อุบัติเหตุทางเศรษฐกิจ 2 กูรู ศก.ไทย เชื่อ!! กรณีแบงก์ SVB ล้ม ไม่ส่งผลกระทบรุนแรงต่อ ‘โลก-ไทย’

หลังจากที่รัฐบาลสหรัฐอเมริกาสั่งปิดธนาคาร Silicon Valley Bank (SVB) และเข้าควบคุมอุ้มแบบทันทีทันใด เพราะเกรงว่าจะเกิดวิกฤติโดมิโนต่อธนาคารอื่นๆ (ซึ่งเริ่มมีหลายแบงก์ที่ถูกสหรัฐฯ สั่งปิดอีกมาเป็นระลอก) ภายหลัง SVB ประสบภาวะล้มละลาย จากปัญหาวิกฤตสภาพคล่องของกลุ่มธุรกิจเงินร่วมลงทุน (Venture Capital) และ Startup นั้น ก็พลันให้ทั่วโลกตระหนกหวั่นสถานการณ์ดังกล่าวจะซ้ำรอยวิกฤติซับไพรม์ 2008 หรือไม่?

เกี่ยวกับเรื่องนี้ ดร.พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ KKP ได้วิเคราะห์ปมปัญหาและผลกระทบกับ THE STATES TIMES ว่า... “การที่ธนาคาร Silicon Valley Bank ซึ่งเป็นผู้ปล่อยกู้ให้กับกลุ่ม Venture Capital และ Startup ได้เข้าสู่ภาวะล้มละลาย เนื่องจากเพิ่มทุนไม่สำเร็จ ส่งผลให้หุ้นของบริษัทร่วง และฉุดหุ้นธนาคารอื่นๆ ร่วงลงไปด้วย ทำให้หน่วยงานกำกับดูแลของรัฐแคลิฟอร์เนียได้สั่งปิดกิจการ Silicon Valley Bank และให้อยู่ภายใต้การควบคุมของ US Federal Deposit Insurance Corporation (FDIC) อย่างรวดเร็วในช่วงวันศุกร์ที่ผ่านมา (10) โดย FDIC จะทำหน้าที่ชำระสินทรัพย์ของธนาคารเพื่อชำระคืนลูกค้า ซึ่งรวมถึงผู้ฝากเงินและเจ้าหนี้

“ทว่าสิ่งที่น่าสนใจในทัศนะของ ดร.พิพัฒน์ ก็คือ Silicon Valley Bank เป็นธนาคารที่ได้ชื่อว่าค่อนข้างระมัดระวังในการบริหาร มีสินทรัพย์สภาพคล่องอยู่ค่อนข้างมาก โดยครึ่งหนึ่งของสินทรัพย์เป็นการลงทุนในตราสารหนี้ ขณะที่ NPL หรือหนี้เสีย ก็ค่อนข้างต่ำมาก (ต่ำกว่า 1%) และปัญหาที่เกิดขึ้นไม่ได้เกิดจากคุณภาพสินทรัพย์แบบปัญหาธนาคารอื่นๆ แต่ปัญหาที่เกิดขึ้น เกิดมาจากการที่ ‘เงินฝากเริ่มลดลง’ หรือ ‘โตช้า’ เพราะเงินร่วมลงทุนเริ่มหายาก และบริษัท Startup ซึ่งเป็นลูกค้าของธนาคาร เริ่มมีน้อยลง ทำให้มีปัญหาสภาพคล่อง จนต้องเริ่มขายสินทรัพย์ เช่น ตราสารหนี้ออกมา 

“แต่ปัญหาใหญ่ อยู่ที่เจ้าตราสารหนี้เหล่านี้ ได้รับผลกระทบจากอัตราดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นในช่วงที่ผ่านมา พอธนาคารขายตราสารหนี้เหล่านี้ออกมาในเวลาที่ยังขาดทุนอยู่ ทำให้ต้องบันทึกการขาดทุนผ่าน Income Statement และนั่นก็พาให้อัตราส่วนทุนของธนาคาร ได้รับผลกระทบตามไปด้วย จนทำให้ธนาคารต้องเร่งเพิ่มทุนอย่างที่เห็น”

