Tuesday, 30 April 2024
มหาวิทยาลัย

อว. ผนึก บริติช เคานซิล จัดโครงการ ‘Thai-UK World-class University Consortium’ สร้างความก้าวหน้ามหาวิทยาลัยไทย สู่การแข่งขันในระดับโลก

(13 มี.ค.) นายพันธุ์เพิ่มศักดิ์ อรุณี หัวหน้ากลุ่มภารกิจบริหารยุทธศาสตร์, รศ.ดร.รัฐชาติ มงคลนาวิน และ ผศ. ดร.มารุต ตั้งวัฒนาชุลีพร ได้นำคณะทำงาน Thai-UK Work Class Consortium ซึ่งประกอบด้วย หัวหน้าและตัวแทนโครงการ อีก 6 โครงการ จาก 5 มหาวิทยาลัย เข้าศึกษาดูงาน แลกเปลี่ยน ความร่วมมือ ด้านงานวิจัยและการเรียนการสอนจากสถาบันการศึกษาชั้นนำในสหราชอาณาจักร ระหว่างวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2566 ถึง 3 มีนาคม 2566

สำหรับโครงการ Thai-UK World-class University Consortium เป็นโครงการที่ได้รับการสนับสนุนจากทางกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และบริติช เคานซิล ประเทศไทย เพื่อเพิ่มความมุ่งมั่นและความร่วมมือเชิงกลยุทธ์ระหว่างมหาวิทยาลัยในประเทศไทยและสหราชอาณาจักรและเพื่อสนับสนุนความก้าวหน้าของมหาวิทยาลัยไทยในการแข่งขันในระดับโลก โดยมีโครงการ UK Visit Trip ซึ่งเป็นกิจกรรมที่จัดขึ้นภายใต้โครงการ Thai-UK World-class University Consortium ด้วย

โดยโครงการ Thai-UK World-class University Consortium มีวัตถุประสงค์ เพื่อสร้างกลไกในการเพิ่มความร่วมมือเชิงกลยุทธ์เพื่อจัดการกับลำดับความสำคัญของกลยุทธ์ร่วมกันระหว่างมหาวิทยาลัยไทยและสหราชอาณาจักร ผ่านการแลกเปลี่ยนกับแหล่งทุนสำคัญ และเพื่อสนับสนุนความก้าวหน้าของระบบการเรียนการสอน การวิจัยและระบบบริหารมหาวิทยาลัยที่มีคุณภาพผ่านการพัฒนาบุคลากรด้วยความเชี่ยวชาญจากสหราชอาณาจักร 

เมื่อวันที่ 27 ก.พ.66 ที่ผ่านมา ทางคณะทำงานได้ไปเรียนรู้และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ร่วมกับ De Monfort University ณ เมือง Leicester โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษารูปแบบ หลักสูตรและการจัดการศึกษาที่สามารถให้ภาคธุรกิจและเอกชนในพื้นที่และท้องถิ่นมีส่วนร่วมในกระบวนการศึกษาผ่านการฝึกงานและนำโจทย์ของภาคธุรกิจและเอกชนมาเป็นส่วนหนึ่งของงานที่สามารถให้นักศึกษานำมาใช้เป็นแบบฝึกหัดในหลักสูตร การทำให้ภาคธุรกิจและเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมนี้นอกจากช่วยเพิ่มโอกาสในการถูกจ้างงานของนักศึกษาแล้ว ยังเป็นการสร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่างสถาบันการศึกษาและภาคธุรกิจและเอกชนเพื่อให้ตอบโจทย์ตลาดแรงงานและเพิ่มโอกาสในการขยายความร่วมมือด้านงานวิจัยและนวัตกรรม

นอกจากนั้นทาง De Monfort University ยังได้นำเสนอรูปแบบความร่วมมือที่มีกับมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒในการทำหลักสูตรสองปริญญาในสาขา Media Production และ Cyber Security ซึ่งทาง De Monfort University ยังมีความสนใจที่จะขยาย ความร่วมมือไปสู่มหาวิทยาลัยอื่น ๆ ในโครงการ Thai-UK Work Class Consortium อีกด้วย

ถัดมาวันที่ 28 ก.พ.66 ทางคณะทำงานได้ไปเรียนรู้และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ร่วมกับ Norwich Research Park, University of East Anglia ณ เมือง Norwich ซึ่งเป็นหน่วยงานที่เป็นศูนย์กลางบูรณาการความร่วมมือระหว่างงานวิจัยและนวัตกรรมแบบสหสาขาทั้งทางวิทยาศาสตร์, วิศวกรรม, สุขภาพ, สังคม และเศษฐศาสตร์  โดย Research Park เน้นงานวิจัยและนวัตกรรม 4 ด้านหลัก ได้แก่ : Industrial Biotechnology, Agriculture Technology, Food Technology และ Medical Technology ทั้งนี้ทางคณะทำงานมีโอกาสได้เยี่ยมชมศูนย์วิจัยที่บูรณาการด้านการส่งเสริมสุขภาพผ่านนวัตกรรมด้านอาหาร โดยเน้นงานวิจัยด้านจุลินทรีย์ในลำไส้เพื่อการผลิตอาหารเพื่อสุขภาพ

วันที่ 1 มี.ค.66 ทางคณะทำงานได้เข้าพบ Ms. Kate McAlister, Head of Quality Stakeholder Management, Office for Students ณ กรุงลอนดอน เพื่อรับฟังประสบการณ์ และนโยบายในการกำหนด Teaching Excellence Framework (TEF) ของอังกฤษโดยทางหน่วยงานมีหน้าที่ในการรับรองและตรวจสอบคุณภาพสถาบันการศึกษาต่างๆ ในสหราชอาณาจักร และมีการประเมินคุณภาพด้านการเรียนการสอนโดยมองที่ผลลัพธ์ของการศึกษา เช่น อัตราการจบและอัตราการมีงานทำ เป็นต้น

