‘บิ๊กตู่’ สั่ง ติดตามการพัฒนาระบบคลาวด์กลางของ สธ. เชื่อมโยงข้อมูลแบบดิจิทัลให้เข้าถึงได้สะดวก-ปลอดภัย

(7 มี.ค. 66) นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ให้ความสำคัญระบบการดูแลสุขภาพของประชาชนทุกคนทั่วประเทศ สั่งการหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ติดตามใกล้ชิด ย้ำการทำงานของรัฐบาลต้องพัฒนาระบบคลาวด์กลางด้านสาธารณสุขของไทย (National Health Information Platform) เชื่อมโยงข้อมูล เพิ่มความปลอดภัยให้กับทุกชีวิต และอำนวยความสะดวกให้ประชาชนเข้าถึงระบบสาธารณสุขอย่างทั่วถึง

นายอนุชา กล่าวว่า ตามผลการประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 24 มกราคม 2566 เห็นชอบให้กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ดำเนินโครงการพัฒนาระบบคลาวด์กลางด้านสาธารณสุขของไทย วงเงิน 1,514 ล้านบาท เพื่อพัฒนาระบบบริการและระบบบริหารจัดการสุขภาพ เชื่อมโยงระบบการดูแลสุขภาพแบบดิจิทัลเพื่ออนาคต (Digitally connected health care system of the future) เชื่อมโยงและแลกเปลี่ยนข้อมูลสุขภาพได้อย่างมีประสิทธิภาพ ปลอดภัย ไร้รอยต่อและได้รับการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลตามกฎหมาย ตลอดจนประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูลสุขภาพของตนเอง

นายอนุชา กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีห่วงใยประชาชน ย้ำการทำงานเพื่อดูแลสุขภาพประชาชน สั่งการการทำงานของทุกหน่วยงานให้เป็นไปตามกรอบเวลา พัฒนาระบบได้จริงตามกรอบแนวคิดเพื่อเชื่อมโยงทั้ง ระบบการแลกเปลี่ยนข้อมูลสุขภาพสำหรับเขตสุขภาพ (MOPH Data Exchange Gateway) เพื่อรองรับการเชื่อมโยงข้อมูลการรักษาพยาบาลของโรงพยาบาล ระบบการเชื่อมโยงและแลกเปลี่ยนข้อมูลกลาง (Central Data Exchange Service) และพัฒนาแพลตฟอร์มสารสนเทศกลาง เพื่อให้บริการผู้ป่วยนอก สำหรับโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล เพื่อการบันทึกข้อมูลสุขภาพ เชื่อมโยงข้อมูลในการรับ - ส่งต่อ และการส่งรายงานด้านสาธารณสุข

นายอนุชา กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีเป็นผู้ที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาระบบการดูแลด้านสาธารณสุขของประชาชนมาโดยตลอด ยืนยันการทำงานของรัฐบาลเพื่อให้ประชาชนทุกคนเข้าถึงระบบการสาธารณสุขที่ดีขึ้น สะดวก รวดเร็ว ปลอดภัย เข้าถึงได้ทุกคน ซี่งนายกรัฐมนตรีเชื่อมั่นว่าระบบคลาวด์กลางด้านสาธารณสุขนี้ จะยกระดับคุณภาพชีวิตให้ประชาชนที่ใช้บริการผ่านโรงพยาบาลในสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขรวม 901 แห่ง โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล จำนวน 9,000 แห่ง และทำให้โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล อย่างน้อย 4,500 แห่ง เชื่อมโยงข้อมูลคนไข้ รองรับการให้บริการทางการแพทย์ทางไกล (Telemedicine) รวมทั้งประชาชนเข้าถึงข้อมูลสุขภาพของตนเองได้สะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น ซึ่งหมายความว่าประชาชนทุกคนจะได้รับการดูแลทางสาธารณสุขผ่านระบบดิจิทัลอย่างเป็นสากล