อเพียง 1 ใน 3 ซึ่งเป็นสถานะของแบงก์ SVB ในช่วงก่อนที่จะเกิดวิกฤต

“พอปี 2022 โลกเกิดการเปลี่ยนแปลง ธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) ได้ขึ้นดอกเบี้ยอย่างรวดเร็ว เพื่อต่อต้านเงินเฟ้อที่เกิดในสหรัฐอเมริกาอย่างไม่มีทางเลือก เพราะต้องควบคุมเงินเฟ้อตามที่วางเป้าหมายไว้ เมื่อดอกเบี้ยในสหรัฐอเมริกาเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว พันธบัตรที่ธนาคาร SVB ลงทุนไป ตอนเริ่มลงทุนรัฐบาลสหรัฐฯ ดอกเบี้ยต่ำ ราคาพันธบัตรแพง เมื่อดอกเบี้ยขึ้น ราคาพันธบัตรก็ลดลง แม้ว่าพันธบัตรรัฐบาลจะไม่มีความเสี่ยงทางด้านเครดิต แต่อย่างไรก็ตามมีความเสี่ยงทางด้านดอกเบี้ย ถ้าดอกเบี้ยขึ้นแรง ก็จะทำให้ราคาพันธบัตรลดลง พอ SVB เริ่มมีปัญหา จึงจำเป็นต้องขายพันธบัตรนี้ออกไป เพื่อนำเงินมาใช้จุนเจือสภาพคล่องของตัวเองโดยขายพันธบัตรราคาถูก ทำให้ SVB ขาดทุนจำนวนมาก ถึง 2,000 ล้านเหรียญสหรัฐ จึงพยายามเพิ่มทุนโดยเสนอ FDIC ปรากฏว่าเพิ่มทุนไม่สำเร็จ จึงเป็นที่มาของการปิดกิจการ ไม่สามารถชำระคืนเงินผู้ฝากได้ โดยสรุปแล้ว SVB ประสบปัญหาขาดทุนจากการลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลซึ่งมีความเสี่ยงด้านอัตราดอกเบี้ย”

เมื่อถามถึงความกังวลในระดับโลกว่ามีโอกาสเกิดโดมิโนหรือวิกฤติเศรษฐกิจรอบใหม่หรือไม่? คุณพงษ์ภาณุ กล่าวว่า “ไม่น่าจะมีโอกาสสูงนัก แต่ไม่ใช่ว่าจะไม่มีโอกาส SVB เป็นแบงก์ที่ปล่อยสินเชื่อน้อย ลงทุนตราสารการเงินค่อนข้างเยอะ แบงก์โดยทั่วไป ถ้าดูงบดุลแบงก์ ทางด้านหนี้สินแบงก์มีเงินฝากจากประชาชนเข้ามา แล้วนำเงินฝากไปปล่อยสินเชื่อให้กับธุรกิจ ไปปล่อยลงทุนในหลักทรัพย์ ซึ่ง SVB ปล่อยสินเชื่อน้อย ลงทุนเยอะ แต่แบงก์อื่นๆในสหรัฐอเมริกาจะปล่อยสินเชื่อมากกว่าลงทุน เพราะฉะนั้นสินเชื่อสามารถปรับดอกเบี้ยให้ขึ้นได้ ถ้าเกิดลงทุนในหลักทรัพย์ที่เป็น FIXED INCOME ดอกเบี้ยไม่ขึ้น แต่ถ้าเป็นพันธบัตรระยะยาว ดอกเบี้ยคงที่ เพราะฉะนั้นราคาจึงต้องปรับตัวลดลง แบงก์ส่วนใหญ่ในสหรัฐอเมริกา เป็นแบงก์ที่ปล่อยสินเชื่อ สามารถมีความยืดหยุ่นได้มากกว่า SVB เป็นสิ่งที่คิดว่าไม่น่าจะเกิดเหตุการณ์นี้ลุกลามไปยังแบงก์อื่นๆ อาจจะจำกัดอยู่แค่แบงก์ SVB” 

เมื่อถามว่า ประเทศไทยควรถอดบทเรียนจากกรณีข้างต้นเพื่อรับมือได้อย่างไร? คุณพงษ์ภาณุ กล่าวว่า “ประเทศไทยหนีไม่พ้นกับการที่ดอกเบี้ยปรับขึ้น จากที่เป็นดอกเบี้ยขาขึ้น ประเทศไทยมีหนี้ครัวเรือนประมาณ 90% ของ GDP หนี้ของประชาชน หนี้ของครัวเรือนสูง ดอกเบี้ยขึ้นเมื่อไหร่ หนี้เหล่านี้ก็พร้อมที่จะเป็นหนี้เสียได้ทุกเมื่อ ในขณะที่หนี้รัฐบาล ซึ่งอยู่ในรูปของพันธบัตรรัฐบาล ก็มีอยู่มากพอสมควร ปัจจุบัน 60% ของ GDP โดยหนี้ส่วนใหญ่ถูกถือโดยสถาบันการเงิน เมื่อดอกเบี้ยขึ้น สถาบันการเงินจะต้องปรับราคาของพันธบัตรเหล่านี้ แม้จะไม่มีความเสี่ยงกับเครดิตเหล่านี้ แต่มีความเสี่ยงทางด้านอัตราดอกเบี้ยอยู่ เพราะฉะนั้น สิ่งที่จะต้องใช้เป็นบทเรียน คือ การปรับดอกเบี้ยขึ้นมีผลกระทบอย่างกว้างขวาง ไม่ใช่ในภาคธุรกิจจริงเท่านั้น แต่สถาบันการเงินซึ่งเป็นผู้ลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลจำนวนมาก จะต้องบริหารจัดการความเสี่ยงนี้อย่างเต็มที่ 


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top