โดยช่วงบ่าย วันที่ 1 มี.ค.66 ทางคณะทำงาน ได้ไปเรียนรู้และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ร่วมกับ University of Essex ที่เมือง Colchester ในการเยี่ยมศูนย์ Innovation Center ซึ่งเป็นหน่วยงานด้าน Knowledge Transfer Partnership (KTP) โดยหน่วยงานมีความเชี่ยวชาญด้านการจัดการข้อมูลและเน้น การสร้างนวัตกรรมเพื่อส่งเสริมความเข้มแข็งด้านธุรกิจ โดยได้รับโจทย์จากภาคธุรกิจและวางแผนร่วมกับภาคเอกชนเพื่อขอรับทุนด้านนวัตกรรมจากแหล่งทุน เช่น Innovate UK โดยการขอการสนับสนุนจากแหล่งทุนนั้นจะทำให้ สามารถจ้างนักนวัตกรได้  ซึ่งนักนวัตกรนี้จะได้รับคำแนะนำและการดูแลจากอาจารย์ ในมหาวิทยาลัยเพื่อทำการวิจัยและหลังเสร็จสิ้นโครงการก็สามารถถูกจ้างต่อโดยหน่วยงานเอกชนที่รับทุนร่วมกัน รูปแบบการทำแบบงานนี้ถือเป็นต้นแบบของ KTP ที่ทำให้ศูนย์และ University of Essex ประสบความสำเร็จจนเป็นอันดับหนึ่งของสหราชอาณาจักรด้าน KTP

ต่อมา วันที่ 2 มี.ค.66 ทางคณะทำงานได้เข้าพบตัวแทนจาก University of Liverpool ณ เมือง Liverpool นำโดย Professor Steven Edwards ซึ่งท่านได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์และความสำเร็จในการทำหลักสูตรปริญญาเอกสองปริญญา (Dual Award Degree Program) ร่วมกับ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดย ความร่วมมือนั้นมีมานานกว่า 10 ปี โดย มีจุดเด่น ของความร่วมมือ คือ สามารถให้นักศึกษาไทยมาศึกษาใน University of Liverpool โดยไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมการศึกษา (Tuition fee) ให้แก่ University of Liverpool และการเทียบมาตรฐานต่าง ๆ ที่สามารถทำให้นักศึกษาสามารถได้รับปริญญาจากทั้งสองสถาบันตามกำหนด

ช่วงบ่าย วันที่ 2 มี.ค.66 ทางคณะทำงานได้เข้าพบตัวแทนจาก Liverpool John Moores University  ณ เมือง Liverpool  เพื่อหารือแลกเปลี่ยนความร่วมมือด้านการศึกษา และงานวิจัย นำโดย Professor Laura Bishop คณบดีจากคณะวิทยาศาสตร์ โดย ทางคณะวิทยาศาสตร์นั้นมีความโดดเด่นด้านวิทยาศาสตร์การกีฬา (Sport and Exercise Science) และเภสัชศาสตร์ (Pharmacy)

และวันที่ 3 มี.ค.66 ทางคณะทำงาน ได้พบปะกับตัวแทนคู่ความร่วมมือใน UK ณ British Council กรุงลอนดอน การจัดประชุมในครั้งนี้ได้รับความร่วมมือจากอาจารย์ในสหราชอาณาจักรจำนวน 14 ท่าน จาก 10 มหาวิทยาลัยในการแลกเปลี่ยนประสบการณ์และการประชุมเชิงปฏิบัติการในการถอดบทเรียนและกำหนดทิศทางการดำเนินงานโครงการ Thai-UK Work Class Consortium ในระยะต่อไป  

ในที่ประชุม ได้ทบทวนผลลัพธ์การการดำเนินงาน Thai-UK World-class University Consortium ในปีแรก ที่มีผลลัพธ์เป็น MOU 9 ฉบับ, งานตีพิมพ์ 17 เรื่อง, การจัดประชุมวิชาการ 9 ครั้ง และ การได้ทุนวิจัย อีก 5 ทุน โดยมี อาจารย์และนักศึกษา ที่ได้มีส่วนร่วมจากโครงการนี้มากกว่า 500 ท่าน  ซึ่งทางที่ประชุมได้สรุปว่า ลักษณะผลงานดังกล่าวได้เป็นไปตามเป้าหมาย ของโครงการ  ในส่วนการถอดบทเรียนนั้น ทางคณะทำงาน ทั้งจากไทย และ สหราขอาณาจักร ได้กล่าวถึง ความสำคัญของโครงการ ในการเป็นตัวเชื่อม และ ตัวเร่งให้เกิดความร่วมมือ กับ มหาวิทยาลัยชั้นนำในสหราชอาณาจักร ทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนคณาจารย์ และนักศึกษา และ ดำเนินงานวิจัยร่วมกัน  โครงการยังได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี จนมีเสียงเรียกร้องให้มีการขยาย มหาวิทยาลัยเครือข่ายในความร่วมมือ  อย่างไรก็ตาม ที่ประชุมได้สะท้อนความกังวล ถึงการดำเนินงานต่อเนื่องที่จำเป็นต้องการ การสนับสนุนจากแหล่งทุน จากไทย และ ต่างประเทศ 

ที่ประชุมมีความเห็นว่า ควรทำการสื่อสารกันภายใน Thai-UK World-class University Consortium ให้มากขึ้น เพื่อสร้างความเข้มแข็งและความร่วมมือสำหรับสมาชิก และเสนอให้มีการทำ Newsletter เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์และประชาสัมพันธ์ข่าวสาร ที่เกี่ยวข้องรวมถึง โอกาสการเข้าถึงแหล่งทุนต่างๆ  และ ควรจัดประชุมเพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและสร้างโอกาสในการหารือความร่วมมือต่างๆ โดยจะใช้โอกาสที่ทางโครงการจะจัด Capacity building workshop ที่กรุงเทพฯ เป็นโอกาสให้สมาชิก Thai-UK World-class University Consortium มาพบปะกัน ซึ่งทางตัวแทนจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งเป็นฝ่ายเลขานุการ (secretariat) ได้รับไปประสานงานในทั้งสองประเด็นต่อไป

‘สมาคมนิสิตนักศึกษาไทยมุสลิม’ แถลง ไม่เกี่ยวข้องการทำประชามติ ค้านรัฐดำเนินคดี พร้อมเตือน นศ. ให้เลือกประเด็นที่ไม่ฝ่าฝืนกฎหมาย

