Thursday, 16 May 2024
สสส

วุฒิสภา-สสส.-ภาคีเครือข่าย เดินหน้ารณรงค์-ผนึกกำลังตร. สร้างความปลอดภัยทางม้าลาย หลังพบคดีอุบัติเหตุคนเดินเท้าเฉลี่ย 2,500 รายต่อปี

จับมือตำรวจไทย สร้างมาตรการควบคุม-บังคับใช้กฎหมาย ด้านไรเดอร์-ผู้ขับขี่มอเตอร์ไซค์ ร่วมขับเคลื่อนขับขี่ปลอดภัยลดอุบัติเหตุ

เมื่อวันที่ (21 กรกฎาคม 2565) ณ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ คณะกรรมการบูรณาการกู้ชีพฉุกเฉินและความปลอดภัยทางถนน วุฒิสภา สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สภากาชาดไทย สำนักงานเขตปทุมวัน และภาคีเครือข่าย จัดกิจกรรม หยุดสูญเสีย หยุดรถ ให้คนข้ามทางม้าลาย #ความดีที่คุณทำได้ ครั้งที่ 6 “ก้าวเดินอย่างปลอดภัยบนทางม้าลาย ตำรวจจราจรไทยร่วมดูแล” พร้อมมอบสื่อให้กับสำนักงานตำรวจแห่งชาติเพื่อนำไปใช้ในการรณรงค์สื่อสารสร้างความเข้าใจกับประชาชนและบังคับใช้กฎหมายในพื้นที่ต่างๆ เพื่อสร้างความปลอดภัยบนทางม้าลาย

ด้วยการลดความเร็วเขตชุมชนและชะลอก่อนถึงทางแยกทางข้าม
นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย สมาชิกวุฒิสภา และประธานคณะกรรมการบูรณาการกู้ชีพฉุกเฉินและความปลอดภัยทางถนน วุฒิสภา กล่าวว่า “รัฐบาลได้ตั้งเป้าหมายลดการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนลงให้เหลือไม่เกิน 12 คนต่อประชากรแสนคน ภายในปี 2570 โดยใช้แนวคิดเน้นการจัดการเชิงระบบวิถีแห่งความปลอดภัย (Safe System Approach) โดยระบบที่ปลอดภัยจะช่วยป้องกัน และลดความสูญเสีย ซึ่งกว่า 6 เดือนที่ผ่านมา กิจกรรม หยุดสูญเสีย หยุดรถ ให้คนข้ามทางม้าลาย ขับเคลื่อนทำงานรณรงค์ปลูกจิตสำนึกอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างวินัยจราจร วันนี้เรายังเดินหน้ารณรงค์อย่างต่อเนื่องเพื่อสร้างความมั่นใจให้คนข้ามทางม้าลาย 

การจัดกิจกรรมครั้งนี้ ได้ร่วมกับ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ซึ่งเป็นหน่วยงานสำคัญยิ่งที่มีหน้าที่กำกับดูแล บังคับใช้กฎหมาย จึงมีข้อเสนอเชิงนโยบายเสนอต่อผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติเพื่อพิจารณาให้เกิดความปลอดภัย 3 ด้าน คือ

1. การบริหารจัดการ การบังคับใช้กฎหมายและการกำกับติดตาม โดยเฉพาะการบังคับใช้และมีมาตรการดูแล ณ ทางแยก-ทางข้าม โดยเฉพาะรถจักรยานยนต์ที่ยังมีทั้งการจอดรถทับทางม้าลาย-ไม่หยุดให้คนข้าม 
2. มาตรการและมาตรฐานความปลอดภัย เช่น มาตรฐานสัญลักษณ์จราจรทางถนน และการกำหนด Speed Zone จำกัดความเร็วในเขตชุมชน 
3. การสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัย เช่น นำเทคโนโลยีเสริมการบังคับใช้กฎหมายกับผู้ที่ฝ่าฝืน การรณรงค์ประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อต่างๆ ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ร่วมกับกรมการขนส่งทางบกและกรุงเทพมหานคร วางแนวทางควบคุม/บังคับใช้กฎหมาย และสร้างวัฒนธรรมองค์กรด้านความปลอดภัย

หมอชี้ 'บุฟเฟต์-หมูกระทะ' ทำคนไทยกินเค็มเกินเกณฑ์ 2 เท่า เร่งรณรงค์ 'ลดเค็ม ลดโรค' หลังยอดผู้ป่วย NCDs ทะลุ 22 ล้านคน!!

(7 ก.พ. 66) นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค สธ. กล่าวว่า โรคไม่ติดต่อ (NCDs) เป็นปัญหาสุขภาพระดับประเทศ อัตราการเสียชีวิตของคนไทยจากโรค NCDs สูงถึง 73% สาเหตุหนึ่งมาจากการบริโภคอาหารหวาน มัน เค็มล้นเกิน โดยเฉพาะบริโภคโซเดียม 9.1 กรัม/วัน สูงกว่าที่องค์การอนามัยโลก (WHO) แนะนำกว่า 1.8 เท่า (ไม่ควรบริโภคเกิน 5 กรัม/วัน) การได้รับโซเดียมเกินเป็นเวลานาน อาจเกิดภาวะความดันโลหิตสูง ที่จะส่งผลให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่อันตราย มีผู้ป่วยโรคที่สัมพันธ์กับการบริโภคโซเดียมถึง 22.05 ล้านคน ทั้งโรคความดันโลหิตสูง 13.2 ล้านคน โรคไต 7.6 ล้านคน โรคหัวใจขาดเลือด 7.5 แสนคน โรคหลอดเลือดสมอง 5 แสนคน

“ยุทธศาสตร์การลดการบริโภคเกลือและโซเดียมในไทย (พ.ศ. 2559-2568) ตั้งเป้าลดบริโภคโซเดียมลง 30% ภายในปี 2568 สธ. สสส. และภาคี เร่งดำเนินงานผ่าน 4 ประเด็น คือ

1.) ปรับสูตรในอุตสาหกรรมอาหารแบบสมัครใจ
2.) ปรับสูตรอาหารที่ร้านจำหน่ายริมทางแบบสมัครใจ
3.) สื่อสารสร้างความรู้ผ่านฉลากโภชนาการหน้าบรรจุภัณฑ์แบบ GDA อย่างง่าย 'ฉลากทางเลือกเพื่อสุขภาพ'
4.) กิจกรรมสร้างสภาพแวดล้อมให้ประชาชนได้บริโภคอาหารลดเกลือและโซเดียม

ทั้ง รพ.เค็มน้อย อร่อย 3 ดี, สถานที่ทำงาน, สถานประกอบการ และชุมชนลดเค็ม เพื่อให้บรรลุเป้าหมายประชาชนมีสุขภาพดีจากการบริโภคเกลือและโซเดียมลดลง” นพ.ธเรศ กล่าว

นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้ช่วยผู้จัดการกองทุน สสส. กล่าวว่า สสส. สานพลังเครือข่ายลดบริโภคเค็ม พัฒนาองค์ความรู้ นวัตกรรม และผลักดันให้เกิดนโยบายสาธารณะ พัฒนานวัตกรรมสูตรอาหารโดยใช้สารทดแทนความเค็ม ต้นแบบผลิตภัณฑ์อาหารลดโซเดียม เครื่องตรวจสอบความเค็มในอาหาร (Salt Meter) ฐานข้อมูลโซเดียมในวัตถุดิบอาหาร-เครื่องปรุงรสเค็ม ล่าสุด พัฒนาแคมเปญรณรงค์ 'ลดซด ลดปรุง ลดโรค' สื่อสารความรู้ให้เกิดความตระหนักภัยร้ายจากการบริโภคโซเดียมเกินมาตรฐาน นำไปสู่การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เริ่มต้นจากลดการซดน้ำซุป, น้ำผัด, น้ำแกง, น้ำยำ เน้นเลือกบริโภคเนื้อสัตว์ ผักในมื้ออาหาร ติดตามได้ทางเฟซบุ๊กแฟนเพจ ลดพุง ลดโรค

