Sunday, 19 May 2024
ปัญหาสุขภาพ

หมอชี้ 'บุฟเฟต์-หมูกระทะ' ทำคนไทยกินเค็มเกินเกณฑ์ 2 เท่า เร่งรณรงค์ 'ลดเค็ม ลดโรค' หลังยอดผู้ป่วย NCDs ทะลุ 22 ล้านคน!!

(7 ก.พ. 66) นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค สธ. กล่าวว่า โรคไม่ติดต่อ (NCDs) เป็นปัญหาสุขภาพระดับประเทศ อัตราการเสียชีวิตของคนไทยจากโรค NCDs สูงถึง 73% สาเหตุหนึ่งมาจากการบริโภคอาหารหวาน มัน เค็มล้นเกิน โดยเฉพาะบริโภคโซเดียม 9.1 กรัม/วัน สูงกว่าที่องค์การอนามัยโลก (WHO) แนะนำกว่า 1.8 เท่า (ไม่ควรบริโภคเกิน 5 กรัม/วัน) การได้รับโซเดียมเกินเป็นเวลานาน อาจเกิดภาวะความดันโลหิตสูง ที่จะส่งผลให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่อันตราย มีผู้ป่วยโรคที่สัมพันธ์กับการบริโภคโซเดียมถึง 22.05 ล้านคน ทั้งโรคความดันโลหิตสูง 13.2 ล้านคน โรคไต 7.6 ล้านคน โรคหัวใจขาดเลือด 7.5 แสนคน โรคหลอดเลือดสมอง 5 แสนคน

“ยุทธศาสตร์การลดการบริโภคเกลือและโซเดียมในไทย (พ.ศ. 2559-2568) ตั้งเป้าลดบริโภคโซเดียมลง 30% ภายในปี 2568 สธ. สสส. และภาคี เร่งดำเนินงานผ่าน 4 ประเด็น คือ

1.) ปรับสูตรในอุตสาหกรรมอาหารแบบสมัครใจ
2.) ปรับสูตรอาหารที่ร้านจำหน่ายริมทางแบบสมัครใจ
3.) สื่อสารสร้างความรู้ผ่านฉลากโภชนาการหน้าบรรจุภัณฑ์แบบ GDA อย่างง่าย 'ฉลากทางเลือกเพื่อสุขภาพ'
4.) กิจกรรมสร้างสภาพแวดล้อมให้ประชาชนได้บริโภคอาหารลดเกลือและโซเดียม

ทั้ง รพ.เค็มน้อย อร่อย 3 ดี, สถานที่ทำงาน, สถานประกอบการ และชุมชนลดเค็ม เพื่อให้บรรลุเป้าหมายประชาชนมีสุขภาพดีจากการบริโภคเกลือและโซเดียมลดลง” นพ.ธเรศ กล่าว

นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้ช่วยผู้จัดการกองทุน สสส. กล่าวว่า สสส. สานพลังเครือข่ายลดบริโภคเค็ม พัฒนาองค์ความรู้ นวัตกรรม และผลักดันให้เกิดนโยบายสาธารณะ พัฒนานวัตกรรมสูตรอาหารโดยใช้สารทดแทนความเค็ม ต้นแบบผลิตภัณฑ์อาหารลดโซเดียม เครื่องตรวจสอบความเค็มในอาหาร (Salt Meter) ฐานข้อมูลโซเดียมในวัตถุดิบอาหาร-เครื่องปรุงรสเค็ม ล่าสุด พัฒนาแคมเปญรณรงค์ 'ลดซด ลดปรุง ลดโรค' สื่อสารความรู้ให้เกิดความตระหนักภัยร้ายจากการบริโภคโซเดียมเกินมาตรฐาน นำไปสู่การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เริ่มต้นจากลดการซดน้ำซุป, น้ำผัด, น้ำแกง, น้ำยำ เน้นเลือกบริโภคเนื้อสัตว์ ผักในมื้ออาหาร ติดตามได้ทางเฟซบุ๊กแฟนเพจ ลดพุง ลดโรค

ทั้งนี้ การช่วยให้ลดบริโภคเค็ม ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเรื่องรสชาติเป็นเรื่องยาก เพราะผู้บริโภคยังคงติดอาหารรสจัด การรับรสเค็มในอาหาร แต่ละคนแตกต่างกันขึ้นอยู่กับความเคยชิน การสร้างความตระหนักรู้จึงสำคัญ ขณะนี้ สสส. ร่วมกรมควบคุมโรค กรมสรรพสามิต เครือข่ายลดบริโภคเค็ม คณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี เดินหน้าขับเคลื่อนมาตรการลดการบริโภคเกลือโซเดียม ขับเคลื่อนมาตรการภาษีโซเดียม สร้างกติกากลางให้ภาคอุตสาหกรรม เพื่อขยายผลการปรับสูตรลดปริมาณโซเดียมในผลิตภัณฑ์อาหาร ปกป้องสุขภาพประชาชนอย่างต่อเนื่อง

