อว. ผนึก บริติช เคานซิล จัดโครงการ ‘Thai-UK World-class University Consortium’ สร้างความก้าวหน้ามหาวิทยาลัยไทย สู่การแข่งขันในระดับโลก

(13 มี.ค.) นายพันธุ์เพิ่มศักดิ์ อรุณี หัวหน้ากลุ่มภารกิจบริหารยุทธศาสตร์, รศ.ดร.รัฐชาติ มงคลนาวิน และ ผศ. ดร.มารุต ตั้งวัฒนาชุลีพร ได้นำคณะทำงาน Thai-UK Work Class Consortium ซึ่งประกอบด้วย หัวหน้าและตัวแทนโครงการ อีก 6 โครงการ จาก 5 มหาวิทยาลัย เข้าศึกษาดูงาน แลกเปลี่ยน ความร่วมมือ ด้านงานวิจัยและการเรียนการสอนจากสถาบันการศึกษาชั้นนำในสหราชอาณาจักร ระหว่างวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2566 ถึง 3 มีนาคม 2566

สำหรับโครงการ Thai-UK World-class University Consortium เป็นโครงการที่ได้รับการสนับสนุนจากทางกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และบริติช เคานซิล ประเทศไทย เพื่อเพิ่มความมุ่งมั่นและความร่วมมือเชิงกลยุทธ์ระหว่างมหาวิทยาลัยในประเทศไทยและสหราชอาณาจักรและเพื่อสนับสนุนความก้าวหน้าของมหาวิทยาลัยไทยในการแข่งขันในระดับโลก โดยมีโครงการ UK Visit Trip ซึ่งเป็นกิจกรรมที่จัดขึ้นภายใต้โครงการ Thai-UK World-class University Consortium ด้วย

โดยโครงการ Thai-UK World-class University Consortium มีวัตถุประสงค์ เพื่อสร้างกลไกในการเพิ่มความร่วมมือเชิงกลยุทธ์เพื่อจัดการกับลำดับความสำคัญของกลยุทธ์ร่วมกันระหว่างมหาวิทยาลัยไทยและสหราชอาณาจักร ผ่านการแลกเปลี่ยนกับแหล่งทุนสำคัญ และเพื่อสนับสนุนความก้าวหน้าของระบบการเรียนการสอน การวิจัยและระบบบริหารมหาวิทยาลัยที่มีคุณภาพผ่านการพัฒนาบุคลากรด้วยความเชี่ยวชาญจากสหราชอาณาจักร 

เมื่อวันที่ 27 ก.พ.66 ที่ผ่านมา ทางคณะทำงานได้ไปเรียนรู้และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ร่วมกับ De Monfort University ณ เมือง Leicester โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษารูปแบบ หลักสูตรและการจัดการศึกษาที่สามารถให้ภาคธุรกิจและเอกชนในพื้นที่และท้องถิ่นมีส่วนร่วมในกระบวนการศึกษาผ่านการฝึกงานและนำโจทย์ของภาคธุรกิจและเอกชนมาเป็นส่วนหนึ่งของงานที่สามารถให้นักศึกษานำมาใช้เป็นแบบฝึกหัดในหลักสูตร การทำให้ภาคธุรกิจและเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมนี้นอกจากช่วยเพิ่มโอกาสในการถูกจ้างงานของนักศึกษาแล้ว ยังเป็นการสร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่างสถาบันการศึกษาและภาคธุรกิจและเอกชนเพื่อให้ตอบโจทย์ตลาดแรงงานและเพิ่มโอกาสในการขยายความร่วมมือด้านงานวิจัยและนวัตกรรม

นอกจากนั้นทาง De Monfort University ยังได้นำเสนอรูปแบบความร่วมมือที่มีกับมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒในการทำหลักสูตรสองปริญญาในสาขา Media Production และ Cyber Security ซึ่งทาง De Monfort University ยังมีความสนใจที่จะขยาย ความร่วมมือไปสู่มหาวิทยาลัยอื่น ๆ ในโครงการ Thai-UK Work Class Consortium อีกด้วย

ถัดมาวันที่ 28 ก.พ.66 ทางคณะทำงานได้ไปเรียนรู้และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ร่วมกับ Norwich Research Park, University of East Anglia ณ เมือง Norwich ซึ่งเป็นหน่วยงานที่เป็นศูนย์กลางบูรณาการความร่วมมือระหว่างงานวิจัยและนวัตกรรมแบบสหสาขาทั้งทางวิทยาศาสตร์, วิศวกรรม, สุขภาพ, สังคม และเศษฐศาสตร์  โดย Research Park เน้นงานวิจัยและนวัตกรรม 4 ด้านหลัก ได้แก่ : Industrial Biotechnology, Agriculture Technology, Food Technology และ Medical Technology ทั้งนี้ทางคณะทำงานมีโอกาสได้เยี่ยมชมศูนย์วิจัยที่บูรณาการด้านการส่งเสริมสุขภาพผ่านนวัตกรรมด้านอาหาร โดยเน้นงานวิจัยด้านจุลินทรีย์ในลำไส้เพื่อการผลิตอาหารเพื่อสุขภาพ