ทั้งนี้ การช่วยให้ลดบริโภคเค็ม ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเรื่องรสชาติเป็นเรื่องยาก เพราะผู้บริโภคยังคงติดอาหารรสจัด การรับรสเค็มในอาหาร แต่ละคนแตกต่างกันขึ้นอยู่กับความเคยชิน การสร้างความตระหนักรู้จึงสำคัญ ขณะนี้ สสส. ร่วมกรมควบคุมโรค กรมสรรพสามิต เครือข่ายลดบริโภคเค็ม คณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี เดินหน้าขับเคลื่อนมาตรการลดการบริโภคเกลือโซเดียม ขับเคลื่อนมาตรการภาษีโซเดียม สร้างกติกากลางให้ภาคอุตสาหกรรม เพื่อขยายผลการปรับสูตรลดปริมาณโซเดียมในผลิตภัณฑ์อาหาร ปกป้องสุขภาพประชาชนอย่างต่อเนื่อง

รศ.นพ.สุรศักดิ์ กันตชูเวสศิริ ประธานเครือข่ายลดบริโภคเค็ม กล่าวว่า การกินเค็มเป็นภัยเงียบ อาจไม่เห็นผลทันที ยกเว้นคนที่ไวต่อการกินเค็ม เช่น ผู้สูงอายุหรือคนที่มีโรคประจำตัว จะมีอาการตาบวม ขาบวม ความดันโลหิตสูงขึ้น ปวดหัว หิวน้ำบ่อย ที่น่ากังวลคือ มีผู้ป่วยโรคไตหรือไตวายอายุน้อยลงอยู่ที่ 35–40 ปี จากเดิมที่อยู่ที่ 50–60 ปี สาเหตุหลักของการติดบริโภคเค็มมี 2 ปัจจัย คือ

1.) วัฒนธรรมการบริโภคที่เปลี่ยนไป นิยมอาหารสำเร็จรูป บุฟเฟต์ปิ้งย่าง หมูกระทะ อาหารญี่ปุ่น-เกาหลี ที่มีรสเค็มจัดจากการหมักดองเกลือ/เครื่องปรุงจำนวนมาก เมื่อบริโภคสะสมจะติดรสเค็มโดยไม่รู้ตัว
2.) บริโภคเค็มตั้งแต่เด็ก ทั้งขนมกรุบกรอบ บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป โจ๊กซอง-ถ้วย หรืออาหารที่ผู้ปกครองปรุงเค็มเกิน

“ผลการสำรวจปริมาณโซเดียมในอาหารด้วยนวัตกรรม Salt Meter ในพื้นที่นำร่องบริการสุขภาพ เขต 1, 2, 3, 8, 10 พบร้านค้ากว่า 95% ใช้ผงปรุงรสสำเร็จรูปมากกว่าเคี่ยวน้ำซุปด้วยผักหรือเนื้อสัตว์ เพราะมีต้นทุนที่ถูกกว่า ที่สำคัญยังพบว่า การใช้นวัตกรรม Salt Meter ร่วมกับการให้ความรู้ในชุมชน สามารถลดความดันโลหิตและลดการบริโภคเค็มในกลุ่มผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงได้จริง เป็นวิธีที่ง่าย ไม่ต้องส่งตรวจห้องปฏิบัติการทางอาหาร และแสดงผลได้รวดเร็ว สร้างความตื่นตัวให้ประชาชน มุ่งเป้าขยายผลการทำงานร่วมกับฝ่ายบุคลากรของหน่วยงานเอกชน ส่งเสริมการใช้นวัตกรรม Salt Meter เป็นอุปกรณ์ช่วยปรับปรุงสูตรลดเค็มในร้านอาหารและศูนย์การค้า” รศ.นพ.สุรศักดิ์ กล่าว

มสส.ร่วมกับสสส.ถก 'สางปม บุหรี่ไฟฟ้า' ชี้สุดอันตรายและไม่ช่วยเลิกบุหรี่มวน

มูลนิธิสื่อเพื่อสุขภาวะ (มสส.)ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.)จัดประชุมโฟกัสกรุ๊ปเรื่อง 'สางปม บุหรี่ไฟฟ้า... หลากปัญหา รอวันแก้'

(13 ก.พ.66) มูลนิธิสื่อเพื่อสุขภาวะ(มสส.)ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.)จัดประชุมโฟกัสกรุ๊ปเรื่อง "สางปม บุหรี่ไฟฟ้า... หลากปัญหา รอวันแก้" ณ โรงแรมแกรนด์ ฟอร์จูน กรุงเทพ รัชดา โดยมีศาสตราจารย์เกียรติคุณ นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ ประธานมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ นายเลิศศักดิ์ รักธรรม ผู้อำนวยการส่วนบังคับคดี หัวหน้าชุดปฏิบัติการพิเศษ สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ร่วมพูดคุย พร้อมด้วยนายวิเชษฐ์ พิชัยรัตน์ สื่อมวลชนอาวุโส เป็นผู้ดำเนินรายการ

ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ ประธานมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ กล่าวว่ากฎหมายไทยกำหนดให้บุหรี่ไฟฟ้าเป็นสินค้าต้องห้ามทั้งการนำเข้า จำหน่ายหรือให้บริการ ในปี 2564 มี 32 ประเทศทั่วโลกที่ประกาศใช้กฎหมายห้ามเรื่องบุหรี่ไฟฟ้าจากที่ในปี 2557 มีเพียง 13 ประเทศ เท่านั้น สะท้อนให้เห็นว่าทั่วโลกตระหนักถึงพิษภัยของบุหรี่ไฟฟ้าเพราะมีข้อมูลชัดเจน เช่น เด็กมัธยมปลายอเมริกันสูบบุหรี่ไฟฟ้าเพิ่มจาก 1.5%ในปี2554 เป็น19.6%ในปี 2563 ประเทศนิวซีแลนด์เด็กอายุ14-15 ปี สูบบุหรี่ไฟฟ้าเพิ่มจาก 1.9%ในปี 2560เป็น9.6 %ในปี 2564 ส่วนเด็กมัธยมต้นของไทยอายุ13-15 ปีสูบบุหรี่ไฟฟ้าเพิ่มจาก3.3% ในปี2558 เป็น8.1%ในปี 2564 

รายงานการวิจัยเรื่องบุหรี่ไฟฟ้าทั่วโลกส่วนใหญ่สรุปว่าบุหรี่ไฟฟ้าเป็นอันตรายต่อหลอดเลือดและระบบทางเดินหายใจเพราะละอองลอยมีสารโลหะหนักหลายชนิด เช่น เหล็ก ทองแดง นิกเกิล สังกะสี โครเมี่ยม และตะกั่วที่กระตุ้นให้เกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดก่อให้เกิดโรคทางเดินหายใจ นอกจากนี้ยังพบว่าสารนิโคตินในบุหรี่ไฟฟ้าเป็นอันตรายต่อพัฒนาการของสมองเด็กและวัยรุ่น บุหรี่ไฟฟ้าหลายยี่ห้อมีสารนิโคตินเท่ากับสูบบุหรี่ 20 มวน และบางยี่ห้อมีสารนิโคตินเท่ากับการสูบบุหรี่ถึง50 มวน          

ส่วนข้ออ้างที่ว่าบุหรี่ไฟฟ้าเป็นผลิตภัณฑ์ในการช่วยเลิกบุหรี่มวนนั้น ก็ไม่เป็นความจริง ในปี 2564 องค์การอนามัยโลกระบุว่าหลักฐานที่บอกว่าบุหรี่ไฟฟ้าเป็นผลิตภัณฑ์ช่วยเลิกบุหรี่ยังสรุปไม่ได้ ส่วนองค์การอาหารและยาสหรัฐอเมริกายืนยันเมื่อปี 2565 ที่ผ่านมาว่าไม่เคยรับรองให้บุหรี่ไฟฟ้าเป็นผลิตภัณฑ์ช่วยเลิกบุหรี่ เช่นเดียวกับกระทรวงสาธารณสุขออสเตรเลียก็ระบุว่ายังไม่มีหลักฐานเพียงพอที่จะสนับสนุนให้ใช้บุหรี่ไฟฟ้าช่วยเลิกบุหรี่ สอดคล้องกับงานวิจัยที่ตีพิมพ์ในปี 2564-2565 ไม่มีข้อสรุปว่าบุหรี่ไฟฟ้าช่วยเลิกบุหรี่ได้ หนำซ้ำยังพบว่า 60 %ของคนสูบบุหรี่ไฟฟ้าช่วยเลิกบุหรี่กลับมาสูบบุหรี่ชนิดมวนใหม่ 

