วิเคราะห์!! ธนาคารดังยุโรปจะแห่ล้มตาม SVB หรือไม่? ในวันที่หลายแบงก์มะกัน เชื่อ!! ไม่เกิด Bank Run ซ้ำรอย

(14 มี.ค.66) World Maker ได้ตั้งคำถามถึงวิกฤตสภาพคล่องธนาคาร ว่าจบลงหรือยัง? แล้วธนาคารดังในยุโรปจะล้มตาม SVB หรือไม่? ซึ่งถือเป็นคำถามสำคัญที่สุดของภาคการเงิน ณ วินาทีนี้เลยก็ว่าได้ หลังจากเมื่อคืนที่ผ่านมามีรายงาน ว่าหุ้นกลุ่มธนาคารเกือบทั้ง Sectors ยังคงโดนเทขายร่วงลงต่อเนื่อง โดยเฉพาะ Commerzbank AG ของยุโรปที่ร่วงเกือบ -13% ในคืนนี้

ขณะเดียวกัน สิ่งที่นักลงทุนให้ความสำคัญและกลายเป็นข่าวใหญ่ก็คือการที่ Credit Default Swap หรือ CDS ของ Credit Suisse ซึ่งเป็นตราสารอนุพันธ์ที่จะมีมูลค่าสูงขึ้นเมื่อบริษัทเสี่ยงที่จะผิดชำระหนี้ ได้พุ่งทำระดับ All Time High ใหม่สูงกว่า 452 หน่วยหลังเปิดตลาด พร้อมกับราคาหุ้นที่ร่วงลงเกือบ -6%

นั่นเป็นการบ่งชี้ว่า นักลงทุนกำลังกลัวว่า Credit Suisse จะไม่สามารถชำระหนี้ได้? หรืออาจถึงขั้นล้มละลาย? ซึ่งไม่มีใครปฏิเสธ ว่าความเสี่ยงนั้น 'มีจริง' แต่ต้องเข้าใจด้วยว่านี่ไม่ได้เป็นการการันตีแต่อย่างใดว่าธนาคารจะล้มจริงๆ เพราะในช่วงปลายปี 2022 ก็เคยมีข่าวว่า Credit Suisse จะล้มและ CDS ดีดทำ All Time High เช่นกัน แต่สุดท้ายธนาคารก็รอดวิกฤตครั้งนั้นมาได้โดยไม่ล้มละลาย ดังนั้นครั้งนี้จึงต้องลุ้นกันต่อไปว่าจะล้มหรือไม่?

ทั้งนี้ Credit Suisse ยังถือว่ามีเรื่องฉาวในภาคการเงินมานานหลายปี และอยู่ในระหว่างการปรับโครงสร้างครั้งใหญ่หลังจากราคาหุ้นร่วงยับ ทำให้ไม่น่าแปลกใจที่นักลงทุนจะกังวลเกี่ยวกับบริษัทนี้เป็นพิเศษ โดยเฉพาะเมื่อมีวิกฤตสภาพคล่องของ SVB เข้าไปเสริม จึงไปกระตุ้นให้นักลงทุน Bet ว่าบริษัทจะไม่สามารถชำระหนี้ได้และทำให้ CDS พุ่งสูงขึ้นอีกครั้ง

ขณะเดียวกัน หุ้นกลุ่มธนาคารยังคงเผชิญการเทขายจากนักลงทุนอย่างต่อเนื่อง (สอดคล้องกับราคาหุ้นที่ร่วงลงในระยะสั้น) แม้รัฐบาลสหรัฐฯ และ FED จะก้าวเข้ามาอุ้มเงินฝากภายใน SVB แล้วก็ตาม แต่อย่างที่ World Maker บอกไปว่าเรื่องนี้ต้องพิจารณาแยกกับอารมณ์ (Sentiment) ของตลาดและราคาหุ้น ซึ่งเคลื่อนไหวเป็นอิสระและไม่ได้เกี่ยวข้องกับการอุ้มของหน่วยงานกำกับดูแล

โดยเฉพาะ First Republic ซึ่งร่วงมากกว่า -70% ในช่วง Premarket วันนี้ รวมไปถึง Charles Schwab ที่ร่วงเกือบ -20% หรือแม้แต่ธนาคารยักษ์ใหญ่อื่น ๆ ใน Wall Street ของสหรัฐฯ เช่น JPMorgan, Goldman Sachs, Citigroup, Well Fargo, Bank of America, Morgan Stanley ล้วนร่วงกันหมดยกแผงคืนนี้ แม้จะไม่หนักเท่ากับธนาคารเล็กๆ ก็ตาม