สมาคมนิสิตนักศึกษาไทยมุสลิม ออกแถลงการณ์ชี้แจงปม “ประชามติเอกราชตั้งรัฐปัตตานี” ย้ำเป็นแค่การจำลองทำประชามติ ไม่ใช่ทำจริง อ้างเป็นกิจกรรมในรั้วมหาวิทยาลัยซึ่งเป็นพื้นที่เสรีภาพทางวิชาการ ค้านรัฐดำเนินคดีนักศึกษา แต่ออกตัวสมาคมฯไม่เกี่ยวข้อง แนะจับเข่าคุยทำความเข้าใจแบบไร้อคติ พร้อมเรียกร้องนักศีกษามุสลิมเลือกประเด็นเคลื่อนไหวที่ไม่ขัดกฎหมาย


สมาคมนิสิตนักศึกษาไทยมุสลิม หรือ ส.น.ท.ออกเอกสารแถลงการณ์ กรณีการจัดจำลองการทำประชามติสอบถามความเห็นสิทธิการกำหนดชะตากรรมตนเอง ขององค์กรขบวนนักศึกษาแห่งชาติ (Pelajar Kebangsaan Patani )

เนื้อหาของแถลงการณ์ระบุว่า สืบเนื่องจากกิจกรรมการเปิดตัวองค์กรขบวนนักศึกษาแห่งชาติ (Pelajar Kebangsaan Patani ) เมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2566 ณ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ที่ผ่านมา โดยภายในงานมีการจัดจำลองการทำประชามติ สอบถามความเห็นสิทธิการกำหนดชะตากรรมตนเอง (the rights of self – determination) คือหลักที่ว่าด้วยสิทธิของประชาชนในการมีอิสระที่จะตัดสินใจเลือกสถานะทางการเมืองของตนเอง และกำหนดรูปแบบของการพัฒนาทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมของพวกเขาเอง

กิจกรรมดังกล่าวเป็นกิจกรรมที่จัดขึ้นภายในมหาวิทยาลัย ซึ่งถือว่าเป็นพื้นที่เสรีภาพทางวิชาการ ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ว่าด้วยสิทธิและเสรีภาพของปวงชนชาวไทยในการแสดงความคิดเห็น การพูด การจํากัดเสรีภาพดังกล่าวจะกระทํามิได้ เว้นแต่โดยอาศัยอํานาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ตราขึ้นเฉพาะเพื่อรักษาความมั่นคงของรัฐ เพื่อคุ้มครองสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลอื่น เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อย หรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือเพื่อป้องกันสุขภาพของประชาชน เสรีภาพทางวิชาการย่อมได้รับความคุ้มครอง แต่การใช้เสรีภาพนั้นต้องไม่ขัดต่อหน้าที่ของปวงชนชาวไทย หรือศีลธรรมอันดีของประชาชน และต้องเคารพและไม่ปิดกั้นความเห็นต่างของบุคคลอื่น

กิจกรรมทางวิชาการดังกล่าวเป็นประเด็นที่เกิดข้อถกเถียงในสังคมวงกว้างเกี่ยวกับคำแถลงการณ์ของขบวนนักศึกษาแห่งชาติ และการทำประชามติ ซึ่งเป็นประเด็นที่ค่อนข้างอ่อนไหวต่อความรู้สึกของสังคมที่รับทราบผ่านสื่อต่างๆ หรืออาจสื่อความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนว่ามีความต้องการแบ่งแยกดินแดนหรือการเป็นเอกราชของปาตานี ซึ่งย่อมขัดต่อกฎหมายรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช 2560 อันเป็นกฎหมายสูงสุดขอไทยที่มีการปกครองโดยระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ว่าด้วยหมวดที่ 1 บททั่วไป มาตราที่ 1 ประเทศไทยเป็นราชอาณาจักรหนึ่งอันเดียว จะแบ่งแยกมิได้

อย่างไรก็ตาม การที่หน่วยงานของรัฐจะดำเนินคดีกับขบวนการนักศึกษาแห่งชาตินั้น ถือว่าเป็นสิ่งที่ไม่ควรกระทำอย่างยิ่ง เนื่องจากเป็นการแสดงออกถึงความคิดเห็นทางวิชาการ การพูดคุยเป็นสิทธิและเสรีภาพของปวงชนชาวไทย และกิจกรรมการดังกล่าวนั้น ก็ได้เกิดขึ้นในมหาวิทยาลัยโดยมีภาคส่วนวิชาการเป็นผู้คอยดูแลและให้คำปรึกษาด้วยความรัดกุมและมีสติ

สมาคมนิสิตนักศึกษาไทยมุสลิม (ส.น.ท.) ขอเรียนให้ทราบว่าทางสมาคมฯ ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการจัดกิจกรรมในครั้งนี้ แต่ทางสมาคมฯ ขอเรียกร้องให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องใช้โอกาสนี้เพื่อหาทางร่วมพูดคุยหาทางออกและสร้างสันติภาพอย่างยั่งยืน สร้างความเชื่อมั่นและเชื่อใจระหว่างกันให้เกิดขึ้นในพื้นที่ชายแดนใต้อย่างเร่งด่วนโดยไร้อคติ ภายใต้ข้อมูล ความรู้ที่ถูกต้องและครอบคลุมจากทุกฝ่าย ซึ่งเป็นแนวทางที่ถูกต้องตามกฎหมาย และ “สันติวิธี”
ท้ายนี้ สมาคมฯ ขอเรียกร้องให้นิสิตนักศึกษาทุกคนได้ใช้สิทธิเสรีภาพของตนในฐานะพลเมืองไทยผ่านกระบวนการมีส่วนร่วมทางการเมืองที่ถูกต้อง เหมาะสม ตามหลักสิทธิมนุษยชน โดยไม่ขัดต่อกฎหมายรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย เฉกเช่นที่ได้ยึดมั่นมาโดยตลอด

อนึ่ง เป็นที่น่าสังเกตว่า แถลงการณ์ของ ส.น.ท. ออกมาในช่วงเดียวกับที่ นายนัจมุดดีน อูมา อดีต ส.ส.นราธิวาส 4 สมัย ซึ่งเป็นบิดาของประธานขบวนนักศึกษาแห่งชาติ ผู้นำการอ่านแถลงการณ์การทำประชามติเรื่องสิทธิในการกำหนดอนาคตตนเอง เพิ่งออกมาให้ข่าวว่า ทางกลุ่มนักศึกษาในนามของ “ขบวนนักศึกษาแห่งชาติ” จะออกแถลงการณ์ชี้แจงถึงเรื่องที่เกิดขึ้นทั้งหมด และพร้อมให้ความร่วมมือในการให้ข้อมูลกับหน่วยงานด้านความมั่นคง จึงไม่แน่ชัดว่า แถลงการณ์ที่นายนัจมุดดีนพูดถึงนั้น เป็นฉบับเดียวกับของ ส.น.ท. หรือคนละฉบับกัน จึงต้องติดตามความเคลื่อนไหวของ “ขบวนนักศึกษาแห่งชาติ” ต่อไป