รศ.นพ.สุรศักดิ์ กันตชูเวสศิริ ประธานเครือข่ายลดบริโภคเค็ม กล่าวว่า การกินเค็มเป็นภัยเงียบ อาจไม่เห็นผลทันที ยกเว้นคนที่ไวต่อการกินเค็ม เช่น ผู้สูงอายุหรือคนที่มีโรคประจำตัว จะมีอาการตาบวม ขาบวม ความดันโลหิตสูงขึ้น ปวดหัว หิวน้ำบ่อย ที่น่ากังวลคือ มีผู้ป่วยโรคไตหรือไตวายอายุน้อยลงอยู่ที่ 35–40 ปี จากเดิมที่อยู่ที่ 50–60 ปี สาเหตุหลักของการติดบริโภคเค็มมี 2 ปัจจัย คือ

1.) วัฒนธรรมการบริโภคที่เปลี่ยนไป นิยมอาหารสำเร็จรูป บุฟเฟต์ปิ้งย่าง หมูกระทะ อาหารญี่ปุ่น-เกาหลี ที่มีรสเค็มจัดจากการหมักดองเกลือ/เครื่องปรุงจำนวนมาก เมื่อบริโภคสะสมจะติดรสเค็มโดยไม่รู้ตัว
2.) บริโภคเค็มตั้งแต่เด็ก ทั้งขนมกรุบกรอบ บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป โจ๊กซอง-ถ้วย หรืออาหารที่ผู้ปกครองปรุงเค็มเกิน

“ผลการสำรวจปริมาณโซเดียมในอาหารด้วยนวัตกรรม Salt Meter ในพื้นที่นำร่องบริการสุขภาพ เขต 1, 2, 3, 8, 10 พบร้านค้ากว่า 95% ใช้ผงปรุงรสสำเร็จรูปมากกว่าเคี่ยวน้ำซุปด้วยผักหรือเนื้อสัตว์ เพราะมีต้นทุนที่ถูกกว่า ที่สำคัญยังพบว่า การใช้นวัตกรรม Salt Meter ร่วมกับการให้ความรู้ในชุมชน สามารถลดความดันโลหิตและลดการบริโภคเค็มในกลุ่มผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงได้จริง เป็นวิธีที่ง่าย ไม่ต้องส่งตรวจห้องปฏิบัติการทางอาหาร และแสดงผลได้รวดเร็ว สร้างความตื่นตัวให้ประชาชน มุ่งเป้าขยายผลการทำงานร่วมกับฝ่ายบุคลากรของหน่วยงานเอกชน ส่งเสริมการใช้นวัตกรรม Salt Meter เป็นอุปกรณ์ช่วยปรับปรุงสูตรลดเค็มในร้านอาหารและศูนย์การค้า” รศ.นพ.สุรศักดิ์ กล่าว

‘พปชร.’ เปิดเวทีให้ ปชช.ร่วมระดมสมอง-ถกปัญหาสุขภาพ หลังได้รับผลกระทบจากโรคระบาด-อากาศที่เปลี่ยนแปลงบ่อย

(15 มี.ค. 66) นายรัฐภูมิ โตคงทรัพย์ ทีมโฆษกพรรคพลังประชารัฐ (พปชร. ) และ ภญ.นพวรรณ หัวใจมั่น ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.กทม.เขตบางเขน ร่วมการเสวนาเพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในหัวข้อ ‘สานพลัง เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิต’ โดยหน่วยงานสาธารณสุข ประกอบด้วย นายแพทย์จิรวัฒน์ เชี่ยวเฉลิมศรี อาจารย์อายุรแพทย์โรคภูมิแพ้และภูมิคุ้มกันทางคลินิก ศูนย์การแพทย์ปัญญานันทภิกขุ ชลประทาน มหาวิทยาลัยศรนีนครินทร์วิโรฒ และ ศ.ดร.ศิวัช พงษ์เพียจันทร์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาการป้องกันและจัดการภัยพิบัติ ผู้เชี่ยวชาญด้านสิ่งแวดล้อม ร่วมถ่ายทอดความรู้การดูแลสุขภาพให้กับประชาชน ซึ่งในครั้งนี้มีประชาชนเข้ามาร่วมรับฟังแนวทางการแก้ไขปัญหาและการป้องกันอย่างถูกวิธี

โดยนายรัฐภูมิ เปิดเผยว่า หลังจากที่ได้รับการร้องเรียนถึงปัญหาจากผลกระทบการแพร่ระบาดเชื้อโควิด-19 ที่ผ่าน มีผลต่อการดำรงชีวิตที่ต้องเผชิญต่อปัจจัยเสี่ยงในโรคภัยต่าง ๆ เช่น ภูมิแพ้ ซึ่งมาจากเรื่องสุขภาพและสภาวะอากาศที่มีการเปลี่ยนแปลง


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top