อย่างไรก็ตาม First Republic ยังให้ความมั่นใจกับนักลงทุน โดยกล่าวว่าได้รับสภาพคล่องเพิ่มเติมจาก JPMorgan และ Federal Home Loan Bank มาอย่างน้อย 7 หมื่นล้านดอลลาร์ ทำให้ไม่น่าจะเกิด Bank Run ซ้ำรอย SVB แต่ทั้งนี้ก็ต้องจับตาดูกันต่อไป

ความเคลื่อนไหวต่างๆ ที่เกิดขึ้นนี้ แสดงให้เห็นว่าภาคการเงินของสหรัฐฯ-ยุโรป มีความเชื่อมโยงถึงกัน และกำลังช่วยกันดูแลสภาพคล่องในตลาด รวมไปถึงการได้รับแรงหนุนจากภาครัฐและธนาคารกลางที่ดูเหมือนจะไม่อยากให้เกิด Domino Bank Run เหมือนในช่วงวิกฤตการเงินโลกปี 2008

แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าวิกฤตสภาพคล่องจะจบที่ SVB แล้ว เพราะยังไม่มีอะไรการันตีเลยว่าจะเป็นเช่นนั้น ซึ่งก็เป็นเหตุผลหนึ่งที่นักลงทุนยังคงเทขายหุ้นธนาคารหรือเข้าสู่โหมด Risk-Off อย่างที่เราเห็นว่า Bond Yield ปรับตัวร่วงลงพร้อมกับราคาพันธบัตรพุ่งสูงขึ้น รวมไปถึงทองคำที่พุ่งทะลุ 1900 $/Oz ไปในวันนี้

อนึ่ง นักวิเคราะห์หลายคนมองว่า Bank ใหญ่ๆ ระดับ Top ของสหรัฐฯ ไม่น่าจะเกิดวิกฤต Bank Run อย่าง SVB หรือธนาคารเล็กๆ อื่นๆ เนื่องจากยังมีงบดุลค่อนข้างแข็งแกร่งมาก โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับปี 2008 นั้นมีความแตกต่างกันอย่างหลาย ดังนั้นจึงมีความเป็นไปได้เช่นกันที่ผลกระทบของ Bank Run ครั้งนี้จะเป็นลูกโซ่แค่ในวงจำกัด?

และถึงแม้ว่าธนาคารต่างๆ จะยังมีการขาดทุนค้างพอร์ตจากหลักทรัพย์ต่าง ๆ รวมถึงพันธบัตรอยู่สูงถึง -21.5 ล้านล้านบาทหรือ -6.2 แสนล้านดอลลาร์ แต่สามารถกล่าวได้ว่า การขาดทุนเหล่านี้จะไม่เกิดขึ้นจริง ตราบใดที่รัฐบาลและ FED เสริมสภาพคล่องให้ธนาคารมากเพียงพอที่พวกเขาจะ Run ระบบต่อไปได้โดยไม่ต้องขายหลักทรัพย์ที่ถืออยู่ก่อนครบกำหนด

อย่างไรก็ตามการล้มของ SVB ก็ได้ทำให้ตลาดมีแรงสะเทือนไปบ้างแล้วในหลายจุด โดยเฉพาะการคาดการณ์เรื่องดอกเบี้ยของ FED ที่ถูกปรับเปลี่ยนอย่างรวดเร็ว แม้ว่า FED เองจะยังไม่ได้ออกมาพูดชัดเจนว่าจะชะลอการขึ้นดอกเบี้ย แต่ตลาดก็คาดการณ์ไปแล้ว ดังนั้นจึงมีกรณีที่ต้องระวังอยู่บ้าง เพราะถ้าอยู่ๆ ในการประชุมวันที่ 21-22 มีนาคมนี้ FED ยืนยันจะขึ้นดอกเบี้ยต่อไปอีก ตลาดก็อาจมีการ Risk-Off มากกว่าเดิมได้

ที่น่าจับตามองต่อไปจากวิกฤต Bank Run ก็คือ ภาคอสังหาริมทรัพย์ เนื่องจากวิกฤตของ SVB นั้นมีสาเหตุหลักอย่างหนึ่งมาจากผลกระทบด้านดอกเบี้ยที่สูงขึ้น ทำให้ธนาคารที่เข้าไปถือพันธบัตรอยู่สูงมากต้องยอมเทขายหลักทรัพย์ออกมาในราคาขาดทุน เมื่อลูกค้าแห่ถอนเงินจนมีเงินสดไม่เพียงพอจะไปชำระคืน