‘พีท ทองเจือ’ สุดปลื้ม!! อวดรูป ‘น้องมิย่า’ สวมชุดนักศึกษา หลังตั้งใจเรียนจนสอบเทียบเข้ามหาวิทยาลัยได้ในวัย 17 ปี

(4 ก.ค. 66) เรียกได้ว่าเป็นสาวน้อยวัย 17 ปีที่ทั้งสวย เก่ง และมากความสามารถมาก สำหรับ น.ส.พิชชา ทองเจือ หรือ ‘น้องมิย่า’ ลูกสาวคนกลางของ ‘คุณพ่อพีท ทองเจือ’ และ ‘คุณแม่เจ็ง วิไลลักษณ์’

ล่าสุด คุณพ่อพีทได้ออกมาโพสต์คลิปวิดีโอของลูกสาวคนเก่ง ในชุดนักศึกษาผ่านอินสตราแกรมส่วนตัว พร้อมเผยความภูมิใจผ่านทางแคปชันว่า…

“เมื่อวานยังใส่ชุดนักแข่งขึ้นรับรางวัลอยู่เลย วันนี้ใส่ชุดนิสิตซะแล้ว หลังจากตั้งใจและพยายามสอบ จนเข้ามหาวิทยาลัยได้ ในวันเกิดครบรอบ 17 ปีนี้ ตั้งใจทำทุกอย่างให้ดีที่สุด แบบนี้ตลอดไปครับ Congratulations, We’re Always with U”

ทางด้านคุณแม่เจ็งก็ได้โพสต์คลิปวิดีโอเดียวกัน ลงในอินสตาแกรมส่วนตัว พร้อมแคปชันว่า…

“นักศึกษาใหม่เริ่มเรียนวันแรก ดีใจที่หมวยได้กลับมาใช้ชีวิตนักเรียนอีกรอบ ที่ผ่านมาหนูทำงานเยอะมากกก แต่ก็ยังไม่ทิ้งการเรียน สอบเทียบจนผ่านเข้ามหาลัยได้ในวัยอายุ 17 ปี มี๊บันทึกไว้ให้หนูนะหมวย ว่าวันนี้หนูทำได้แล้ว Congratulation นะหมวย สู้ๆ นะคะ 4 ปีแป๊บเดียวเอง #LoveYou #Miyajung”

‘สี จิ้นผิง’ หนุน!! มหาวิทยาลัย บรรจุวิชาจับสายลับลงหลักสูตร เปลี่ยนนักศึกษา ร่วมแรงเป็นนักสืบ สกัดสปายจากต่างแดน

(20 ก.ย. 66) สำนักข่าว Bloomberg รายงานว่า ประธานาธิบดี ‘สี จิ้นผิง’ ได้ยกระดับโปรแกรมป้องกันการสอดแนมของต่างชาติ ที่รัฐบาลจีนมองว่าเป็นภัยต่อความมั่นคง ด้วยการสนับสนุนให้บรรจุวิชาการจับสายลับ ลงในหลักสูตรของหลายสถาบันชั้นนำทั่วประเทศ เพื่อเทรนนักศึกษาจีน ให้ช่วยสอดส่อง และชี้ตัวบุคคลต้องสงสัยที่อาจแฝงตัวมาสืบราชการลับในจีนได้ 

อย่างที่มหาวิทยาลัยชิงหวา ก็ได้มีการอบรมผ่านสื่อวิดีโอแก่นักศึกษา และบุคลากรของสถาบัน กระตุ้นให้ตระหนักถึงบทบาทในการเป็นแนวป้องกันเพื่อต่อต้านภัยคุกคามจากต่างชาติ 

ด้านมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีปักกิ่ง มีการจัดงานเลี้ยงในสวน ที่มีธีมงานเกี่ยวกับประเด็นด้านความมั่นคง  

ส่วนมหาวิทยาลัยเป่ยหาง ซึ่งเป็นสถาบันวิจัยด้านการบิน และอวกาศชั้นนำของจีน ได้พัฒนาเกมที่ชื่อว่า ‘Who's The Spy’ ให้นักศึกษาทดลองเล่นเพื่อจับสังเกต คนที่มีพฤติกรรมเป็นสายลับโดยเฉพาะ 

แคมเปญเสริมหลักสูตรไล่ล่าหาสายลับนี้ ได้รับการสนับสนุนจากกระทรวงความมั่นคงแห่งชาติจีน ซึ่งนอกจากหลักสูตรฝึกอบรมในสถาบันชั้นนำแล้ว ยังจับมือร่วมกับ WeChat แพลตฟอร์มออนไลน์ชื่อดังของจีน ในการเผยแพร่เนื้อหาวิธีการจับตา สอดส่องบุคคลต้องสงสัยแก่ประชาชนทั่วไป เท่านั้นยังไม่พอ รัฐบาลจีนยังตั้งรางวัลนำจับแก่ผู้ที่สามารถชี้ตัวสายลับต่างชาติได้อย่างถูกตัวสูงถึง 5 แสนหยวน (ประมาณ 2.25 ล้านบาท) 

ทั้งนี้ การเร่งเผยแพร่หลักสูตรจับสายลับ เป็นส่วนหนึ่งในนโยบายต่อต้านการสอดแนมของสี จิ้นผิง โดยผู้นำจีน ได้กล่าวในที่ประชุมสภาความมั่นคงแห่งชาติเมื่อช่วงเดือนพฤษภาคม 2566 ที่ผ่านมา เน้นย้ำถึงความสำคัญอย่างยิ่งยวดในการสกัดการสอดแนมในจีนให้ได้ และยกให้เป็นวาระเร่งด่วน เทียบเท่ากับการเตรียมความพร้อมด้านภัยพิบัติ โดยต้องส่งเสริมให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการสอดส่อง เป็นหู เป็นตาให้กับรัฐบาล

