หมอชี้ 'บุฟเฟต์-หมูกระทะ' ทำคนไทยกินเค็มเกินเกณฑ์ 2 เท่า เร่งรณรงค์ 'ลดเค็ม ลดโรค' หลังยอดผู้ป่วย NCDs ทะลุ 22 ล้านคน!!

(7 ก.พ. 66) นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค สธ. กล่าวว่า โรคไม่ติดต่อ (NCDs) เป็นปัญหาสุขภาพระดับประเทศ อัตราการเสียชีวิตของคนไทยจากโรค NCDs สูงถึง 73% สาเหตุหนึ่งมาจากการบริโภคอาหารหวาน มัน เค็มล้นเกิน โดยเฉพาะบริโภคโซเดียม 9.1 กรัม/วัน สูงกว่าที่องค์การอนามัยโลก (WHO) แนะนำกว่า 1.8 เท่า (ไม่ควรบริโภคเกิน 5 กรัม/วัน) การได้รับโซเดียมเกินเป็นเวลานาน อาจเกิดภาวะความดันโลหิตสูง ที่จะส่งผลให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่อันตราย มีผู้ป่วยโรคที่สัมพันธ์กับการบริโภคโซเดียมถึง 22.05 ล้านคน ทั้งโรคความดันโลหิตสูง 13.2 ล้านคน โรคไต 7.6 ล้านคน โรคหัวใจขาดเลือด 7.5 แสนคน โรคหลอดเลือดสมอง 5 แสนคน

“ยุทธศาสตร์การลดการบริโภคเกลือและโซเดียมในไทย (พ.ศ. 2559-2568) ตั้งเป้าลดบริโภคโซเดียมลง 30% ภายในปี 2568 สธ. สสส. และภาคี เร่งดำเนินงานผ่าน 4 ประเด็น คือ

1.) ปรับสูตรในอุตสาหกรรมอาหารแบบสมัครใจ
2.) ปรับสูตรอาหารที่ร้านจำหน่ายริมทางแบบสมัครใจ
3.) สื่อสารสร้างความรู้ผ่านฉลากโภชนาการหน้าบรรจุภัณฑ์แบบ GDA อย่างง่าย 'ฉลากทางเลือกเพื่อสุขภาพ'
4.) กิจกรรมสร้างสภาพแวดล้อมให้ประชาชนได้บริโภคอาหารลดเกลือและโซเดียม

ทั้ง รพ.เค็มน้อย อร่อย 3 ดี, สถานที่ทำงาน, สถานประกอบการ และชุมชนลดเค็ม เพื่อให้บรรลุเป้าหมายประชาชนมีสุขภาพดีจากการบริโภคเกลือและโซเดียมลดลง” นพ.ธเรศ กล่าว

นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้ช่วยผู้จัดการกองทุน สสส. กล่าวว่า สสส. สานพลังเครือข่ายลดบริโภคเค็ม พัฒนาองค์ความรู้ นวัตกรรม และผลักดันให้เกิดนโยบายสาธารณะ พัฒนานวัตกรรมสูตรอาหารโดยใช้สารทดแทนความเค็ม ต้นแบบผลิตภัณฑ์อาหารลดโซเดียม เครื่องตรวจสอบความเค็มในอาหาร (Salt Meter) ฐานข้อมูลโซเดียมในวัตถุดิบอาหาร-เครื่องปรุงรสเค็ม ล่าสุด พัฒนาแคมเปญรณรงค์ 'ลดซด ลดปรุง ลดโรค' สื่อสารความรู้ให้เกิดความตระหนักภัยร้ายจากการบริโภคโซเดียมเกินมาตรฐาน นำไปสู่การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เริ่มต้นจากลดการซดน้ำซุป, น้ำผัด, น้ำแกง, น้ำยำ เน้นเลือกบริโภคเนื้อสัตว์ ผักในมื้ออาหาร ติดตามได้ทางเฟซบุ๊กแฟนเพจ ลดพุง ลดโรค

ทั้งนี้ การช่วยให้ลดบริโภคเค็ม ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเรื่องรสชาติเป็นเรื่องยาก เพราะผู้บริโภคยังคงติดอาหารรสจัด การรับรสเค็มในอาหาร แต่ละคนแตกต่างกันขึ้นอยู่กับความเคยชิน การสร้างความตระหนักรู้จึงสำคัญ ขณะนี้ สสส. ร่วมกรมควบคุมโรค กรมสรรพสามิต เครือข่ายลดบริโภคเค็ม คณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี เดินหน้าขับเคลื่อนมาตรการลดการบริโภคเกลือโซเดียม ขับเคลื่อนมาตรการภาษีโซเดียม สร้างกติกากลางให้ภาคอุตสาหกรรม เพื่อขยายผลการปรับสูตรลดปริมาณโซเดียมในผลิตภัณฑ์อาหาร ปกป้องสุขภาพประชาชนอย่างต่อเนื่อง

รศ.นพ.สุรศักดิ์ กันตชูเวสศิริ ประธานเครือข่ายลดบริโภคเค็ม กล่าวว่า การกินเค็มเป็นภัยเงียบ อาจไม่เห็นผลทันที ยกเว้นคนที่ไวต่อการกินเค็ม เช่น ผู้สูงอายุหรือคนที่มีโรคประจำตัว จะมีอาการตาบวม ขาบวม ความดันโลหิตสูงขึ้น ปวดหัว หิวน้ำบ่อย ที่น่ากังวลคือ มีผู้ป่วยโรคไตหรือไตวายอายุน้อยลงอยู่ที่ 35–40 ปี จากเดิมที่อยู่ที่ 50–60 ปี สาเหตุหลักของการติดบริโภคเค็มมี 2 ปัจจัย คือ