วันที่ 1 มี.ค.66 ทางคณะทำงานได้เข้าพบ Ms. Kate McAlister, Head of Quality Stakeholder Management, Office for Students ณ กรุงลอนดอน เพื่อรับฟังประสบการณ์ และนโยบายในการกำหนด Teaching Excellence Framework (TEF) ของอังกฤษโดยทางหน่วยงานมีหน้าที่ในการรับรองและตรวจสอบคุณภาพสถาบันการศึกษาต่างๆ ในสหราชอาณาจักร และมีการประเมินคุณภาพด้านการเรียนการสอนโดยมองที่ผลลัพธ์ของการศึกษา เช่น อัตราการจบและอัตราการมีงานทำ เป็นต้น

โดยช่วงบ่าย วันที่ 1 มี.ค.66 ทางคณะทำงาน ได้ไปเรียนรู้และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ร่วมกับ University of Essex ที่เมือง Colchester ในการเยี่ยมศูนย์ Innovation Center ซึ่งเป็นหน่วยงานด้าน Knowledge Transfer Partnership (KTP) โดยหน่วยงานมีความเชี่ยวชาญด้านการจัดการข้อมูลและเน้น การสร้างนวัตกรรมเพื่อส่งเสริมความเข้มแข็งด้านธุรกิจ โดยได้รับโจทย์จากภาคธุรกิจและวางแผนร่วมกับภาคเอกชนเพื่อขอรับทุนด้านนวัตกรรมจากแหล่งทุน เช่น Innovate UK โดยการขอการสนับสนุนจากแหล่งทุนนั้นจะทำให้ สามารถจ้างนักนวัตกรได้  ซึ่งนักนวัตกรนี้จะได้รับคำแนะนำและการดูแลจากอาจารย์ ในมหาวิทยาลัยเพื่อทำการวิจัยและหลังเสร็จสิ้นโครงการก็สามารถถูกจ้างต่อโดยหน่วยงานเอกชนที่รับทุนร่วมกัน รูปแบบการทำแบบงานนี้ถือเป็นต้นแบบของ KTP ที่ทำให้ศูนย์และ University of Essex ประสบความสำเร็จจนเป็นอันดับหนึ่งของสหราชอาณาจักรด้าน KTP

ต่อมา วันที่ 2 มี.ค.66 ทางคณะทำงานได้เข้าพบตัวแทนจาก University of Liverpool ณ เมือง Liverpool นำโดย Professor Steven Edwards ซึ่งท่านได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์และความสำเร็จในการทำหลักสูตรปริญญาเอกสองปริญญา (Dual Award Degree Program) ร่วมกับ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดย ความร่วมมือนั้นมีมานานกว่า 10 ปี โดย มีจุดเด่น ของความร่วมมือ คือ สามารถให้นักศึกษาไทยมาศึกษาใน University of Liverpool โดยไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมการศึกษา (Tuition fee) ให้แก่ University of Liverpool และการเทียบมาตรฐานต่าง ๆ ที่สามารถทำให้นักศึกษาสามารถได้รับปริญญาจากทั้งสองสถาบันตามกำหนด

ช่วงบ่าย วันที่ 2 มี.ค.66 ทางคณะทำงานได้เข้าพบตัวแทนจาก Liverpool John Moores University  ณ เมือง Liverpool  เพื่อหารือแลกเปลี่ยนความร่วมมือด้านการศึกษา และงานวิจัย นำโดย Professor Laura Bishop คณบดีจากคณะวิทยาศาสตร์ โดย ทางคณะวิทยาศาสตร์นั้นมีความโดดเด่นด้านวิทยาศาสตร์การกีฬา (Sport and Exercise Science) และเภสัชศาสตร์ (Pharmacy)

และวันที่ 3 มี.ค.66 ทางคณะทำงาน ได้พบปะกับตัวแทนคู่ความร่วมมือใน UK ณ British Council กรุงลอนดอน การจัดประชุมในครั้งนี้ได้รับความร่วมมือจากอาจารย์ในสหราชอาณาจักรจำนวน 14 ท่าน จาก 10 มหาวิทยาลัยในการแลกเปลี่ยนประสบการณ์และการประชุมเชิงปฏิบัติการในการถอดบทเรียนและกำหนดทิศทางการดำเนินงานโครงการ Thai-UK Work Class Consortium ในระยะต่อไป  