จากแคมเปญที่เอาจริง เอาจริงกับการจับสายลับของรัฐบาลจีน ทำให้สื่อต่างชาติอดสงสัยไม่ได้ว่าทำไมผู้นำจีนถึงหวาดระแวงกับการสอดแนมจากต่างชาติมากถึงขนาดต้องเทรนนักศึกษา และประชาชน มาช่วยจับสายลับกับทั้งประเทศ 

และยังเปรียบเทียบแคมเปญจับสายลับของสี จิ้นผิง กับ การสร้างกองกำลัง Red Guard ในสมัยปฏิวัติวัฒนธรรมของอดีตผู้นำ ‘เหมา เจ๋อตุง’ ที่มีการไล่ล่า ลงโทษกลุ่มคนชั้นสูง ที่ไม่จงรักภักดีต่อระบอบสังคมนิยมจีน จนได้ชื่อว่าเป็นยุคที่มีความรุนแรงในสังคมมากที่สุดยุคหนึ่งในประวัติศาสตร์จีน 

โดยความเห็นของ ‘ชีนา เกรทเทน’ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ประจำภาควิชารัฐประศาสนศาสตร์ แห่งมหาวิทยาลัยเท็กซัส - ออสติน มองว่า การสนับสนุนให้ประชาชนจ้องจับผิดซึ่งกันและกัน จะส่งผลเสียต่อการดูแลความเรียบร้อยโดยรวมของรัฐบาลจีน และจะนำมาซึ่งการแจ้งความเท็จ แจ้งความพร่ำเพรื่อ ซ้ำซ้อน กลายเป็นการเพิ่มงานให้แก่เจ้าหน้าที่ด้านความมั่นคงที่ต้องมาสะสาง แยกแยะข้อมูลจำนวนมากเกินความจำเป็น 

และยังเป็นการสร้างบรรยากาศที่ไม่เป็นมิตรต่อนักลงทุนชาวต่างชาติ ที่ต้องระวังการสอดแนมรอบตัว สร้างความหวาดระแวงระหว่างชาวต่างชาติ และชาวจีน ที่อาจทำให้นักลงทุนต่างชาติเกิดความลังเลในการพัฒนาธุรกิจบนแผ่นดินจีนได้ 

แต่ฟาก ‘เฉิน อี้ซิน’ รัฐมนตรีกระทรวงความมั่นคงแสดงความเห็นว่า ความมั่นคงของชาติเป็นเรื่องเกี่ยวกับความมั่นคงทางการเมือง ซึ่งแก่นแท้ของความมั่นคงทางการเมืองคือความมั่นคงของระบอบการปกครอง 

จึงเห็นได้ว่า ผู้นำจีน ให้ความสำคัญกับเสถียรภาพ และความมั่นคงภายในประเทศอย่างมาก และได้ประกาศภารกิจในการกวาดล้างภัยคุกคามจากต่างชาติ มีการขยายกรอบกฎหมายต่อต้านการสอดแนมใหม่ และกวาดล้างเครือข่ายผู้เชี่ยวชาญจีนที่ทำงานให้กับหน่วยข่าวกรองของต่างชาติเป็นจำนวนมาก 

ดังนั้น คงไม่มีอะไรหยุดยั้งแคมเปญปั้นนักเรียนเป็นนักสืบของสี จิ้นผิงได้ ตราบใดที่รัฐบาลจีน และ ชาติตะวันตก ยังแสดงออกถึงความไม่เป็นมิตรอย่างเห็นได้ชัด ความหวาดระแวงต่อกันก็เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้นั่นเอง 

เรื่อง : ยีนส์ อรุณรัตน์

'ดร.เอ้' เชื่อ!! ความรู้ยุคนี้เปิดกว้าง แต่มหาวิทยาลัยก็ยังไม่ถูกทิ้งขว้าง เพราะ 'การอยู่ร่วมกัน-เรียนรู้ชีวิตที่แท้จริง' หาไม่ได้จากสื่อโซเชียล

เมื่อไม่นานมานี้ ติ๊กต็อกช่อง @aesuchatvee ของ ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อดีตผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) อดีตนายกสภาวิศวกร และอดีตนายกวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ได้โพสต์คลิปวิดีโอช่วงหนึ่งของรายการ Secret Sauce หลังจากได้ให้สัมภาษณ์ในประเด็น ‘มหาวิทยาลัยยังจำเป็นอยู่ไหม?’ ในโลกที่เราสามารถเรียนรู้ได้จากหลากหลายแหล่ง ซึ่ง ดร.เอ้ ก็ได้แชร์มุมมองเอาไว้ว่า...

“มหาวิทยาลัยยังจำเป็นอยู่หรือไม่นั้น...เราไม่สามารถตอบได้ อีก 20 ปีอาจจะไม่อยู่แล้วก็ได้ แต่การศึกษาจะยังคงมีอยู่ เพราะฉะนั้นไม่มีใครตอบได้ ดังนั้น แล้วมันยังจําเป็นไหม ขอยืนยันว่าจําเป็น… เพราะมหาวิทยาลัยมันไม่ได้สอนวิชาการเท่านั้น“

จากนั้น ดร.เอ้ ได้ยกภาพยนตร์เรื่อง Good will hunting เพื่ออธิบายต่อว่า “Good will hunting เป็นจุดกําเนิดของ ‘แมตต์ เดม่อน’ กับ ‘เบน แอฟเฟล็ก’ ที่ได้ ‘โรบิน วิลเลียมส์’ มาแสดงเป็นครูมัธยม ซึ่งในหนังพระเอกซึ่งก็คือ แมตต์ เดม่อน รับบทเป็นภารโรงประจำสถาบันเทคโนโลยีแมสซาซูเซตส์ (MIT) แต่เกเร เรียกว่าได้เอาไม่อยู่ จึงต้องให้ครูมัธยมอย่างโรบิน วิลเลียมส์มาสอน ปรากฏว่าเด็กอัจฉริยะคนนี้มันเกเรจริง ๆ จากนั้นโรบิน วิลเลียมส์จึงพาไปนั่งสวนสาธารณะที่บอสตัน ซึ่งฉากนี้เป็นฉากที่ได้รับรางวัลออสการ์ ‘เขียนบทยอดเยี่ยม’ โดยโรบิน วิลเลียมส์ได้พูดกับพระเอกเอาไว้ว่า ‘รู้นะ...ว่าเธออ่านหนังสือทั่วโลกมาแล้ว เธออ่านหนังสือเล่มภายในไม่กี่นาที เธออาจจะรู้นะว่าในโบสถ์ซิสทีนที่วาติกันนั้นไมเคิลแอนเจโลเขียนรูปอะไรไว้บ้าง หรือเขียนรูปพระเจ้าชนนิ้วยังไงบ้าง แต่เธอไม่เคยไป…เพราะฉะนั้นความรู้ที่เธอมีจากที่อ่านมา เธออาจจะตอบคําถามได้ทุกอย่างทั่วโลก แต่เธอไม่เคยไปสัมผัส เธอจึงไม่สามารถเข้าใจได้ว่าแท้จริงแล้วนั้น โบสถ์ซิสทีนไมเคิลแองเจโลทำได้ยังไง…เพราะเธอไม่เคยสัมผัสกลิ่น ไม่ได้รับรู้ถึงบรรยากาศ ซึ่ง ’มหาวิทยาลัย‘ คือตรงนั้น…’