ซึ่งองค์การอนามัยโลกระบุชัดเจนว่าปัญหาใหญ่สุดของบุหรี่ไฟฟ้าคือทำให้เด็กที่ไม่เคยสูบบุหรี่เข้ามาสูบบุหรี่ไฟฟ้าและเด็กที่เริ่มต้นสูบบุหรี่ไฟฟ้ามีความเสี่ยงที่จะสูบบุหรี่ธรรมดามากกว่าเด็กที่ไม่สูบบุหรี่ไฟฟ้า 2-4 เท่า รวมทั้งคนที่เลิกสูบบุหรี่ธรรมดาไปแล้วจะกลับมาสูบบุหรี่ไฟฟ้าแทน ดังนั้นสื่อมวลชนต้องช่วยกันเผยแพร่ความรู้ที่ถูกต้อง หาแนวทางการสื่อสารรูปแบบใหม่ๆที่เข้าถึงเด็กและเยาวชนอย่างมีประสิทธิภาพ มีการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง ควบคุมการโฆษณาในสื่อสมัยใหม่ทุกรูปแบบเพราะบริษัทบุหรี่ไฟฟ้ามักใช้สื่อออนไลน์และสนับสนุนเงินในการจัดกิจกรรมดึงดูดกลุ่มเยาวชน

นายเลิศศักดิ์ รักธรรม ผู้อำนวยการส่วนบังคับคดี หัวหน้าชุดปฏิบัติการพิเศษ สคบ. กล่าวว่า พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภคมีหมวดที่ว่าด้วยความปลอดภัยของสินค้าและบริการทำให้มีการออกคำสั่งของคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคที่ 9/2558 เรื่อง ห้ามขายหรือห้ามให้บริการสินค้า “บารากู่ บารากู่ไฟฟ้าหรือบุหรี่ไฟฟ้า หรือตัวยาบารากู่ น้ำยาสำหรับเติมบารากู่ไฟฟ้าหรือบุหรี่ไฟฟ้า” ดังนั้น ผู้ใดขายหรือให้บริการ โดยมีค่าตอบแทนรวมถึงการซื้อมาเพื่อขายต่อ มีความผิดตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2562 มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 600,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ  นอกจากนี้ผู้นำเข้าบุหรี่ไฟฟ้ายังมีความผิดตามประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่อง กำหนดให้บารากู่ และบารากู่ไฟฟ้า หรือบุหรี่ ไฟฟ้า เป็นสินค้าที่ต้องห้ามนำเข้ามาในราชอาณาจักร พ.ศ. 2557 ซึ่งมีโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี หรือปรับเป็นเงิน 5 เท่าของราคาสินค้า หรือทั้งจำทั้งปรับ กับให้ริบบุหรี่ไฟฟ้า รวมทั้งสิ่งที่ใช้บรรจุและพาหนะใดๆ ที่ใช้ในการบรรทุกสินค้าบุหรี่ไฟฟ้านั้นด้วย และยังมีความผิดตาม พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ. 2560 มาตรา 244 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี หรือ ปรับไม่เกิน 500,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ  

สสส. ร่วมกับ มูลนิธิพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืนเพื่อคุณภาพชีวิตดี สู่เยาวชนอีสาน

สสส. ร่วมกับ มูลนิธิพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืนเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดี จังหวัดขอนแก่น จัดค่ายกิจกรรม Young สุข Young ไม่เสี่ยง เพื่อสุขภาวะเยาวชนอีสาน ในพื้นที่ จังหวัดขอนแก่น นครราชสีมา บุรีรัมย์ และ สุรินทร์ เพื่อเสริมสร้างภูมิคุ้มกันปัจจัยเสี่ยง โดยมีเยาวชนจาก 24 โรงเรียนเข้าร่วมกิจกรรม เพื่อมุ่งหวังให้เยาวชนมีความเข้าใจต่อเหตุปัจจัยเสี่ยงที่จะก่อให้เกิดโทษกับร่างกาย เช่น ปัญหาการติดบุหรี่ บุหรี่ไฟฟ้า ติดเหล้า ปัญหาการพนัน ปัญหายาเสพติด ปัญหาท้องก่อนวัยอันควร เป็นต้น ซึ่งจะเป็นส่วนสำคัญในการเสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้เยาวชน รวมถึงนำความรู้ที่ได้จากการเข้าค่ายครั้งนี้ไปเผยแพร่ในสังคมในการขยายการป้องกันเหตุปัจจัยเสี่ยงต่างๆ

รศ.แล ดิลกวิทยรัตน์ กรรมการบริหารแผนคณะที่ 1 (สสส.) เปิดเผยว่า จากการจัดค่ายก่อนหน้านี้ ทำให้เรารู้ว่าเยาวชนสามารถนำความรู้จากการเข้าค่ายไปใช้ประโยชน์ได้จริง ซึ่งการจัดค่ายนี้ ได้พัฒนาหลักสูตรการจัดการเรียนรู้ ให้กับเยาวชนในกลุ่มเสี่ยง ในพื้นที่ 4 จังหวัด (ขอนแก่น นครราชสีมา บุรีรัมย์ และสุรินทร์) ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และ พัฒนาเครือข่ายเยาวชนลดปัจจัยเสี่ยง เพื่อสานพลังพัฒนาข้อเสนอเชิงนโยบายต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการกำหนดมาตรการและการดำเนินงานเพื่อลดปัจจัยเสี่ยงในกลุ่มเยาวชน รวมทั้งการสื่อสารสาธารณะอย่างเท่าทันสถานการณ์

"การขับเคลื่อนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทั้งเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ บุหรี่ การพนัน ในเยาวชนจะสำเร็จได้ต้องอาศัยความร่วมมือจากทั้งผู้บริหาร คณะครู บุคลากรเจ้าหน้าที่ ผู้ปกครองและนักเรียน เพื่อสร้างเสริมภูมิคุ้มกันให้กับเยาวชนในกลุ่มเสี่ยง โดยให้เยาวชนเข้ามามีบทบาทสำคัญร่วมออกแบบและดำเนินงานสานพลังเยาวชนอีสานให้ห่างไกลปัจจัยเสี่ยง พัฒนาหลักสูตร พัฒนาเครือข่ายและพัฒนารูปแบบการสื่อสาร ร่วมกันวิเคราะห์สื่อที่เยาวชนเข้าถึง หาทางให้เยาวชนรู้ทันสื่อ และเปลี่ยนเป็นผู้สร้างสื่อที่มีพลังเหมาะสมกับเยาวชน รวมทั้งทบทวนบทเรียนความสำเร็จที่เป็นหลักสูตรการพัฒนาเยาวชน ก่อเกิดเยาวชนแกนนำและเครือข่ายเยาวชนลดปัจจัยเสี่ยง พร้อมทั้งใช้จุดแข็งของพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่มีเครือข่ายปราชญ์ชาวบ้านและพหุภาคีภาคอีสานเป็นทุนทางสังคมในการขับเคลื่อน เพื่อร่วมสานพลังสร้างภูมิคุ้มกันให้กระจายไปสู่เยาวชนในพื้นที่อย่างทั่วถึงด้วย" รศ.แล กล่าว
ผู้รับผิดชอบโครงการ Young สุข Young ไม่เสี่ยง นายประพจน์ ภู่ทองคำ ระบุว่า ในพื้นที่ทั้ง 4 จังหวัด พบว่ามีปัจจัยเสี่ยงหลัก คือปัญหาทางครอบครัว โดยเฉพาะปัญหาหย่าร้าง ทำให้เด็กขาดความอบอุ่น นอกจากนี้ยังมีปัจจัยจากอิทธิพลของเพื่อน ที่ทำให้เด็กอ่อนไหวต่อสิ่งเร้าหรือความเสี่ยงต่างๆ