1.) วัฒนธรรมการบริโภคที่เปลี่ยนไป นิยมอาหารสำเร็จรูป บุฟเฟต์ปิ้งย่าง หมูกระทะ อาหารญี่ปุ่น-เกาหลี ที่มีรสเค็มจัดจากการหมักดองเกลือ/เครื่องปรุงจำนวนมาก เมื่อบริโภคสะสมจะติดรสเค็มโดยไม่รู้ตัว
2.) บริโภคเค็มตั้งแต่เด็ก ทั้งขนมกรุบกรอบ บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป โจ๊กซอง-ถ้วย หรืออาหารที่ผู้ปกครองปรุงเค็มเกิน

“ผลการสำรวจปริมาณโซเดียมในอาหารด้วยนวัตกรรม Salt Meter ในพื้นที่นำร่องบริการสุขภาพ เขต 1, 2, 3, 8, 10 พบร้านค้ากว่า 95% ใช้ผงปรุงรสสำเร็จรูปมากกว่าเคี่ยวน้ำซุปด้วยผักหรือเนื้อสัตว์ เพราะมีต้นทุนที่ถูกกว่า ที่สำคัญยังพบว่า การใช้นวัตกรรม Salt Meter ร่วมกับการให้ความรู้ในชุมชน สามารถลดความดันโลหิตและลดการบริโภคเค็มในกลุ่มผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงได้จริง เป็นวิธีที่ง่าย ไม่ต้องส่งตรวจห้องปฏิบัติการทางอาหาร และแสดงผลได้รวดเร็ว สร้างความตื่นตัวให้ประชาชน มุ่งเป้าขยายผลการทำงานร่วมกับฝ่ายบุคลากรของหน่วยงานเอกชน ส่งเสริมการใช้นวัตกรรม Salt Meter เป็นอุปกรณ์ช่วยปรับปรุงสูตรลดเค็มในร้านอาหารและศูนย์การค้า” รศ.นพ.สุรศักดิ์ กล่าว

นพ.กฤษฎา หาญบรรเจิด ผอ.กองโรคไม่ติดต่อ กรมควบคุมโรค กล่าวว่า แนวทางการดำเนินงานเฝ้าระวังและลดเค็มในระดับจังหวัดปี 2566 มี 6 ข้อ

1.) จัดทำข้อมูลสถานการณ์บริโภคอาหารและแหล่งอาหารที่มีเกลือและโซเดียมสูงด้วยเครื่อง Salt Meter
2.) จัดทำแผนปฏิบัติการระดับจังหวัดและอำเภอ
3.) จัดการสิ่งแวดล้อมในโรงเรียน โรงพยาบาล สถานที่ทำงาน สถานประกอบการ และชุมชน
4.) ปรับลดปริมาณเกลือและโซเดียมในอาหารที่จำหน่าย
5.) ให้ความรู้ถึงผลกระทบ พร้อมสำรวจการประเมินความตระหนักรู้ ความเสี่ยงของคนในพื้นที่
6.) ขยายพื้นที่ชุมชนลดเค็ม 48 ชุมชน ป้องกัน ควบคุมโรคไตในชุมชน ผ่านกลไกคณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับอำเภอ (พชอ.) มีจังหวัดที่ร่วมดำเนินงานใน พ.ศ. 2563–2566 รวม 36 จังหวัด มุ่งเป้าขยายผลให้ครอบคลุมทั่วประเทศภายใน พ.ศ. 2568

ศ.นพ.บรรจง มไหสวริยะ อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมขับเคลื่อนการลดบริโภคเค็มผ่านโครงการสังเคราะห์นโยบาย เพื่อขับเคลื่อนกลยุทธ์การปรับขยายมาตรการใช้เครื่องตรวจวัดโซเดียมคลอไรด์ในอาหาร ร่วมกับการให้ความรู้ในชุมชนของประเทศไทยนอกพื้นที่นำร่อง

รวมถึงได้จัดโครงการ 'มหาวิทยาลัยสุขภาพดี ด้วยนโยบายลดเค็ม Healthy University : Low Sodium Policy' ที่มุ่งเน้นการพัฒนาองค์ความรู้ ทำความเข้าใจกับผู้บริโภค, แม่ครัวผู้ปรุงอาหาร, บุคลากร, นักศึกษา ให้มีความรู้และลดการบริโภคเค็ม พร้อมพัฒนากิจกรรมต้นแบบอย่างต่อเนื่อง เช่น การจัดตลาดนัด 'Low salt Market' การประกวดอาหารลดเค็ม (แต่ยังอร่อย), การประกวด 'Low salt video clip', กิจกรรม 'Hackathon ลดเค็ม' สร้างนวัตกรรมลดเค็มในรูปแบบต่าง ๆ โดยนักศึกษา สำหรับใช้ขยายผลในการรณรงค์ลดการบริโภคเกลือโซเดียมต่อไป


ที่มา : https://mgronline.com/qol/detail/9660000012082