ดังนั้น มหาวิทยาลัยจะเป็นทุกอย่าง ไม่ว่าการอยู่ร่วมกัน เพราะอาจารย์มหาวิทยาลัยในไทยเก่งแค่ไหนก็คงไม่เก่งเท่าอาจารย์ฟิสิกส์ที่ได้ Nobel Prize ที่ฮาเวิร์ดหรือที่ทําพอดแคสต์...อาจารย์ลาดกระบังเก่งแค่ไหน ก็คงสู้วิศวะจากสถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ (MIT) ไม่ได้ เขาก็ไปเรียนได้อยู่แล้ว แต่การมาเรียนที่ ม.ลาดกระบัง, ม.จุฬาฯ, ม.เกษตรฯ, ม.ธรรมศาสตร์ หรือ ม.ราชภัฏต่าง ๆ การมาอยู่ร่วมกัน การได้เป็นศิษย์เป็นครูกัน และการเห็นคนที่เสียสละ…วันหนึ่งนั้นเขาก็ต้องเป็นคุณพ่อคุณแม่ เป็นผู้นําองค์กร และมีครูที่ใกล้ตัวเป็นโรโมเดล ได้ทํากิจกรรมชมรม ออกกําลังกายด้วยกัน รู้แพ้รู้ชนะ โดยถ้าหากแพ้ก็ไม่ได้ชกต่อยกัน สอนให้รู้จักความเป็นผู้นํา ให้รู้จักเสียสละ สิ่งพวกนี้แหละที่ทำให้เห็นว่ามหาวิทยาลัยนั้นยังมีความจําเป็นที่สุด…

สสส.สนับสนุน ม.อ.ทำโครงการสื่อสารณรงค์ลดปัจจัยเสี่ยงทั้งบุหรี่ แอลกอฮอล์และอุบัติเหตุในมหาวิทยาลัยและชุมชน 5 วิทยาเขตภาคใต้

อธิการบดี หวังเป็นต้นแบบจัดตั้งกลไกจัดการปัจจัยเสี่ยง ผู้ทรงคุณวุฒิสสส.ชี้โครงการมีการจัดเก็บข้อมูลพฤติกรรมเสี่ยงก่อนและหลังจัดกิจกรรมเป็นตัวชี้วัดที่ดี เผยผลสำรวจพบการสูบบุหรี่ไฟฟ้ามากขึ้น ส่วนการสวมหมวกกันน็อคลดลง

เช้าวันเสาร์ที่ 6 มกราคม 2567 ณ ห้องประชุมใหญ่ ชั้น ๒ ศูนย์กีฬาและสุขภาพ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา มีการแถลงข่าวเปิดตัว โครงการสานพลังมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์รณรงค์และจัดการความรู้ ลดปัจจัยเสี่ยงในมหาวิทยาลัยและชุมชน โดย ได้รับการสนับสนุนการดำเนินโครงการจาก  สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

​ผศ.ดร.นิวัติ แก้วประดับ อธิการบดี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวว่าต้องขอบคุณ สสส. ที่ให้การสนับสนุนโครงการนี้ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายและทิศทางของมหาวิทยาลัยในการสร้างพื้นที่ปลอดภัยด้านปัจจัยเสี่ยง อุบัติเหตุ บุหรี่ และแอลกอฮอล์ให้กับ นักศึกษาและบุคลากร ของมหาวิทยาลัย เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาที่ยั่งยืนทำให้คนมีชีวิตที่มีสุขภาพดีและส่งเสริมสวัสดิภาพสำหรับคนทุกวัยและเป็นไปตามค่านิยมหลัก คือ มีความเป็นมืออาชีพ ความรับผิดชอบต่อสังคม และความเป็นเอกภาพ เป็นหนึ่งเดียว ด้วยวัฒนธรรมองค์กรที่ยึดถือประโยชน์ของเพื่อนมนุษย์เป็นกิจที่หนึ่ง โดยมหาวิทยาลัยได้ กำหนดวัตถุประสงค์เชิงกลยุทธ์ที่สำคัญคือ สร้างสรรค์องค์ความรู้และนวัตกรรมด้านสุขภาพและการแพทย์ ด้วยการสร้างพื้นที่ปลอดภัยจากปัจจัยเสี่ยงด้านสุขภาพและสังคมที่สำคัญทั้งอุบัติเหตุ บุหรี่ และแอลกอฮอล์

อธิการบดีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์กล่าวต่อว่า มหาวิทยาลัยมี นโยบายที่สำคัญ 8 ด้านคือ การสนับสนุนการทำงานทางด้านวิชาการ การจัดการความรู้ เพื่อขับเคลื่อน การลดปัจจัยเสี่ยงระดับนโยบายของมหาวิทยาลัย การพัฒนากลไกจัดการปัจจัยเสี่ยงในมหาวิทยาลัย และชุมชนรอบมหาวิทยาลัยครอบคลุมทั้ง 5 วิทยาเขต การรณรงค์และสื่อสารสร้างสรรค์เพื่อการเปลี่ยนแปลง มุ่งเน้นการสื่อสารรณรงค์ลดพฤติกรรมเสี่ยงในมหาวิทยาลัย และประชาชนในชุมชนเป้าหมาย การประกาศนโยบายคุ้มครองสุขภาพผู้ไม่สูบบุหรี่และจัดเขตสูบบุหรี่เป็นการเฉพาะ นำไปสู่การพัฒนามหาวิทยาลัยเป็นมหาวิทยาลัยปลอดบุหรี่อย่างยั่งยืน การสนับสนุนระบบการขนส่งรถสาธารณะในมหาวิทยาลัยเพื่อลดการใช้รถจักรยานยนต์ และ รถยนต์ ส่วนตัว การปรับสภาพถนนและสภาพแวดล้อมที่เสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุให้ปลอดภัย การสนับสนุนและส่งเสริมเพื่อพัฒนาไปสู่การเป็นมหาวิทยาลัยสร้างเสริมสุขภาพ และการร่วมมือกับองค์กร ภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐ ภาคเอกชนและภาคประชาสังคม เพื่อนำไปสู่การสร้างกลไกให้มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์เป็นต้นแบบการจัดการปัจจัยเสี่ยงสุขภาพและ ปัจจัยเสี่ยงสังคม