"จากการพูดคุยกับคุณครูถึงเป้าหมายสำคัญในการดำเนินโครงการ เห็นพร้องกันว่า เด็กและเยาวชนจะเป็นเครื่องมือสำคัญในการแก้ไขปัญหาสังคมที่จะเกิดขึ้น เพราะฉะนั้นสิ่งที่คุยกันก็อาจจะมีกิจกรรมที่ต่อเนื่อง จากการดำเนินการของโรงเรียน และจากการที่ สสส. จะไปติดตามสนับสนุนและให้กำลังใจกับโรงเรียนที่ทำอยู่ในปัจจุบัน ก็จะนำไปสู่การประสานนโยบายและแนวทางปฏิบัติ เพื่อที่จะส่งผลไปยังตัวนักเรียน ให้ได้ประโยชน์จากการทำกิจกรรม young สุข young ไม่เสี่ยง" นายประพจน์ กล่าว
Young สุข Young ไม่เสี่ยง เพื่อสุขภาวะเยาวชนอีสาน เป็นหนึ่งในโครงการเสริมสร้างสุขภาวะทางใจ ที่ช่วยเสริมสร้างให้เยาวชนมีศักยภาพในการก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำต่อสู่กับปัจจัยเสี่ยง โดย สสส. เชื่อว่าเยาวชนเป็นพลังสำคัญของประเทศ หากเยาวชนได้รับประสบการณ์ที่ดีแล้ว จะสามารถเสริมสร้างศักยภาพที่ดีต่อไปในอนาคต

ภาพ/ข่าว  สมัย  คำแก้ว  

ประธานวุฒิสภา ย้ำการสร้างสังคมสันติสุขที่ยั่งยืน ต้องให้เกียรติ เคารพ ความคิด ความเชื่อของกันและกัน ด้านศิษย์พี่ 4ส. สถาบันพระปกเกล้า เตรียมบายศรีสู่ขวัญรับน้อง 4ส.14

วันที่ 11 กรกฎาคม 2566 ที่สถาบันพระปกเกล้า สำนักสันติวิธีและธรรมาภิบาล ศาสตราจารย์พิเศษพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา เป็นประธานเปิดการศึกษาอบรม หลักสูตรประกาศนียบัตรชั้นสูง การเสริมสร้างสังคมสันติสุข(สสสส.) รุ่นที่ 14  โดยมี นายวิทวัส ชัยภาคภูมิ เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า เป็นผู้กล่าวรายงาน พร้อมด้วย นายณัฐพงศ์ รอดมี ผู้ช่วยเลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า นายศุภณัฐ เพิ่มพูนวิวัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักสันติวิธีและธรรมาภิบาล นางประกายรัตน์ ต้นธีรวงศ์ และคณาจารย์ประจำหลักสูตรเข้าร่วมพิธี

ศาสตราจารย์พิเศษพรเพชร กล่าวว่า หลักสูตรประกาศนียบัตรชั้นสูง การเสริมสร้างสังคมสันติสุข มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งในการพัฒนาประชาธิปไตยและการสร้างสังคมสันติสุขที่ยั่งยืนในสังคมไทย หลักสูตรนี้ยังเป็นพื้นที่ที่เอื้อต่อการแสดงความคิดเห็นและแลกเปลี่ยนกันได้อย่างสร้างสรรค์ ด้วยการให้เกียรติและเคารพความหลากหลายของความคิด ความเชื่อ ของกันและกัน ที่สำคัญ ผมหวังว่าผู้เข้ารับการศึกษาจะนำความรู้ที่ได้รับนำไปประยุกต์ใช้ในการทำงานแก้ไขปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในระดับต่างๆ” 

ด้าน นายวิทวัส กล่าวถึงวัตถุประสงค์ของหลักสูตรดังกล่าวว่า เพื่อให้ผู้เข้ารับการอบรมศึกษาแนวคิด หลักการและกระบวนการแก้ปัญหาความขัดแย้งโดยสันติวิธี รวมถึงการวิเคราะห์ ประยุกต์ใช้แนวคิด และเครื่องมือในการป้องกัน และแก้ไขความขัดแย้ง ตลอดจนการฟื้นฟูและสร้างความสมานฉันท์ในสังคมได้อย่างสร้างสรรค์และเป็นระบบ โดยมุ่งเน้นไปที่การสร้างกระบวนการเรียนรู้เรื่องการแปลงเปลี่ยนความขัดแย้งด้วยสันติวิธีให้แก่ผู้นำความคิดในสังคมไทย

ทางด้านนายศุภณัฐ กล่าวว่า หลักสูตรดังกล่าวมีผู้เข้ารับการศึกษาอบรม ประกอบด้วยข้าราชการพลเรือน รัฐวิสาหกิจ องค์กรอิสระ ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ทหาร ตำรวจ ภาคเอกชน องค์กรพัฒนาเอกชน ผู้นำศาสนา และสื่อมวลชน จำนวน 70 คน จัดขึ้นระหว่างเดือนกรกฎาคม 2566  –  เดือนพฤษภาคม 2567 และ ในวันที่ 12-13 กรกฎาคม 2566 นักศึกษาหลักสูตรประกาศนียบัตรชั้นสูงการเสริมสร้างสังคมสันติสุข (สสสส.) รุ่นที่ 14 พร้อมคณะ เดินทางไปยัง โรงแรม เดอะเฮอริเทจ พัทยา บีท รีสอร์ท เพื่อร่วมกิจกรรมปฐมนิเทศโดยมีรุ่นพี่ศิษย์เก่าแต่ละรุ่น มาร่วมต้อนรับ ร่วมพิธีบายศรีสู่ขวัญ น้อง สสสส.14 พร้อมมอบของที่ระลึก เพื่อแสดงความรัก 

‘สสส.จับมือ กทม.- ภาคีเครือข่าย’ ปลูกฝังวินัยจราจร รณรงค์สวมหมวกกันน็อก-ขับขี่ปลอดภัย ป้องกันอุบัติเหตุ

‘สสส.สานพลัง กทม.- ภาคีเครือข่าย’ เดินหน้าสร้างการเรียนรู้วินัยจราจร ‘สวมหมวกกันน็อก 100% Save สมอง… ขับขี่ปลอดภัย ใกล้ไกลใส่หมวกกันน็อก’ ช่วยลดอุบัติเหตุถึง 39% นำร่องในโรงเรียน 8 แห่ง สังกัด กทม.

(29 ส.ค. 66) ที่โรงเรียนวิชากร เขตดินแดง สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เครือข่ายพัฒนาคุณภาพชีวิต มูลนิธิเด็กเยาวชนและครอบครัว กองบังคับการตำรวจจราจร กรุงเทพมหานคร (กทม.) จัดกิจกรรมรณรงค์สร้างกระบวนการเรียนรู้ ชวนเด็กไทยสร้างวินัยจราจร สู่ความปลอดภัยทางถนน นำร่อง 8 โรงเรียนต้นแบบ สังกัดกรุงเทพมหานคร โดยมีนางวันทนีย์ วัฒนะ รองปลัดกรุงเทพมหานคร เป็นประธาน ภายในงานมีกิจกรรมสร้างความปลอดภัยโดย ครูตำรวจจากกองบังคับการตำรวจจราจร และชมมินิคอนเสิร์ตจากวง SPRITE X DON KIDS

นางวันทนีย์ กล่าวว่า ปัจจุบันอุบัติเหตุทางถนนก่อให้เกิดความสูญเสียในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน โดยเฉพาะการขับขี่รถจักรยานยนต์ที่มีผู้เสียชีวิต และบาดเจ็บมากที่สุด ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มเด็กและเยาวชน สาเหตุจากพฤติกรรมการขับขี่ที่ประมาท อยู่ในวัยคึกคะนอง ไม่เคารพกฎจราจร ดัดแปลงสภาพรถจักรยานยนต์ การร่วมกันสร้างจิตสำนึกให้เด็กและเยาวชนตระหนักถึงความปลอดภัยทางถนน ที่เน้นย้ำไปที่การขับขี่รถจักรยานยนต์จึงเป็นเรื่องสำคัญ เน้นการสวมหมวกนิรภัยทั้งคนขับ คนซ้อนทุกครั้ง ที่ปลูกฝังให้เกิดความเคยชิน กทม. จะให้ความร่วมมือกับ สสส. และภาคีเครือข่าย ขับเคลื่อนให้เห็นความสำคัญในการสร้างจิตสำนึกตั้งแต่วัยเด็ก รวมถึงการกระตุ้นให้ผู้ปกครองเห็นความสำคัญในเรื่องนี้เช่นกัน นำร่อง 8 โรงเรียนต้นแบบ สังกัดกรุงเทพมหานคร

