ม.วลัยลักษณ์ ผลิตระบบตรวจจับแกนไม้ยางพารา สำเร็จ!! ช่วยลดต้นทุนให้โรงงานแปรรูป 5 แสนบาทต่อเดือน

กองทุนพัฒนาดิจิทัลฯ ลงพื้นที่เยี่ยมชม พร้อมติดตามความคืบหน้าโครงการพัฒนาระบบตรวจจับแกนไม้บนภาพหน้าตัดท่อนซุงไม้ยางพารา มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ซึ่งได้รับทุนสนับสนุนจากกองทุนฯ 

โดยนายภุชพงค์ โนดไธสง เลขาธิการคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ พร้อมคณะผู้บริหาร ได้ลงพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราช เพื่อเยี่ยมชมและติดตามความคืบหน้าโครงการพัฒนาระบบตรวจจับแกนไม้ บนภาพหน้าตัดท่อนซุงไม้ยางพารา โดยใช้เทคนิคโครงข่ายประสาทเทียมแบบลึกและเชื่อมต่อกับระบบโรงงานแปรรูปไม้ยางพารา ของสำนักวิชาวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ซึ่งได้รับทุนสนับสนุนการวิจัยจากกองทุนพัฒนาดิจิทัลฯ เมื่อปี 2563

ซึ่งเลขาธิการคณะกรรมการดิจิทัลฯ เปิดเผยภายหลังตรวจเยี่ยมโครงการฯ ว่า กองทุนฯ ถือเป็นจุดกระตุ้นให้นักวิจัย ได้เกิดการคิดค้นนวัตกรรมและเทคโนโลยี ใหม่ ๆ ซึ่งหลังจากได้เห็นความคืบหน้าของโครงการฯ ที่ได้รับทุนสนับสนุน ถือว่าประสบความสำเร็จ ตามวัตถุประสงค์ของกองทุนฯ อีกทั้งงานวิจัยดังกล่าวยังสามารถต่อยอด พัฒนาไปสู่การแก้ปัญหาในด้านอื่น ๆ ได้อีกด้วย

สำหรับโครงการพัฒนาระบบตรวจจับแกนไม้ บนภาพหน้าตัดท่อนซุงไม้ยางพารา โดยใช้เทคนิคโครงข่ายประสาทเทียมแบบลึกและเชื่อมต่อกับระบบโรงงานแปรรูปไม้ยางพารา ของสำนักวิชาวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ เป็นการศึกษาวิจัยในส่วนของการประมวลผล เพื่อตรวจจับแกนไม้อัตโนมัติ ให้มีความถูกต้อง แม่นยำ เพื่อแก้ปัญหา ลดการสูญเสียของแผ่นไม้ ในกระบวนการผลิตของโรงงานแปรรูปไม้ยางพารา เพื่อส่งออกได้ คิดเป็นมูลค่าความสูญเสียต่อเดือนโดยประมาณ มากถึง 5 แสนบาท ซึ่งจะช่วยลดต้นทุน เพิ่มรายได้ให้กับผู้ประกอบการเป็นอย่างมาก เนื่องจากจำนวนและขนาดของแผ่นไม้ยางพารา ที่ตัดติดแก่นไม้ จะเป็นตัวกำหนดคุณภาพและราคาส่งออก

ทั้งนี้ ประโยชน์ทางตรง ทีมวิจัยสำนักวิชาวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ เตรียมขยายขนาดของระบบ เพื่อให้ใช้งานได้จริงในสายการผลิตของโรงงานแปรรูปไม้ยางพารา รวมถึงสนับสนุนให้โรงงานแปรรูปไม้ยางพาราเป็นระบบอัตโนมัติมากขึ้น

นอกจากนี้ งานวิจัยดังกล่าว ยังสามารถต่อยอด ประยุกต์และพัฒนาระบบอัลกอริทึมจากการตรวจจับใส้ไม้ เพื่อใช้ในงานตรวจจับจุดอื่น ๆ ได้ อาทิ การตรวจจับดวงตาและรูม่านตา ซึ่งถือว่าเป็นประโยชน์อย่างมากในวงการแพทย์ ที่มีส่วนช่วยในการลดระยะเวลาการวินิจฉัยของแพทย์ เช่น ระบบปัญญาประดิษฐ์สำหรับช่วยตรวจจับโรคตาเข และกลุ่มโรคต้อ เป็นต้น


เรื่อง: ไอยรา อัลราวีย์ Content Manager