ในที่ประชุม ได้ทบทวนผลลัพธ์การการดำเนินงาน Thai-UK World-class University Consortium ในปีแรก ที่มีผลลัพธ์เป็น MOU 9 ฉบับ, งานตีพิมพ์ 17 เรื่อง, การจัดประชุมวิชาการ 9 ครั้ง และ การได้ทุนวิจัย อีก 5 ทุน โดยมี อาจารย์และนักศึกษา ที่ได้มีส่วนร่วมจากโครงการนี้มากกว่า 500 ท่าน  ซึ่งทางที่ประชุมได้สรุปว่า ลักษณะผลงานดังกล่าวได้เป็นไปตามเป้าหมาย ของโครงการ  ในส่วนการถอดบทเรียนนั้น ทางคณะทำงาน ทั้งจากไทย และ สหราขอาณาจักร ได้กล่าวถึง ความสำคัญของโครงการ ในการเป็นตัวเชื่อม และ ตัวเร่งให้เกิดความร่วมมือ กับ มหาวิทยาลัยชั้นนำในสหราชอาณาจักร ทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนคณาจารย์ และนักศึกษา และ ดำเนินงานวิจัยร่วมกัน  โครงการยังได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี จนมีเสียงเรียกร้องให้มีการขยาย มหาวิทยาลัยเครือข่ายในความร่วมมือ  อย่างไรก็ตาม ที่ประชุมได้สะท้อนความกังวล ถึงการดำเนินงานต่อเนื่องที่จำเป็นต้องการ การสนับสนุนจากแหล่งทุน จากไทย และ ต่างประเทศ 

ที่ประชุมมีความเห็นว่า ควรทำการสื่อสารกันภายใน Thai-UK World-class University Consortium ให้มากขึ้น เพื่อสร้างความเข้มแข็งและความร่วมมือสำหรับสมาชิก และเสนอให้มีการทำ Newsletter เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์และประชาสัมพันธ์ข่าวสาร ที่เกี่ยวข้องรวมถึง โอกาสการเข้าถึงแหล่งทุนต่างๆ  และ ควรจัดประชุมเพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและสร้างโอกาสในการหารือความร่วมมือต่างๆ โดยจะใช้โอกาสที่ทางโครงการจะจัด Capacity building workshop ที่กรุงเทพฯ เป็นโอกาสให้สมาชิก Thai-UK World-class University Consortium มาพบปะกัน ซึ่งทางตัวแทนจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งเป็นฝ่ายเลขานุการ (secretariat) ได้รับไปประสานงานในทั้งสองประเด็นต่อไป

รายชื่อคณะทำงานที่เข้าร่วมโครงการ Thai-UK World-class University Consortium มีดังนี้
1.นายพันธุ์เพิ่มศักดิ์ อรุณี หัวหน้ากลุ่มภารกิจบริหารยุทธศาสตร์ สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม

2. รศ.ดร.รัฐชาติ มงคลนาวิน ประธานคณะกรรมการส่งเสริมคุณภาพอุดมศึกษาสู่มาตรฐานสากล สำนักงานปลัดกระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม

3. ผศ.ดร. มารุต ตั้งวัฒนาชุลีพร คณบดีคณะสหเวชศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา กรรมการส่งเสริมคุณภาพอุดมศึกษาสู่มาตรฐานสากล สำนักงานปลัดกระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม

4. นางสาวรพีพรรณ แสงกระจ่าง นักวิเคราะห์นโยบายและแผน สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม

5. คุณอุไรวรรณ สะโมลี หัวหน้าฝ่ายบริการการศึกษาต่อสหราชอาณาจักร บริติช เคานซิล ประเทศไทย

6. ผศ.ดร.นพ. ชัยสิริ อังกุระวรานนท์ ผู้ช่วยคณบดีภาควิชาเวชศาสตร์ครอบครัว และหัวหน้าหน่วยวิจัยคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

7. ผศ.ดร.ลลิลทิพย์ หอเจริญ นักวิจัยสำนักงานวิจัย นวัตกรรมและพันธมิตร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี

8. นายศราวุธ นพพิบูลย์ นักวิจัยสำนักงานวิจัย นวัตกรรมและพันธมิตร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี

9. รศ.ดร.วิทิต ปานสุข รองผู้อำนวยการภาควิชาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

10. ศ.ดร.นริศรา จันทราทิตย์ นักวิจัยภาควิชาจุลชีววิทยาและอิมมิวโนโลยี คณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล

11. ผศ.ดร.ภัทรียา กิจเจริญ ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายวิเทศสัมพันธ์และสื่อสารองค์กร คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

12. รศ.ดร.นิธินันท์ วิศเวศวร คณบดีวิทยาลัยพัฒนศาสตร์ป๋วยอึ๊งภากรณ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

13. ผศ.ดร.สานิตย์ หนูนิล รองคณบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการวิทยาลัยพัฒนศาสตร์ป๋วยอึ๊งภากรณ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์