นางก่องกาญจน์ ทักษ์หิรัญฤทธิ์ รักษาการผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสังคม สสส. กล่าวว่า สสส. และภาคีเครือข่ายความปลอดภัยทางถนน มีเป้าหมายการทำงานที่มุ่งสนับสนุนแผนแม่บทความปลอดภัยทางถนน พ.ศ.2565-2570 เพื่อลดความสูญเสียจากอุบัติเหตุทางถนนของคนไทยให้เหลือ 12 คนต่อแสนประชากรในปี 2570 เน้นลดการสูญเสียอุบัติเหตุในกลุ่มผู้ใช้รถจักรยานยนต์ ที่มีกลุ่มเด็กเยาวชนที่เป็นเป้าหมายสำคัญ เพราะเมื่อเกิดอุบัติเหตุพบว่าในกลุ่มที่บาดเจ็บ และเสียชีวิตมีการบาดเจ็บที่ศีรษะสูง สัมพันธ์กับการไม่สวมหมวกนิรภัย ซึ่งหากผู้ขับขี่ทุกคนสวมหมวกนิรภัยจะช่วยลดการเสียชีวิตเมื่อเกิดอุบัติเหตุได้ถึง 39% และช่วยป้องกันการบาดเจ็บที่ศีรษะและช่วย save สมอง

นางก่องกาญจน์ กล่าวต่อว่า การจัดกิจกรรมในครั้งนี้ขยายความร่วมมือกับโรงเรียนในสังกัด กทม. ผ่านกิจกรรมฐานเรียนรู้ สร้างวินัยจราจร ร่วมกับทีมวิทยากรจากกองบังคับการตำรวจจราจร (บก.จร.) ให้ความรู้ และสร้างความตระหนักการใช้ถนนอย่างปลอดภัย กระตุ้นการมีจิตสำนึกถึงอุบัติเหตุทางถนน ที่เริ่มต้นจากการสวมหมวกนิรภัยทุกครั้ง เมื่อต้องซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์ หรือการหยุดรถให้คนข้ามทางม้าลาย กับโรงเรียนกรุงเทพมหานคร 8 โรงเรียน ครอบคลุม 6 โซนของกรุงเทพมหานคร พร้อมมอบชุดกระเป๋าการเรียนรู้ให้กับทั้ง 8 โรงเรียน สามารถนำไปจัดกิจกรรมการสอนความปลอดภัยทางถนนได้เอง ประกอบด้วย ชุดเกมช่องทางจราจร ความรู้เครื่องหมายจราจร สื่อความรู้เรื่องการสวมหมวกนิรภัย สื่อให้ความรู้อันตรายที่เกิดจากรถจักรยานยนต์

นายธงชัย โคระทัต ผู้อำนวยการโรงเรียนวิชากร เขตดินแดง กทม. กล่าวว่า “โรงเรียนได้ให้ความสำคัญในการป้องกันก่อนเกิดอุบัติเหตุ โดยรณรงค์ให้มีการสวมหมวกนิรภัยเมื่อต้องเดินทางด้วยรถจักรยานยนต์ทุกครั้ง จัดสถานที่เก็บหมวกนิรภัยไว้ให้ รวมถึงจัดเจ้าหน้าที่ดูแลความปลอดภัยให้นักเรียนเวลาเดินข้ามถนน และกิจกรรมรณรงค์ให้นักเรียนเห็นความสำคัญการสวมหมวกนิรภัย ยินดีให้ความร่วมมือกับ สสส. เครือข่ายพัฒนาคุณภาพชีวิต รวมทั้งกองบังคับการตำรวจจราจร (บก.จร.) และภาคีเครือข่ายเข้ามาทำกิจกรรม ‘โรงเรียน กทม.ปลอดภัย ชวนเด็กไทยสร้างวินัยจราจร ขับขี่ปลอดภัย ใกล้ไกลให้ใส่หมวก’ ซึ่งจะช่วยเพิ่มความสนใจของนักเรียนในเรื่องความปลอดภัยทางถนนได้มากจากการนำกระบวนการเกมต่าง ๆ มาให้เด็ก ๆ เกิดการมีส่วนร่วมมากขึ้น จึงเห็นว่าโครงการนี้ควรมีการขยายไปทำในโรงเรียนทั่วประเทศด้วย”

‘สสส.’ ผนึกกำลัง ’BEM-BMN’ ชวนผู้โดยสาร MRT สำรวจ 'อุโมงค์ปอด' หวังกระตุ้นสังคม ‘หยุดสูบ-ลดเสี่ยง’ จากต้นเหตุมะเร็งปอด ที่คร่าชีวิตคนไทย

(19 ก.ย. 66) ณ สถานีรถไฟฟ้า MRT ลุมพินี สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM ผู้ให้บริการทางพิเศษและรถไฟฟ้า MRT สายสีน้ำเงินและสีม่วง บริษัท แบงคอก เมโทร เน็ทเวิร์คส์ จำกัด หรือ BMN ผู้ให้บริการสื่อโฆษณาและพื้นที่จัดกิจกรรมในระบบรถไฟฟ้า สื่อสารสุขต่อยอดโครงการ ’MRT Healthy Station’ ความร่วมมือนี้เป็นจุดที่ 5 ของความร่วมมือในการสร้างสังคมสุขภาวะ ด้วยการเปิดตัว ’อุโมงค์ปอด’ Lung Tunnel เพื่อกระตุ้นสังคมให้รับรู้ว่า แค่คุณหยุดสูบ ปอดฟื้นฟูได้ ลดเสี่ยงการเสียชีวิต ชวนผู้โดยสารทีใช้บริการรถไฟฟ้า MRT เดินเข้าสู่สถานีลุมพินี เสมือนการเดินสู่อวัยวะปอด ผ่านระยะทางความยาวของอุโมงค์และพื้นที่สื่อ กว่า 100 เมตร ทั้งลายเส้นกราฟิกภาพภายในปอด พร้อมกับเทคโนโลยี AR ที่จะพาคุณไปรู้จักผลกระทบและตัวช่วยเลิกบุหรี่

ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุน สสส. กล่าวว่า สถานการณ์การสูบบุหรี่มีแนวโน้มที่ลดลง จากสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ล่าสุด ปี 2564 มีผู้สูบบุหรี่ 9.9 ล้านคน คิดเป็น 17.4% ของประชากรอายุ 15 ปีขึ้นไป ทั้งนี้ ข้อมูลจากองค์การสหประชาชาติ องค์การอนามัยโลก และกระทรวงสาธารณสุขไทย ปี 2564 พบแต่ละปีมีผู้เสียชีวิตจากบุหรี่มากกว่า 80,000 คน คิดเป็น 18% ของการเสียชีวิตทั้งหมด ในจำนวนนี้เสียชีวิตจากควันบุหรี่มือสองกว่า 6,000 คน คิดเป็นความสูญเสียทางเศรษฐกิจเฉลี่ย 352,000 ล้านบาทต่อปี สสส. สนับสนุนทั้งการผลักดันนโยบายควบคุมยาสูบ พัฒนาองค์ความรู้วิชาการ และรณรงค์สื่อสารสังคม มองถึงแนวทางการสื่อสารที่สกัดกั้นไม่ให้คนไทย ก้าวเข้าสู่วงจรการทำร้ายสุขภาพ ได้ต่อยอดโครงการ ’MRT Healthy Station’ สร้างพื้นที่สาธารณะ ให้เป็นพื้นที่สร้างเสริมสุขภาวะสำหรับคนเมือง กระตุ้นให้สังคมตระหนักรู้ ถึงประโยชน์การดูแลสุขภาพ จุดประกายปรับเปลี่ยนพฤติกรรม

“การสูบบุหรี่เป็นสาเหตุหลักของโรคมะเร็งปอด การสัมผัส หรือได้รับควันบุหรี่มือสอง มือสาม ยังเพิ่มความเสี่ยงเช่นกัน เพราะปอดเป็นด่านแรกที่ได้รับสารพิษจากควันบุหรี่มากที่สุดเมื่อเทียบกับอวัยวะอื่น ๆ สสส.จึงเชิญชวนสำรวจ อุโมงค์ปอด Lung Tunnel หยุดสูบ ลดเสี่ยง เพลิดเพลินไปกับลายเส้นกราฟิกบนทางเดินและสื่อโดยรอบ กว่า 100 เมตร  ให้ทีละก้าว เป็นก้าวแห่งการตื่นรู้ ปอดคุณจะเป็นอย่างไร เมื่อคุณเลิกสูบบุหรี่ เพียงแค่ 20 นาที ที่คุณเลิกสูบ ความดันโลหิตลดลง  2-12 สัปดาห์ เหนื่อยน้อยลง เพราะสมรรถภาพปอดเริ่มฟื้นตัว หากเดินถึงปลายอุโมงค์ จะค้นพบว่าแท้จริงแล้วร่างกาย และปอดสามารถฟื้นฟู แค่เลิกสูบบุหรี่ เท่ากับลดเสี่ยง” ดร.สุปรีดา กล่าว