ด้านนายวิเชษฐ์ พิชัยรัตน์ ผู้ทรงคุณวุฒิ กองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) กล่าวว่า สสส.เห็นความตั้งใจของผู้บริหาร บุคลากร ของมหาวิทยาลัยรวมทั้งบัณฑิตอาสาที่ต้องการดำเนินงานสื่อสารณรงค์ลดปัจจัยเสี่ยงทั้งภายในมหาวิทยาลัยและชุมชนรอบ มหาวิทยาลัย จึงให้การสนับสนุนงบประมาณเพื่อดำเนินโครงการโดยเชื่อมั่นว่า  ด้วยบทบาทของการเป็นมหาวิทยาลัยที่มีความเข้มแข็งทางวิชาการและการทำงานรับใช้ชุมชนจะทำให้โครงการนี้เป็นแบบอย่างของ การดำเนินกิจกรรมสร้างเสริมสุขภาพที่สามารถประเมินผลลัพธ์ของโครงการได้เนื่องจากมีการจัดเก็บข้อมูลพฤติกรรมเสี่ยงภายใน 5 วิทยาเขตและชุมชนเป้าหมายก่อนเข้าไปดำเนินโครงการเพื่อนำมาเป็นข้อมูลในการจัดกิจกรรมสื่อสาร รณรงค์ลดปัจจัยเสี่ยงได้ตรงตามเป้าหมาย หลังจากนั้นจะมีการจัดเก็บขอมูลอีกครั้งก่อนจบโครงการเพื่อเปรียบเทียบว่าผลจากการจัดกิจกรรมต่างๆได้ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทั้งความรู้ ความคิดและพฤติกรรมของบุคลากรในมหาวิทยาลัยและคนในชุมชนอย่างไร เพื่อที่ในอนาคตหากมหาวิทยาลัยต้องการขยายผลหรือขยายพื้นที่ในการดำเนินงานในวงกว้างมากขึ้นก็จะทำให้ประชาชนชุมชนและสังคมโดยรวมมีสุขภาวะที่ดีขึ้นซึ่ง สสส.ก็ยินดีที่จะสนับสนุนบทบาทเหล่านี้ต่อไปในอนาคต

ขณะที่ รศ.ดร.นฤทธิ์ ดวงสุวรรณ์ หัวหน้าโครงการฯกล่าวถึงวัตถุประสงค์ ของโครงการว่าเพื่อศึกษาสถานการณ์ด้านปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพและทางสังคมด้านยาสูบ แอลกอฮอล์ และอุบัติเหตุ ทั้ง ภายใน 5 วิทยาเขตและชุมชนเป้าหมาย นอกจากนั้นยังต้องการให้เกิดการสร้างและพัฒนากลไกการจัดการปัจจัยเสี่ยงทั้งในระดับมหาวิทยาลัยและชุมชนควบคู่กับการสร้างและพัฒนานักรณรงค์สุขภาวะรุ่นใหม่จากนักศึกษา บุคลากรในมหาวิทยาลัย บัณฑิตอาสา และประชาชนเป้าหมาย ให้มีส่วนร่วมในการรณรงค์ สื่อสารสร้างการรับรู้เพื่อสร้างความเปลี่ยนทางความคิดและนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม และสุดท้ายคือการจัดการความรู้ที่ได้จากการสำรวจ สถานการณ์สุขภาพ การจัดกิจกรรมเพื่อสื่อสาร การถอดบทเรียนและการใช้ประโยชน์ในการขับเคลื่อนนโยบายในระดับต่างๆต่อไป   โดยมีระยะเวลาดำเนินงาน 18 เดือน  ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2566  ที่ผ่านมาจนถึงวันที่ 15 มกราคม 2568 งบประมาณรวม  4,994,000 บาทถ้วน

หัวหน้าโครงการฯได้ให้รายละเอียดเพิ่มเติมว่า 3 ประเด็นปัจจัยเสี่ยงที่แต่ละวิทยาเขตเลือกคือ. บุหรี่ และบุหรี่ไฟฟ้า วิทยาเขตปัตตานีและวิทยาเขตภูเก็ตจะเป็นผู้ดำเนินการ เรื่องอุบัติเหตุ วิทยาเขตหาดใหญ่และ วิทยาเขตตรัง จะเป็นผู้ดำเนินการ ส่วนแอลกอฮอล์ วิทยาเขตสุราษฎร์เป็นผู้ดำเนินการ ในขณะที่การเลือก ชุมชนเป้าหมายนั้น วิทยาเขตปัตตานี เลือกตำบลบ้านตรัง อำเภอมายอ จังหวัดปัตตานี วิทยาเขตหาดใหญ่ เลือกเขตเทศบาลเมืองคอหงส์ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา วิทยาเขตตรัง เลือกตำบลควนปริง อำเภอเมือง จังหวัดตรัง วิทยาเขตภูเก็ต เลือกพื้นที่ชุมชนเขาน้อย ต.กระทู้ อำเภอกะทู้ จังหวัดภูเก็ต วิทยาเขตสุราษฎร์ธานี เลือกตำบลขุนทะเล อำเภอเมือง จังหวัดสุราษฏร์ธานี ซึ่งที่ผ่านมาแต่ละวิทยาเขตได้ลงพื้นที่จัดเก็บข้อมูลเสร็จเรียบร้อยแล้วพร้อมกับการวิเคราะห์ วางแผนกำหนดแนวทาง รูปแบบการสื่อสารและณรงค์ต่อไป โดยหลังจากการแถลงข่าวจะมีการจัดอบรมพัฒนาศักยภาพด้านการสื่อสารและการรณรงค์ให้แก่ อาสาสมัครที่เข้าร่วมโครงการทั้ง 5 วิทยาเขตด้วย  