ดังนั้น ภาคอสังหาฯ ที่มีการลงทุนในพันธบัตรอย่างเช่น Mortgage Backed-Secuirty หรือ MBS ซึ่งได้รับผลกระทบไม่ต่างจากพันธบัตรรัฐบาลเมื่อดอกเบี้ยสูงขึ้น จึงถือว่ามีความเสี่ยงโดยตรง ขณะที่ตลาดอสังหาฯ ก็เริ่มแสดงสัญญาณชะลอตัวไปแล้ว หลังราคาบ้านพุ่งสูงลิ่วในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาจนไปถึงระดับที่หลายคนเอื้อมไม่ถึง

และเมื่อดอกเบี้ยสูงขึ้น จึงทำให้ภาระของผู้ผ่อนบ้านหนักหนาสาหัสเข้าไปอีก ดังนั้นหากเกิดวิกฤตสภาพคล่องในตลาดอสังหาฯ ก็อาจคล้ายคลึงกับลักษณะของ Bank Run ที่จะต้องมีการเทขายหลักทรัพย์ออกมา ซึ่งก็รวมถึงตัว MBS หรือตัวบ้าน อพาร์ตเมนต์ คอนโด หรืออื่นๆ

โดยเฉพาะพวกกองทุนอสังหาฯ อย่าง REIT ซึ่งมีการกู้ยืมเงินและระดมทุนจากนักลงทุนไปพัฒนาโครงการอสังหาฯ หรือแม้แต่การนำไปเก็งกำไรราคาที่อยู่อาศัย ซึ่งแม้ว่าการใช้ระดับ Leverage จะไม่สูงและแพร่หลายเท่ากับในช่วงวิกฤตการเงินโลก แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะไม่มีการใช้ Leverage เลย ดังนั้นมันจึงถือเป็นความเสี่ยงที่ปฏิเสธไม่ได้

หุ้นของบริษัทอสังหาฯ หลายตัวเริ่มร่วงลงมากกว่า -10% แล้วเมื่อเร็วๆ นี้ ยกตัวอย่างเช่น Annaly Capital Management ซึ่งเป็นบริษัทยักษ์ใหญ่ที่มีสินทรัพย์รวมถึง 8.19 หมื่นล้านดอลลาร์ โดยหากนับตั้งแต่ต้นปีพบว่าราคาหุ้นร่วงลงมาเกือบ -30% แล้ว และไม่ใช่แค่นี้แต่ยังรวมไปถึงบริษัทอื่น ๆ เช่น AGNC Investment Corp, The Starwood Property Trust, Rithm Capital และ Blackstone Mortgage Trust ซึ่งในปีนี้ราคาหุ้นได้ปรับตัวลดลงแทบทั้งสิ้น

โดยภาพรวมแล้ว วิกฤตสภาพคล่องของธนาคารต่าง ๆ ก็ยังไม่ถือว่าเคลียร์ และยังมีความตึงเครียดในอีกหลายอุตสาหกรรม รวมไปถึงเทคโนโลยี และอสังหาฯ ซึ่งหมายความว่า เราควรพิจารณาถึงความเสี่ยงให้มากเป็นพิเศษ แต่ขณะเดียวกันก็อย่างที่ World Maker ย้ำอยู่ตลอดว่าหลังจากเฝ้าระวังความเสี่ยงด้วยความไม่ประมาทแล้ว เราก็ควรมองหาโอกาสในตลาดไปด้วยพร้อมๆ กัน เพราะท่ามกลางวิกฤตใหญ่ก็มักจะมีขุมทรัพย์ลดราคาลงมาให้เราซื้อถูกๆ ด้วยเสมอ

ส่วนในระดับมหภาค ก็คงต้องรอดูไปพร้อมๆ กันว่าโลกจะได้รับบททดสอบความตึงเครียดอีกมากน้อยแค่ไหนในช่วงเวลาแห่งการเปลี่ยนผ่านครั้งใหญ่นี้ เพราะยังมีอีกหลายเหตุการณ์ที่รอเกิดขึ้นให้เราได้ชมกัน อย่างที่ World Maker ย้ำเสมอว่าตลอด 1-3 ปีต่อจากนี้อาจยังมีหลายฉากให้เราต้องลุ้น


ที่มา: WorldMaker