นางวัฒนา สิทธิไวทยาภรณ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ BEM กล่าวว่า ภายใต้ธุรกิจที่เป็นผู้ให้บริการด้านการคมนาคมของ BEM  ยังมีการเปิดพื้นที่สาธารณะภายในสถานีรถไฟฟ้า เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้ามาใช้ประโยชน์ในเชิงสร้างสรรค์ได้อย่างสูงสุด ควบคู่ไปกับการให้ความสำคัญด้านคุณภาพชีวิตที่ดี และการมีสุขภาพที่ดี ดังนั้นความร่วมมือระหว่าง BEM สสส. และ BMN ในโครงการนี้ จึงเป็นการตอกย้ำถึงความมุ่งมั่นขององค์กรอย่างแท้จริง พร้อมร่วมรณรงค์ให้ประชาชนทุกคน ได้ใช้พื้นที่สาธารณะร่วมกันด้วยความรับผิดชอบ เพื่อให้สังคมได้อยู่ร่วมกันอย่างยั่งยืน

นาย วิทสุวัฒน์ อำคาเพท กรรมการผู้จัดการ BMN  กล่าวว่า ทุกวันนี้พฤติกรรมของตัวเราที่คอยทำลายสุขภาพโดยไม่รู้ตัว ความร่วมมือระหว่าง BEM BMN และ สสส. ในครั้งนี้ จะสร้างประสบการณ์การเดินทางแบบน่าประทับใจ ด้วยเส้นทางแห่งความสุขที่จะทำให้ทุกคนมีสุขภาพที่ดีขึ้น ตระหนักรู้ถึงผลเสีย และเข้าใจถึงผลดีของการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม สู่การมีสุขภาพที่ดีกว่าเดิม การสื่อสารโครงการนี้ ได้ใช้พื้นที่สื่อโฆษณาในสถานีรถไฟฟ้า MRT ลุมพินี ทางออกที่ 2-3 ซึ่งเป็นสถานีที่มีผู้ใช้บริการหนาแน่น เป็นพื้นที่หลักในการสื่อสารโครงการ สำหรับ สถานีลุมพินีถือเป็นแหล่งรวมของหนุ่มสาวชาวออฟฟิศ และเป็นตำแหน่งที่มีผู้คนสัญจรผ่านเป็นจำนวนมาก เชื่อว่าใครที่ได้เดินทาง และสำรวจอุโมงค์ปอดจนถึงทางออกปลายอุโมงค์ จะได้พบกับแรงบันดาลใจนำไปสู่การตัดสินใจ เริ่มต้นชีวิตใหม่กับสุขภาพที่ดีกว่าเดิม เพียงแค่เลิกบุหรี่”

น.ส.สุพัฒนุช สอนดำริห์ ผู้อำนวยการสำนักสื่อสารการตลาดเพื่อสังคม สสส. กล่าวว่า สื่อในพื้นที่สาธารณะเป็นสื่อที่คนเข้าถึงได้ทุกวัน มีมูลค่าทางการตลาดสูง สร้างการรับรู้กับสังคมได้เป็นอย่างดี สสส. BMN และ BEM มีเป้าประสงค์เดียวกัน คือ การทำสื่อเพื่อสังคม เป็นหัวใจสำคัญของการร่วมมือครั้งนี้ เพื่อแสดงให้เห็นว่าพื้นที่สื่อสาธารณะ สามารถส่งสาร ข้อมูล ให้ประชาชนที่สัญจรไปมา หันมาดูแลสุขภาพได้ สสส. จึงได้รับการสนับสนุนพื้นที่ภายในอุโมงค์ และพื้นที่สื่อโดยรอบความยาวกว่า 100 เมตร ถูกออกแบบผ่านการเล่าเรื่องของปอด จากปอดปกติเมื่อสูบบุหรี่แล้ว จะค่อย ๆ เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างไร  สสส. ได้เปลี่ยนข้อมูลวิชาการสู่เรื่องราวสนุก ๆ ให้ทุกคนได้รับสื่อ และประสบการณ์ร่วม ที่จะทำให้ฉุกคิด เตือนสติ โดยร่วมกันพัฒนาชิ้นงานอุโมงค์ปอดกว่า 9 เดือน  นอกจากนี้ได้รับความร่วมมือสร้างสรรค์ไอเดียการออกแบบ และวาดลายเส้นอุโมงค์ปอดยักษ์จากภาคเอกชนอีกด้วย  เพื่อให้ทุกคนตระหนักว่า การดูแลสุขภาพร่างกายเริ่มต้นได้ทันที ไม่ต้องรอ

บชน.-ตร.ทางหลวง จับมือ สสส. จัดอบรมด้านวินัยจราจรให้ความรู้พนักงานขนส่งแฟลช 

พล.ต.ต.จิรสันต์ แก้วแสงเอก รอง ผบช.น. กล่าวว่า จากความร่วมมือในปีที่ 3 ต่อเนื่องมาปีที่ 4 บช.น.เล็งเห็นว่า บริษัท แฟลช เอ็กซ์เพรส ให้ความสำคัญ และใส่ใจในการควบคุมดูแลให้พนักงานขับขี่ได้ตระหนักถึงความปลอดภัยบนท้องถนน บช.น.ได้พัฒนาหลักสูตรด้านวินัยการขับขี่ และกฎหมายจราจรฉบับล่าสุด ด้วยในปี 2566 นับเป็นปีแห่งการรณรงค์ด้านการลดอุบัติเหตุ ให้เป็นไปตามนโยบายการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนแห่งชาติ เพื่อให้โครงการสำเร็จลุล่วงด้วยดี อันจะมีส่วนช่วยให้เกิดการตระหนักรู้กับภาคเอกชนรายอื่นๆ ในภาพรวม เพื่อให้จำนวนการเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนนของประเทศไทยลดลงได้อย่างเป็นรูปธรรมในระยะยาวต่อไป 

ด้าน พ.ต.อ.สุขสวัสดิ์ คูสิทธิผล รองผบก.ทล. กล่าวว่า ตำรวจทางหลวง เล็งเห็นด้านความปลอดภัยทางถนน ได้จัดให้เจ้าหน้าที่ของทางหลวง มาให้ความรู้ด้านกฎหมาย และระเบียบกฎเกณฑ์ต่างๆ ด้านการจราจรเพื่อเป็นประโยชน์แก่พนักงานขนส่ง และประชาชน ซึ่งตลอด 3 ปีที่ผ่านมา โครงการดังกล่าวสามารถช่วยลดการเกิดอุบัติเหตุได้อย่างเป็นรูปธรรมจริง

ทางด้าน นายคมสันต์ ลี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แฟลช เอ็กซ์เพรส จำกัด กล่าวว่า บริษัทได้ริเริ่มโครงการขับขี่ปลอดภัย มาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2563 ด้วยธุรกิจหลักของบริษัทคือ ผู้ให้บริการด้านขนส่ง โดยพนักงานกว่า 70% คือ คูเรียร์ หรือเรียกว่าพนักงานส่งของ ที่ต้องใช้ชีวิตอยู่บนท้องถนนตลอดทั้งวัน การเสริมสร้างจิตสำนึกด้านความปลอดภัยในการขับขี่ถือเป็นเรื่องหลักที่บริษัทฯ ต้องการสร้างให้พนักงานคูเรียร์เกิดความตระหนักรู้ ทั้งในเรื่องกฏระเบียบวินัยจราจร และการปฏิบัติตัวเมื่อต้องใช้ถนนร่วมกับผู้อื่น 

ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้ช่วยผู้จัดการกองทุน สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า สสส. ให้ความสำคัญกับปัญหาอุบัติเหตุทางถนน โดยความปลอดภัยทางถนน โดยสสส. ตระหนักถึงอุบัติเหตุในกลุ่มรถขนส่ง ซึ่งปัจจุบันมีจำนวนเพิ่มขึ้นมากตามความเติบโตของธุรกิจขนส่งโลจิสติกส์ จึงได้เข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการดำเนินโครงการขับขี่ปลอดภัยในปีนี้ เนื่องจากเล็งเห็นว่าบริษัท แฟลช เอ็กซ์เพรส มีนโยบายการดำเนินโครงการที่สอดคล้องกับการทำงานของ สสส.โดยบริษัทฯ มุ่งเน้นในเรื่องความปลอดภัยบนท้องถนน และถือเป็นตัวอย่างที่ดีในฐานะภาคเอกชนรายย่อยที่แสดงออกถึงความตั้งใจในการร่วมลดอุบัติเหตุ

‘EA’ ส่งมอบชุดแบตเตอรีลิเทียมไอออน ‘อมิตา เทคโนโลยี’ ให้ กทม. หนุนพัฒนารถสันดาปสู่รถไฟฟ้าดัดแปลง หวังแก้ปัญหาฝุ่น-มลภาวะ

บมจ.พลังงานบริสุทธิ์ (EA) ผู้นำนวัตกรรมพลังงานสะอาด เดินหน้าส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า นายอมร ทรัพย์ทวีกุล รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.พลังงานบริสุทธิ์ ได้ส่งมอบชุดแบตเตอรีลิเทียมไอออน ใช้สำหรับดัดแปลงรถสันดาปเป็นรถไฟฟ้า (EV Conversion) จากนวัตกรรมระบบกักเก็บพลังงานแบบครบวงจร ‘อมิตา เทคโนโลยี (ประเทศไทย)’ โดยมี นางสาวอำภา นรนาถตระกูล ผู้อำนวยการสำนักการคลัง เป็นผู้แทนผู้บริหารกรุงเทพมหานครรับมอบ ณ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร

สำหรับโครงการรถยนต์ไฟฟ้าดัดแปลงต้นแบบ เป็นความร่วมมือระหว่าง ‘กรุงเทพมหานคร’ กับ ‘สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ’ (สสส.) มูลนิธิส่งเสริมการออกแบบอนาคตประเทศไทย ตามโครงการสานพลังขับเคลื่อนเคานต์ดาวน์ PM2.5 เพิ่มสุขภาวะผู้คนในพื้นที่ กทม. ซึ่งมุ่งแก้ปัญหามลพิษทางอากาศ

โดยหนึ่งในแผนงาน คือ การนำรถยนต์สันดาป มาทำการดัดแปลงเป็นรถยนต์ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าที่ไม่มีการปล่อยมลพิษและฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5) เพื่อทำการศึกษาประโยชน์จากการใช้รถยนต์ไฟฟ้า ต้นทุนการดำเนินการ ความคุ้มค่า ความปลอดภัยในการใช้งาน และความเหมาะสมในการปรับเปลี่ยนรถยนต์ราชการของกรุงเทพมหานครเป็นรถยนต์ไฟฟ้า ในการนี้ บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) ได้ให้การสนับสนุนแบตเตอรี่ลิเทียมไอออนขนาด 30 กิโลวัตต์-ชั่วโมง ซึ่งเป็นอุปกรณ์หลักในการจัดทำรถยนต์ไฟฟ้าดัดแปลงที่มีมูลค่าสูง

โดยการดัดแปลงนั้น กทม. ร่วมกับศูนย์วิจัย Mobility & Vehicle Technology Research Center (MOVE) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ในการดำเนินการดัดแปลงรถยนต์ไฟฟ้าต้นแบบ

คาดว่าจะแล้วเสร็จในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2566 จากนั้นจะมีการจัดทำชุดความรู้เกี่ยวกับการดัดแปลง

การใช้งาน และการบำรุงรักษารถยนต์ไฟฟ้า รวมถึงจัดทำหลักสูตรการดัดแปลงรถยนต์ไฟฟ้าเพื่ออบรมให้ความรู้แก่ผู้สนใจทั่วไปผ่านโรงเรียนฝึกอาชีพกรุงเทพมหานครต่อไป

ภัยออนไลน์รุกหนัก นักวาดการ์ตูนไทย จับมือกับมูลนิธิสื่อเพื่อสุขภาวะ(มสส.)และสสส.ประชุมร่วมหาทางปกป้องเด็กและเยาวชน แฉเว็บพนันออนไลน์ขยายตัวกว่า 100 %

จากช่วงโควิดเป็นความอำมหิตเงียบ ผู้ทรงคุณวุฒิสสส.เสนอนายกฯคุยแบงค์ชาติให้ธนาคารพาณิชย์คุมกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ตัดแขนขาเว็บพนัน สื่อการ์ตูนเสนอสร้างการรู้เท่าทัน พร้อมให้ข้อมูลกับสังคม

มูลนิธิสื่อเพื่อสุขภาวะ(มสส.) ร่วมกับ สมาคมการ์ตูนไทย   เครือข่ายการ์ตูนไทยสร้างสรรค์สังคม โดยการสนับสนุนจาก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดประชุมเสวนาเรื่อง "รวมพลังการ์ตูนไทย ต้านภัยออนไลน์ " เมื่อวันเสาร์ที่ 14 ตุลาคม  2566 ณ ห้องการะเกด โรงแรมแมนดาริน สามย่าน  กรุงเทพ มีนักวาดการ์ตูนจากหนังสือพิมพ์และสื่อสำนักต่างๆเข้าร่วม โดยมี นายพิธพงษ์ จตุรพิธพร ผู้ประกาศ ข่าวเด็ด 7 สี สถานีโทรทัศน์ช่อง 7 HD เป็นผู้ดำเนินรายการ ​นายธนากร คมกฤส เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์หยุดพนัน​ กล่าวว่า การพนันออนไลน์ยังขยายตัวไม่หยุด จำนวนเว็บพนันขยายตัวมากกว่า 100% นับจากช่วงโควิด ขณะที่จำนวนผู้เข้าพนันที่ตกเป็นเหยื่อ เล่นพนันจนเกิดปัญหามีมากกว่าล้านคน 10%เป็นเด็กและเยาวชน สิ่งที่สังคมต้องตระหนักคือพนันออนไลน์และพนันออนไซต์ มีอิทธิฤทธิ์ที่ต่างกัน พนันออนไลน์ร้อยทั้งร้อยเป็นพนันอย่างเข้มที่เข้าถึงง่าย รู้ผลแพ้ชนะเร็ว เมื่อเสียแล้วแก้มือได้ทันที จึงยิ่งเล่นยิ่งหัวร้อน เล่นแล้วหยุดยาก ต่างกับพนันออนไซต์ที่ยังพอจะมีช่วงให้เว้นวรรค หรือมีความถี่ต่ำกว่า การพนันออนไลน์จึงอาจมีฤทธิ์ในการทำลายล้างมากกว่ากันหลายสิบเท่า ถ้าเทียบเป็นยักษ์อาจกล่าวได้ว่ายักษ์พนันออนไลน์ใหญ่กว่ายักษ์พนันออนไซต์หลายสิบเท่า

​เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์หยุดพนัน กล่าวต่อว่าเว็บพนันออนไลน์ถือเป็นความอำมหิตเงียบ เพราะได้ทำลายชีวิตเหยื่อไปจำนวนมาก ไม่ใช่เพียงแค่การสูญเสียเงินทอง  แต่เป็นกระบวนการที่นำมาสู่การเจ็บไข้ได้ป่วย เมื่อเล่นพนันจนเสียหนัก ผู้เล่นส่วนมากจะพยายามทำทุกอย่างให้ได้เงินมาเล่นอีก และเริ่มกระทำผิดต่อคนใกล้ตัว โกหก หยิบยืมเงิน ลักขโมย จนถึงขั้นมีการกระทำรุนแรงกับคนในบ้าน  ขณะเดียวกันก็รู้สึกเครียด รู้สึกผิด รู้สึกแย่กับตัวเอง ความรู้สึกจะดิ่งลงเรื่อย ๆ  และอาจนำมาสู่การเสียสุขภาพจิตได้สองอาการ หนึ่ง คือ การเสพติดพนันจนไม่อาจจะเลิกได้ สอง คือ เกิดภาวะซึมเศร้า  ทั้งสองอาการล้วนต้องการความช่วยเหลือในการบำบัดรักษา ฉะนั้น ผู้ที่คิดจะให้พนันออนไลน์เป็นสิ่งถูกกฎหมาย โดยไม่คิดถึงการควบคุมให้รอบคอบและเป็นจริง อาจกลายเป็นการปล่อยยักษ์ใหญ่ที่เราคุมไม่ได้ให้ออกมาจากตะเกียง และสร้างความเสียหายต่อชีวิตประชาชนเป็นล้านคน    

