'รัฐบาลลุงตู่' เดินหน้าพัฒนา 'เมืองยะลา' สู่เมืองอัจฉริยะ ยกระดับเป็น 'ศูนย์กลางทางดิจิทัล' ในกลุ่มจังหวัดชายแดนใต้

(22 ม.ค. 66) เพจศูนย์ปฏิบัติการนายกรัฐมนตรี - PMOC ได้โพสต์ข้อความเกี่ยวกับการพัฒนาเพื่อยกระดับจังหวัดยะลาให้เป็นศูนย์กลางทางเทคโนโลยีดิจิทัลในกลุ่มจังหวัดชายแดนใต้ โดยระบุว่า...

ยะลาเคยเป็นหนึ่งในเป้าหมายของขบวนการแบ่งแยกดินแดน จากเหตุการณ์ความไม่สงบในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ในอดีตเกือบ 20 ปีที่แล้ว ซึ่งในช่วงเวลานั้น ยะลาและอีก 2 จังหวัดชายแดนใต้ตกอยู่ภายใต้บรรยากาศแห่งความหวั่นไหว เกิดเหตุการณ์ฆ่าสังหารเจ้าหน้าที่รัฐ, พระสงฆ์ และประชาชนผู้บริสุทธิ์โดยขบวนการแบ่งแยกดินแดนเป็นเวลาหลายสิบปี มีผู้สียชีวิตนับพัน อีกทั้งยังสร้างบรรยากาศแห่งความขัดแย้ง เห็นคนต่างศาสนาเป็นศัตรู

ภายใต้แนวทางการดำเนินการภาครัฐที่ใช้การพัฒนานำหน้า พัฒนาพื้นที่ สร้างสันติสุขที่ยั่งยืน ประกอบกับ 'ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี' ของพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ใช้การพัฒนาเศรษฐกิจนำหน้า ให้ความสำคัญกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน (3 แกนยุทธศาสตร์ขับเคลื่อนประเทศ), เศรษฐกิจฐานราก (Local Economy), กระจายรายได้ และลดความเหลื่อมล้ำในสังคม จังหวัดยะลาจึงมีโอกาสพลิกฟื้นสู่ความเป็นเมืองอัจฉริยะที่ประชาชนสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างสงบสุข และมีโอกาสได้พัฒนาเมืองร่วมกัน

ถึงแม้ยะลาจะไม่มีต้นทุนทางเศรษฐกิจมากมายนัก แต่มีต้นทุนทางวัฒนธรรม (Cultural Asset) หรือ Soft Power และต้นทุนทรัพยากรธรรมชาติอยู่มากมาย ซึ่งชาวยะลาร่วมใจกันใช้ต้นทุนเหล่านี้ในการสร้างเมืองขึ้นใหม่ สร้างโอกาส สร้างรายได้แก่ชาวยะลาได้อย่างทั่วหน้า

นอกจากนี้ จังหวัดยะลา ยังอาศัยโอกาสจากพัฒนาการทางเทคโนโลยีดิจิทัล (Digital Disruption) มาใช้ในการพัฒนาเมืองตามแนวคิด ไทยแลนด์ 4.0 ของพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ประกอบกับการส่งเสริมการสร้างเมืองอัจฉริยะ (Smart City) ตามนโยบายของรัฐบาล ทำให้เมืองยะลามีการพัฒนาสู่ความเป็นเมืองอัจฉริยะดังนี้ 

>> Smart Governance

เทศบาลยะลาได้พัฒนาแอปพลิเคชัน Yala Mobile Application เพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนได้เข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาเมือง ด้วยแนวคิดรัฐบาลโปร่งใส่ (Open Government) ของรัฐบาล อีกทั้งยังสามารถรับทราบข่าวสารการให้บริการภาครัฐ และร้องเรียนผ่านแพลตฟอร์มไลน์

>> Smart Economy

เทศบาลยะลาได้พัฒนาเศรษฐกิจเชิงเทคโนโลยี โดยสร้าง platform ที่ชื่อว่า 'หลาดยะลา' สร้างโอกาสในการเติบโตของธุรกิจอีคอมเมิร์ซ (e-Commerce) ด้วยการเป็นสื่อกลางในการให้บริการค้าขายออนไลน์ พร้อมบริการขนส่งในพื้นที่ผ่านวินมอเตอร์ไซด์ 

นอกจากนี้ เทศบาลยังจัดอาสาสมัครชุมชนเข้าไปช่วยสอนวิธีการใช้งาน เพื่อแก้ปัญหาความไม่รู้ ไม่เข้าใจของประชาชนบางส่วนโดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลังอีกด้วย

>> Smart People

เทศบาลยะลาได้พยายามพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ผ่านการพัฒนาเสริมสร้างระบบการศึกษา โดยใช้แอปพลิเคชัน School Bright เพื่อพัฒนาระบบการเรียนการสอนออนไลน์ โดยบุคลากรและนักเรียนสามารถเช็คการบ้าน การเข้าเรียนได้ 

>> Smart Energy

 เทศบาลยะลาพัฒนาเทคโนโลยีกำจัดขยะ โดยใช้อากาศเข้าไปเผาไหม้สองรอบเพื่อให้หลงเหลือมลพิษน้อยที่สุด (Powermax Twin-fire Gasifier Technology) นอกจากนี้ในปัจจุบันมีการพยายามค้นคว้า ทดลองเกี่ยวกับการนำกากที่ได้จากการหมักขยะที่เผาแล้ว ไปใช้ทำปุ๋ยต่อ เพื่อการลดขยะให้เป็นศูนย์ เป็นเมืองที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

>> Smart Living

เทศบาลยะลาได้นำเทคโนโลยีเข้ามาเพิ่มความสะดวกสบายและความปลอดภัยในการใช้ชีวิตให้กับประชาชน ได้แก่ Smart Security ในตลาดที่เคยเกิดเหตุความไม่สงบ โดยนำ AI เข้ามาใช้พัฒนาระบบรักษาความปลอดภัย เช่น ระบบจดจำหน้าบุคคล 

นอกจากนี้ ยังมีบริการ Smart Wi-Fi เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงระบบอินเทอร์เน็ตได้ในราคาที่ถูกและเหมาะสม เป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะในโลกปัจจุบันที่การค้าขายออนไลน์กำลังได้รับความนิยมอย่างมาก และเสาไฟฟ้าอัจฉริยะ (Smart Pole) ที่สามารถทำได้หลายอย่าง เช่น การตรวจสอบค่า P.M. 2.5 ตรวจสอบสภาพอากาศ แจ้งอุบัติเหตุแก่รถที่สัญจรบนถนน

สำหรับเป้าหมายยุทธศาสตร์ในอนาคตของยะลา ที่เสนอต่อคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนและบริหารโครงการเมืองอัจฉริยะคือการยกระดับตนเองขึ้นเป็นศูนย์กลางดิจิทัลกลุ่มจังหวัดภาคใต้ชายแดน ที่นําไปสู่การพัฒนา ตามแนวทางยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ภายใต้ปัจจัยสนับสนุนจาก 3 แกนยุทธศาสตร์ขับเคลื่อนประเทศ ของพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี


ที่มา: https://www.facebook.com/100069126223361/posts/pfbid034KWkSaukMyd2jqDE961ZqtV4yZQJmcVm7nCgrK3qHQkhYSmBUCs2rz7GmyNLukfWl/?mibextid=cr9u03