คำถาม คือ “ปัญหาแบบนี้จะเกิดขึ้นกับธนาคารอื่นๆอีกหรือไม่?” 
ดร.พิพัฒน์ กล่าวต่อว่า “ปัญหาที่เกิดขึ้น อาจจะเรียกได้ว่าเป็นปัญหาสภาพคล่องล้วนๆ และไม่คิดว่าประเด็นนี้จะกลายเป็นปัญหาเชิงระบบ และธนาคารใหญ่ๆ คงไม่ได้มีปัญหาอะไรขนาดนี้ แต่ก็มีโอกาสเกิดขึ้นได้กับธนาคารอื่นๆ ที่มีวิกฤตศรัทธา แต่ก็ต้องจับตากันดีๆ ครับ เพราะภาวะแบบนี้อะไรก็เกิดขึ้นได้”

อีกทัศนะหนึ่งจาก รศ.ดร.ธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เกี่ยวกับกรณี SVB ล้มในครั้งนี้ ก็ได้เปิดเผยกับ THE STATES TIMES ว่า สาเหตุหลักๆ ที่ทำให้   Silicon Valley Bank คือขาดสภาพคล่อง ซึ่งมาจาก 3 สาเหตุสำคัญ ได้แก่…

1. ผู้ฝากเงินขาดความมั่นใจ ต่อให้แบงก์มีความมั่นคงแค่ไหน แต่ถ้ามีคนแห่ไปถอนเงิน แบงก์ก็จะเจอปัญหา
2. หมวดของค่าใช้จ่ายสูงขึ้น เพราะอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐอเมริกาเพิ่มสูงขึ้นถึง 4% จึงทำให้ต้นทุนเงินฝากสูงขึ้น
3. รายรับ ที่มีปัญหาในปัจจุบัน

“เหตุการณ์ SVB ล้มละลาย ต้องมองเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกา เป็นตัวตั้งก่อนว่า การที่แบงก์ล้มแบบนี้ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในระดับที่ถดถอยรุนแรงหรือไม่? ซึ่งหากเรามองดูในจุดแรก SVB มี Asset (ทรัพย์สิน) อยู่ที่ 2แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ ประมาณ 0.1% ของGDP สหรัฐฯ ซึ่งอยู่ที่ประมาณ26ล้านล้านดอลลาร์ หรือก็คือ สเกลยังต่ำ และเครือข่ายของแบงก์ไม่ได้กว้างขวาง รวมถึง SVB ยังลงทุนในธุรกรรมที่เป็นปกติ ไม่ได้มีความเสี่ยงด้วย”

ดังนั้น สิ่งที่เกิดขึ้นกับ SVB ในมุมของ รศ.ดร.ธนวรรธน์ นั้น จึงถือว่าเป็นเพียงแค่ ‘อุบัติเหตุทางเศรษฐกิจ’ ที่สภาพคล่องทางการเงินสะดุด จึงทำให้เกิดการขาดทุนระยะสั้น ขาดสภาพคล่องชั่วคราว เมื่อรัฐบาลสหรัฐฯ เข้ามาดูแลและสร้างความมั่นใจต่อผู้มีเงินฝาก เหตุการณ์นี้จึงไม่ใช่เรื่องน่าตกใจของตลาดโลก ตลาดหุ้นไม่ได้ตกระเนระนาด และสถานการณ์นี้น่าจะอยู่ในจุดที่ระงับได้ ไม่ถึงกับส่งผลให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ ทรุด ซึ่งนั่นก็เท่ากับจะไม่ส่งผลให้ตลาดโลกถดถอย และไม่ส่งผลต่อประเทศไทยมากนักเช่นกัน โดยเฉพาะในแง่ของการส่งออกและการท่องเที่ยว

ในอีกมิติหนึ่งถ้านักลงทุนเชื่อว่าตลาดลงทุนไทย-ตลาดเอเชีย ดุโดดเด่น ก็จะมีเม็ดเงินลงทุนเข้ามาพักในตลาดหุ้นไทยและตลาดหุ้นเอเชีย เพราะผลกระทบในเชิงลบเห็นไม่ชัด นอกจากว่าจะมีสถาบันการเงินอื่นๆ ล้มลงอีก หรือมีเหตุการณ์บานปลายรุนแรงเกินคาด...แต่ถ้าไม่...ก็ไม่น่ามีผลกระทบอะไร 

“ทั้งนี้ต่อให้ เฟด นัดถกประชุมนัดพิเศษ ผมว่า เฟด ก็ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องลดดอกเบี้ย แต่น่าจะประชุมเพื่อหาทางออกสร้างความมั่นคงอย่างไรและออกมาประกาศว่าตลาดเงินของสหรัฐฯ มีความมั่นคง อย่าตระหนกตกใจ น่าจะเป็นอย่างนั้น” รศ.ดร.ธนวรรธน์ ทิ้งท้าย


เรื่อง: พัฒน์นรี ชัยเดชารัตน์ Content Manager