​นายวิเชษฐ์  พิชัยรัตน์ ผู้ทรงคุณวุฒิสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ( สสส.)ในฐานะสื่ออาวุโส กล่าวว่าภัยออนไลน์กำลังเป็นปัญหาที่รุนแรง กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง สำนักงานตำรวจแห่งชาติระบุว่าคนไทยเป็นเหยื่ออาชญากรรมออนไลน์มากสุดคือการหลอกลวงซื้อขายสินค้า ตามมาด้วยหลอกให้โอนเงินเพื่อทำงานและหลอกให้กู้เงิน ส่วนการพนันออนไลน์ยังคงรุนแรง ดังนั้นสื่อมวลชนต้องช่วยกันชี้ให้เห็นว่าเป็นสิ่งผิดกฎหมายจะถูกดำเนินคดีตามพ.ร.บ.การพนัน ข้อมูลส่วนตัวที่ทุกคนไปสมัครเป็นสมาชิกจะถูกเว็บพนันนำไปใช้หาประโยชน์โดยที่เราไม่รู้ตัว นอกจากจะเสียเงินค่าสมัครแล้วหลายครั้งจะไม่ได้รับเงินจริงและสุดท้ายอาจถูกยึดทรัพย์ตามความผิดฐานฟอกเงินเนื่องจากประวัติการเงินจะถูกระบุว่าไปเกี่ยวข้องกับเว็บพนัน การพนันออนไลน์รุนแรงมากไม่เฉพาะในกทม.แต่ได้แพร่หลายไปสู่จังหวัดใหญ่ๆ ช่วงหลังมีการจับกุมเครือข่ายพนันออนไลน์เพิ่มมากขึ้น และเป็นที่รู้ กันว่ากลุ่มเป้าหมายหลักของพนันออนไลน์คือเด็ก เยาวชนและผู้สูงอายุ เพราะรูปแบบการพนันนอกจากสล็อตและบิงโกแล้ว ในแต่ละเว็บพนันจะมีรูปแบบของเกมต่างๆไว้หลอกล่อไม่ต่ำกว่า 300 เกม

ผู้ทรงคุณวุฒิจากสสส.เสนอว่าการแก้ปัญหาพนันออนไลน์ต้องบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจังทั้งการปิดเว็บพนัน การยึดอายัดทรัพย์สินของเจ้าของเว็บและเครือข่ายชักชวนให้เล่นพนัน รวมทั้งการลงโทษเจ้าหน้าที่ของรัฐที่รับประโยชน์หรือเป็นเจ้าของเว็บพนันอย่างเด็ดขาด ที่น่าสนใจคือนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีได้มอบนโยบายแก่ผู้บริหารสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.)  เมื่อวันที่ 5 ต.ค.ที่ผ่านมาว่าปัจจุบันธุรกิจสีเทารวมทั้งการทำธุรกรรมการเงินเป็นองค์ประกอบใหญ่ที่ทำให้ เครือข่ายยาเสพติดและพนันออนไลน์ขยายได้อย่างรวดเร็ว ปปง. จึงเป็นองค์กรสำคัญในการกำกับดูแลโดยเฉพาะการยึดทรัพย์ที่จะทำลายต้นตอของปัญหาหลายอย่าง จึงอยากจะเรียกร้องให้นายกฯได้หารือกับ ธนาคารแห่งประเทศไทยและธนาคารพาณิชย์ต่างๆแก้ปัญหาเว็บพนันพนันออนไลน์ใช้ระบบการฝากถอนเงินสดและเครดิตในการเล่นพนันผ่านธนาคารพาณิชย์ของไทยโดยใช้ อี-วอลเล็ต หรือ กระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ผ่านแอพพลิเคชั่นต่างๆ ถ้าแก้ไขปัญหาตรงนี้ได้ก็เหมือนตัดแขนตัดขาเว็บพนันออนไลน์นั่นเอง    

​ขณะที่ รศ.ดร.ณัฐนันท์ ศิริเจริญ เลขาธิการมูลนิธิสื่อเพื่อสุขภาวะ (มสส.)  กล่าวว่าเคยทำงานวิจัยด้านพนันออนไลน์  พบว่าการพนันออนไลน์มีกลวิธีบิดเบือนโดยใช้นักโฆษณาชวนเชื่อเช่น การส่งเสริมแนวทางปฏิบัติในการเล่นเกมอย่างมีความรับผิดชอบ ส่วนแนวป้องกันคือการส่งเสริมให้บุคคลฝึกฝนการตระหนักรู้ในตนเองและการควบคุมตนเองสามารถลดความเสี่ยงของการเล่นการพนันมากเกินไปได้ นอกจากนี้ การสร้างทรัพยากรที่เข้าถึงได้ เช่น บริการให้คำปรึกษา สายด่วน และกลุ่ม สนับสนุน ถือเป็นสิ่งสำคัญสำหรับการช่วยเหลือผู้ที่ดิ้นรนกับการเสพติดจากเกมการพนันที่ซ่อนอยู่ การสนับสนุนให้มีกฎระเบียบที่เข้มงวดมากขึ้นและการกำกับดูแลแพลตฟอร์มเกมออนไลน์และโฆษณารวมทั้ง การสนับสนุนบริษัทเกมให้นำแนวทางการโฆษณาที่มีความรับผิดชอบมาใช้ นอกจากนี้ควรส่งเสริมให้ผู้ปกครองมีส่วนในการควบคุมรวมทั้งการจำกัดอายุควรเพื่อปกป้องบุคคลที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะเข้าถึงเกมที่อันตรายเหล่านี้ และสุดท้ายคือการสนับสนุนการวิจัยเพื่อทำความเข้าใจผลกระทบของเกมการพนัน และประสิทธิภาพของกลยุทธ์การป้องกันพนันออนไลน์ต่างๆให้ดีขึ้น

ด้านนักวาดการ์ตูน ได้ร่วมแสดงความคิดเห็นว่า ควรจะสร้างการรู้เท่าทันการหลอกลวงทางออนไลน์ให้กับเด็ก เยาวชน ผู้ปกครองและผู้สูงอายุด้วยการจัดอบรมให้ความรู้เพื่อจะได้ไม่ตกเป็นเหยื่อ เพราะสังคมปัจจุบันทุกคนใช้โทรศัพท์มือถือและเข้าถึงอินเตอร์เน็ตกันหมดแล้ว การประชุมครั้งนี้มีประโยชน์มากมีข้อมูลหลายอย่างที่สามารถนำไปสื่อสารต่อได้ และเห็นด้วยว่าหน่วยงานภาครัฐควรจะบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง รวมทั้งมีนโยบายปกป้องเด็กและเยาวชนจากภัยออนไลน์และพนันออนไลน์  

นายอภิวัชร์ เกตุทัต ประธานมูลนิธิสื่อเพื่อสุขภาวะ ได้กล่าวปิดการประชุมว่า การจัดงานครั้งนี้เป็นการดำเนินงานตามโครงการ เสริมพลังสื่อมวลชนไทย สร้างเครือข่าย ร่วมขับเคลื่อน สังคมสุขภาวะ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) นักวาดการ์ตูนถือเป็นสื่อมวลชนที่เป็นกลุ่มเป้าหมายในการทำงานของมูลนิธิสื่อเพื่อสุขภาวะและสสส.อีกกลุ่มหนึ่ง หวังว่าข้อมูลที่ได้รับรู้และแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในกันวันนี้ จะนำไปสู่ความเข้าใจและสื่อสารสาธารณะในรูปแบบต่างๆผ่านช่องทางที่หลากหลายเพื่อให้ผู้ปกครอง เด็กและเยาวชนได้เห็นพิษภัยของพนันออนไลน์เพื่อปกป้องสังคมร่วมกัน


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top