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าข้อมูลที่มีการจัดเก็บสถานการณ์ปัจจัยเสี่ยงในมหาวิทยาลัยและชุมชนมีข้อมูลที่น่าสนใจ เช่น ด้านบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้านั้นแม้ผู้ตอบส่วนใหญ่จะตอบว่าไม่ได้สูบบุหรี่ แต่มีอยู่ประมาณ 5 %ที่สูบบุหรี่ไฟฟ้าในรูปแบบของพอตที่หน้าตาเหมือนของเล่นและแบบแท้งค์น้ำยา ส่วนใหญ่หาซื้อเอง ส่วนการสูบบุหรี่มวนมีทั้งสูบตั้งแต่ 2-5 มวนต่อวันไปจนถึง 11-20 มวนต่อวัน ด้านอุบัติเหตุนั้นพบข้อมูลที่คล้ายคลึงกันคือผู้ขับขี่มอเตอร์ไซค์ไม่สวมหมวกกันน็อค อยู่ระหว่าง 24%-47.1% ส่วนคนซ้อนไม่สวมหมวกกันน็อคอยู่ระหว่าง 17.6%-44.6% สะท้อนว่าการสวมหมวกกันน็อคลดลงเรื่อยๆ ส่วนประเด็นแอลกอฮอล์นั้นพบว่าพฤติกรรมการดื่ม 37.2% จะดื่มที่บ้านตัวเองและที่พัก รองลงมา33.5% ดื่มในงานเลี้ยงและงานเทศกาล

2 มหาวิทยาลัยดังสิงคโปร์ เตรียมเก็บค่าเข้าชมพื้นที่ หลังคณะทัวร์ล้นทะลัก กระทบชีวิตนักศึกษาหลายด้าน

(7 ก.พ. 67) กลายเป็นกระแสทั่วโซเชียล เมื่อมหาวิทยาลัยชื่อดังของสิงคโปร์ออกกฎ ‘เก็บเงินค่าเข้าชม’ หลังนักท่องเที่ยวแห่เข้ามาเยี่ยมชมในพื้นที่มหาวิทยาลัย จนส่งผลกระทบต่อนักศึกษา

มหาวิทยาลัยชื่อดังของสิงคโปร์ 2 แห่ง ได้แก่ Nanyang Technological University (NTU) และ National University of Singapore (NUS) เจอสถานการณ์ ‘ทัวร์ลง’ ของจริง จนต้องออกมาตรการเพื่อลดจำนวนคณะทัวร์ที่จะเข้ามาท่องเที่ยวในพื้นที่

สำนักข่าว South China Morning Post (SCMP) รายงานว่า มหาวิทยาลัยดังทั้งสองแห่งเผชิญปัญหาเดียวกันในระยะหลัง คือมีคณะทัวร์เข้ามาเป็นคันรถจนทำให้การจราจรติดขัด และไม่ใช่แค่ชมภายนอกอาคาร แต่ลามเข้าไปถึงในภายใน 

นักท่องเที่ยวมักจะเข้ามาดูและถ่ายรูปในพื้นที่อ่านหนังสือ ส่งเสียงดังภายในอาคารจนรบกวนสมาธิ แม้กระทั่งเนียนเข้าไปนั่งฟังเลคเชอร์ในห้องเรียน และที่หนักที่สุดคือนักท่องเที่ยวจะต่อคิวร่วมกินข้าวเที่ยงในโรงอาหารด้วย จนนักศึกษาต้องรอคิวซื้อข้าวเป็นชั่วโมง และนักท่องเที่ยวยังร่วมใช้รถชัตเติลบัสภายในวิทยาเขต ทำให้ที่นั่งเต็ม นักศึกษาต้องรอคิวขึ้นรถ ทั้งหมดนี้ทำให้นักศึกษาไม่สะดวกในการจัดการเวลาและเข้าเรียนสาย

เหตุการณ์ปั่นป่วนเริ่มหนักข้อขึ้นเรื่อย ๆ ตั้งแต่ปลายปี 2023 จนทำให้ NTU ออกกฎใหม่ ตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2024 เอเยนซีทัวร์ทั้งหลายที่จะพาทัวร์มาลงในวิทยาเขตจะต้องขออนุญาตมหาวิทยาลัยก่อน และต้องลงทะเบียนคณะทัวร์ผ่านช่องทางออนไลน์ มีการจองตารางเข้าชมล่วงหน้า 

รวมถึงต่อไป NTU จะเก็บ ‘ค่าเข้าชม’ เพื่อใช้บำรุงรักษาสถานที่ และเป็นการควบคุมจำนวนพาหนะเข้าออกพื้นที่ โดยขณะนี้ยังไม่ประกาศราคาและเงื่อนไข

บริษัททัวร์หลายแห่งให้สัมภาษณ์กับ SCMP ว่า นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่ที่ต้องการทัวร์มหาวิทยาลัยมักจะมาจาก ‘จีน’ และประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เหตุเพราะพ่อแม่ผู้ปกครองต้องการจะพาลูก ๆ วัยประถมถึงมัธยมมาเพื่อ ‘สัมผัสประสบการณ์ชีวิตในรั้วมหาวิทยาลัย’ ที่มีชื่อเสียงอันดับต้น ๆ ของเอเชีย

Times Higher Education นิตยสารอังกฤษที่มักจะจัดอันดับมหาวิทยาลัยที่ดีที่สุดทั่วโลกทุกปี เมื่อปี 2023 จัดอันดับ NUS เป็นอันดับ 3 ของเอเชียและอันดับ 19 ของโลก ส่วน NTU ถือเป็นอันดับ 5 ของเอเชียและอันดับ 36 ของโลก

นอกจากชื่อเสียงในด้านการศึกษาแล้ว ทั้งสองมหาวิทยาลัยยังโดดเด่นด้านสถาปัตยกรรมด้วย โดยเฉพาะ NTU ที่มีอาคารที่เป็นไอคอนอย่าง ‘The Hive’ อาคารที่มีรูปร่างเหมือนตะกร้าติ่มซำเรียงซ้อนกัน ทำให้ใคร ๆ ก็อยากเข้ามาถ่ายรูป


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top